***ส้มป่อย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์***
ส้มป่อย มีลักษณะต้นและใบคล้ายชะอม มีรสเปรี้ยว ชาวบ้านจะใช้ยอดอ่อนใส่แกงให้ได้รสเปรี้ยว แทนมะนาว ชาวบ้านนิยมใส่ในต้มส้มไก่เมือง ปลา หรือต้มส้มขาหมู จะได้รสชาติเปรี้ยวอร่อยและหอมกลิ่นส้มป่อย มีผลเป็นฝักแบนๆ เป็นข้อ คล้ายฝักฉำฉา หรือฝักกระถินเทศ แต่จะสั้นและบางกว่า จะมีหนามตลอดที่ต้นและกิ่งก้าน นิยม ใช้ฝักแห้งของส้มป่อยแช่น้ำ สำหรับเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในพิธีกรรมรดน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล
สรรพคุณทางยา
-ต้น แก้น้ำตาพิการ
-ใบ แก้โรคตา เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ ชำระเมือกมันใน ลำไส้ แก้บิดฟอกล้างประจำเดือน
-ดอก รักษาโรคเส้นพิการ
-ผล/ฝัก ใช้แก้น้ำลายเหนียว
-ราก ใช้แก้ไข้
-ฝักแห้ง นำไปปิ้งให้เหลืองชงน้ำจิบแก้ไอและขับเสมหะ เป็น ยาทำให้อาเจียน ใช้ฟอกผมแก้รังแค ช่วยให้ผมดกดำเป็น เงางาม ไม่แตกปลาย แก้ไข้จับสั่น แก้โรคผิวหนัง
-เมล็ด นำไปคั่วแล้วบด ให้ละเอียดใช้นัตถุ์ให้คันจมูก ทำให้จามดี -ใบ ตำให้ละเอียดใช้ประคบช่วยคลายเส้นได้
ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนยกย่องให้มีคุณค่าควร แก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถ ขจัดสิ่ง ชั่วร้ายเภทภัยต่างๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้
นอกจากนี้ ส้มป่อยยังผูกพันเกี่ยวข้องกับชาวชนบท ล้านนา ในเรื่องพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ชาวบ้านเชื่อว่า ส้มป่อย เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ขจัดสิ่งเลวร้าย อัปมงคล เป็นการปลด ปล่อยสิ่งไม่ดีให้หลุดพ้นจากชีวิต
โดยเฉพาะคนล้านนามีความเชื่อตามชาดกว่าเป็นพืช ที่มีพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เรียกตามภาษาถิ่นว่า ส้มป่อย เป็นตัวแพ้ สิ่งจัญไร อัปมงคล ชั่วร้าย (แพ้ เป็นภาษาถิ่น เหนือ หมายถึง ชนะ) และคำว่า ป่อยหมายถึงปลดปล่อย สิ่งจัญไรทั้งหลายให้หลุดพ้นจากชีวิตคนเรา ชาวบ้านจะเก็บ ฝักส้มป่อยในช่วงเดือน ๕ เป็ง หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน เรียกส้มป่อยที่เก็บใน เดือนนี้ว่า ส้มป่อยเดือน ๕ จะทำให้ได้ ส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งขึ้น
เมื่อได้เวลาเก็บ ชาวบ้านจะเลือกเก็บฝักส้มป่อยที่ แก่จัด นำไปตากในกระด้งให้แห้งสนิท เก็บใส่ตะกร้า ไว้ใช้ ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีมงคลและอัปมงคล ก่อนนำไปใช้จะ นำฝักส้มป่อยไปผิงไฟพอให้สุก ส้มป่อยจะมี กลิ่นหอมเปรี้ยว จากนั้นหักฝักส้มป่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำ จะได้น้ำส้มป่อย ที่มีสีเหลืองอ่อนๆ สำหรับใช้ ในพิธีกรรมสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในด้านการปฏิบัติ ชาวล้านนานิยม ใช้ส้มป่อยมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเทศกาล สงกรานต์ สำหรับวิธีการใช้จะใช้ฝักแห้งของส้มป่อยปิ้งไฟให้ หอมแช่ลงในน้ำสะอาด ที่มีผงขมิ้นละลายเจืออยู่ เรียกน้ำนี้ ว่า "น้ำขมิ้นส้มป่อย" แต่ระยะหลังนี้ ไม่ค่อยปรากฏการใช้ ขมิ้นอีก แต่นิยมเติมน้ำอบน้ำหอมและเกสรแห้งของดอกไม้ หอม เช่นดอกสารภี ดอกคำฝอย เป็นต้น
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง ชาวบ้านจะนำน้ำส้มป่อยใส่น้ำอบน้ำหอม เพื่อสรงน้ำพระ ในวันปี๋ใหม่เมือง เช่นกัน
ประเพณีงานบุญที่พ่อแม่ทุกคนต่างรอคอยโอกาส สร้างกุศลใหญ่ เพื่อปรารถนาให้ลูกชายพาไปพบชีวิตที่ดี ใน โลกหน้าคือการบวชลูกแก้ว (บวชพระหรือเณร) น้ำส้มป่อยก็ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการชำระล้างเนื้อตัว ให้บริสุทธิ์ก่อน เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ปฏิบัติธรรม
ส้มป่อย กับวิถีชีวิตชาวชนบทล้านนาเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันมาช้านาน เกือบจะทุกขั้นตอนในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เกิด มาจนกระทั่งหมดลมหายใจ
การเคารพความยิ่งใหญ่ในธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มองไม่เห็น ก่อให้เกิดพลังศรัทธากลายเป็น ความเชื่อมั่น นำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผล ดังนั้น ผู้คนจึงยกให้ส้มป่อย เป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรคู่ชีวิตชาวล้านนา ตลอดไป
ที่มา : วารสารวัฒนธรรมไทย ขอบคุณค่ะ