collapse

ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์หลุนอวี่ 1 ชุมนุมคติพจน์ : คำนำ  (อ่าน 10790 ครั้ง)

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                                    คัมภีร์หลุนอวี่ 1   ชุมนุมคติพจน์   

                                                         คำนำ

        ประเทศจีน นับเป็นประเทศที่มีหลากหลายเผ่าพันธ์ จากการบันทึกและการพิสูจน์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบได้ว่าเมื่อห้าพันปีก่อนพื้นที่ของประเทศจีนประกอบด้วยเผ่าพันธ์มากมายที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เชื้อชาติดั้งเดิมของประเทศจีน เราเรียกว่า ชนเผ่าฮว๋าเซี่ยส่วนที่อาศัยอยู่รอบทั้งสี่ด้านนั้นเป็นเผ่าที่ล้าหลังกว่า ได้แก่ ตงอี๋  หนันหมัน  ซหรง  เป่ยตี๋   ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมหลายเผ่าพันธ์ที่มีชื่อ ?.  และอารยธรรมแตกต่างกันเอาไว้ด้วยกันในแต่ละเผ่า  เมื่อได้ผ่านช่วงเวลาของการพัฒนาไประยะใหญ่ จนถึงประมาณช่วงเริ่มต้นยุคชุนชิว จึงเริ่มมีรัฐใหญ่ ๆ ที่ทำการรวมดินแดนต่าง ๆ โดยรัฐใหญ่เหล่านี้ ถือเผ่าฮว๋าเซี่ยเป็นหลัก ถึงกระนั้นเผ่าฮว๋าเซี่ยในยุคชุนชิว ก้ไม่ใช่เผ่าฮว๋าเซี่ยในอดีตอีกต่อไป แต่เป็นคำเรียกรวมของเผ่าพันธ์ทั้งหมด ที่รวมอยู่ในบ้านเมืองยุคกระแสแห่งการครอบรวมอาณาเขตก่อนคริสตศักราชสองร้อยยี่สิบเอ็ดปี
        ฉินสื่ิอฮวั๋ง (จิ๋นซีฮ่องเต้) ได้สยบหกรัฐรวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่น สถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นเป็นประเทศ รวบรวมหลายเชื้อชาติเผ่าพันธ์เข้าด้วยกัน จากนั้นอีกสองพันกว่าปี แต่ละเชื้อชาติเผ่าพันธ์ที่รวมตัวกันแล้วเหล่านี้ ก็ได้สร้างให้เกิดประวัติศาสตร์อันเจิดจรัสของประเทศจีนขึ้น
        เชื้อชาติเผ่าพันธ์ต่าง ๆ ของจีน ต่างก็มีชื่อเรียกเฉพาะตน จนถึงปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นห้าสิบหกเผ่าพันธ์ หลังจากยุคของตงฮั่น คำว่า "จงฮว๋า"  (จีน) ถูกใช้เป็นคำเรียกรวมของทุก ๆ เผ่าพันธ์ ของประเทศจีนเรื่อยมา
        ก่อนคริสตศักราชเจ็ดร้อยเจ็ดสิบเอ็ดปี  โจวโยวหวัง  กษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์โจวตะวันตกที่โด่งดัง ได้จุดคบเพลิงแกล้งขุนนาง ในที่สุดจึงถูกทหารของตนละเลย ทำให้ต้องสวรรคตที่เชิงเขาหลีซัน เป็นการจบฉากของยุคบรรพกาลสามราชวงศ์ของประเทศจีน หลังจากนั้น ชาวฮว๋าเซี่ยก็ได้เข้าสู่ช่วงเวลาวุ่นวายต่อเนื่องเป็นเวลาถึงห้าร้อยกว่าปี  ในบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ ได้บรรยายสถานการณ์ในขณะนั้นไว้ว่า "ในยุคชุนชิว มีการฆ่าเจ้ารัฐสามสิบหกคน  มีรํฐที่ล่มสลายไปห้าสิบสองรัฐ  และเจ้ารัฐก็ไม่อาจรักษาแผ่นดินของตนจนต้องหลบหนีไปนั้นมีนับไม่ถ้วน"
        ในยุคชุนชิว (ก่อนคริสตศักราชเจ็ดร้อยยี่สิบสอง ถึงก่อนคริสตศักราชสี่ร้อยแปดสิบเอ็ดปี)  ราชสำนักราชวงศ์โจวเริ่มเสื่อมถอย เป็นยุคที่เจ้ารัฐต่างทำสงครามชิงความเป็นใหญ่ เพื่อยึดครองแผ่นดินกันไปทั่ว ยุคสมัยที่โกลาหลนี้ นอกจากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการหลอมรวมของชนเผ่าต่าง ๆ ขึ้น ยังเป็นยุคที่ศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ ของประเทศจีนได้พัฒนาไปอย่างมากมาย
        โจวอุ่หวัง ล้มล้างกษัตริย์โจ้ว  ล้มซึ่งราชวงศ์เอินชังที่ใช้ระบบทาส อีกทั้งได้เริ่มทำการปฏิวัติระบบปกครองและระบบที่ดิน ราชวงศ์โจวตะวันตกมีระบบการสืบสันตติวงศ์ มีการกำหนดที่ดินศักดินาและเจ้ารัฐผู้ปกครองท้องถิ่น ช่วงหลังของราชวงศ์โจวตะวันตก สังคมและเสรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้บุกเบิกขุนเขาป่าไม้ลำธาร จนถึงยุคของกษัตริย์โจวลี่หวัง ทางการได้ทำการควบคุมป่าไม้ขุนเขาลำธารในเขตที่ดินกษัตริย์ ไม่ให้เจ้าของที่ดินในท้องที่มีกรรมสิทธิ์ในการใช้ ไม่ให้ประชาชนได้เข้าไปตัดไม้ล่าสัตว์ นโยบายนี้ของกษัตริย์โจวลี่หวัง ทำให้ผู้คนบังเกิดความไม่พอใจอย่างยิ่ง ขณะนั้น เจ้ากงได้ตักเตือนว่าอย่าได้ทำเช่นนี้ เพราะจำทำให้ประชาชนไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ได้  โจวลี่หวังไม่เพียงแต่ไม่เชื่อฟัง ยังได้ส่งคนจับตาผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วย เมื่อพบใครกล่าวติเตือน ก็ให้นำตัวไปประหารทันที ทำให้คนที่อยู่ในเมืองหลวงไม่กล้าพูดจา แม้การบอกทางก็ใช้เพียงสายตาเท่านั้น ก่อนคริสตศักราชแปดร้อยสี่สิบเอ็ดปี จึงได้เกิดการก่อจราจลต่อต้านโจวลี่หวัง จนกระทั่งโจวลี่หวังหลบหนีไปยังเมืองจื้อ (อำเภอฮั่ว มณฑลซันซีในปัจจุบัน) 
        หลังจากที่โจวเซวียนหวังขึ้นครองราชย์ สถานการณ์บ้านเมืองที่ตกต่ำ ทำให้ชนเผ่าที่อยู่ล้อมรอบราชวงศ์โจว ได้เข้ามารุกรานครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้สังคมวุ่นวายไม่มีความสงบ ในระยะเวลาที่โจวเซวียนหวังครองราชย์อยู่สี่สิบหกปี มีการทำสงครามกับชนเผ่ารอบด้านอยู่ตลอด ซ้ำยังมีนโยบายการเรียกภาษีสงคราม ที่ได้รับการคัดค้านจากขุนนาง นโยบายนี้ ทำให้เกษตรกรหนีไป ทิ้งที่ดินให้มีแต่วัชพืชรกร้างเป็นจำนวนมาก
        หลังจากเซวียนหวังสิ้นพระชนม์  โยวหวังก็ขึ้นครองราชย์ ในตอนนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่กวงจง อันนับเป็นภัยพิบัติร้ายแรง  โยวหวังใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ มีความโลภอยากไม่สิ้นสุด ไม่เพียงแต่มีการขูดรีดประชาชน ยังมีการปล้นชิงเอาทรัพย์สมบัติของราชนิกูลและผู้ปกครองที่ดินต่าง ๆ จนลามเป็นปัญหาในระดับผู้ปกครองอย่างรุนแรง  การแย่งชิงสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการแตกแยกภายในวังหลวง ยังทำให้เซินโหว ซึ่งเป็นบิดาของมเหสีเซินไม่พอใจ  กระทั่งก่อนคริสตศักราชเจ็ดร้อยเจ็ดสิบเอ็ดปี เซินโหว ได้ร่วมมือกับพวกเฉวี่ยนหรง (ชนเผ่าใหญ่ทางเหนือ)  เข้าตีราชวงศ์โจว และฆ่าโยวหวัง ที่ซั่นซีเมืองหลิงถง (ในอดีตเรียกว่าหลี่ซัน) เจ้ารัฐทั้งหลายร่วมกันอันเชิญรัชทายาทที่เกิดจากมเหสีเซิน นามว่าอี๋จิ้ว ขึ้นเป็น โจวผิงหวัง  เป็นการเริ่มต้นช่วงเวลาตงโจว หรือ ยุคชุนชิว ขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์
        การดำรงชีวิต  สังคม  การปกครอง  ในสมัยชุนชิวนั้น ในบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้กล่าวไว้ว่า "ราชสำนักโจวเสื่อมถอย เจ้ารัฐอาศัยแข็งกลืนอ่อน ฉี  ฉู่  ฉิน  จิ้น  เป็นรัฐใหญ่  การเมืองถูกกำหนดโดยเจ้ารัฐทั้งหลาย"  พูดโดยรูปธรรมแล้ว สามารถใช้เหตุการณ์ "เซี่ยงหรงหยุดสงคราม"  ก่อนคริสตศักราชห้าร้อยสี่สิบหกปี เป็นเส้นแบ่งช่วงเวลาของชุนชิวยุคต้นกัลยุคปลาย ในช่วงยุคต้นเป็นช่วงที่ราชสำนักอ่อนแอ รัฐใหญ่ชิงอำนาจ ชาวฮว๋าเซี่ยได้มีการขัดแย้งและควบรวมกับชนเผ่าน้อยรอบด้าน
        ในชุนชิวยุคหลัง รัฐอู๋กับรัฐเยวี่ยเข้มแข็งมากขึ้น ได้ขึ้นเหนือเพื่อชิงความเป็นใหญ่ แต่ว่าโดยภาพรวมแล้ว การเคารพกษัตริย์ป้องกันเผ่าอื่น ที่มีมาในอดีตได้เสื่อมไป เข้าสู่ช่วงปลายของการแย่งชิงความเป็นใหญ่ ชาวฮว๋าเซี่ยได้หล่อหลอมรวมกับชนเผ่าอื่นไป เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการปกครองภายในมากขึ้นทุกขณะ ในระบอบการปกครอง ได้เกิดการที่มีอำมาตย์หรือขุนนางประจำตระกูลเป็นผู้กุมอำนาจปรากฏขึ้น จุดศูนย์ถ่วงของวัฒนธรรมและการศึกษาก็เริ่มลงมาสู่สังคมชั้นล่าง ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ยุคจั้นกว๋อ เกิดการปฏิวัติยุคสมัยที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น 

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                                                    คัมภีร์หลุนอวี่ 1   ชุมนุมคติพจน์   

                                                         คำนำ

        รัฐที่ถูกแบ่งเป็นที่ดินศักดินาในราชวงศ์โจวตะวันตก หลังจากผ่านการทำลายและควบรวมมาตลอด จนถึงช่วงต้นสมัยชุนชิว ยังมีอยู่อีกหนึ่งร้อยสี่สิบรัฐในบรรดารัฐทั้งหลายมีรัฐจิ้นในภาคกลาง  รัฐฉีทางตะวันออก  รัฐฉินทางตะวันตก  รัฐฉู่ทางใต้  อีกทั้งรัฐอู๋และเยวี่ย ที่เกิดขึ้นภายหลังทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  เป็นรัฐที่ได้ควบรวมและครอบครองพื้นที่ อีกทั้งมีกำลังอำนาจยิ่งใหญ่มากที่สุด ได้กลายเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วงหลังของยุคชุนชิวรัฐเอียนที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ จัดว่าค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนสามารถเข้าร่วมการแก่งแย่งในประเทศจีนได้
        เมื่อผิงสวรรคต ฮวั๋นหวังครองราชย์  ฮวั๋นหวังไม่ต้องการใช้งานเจิ้งจวงกง ดังนั้น  ทำให้เกิดการแตกแยกระหว่างโจวกับเจิ้ง ก่อนคริสตศักราชเจ็ดร้อยเจ็ดปี  ฮวั๋นหวังใช้กองทัพรัฐโจว ไช่เว่ยเฉิน จำนวนสี่รัฐมาตีเจิ้งจวงกง แต่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฮวั๋นหวังถูกยิงบาดเจ็บ นับแต่นั้นเป็นต้นมาบารมีของโอรสสวรรค์ก็ยิ่งตกต่ำลง เหลือเพียงแต่ตำแหน่งที่ไร้อำนาจ บรรดาเจ้ารัฐทั้งหลายก็ไม่รายงานและไม่ส่งมอบบรรณาการอีก ราชสำนักโจวจึงจำต้องขอภาษี เงิน และรถ  จากเจ้ารัฐทั้งหลาย ทำให้เจ้ารัฐไม่ฟังคำสั่งโอรสสวรรค์อีกต่อไป หลายรัฐได้อ้างเทิดทูนกษัตริย์ในการเรียกตัวเจ้ารัฐต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งประชุมพันธมิตร โดยภายนอกแสดงออกคล้ายให้ความเคารพกษัตริย์โจว แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นการควบคุมกษัตริย์เพื่อออกคำสั่งต่อขุนนาง นี่คือการกระทำของผู้ที่ได้เป็นผู้นำเจ้ารัฐทั้งหลาย ด้วยเหตุที่ผู้นำเจ้ารัฐ สามารถออกคำสั่งต่อเจ้ารัฐ เคลื่อนย้ายกำลังพล อีกทั้งเรียกเครื่องบรรณาการ ได้รับสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจและการปกครอง เสมือนหนึ่งโอรสสวรรค์ในอดีต จึงทำให้เจ้ารัฐใหญ่ต่างปรารถนาจะอยู่ในตำแหน่งนี้ จนมีการต่อสู้แก่งแย่งกันอย่างดุเดือด  ในยุคชุนชิวมีผู้นำเจ้ารัญขึ้นห้าคน อาทิเช่น  ฉีฮวั๋นกง  จิ้นเหวินกง  ฉู่จวงหงัว  เป็นต้น  ในขณะที่แย่งชิงความเป็นใหญ่นั้น ก็ได้ไปยึกครองชนเผ่าที่ไร้อารยธรรมทั้งหลายควบคู่กันไปด้วย การต่อสู้แก่งแย่งกันเป็นเวลานานนี้ ได้ทอนกำลังของรัฐใหญ่ลงอย่างรวดเร็ว เมื่อการพัฒนาของสังคมเศรษฐกิจ การเมืองเกิดขึ้นมากมาย จนทำให้รัฐมีปัญหาจนเกินกว่าจะแบกรับได้ รัฐเล็ก ๆ ที่ทนทุกข์กับเภทภัยแห่งสงครามมาเป็นเวลานาน ยิ่งต้องการช่วงพักเวลาหายใจ  ดังนั้น ก่อนคริสตศักราชห้าร้อยสี่สิบหกปี เสนาบดีรัฐซ่ง นามว่าเซี่ยงหรง ได้พยายามผลักดันให้มีจัดการชุมนุมของเจ้ารัฐสิบสี่รัฐที่รัฐซ่ง  เพื่อรวมกันเป็นพันธมิตรในการหยุดสงคราม โดยรัฐเล็ก ๆ เหล่านี้  ได้ยกรัฐจิ้นและรัฐฉู่ เป็นผู้นำคู่กัน  นับเป็นการหยุดสถานการณ์การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างรัฐจิ้นกับรัฐฉู่ลงและเข้าสู่ช่วงท้ายของการแบ่งแยกกันเป็นผู้นำเจ้ารัฐ
        ประวัติศาสตร์เดินมาถึงยุคหลังของชุนชิว เจ้ารัฐใหญ่ทั้งหลาย ได้ทำการศึกยึดครองกันจนต่างหมดสิ้นกำลัง กลายเป็นโอกาสอันดีของเหล่าอำมาตย์ที่บ้างใช้การกดขี่ริบเงินทองของประชาชน บ้างแสร้งทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ให้กับประชาชนเพื่อเป็นการซื้อใจคน เหตุการณ์แบบนี้เมื่อเกิดขี้นนานเข้า จึงทำให้มีอำมาตย์บางส่วน ค่อย ๆ ดำรงอำนาจมากขึ้น จนกลายเป็นบทบาทสำคัญในสังคม  ขุนนางแซ่ฟ่านในรัฐจิ้น ได้เคยเรียกร้องผลงานและบำเหน็จสองครั้ง ได้ครองเมืองถึงสี่เมือง อีกทั้งยังจะแย่งที่ดินกับอำมาตย์  ส่วนสามตระกูลในรัฐหลู่ ( ตระกูลจี้ซื่อ  เมิ่งซื่อ  สูซุน )  ได้เคยแบ่งราชสำนักเป็นสามส่วน นั่นก็คือเป็นการตัดแบ่งที่ดิน  ประชาชน  ภาษี  ทหารที่เคยอยู่ในความดูแลของเจ้ารัฐ อีกทั้งยังขับหลู่เจากง ออกจากรัฐอีกด้วย  ในรัฐฉีขุนนางแซ่เถียน ได้ใช้เงินของรัฐในการปล่อยกู้เป็นจำนวนมาก โดยเก็บคืนในจำนวนน้อย เพื่อให้ประชาชนมาพึ่งพิง เพิ่มกำลังอำนาจของตน จนท้ายที่สุดก็สามารถยึดครองอำนาจของรัฐฉีได้
        ในยุคโจวตะวันตก  ศาสตร์ความรู้ทั้งหลายอยู่ในการควบคุมของราชสำนัก วัฒนธรรมความรู้เป็นสิ่งที่มีจำเพาะในราชนิกูลขุนนางเท่านั้น ราชนิกูลชั้นต่ำหรือประชาชน ไม่มีโอกาสที่จะไปร่วมศึกษาในศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ยิ่งไม่มีโอกาสที่จะแสดงความคิดของตนด้วยการแต่งคัมภีร์เลย  ดังนั้นก่อนยุคชุนชิวจึงยังไม่มีการแต่งตำราส่วนตัวขึ้น นี่คือสภาพการณ์ที่การศึกษานั้นขึ้นอยู่กับทางการ
        มาถึงยุคของชุนชิว เมื่อราชสำนักโจวอ่อนแอลง ระบบการศึกษาที่ขึ้นอยู่กับทางการเกิดสั่นคลอนและตกต่ำอย่างรุนแรงจนไม่อาจพลิกฟื้นขึ้นอีก ขุนนางที่รับผิดชอบวัฒนธรรมการศึกษาต่างต้องระหกระเหิน ไปยังที่อื่น ตำราที่ทางการครอบครองไว้ก็ค่อย ๆ กระจายออกมา
        จากการที่การศึกษาของราชสำนักตกต่ำ ในสังคมจึงได้มีราชนุกูลชั้นกลางหรือประชาชนผู้มีความรู้ ได้เปิดรับศิษย์สอนความรู้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ในช่วงปลายยุคชุนชิว  ขงจื่อได้ทำการสอนศิษย์ในรัฐหลู่ โดยทำการอบรมในศาสตร์ทั้งหกได้แก่ จริยธรรม  ดนตรี  ยิงธนู  การขับรถม้า  คัมภีร์  การคำนวณ เป็นต้น ศิษย์ทั้งหลายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาจากชนชั้นต่ำต้อย ชั่วชีวิตการอบรมศิษย์ของท่านขงจื่อ ศิษย์ของท่านมีประมาณทั้งหมดสามพันคน ผู้ที่เชี่ยวชาญศาสตร์ทั้งหกนี้มีถึงเจ็ดสิบสองคน ( จากบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ บทขงจื่อซื่อเจีย )  อันนับเป็นอะไรรุ่งเรืองที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
        การคัดเลือกประชาชนที่มีความสามารถมารับราชการ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคชุนชิว ด้วยเหตุนี้ทำให้มีคนมากมายที่มาศึกษาเพื่อเข้ารับราชการ ประชาชนที่ได้มาเป็นขุนนาง ด้วยเหตุที่สามารถเข้าร่วมและหารือในการปกครอง ทำให้เกิดผลกระทบอย่างลึกซึ้งในด้านความคิด
        ในยุคชุนชิว การแก่งแย่งระหว่างแต่ละชนชั้นนั้นซับซ้อนและรุนแรงผลักดันให้ทางการเมืองมีนักคิดและบัณฑิตแต่ละสำนัก ปรารถนาในผลประโยชน์ที่เหมาะสมกับวรรณะและกลุ่มตน โดยได้เสนอความคิดและการอธิบายจักรวาล  โลก  หรือสิ่งต่าง ๆ ขึ้น ด้วยเหตุที่เกิดวรรณะบัณฑิตหรือปัญญาชนขึ้น จึงได้เกิดการนำเสนอแนวทางความคิดของสำนักต่าง ๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียกว่า อาจารย์ร้อยสำนัก  สำนักที่สำคัญนั้นได้แก่  สำนักปราชญ์  เต๋า  ม่อ  ฝ่า  หมิง  อินหยาง  ปิง  จ้งเหิง  หนง  จ๋า  เป็นต้น ได้เกิดนักคิดที่มีชื่อเสียงอย่าง  ขงจื่อ  เหลาจื่อ  ม่อจื่อ  ขึ้น  ซึ่งต่างมีปรัชญาและทฤษฏีการปกครองที่เป็นแบบฉบับของตน ถือเป็นการบุกเบิกโฉมหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ทางปรัชญา ทางความคิดของจีน
        ท่านขงจื่อเป็นนักปรัชญาและนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ ในด้านการปกครอง ได้เทิดทูนกษัตริย์เหยา  ซุ่น  เหวิน  อู่  โจวกง  ยกย่องระบบการปกครองของยุคบรรพการทั้งสาม และโจวตะวันตก โดยเชื่อว่าเช่นนี้จึงจะเป็นสังคมในอุดมคติ แนวทางความคิดนี้ไม่ได้ต้องการให้ประวัติศาสตร์หมุนย้อนกลับแต่เป็นการสะท้อนความไม่พอใจ ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น จึงหวังว่าผู้ปกครองจะทำการปฏิรูปให้เที่ยงตรง  โดยคิดว่าตั้งแต่ประเทศ  ครอบครัว  หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้น ควรจะมีหลักคุณสัมพันธ์ที่แน่นอนมารักษาไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงเน้นการฝึกฝนบำเพ็ญตน รักษาธรรมในบทบาท กระทำในตำแหน่ง และหน้าที่ของตนให้ดี ซึ่งได้รวบยอดเข้ามาเป็นคำว่า "กษัตริย์สมเป็นกษัตริย์   ขุนนางสมเป็นขุนนาง   บิดาสมเป็นบิดา   บุตรสมเป็นบุตร"  และเมื่อยกระดับขึ้นอีกขั้นก็ไปสู่คำว่า  เหริน       อันนับเป้นแก่นแท้และระดับสูงสุดในทัศนะทางสังคมและการปกครอง เพื่อปฏิบัติในเหริน  จึงได้มีการกำหนดระบบและบรรทัดฐานความประพฤติขึ้น เรียกว่าจริยธรรม  ขงจื่อได้เน้นการผลักธรรมรัฐ การใช้แรงงานประชาชนให้เหมาะกับเวลา  คัดค้านการปกครองที่โหดเหี้ยม และการขูดรีดประชาชน คัดค้านสิ่งที่ผิดต่อจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขยายตัวออกมาจากทัศนะของคำว่าเหรินทั้งสิ้น  ด้วยหลักแห่งเหรินและจริยธรรมของขงจื่อ ได้ทำให้การปกครองและหลักคุณสัมพันธ์ทั้งหลายถูกยกขึ้นสู่ระดับใหม่ที่สูงขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นที่สุดแห่งแก่นแท้ของหลักการปกครองและปรัชญาทีเดียว 
        หลุน   หมายถึงการหารือหรือจัดเรียง โดยมีศิษย์เจ็ดสิบกว่าคนได้ทำการหารือ และจัดเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์  ส่วนคำว่า  อวี่   หมายถึงการพูดคุยคัมภีร์ฉบับนี้ได้รวบรวม วจนะของท่านขงจื่อที่ได้ตอบคำถามศิษย์ทั้งหลายและผู้คนในสมัยนั้น  อย่างเช่นในบทเว่ยหลิงกง  จื่อจางได้ถามถึงการปฏิบัติ ท่านขงจื่อตอบว่า  วาจามีสัจจะ  ปฏิบัติด้วยเคารพ  จากนั้น จื่อจางก็ได้บันทึกประโยคนี้ไว้ที่ผ้าคาดเอว จากจุดนี้ ทำให้เห็นว่า ศิษย์ทั้งหลายของท่านขงจื่อ ต่างได้ทำการบันทึกคำพูดและจริยวัตรของท่านขงจื่อเอาไว้เสมอ  ในคัมภีร์ ยังมีคำพูดของศิษย์บางคน ซึ่งประเด็นสำคัญต่างอยู่ที่การถ่ายทอดคุณธรรมและปฏิปทาที่ท่านขงจื่อได้เคยสอนไว้ ทั้งหมดนั้นมีการแบ่งเป็นยี่สิบบท  โดยปราชญ์จูซี ซึ่งเป็นปราชญ์ในยุคหลังเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น
        คำว่า เหริน   นับเป็นอุดมคติของท่านขงจื่อ มีความหมายที่ครอบคลุมและกว้างขวาง ในการอธิบายคำว่า   เหริน   ของท่านขงจื่อจากแต่ละข้อก้ได้มีการอธิบายจากต่างมุม เพื่อให้เข้าถึงความหมาย   ดังนั้น ในการแปลเป้นภาษาไทย  คณะผู้แปลจึงจำต้องฝืนใช้คำที่แตกต่างในการแปลหรืออธิบายในแต่ละจุด อาทิเช่น ธรรมะ  คุณธรรม  เมตตา เป็นต้น  โดยหวังว่าผู้อ่านจะสามารถทำความเข้าใจในหลักธรรมของท่านขงจื่อ และสัมผัสถึงความหมายภายในลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากมีความผิดพลาดในการแปลหรือใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมประการใด ก็ขอให้ทุกท่านช่วยชี้แนะ และขออภัยมานะที่นี้ด้วย
        ในคัมภีร์ชุมนุมคติพจน์ จะปรากฏคำว่ารัฐอยู่หลายที่ ซึ่งถือเป็นระบอบการปกครองในสมัยนั้น โดยที่แต่เดิม รัฐนั้นเกิดขึ้นจากระบบการแบ่งที่ดินศักดินา โดยมีราชนุกูลหรือขุนนางที่มีผลงานไปปกครองดำรงตำแหน่งเจ้ารัฐ พร้อมทั้งรับภาษีและค่าโรงเรือนจากที่ดินเหล่านั้น แล้วส่งภาษีเครื่องบรรณาการให้กับกษัตริย์ในแต่ละปี เพียงแต่ในยุคชุนชิวที่ท่านขงจื่ออยู่นั้น เจ้ารัฐไม่ได้เห็นกษัตริย์อยู่ในสายตา ไม่มีการส่งภาษีและบรรณาการให้กับกษัตริย์ คล้ายแยกตัวเป็นเมืองปกครองอิสระ มีการเมืองภายในของตน ซึ่งในภาษาไทยหลายตำราได้ใช้คำว่าแคว้น  นครรัฐ  รัฐ  ต่าง ๆ กันไป  แต่ในที่นี้เพื่อให้ใกล้เคียงกับคำที่ใช้ในปัจจุบัน จึงเลือกใช้คำว่ารัฐ  ในการมาอธิบาย
        หลักธรรมของท่านขงจื่อ จำเป็นต้องอาศัยการไปสัมผัสทำความเข้าใจ ในจิตใจ  ปฏิปทา  และความคิดของท่าน โดยอย่าได้ยึดติดกับตัวอักษรเพียงเท่านั้น ด้วยหลักธรรมของศาสนาปราชญ์นั้นยิ่งใหญ่ลึกซึ้ง คัมภีร์ชุมนุมคติพจน์ก็ถูกรจนาขึ้นด้วยภาษาจีน บวกกับศาสนาปราชญ์ได้เริ่มต้นและพัฒนามาจากประเทศจีน ดังนั้น หากปรารถนาที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็สมควรที่จะศึกษาจากภาษาจีน แต่ด้วยความต้องการที่จะเผยแผ่ให้กว้างขวางและเหตุปัจจัยพิเศษบางประการ อีกทั้งเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเริ่มต้นเข้าใจหลักธรรมของศาสนาปราชญ์ในขั้นต้นได้ จึงได้ทำการแปรในภาคภาษาไทยออกมา โดยได้อาศัยคำอธิบายในฉบับของปราชญ์จูซี  ที่ได้รวบรวมนำเอาคำอธิบายของปราชญ์ในอดีตที่ได้อธิบายไว้มาประกอบ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาคัมภีร์ชุมนุมคติพจน์มากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าหากมีโอกาส ผู้อาวุโสทุกท่านจะสามารถไปศึกษาทำความเข้าใจในคัมภีร์ชุมนุมคติพจน์ อีกทั้งความยิ่งใหญ่ของพระศาสดาขงจื่อให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้จากภาษาจีน

                                                        คัมภีร์หลุนอวี่         

                                              ประชา   ศิลป์ชัย   เรียบเรียง

                                                ขงจื่อ ฉบับปราชญ์ชาวบ้าน   

                                                       อธิคม  สวัสดิญาณ

                                                             แปล

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                           คัมภีร์หลุนอวี่ 1   ชุมนุมคติพจน์   

                               บทที่ 1  :  การศึกษา

        บทการศึกษามีทั้งหมดสิบหกข้อ  เป็นบทแรกของคัมภีร์ชุมนุมคติพจน์ เป็นบทบันทึกเนื้อหาที่เป็นรากฐานในการปฏิบัติ เป็นประตูในการเข้าสู่ธรรมะ เป็นพื้นฐานในการสั่งสมคุณธรรม ทั้งเป็นก้าวแรกของ ผู้ศึกษาธรรม




        1.  ขงจื่อกล่าวว่า "เรียนรู้แล้วทบทวนอยู่เสมอ มิใช่เป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือ?. มีมิตรมาจากแดนไกล มิใช่เรื่องที่เป็นความสุขหรือ?.  ผู้อื่นไม่เข้าใจเราก็มิโกรธเคืองมิใช่สัตบุรุษหรือ?."

#  เรียนรู้     :  ผู้รู้ที่หลังจำเป็นจะต้องเอาอย่างผู้ที่รู้ก่อน ได้กระทำเริ่มจากการที่ไม่รู้  ศึกษาจนรู้
#  ทบทวน  :  นำสิ่งที่รู้มาฝึกหัด ทำแล้วทำอีกหลาย ๆ ครั้งจนชำนาญ ดั่งเช่นนกหัดบินก็จำเป็นต้องฝึกบินหลาย ๆ ครั้ง






        2.  โหย่วจื่อกล่าวว่า  " ผู้ที่มีความกตัญญูและปรองดองกับพี่น้อง แต่กลับชอบขัดแย้งต่อเบื้องสูงนั้นมีน้อยนัก ผู้ที่ไม่ชอบขัดแย้งต่อเบื้องสูง แต่ชอบก่อความไม่สงบนั้นไม่เคยมีมาก่อน สัตบุรุษพึงมุ่งปฏิบัติในรากฐาน เมื่อรากฐานตั้งมั่นแล้ว ธรรมก็จักบังเกิดขึ้น การกตัญญูต่อบุพการี ปรองดองกับพี่น้องนั้น ถือเป็นรากฐานแห่งการปฏิบัติธรรม " 

#  โหยวจื่อ             :   เป็นศิษย์ของท่านขงจื่อ นามว่ารั่ว
#   กตัญญู              :   คนที่เข้าใจในการปรนนิบัติต่อบุพการี จึงจะเรียกได้ว่ากตัญญู
#   พี่น้องปรองดอง    :   คนที่เข้าใจการปรองดองต่อพี่น้องอย่างแท้จริง จึงจะเรียกได้ว่าปรองดองอย่างแท้จริง
#   ขัดแย้ง              :   ล่วงเกิน

        คนที่มีความกตัญญู ปรองดองต่อพี่น้อง จิตใจก็จะอ่อนโยน จะไม่ค่อยล่วงเกินเบื้องสูง และไม่ชอบก่อความวุ่นวาย คุณธรรมนั้นมีรากฐาน เมื่อรากฐานของคุณธรรมถูกตั้งไว้ดีแล้ว ธรรมะก็จะสามารถแผ่ขจรขจายไปได้อย่างกว้างไกล อยู่ในครอบครัวก็ปฏิบัติในความกตัญญูและพี่น้องปรองดอง จากนั้นก็แผ่ขยายไปสู่เวไนยสัตว์และสรรพสิ่ง นี่จึงจะเรียกได้ว่าใกล้ชิดครอบครัวและรักใคร่มวลชน ดังนั้น การปฏิบัติธรรมจึงต้องเริ่มจากกตัญญู พี่น้องปรองดอง กตัญญู  พี่น้องปรองดอง คือส่วนหนึ่งของธรรมะ แต่การปฏิบัติซึ่งความกตัญญู พี่น้องปรองดอง ต้องมีธรรมะเป็นพื้นฐาน แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแก่นของธรรมะ เพราะธรรมะคือจิตญาณ ส่วนกตัญญูและพี่น้องปรองดอง เป็นคุณประโยชน์ของธรรมะ

ออฟไลน์ หนึ่งเดียว หลุดพ้น

  • Elder
  • มิตรนักธรรม
                          คัมภีร์หลุนอวี่ 1   ชุมนุมคติพจน์   

                               บทที่ 1  :  การศึกษา

        3.  ขงจื่อ กล่าวว่า "คนที่มีวาจาและสีหน้าประกบเอาใจ น้อยนักที่จะเป็นคนมีคุณธรรม"

#  วาจาประจบเอาใจ   -   พูดแต่ในสิ่งที่อีกฝ่ายชอบ
#  สีหน้าประจบเอาใจ  -   ทำสีหน้าที่คนอื่นต่างชอบ

        หากเอาใจไปคิดแต่ว่าจะทำให้คนอื่นชอบให้พอใจอย่างไร คนเช่นนี้ย่อมคิด แต่จะปล่อยใจไปตามกิเลสของคน คนเช่นนี้คุณธรรมสามัญจากใจเดิมแท้ย่อมได้สูญสิ้นไปนานแล้ว ซึ่งตรงกันข้ามกับความแข็ง เด็ดเดี่ยว ซื่อ พูดน้อย  สิ่งเหล่านี้จึงจะเรียกได้ว่าเข้าใกล้ธรรม

         4.  เจิงจื่อ กล่าวว่า "ในแต่ละวันเราจะสำรวจตนเองสามสิ่ง การทำงานต่อผู้อื่น ได้ทำอย่างซื่อสัตย์หรือไม่ ? ต่อการคบเพื่อน มีสัจจะหรือไม่ ? สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมา ได้ทบทวนหรือไม่ ?.

#  เจิงจื่อ     :   ศิษย์ของท่านขงจื่อ นามว่าเซิน นามรอง จื่ออวี๋
#   ซื่อสัตย์   :   ปฏิบัติอย่างสุดกำลังใจของตน เรียกว่าซื่อสัตย์ภักดี
#  สัจจะ      :   มีความจริงใจคือสัจจะ
#  ถ่ายทอด  :   สิ่งที่ได้รับจากอาจารย์เรียกว่า การถ่ายทอด       

Tags: