ศรีอารยเมตตรัยมนุษิโพธิสัตว์
ขอเล่าความเกี่ยวกับที่มาของพระสังกระจายจีน(ซึ่งเป็นรูปพระจีนอ้วนท้วน ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส, ดูร่าเริง) ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เป็นรูปเคารพ พระศรีอารยเมตตรัยมานุษิโพธิสัตว์ ซึ่งจะเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาจุติประกาศพระสัทธรรมพุทธศาสนาต่อจากพระศากยมุนี พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน นั่นเอง
อีกประการหนึ่ง พระรูปเคารพนี้ก็เป็นที่แพร่หลายในบ้านเราอย่างมาก ไม่ว่าวัดพุทธหินยานหรือวัดพุทธมหายาน แม้แต่ตามศาลเจ้าซึ่งเป็นส่วนของศาสนาเต๋าก็ไม่เว้น มักจะสร้างพระรูปเคารพของพระโพธิสัตว์องค์นี้ประดิษฐานเอาไว้เสมอ ชาวจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งมีศรีสุข ความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของฐานะครอบครัว ซึ่งเป็นไปตามรูปลักษณ์ของท่าน
บังเอิญพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ไปพ้องกับพระอสิติอรหันต์พระองค์หนึ่งในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทคือ พระมหากัจจายนะเถรเจ้า มีคติสร้างพระรูปเคารพเป็นพระอ้วนท้วน นั่งสมาธิ ยิ้มแย้มแ่จ่มใสเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วเป็นคนละองค์กัน ในหมู่ชาวพุทธที่เชื่อถือในเรื่องนี้มีความสับสนกันมาก ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า องค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์สาวก และอีกองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ลองมาดูประวัติของพระอรหันต์ฝ่ายหินยานเถววาทพระองค์นี้กันก่อน
เดิมทีท่านเป็นกุลบุตรในตระกูลเศรษฐี ( บางคัมภีร์ก็ว่าเป็นกุลบุตรในสกุลพราหมณ์เป็นปุโรหิต มีฐานะดี) บิดามารดามีทรัพยสินมากในระดับอภิมหาเศรษฐี มีกิจการเชิงพาณิชย์หลายอย่าง แล้วท่านก็เป็นลูกโทนเพียงคนเดียวของครอบครัว เมื่อท่านศรัทธาเข้าบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่นานนักบิดามารดาก็มาอ้อนวอนรบเร้า ให้ลาสิกขาบทออกมาช่วยทำมาค้าขาย ช่วยดูแลทรัพยสินและกิจการของครอบครัวที่มีอยู่มากมาย
ท่านทนการรบเร้าไม่ได้ก็ลาสิกขาบทออกมา แต่เมื่อสักระยะเวลาหนึ่ง ท่านเห็นว่าเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ก็ออกบวชใหม่อีกครั้ง ต่อมาบิดามารดาก็มาอ้อนวอนรบเร้าให้ลาสิกขาบทอีก อ้างว่าสองตายายชราภาพมากแล้ว ไม่มีใครปรนนิบัติดูแล และทรัพย์สินเงินทองมากมายก็ไม่รู้จะยกให้ใครได้
ท่านต้องบวชแล้วลาสิกขาบทอย่างนี้ วนเวียนอยู่ถึง 7 ครั้ง 7 ครา จึงได้บรรลุพระอรหันต์ในชั้นที่สุด
พระมหากัจจายนะเถรเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ที่มีพระสรีระงดงาม สง่าผ่าเผย หลายคัมภีร์พรรณนาความตรงกันว่า มีพระสรีระและพระจริยาวัตรทุกกระเบียดนิ้ว คล้ายหรือเรียกว่าเหมือนก็น่าจะได้ กับพระพุทธเจ้ามากที่สุดในบรรดาพระอสีติอรหันต์ทั้ง 80 พระองค์
แม้แต่พระอริยเจ้าในสมัยเดียวกันซึ่งมีฌานต่ำกว่าท่าน มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระบรมศาสดาเจ้า พุทธบริษัทสี่ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อเห็นพระมหากัจจายนะเถรเจ้า ก็ให้เข้าใจว่าเป็นพระพุทธองค์ทุกคราวไป
บรรดาสาวแก่แม่หม้ายที่มักมากในกิเลสกามคุณ ครั้นได้พบเห็นพระอรหันต์พระองค์นี้ ต่างก็เกิดกระสันสิเน่หา ดุจดังมีใครเอาไม้ไปกวนตะกอนนอนก้นของน้ำที่ใสอยู่ ให้ขุ่นข้นขึ้นมาฉับพลัน ไม่สามารถระงับกามราคะไว้ได้ ใคร่จะได้สัมผัสจับต้องพระวรกายในทุกๆที่ที่เสด็จโปรดสัตว์ บางก็สำเร็จความใคร่ในอารมณ์ด้วยจินตนาการว่าถ้าตนมีสามีงดงามดังนี้ ก็จะปรนนิบัติกามกิเลสกันสุดชีวิตทีเดียว
เล่ากันว่า บ่อยครั้งมักมีหญิงสาวระงับอารมณ์ไว้ไม่ได้ โผเข้าสวมกอดพระวรกายของท่าน ด้วยเหตุผลที่พรรณนามาเป็นสังเขปนี้ ย่อมเป็นเหตุหรืออุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อการรักษาพรหมจรรย์ของพระอรหันต์ และเป็นเหตุให้พระบารมีต้องด่างพร้อย ด้วยความเข้าใจผิดของพุทธบริษัท อันนำพระองค์ไปเสมอด้วยพระบรมศาสดาเจ้าโดยรู้เท่ามิถึงการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งไม่บังควรและไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง
ครั้งหนึ่ง , ท่านได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเจ้า แล้วทูลความทั้งหมดให้ทรงทราบ ก็แล้วพระมหากัจจายนะเถรเจ้าจึงทูลขอพระบรมพุทธานุญาต สำแดงฤทธิ์ด้วยอำนาจแห่งพระฌานของพระอรหันต์ ให้พระสรีระ(ร่างกาย, กายเนื้อ) แปรเปลี่ยนไป จากความงดงามอันน่าสิเน่หา ให้ร่างกายอ้วนพองเจ้าเนื้อขาดซึ่งความน่ารื่นรมย์เสียสิ้น จึงปรากฏพระสรีระดังที่เห็นกันในรูปเคารพปัจจุบัน
( ชาวพุทธนิยมสร้างเป็นพระเครื่องพระบูชา ด้วยกิริยาพระอ้วนนั่งขัดสมาธิเอาสองฝ่ามือปิดหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าพระปิดตามหาลาภบ้าง มหาเสน่ห์บ้าง ส่วนพระเครื่องอีกแบบที่ปิดหน้าปิดตาปิดก้น ปิดหมดรอบตัวนั้น ไม่ใช่ต้นแบบของพระอรหันต์องค์นี้ เรียกว่าพระปิดทวารบ้าง พระมหาอุดบ้าง คนละความหมายกันนะครับ)
คติพุทธศาสนาหินยานเถรวาท จึงมักสร้างพระรูปเคารพพระอรหันต์พระองค์นี้ เป็นพระอ้วนใหญ่พุงป่องที่เรียกว่าพระสังขจายบ้าง พระสังกัจจายน์บ้าง ตามแต่จะเรียกกันไป
แต่แม้จะมีพระสรีระฉะนี้แล้ว ความงดงามน่ารักน่าเอ็นดูก็ยังบังเกิดแก่ผู้พบเห็น ทำให้เกิดความสุขและความอิ่มเอิบใจอยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะพระบารมีซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้น อันไม่มีสิ่งใดจะปิดกั้นไว้ได้ แม้จะปรากฏอยู่ในนิรมาณกายใดๆก็ตาม เปรียบเนื้อขนุนที่หอมหวาน แม้มีเปลือกห่อหุ้มไปด้วยหนามและหนาด้วยยวง ก็ไม่สามารถปิดกั้นหมู่ภมรให้ร่อนมาเฝ้าแหงนได้ฉันนั้น
บังเอิญรูปลักษณ์หรือรูปเคารพของพระอสิติอรหันต์พระองค์นี้ ไปสอดคล้องต้องตามคัมภีร์มหายานว่าด้วยพระศรีอาริยเมตตรัยมนุษิโพธิสัตว์ ซึ่งมีคติสร้างพระรูปเคารพเป็นพระอ้วนท้วนนั่งสมาธิยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนกัน บ้างก็เรียกขานว่า พระสังขจายจีน
ลองมาดูประวัติความเป็นมาของพระรูปเคารพพระสังกัจจายน์จีน(พระศรีอาริยเมตตรัยมานุษิโพธิสัตว์)กันบ้าง
พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าสู่แผ่นดินจีนในราวศตวรรษที่ 3 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของราชวงค์ฮั่น (พ.ศ. 337-551) ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาตอนนั้นก็รับเอาคตินี้ ( คติที่ว่า พระมานุษิโพธิสัตว์พระองค์นี้จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป) มาจากอินเดียด้วย มีการสร้างพระรูปเคารพบูชาองค์พระศรีอารยเมตตรัย ซึ่งนิยมสร้างเป็น รูปวีระบุรุษที่มีความสง่างามขนาดใหญ่ ในยุคนั้น ตามความเชื่อที่ว่าพระศรีอาริย์จะเป็นบุรุษร่างใหญ่ สง่างาม ขี่ม้าขาวเป็นพาหนะ เสด็จมาโปรดมนุษย์โลกให้พ้นจากยุคเข็ญ
รูปเคารพยุคแรกๆที่ว่านี้ นิยมเคารพบูชากันมากโดยเฉพาะแผ่นดินจีนทางตอนใต้ ( มีการขุดพบรูปเคารพลักษณะนี้กันมากในแผ่นดินจีนภาคใต้นี่แหละ เช่นที่เมืองยุนกาง เมืองลุงเม็น) ซึ่งนักโบราณคดีของจีน , เกาหลี , ฝรั่งเศล , ล้วนให้ความเห็นตรงกันว่า เป็นพระรูปเคารพของพระศรีอาริยเมตตรัยมานุษิโพธิสัตว์ในยุคสมัยนั้น
ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 ( พ.ศ 821-921) แผ่นดินจีนระส่ำระสายอย่างหนัก นั่นเป็นช่วงสมัยสามก๊กตอนปลาย ( ภาคใต้ของจีนเป็นแดนปกครองของก๊กซุนกวน ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก) มีการรบพุ่งฆ่าฟันกันและขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เรียกได้ว่าเข้าขั้นกลียุค ผู้คนล้มตายกันเป็นอันมาก แผ่นดินลุกเป็นไฟ ทั้งจากการสงคราม , ปล้นชิงวิ่งราว , ขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค , โรคภัยไข้เจ็บ , ภัยพิบัติตามธรรมชาติ ผู้คนล้มตายกันเป็นผักปลา ฯลฯ
จนผู้คนจำนวนมากพากันเชื่อว่า นี่คือปรากฏการณ์วาระสุดท้ายแห่งธรรม เป็นการสิ้นสุดโดยสิ้นเชิงของยุคพระศากยมุนี ( ตามความในคัมภีร์ทั้งของหินยานและมหายาน) แล้วก็เฝ้ารอคอยการเสด็จมาอุบัติของพระศรีอาริยเมตตรัย เพื่อชำระพระธรรมให้สะอาดหมดจดอีกวาระหนึ่ง เพื่อเปิดศักราชโลกใหม่นำความร่มเย็นเป็นสุข นำสันติภาพมาสู่มวลพุทธศาสนิกชนอีกครั้ง
แต่เมื่อกาลเวลาไ้ด้ผ่านพ้นมาเนิ่นนาน ความเชื่อในการเสด็จมาโปรดของพระศรีอาริยเมตตรัย ก็ค่อยๆเลือนรางลง และการเคารพบูชาวีรบุรุษผู้มีม้าขาวเป็นพาหนะที่ว่านี้ ก็ค่อยๆผ่อนคลายลงตามกาลเวลา ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น ก็หันไปรับเอาคติมหายาน ลัทธิสุขาวดี ซึ่งกำลังมาแรงในช่วงนั้น (พ.ศ. 1021) ด้วยการสร้างพระรูปเคารพองค์ พระอมิตาภะพุทธเจ้า และ พระรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกวนอิม แทน ในที่สุดพระรูปเคารพของพระศรีอารยเมตตรัยก็ขาดหายไป
ต่อมาในแผ่นดินรัชสมัยของราชวงศ์ซ่ง(พ.ศ. 1503-1819) พระรูปเคารพของพระศรีอาริยเมตตรัยมานุษิโพธิสัตว์ ก็กลับมาปรากฏเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่พระรูปเคารพที่พบในรัชสมัยนี้ ไม่เหมือนในยุคก่อน และได้กลายเป็นต้นแบบพระรูปเคารพของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ มาจนถึงยุคปัจจุบัน นั่นคือพระอ้วนท้วนพุงพลุ้ย ยิ้มแย้มแจ่มใส, ยิ้มปากกว้างอย่างอารมณ์ดี, มือขวาถือเส้นประคำพาดหัวเข่าซึ่งยกชัน มือซ้ายพาดหน้าตัก บ้างก็ถือย่ามป่าน ฯลฯ
เหตุที่พระรูปเคารพแปรเปลี่ยนไปอย่างนั้น เล่ากันว่ามีพระภิกษุมหายานรูปหนึ่งเป็นชาวเมืองเฉ้อเจียง รูปร่างเป็นคนอ้วนท้วน พุงพลุ้ย ยิ้มร่าเริงอารมณ์ดีอยู่เสมอ ท่านมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการเช่น สามารถพยาการณ์อากาศได้ราวตาเห็น ฝนจะตกแดดจะออก จะมีพายุหมุน จะมีพายุหิมะ น้ำจะท่วม แผ่นดินไหว ไฟจะไหม้ป่าหรืออื่นๆอีกหลายประการ ชนิดที่กรมอุตุนิยมวิทยาอเมริกาอายม้วนทีเดียว
ว่ากันว่ามีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ( การพยากรณ์อากาศถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งกับสังคมเกษตร โดยเฉพาะในยุคพันปีที่แล้ว ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือวิทยาการเกี่ยวกับการตรวจวัดภูมิอากาศ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากธรรมชาติประเภทนี้ได้เลย ทำให้ภัยจากธรรมชาติเป็นภัยที่ใหญ่หลวงเกินประมาณ การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำจึงสำคัญมาก)
มีผู้คนพบเห็นพระภิกษุรูปนี้ท่านลงไปสรงน้ำในแม่น้ำ ว่าท่านมี 3 ตา โดยตาที่ 3 อยู่กลางแผ่นหลังนั่นเอง ส่วนย่ามป่านนั้นท่านมักจะหยิบขนมหรือของเล่นต่างๆแจกจ่ายให้เด็กๆ ซึ่งมักจะเดินตามท่านเป็นกลุ่มใหญ่อยู่เสมอ ว่ากันว่าแม้จะหยิบสักเท่าไรก็ไม่เคยหมดย่ามเสียที ทำนองเดียวกันกับกระเป๋าโดเรมอนการ์ตูนญี่ปุ่นยอดฮิตของช่อง 9 นั่นแหละครับ
( ผมเข้าใจว่าผู้สร้างหนังการ์ตูนเรื่องนี้ คงเอาคติมาจากย่ามป่านพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ ใส่ลงไปในการ์ตูนที่ตัวโดเรมอนนั่นเอง เพราะญี่ปุ่นเองก็เป็นแหล่งใหญ่ของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งก็รับอิทธิพลมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง น่าจะมีความเป็นไปได้มาก ทำนองเดียวกับเรื่องสตาร์วอร์ ที่วางคอนเซ็ปของเรื่องอิงปรมัตถธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนา เป็นเรื่องบังเอิญที่น่าสนใจครับ)
ผู้คนก็พากันเลื่อมใสและด้วยคติที่มีความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์มาก่อน จึงเชื่อว่าพระภิกษุรูปนี้คือ พระศรีอารยเมตตรัยโพธิสัตว์ ต่างก็พากันสร้างพระรูปเคารพโดยยึดเอารูปลักษณ์พระภิกษุองค์นี้ เป็นต้นแบบ โดยมีนัยว่า ผู้ใดมีพระรูปเคารพไว้สักการะบูชาแล้ว ย่อมมีความมั่งมีทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีวันหมด เช่นข้าวของในย่ามของท่าน อุดมสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะท่านอ้วนพุงพลุ้ย แปลว่ามีกินมีใช้ไม่ขาดปากขาดมือ เด็กๆชอบห้อมล้อมหน้าหลังเนืองๆ ก็หมายความว่าจะมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ไม่ขาดเชื้อสายสืบวงศ์สกุล
( ผมว่านี่เป็นความฉลาดหรือภูมิปัญญาของคนโบราณ ที่ท่านฉลาดในการสื่อ แล้วแฝงปรัชญาการดำรงชีพเอาไว้ได้สนิทแนบเนียน แถมสามารถรักษาไว้ในลักษณะนี้ได้ยาวนาน เพราะผู้คนย่อมแสวงหาแต่สิ่งที่ดีอย่างนี้เสมอ พื้นฐานดั้งเดิมของคนทั่วไปก็มักจะรับไว้ได้ไม่ยากนัก)
นั่นคือตำนานที่มาของพระรูปเคารพ พระศรีอารยเมตตรัยมานุษิโพธิสัตว์ ( หรือที่ชาวบ้านเข้าใจและเรียกกันว่าพระสังกัจจายน์จีนนั่นแหละครับ)
การจัดวางหรือประดิษฐานพระรูปเคารพพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ ตามคติของมหายาน จะต้องจัดวางไว้เป็นอันดับแรกของพระรูปทั้งหมด หมายความว่าเมื่อเดินเข้าไปในเขตสังฆาวาสของมหายาน ด่านแรกที่เห็นก็จะเป็นพระรูปพระโพธิสัตว์พระองค์นี้เป็นเบื้องแรก นั่งหันพระพักตร์ออกมาข้างหน้า(หันหลังให้โบสถ์) ห้อมล้อมด้วยท้าวจัตตุโลกบาลทั้งสี่ ซึ่งเทพอภิบาลหรือธรรมบาลนี้ ผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ต้นจนจบ มีรายละเอียดเกี่ยวข้องอยู่มากเหมือนกัน แต่ผมจะไม่ลงไปในรายละเอียดแล้วล่ะครับ เพราะได้เขียนเรื่องราวส่วนนั้นแยกเอาไว้ให้ได้อ่านกันแล้ว
ด้านหลังของพระรูปเคารพนี้จะต้องจัดวางพระรูปเคารพขององค์พระเวทโพธิสัตว์ ประทับยืนเอาปฤษฏางค์พิงกันไว้อีกพระองค์หนึ่ง(ผินพระพักตร์เข้าหาอุโบสถ) หมายความว่ามีพระรูปพระโพธิสัตว์สองพระองค์ เอาหลังพิงกัน องค์หนึ่งหันหน้าออก อีกองค์หันหน้าเข้าหาตัวโบสถ์ (หันหน้าเข้าหาพระประธานในโบสถ์) ถัดเข้าไปตรงกึ่งกลางจะเป็นตัวโบสถ์ประดิษฐานพระประธาน แล้วแยกออกสองข้างเป็นมุขซ้ายขวา ด้านซ้ายมือของเราจะเป็นมุขที่ประทับของพระรูปเคารพพระกษีติครรภมหาโพธิสัตว์ ส่วนมุขด้านขวาจะเป็นที่ประทับของพระรูปเคารพ พระอวโลกิเตศวรกวนอิมมหาโพธิสัตว์
ในพระอุโบสถนั้นจะมีองค์พระประธาน รูปลักษณ์เหมือนกันทุกอย่าง เรียงกัน 3 องค์ จากขวาคือ พระอมิตภะพุทธเจ้า องค์กลางคือ พระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้า ( พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และองค์ซ้ายคือ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ถือเป็นพระรัตนสูงสุดของมหายานดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
อธิบายความโดยบุคลาธิษฐานธรรมได้ว่า พระพุทธรูปทั้งสามนั้น มีนัยหมายถึง ตรีกาย ของพระพุทธเจ้าคือ นิรมาณกาย , ธรรมกายและสัมโภคกาย นี่เป็นประการหนึ่ง
ความเหมือนกัน ทุกอย่าง ของพระพุทธรูปทั้งสามพระองค์ อธิบายโดยธรรมาธิษฐานได้ว่า มีพระประสงค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือ พุทธกิจในการโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เทพเทวดา ปีศาจยักษ์มาร ให้ล่วงพ้นจากความทุกข์ พาข้ามห้วงโอฆสงสาร มุ่งสู่แดนสุขาวดีพุทธเกษตรมณฑลเป็นที่สุด นี่เป็นนัยอีกประการหนึ่ง
พระอวโลกิเตศวรกวนอิมมหาโพธิสัตว์นั้น อยู่ทางเบื้องขวา มีนัยว่าช่วยพุทธกิจข้างต้น โดยมุ่งเน้นไปที่มนุษย์และเทวดา และมีภาระที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ทีเดียว เรื่องนี้ต้องยกเอาไว้ว่ากันเป็นฉากๆไป ส่วนพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์(ชาวแต้จิ๋วเรียก พระตี่จั๊ง)อยู่ทางเบื้องซ้าย มีนัยว่าช่วยปลดเปลื้องความทุกขเวทนาของสรรพสัตว์ทั้งหลายในนรกภูมิ