นักธรรม
ห้องสมุด "นักธรรม" => หนังสือ => ข้อความที่เริ่มโดย: หนึ่งเดียว หลุดพ้น ที่ 20/02/2012, 08:37
-
ตามรอยอริยา
คำนำ
ตำนานเรื่องราวในชีวิตของปราชญ์เมธาและอริยประวัติของพระผู้บรรลุธรรมเป็นเรื่องราวน่าสนใจสำหรับผู้เลื่อมใสศรัทธาทุกสมัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีหนังสือประเภทนี้มากมายในท้องตลาด หนังสือ "ตามรอยอริยา" เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ออกตามมา แต่ออกตามมาเพื่อจุดประสงค์ให้ผู้บำเพ็ญเห็นถึงคุณธรรมความมุ่งมั่นอันสูงส่งในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อคิดให้ได้ "ตามรอยอริยา" กันมากกว่าแสดงรายละเอียดของชีวประวัติ
อมตะพุทธะจี้กงพระอาจารย์เคยโปรดศิษย์ไว้ว่า "เจ้าจะบำเพ็ญเพียร เริ่มแรกให้กำหนดใจว่า เจ้าจะเจริญรอยตามแบบอย่างพระองค์ใด" เราอาจจะเจริญรอยตามไม่ได้ทั้งหมด เพราะต่างกันด้วยกาลเวลา สถานะสภาพสิ่งแวดล้อม แต่นั่นคือ เรื่องราว "ภายนอกตัว" แต่เราอาจเจริญรอยตามจนบรรลุได้เหมือนอย่างพระองค์ หากเราจะแน่วแน่จริงจังกับเรื่องของ "ภายในตัว"
"ภายในตัว" คือคุณธรรมความมุ่งมั่น เอาคุณธรรมความมุ่งมั่นเป็นป้อมปราการต้านภัย อุปสรรคล้วนเป็นมายา เครื่องกีดขวางล้วนเป็นภาพลวงตา ผ่านเข้ามาแล้วก็ต้องผ่านพ้นไปเป็นธรรมดา ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะทำอะไรเราไม่ได้เลย เพราะมันคือเรื่องของ "ภายนอกตัว" คิดได้ดังนี้แล้วจึงไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะ "ตามรอยอริยา" ไปไม่ถึง
ศุภนิมิต
แปล และ เรียบเรียง
-
ตามรอยอริยา
สารบัญ
อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น
ปู้เจ้าโจวกง
บรมครูขงจื่อ
ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ
ท่านปราชญ์จวงจื่อ
พระบรรจารย์เป้าผูจื่อ
พระบรรพจารย์หวังฉงหยัง
พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี๋ยน
-
อริยกษัตริย์เหยา
"อริยภาพ" ภายใน "ศักดานุภาพ" ภายนอก เป็นอุดมคติสำหรับความเป็น "คน" ของชาวจีนผู้มีคุณธรรมวัฒนธรรมตลอดมา จึงเป็นแบบอย่างเป็นเป้าหมายที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญข้างหลังพึงมุ่งใจศึกษษปฏิบัติตาม เพื่อช่วยให้จิตใสใจสว่างมี "อริยภาพ" อีกทั้งสามารถอุ้มชูมวลชน ให้พ้นจากทุกข์ภัยให้ได้มากที่สุดด้วย "ศักดานุภาพ" ตั้งแต่โบราณกาลมา ไม่ว่าจะเป็นการ "เสริมสร้างบ้านเมือง" ของอริยกษัตริย์ หรือการ "เสริมสร้างคุณธรรมบำเพ็ญ" ของบุคคลล้วนมุ่งใจในอุดมคตินี้ทั้งนั้น
พระอริยเจ้า อริยบุคคลของจีนทุกสมัยนานนับห้าพันปี ได้สืบทอดอุดมคตินี้เรื่อยมาไม่ขาดสาย เรียกว่า "สืบต่อพงศาธรรม "เต้าถ่ง" อริยกษัตริย์เหยาสืบทอดพงศาธรรมต่อไปให้แก่อริยกษัตรย์ซุ่น
จากอริยกษัตริย์ซุ่นถึงอริยกษัตริย์อวี่
จากอริยกษัตริย์อวี่ถึงกษัตริย์ทัง
จากอริยกษัตริย์ทังถึงกษัตริย์เหวิน
จากอริยกษัตริย์เหวินถึงกษัตริย์อู่
จากกษัตริย์อู่ถึงโจวกง
กษัตริย์เหวิน อู่ และโจวกง สืบทอดต่อไปถึงบรมครูขงจื่อ ขงจื่อสืบต่อไป ... จนถึงเมิ่งจื่อ แน่นอนการสืบต่อนั้น มิใช่สืบต่อโดยจากมือยื่นส่งให้ผู้รับช่วงอีกมือหนึ่ง เหมือนส่งไม้รับลูกเบสบอลให้รับช่วงต่อไปอย่างนั้น แต่เป็นการสืบทอดด้วยขวัญวิญญาณอันลุ่มลึกอยู่ในสายเลือด ด้วยปณิธานหาญกล้ามุ่งมั่นจริงจังทุกขณะจิต ด้วยอุดมการณ์สร้างสรรค์ไม่มีวันถดถอย ด้วยมโนธรรมสว่างดุจตะวันเดือน ... ความมุ่งมั่นอันเป็นหนึ่งเดียว สืบทอดเรื่อยไปไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เปรียบดั่งเติมฟืนต่อไฟ ที่เรียกว่า "ฟืนไฟหมดไหม้ ฟืนใหม่สืบต่อ ซินหั่วเซียง
ฉะนั้น การนี้ จึงไม่ใช่อักขระจารึกประวัติศาสตร์ที่จะแสดงให้เห็นได้ทั้งหมด แต่จะเป็นทียอมรับประจักษ์ชัดด้วยจิตสัมผัสที่มีปณิธานการปฏิบัติบำเพ็ญเช่นเดียวกัน อริยกษัตริย์เหยา สูงส่งงดงามด้วยคุณธรรมและกรุณาธรรมจนท่านขงจื่อต้องเทิดทูนจารึกพระกิติคุณไว้ว่า
"ยิ่งใหญ่แท้ด้วย "เหยา "กษัตริย์ทรงปกครอง
ตระหง่านแท้ด้วยฟ้ากว้างใหญ่ไพศาล "เหยา" เป็นเช่นนั้น
ระบือนามแท้ด้วยทวยราษฏร์แซ่ซ้อง
สูงส่งงามสง่าแท้ด้วยคุณอันสำเร็จไว้
เจิดจรัสชัชวาลแท้ด้วยบทความตามจารึก"
ต้าไจ เหยาจือเอว๋ยจวินเอี่ย เอว๋ยเอว๋ยฮู เอว๋ยเทียนเอว๋ย
ต้า เอว๋ยเหยาเจ๋อจือ ตั้งตั้งฮู หมินเหนิงหมิงเอียน เอว๋ยเอว๋ยฮู ฉี
เฉินกงเอี่ย ฮ่วนฮู ฉีโหย่วเหวินจัง
-
อริยกษัตริย์เหยา
จากข้อความดังกล่าวทำให้เรารู้ได้ว่า "กษัตริย์เหยา" มิใช่เป็นแต่ ปิยะมหาราชของประชาชนแต่เป็น "อริยเจ้า" ของผู้บำเพ็ญ จากความเป็นผู้ให้ความเที่ยงธรรม เสมอภาคในการปกครอง ให้มหาเมตตากรุณาคุณโอบอุ้มถึงดุจฟ้า มองการณ์ไกล ให้อนาคตสดใสร่มเย็นแก่บ้านเมือง ให้คุณธรรมงามสง่าด้วยอริยลักษณ์เป็นแม่แบบไว้ เกือบห้าพันปีผ่านมา คำว่า "ขอฟ้าใสเช้นสมัยอริยกษัตริย์ "เหยา" จึงยังคงติดปากกันอยู่ทุกวันนี้ ท่านซือหม่าเซียนปรมาจารย์พงศาวดารจีน ก็ได้จารึกไว้ว่า
"กรุณาธรรมท่านดุจฟ้า ญาณปัญญาท่านดุจเทพ ฯ
ให้แก่ผู้รับดุจตะวัน มองดูพลันดุจเมฆ
ร่ำรวยมิได้ผยอง ไม่ลำพองสูงศักดา
ฉีเหยินยูเทียน ฉีจือหยูเสิน
จั้วจือหยูยื่อ อวั้งจือหยูอวิ๋น
ฟู่เอ๋อปู้เจียว กุ้ยเอ๋อปู้จิน
สรุปได้ว่า ในชั่วพระชนชีพที่ยืนยาวภึงหนึ่งร้อยยี่สิบ พระชันษาของพระองค์สูงส่งด้วยความ
บริสุทธิ์ศรัทธา
บำเพ็ญใจเที่ยงตรง
งามจริยธรรมสำรวมกาย
โอบอุ้มด้วยน้ำพระทัยรายรอบ
ปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรม
สร้างสรรค์สันติธรรมทั่วหล้า
เฉิงอี้ เฉิงซิน ซิวเซิน ฉีเจีย จื้อกั๋ว ผิงเทียนเซี่ย
พระองค์ปฏิบัติคุณความดีดังกล่าวอย่างแท้จริง เป็นแบบอย่างที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญทุกคนพึงตั้งจิตศรัทธาจะเจริญรอยตาม จริยธรรมของพระองค์อีกอย่างหนึ่งที่หาไม่ได้อีกในโลกปัจจุบัน คือ การ "สละบัลลังก์มหาสมบัติให้แก่ผู้มีคุณธรรม" โดยมิได้ห่วงหวงไว้เลย ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีราชบุตรถึงเก้าพระองค์ มีข้าราชบริพารที่เก่งกล้า จงรักภักดีนับไม่ถ้วน แต่คุณสมบัติที่พระองค์ต้องการคือ "คุณธรรมล้ำเลิศ" เพราะนั่นหมายถึงความร่มเย็นเป็นสุขของปวงประชา และการปลูกฝังคุณความดีให้แก่ทุกชีวิตต่อไปในอนาคต พระองค์จึงเฝ้าเสาะหา พิจารณาเรื่อยมาว่า ผู้ใดสมควรจะเป็นผู้บำรุงรักษาประชาราษฏร์บ้านเมืองต่อไป
ราชบุตรตันจู ในพระองค์แม้จะมีคุณสมบัติด้านอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ด้านคุณธรรมยังสูงส่งไม่พอ ขุนนางผู้ชาญฉลาดที่รับราชการดีมาชั่วชีวิต ยังมีจิตริษยา มีความเห็นแก่ตัวแอบแฝงอยู่ ขุนนางอื่น ๆ แม้จะมีความสามารถปราดเปรื่อง แต่คุณธรรมมีจำกัด ไม่อาจเป็นผู้เสียสละได้อย่างแท้จริง อริยกษัตริย์เหยา จึงเฝ้าเพียรหาคนดีที่จะทำเพื่อจะ "ให้" มิใช่ทำเพื่อจะ "ได้" จนในที่สุดก็ได้ค้นพบซุ่น บุตรยอดกตัญญู เมื่อพระองค์จะยกบัลลังก์บ้านเมืองให้แก่ซุ่น แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร พูดอย่างไร ซุ่นก็ไม่ยอมรับไว้ ขณะนั้น ซุ่นอายุได้ ยี่สิบแปดปี
สุดท้ายด้วยประชามติทั่วบ้านเมืองอ้อนวอน ร้องขอ จนซุ่น ไม่อาจปฏิเสธได้อีก จึงจำใจรับภาระปกครองบ้านเมืองพร้อมกับสืบต่อพงศาธรรมต่อไป อริยกษัตริย์เหยา ซุ่น และอวี่ สืบต่อพงศาธรรม ตามรอยอริยกันมาด้วยขวัญวิญญาณที่ว่า
"ใจคนหมิ่นเหม่ เป็นภัย มิให้ประมาท มิให้ผิดพลาดด้วย โลภ โกรธ หลง
ใจธรรมละเอียด สุขุมคัมภีรภาพ พึงประคองรักษาไว้ให้เที่ยงแท้
สุดยอดหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดเสมอด้วยพุทธจิตนี้
กำหนด ณ ศูนย์กลาง นั่นคือ ที่สถิตจิตเดิมแท้ธรรมญาณ
" เหยินซินเอว๋ยเอว๋ย เต้าชินเอว๋ยเอว๋ย เอว๋ยจิงเอว๋ยอี่ อวิ่นจื่อเจวี๋ยจง" โศลกกบทนี้ จารึกในคัมภีร์ซูจิง ในบท ต้าอวี่ม่อ
แต่โบราณกาลมา สิ่งที่อรยปราชญ์แสวงหามิใช่อื่นใด มีแต่การชำระฝึกฝนจิตญาณให้สูงส่งบริสุทธิ์สว่างไสวเป็นสำคัญ คนทั่วไปที่มิอาจเจริญรอยตาม ก็ด้วยกิเลสตัณหาราคะพาเพลิน จึงต่างตกต่ำถลำลง คุณธรรมเป็นประภาคารท่ามกลางทะเลมนุษย์อันมืดมิด จิตที่ใฝ่ดีจะอาศัยแสงสว่างจากประภาคารส่องทางให้ไปถึงจุดหมายแห่งการพ้นทุกข์ได้ อริยกษัตริย์เหยา จึงเฝ้าประคองรักษาคุณธรรมความดีทุกประการไว้
-
ตามรอยอริยา
อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น
อริยกษัตริย์ซุ่น
อริยกษัตริย์ซุ่น สืบเชื้อสายจากปฐมบรมกษัตริย์หวงตี้ เป็นลูกหลานรุ่นที่แปด พระองค์มีลักษณะพิเศษ คือ มีแก้วพระเนตรช้อนกันสองดวง จึงมีพระนามว่า "ฉงฮว๋า" แปลว่า "สุกใสช้อนดวง" บิดาของท่านนามว่า กู่โสว มารดาผู้ให้กำเนิดนามว่า อั้วเติง มารดารับรู้การปฏิสนธิของซุ่นได้จากรุ้งกินน้ำ ให้กำเนิดซุ่น ณ เมืองเหยาหลู ให้กำเนิดไม่นานก็ละสังขารจากไป บิดาได้ภรรยาใหม่ื่ชื่อ เยิ่นหนวี่ เป็นหญิงปากร้ายที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ นางได้บุตรชายชื่อว่า เซี่ยง บิดาหลงรักภรรยาใหม่และลูกใหม่ ไม่ชอบซุ่น ซุ่นถูกสองแม่ลูกทรมานกลั่นแกล้ง ด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นประจำ แต่จิตกตัญญูโดยกำเนิดของซุ่นอดทนรับได้ไม่เคยขัดเคือง ซุ่นรับใช้ทำงานเพาะปลูกทุกอย่างในบ้าน มาเลี้ยงดูครอบครัวของบิดา แต่กระนั้นก็ยังถูกริษยา ถูกทำร้ายจะให้ตาย
ซุ่นอายุได้ยี่สิบปี ชื่อเสียงความดี ความกตัญญูก็เลื่องลือไปทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว คุณธรรมความสามารถของซุ่น เป็นที่ประทับใจของผู้คนมากมายจนถึงกับมีผู้ขอติดตามเรียนรู้คุณธรรมความดีงามทุกอย่างจากท่านกันเป็นขบวน ชาวบ้านชาวเมืองต่างพากันหอบลูกหอบหลานมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ ถึงขนาดกลายเป็นชุมชนใหญ่ เหมือนหมู่ดาวที่รายล้อมดาวเหนือสุกอร่าม ดังคำที่ว่า "ผู้มีคุณธรรมย่อมไม่โดดเดี่ยว เต๋อเจ่อปู้กู" เหตุนี้จึงทำให้อริยกษัตริย์เหยาค้นพบ "ซุ่น" ได้ในเวลาต่อมา
ซุ่นอายุได้สามสิบปี ยังไม่มีครอบครัว ซึ่งนับว่าสูงวัยมากสำหรับคนสมัยนั้น กษัตริย์เหยาจึงยกพระธิดาเอ๋อหวง กับ หนวี่อิง ให้เป็นพระชายา ให้ราชบุตรเก้าคนของพระองค์ศึกษารับใช้ซุ่น โดยมิได้ถือว่า "ซุ่น" นั้นมาจากสามัญชน ซุ่น ช่วยกษัตริย์เหยา ปกครองบ้านเมืองถึงสามสิบปี จนกระทั่งกษัตริย์เหยาถึงกาลกลับคืนไป ซุ่นจึงสืบต่อพงศาธรรม ขึ้นครองบัลลังก์ ณ เมืองผูปั่น เมื่อพระชนมายุได้หกสิบชันษา
จากนั้นกษัตริย์ซุ่นได้แต่งตั้งอวี่ เป็นมุขมนตรี
แต่งตั้งชี่ ให้ดูแลการเกษตร
แต่งตั้งชี่ อีกคนหนึ่ง ดูแลอบรมคุณธรรมทั่วหน้า
แต่งตั้งเกาเถา ให้ดูแลระเบียบกฏหมายของบ้านเมือง
แต่งตั้งฉุย ดูแลการพัฒนาก่อสร้าง
แต่งตั้งป๋ออี๋ ดูแลพิธีการ วัฒนธรรมการศึกษา
การเลือกสรรผู้รับผิดชอบดูแลงานบ้านเมืองล้วนเป็นไปตามความเหมาะสม แก่การทะนุบำรุงรักษาประชาราษฏร์เป็นสำคัญ มิใช่ด้วยความโปรดปราณปฏิพัทธ์ต่อบุคคลเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงมีคำแซ่ซ้องสาธุการก้องฟ้าว่า
"สมัยเหยาสงบ ฟ้าสดใส สมัยซุ่นอบอุ่น เกษมศานต์ เหยาเทียนซุ่นยื่อ" อริยกษัตริย์ซุ่น ดำเนินตามจริยธรรมการปกครองเยี่ยงอริยกษัตริย์เหยา สุดท้าย พระองค์ทรงมอบภาระอันศักดิ์สิทธิ์สำคัญแก่มุขมนตรีอวี่ ผู้อุทิศตนเพื่อบ้านเมืองอย่างจริงจังรับช่วงสืบต่อไป
การถูกเคี่ยวกรำอย่างสาหัสสากรรจ์ที่อริยกษัตริย์ซุ่นต้องได้รับจากมารดาเลี้ยงและน้องชายต่างมารดา เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติบำเพ็ญจริง จึงขอยกตัวอย่างไว้ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจแก่กันและกัน
ครั้งหนึ่ง มารดาเลี้ยงอยากกินฝักบัว จงใจใช้ให้ซุ่นซึ่งยังเป็นเด็กน้อย ว่ายน้ำไม่เป็น ไปเก็บที่บึงใหญ่ หวังให้เด็กน้อยจมน้ำตาย แต่เด็กน้อยมีจิตบริสุทธิ์ มีความกตัญญู มีปฏิภาณ เกาะแผ่นกระดานลอยคอไปเก็บมาจนได้ อีกครั้งหนึ่งที่มารดาเลี้ยงอยากแกล้งให้ซุ่นทุกข์ทรมาน เอากิ่งไม้หนามมีพิษแอบซ่อนในพุ่มหญ้าใต้ต้นลิ้นจี่ ให้เด็กน้อยซุ่นไปปีนต้นเก็บผลลิ้นจี่ เด็กน้อยไหวทัน ใช้บันไดพาดขึ้นไปเก็บลิ้นจี่มาให้ ลูกชายของมารดาเลี้ยงเองกลับซุ่มซ่ามจะชิงเอาหน้าเลยเหยียบหนามเสียเอง เจ็บปวดบางตาย ซุ่นอีกนั่นเองรีบไปหาใบยาถอนพิษมารักษาน้องชายได้ทันท่วงที มารดาเลี้ยงกลั่นแกล้งรังแกซุ่นเรื่อยมา ครั้งหนึ่ง วางแผนใช้ให้เด็กชายซุ่นขึ้นไปบนหลังคายุ้งฉางที่สูงมาก แล้วชักบันไดออก วางเพลิงเผาโดยรอบ โชคดีเด็กชายซุ่นสวมหมวกฟางปีกกว้างอยู่ กระโดดตัวลอย มีลมวูบใหญ่พัดพาให้ร่อนลงสู่พื้นดินโดยปลอดภัย อีกครั้งหนึ่ง มารดาเลี้ยงใช้ให้เด็กชายซุ่น ลงไปล้างก้นบ่อหมักหมม แล้วผลักหินก้อนใหญ่ลงไป หวังจะทับให้ตายแล้วกลบหลุมเสีย เดชะบุญที่ก้นบ่อมีอุโมงค์ลอดออกมาได้
ผู้สร้างคุณธรรม บำเพ็ญทุกยุคสมัยล้วนจะต้องฝ่าฟันวิบากกรรม ถูกทดสอบเคี่ยวกรำ แม้จะหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็ล้วนผ่านพ้นไปได้ จึงมิให้ท้อถอยหรือยอมแพ้แก่ใจตนเอง
-
ตามรอยอริยา
2. ปู่เจ้าโจวกง
"ก่อเกิดคุณธรรมคงไว้ ก่อเกิดสัจวาจาคงไว้ ก่อเกิดคุณประโยชน์คงไว้ ลี่เต๋อ ลี่เอี๋ยน ลี่กง" การก่อเกิดให้คงไว้ซึ่งสามประการนี้ เรียกว่า "สามอมตะคู้ฟ้า" เป็นสามอมตะที่อริยปราชญ์ต่างมุ่งใจจะก่อเกิดให้คงไว้ในโลกกันทั้งนั้น อริยบุคคลที่ได้รับความสำเร็จในการประกอบกรรมดีทั้งสามนี้ได้ครบถ้วนอีกท่านหนึ่งซึ่งลำดับไว้ในกลอนคู่ตอนท้ายบท "เมิ่งจื่อ" ที่ว่า "ขงจื่อการุณย์ เมิ่งจื่อมโนธรรม โจวกงจริยา กษัตริย์เหยาโปร่งฟ้า ซุ่นประชาสันต์ ฮั่นวิชญา" คำว่าโจวกงนั้นคือหมายถึงปู่เจ้าโจวกงนั่นเอง
แต่โบราณมา เหยา ซุ่น ขงจื่อ เมิ่งจื่อ โจวกง ล้วนเป็นอริยปราชญ์ที่ชาวจีนให้ความเคารพสูงสุดทุกท่าน ท่านบรมครูขงจื่อในสมัยต่อมา ได้
เทิดทูนเกียรติคุณของปู่เจ้าโจวกงว่า
"อันจิตญาณท่ามกลางดินฟ้า คน สูงส่งกว่าอื่นใด
ความเป็นคน ไม่มีที่ยิ่งกว่ากตัญญู
กตัญญูไม่มีที่ยิ่งกว่า เทิดทูนยำเกรงบิดา
เทิดทูนยำเกรงบิดา ไม่มีที่ยิ่งกว่าให้เสมอด้วยฟ้า
โจวกงถึงแล้วด้วยประการนี้...
เทียนตี้จือซิ่ง เหยินเอว๋ยกุ้ย
เหยินจือสิง ม่อต้าอวี๋เซี่ยว
เซี่ยวม่อต้าอวี๋เอี๋ยนฟู่
เอี๋ยนฟู่ม่อต้าอวี๋เพ่ยเทียน
เจ๋อโจวกงฉีเหยินเอี่ย"
โจวกงผู้สูงส่งด้วยกตัญญุตาธรรม จึงได้กำหนดความเคารพห้าลำดับให้ชาวโลกได้สำนึกพระคุณอยู่เสมอ คือ ฟ้า ดิน จอมราช บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เทียน ตี้ จวิน ชิน ซือ การปฏิบัติตนบำเพ็ญจิตของท่านบรมครูขงจื่อ ก็ถือเอาปู่เจ้าโจวกงเป็นแบบอย่าง อีกทั้งประทับใจไว้ไม่สร่าง จนหลายครั้งที่ท่านบรมครูรำพึงว่า "น่าเสียดายนัก ที่สังขารของเราแกโทรมไป นานแล้วที่เราไม่ได้ฝันถึงโจวกงอีก เซิ่นอี่ อู๋ไซวเอี่ย จิ่วอี้อู๋ปู๋ฟู่เมิ่งเจี้ยนโจวกง" โจวกงคือ เจ้าปู่โจว อนุชาของพระเจ้าโจวอู่อ๋วง เป็นราชบุตรที่สองในจำนวนสิบพระองค์ ของพระเจ้าโจวเหวินอ๋วง โจวกงเป็นลูกกตัญญูที่สุด ปรีชาสามารถที่สุด พระบิดาโปรดให้ครองแผ่นดินแคว้น "โจว" จึงได้ชื่อว่า "เจ้าปู่โจวกง" หรือปู่เจ้าโจวกง
รัชสมัยพระเจ้าโจวอู่อ๋วงปีที่สอง การปราบปรามทรราชโจ้วเพิ่งเสร็จสิ้น บ้านเมืองยังไม่สงบ พระเจ้าโจวอู่อ๋วงวิตกกังวล จนประชวรหนัก จึงเรียกโจวกงเข้ามาสั่งการว่า "ท่านเป็นอนุชาที่มีความสามารถมากและรับผิดชอบที่สุดของเรา ภาระใดไม่เสร็จสิ้นก็จะไม่ยอมพัก บัดนี้ หากเราจะมอบบ้านเมืองให้ปกครอง ขอท่านอย่าได้ปฏิเสธ เราจะได้วางใจทุกอย่าง บรรพบุรุษมอบหมายให้เราปกครองบ้านเมือง ก็เหมือน ชาวนาเพาะปลูก หากทำไม่สำเร็จ บรรพบุรุษเราจะได้รับการสักการะบูชาเสมอด้วยฟ้าได้อย่างไร ขอท่านจงรับไว้ มิฉะนั้นเราจะมิอาจประกาศคุณธรรมบารมีของบรรพบุรุษได้ ไม่อาจปลอบขวัฐพสกนิการได้ และไม่มีน้ำหน้าที่จะกลับไปพบบรรพบุรุษได้" แม้พระเจ้าโจวอู่อ๋วงจะขอร้องอย่างไร โจวกงก็ไม่ยอมรับ อู่อ๋วงจึงจำใจแต่งตั้งให้ราชบุตรในพระองค์เองขึ้นเป็นรัชทายาท โจวกงเห็นอาการประชวรของอู่อ๋วงน่าเป็นห่วง รัชทายาทซึ่งเป็นหลานก็ยังอ่อนเยาว์ เกรงบ้านบ้านเมืองจะวุ่นวายขาดเสียซึ่งพระเจ้าโจวอู่อ๋วง จึงเขียนใบคำขอ อธิษฐานต่อเบื้องบน ใบคำขอมีใจความว่า "... อู่อ๋วง เชษฐาของข้าพเจ้าป่วยหนัก เบื้องบนคงจะประสงค์ให้พระองค์ขึ้นไปรับใช้ แต่บัดนี้ บ้านเมืองเพิ่งจะปฏิรูป มิอาจทิ้งงานไปได้ แต่ข้าพเจ้านั้น มิได้ทำการอันใด ว่างไว้เปล่าประโยชน์ เหมาะที่จะรับใช้เบื้องบน ซึ่งข้าพเจ้านั้นมีศิลปวิทยา ทั้งร่ายรำขี่ม้ายิงธนู ได้ฝึกฝนมาแต่น้อย จะพลอยทำให้ผีสางเทวดายินดีด้วย จึงวอนขอต่อเบื้องบน ได้โปรดปล่อยเชษฐาของข้าพเจ้าไว้ นำข้าพเจ้าไปแทนเถิด" เป็นเรื่องอัศจรรย์โดยแท้ หลังจากที่โจวกงอธิษฐานต่อเบื้องบนแล้ว อาการป่วยหนักของอู่อ๋วงก้หายเป็นปลิดทิ้งในช่วยเวลาข้ามคืน การอธิษฐานวอนขอต่อเบื้องบนของโจวกง มิได้มีใครรู้เห็นเลย จนกระทั่งหลายปีต่อมา หลังจากสิ้นพระเจ้าโจวอู่อ๋วงแล้ว รัชทายาทขึ้นครองราชย์ใบคำขอนั้นจึงถูกพบเข้าโดยบังเอิญ
คุณประโยชน์ที่โจวกงคงไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังอย่างใหญ่หลวง คือ สร้างระเบียบของความเปผ้นคนที่มีจิตสำนึก สร้างแบบแผนจริยธรรมกราบไหว้ฟ้าดิน บูชาพระอริยเจ้า กราบไหว้บิดามารดาบรรพบุรุษ ประเพณีงานศพงานมงคล สร้างดนตรี ศิลปะบันเทิง เพื่อสมานใจผู้คนเป็นต้น ในการสืบทอดพงศาธรรม ปู่เจ้าโจวกงสืบต่อจากพระเจ้าโจวเหวินอ๋วงภายหลังห้าร้อยปีจึงสืบต่อไปยังบรมครูขงจื่อ
-
ตามรอยอริยา
3. บรมครูขงจื่อ
มีคำกล่าวว่า "หากฟ้ามิให้กำเนิดขงจื่อ โลกคงเป็นรัตติกาลอันมืดมิด" ก็ด้วยเกิดมีขงจื่อบรมครูจอมปราชญ์ ประวัติศาสตร์ห้าพันปีของประเทศจีน จึงได้มีประภาคารอันเจิดจรัส ฉายส่องความมืดสลัวของอดีตกาลให้กระจ่างชัด อีกทั้งส่องทางอนาคตแห่งสัจธรรมให้เห็นจุดหมายปลายทางได้
ท่านบรมครูขงจื่อ นามว่า ชิว นามรองจ้งหนี เป็นชาวหมู่บ้านชังผิง เมืองหลู่ ในสมัยชุนชิว อุบัติมาเมื่อก่อนคริสตศักราชห้าร้อยห้าสิบเอ็ดปี ความยิ่งใหญ่ของท่านคือ สามารถสืบต่อมรดกวัฒนธรรมสองพันห้าร้อยกว่าปี ก่อนหน้าที่ท่านจะอุบัติมา พร้อมกับเบิกทางวัฒนธรรมต่อไปอีกกว่าสองพันห้าร้อยปีหลังจากท่านมาจนถึงทุกวันนี้ ท่านจึงเป็นประภาคารที่ส่องสว่างอยู่ระหว่างอดีตกาลกับอนาคตกาล ท่านบรมครูได้เผยแผ่ปรัชญาแห่งอริยเจ้าตั้งแต่ครั้งโบราณมา สืบต่อพงศาธรรมไว้ให้ต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกัน
เมื่อท่านอายุได้สามสิบปี บิดานามว่าข่งเหลียงเหอ ละจากโลกไป มารดาเอี๋ยนเจิงไจ้ เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ท่านขงจื่อฉลาด รู้ความเกินอายุ ชอบเลียนแบบการกราบไหว้เทพยดาฟ้าดิน กราบไหว้บรรพบุรุษอย่างผู้ใหญ่
อายุได้ห้าสิบปีก็มุ่งใจใฝ่ศึกษาธรรมเป็นอักษรศาสตร์เต็มกำลัง สิ่งที่ทำให้ใคร่ศึกษาที่สุดอย่างหนึ่งของท่านคือ จริยพิธีของราชวงศ์โจว ท่านเคยรับตำแหน่งผู้ช่วยงานพิธีการใหญ่ ท่านสนใจแม้แต่สิ่งเล็กน้อย คอยถามไถ่ผู้รู้อยู่เสมอ จนถ่องแท้แน่ชัดต่อสิ่งที่เรียนรู้นั้น ท่านบรมครูจัดตั้งโรงเรียนส่วนบุคคลขึ้นเป็นแห่งแรก รับสอนโดยไม่จำกัดฐานะ เพื่อการสัมฤทธิ์ผลในอุดมคติ กอบกู้ชาวโลก ท่านจึงนำคณะศิษย์จาริกไปตามเมืองต่าง ๆ อบรมกล่อมเกลาตั้งแต่เจ้าเมืองจนถึงประชาราษฏร์ให้ใช้จิตอย่างผู้มีคุณธรรม มีกรุณามโนธรรมจิตสำนึก
-
ตามรอยอริยา
3. บรมครูขงจื่อ
เริ่มแรก ท่านมาถึงเมืองฉี ขุนนางใหญ่นามว่าเกาเจาจื่อ นำเข้าพบฉีจิ่งกงฮ่องเต้ ท่านบรมครูขงจื่อแสดงธรรมทันทีว่า "จอมราชต้องเป็นจอมราช ขุนนางต้องเป็นขุนนาง พ่อต่องเป็นพ่อ ลูกต้องเป็นลูก จวินจวิน เฉินเฉิน ฟู่ฟู่ จื๋อจื่อ" ให้ต่างทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง หากรักษาตนทำตามหน้าที่ได้ดี สังคมจะมีแต่ความสงบสุข บ้านเมืองจะมั่นคง เสียดายที่ฉีจิ่งกงได้แต่ชื่นชม แต่ไม่รู้จักใช้คนดีมีฝีมือ ท่านบรมครูขงจื่อจึงได้แต่ผิดหวังกลับมายังเมืองหลู่ของท่าน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งทางราชการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นท่านอายุใกล้ห้าสิบปีแล้ว
ปีที่ท่านอายุได้ห้าสิบเอ็ดปี ด้วยความใฝ่ศึกษาทั้งจริยพิธีและวิถีธรรม ท่านจึงอุตส่าห์เดินทางไกลพันลี้ไปยังเมืองโจว เพื่อขอคำแนะนำสั่งสอนจากท่านหลี่เอ่อ (อริยปราชญ์เหลาจื่อ) ในเวลานั้น ในสายตาของท่านผู้เฒ่าเหลาจื่อศรีษะขาวโพลนมองดูขงจื่อ ขงจื่อยังเพียงเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงเท่านั้น เมื่อถ่ายทอดธรรมะวิถีแห่งจิตให้แล้ว จึงแสดงธรรมย้ำสอนอีก จนทำให้ขงจื่อผู้ปราดเปรื่องเรื่องปัญญา รอบรู้ในปรัชญา จริยธรรม ถึงกับน้อมเคารพสุดกายสุดใจ เมื่อกลับไปถึงบ้าน ท่านชื่นชมอาจารย์เหลาจื่อ โดยอุปมาให้แก่ิษย์ฟังว่า
"นกนั้น เรารู้ว่ามันบินได้เก่ง
ปลานั้น เรารู้ว่ามันว่ายน้ำได้เก่ง
สัตว์นั้น เรารู้ว่ามันเดินได้เก่ง
เดินเก่งยังอาจใช้ตาข่ายดักจับ
ว่ายน้ำเก่งยังอาจใช้แหดักจับ
บินเก่งยังอาจใช้ธนูยิง
แต่สำหรับมังกรนั้น เราไม่อาจรู้ได้เลย เพราะมังกรอาจทะยานเมฆเหินลมสู่ฟ้าลึกลับ พระวิสุทธิอาจารย์เหลาจื่อที่เราได้ไปเคารพนั้น ก็คือมังกร มองเห็นส่วนหัวแต่มิอาจเห็นส่วนท้ายได้เลย" คำอุทานชื่นชมของท่านบรมครูขงจื่อครั้งนี้ ก็คือประโยคที่ว่า "วัยห้าสิบจึงรู้ชีวิตจากฟ้า" ที่จารึกในหลุนอวี่ คัมมภีร์ธรรมะพิจารณ์" นั่นเอง และก็เป็นต้นกำเนิดของประโยคที่ปิติในธรรมว่า "เช้าได้รับวิถีธรรม เย็นตายไม่ห่วงเลย" นั่นเอง
ชั่วชีวิตในการแพร่ธรรมของท่านบรมครูขงจื่อต้องประสบกับมารทดสอบเคี่ยวกรำมากมายที่หนักหนามากมีสามครั้งคือ
ขณะที่ท่านเดินทางผ่านแคว้น "ควง" ด้วยเหตุที่ท่านบรมครูมีเค้าหน้าละม้ายกับ "หยังหู่" ขุนนางอิทธิพลที่ชาวแคว้นควง มุ่งหมายจะเอาชีวิตอยู่แล้ว ฉะนั้น ท่านบรมครูจะชี้แจงอย่างไร เขาเหล่านั้นก็ไม่เชื่อ จนเกือบจะต้องเสียชีวิตไปในครั้งนั้น โชคดีที่ศิษย์จื่อลู่ กับ เอี๋ยนหุย ของท่านหาทางช่วยออกมาได้ เมื่อได้พบหน้ากัน ท่านบรมครูตื้นตันใจเรียกศิษย์เอี๋ยนหุย และกล่าวว่า "นึกว่าเจ้าถูกฆ่าเสียแล้ว" เอี๋ยนหุยน้ำตาคลอตอบว่า "อาจารย์ท่านยังอยู่ ศิษย์ยังมิได้ปฏิการะจะกล้าตายง่าย ๆ ได้อย่างไร" คำโต้ตอบระหว่างอาจารย์ศิษย์ประโยคนี้ ทำให้เห็น "ข้อแกร่งแรงมุ่ง" ในการแพร่ธรรมที่ไม่ระย่อยั่นแม้ความตาย และสายสัมพันธ์ของศิษย์อาจารย์ที่มีมหาปณิธานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นดังนี้
ครั้งที่สอง ขณะท่านบรมครูแสดงธรรมอยู่ที่ธรรมศาลาใต้ต้นไม้ใหญ่ในเมืองซ่ง ขุนนางกังฉิน "ซือหม่าหวนถุย" เกรงว่าธรรมจะขัดขวางการดำเนินงานทุจริตของตน จึงตั้งใจทำลายล้างต้นตอความสุจริตเสีย โชคดีที่ศิษย์ของท่านบรมครู รู้แผนชั่วร้ายนั้น จึงพากันหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด ขุนนางกังฉินโกรธแค้นมาก รื้อธรรมศาลา ตัดต้นไม้ใหญ่นั้น สั่งให้ลบรอยเท้าที่คณะแพร่ธรรมของท่านบรมครูเดินผ่านไปให้หมด แสดงความลบหลู่อริยปราชญ์อย่างถึงที่สุดทีเดียว
ครั้งที่สาม เมื่อท่านบรมครูแพร่ธรรมที่เมืองเฉิน ได้ระยะหนึ่งแล้วมีความคิดถึงบ้านเมืองจึงออกจากเมืองเฉิน ขณะมาถึงชายแดน จะเข้าเขตเมืองไช่เป็นจังหวะพอดีที่เจ้าเมืองอู๋ (อู๋หวังฟูชา) ยกทัพมารุกรานเมืองเฉิน ท่ามกลางความโกลาหลนั่นเอง บ้านเมืองก็ถูกปิดล้อม คณะของท่านบรมครูต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย ต้องอดอาหารนานถึงเจ็ดวัน จนเจ็บป่วยหมดแรงไปทั้งคณะ ศิษย์จื่อลู่คับแค้นใจกล่าวว่า "กัลยาณชนผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ยังจะต้องได้รับชะตากรรมถูกมารทดสอบติด ๆ กันอย่างนี้ด้วยหรือ" ท่านบรมครูให้กำลังใจแก่ศิษย์ว่า "ที่ต้องได้รับ ก็เพราะผู้ศึกษาธรรมเมื่อเข้าตาจน จึงจะแสดงให้เห็นถึงการสำรวมรักษาตนได้ดี หากเป็นคนจิตหยาบเมื่อประสบชะตากรรมก็จะเริ่มทำตามความพอใจอย่างผิด ๆ และเสียหายได้ทุกอย่าง"
ท่านบรมครูต้องสูญเสียบุตรชายคนเดียวเมื่อวัยหกสิบเก้า สูญเสียเอี๋ยนหุยศิษย์เอกเมื่อวัยเจ็ดสิบเอ็ด ต้องสูญเสียศิษย์จื่อลู่ที่เคียงข้างมานานเมื่อวัยเจ็ดสิบสอง ความสะเทือนใจหนัก ๆ ถึงสามครั้งในวัยชรา ทำให้ท่านบรมครูล้มป่วย
ก่อนคริสตศักราชสี่ร้อยเจ็ดสิบเก้าปี ด้วยวัยผู้สูงอายุเจ็ดสิบสามปี ท่านบรมครูสู้อุตส่าห์เดินทางไปดูซากศาลาใต้ต้นไม้ใหญ่ที่เคยแพร่ธรรมด้วยความทุ่มเทตลอดมาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วท่านก็ละสังขาร ลาจากทุกคนไป สรีระร่างของท่านบรมครูขงจื่อ ศิษย์ช่วยกันฝังไว้ที่ชายน้ำซื่อสุ่ย ด้านเหนือเมืองหลู่ศิษย์ทุกคนพร้อมใจกันไว้ทุกข์ให้บรมครูสามปี ด้วยความเคารพเสมอด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสมอด้วยบิดาตน
ครบกำหนดไว้ทุกข์ เฝ้าสุสานกันอยู่สามปีแล้ว ศิษย์ทุกคนเก็บสัมภาระเตรียมเดินทางกลับบ้านเมืองตน ทุกคนกราบคารวะสุสาน โค้งคารวะอำลาจื่อก้ง ศิษย์ผู้พี่แล้ว ทันทีต่างก็น้ำตาพร่างพรูสะอื้นไห้ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้พบกันอีก วันเวลาที่เคยอยู่ร่วมกันเมื่อครั้งที่ท่านบรมครูยังอยู่ได้จบสิ้นเสียแล้ว เมื่อศิษย์น้องเดินจากไป จื่อก้งวางสัมภาระลงดังเดิม กลับเข้าไปนั่งในเพิง ขออยู่เป็นเพื่อนท่านบรมครูอีกสามปี แล้วจึงกราบอำลาจากไปด้วยความอาลัยรัก ศิษย์์หลายพันคนของท่านบรมครู สำนึกพระคุณท่านอยู่ไม่คลาย แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีก็ไม่ลืมเลือนได้ จึงต่างมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ สุสานของท่านบรมครู จนมหาปริมณฑลนั้นกลายเป็นชุมชนใหญ่ได้ชื่อว่า "ขงหลี่ ชุมชนขงหลี่"
ตลอดชีวิตของท่านบรมครูเป็นแต่ผู้ให้ ให้การอบรมกล่อมเกลาโดยไม่จำกัดฐานะยากจนต่ำต้อย ให้การอบรมตามจริตวิสัยของแต่ละคน ศิษย์ของท่านมีสามพันกว่าคน ศิษย์เอกมีเจ็ดสิบสองคน "ข้อแกร่งแรงมุ่ง" ของท่านบรมครูยิ่งใหญ่สูงส่งเกินกว่าจะหยิบยกได้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่า
"กัลยาณชนกินมิหวังเพื่ออิ่ม อยู่มิหวังเพื่อสบาย
กัลยาณชนให้ความสำคัญต่อมโนธรรมสำนึก
คนจิตหยาบให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ฝ่ายเดียว
ร่ำรวยสูงศักดิ์จากการขาดมโนธรรมสำนึกนั้นบางเบาดังเมฆสำหรับเรา
ผู้มีจิตมุ่งมั่น ผู้มีจิตการุณย์ธรรม ไม่หวังอยู่รอดจากการผิดต่อการุณย์ธรรม มีแต่จะยอมตายเพื่อบรรลุต่อการุณย์ธรรม"
จวินจื่อสืออู๋ฉิวเป่า จวีอู๋ฉิวอัน
จวินจื่ออวี้อวี๋อี้ เสี่ยวเหยินอวี้อวี๋ลี่
ปู๋อี้เอ๋อฟู่เฉี่ยกุ้ย อวี๋หว่อหยูจิ้งอวิ๋น
จื้อซื่อเหยินเหยินอู๋ฉิวเซิงอี่ไฮ่เหยิน โหย่วซาเซินอี่เฉิงเหยิน
หมายเหตุ เหยิน การุณย์ธรรมยังหมายถึง "แก่นแท้ของชีวิต"
-
ตามรอยอริยา
4 ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ
นับแต่ครั้งโบราณมา ท่านจอมปราชญ์ขงจื่อกับศิษย์เมิ่งจื่อ "ปราชญ์เจริญรอยอริยธรรม" จะได้รับการเทิดทูนอยู่ในระดับเดียวกันเสมอ จะเห็นได้จากกลอนคู่ที่ติดไว้สองข้างประตูใหญ่ข้างบ้านหรือสถานที่สำคัญในวันตรุษจีนที่ว่า
"ขงจื่อการุณย์ เมิ่งจื่อมโนธรรม โจวกงจริยา
กษัตริย์เหยาโปร่งฟ้า ซุ่นประชาสันต์ ฮั่นวิชญา"
ข่งเหยินเมิ่งอี้โจวหลี่เอวี้ย
เหยาเทียนซุ่นยื่อฮั่นเหวินจัง"
ขุนนางวีรชนผู้ยิ่งใหญ่คือ ท่าน "เหวินเทียนเสียง" ผู้มีพลังเที่ยงธรรมพุ่งฟ้า เขียนหนังสือตาลาย ยังได้ยกเอาพระวจนะของท่านจอมปราชญ์ขงจื่อกับท่านเมิ่งจื่อเป็นเกียรติคุณในการพลีชีพเพื่อจรรโลงคุณธรรมไว้ว่า
ขงจื่อว่า พลีชีพ - ลุ กรุณา เมิ่งจื่อว่า มโนมั่น บรรลุได้
ถึงที่สุด แห่งธรรม มโนไชร์ จึงได้ ชื่อว่า การุณย์
เรียนรู้ คัมภีร์ อริยะ เพื่อจะ การใด ได้หนุน
แต่นี้ ต่อไป ใครทูน วนจะคุณ มิให้ ได้อาย
ข่งเอวียเฉิงเหยิน เมิ่งเอวียฉวี่อี้
เอว๋ยฉีอี้จิ้น สัวอี่เหยินจื้อ
ตู๋เซิ่งเสียนซู สั่วเสวียเหอซื่อ
เอ๋อจินเอ๋อโฮ่ว ซู่จี่อู๋คุ่ย
ชั่วชีวิตของท่านเมิ่งจื่อมุ่งมั่นจะจรรโลงวิถีแห่งปราชญ์ จากข้อความพลีชีพเพื่อจรรโลงคุณธรรมดังกล่าวข้างบนก็ได้ประจักษ์ว่า ท่านเมิ่งจื่อได้ทำความมุ่งมั่นนั้นเป็นความจริงแล้ว ยิ่งกว่านั้น ยังมีประวัติศาสตร์เห็นพ้องกันอีกว่า ในจำนวนศิษย์สามพันคนของท่านจอมปราชญ์ขงจื่อนั้น เจ็ดสิบสองคนเป็นเอกเมธา แต่คุณธรรมความสามารถยังถูกจำกัดอยู่ที่เป็นกัลยาณชนในการใฝ่ธรรม สุขสมานในธรรม สวดท่องพระคัมภีร์ หมั่นศึกษา สำรวมในจริยธรรม เข้าถึงหลักสัจธรรมเท่านั้น พูดให้ชัดเจนก็คือ ท่านเหล่านั้นทำได้แค่ระดับเป็นศิษย์ที่เคารพเชื่อฟังท่านบรมครู เป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติตนให้เป็นคนดีเท่านั้น แต่สำหรับการจรรโลงปรัชญาคำสอนของท่านบรมครูให้แพร่หลายยาวไกล คุณสมบัติของท่านเหล่านั้นยังไม่ถึงขั้น แม้ท่านเอี๋ยนหุย ซึ่งเป็นศิษย์เอกในการจรรโลงจริยธรรมในสมัยนั้น ซึ่งปราดเปรื่องจนมีสมญาว่า "รู้เพียงหนึ่งจะรู้ไปถึงสิบ" "สามเดือนไม่เคยผิดต่อแก่นแท้ความดีงาม" หากท่านจะมีชีวิตยาวนานถึงร้อยปีได้ก็ตาม ความสามารถก็จำกัดอยู่แค่เป็นผู้รู้แจ้งในสัจธรรมเท่านั้น แต่ในส่วนของการจรรโลงธรรมสงเคราะห์ชาวโลกนั้น เกรงว่าพลังของท่านเอี๋ยนหุยยังแกร่งกล้าไม่พอ
โชคดีที่โลกนี้มีท่านปราชญ์เมิ่งจื่อถืออุบัติตามมา วิถีอนุตตรธรรมสายปราชญ์จากท่านบรมครูจึงได้แพร่ขยายยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ ท่านเมิ่งจื่อไม่เพียงแต่สานแก่นแท้ปรัชญาในศาสนาปราชญ์ของท่านบรมครูขงจื่อเทานั้น ยังได้แพร่ธรรมคำสอนไปสู่ผู้คนมากมายเกินกว่าคณานับ ที่สำคัญคือ สามารถทำให้เจ้าเมือง ผู้มีอำนาจราชศักดิ์ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ยอมรับและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของท่านบรมครูขงจือได้
-
ตามรอยอริยา
4 ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ 2
แน่นอน ไม่ว่ายุคสมัยใด บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในบ้านเมืองล้วนมีอิทธิพลต่อการแพร่ธรรมทั้งสิ้น ในส่วนนี้ ท่านเมิ่งจื่อเข้าถึงและสามารถทำได้จนเจ้าเมืองหลายพระองค์สำนึกกลับใจ ในการกระทำที่ผ่านมา อีกทั้งขอให้ท่านเมิ่งจื่อแสดงธรรมเตือนใจอยู่เสมอ มีคำถามว่า "ท่านเอาความกล้ามาแต่ใด" ท่านตอบว่า "ความกล้าของข้าพเจ้ามาจากพลานุภาพเที่ยงธรรม ( เฮ่าหยันเจิ้งซี่ ) ที่ประจุอยู่เต็มในท่ามกลางฟ้าดิน และมาประจุอยู่เต็มในกายใจของข้าพเจ้า" "มหาพลานุภาพเที่ยงธรรม ( เฮ่าหยันเจิ้งซี่ ) เป็นพลังอันเป็นที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่ ที่สุดแห่งความแกร่งกล้าคงตัว... ภาวะนั้น เกิดจากทำนองคลองธรรมที่สั่งสมมาช้านาน พลังนั้นผสานด้วยมโนธรรมกับสภาวธรรมควบคู่กันไป หากคิดผิดทำผิดไปจากจิตบริสุทธิ์เดิมแท้เพียงวูบเดียวพลานุภาพจะอ่อนกำลังลง เมื่ออ่อนกำลังลงก็จะสลายตัวไป
ท่านเมิ่งจื่อจึงเป็นหนึ่งในมหาบุรุษนับพันในประวัติศาสตร์ จีนที่มีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจของฮ่องเต้ เจ้าเมือง และผู้มีอำนาจราชศักดิ์มากมายโดยไม่สั่นคลอน ท่านเมิ่งจื่อถืออุบัติมา ณ มณฑลซันตง อำเภอโจว ซันตางโจวเซี่ยน ห่างจากบ้านของท่านบรมครูเพียงยี่สิบกว่าเมตรเท่านั้น จึงได้ยินได้ฟังกิตตติศัพท์ความสูงส่งของท่านบรมครูมาตั้งแต่เยาว์วัย จิตใจจึงมุ่งมั่นทะยานอยากที่จะเจริญรอยตาม เมื่อได้มาเป็นศิษย์ศึกษากับปราชญ์จื่อซือ ซึ่งเป็นหลานของท่านบรมครู ยิ่งเป็นแรงส่งให้ความมุ่งมั่นนั้นทะยานไกล มีคำกล่าวว่า พื้นฐานความสำเร็จส่วนหนึ่งของชีวิตสร้างด้วย "เมื่อเล็กมีบิดามารดาดีเมื่อศึกษามีครูบาอาจารย์ดี เมื่อเติบใหญ่ได้เพื่อนดี " ท่านเมิ่งจื่อได้พร้อมทุกประการ มารดาของท่านย้ายบ้านถึงสามครั้ง เพื่อปลูกฝังนิสัยความเคยชินที่ดีให้แก่บุตร มิให้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย
ท่านเมิ่งจื่อกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุได้สามปี อาศัยอยู่ที่บ้านเชิงเขากับมารดาตามลำพัง ที่เชิงเขาเป็นสุสาน มีผู้มาเซ่นไหว้ดวงวิญญาณและฝังศพบ่อย ๆ เด็กน้อยเมิ่งจื่อได้เห็นได้ฟังก็จดจำมาแสดงที่บ้านจนมารดาท่านวิตกว่า อนาคตของลูกคงไปได้ไม่ไกลเป็นแน่ จึงจัดการย้ายบ้านไปอยู่ใกล้ตลาด ต่อมาไม่นาน เด็กน้อยเมิ่งจื่อก็จดจำทำท่านัยน์ตาวาวเมื่อเห็นเงิน จำเสียงตะโกนโหวกเหวกซื้อขายมาแสดงที่บ้าน มารดาท่านก็ต้องย้ายบ้านอีกครั้งหนึ่ง (บางตำรากล่าวว่า เด็กน้อยเมิ่งจื่อเลียนแบบคนฆ่าหมู) ครั้งนี้ย้ายบ้านมาอยู่ใกล้โรงเรียน ใกล้ผู้มีการศึกษา นักศึกษามีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีพิธีการไหว้ครูอันสง่างาม เด็กน้อยเมิ่งจื่อก็จดจำทำตาม ครั้งนี้เป็นที่พอใจของมารดายิ่งนัก มารดาหวังจะให้บุตรมีคุณธรรมการศึกษา จึงสู้อุตสาห์ทอผ้าทั้งวัน เพื่อหารายได้ให้เป็นค่าเล่าเรียน วันหนึ่ง เด็กน้อยเมิ่งจื่อเกิดเบื่อหน่ายหนีเรียนกลับบ้านก่อนเวลา มารดาใช้กรรไกรตัดผ้าบนฮูกที่ยังทอไม่เสร็จให้บุตรได้สำนึกรู้ จากนั้นเป็นต้นมา เด็กน้อยเมิ่งจื่อไม่กล้าหนีเรียนอีกเลย อีกทั้งมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาจนกระทั่งเจริญวัย มารดาไม่เพียงให้การศึกษาแก่บุตรเท่านั้น ยังอบรมคุณธรรมจริยธรรมทุกกรณี ค่านิยมของคนโบราณ ต้องการบุตรหลานไว้สืบสกุล มารดาท่านจึงตกแต่งลูกสะใภ้ให้บุตร วันหนึ่ง ท่านเมิ่งจื่อกล่าวแก่มารดาว่า "ลูกไม่ต้องการภรรยาที่ไม่มีจริยาเช่นนี้" มารดาถามว่า "นางทำอะไรผิดไปหรือ" "นางผลัดผ้าอยู่ในห้อง ลูกเดินเข้าไป นางไม่แอบเร้น เช่นนี้คือไม่รักษาคุณสัมพันธ์ห้า" ( คุณสัมพันธ์ห้า อู่หลุน ข้อที่สาม หญิงชายให้จำแนก รู้การอันควรต่อกันด้วยจริยธรรม ) มารดาถามอีกว่า "ลูกได้เคาะประตูให้สุ้มเสียงก่อนหรือไม่" "มิได้" "ถ้าเช่นนั้นเป็นความผิดของลูกเอง จะไปโทษนางได้อย่างไร" มารดาสอนอีกว่า "ในคัมภีร์จริยธรรมจารึกไว้ว่า
"ก่อนเข้าประตูถามว่ามีใครอยู่
ก่อนเข้าห้องโถง ต้องให้สุ้มเสียง
ก่อนเข้าชายคา ต้องก้มสายตาลงต่ำ
เจียงยู่เหมิน เวิ่นเสยฉุน
เจียงซั่งถัง เซิงปี้หยัง
เจียงยู่ฮู่ ซื่อปี้เซี่ย"
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เห็นความเคร่งครัดต่อจริยธรรมของท่านเมิ่งจื่อ และความละเอียดต่อจริยธรรม คุณธรรมที่มารดาเฝ้าอบรมบุตรทุกกรณี
-
ตามรอยอริยา
4 ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ 3
ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า มารดาท่านคือมารดาผู้ "ย้ายบ้านสามครา" "ตัดผ้าสอนลูก" และ "อบรมให้รู้จริยธรรม" ( เมิ่งหมู่ซันเซียน ต้วนจือเจี้ยวจื่อ ซวิ่นจื่อจือหลี ) จึงเห็นได้ว่ามารดาท่าน สูงส่งด้วยปัญญา จึงสามารถเสริมสร้างบุตรให้เป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ หากจะเปรียบว่า ท่านบรมครูขงจื่อมีกรุณาธรรมงดงามเหมือนหยกใส ก็จะต้องเปรียบว่า ท่านเมิ่งจื่อนั้นฉายแสงเหมือนเดาบวิเศษแห่งมโนธรรมงามเรืองรองทีเดียว ท่านเมิ่งจื่อมีครูดี ท่านได้รับวิถีธรรมสายปราชญ์โดยตรง จากท่านปราชญ์จื่อซือ ซึ่งเป็นศิษย์ของปราชญ์เจิงจื่อ ปราชญ์เจิงจื่อเป็นทั้งศิษย์ทั้งหลานแท้ ๆ ของท่านบรมครูขงจื่อ
หลังจากที่ท่านเมิ่งจื่อสืบต่อภาระพระธรรมาจารย์ในศาสนาปราชญ์แล้ว ท่านก็เจริญรอยตามปฏิปทาท่านบรมครู นำพาศิษย์จาริกไป อรรถาจริยธรรมคุณธรรมยังบ้านเมืองต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้น ท่านเมิ่งจื่ออายุได้สี่สิบปีแล้ว ในยุคนั้น จริยธรรมคุณธรรมตกต่ำลงมาก บ้านเมืองวุ่นวาย ประหัตประหารรบราฆ่าฟันกันทั่วหน้า ท่านเมิ่งจื่อเริ่มเดินทางกล่อมเกลาตั้งแต่เมืองฉี วกกลับไปที่เจ้าเมืองโจว เดินทางรอนแรมนับเดือนปี ไปที่เมืองซ่ง แล้วไปที่เมืองซี จากนั้นต่อไปยังเมืองเหลียง (เดิมทีชื่อเมืองเอว้ย) ท่านเมิ่งจื่อทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดเพื่อยุติการสงคราม เพื่อเสริมสร้างจริยธรรมคุณธรรมให้แก่เจ้าเมือง ให้แก่ผู้มีอำนาจราชศักดิ์ที่มัวเมาในลาภยศสรรเสริญ ด้วยหวังว่า เมื่อผู้นำบ้านเมืองสูงส่งด้วยจริยธรรมคุณธรรมแล้ว ไพร่ฟ้าประชาชนย่อมอยู่ดี มีสุขได้
แต่ชีวิตจิตใจล้ำค่าเกินกว่าประมาณได้ของท่านนั้นเหมือนดวงแก้ววิเศษที่ได้แต่เกลือกกลิ้งไป ส่องแสงไปกับพื้นดินที่มีแต่กรวดหินดินโสโครก กว่าท่านจะเดินทางมาถึงเมืองเหลือง ท่านก็ผมขาวโพลนสูงวัยจนอายุได้หกสิบกว่าปีแล้ว พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วง เจ้าเมืองเหลียงถามท่านเมิ่งจื่อทันทีที่ได้พบกันว่า "ท่านผู้สูงส่งอุตส่าห์เดินทางไกลพันลี้มาถึงที่นี่ คงจะมีผลประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเราสินะ" ท่านเมิ่งจื่อสะท้อนใจเมื่อได้ฟัง เจ้าเมืองทุกคนล้วนมุ่งหวังผลประโยชน์ ต่างหาทางย่ำยีบีฑากัน สันติธรรมจึงก่อเกิดขึ้นไม่ได้ ท่านเมิ่งจื่อเจ็บแปลบที่หัวใจ จึงสั่งสออนพระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วงไปว่า "ไฉนอ้าปากก็พูดถึงผลประโยชน์ทันที พระองค์รู้ไหมว่ายังมีกรุณามโนธรรมอีกด้วย" ท่านเมิ่งจื่ออธิบายต่อไปอีกว่า "หากทุกคนต่างเอาผลประโยชน์ขึ้นหน้า ต่างเห็นผลประโยชน์ตนเป็นสำคัญ ต่อไปก็จะไม่มีใครยอมเสียสละอุทิศตนเพื่อเจ้าเหนือหัว เพื่อบ้านเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเป็นบ้านเมืองได้อย่างไร ผลประโยชน์ยังคงเป็นผลประโยชน์ต่อไป บ้านเมืองก็จะเป็นบ้านเมืองที่แย่งชิงผลประโยชน์กันต่อไปในคนทุกชนชั้น นั่นคือหนทางตายที่ดิ้นรนไปเอง"
พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วงได้แต่นิ่งอึ้ง ท่านเมิ่งจื่อยุติจาริกรอบรายไปสู่บ้านเมืองต่าง ๆ เมื่ออายุของท่านได้เจ็ดสิบกว่าปี ท่านกลับมาเมืองโจวอยู่ร่วมกับศิษย์ทั้งหลายพิจารณาปรัชญาธรรม ท่านได้ทิ้งปรัชญาคติไว้ให้ชนรุ่นหลังมากมาย รวมไว้ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ เจ็ดบท อายุแปดสิบสี่ปี ท่านละสังขารไปด้วยมหาพลานุภาพเที่ยงธรรมแห่งจิตที่ไม่เคยอ่อนกำลังลงเลย
-
ตามรอยอริยา
4 ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ 4
ปรัชญาที่มีผลสะท้อนใหญ่ยิ่งต่อผู้คนทั้งหลายที่ท่านเมิ่งจื่อทิ้งไว้ให้ คือเรื่อง "จิตกุศล" กับ "สี่เบื้องต้น" ( เซิ่งซั่น , ซื่อตวน ) ท่านว่า "คนเริ่มเดิมที จิตนี้เป็นกุศล ... ( เหยินจือชู เซิ่งเปิ่นซั่น ) ยกตัวอย่างว่า "เมื่อเห็น เด็กจะตกบ่อน้ำ ทันใด ล้วนวิตกห่วงใยไม่อาจดูดาย มิใช่ด้วยคบหากับบิดามารดาเด็ก มิใช่ด้วยเพื่อนพ้องผู้คนจะชมชื่น มิใช่คร้านที่จะฟังเสียงร้อง ความรู้สึก "เมื่อเห็น ทันใด" โดยมิได้เจาะจงยึดหมาย นั่นคือ "จิตเดิมแท้ แก่นแท้ของชีวิตจิตญาณ " อันเป็นกุศลบริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่ทุกคน"
สี่เบื้องต้น นั้นท่านกล่าวว่า
1. จิตสงสารเห็นใจ เป็นเบื้องต้นของการุณยธรรม
2. จิตละอายต่อบาป เป็นเบื้องต้นของมโนธรรมสำนึก
3. จิตเสียสละให้ เป็นเบื้องต้นของจริยธรรม
4. จิตรู้ผิดชอบ เป็นเบื้องต้นของปัญญาธรรม
ท่านยังเปรียบเทียบอีกว่า "ณ ชานเมืองฉี มีภูเขานิวซัน อุดมด้วยป่าไม้เบญจพรรณเขียวชะอุ่มสดใส ต่อมาถูกผู้คนมักง่ายตัดไม้ทำลายป่า จึงเหลือแต่ตอไม้ในสภาพแห้งแล้ง ..." "คนเริ่มเดิมที" หรือจิตเดิมแท้ก็เป็นเช่นภูเขาหนิวซันในสภาพเดิมที ภายหลังคนถูกทำลายด้วยกิเลสตัณหา ต้นไม้ถูกทำลายด้วยมีดพร้า เพลิงไฟ มีดพร้า เพลิงไฟ มองเห็นได้ แต่กิเลสตัณหา หาเห็นไม่ คน สัตว์ ตกสู่เหวลึกรู้จักหาทางปีนป่ายให้พ้นขึ้นมาได้ ต้นไม้ถูกตัดทอนทำลายยังพนายามแตกตาผลิใบ คนถูกทำลายจึงต้องพยายามเสริมสร้างชีวิตใหม่ ให้พ้นจากกิเลสตัณหา จะพ้นจากกิเลสตัณหาได้ ต้องเข้าใจถึง "แก่นแท้ของชีวิตจิตญาณ" หรือ "จิตเดิมแท้" ซึ่งมีสี่เบื้องต้นเป็นพื้นฐาน
หลักการดำเนินชีวิตของท่านเมิ่งจื่อ คือ
"ความร่ำรวยสูงส่งล้ำค่าไม่อาจนำราคะมาให้ได้
ยากจนเข็ญใจไม่อาจนำพาให้เปลี่ยนใจเสียหาย
อำนาจอิทธิพลใด ๆ ไม่อาจทำให้สยบหดหัว
ฟู่กุ้ยปู้เหนิงอิ๋น
ผินเจี้ยงปู้เหนิงอี๋
เอวยอู่ปู้เหนิงชวี "
ผู้เข้าถึง "แก่นแท้ของชีวิตจิตญาณ" แล้วเท่านั้นที่จะดำรงความสูงส่งของชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางเขี้ยวเล็บแหลมคมรอบตัว ดำรงความสูงส่งของชีวิตอยู่ได้ในฐานะผู้เทิดทูน "ธรรมะ" ศิษย์ของท่านถามว่า อาจารย์ท่านดำรงสภาวะนั้นได้อย่างไร ท่านตอบว่า " เราอุ้มชูบำรุงเลี้ยงมหาพลานุภาพเที่ยงธรรมแห่งตนไว้ให้ดีเสมอ หว่อซั่นหยั่งอู๋เฮ่าหยันเจิ้งชี่ "
-
ตามรอยอริยา
5 ท่านปราชญ์จวงจื่อ
ท่านปราชญ์จวงจื่อ เป็นยอดเมธีที่หาได้ยากยิ่งท่านหนึ่งตั้งแต่โบราณมา ท่านเป็นยอดปัญญาญาณมันสมองผู้นำของศาสนาเต๋า ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าท่านอริยปราชญ์เหลาจื่อเลย คัมภีร์ธรรมที่ท่านประพันธ์ไว้มี หนันฮว๋าจิง ที่สูงส่งเลิศล้ำเสมอด้วยคุณธรรมเต้าเต๋อจิง ของท่านเหลาจื่อ ต่างกันแต่ว่าคัมภีร์คุณธรรมเต้าเต๋อจิงของท่านเหลาจื่อเป็นหลักปรัชญาล้วน ๆ แต่คัมภีร์หนันฮว๋าจิงของท่านจวงจื่อนั้นมีจุดเด่นที่ผสมผสานกันระหว่างหลักปรัชญากับอักษรศาสตร์ ดังนั้น จึงมีเมธาชนรุ่นหลังกล่าวกันว่า ศึกษาคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงของท่านเหลาจื่อ ให้ความรู้สุกเข้มงวดเหมือนการคำนวณคณิตศาสตร์ ที่จะต้องเค้นมันสมองไตร่ตรอง พิจารณา ทบทวนศึกษาหาความเข้าใจอย่างจริงจังเคร่งครัด แต่ศึกษาคัมภีร์หนันฮว๋าจิงของท่านจวงจื่อนั้น เหมือนกำลังเพลิดเพลินอยู่ในท่วงทำนองเพลงชิมไฟนี ที่ให้อารมณ์หลากหลายในจังหวะที่เนิบช้า - เร็ว และลีลาที่งดงามด้วยเสียงสูง - ต่ำทุกวรรคตอน ทำให้ผู้ศึกษาดื่มด่ำเข้าไปสู่หลักปรัชญาอันน่าหลงใหล จนกระทั่งเข้าสู้ภวังค์ในเรื่องราวตามอรรถรสนั้น
ดังนั้น ตั้งแต่โบราณมาจึงไม่มีปัญญาชน นักคิด นักปรัชญาคนใดที่ไม่ศึกษาคัมภีร์หนันฮว๋าจิง ของท่านจวงจื่อ อีกทั้งไม่มีนักอักษรศาสตร์คนใดที่ไม่ท่องซ้องคัมภีร์หนันฮว๋าจิง ท่านนักปราชญ์จวงจื่อไม่เพียงเป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นนักอักษรศาสตร์ที่หาได้ยากท่านหนึ่ง ปราชญ์จวงจื่อเป็นผู้รู้ชัดสัจธรรมชีวิต ท่านมีความคิดที่อยู่เหนือการเกิดตาย ในแต่ละประโยคอักษรที่พร่างพรูออกมาจากปลายพู่กัน กำซาบตราตรึงเข้าไปในหัวใจของท่านผู้อื่นจนยากที่จะลืมเลือน ทำให้ได้ข้อคิดและทิศทางดำเนินชีวิตอันรื่นรมณ์
ท่านจวงจื่อถือกำเนิดมาในรัชสมัยพระเจ้าโจวเอวยเลี่ยอ๋วง ปีที่เจ็ด ละสังขารในรัชสมัยโจวหนั่นอ๋วง ปีที่ยี่สิบเก้า ก่อนคริสตศักราชสามร้อยหกสิบเ้ก้าปี ณ อำเภอเหมิง เมืองซ่ง ท่านมีอายุแก่กว่าท่านปราชญ์เมิ่งจื่อเล็กน้อย แต่อ่อนกว่าท่านฮุ่ยซือ นักปราชญ์ร่วมสมัยเล็กน้อย
-
ตามรอยอริยา
5 ท่านปราชญ์จวงจื่อ 2
ท่านเคยรับราชการที่เมืองชีเอวี๋ยน ซึ่งเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพที่งดงามด้วยป่าเขาลำเนาไพร สายน้ำและทุ่งหญ้า เนื่องจากตำแหน่งราชการของท่นไม่ใหญ่โต ชีวิตความเป็นอยู่จึงไม่ได้เหลือเฟือ จนครั้งหนึ่งถึงกับขาดข้าวสาร ต้องไปขอยืมข้าวจากข้าราชกาเจ้าท่าที่ฐานะดีกว่าคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด ข้าราชการคนนั้นรับปากแข็งขันอย่างคนแล้งน้ำใจว่า "ไม่มีปัญหา รอให้ข้าพเจ้าไปเก็บค่าเช่านามาได้เสียก่อน แล้วจะให้ท่านขอยืมสามร้อยตำลึง" แท้จริงแล้ว ท่านจวงจื่อบากหน้ามาขอยืมข้าวสารเก็เพื่อประทังหิวเฉพาะหน้าขณะนั้น แต่เมื่อได้ยินคำพูดของคนแล้งน้ำใจอย่างนั้นแล้ว ท่านจวงจื่อจึงพูดให้เป็นข้อคิดแก่เขาว่า "เมื่อวานนี้ ขณะที่เดินทางมาที่นี่ ระหว่างทางมีคนเรียกชื่อข้าพเจ้า เมื่อมองหาดูจึงได้เห็นว่าเป็นเสียงเรียกจากปลาตะเพียนตัวหนึ่งที่เกยตื้นอยู่ในร่องน้ำล้อเกวียนบดทับผ่านไป" ข้าพเจ้าจึงถามปลาตัวนั้นว่า "มีธุระอะไรหรือ" ปลาตอบว่า "เราเป็นขุนนางสัตว์น้ำในทะเลตงไห่ ท่านจะให้น้ำแก่เราสักหนึ่งกระบวย เพื่อยังชีวิตแก่เราจะได้ไหม" ข้าพเจ้าตอบไปว่า "ไม่มีปัญหา รอให้เราลงไปทางเมืองใต้เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองอู๋ เจ้าเมืองเอวี้ย ขอให้พวกเขาผลักดันน้ำในแม่น้ำแยงซีเกียงขึ้นมาต้อนรับท่านที่นี่ก็แล้วกัน ปลาตัวนั้นตัดพ้อต่อว่าข้าพเเจ้า "เราหมดหนทางเฉพาะหน้า ต้องตกอยู่ในฐานะลำบากขณะนี้ หากท่านจะให้น้ำแก่เราสักหนึ่งกระบวย เราก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่ขณะนี้ท่านกลับใช้คำพูดนั้นมากดดันทิ่มแทงเรา อย่างนี้ก็สู้รีบไปหาเราที่ร้านขายปลาเค็มเสียจะดีกว่า"
จากเรื่องราวนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านจวงจื่อมีความเป็นอยู่อัตคัดขัดสนเพียงไร ถึงแม้ว่าท่านจะฝืดเคือง แต่ต่อเงินทองนั้น ท่านกลับเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย มิได้ตกเป็นทาสของมันเลย เช่นครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองซ่งใช้ให้ขุนนางเฉาซัง ไปเป็นทูตที่เมืองฉิน ขาไปเอารถส่วนท้ายไป ขากลับได้รถเต็มคันมาหนึ่งร้อยคัน เฉาซังคุยโวต่อท่านจวงจื่อว่า "จะให้ข้าพเจ้ามุดหัวอยู่กับชายคาเตี้ย ๆ ในตรอกแคบ ๆ มีสภาพหน้าซีด คอยาว นั่งถักหญ้าทำรองเท้าขายประทังชีวิต ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถในการอดทนอย่างนั้นได้ แต่ความสามารถของข้าพเจ้านั้น ใช้คำพูดเพียงคำเดียวพูดให้เจ้าเมืองที่มีรถอยู่หมื่นคันพอใจเท่านั้น ก็จะได้รถหนึ่งร้อยคันมาสบาย ๆ "
ท่านจวงจื่อถูกเหยียดหยาม แต่มิได้รู้สึกเสียศักดิ์ศรี กลับรู้สึกสมเพชเวทนาเขา จึงเหน็บไปว่า "ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองฉินประชวร ให้หาหมอมารักษา มีประกาศว่าใครที่เอาหนองริดสีดวงที่ก้นของพระองค์ได้จะให้รถห้าคัน คนที่ยิ่งทำงานต่ำน่ารังเกียจที่สุดได้ ก็จะได้รถยิ่งมากคัน ท่านก็คงไปรักษาริดสีดวงให้แก่เจ้าเมืองฉินมากระมัง หาไม่แล้วไฉนจะได้รถมามากมายอย่างนี้ เอาละ ท่านรีบไปเสียเถอะ" คำพูดแทงใจเหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงผู้มีศักดิ์ศรีของท่านจวงจื่อที่จะไม่ยอมประสบสอพลอ เพื่อแลกเปลี่ยนกับลาภสักการะใด ๆ เลย
-
ตามรอยอริยา
5 ท่านปราชญ์จวงจื่อ 3
อีกครั้งหนึ่ง ท่านจวงจื่อไปเยี่ยมท่านฮุ่ยซือ ที่เมืองเหลียง มีคนยุแหย่ท่านฮุ่ยซือว่า "ท่านจวงจื่อนั้นมีโวหารเหนือกว่าท่าน การมาครั้งนี้เกรงว่า ตำแหน่งมุขมนตรีของท่านจะรักษาไว้ได้ยากเสียแล้ว" ท่านฮุ่ยซือเห็นจริง หวั่นใจ จึงสั่งให้บริวารออกค้นหาท่านจวงจื่อทั่วบ้านทั่วเมืองถึงสามวัน แต่หาไม่พบ สุดท้ายท่านจวงจื่อไปพบท่านฮุ่ยซือเองแล้วกล่าวว่า "ท่านทราบไหม ทางใต้มีนกหงส์ชนิดหนึ่ง ชื่อว่าเอวียนฉู มันบินจากทะเลใต้ไปยังทะเลเหนือ ระหว่างเส้นทางกว้างไกลสุดขอบฟ้านั้น หากไม่พบต้นทองหลางใบมนมันจะร่อนลงเกาะกิ่งพัก ไม่พบเมล็ดไผ่ก็ไม่กินเป็นอาหาร ไม่ไปถึงหลี่เฉวียนลำธารหวานชื่นจะไม่ร่อนลงดื่มน้ำ ขณะที่บินอยู่นั้น เบื้องล่างมีนกฮูกตัวจ้อย ปากคาบหนูตายเหม็นเน่าอยู่ตัวหนึ่ง พอแหงนหน้าเห็นนกหงส์เท่านั้นก็ตกใจ นึกว่าจะมาแย่งอาหารในปากของมัน มันผวาจนร้อง "เฮ้ย" เสียงดัง บัดนี้ ท่านก็อยากร้อง "เฮ้ย" ใส่ข้าพเจ้าเพื่อรักษาตำแหน่งมุขมนตรีแห่งเมืองเหลียงไว้เช่นเดียวกันหรือ" แท้จริงแล้ว ท่านจวงจื่อไม่เพียงจะไม่แย่งตำแหน่งใคร แม้แต่เมื่อเจ้าเมืองฉู่ ส่งมหาอำมาตย์สองคนไปคารวะเรียนเชิญท่านจวงจื่อไปรับตำแหน่งใหญ่ในบ้านเมือง ท่านจวงจื่อยังปฏิเสธเสียสิ้นเลย
ท่านจวงจื่อเป็นปราชญ์เมธีที่ปลงเห็นความจริงของชีวิตได้เป็นที่สุดในประวัติศาสตร์ เรื่องเกิดแก่เจ็บตายดีร้ายทุกประการ ท่านเห็นเป็นอย่างเดียวกัน แม้ภรรยาของท่านเสียชีวิต ท่านก็ไม่ร้องไห้ ยังเคาะถาดเป็นจังหวะร้องเพลงได้ ท่านฮุ่ยซือไปคารวะศพ ได้เห็นเช่นนั้นจึงตำหนิว่า "ภรรยาของท่านอยู่ร่วมกันมาชั่วชีวิต ให้กำเนิดบุตรแก่ท่าน จนบัดนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เมื่อนางเสียชีวิตไป ท่านไม่ร้องไห้ก็แล้วไป ยังจะเคาะทำนองร้องเพลงเสียอีก มันจะมิมากไปหรือ" ท่านจวงจื่อตอบว่า "ท่านฮุ่ยซือ อันที่จริงแล้วเมื่อแม่นางเพิ่งตายนั้น ข้าพเจ้ามีหรือที่จะไม่สะเทือนใจ แต่เมื่อสงบสติพิจารณาแล้วได้เห็นว่าเดิมทีแม่นางก็ไม่มีตัวตนมาก่อน แล้วทันใดก็เกิดรูปกายมา เป็นชีวิตขึ้นมา บัดนี้นางตายไป ไม่ต่างอะไรกับฤดูกาลที่ผันแปรไปได้ทุกขณะ มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติท่ามกลางฟ้าดิน ขณะนี้ นางอาจกำลังมีความสุขอยู่ในอีกโลกหนึ่งแล้ว แต่ข้าพเจ้ากลับต้องมานั้งเศร้าโศกรำพันอยู่ที่นี่ คิดดูแล้วก็น่าขัน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ร้องไห้" แม้ความตายของท่านจวงจื่อเองก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ศิษย์ของท่านหลายคนกำลังปรึกษากันคร่ำเครียดว่า จะจัดเตรียมทำงานศพอาจารย์ให้ดีที่สุดอย่างไรนั้น พอท่านได้ทราบก็กล่าวแก่ศิษย์ทันทีว่า " อาจารย์มีฟ้าดินเป็นโลงศพอยู่แล้ว ตะวันเดือนเหมือนกำแพงหยกรายล้อม (เหลียนปี้) ดวงดาวเหมือนแก้วมณีที่ตกแต่ง สรรพสิ่งโดยรอบเป็นเครื่องเซ่นไหว้ เครื่องประกอบพิธีปลงศพมีพร้อมอยู่แล้ว ยังจะต้องปรึกษาเตรียมการอะไรกันอีก" ศิษย์พร้อมกันตอบว่า " หากไม่มีโลงใส่ ศิษย์เกรงว่านกหนูจะมาแทะทึ้งท่าน" " เฮ้อ น่าขันจริง หากทิ้งศพอาจารย์ไว้กลางแจ้งก็คือให้เป็นอาหารแก่นกกา แต่หากฝังลงดิน ก็คือเป็นอาหารแก่มดปลวกแมลง มันก็คือถูกกินเป็นอาหารเหมือนกัน ทำไมจะต้องลำเอียงเถียงกันเพื่อให้แก่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้กินด้วยเล่า"
ในโลกนี้จะมีใครอีกไหมที่ไม่ยึดหมายในสังขารนามรูปเยี่ยงท่านจวงจื่อเช่นนี้ ท่านจวงจื่อยังได้กล่าวถึงปรัชญาน่าพิศมัยอักหลายแง่มุมอีกประการหนึ่ง คือ คืนหนึ่งท่านฝันไปว่า ท่านเองกลายเป็นผีเสื้อตัวหนึ่ง บินอยู่ท่ามกลางมวลบุปผาชาตินานาพันธุ์ด้วยความสุขสำราญโดยเสรี สภาพนั้นเจริญใจพาให้ดื่มด่ำเป็นจริงจนลืมสภาพเป็นคนอยู่เสียสิ้น พอตื่นจากความฝันท่านจึงต้องประหลาดใจสุดกำลังว่า ไฉนเราจึงมาเป็น จวงโจว (จวงจื่อ) อยู่ที่นี่ ณ ขณะนั้น ความคิดของท่านสับสน ท่านถามตนเองว่า "ผีเสื้อ หรือ จวงโจวกันแน่ที่เป็นเราอย่างแท้จริง" "จวงโจว ฝันไปว่าเป็นผีเสื้อ แล้วตื่นขึ้นมา หรือว่า ผีเสื้อกำลังฝันไปว่าเป็นจวงโจว" ขณะนี้กันแน่... ปรัชญานี้คล้ายกับหลักธรรม ซึ่งชาติภพของศาสนาพุทธ ชาตินี้เกิดกายเป็นชายตระกูลนั้น ชาติหน้าเกิดกายเป็นหญิงตระกูลโน้น หากกล่าวว่าชีวิตคือความฝัน ความฝันในชีวิตของความเป็นคน ค่อนข้างยาวนาน อีกทั้งประสบการณ์หลากหลายทำให้ไม่อาจฟื้นความทรงจำต่อชีวิตจริงที่กำลังมาหลงเพลินอยู่ กับความฝันว่าได้เกิดกายเป็นคนในขณะนี้ได้ หากไม่ย้อนต้นค้นหาชีวิตจริงแต่เดิมทีให้พบ ความฝันในสภาพชีวิตต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตจริงเรื่อยไปไม่สิ้นสุด นั่นคือ สังสารวัฏ
-
ตามรอยอริยา
5 ท่านปราชญ์จวงจื่อ 4
ท่านจวงจื่อพิจารณาเห็นความวิปริตของจิตมนุษย์ทุกรูปแบบอย่างชัดเจน มนุษย์คือคนที่ชอบแย่งชิงสิ่งหยาบใหญ่ ไม่ไยไพสิ่งละเอียด
ชื่นชมความล้ำค่า เมินหน้าความต่ำต้อย
มุงมาดเพื่อให้ได้ เสียหายไม่ยอมรับ
รักตัวกลัวตาย ยกตนข่มท่าน
ขับเคี่ยวกันเพื่อผลประโยชน์เล็กน้อย
ลืมตัวกระหยิ่มยินดีเมื่อได้ดั่งใจ ...
ท่านอุปมาว่าใจคนเหมือนแม่น้ำในฤดูใบไม้ร่วง หน้าน้ำ เห็นสายน้ำน้อยใหญ่ไหลมาบรรจบเต็มเปี่ยมก็ยินดีปรีดิ์เปรม สำคัญว่าความงดงามท่วมท้น สำคัญว่าความสมบูรณ์ล้นหลาก จักคงอยู่ในอ้อมอกตนได้ตลอดไป แต่เมื่อน้ำลดหาย สายน้ำน้อยใหญ่พากันไหลลงสู่ทะเล ใหญ่้วิ้งว้าง อ้อมอกตนมีแต่ตอไม้โคลนตม จึงได้สำนึกทอดถอนใจว่า " อนิจจาอวิชชาความหลงหนอ ! " จิตมนุษย์ก็น่าขันเช่นนี้ ท่านจวงจื่อเลิศล้ำด้วยปรีชาญาณ สายตากว้างไกล จิตใจแกร่งกล้า ท่านกล่าวว่า คนควรมุ่งมั่นสรรค์สร้าง ดั่งนกใหญ่ทะยานฟ้า อย่าเหมือยนกนางแอ่นที่ได้แต่อาศัยชายคา จึงต้องใฝ่หาหนทางหลุดพ้น
ท่านได้โปรดชี้ทางบำเพ็ญไว้ให้สี่ประการ คือ
1. ไม่ยึดหมาย ให้เป็นธรรมชาติ อู่เอว๋ยจื้อหยัน
อันปัญญานั้นเป็นได้ในสองสถาน ปัญญาปุถุชน เป็นต้นเหตุของการยึดหมาย ใคร่อยาก แย่งชิง มีผลให้ทำลายจิตญาณเดิม พึงละทิ้งเสีย ส่วนปัญญาอิสระนั้นมีอิสระเสรี ไม่ยึดหมาย เดิมทีมาจากธรรมชาติอย่างไร ก็กลับคืนไปสู่ธรรมชาติอย่างนั้น
2. ละทิฐิดึงดัน ฉูชวี่เฉิงซิน
มีอัตตาตัวตนจึงมีการยึดหมาย มีการยึดหมายจึงมีทิฐิ ดึงดัน จึงมีการเปรียบเทียบ แท้จริงแล้วในโลกนี้ไม่มีบรรทัดฐานของความถูกและผิด ไม่มีบรรทัดฐษนของความงดงาม หรือ อัปลักษณ์ที่ตายตัว เพราะมีทิฐิดึงดันจึงมีบรรทัดฐานเปรียบเทียบจึงเกิดการยึดหมายขัดแย้ง พ้นจากภาวะนี้ได้ จึงพ้นจากใจปุถุชน
3. ตัดความอยากใคร่ ต้วนเจวี๋ยอวี้อวั้ง
กิเลสตัณหาเป็นคมมีดเชือดเฉือนคน ลาภสักการะทำให้ความบริสุทธิ์ใจสูญหาย ตั๊กแตนตำข้าว จ้องแต่จะตะครุบจั็กจั่นข้างหน้า หาไม่ว่านกกางเขนเตรียมจิกกินตั๊กแตนอยู่ข้างหลัง นกกางเขนกลืนน้ำลายหารู้ไม่ว่าหน้าไม้ของนายพรานกำลังเร็งตรงมา กิเลสตัณหาพาความทุกข์ระทม กระทั่งพาความตายมาให้ แต่น่าขันที่คนเหมือนจั๊กจั่น เหมือนตั๊กแตน เหมือนนกกางเขน ที่หารู้ไม่ต่อภัยอันตรายนั้น แม้แต่คนยิงนกก็หารู้ไม่ว่าจะต้องตกอยู่ในกฏแห่งกรรมต่อไป
4. ถือศีลกินเจ ทำสมาธิจิต ซินไจจั้วอวั้ง
ไม่เสพของมึนเมา ไม่กินชีวิตเลือดเนื้อเขา เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เลือดขุ่นข้น ทำให้จิตญาณไม่โปร่งใส จิตญาณไม่โปร่งใสย่อมฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านย่อมแฝงไว้ด้วยกิเลสตัณหา ย่อมเหนียวแน่นด้วยทิฐิยึดหมาย จิตจะไม่เป็นธรรมชาติที่สะอาดสงบอิสระ จิตจะห่างไกลพุทธภาวะ ผู้บำเพ็ญเพื่อการหลุดพ้นอย่างแท้จริงจึง... " พึงถือศีลกินเจ ทำสมาธิจิต "
บทประพันธ์ของท่านจวงจื่อมีมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนที่สูญหายไปก็เกินกว่าคณานับ ล้วนเป็นหลักปรัชญา ยกระดับจิตให้คิดถึงธรรมชาติอันมิอาจจำกัดขอบเขต นำทัศนวิสัยให้กว้างไกลไปสู่ความว่าง ซึ่งล่วงพ้นขอบเขตและกาลเวลาอย่างแท้จริง ท่านจวงจื่อมีชีวิตอยู่ในยุคขุนศึกที่ห้ำหั่นกดขี่บีฑากันปรัชญาประพันธ์ของท่านแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดทุกข์ร้อนของคนในสมัยนั้น เช่น ในบทเจ๋อหยังเพียน ท่านเขียนไว้ว่า ... "เมื่อป๋อจวี้ เดินทางไปเมืองฉี ก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้าสู่แผ่นดินฉี ก็ได้เห็นซากศพร่างหนึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ที่ชายป่า เอาเสื้อของตนเองคลุมให้แก่ศพนั้น ป๋อจวี้รันทดใจร้องไห้โฮใหญ่ รำพันว่า "ทุกข์เข็ญสาหัสในโลกประสบแก่ตัวเจ้าแล้ว ช่างน่าเวทนากระไรเลย กฏหมายบ้านเมืองบอกไว้ว่า จงอย่าเป็นโจรผู้ร้าย อย่าได้ฆ่าคน แต่บัดนี้ใครเล่ากำลังเป็นโจรผู้ร้าย ใครเล่าที่ฆ่าคน การกระทำเยี่ยงโจรผู้ร้ายที่ฆ่าคน เราควรจะกล่าวโทษผู้ใดดี"
ท่านจวงจื่อได้พบต้นตอปัญหาของคน นั่นคือ ความขาดอิสระ
ด้วยเหตุที่คนชอบอิงอาศัยวัตถุในความเป็นอยู่
อิงอาศัยเยื่อใยอารมณ์ในความเป็นอยู่
อิงอาศัยความรู้ทั่วไปในความเป็นอยู่
อิงอาศัยศิลปการในความเป็นอยู่
อิงอาศัยพระผู้เป็นเจ้าในความเป็นอยู่
การอิงอาศัยทำให้ผู้คนตกอยู่ในวงล้อมที่ขาดอิสระ ผู้ที่ต้องการความเป็นอิสระตรงหน้า จะต้องเลิกละความรู้สึกนึกคิดที่อิงอาศัย ท่านจวงจื่อเห็นว่าคนเราจะต้องรู้เห็นเป็นจริงในความมีอยู่ของตนว่า คนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับครรลองธรรมชาติท่ามกลางกาลเวลาที่ไม่จำกัดอยู่ทุกขณะ คนจึงต้องเอาธรรมชาติมาเป็นเครื่องพิจารณาทุกสิ่งอย่าง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ คนอย่าวาดภาพตนเองจากรูปลักษณ์ของผู้อื่น
อย่าวาดภาพของคนจากธรรมชาติ
อย่าวาดคุณค่าจากความไร้คุณค่า
อย่าวาดปัจจุบันจากอดีตและอนาคต
อย่าวาดการดำรงอยู่จากความตาย
อย่าวาดวงจำกัดจากความไม่จำกัด
เช่นนี้ ... จึงจะเป็นอิสระล่วงพ้นจากพันธนาการทั้งปวง
นี่คือ ... ปรัชญาของท่านปราชญ์จวงจื่อที่ต่างจากปราชญ์ทั้งหลาย
-
ตามรอยอริยา
6 พระบรรจารย์เป้าผูจื่อ
ศาสนา ลัทธิ นิกายมากมายซึ่งแพร่หลายอยู่ในทุกมุมโลกในยุคปัจจุบัน ที่เป็นหลักสำคัญยังคงเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ปราชญ์ และเต๋า ทุกศาสนาเมื่อเฟื่องฟูอยู่ในภูมิภาคใด ที่นั่นย่อมจะมีผู้ใฝ่รู้ ผู้ได้รับรู้ประวัติความเป็นมาของศาสนานั้นเป็นอย่างดีอยู่ไม่น้อย แต่ศาสนาเต๋าอันเก่าแก่แต่โบร่ำโบราณมากลับมิได้เป็นเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่มีศาสนิกชนมากมาย มีศาลเจ้าน้อยใหญ่อยู่ทั่วไป มีการไหว้เจ้าทั้งในเทศกาลที่กำหนด ในโอกาสพิเศษ ในโอกาสจำเป็นเฉพาะตน เช่น บนบานอธิษฐาน ขอบพระคุณ ทำบุญวันเกิด วันตาย ... สาธุชนเข้าออกศาลเจ้าขวักไขว่เกือบทุกวัน สาเหตุหนึ่งที่ศาสนิกเต๋าไม่รู้ต้นกำเนิดประวัติความเป็นมาของศาสนาเต๋า หรือแม้กระทั่งไหว้เจ้าตั้งแต่เด็กจนแก่ก็ยังไม่รู้เลยว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาเต๋านั้น คงจะเนื่องมาจากศาสนาเต๋ามิได้เริ่มเผยแพร่คำสอนจากพระศาสดา คือไม่มีพระศาสดาเป็นจุดเริ่มต้น แต่เริ่มต้นจากจิตใจใฝ่ดีของสาธุชนเอง ที่ต่างคนต่างสัมผัสรับรู้ได้ต่อการตอบสนองของพลานุภาพแห่งความดีตามคุณความดีที่ตนได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อเบื้องบน ได้รับการตอบสนองชัดเจนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนได้อธิษฐานภาวนาขอไว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดังกล่าวยังรวมถึงอดีตวีรชนผู้ปกป้องบ้านเมืองด้วย ด้วยความคิดที่เชื่อว่า "ทำดีย่อมได้ดี" "ทำดีมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รู้เห็นและคุ้มครองรักษา" "ผู้ปรารถนาในความดีย่อมสื่อถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้"
ความคิดนี้ ก็มิได้ถูกจำกกัดขอบเขตของความเชื่อ มิได้มีกรอบเคร่งครัดในการปฏิบัติบูชา เรียกได้ว่า ค่อนข้างเป็นอิสระในการปฏิบัติ สาธุชนจึงมีความสุขยินดีมากที่ได้ไปไหว้เจ้ากัน สิ่งที่สาธุชนนำไปสักการะบูชา ส่วนใหญ่เป็นไปตามความนิยมก่อนแล้วจึงกลายเป็นประเพณี เช่น นิยมใช้ธูป นิยมใช้ดอกไม้ ของหอม เพื่อให้ควันธูป เพื่อให้กลิ่นหอมลอยขึ้นไปสื่อถึงพระองค์ในเบื้องสูง
นิยมใช้เทียน เพื่อให้เบื้องบนโปรดประทานแสงสว่างแก่ชีวิต
นิยมใช้ผลไม้ ขนมปังฟู ขนมแป้งปั้นห่อใส้ (ไช่ก้วย) ปฏิการะเหมือนลูกกตัญญูที่หวังให้บิดามารดาได้อิ่มหนำสำราญ ไหว้เสร็จแล้ว ขอขนมแป้งปั้นห่อใส้หรือซาละเปาห่อใส้นั้นเป็นพกเป็นห่อกลับบ้านไปให้อุดมสมบูรณ์ด้วย
เนื่องจากสิ่งที่ใช้สักการะบูชา เป็นไปตามต่างจิตต่างใจยินดี จึงมีความเปลี่ยนแปลงหลากหลายในภายหลัง มีซากศพของหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปลาเพิ่มเข้ามา ดอกไม้หอมกลายเป็นดอกไม้พวงมาลัยกระดาษ และพลาสติกเพิ่มเข้ามา จากจิตใจที่ขอถวายคุณความดีไว้ กลับกลายเป็นการติดสินบน จากความเคยเคารพนบนอบด้วยจิตสงบบริสุทธิ์ กลับกลายเป็นพิธีกรรมโฉ่งฉ่างวุ่นวายเหล่านี้เป็นต้น เริ่มจากสามพันกว่าปีก่อน ศาสนาเต๋ายังมิได้เป็นศาสนายังมิได้มีพระศาสดา ยังไม่มีพระคัมภีร์ เมื่อพระอริยปราชญ์เหลาจื่อผู้สูงส่งด้วยมหาบารมีธรรมได้ปราฏกพระองค์ เป็นที่เคาระเทิดทูนยิ่ง อีกทั้งพระคัมภีร์คุณธรรม "เต้าเต๋อจิง" ของพระองค์ที่ลึกซึ้งสูงส่งอย่างไม่มีที่เปรียบก็ได้ปรากฏตามมา ผู้ใฝ่หาศูนย์รวมของคุณความดี (ธรรมะ) จึงต่างพร้อมกันเคารพเทิดทูนท่านเหลาจื่อเป็นพระศาสดา เคารพเทิดทูน "คัมภีร์คุณธรรม" เป็นพระคัมภีร์หลัก เนื่องด้วยท่านเหลาจื่อ สื่อถึงธรรมะในมหาจักรวาลได้ด้วยจิตภาวะธรรมชาติที่เป็นธรรมะในพระองค์เอง เมื่อสาธุชนพร้อมกันเคารพเทิดทูนพระองค์ในฐานะพระศาสดา พระคัมภีร์ที่พระองค์ได้โปรดแสดงไว้ก็ล้วนเป็นไปโดยธรรมชาติที่เป็นธรรมะ ความเคารพเทิดทูนนั้นจึงรวมตัวกันเป็นศาสนา เรียกว่า ศาสนาเต๋า หมายถึง ศาสนาธรรมะ หรือ ธรรมศาสนา
-
ตามรอยอริยา
6 พระบรรจารย์เป้าผูจื่อ 2
ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ศาสนาเต๋า (ธรรมศาสนา) มีจิตเริ่มต้นสำนึกดีของสาธุชน ฉะนั้น ศาสนาเต๋าจึงมิได้จำกัดการศึกษาเรียนรู้ คุณความดีแต่ในเฉพาะคำสอนของพระศาสดาเหลาจื้อเท่านั้น คำสอนของท่านจวงจื่อ ท่นเลี่ยจื่อ ท่านเหวินจื่อ ซึ่งแสดงธรรมอันเป็นหลักสัจธรรมอันเที่ยงแท้ที่ผู้ใฝ่ดี ใฝ่ความสงบพึงศึกษาปฏิบัติ ก็ได้รับการเทิดทูนให้รวมอยู่ในหลักธรรมคัมภีร์ของท่านเหลาจื้อด้วย ซึ่งรวมเรียกว่า "ขุมคลังคัมภีร์ เต้าจั้ง" นอกจากนั้นแล้ว คัมภีร์ในศาสนาปราชญ์ของท่านขงจื่อ เมิ่งจื่อ คัมภีร์ในศาสนาพุทธ ศาสนาเต๋า ก็ได้ยกย่องไว้เป็นหลักธรรมสำคัญเช่นกัน
หลังจากพระศาสดาเหลาจื้อแล้ว ศาสนาเต๋าได้ผิดไปจากความเป็น "ธรรมศาสนา" มาก ซึ่งเป็นไปตามจริตวิสัยของคนในภายหลัง ในที่นี้จะขอยกเว้นไว้ไม่กล่าวถึง ส่วนผู้ปฏิบัติอยู่ในแนวทางของ "ธรรมะ" อย่างเรียบง่าย อีกทั้งยังได้จรรโลงควมเป็นศาสนาเต๋า ธรรมศาสนาอย่างแท้จริง นั้นก็มีอยู่ไม่น้อย อาทิ พระบรรพจารย์เป้าผูจื่อ
พระบรรพจารย์เป้าผู้จื่อ นามเดิม "เก่อหง" นามรอง "จื้อชวน" เป็นชาวเมือง "ตันหยงจวี้หยง" อุบัติมาในรัชสมัยเจียผิง ปีที่ห้า "ค.ศ. 260 - 341 ) รัชสมัยพระเจ้า "เอว้ยฉีอ๋วง
ตระกูลของท่านเป็นขุนนางทุกชั่วคน ิดาของท่านสามารถเก่งกาจทั้งบุ๋น และบู๊ เคยดำรงตำแหน่งพระราชองค์รักษ์วังหลวง และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้มีเกียรติยิ่งในเรื่องกตัญญู สุจริต มิตรไมตรี แต่ต้องจากโลกนี้ไปเมื่อบุตรชายอายุได้สามสิบปีนั้น
ความเป็นขุนนางสุจริตของบิดา ทำให้ท่าน "เป้าผูจื่อ" ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้ายากจน ต้องทำไร่นาหาเลี้ยงชีพ ครอบครัวของท่านแต่เดิมทีเป็นปราชญ์บัณฑิตผู้คงแก่เรียน แต่ภายหลังเมื่อประสบชะตากรรม เกิดภัยสงครามแล้ว ท่านจะหาหนังสือคัมภีร์อ่านสักเล่มหนึ่งก็ยังไม่มี จึงต้องสู้อุตส่าห์อดทนเดินทางไปขอหยิบขอยืมจากที่ต่าง ๆ เมื่อว่างจากงานทำนา ซื้อกระดาษพู่กันได้จากเงินที่หาบฟืนไปขายในเมือง
-
ตามรอยอริยา
6 พระบรรจารย์เป้าผูจื่อ 3
ด้วยความมุ่งมั่นวิริยะอย่างนี้ ท่านจึงแตกฉานในประวัติศาสตร์ และ พระคัมภีร์ทุก ๆ ศาสนาตั้งแต่เยาวัว์ย ในสมัยนั้น ศาสนาเต๋าในประเทศจีนรุ่งเรืองมากศาสนิกแยกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ พวกขุนนางผู้มีฐานะร่ำรวย พวกนี้เติมแต่งศาสนาเต๋าให้เกิดความหรูหราโอ่อ่าในพิธีบูชา เติมแต่งให้เกิดบรรยายกาศ สง่างามตามฐานะของหมู่พวก ส่วนอีกพวกหนึ่ง คือ ชาวบ้านทั่วไป พวกนี้อาศัยอิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเต็มที่ ท่องบ่นภาวนาใช้เวทย์มนต์คาถา ขอลาภขอผล...
สำหรับท่าน "เป้าผูจื่อ" นั้น เดินสายกลาง บำเพ็ญวิถีแห่งจิต ไม่ยึดติดมุ่งหมายในลาภสักการะวัตถุใด ๆ ในปีที่ท่านอายุได้ห้าสิบปี ราษฏรชาวบ้านถูกผู้ก่อการร้ายทำลายล้าง ท่านทะยานตัวเข้าปกป้อง บ้านเมืองพ้นภัย ฮ่องเต้ปูนบำเหน็จแต่งตั้งให้ท่านเป็นข้าหลวงพิทักษ์เมือง แต่เนื่องด้วยท่านมิ
ได้มุ่งหมายในลาภยศสรรเสริญ จึงขอย้ายตัวเองไปอยู่ที่เมือง "เจียวจื่อ" ที่ห่างไกล ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะหาวิเวก ท่านได้เขียนหนังสือแนวทางการบำเพ็ญวิถีแห่งจิตสมถะไว้ ให้ชื่อว่า "เป้าผู้จื่อ" แปลว่า ผู้รักษาคุณธรรมความสันโดษเรียบง่าย หนังสือ "ประวัติพระอริยะ เสินเซียนจ้วน" และอื่น ๆ อีกหลายเล่ม ท่านเจริญพระชนมายุได้แปดสิบเอ็ดปี จึงได้ละสังขารจากโลกนี้ สังขารที่ท่านละไว้อยู่ในอาการนั่งหลับตาทำสมาธิ ใบหน้าอิ่มเอิบสงบเยือกเย็น กายสังขารอ่อนนุ่มเบาสบายทุกส่วน เป็นลักษณะของผู้บรรลุธรรมโดยแท้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์แม้จะลึกล้ำมหัศจรรย์เกินกว่าจะคาดเดาได้แต่ก็มิใช่สิ่งที่คนจะวาดภาพหรือจินตนาการเพื่อให้เป็นได้ แต่จะเป็นไปด้วยบุคคลจริง ๆ ที่ปฏิบัติบำเพ็ญจริง ๆ ท่านเป้าผูจื่อ ได้ยกอุทาหรณ์ไว้เรื่องหนึ่งว่า "แต่ก่อนมีชายหนุ่มขี้เล่นคนหนึ่งเอาเต่าตัวหนึ่งมาหนุนขาเตียงนอนแล้วเกิดลืมเสียสนิทจนกระทั่งชายหนุ่มแก่เฒ่าตายไป ลูกหลานย้ายเตียงเคลื่อนศพ จึงได้พบเต่าตัวนั้น หลายสิบปีผ่านไปมันยังมีชีวิตอยู่ คนเป็นสัตว์ประเสริฐ น่าจะกำหนดจิตให้สงบนิ่งจนเป็นชีวิตวัฒนะ บรรลุธรรมได้ยิ่งกว่าเต่า จึงต้องศึกษาวิธีและวิถีแห่งจิต"
โลกนี้มีโอสถสามขนาน คือ
* โอสถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ (เซี่ยง)
* โอสถรักษาความคิดจิตใจ (ซี่)
* โอสถรักษาชีวิตอมตะ (หลี่)
โอสถที่รักษาชีวิตอมตะ รักษาธรรมญาณดวงแก้วในตัวตน เรียกว่า "จินตัน ลูกกลอนทอง" ส่วนสำคัญของยา คือ จิตที่เที่ยงตรงเคี่ยวไฟให้ได้ที่จากตัวยาในพิกัดคือ ความกตัญญู ซื่อสัตย์จงรักภักดี พี่น้องปรองดอง สามีภรรยาสมานฉันท์ เพื่อนพ้องจริงใจ ไม่สูงต่ำก้ำเกินกัน ครบถ้วนแล้ว จงปั้นให้กลมสวยเป็นลูกกลอนทอง ท่ามกลางมหาพลานุภาพของฟ้าดิน
ท่าน "เป้าผูจื่อ" พยายามชี้ทางตรงวิถีแห่งจิตให้แก่ศานิกของศาสนาเต๋า ที่หลงผิดงมงาย ท่านกล่าวว่า "เซียนผู้เข้าสู่หนทางการบรรลุธรรมได้จะต้องสร้างกุศลผลบุญคุณงามความดี ตามจำนวนที่กำหนดแน่นอน หากไม่ครบถ้วนแม้จะได้โอสถวิเศษจากเซียนโดยตรงก็เปล่าประโยชน์" ท่านเป้าผู้จื่อชิงชังการโน้มนำทำให้ผู้คนหลงเชื่ออย่างงมงาย หลับหูหลับตาทำสมาธิโดยเข้าไม่ถึงจิต หลงปฏิบัติพิธีกรรมบำเพ็ญโดยไม่เห็นอนาคต หลงทำตาม ๆ กันไปโดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ชีวิตเป็นอมตะได้ด้วย "จิต" ปรุงโอสถวิเศษ "ลูกกลอนทอง" คือ "เคี่ยวกรำจิต" ไม่ต้องละจากผู้คนไป "เคี่ยวกรำจิต" แต่จงเคี่ยวกรำท่ามกลางเพลิงไฟจริตของตน และ ผู้คนรอบข้างเถิด
-
ตามรอยอริยา
7 พระบรรพจารย์หวังฉงหยัง
พระเจ้าซ่งเจินจง เป็นฮ่องเต้ที่รอบรู้ในพระธรรมคัมภีร์ ทั้งพุทธศาสนา ธรรมศาสนา (เต๋า , เหลาจื่อ) ศาสนาปราชญ์ (ขงจื่อ) และปรัชญาของปราชญ์เมธีที่มีชื่อเสียงทั้งหลายทั้งต่างสมัยและร่วมสมัยอย่างลึกซึ้ง พระองค์ทรงส่งเสริมผู้ศึกษาให้พยายามเข้าถึงแก่นแท้ความแยบยล อย่าได้ยึดหมายในทิฐิความเห็นเฉพาะตน อย่าได้โจมตีกัน ฉะนั้น ศาสนาต่าง ๆ จึงเจริญมั่นคงอยู่ในราชวงศ์ซ่ง จนถึงสมัยราชวงศ์เอวี๋ยน
พระบรรพจารย์หวังฉงหยัง เป็นชาวเมืองเสียนหยาง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ท่านเป็นขุนนางผู้ธำรงสุจริตธรรมความกตัญญู เมื่ออายุสี่สิบแปดปี ท่านได้รับธรรมะวิถีแห่งจิตจากจอมเซียนหลวี่ต้งปิน กับ จอมเซียนฮั่นจงหลี่ (สองพระองค์ในกลุ่มแปดเซียนถ้ำกลาง) จนบรรลุธรรมวิเศษ จากนั้น ท่านลาออกจากราชการ มุ่งมั่นปรกโปรดแพร่ธรรม ตามหาผู้มีบุญสัมพันธ์ โน้มนำจิตใจผู้คนให้ใฝ่ดีมีคุณธรรม ในหนังสือประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า พระบรรพจารย์หวังฉงหยังเป็นผู้มีพระคุณยิ่งต่อศาสนาเต๋า (ธรรมศาสนา) ท่านชำระสะสางปรัชญาความคิดผิดเพี้ยนที่แทรกซึมศาสนาเต๋าเข้ามาในภายหลัง ท่านจึงเป็นบรรพจารย์ที่ธำรงรักษาสัจธรรมคำสอนดั้งเดิมของศาสนาเต๋า ที่สำคัญยิ่งท่านหนึ่ง ท่านอบรมกล่อมเกลาศิษย์ด้วย "พระคัมภีร์กตัญญุตาธรรม เซี่ยวจิง กับ คัมภีร์คุณธรรม เต้าเต๋อจิง เป็นเบื้องต้น ให้ผู้เริ่มบำเพ็ญรักษาภาวะหนึ่งเดียวของจิตไว้ได้ด้วยกตัญญุตาธรรม จากนั้นจึงอบรมกล่อมเกลาด้วย "พระคัมภีร์ปัญญาหฤทัย" กับ "พระคัมภีร์วิสุทธิวิมุติ" (ปันยั่งจิง กับ ชิงจิ้งจิง) ฉะนั้น ไม่ว่าจะจัดอบรมอรรถาธรรมที่มณฑลซันตง หรือที่ไหน ๆ ท่านก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการ "อรรถาธรรมสามศาสนา" คือศาสนาพุทธ ศาสนาปราชญ์ ศาสนาเต๋า ซึ่งตรงต่อหลักสัจธรรมด้วยกัน
-
ตามรอยอริยา
7 พระบรรพจารย์หวังฉงหยัง
ธรรมนิวาสของท่านจะแสดงชื่อว่า นิวาสสัทธรรม "เฉวียนเจิน หรือ นิวาสบัวทอง จินเหลียน " เพื่อแสดงความหมายว่า เป็นนิวาสถานเพื่อการบำเพ็ญจิตใจให้เที่ยงแท้ สงบ สมถะ สำรวม สมานกายใจ เพื่อฟื้นฟูจิตดั่งบัวทองบริสุทธิ์ผุดผ่องพ้นน้ำอร่ามเรือง ศิษย์ของท่านมีมากมาย บรรลุธรรมวิเศษกันไปมากมาย อาทิ ท่าน "ถันฉังเหยิน หลิวฉังเซิง ซุนปู๋เอ้อ เฮ่าไท่กู่ หวังอวี้หยัง และท่านชิวฉังชุน เป็นต้น"
เนื่องด้วยธรรมนิวาสของพระบรรพจารย์หวังฉงหยัง มีชื่อว่า สัทธรรมเฉวียนเจิน เที่ยงแท้ การเคี่ยวกรำอบรมศิษย์ก็เพื่อให้เข้าถึงความเป็นในสัทธรรมเฉวียนเจินที่เที่ยงแท้ ฉะนั้น ต่อมาการโปรดสัตว์ของท่านจึงได้รับการเทิดทูนว่า "ศาสนาสัทธรรมเฉวียนเจิน" ศาสนาสัทธรรมเฉวียนเจินมุ่งให้รักษาความสมถะ เรียบง่าย กล่อมเกลาบำรุงรักษาจิตบริสุทธิ์เที่ยงแท้ จิตใจใสนิ่ง สมาธิมั่นคง อุ้มชูจิตเดิมแท้ รักษาความเป็นหนึ่งไว้ ครองสติปัญญา รักษาพลังธาตุให้มั่นคง เป็นการบำเพ็ญภายในอันแท้จริง
ส่วนการปฏิบัติภายนอก คือ สงเคราะห์ผู้ยากไร้ ฉุดช่วยคนทุกข์ยาก คำนึงถึงผู้อื่นก่อนตนเอง ไม่เห็นแก่ได้ ไม่เห็นแก่ตัว การบำเพ็ญและปฏิบัติถึง
พร้อมทั้งสองประการ จึงเรียกได้ว่า "สัทธรรม"
เฉวียนเจิน จื้อไจ้โส่วผู เอี่ยงซู่เฉวียนเจิน เฉิงซินติ้งอี้ เปาเอวี๋ยนโส่วอี ฉุนเสินกู้ชี่เอว๋ยเจินกง จี้ผินป๋าขู่ เซียนเหยินโฮ่วจี่ อวี่อู้อู๋เอว๋ยเจินสิง กงสีงจวี้เฉวียนเจี้ยวเฉวียนเจิน
ระเบียบบัญญัติในการปฏิบัติบำเพ็ญของศาสนาสัทธรรมเฉวียนเจิน ยังมีหลักใหญ่อีกสิบห้าข้อคือ
1. จงแสวงหาอาณาจักรธรรมเป็นนิวาสถานเพื่อการบำเพ็ญตลอดชีวิต อีกทั้งอาศัยผู้ร่วมบำเพ็ญในอาณาจักรธรรมนั้นส่งเสริมการบำเพ็ญแก่กัน จนถึงระดับ "ในแกร่งนอกสมาน" (เน่ยกังไอว้เหอ)
2. จงเดินทางท่องไปสุดหล้าฟ้าเขียวเที่ยวกล่อมเกลาเวไนย เพื่อทดสอบความจริงใจของตนที่มีต่อการปฏิบัติบำเพ็ญ หากจริง ก็จะไม่เหนื่อยหน่าย ไม่หวั่งเกรงต่อข้อทดสอบอุปสรรคขวางกั้น ไม่หวาดหวั่นต่ออันตราย ต่อการถูกเหยียดหยามทิ่มแทง หากไม่จริงใจก็จะได้แต่ท่องเที่ยวเพลิดเพลินชมทิวทัศน์ไป รับอุปัฏฐากโดยไม่ได้ให้คุณแก่มวลเวไนยฯ
3. จะต้องฝึกสวดท่องพระคัมภีร์อยู่ไม่ขาด อีกทั้งสุดท้าย จะต้องไม่ยึดหมายในพระคัมภีร์ณูปลักษณ์ แต่จะต้องให้เข้าถึงสัจธรรมดำริของอริยปราชญ์ อ่านพระคัมภีร์สำคัญที่จิตรู้แจ้ง มิใช่อยู่ที่อรรถรสสุนทรีย์ของพระคัมภีร์เท่านั้น
4. จะต้องหมั่นเพียรวิริยะก้าวหน้า ประหนึ่งเลือกสรรตัวยามาเข้าพิกัด ให้สรรพคุณอุ่นเย็นเข้ากันพอเหมาะ ทำให้กายใจได้รับคุณประโยชน์ถูกต้องสมดุลกัน
5. จงกำหนดการสร้างสถานปฏิบัติธรรม จะเป็นวัดเล็กหรือพระอารามใหญ่ ก็ให้สะอาด สงบ ให้มีหลังคากันแดดกันฝนได้เป็นสำคัญ แต่ไม่ให้ฟุ่มเฟือยหรูหราเพื่อความโอ่อ่ามีหน้ามีตา
6. ผู้อยู่ร่วมบำเพ็ญ จะต้องช่วยเหลือกระตุ้นเตือนปรึกษาหารืออุ้มชูกัน เพื่อการบรรลุมรรคผลพร้อมกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการถูกทดสอบยิ่งจะต้องสำแดงคุณของความเป็นผู้บำเพ็ญร่วมกัน อย่าให้มีความเบื่อหน่ายถดถอยเกิดขึ้นได้
7. จงรักษาคุณลักษณะความเป็นผู้มีธรรมในการนั่ง ยืน เดิน นอน ทุกอริยาบทไว้ให้ดี อยู่ในอาการสงบเพื่อสำรวมบำเพ็ญจิต
8. จะต้องฝึกจิตปราณีต "เอาชนะมังกร สยบเสือร้ายให้ได้" นั่นคือ การตัดกิเลสตัณหาอารมณ์ให้เหลือแต่กุศลจิตบริสุทธิ์ล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว
9. จะต้องประคองรักษาจิตเดิมแท้อันใสสงบวิเศษยิ่งอันส่องเห็นตนและคนอื่นได้ให้คงอยู่เสมอ
10. ให้ปรับกำลังธาตุทั้งห้า คือ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ ลม ในตนให้สมานกันพอดี จนเป็นพลังธาตุสุขุมอันวิเศษประดุจเป็นหนึ่ง ณ จุดรวมศูนย์ต้นกำเนิดในตน
11. จงอุ้มชูรักษาจิตญาณ (ชีวิตจริง) กับกายชีพซึ่งล้วนเป็นงานอันสำคัญขอผู้บำเพ็ญจะต้องวิริยะจริงจังไม่เกียจคร้าน
12. จะต้องเอาแบบอย่างการปฏิบัติบำเพ็ญของอดีตพระอริยปราชญ์เป็นบรรทัดฐาน
13. จงศึกษาธรรมด้วยความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นจะก้าวล่วงให้พ้นจากโลกของวัตถุนามรูป ให้พ้นจากวัฏฏะสงสารให้ได้
14. ผู้ได้รับวิถีธรรม ได้ศึกษาธรรม ได้ดำเนินธรรม พึงปลูกฝังตนให้มีคุณสมบัติของผู้เป็นปากเสียงแทนฟ้า ภาพลักษณ์กิริยาอาการทุกอย่างให้รื่นตารื่นใจ เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะ ของชาวธรรม ของหมู่คณะ จะเป็นผู้ให้ "ธรรมะ" ด่างพร้อยเสียหายมิได้เลย
15. การบำเพ็ญจนบรรลุสู่อนุตตรสัมมาสัมโพธิมรรค จนกระทั่งกลับคืนสู่สูญญตาภาวะนั้น เป็นเป้าหมายสุดท้ายสูงสุดของผู้บำเพ็ญ
พระบรรพจารย์หวังฉงหยัง กับ ศิษย์เอกทั้งเจ็ด ผู้บรรลุธรรมวิเศษได้พยายามแพร่ธรรมกอบกู้อุ้มชูจิตใจสาธุชนจนได้รับการเทิดทูนจารึกจากปราชญ์เอวี๋ยนอี๋ซัน ในสมัยนั้นว่า ทุกท่านในศาสนาสัทธรรมเฉวียนเจิน พลิกฟื้นสัจธรรมในหมู่ผู้หลงด้วยจิตใจ "ในแกร่งนอกสมาน" เปิดทางบำเพ็ญโดยตรงให้แก่ทุกชนชั้นด้วยภาวะกึ่งอริยะกึ่งทางโลก บวชจิตพร้อมกับรับผิดชอบครอบครัวได้ ด้วยจิตมุ่งหมาย "นำตนบรรลุธรรม นำท่านบรรลุด้วย" ในยุคนั้น คนที่เคยผิดบาป คนยากไร้ทุกข์เข็ญต่างได้รับโอกาสกลับตัวกลับใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่กันทุกหย่อมหญ้า ทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่จีน จากเหนือจรดใต้ ที่ใดมีควันไฟบ้านช่องที่นั่นก็จะมีผู้บำเพ็ญศาสนาสัทธรรมเฉวียนเจิน จากป่าเขาจนถึงเมืองใหญ่ไม่ต่ำกว่าสิบล้านคน กระจายกันอยู่และรวมกลุ่มสามคนห้าคนส่งเสริมการบำเพ็ญแก่กันอย่างแข็งขันเคร่งครัด จึงเป็นศาสนิกที่สมัครสมานกันอย่างไม่มีอุปสรรคใดสั่นคลอนได้เลย
ศาสนาสัทธรรมเฉวียนเจิน ได้รวมเอาแก่นแท้ของศานาพุทธ ศาสนาเต๋า และศาสนาปราชญ์ไว้ในจุดเดียวกัน นั่นคือเข้าสู่ "อนุตตรสัมมาสัมโพธิจิต" ซึ่งจะกล่าวว่า พระบรรพจารย์หวังฉงหยังได้โปรดจุดคบไฟส่องทางให้แก่สาธุชนในธรรมกาลยุคขาวบัดนี้ไว้แล้ว ตั้งแต่พันกว่าปีก่อนก็ว่าได้
-
ตามรอยอริยา
8 พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน
พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน แซ่เจี่ย เป็นชาวเมืองเอี้ยนเหมินโหลวฝัน มณฑลซันตง รัชสมัยตงจิ้นเฉิง ตี้เสียนเหอปีที่แปด (ค.ศ. 333)เนื่องจากเกิดภัยสงครามนานเนื่อง เมื่อท่านอายุได้สามสิบปีจึงต้องพร้อมด้วยฮุ่ยฉือน้องชายติดตามน้าชายย้ายไปเล่าเรียนที่เมืองลั่วหยัง ท่านคงแก่เรียน ถ้วนทั่วในพระคัมภีร์?ั้งหก (ลิ่วจิง) โดยเฉพาะหลักสัจธรรมของอริยปราชญ์เหลาจื่อและท่านปรัชญาเมธาจวงจื่อ ในปีที่ท่านอายุได้ยี่สิบเอ็ด มหาเถระเต้าอันได้มาสร้างวัดที่ภูเขาไท่หังซัน อรรถาพุทธธรรม เป็นที่ร่ำลือเลื่อมใสไปทั่ว ขณะนั้น พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน ยังมิได้บรรพชา จึงรู้สึกแปกใจว่าเหตุใดฮ่องเต้จึงทรงเคารพยกย่องพระเถระเต้าอันถึงเพียงนี้ ผู้คนก็ดื่มด่ำในพุทธธรรมยิ่งนัก ยังจะมีหลักสัจธรรมใดเสมอด้วยหลักสัจธรรมของท่านเหลาจื่อและจวงจื่ออีกหรือ เพื่อไขข้อกังขานี้ ท่านจึงพาฮุ่ยฉือน้องชายสู้เดินทางไกลนับพันลี้ ไปขอศึกษาพุทธธรรมจากพระอาจารย์เต้าอัน ในช่วงนั้น ความรู้ทางธรรมของท่านฮุ่ยเอวี่ยนมีแต่ทางด้านศาสนาปราชญ์ ซึ่งพระอาจารย์เต้าอันก็มีความรู้ทางนี้มากเช่นกัน เมื่อผสมผสานกับหลักธรรมในพุทธศาสนาแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกลึกซึ้งแยบยลยิ่งขึ้น ทำให้พี่น้องทั้งสองปลื้มปิติถึงกับอุทานว่า "พระอาจารย์เต้าอัน สมควรเป็นพระอาจารย์ที่เคารพของเราโดยแท้ ..." ทั้งสองพี่น้องจึงยินดีปลงผมบรรพชาทันที
ต่อมา เกิดเหตุจลาจลในแถบภูเขาไท่หัง ท่านฮุ่ยเอวี่ยนกับท่านฮุ่ยฉือจึงต้องติดตามพระอาจารย์เต้าอันจาริกไปแสวงบุญในที่อื่น ช่วงนั้น พระสงฆ์ทั้งสามรูปต้องอดอยาก ต้องได้รับความลำบากแสนสาหัส หน้าหนาวทางภาคเหนือ ท่านมีแต่เสื่อและผ้าห่มขาด ๆ ผืนเดียว แต่ท่านยังคงวิริยะศึกษา กลางคืนไม่มีตะเกียง ท่านจึงอาศัยแสงตะวันสนธยาอ่านพระคัมภีร์ให้ถึงที่สุดจนมืดค่ำ จนกว่าจะมองไม่เห็นตัวอักษร
-
ตามรอยอริยา
8 พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน
มีผู้เตือนท่านว่า "สภาพยากเข็ญปานนี้แล้ว ขอให้ท่านลดวิริยะลงเสียบ้างเถิด" แต่ท่านฮุ่ยเอวี่ยนกลับตอบว่า "พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญด้วยความทุกข์ยากยิ่งกว่านี้ถึงหกปี เราสบายกว่าพระองค์มากนัก" "ขณะนี้เป็นกลียุค เรายิ่งต้องบำเพ็ญเพียรเพิ่มพูนบารมี เพื่อให้พุทธบารมีช่วยคลี่คลายทุกข์เข็ญของชาวบ้านชาวเมืองด้วยทางหนึ่ง ขออาศัยพุทธบารมีสร้างสันติธรรมให้เกิดขึ้น ภายหน้าจึงจะมีวันปกติสุขให้อยู่ได้" ด้วยความวิริยะอุตสาหอดทน พากเพียรศึกษา ศรัทธาเชื่อมั่น ตั้งใจมุ่งมั่น อายุเพียงยี่สิบสี่ปีเท่านั้น ท่านฮุ่ยเอวี่ยนก็ได้รับความเคารพเทิดทูนว่าเป็นพระมหาเถระที่สูงส่งล้ำลึกในพุทธธรรมอย่างวิเศษยิ่ง ท่านอรรถาธรรมแจกแจงได้อย่างถึงที่สุด จนพระอาจารย์เต้าอันชื่นชมว่า "ผู้จะส่งเสริมพุทธธรรมให้แพร่หลายทั่วบูรพาทิศได้ในภายหน้า ก็เห็นจะมีแต่ฮุ่ยเอวี่ยนนี้เท่านั้น"
ยุคนี้ ยังมีผู้เข้าใจในพุทธศาสนาไม่ทั่วถึง พระสงฆ์ห้าร้อยกว่ารูปถูกต้องข้อหาสมคบกันมีเบื้องหลังน่าสงสัย ถูกทหารติดตามจับกุม จึงพากันหลบหนีระเหเร่ร่อนไป ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส ไม่กล้าเข้าไปบิณฑบาตรในหมู่บ้าน ได้แต่เดินป่าหาผลไม้ ใบไม้ จนถึงเปลือกไม้มาฉันประทังสังขาร
ไป แต่ทุกท่านก็ยังคงมั่นคง อดทน จนสุดท้ายเมื่อมาปักหลักที่เมืองเซียงหยัง จึงค่อยปกติสุขขึ้น แต่ยังต้องทำนา ต้องหาอาหารเอง
สิบห้าปีที่เมืองเซียงหยัง พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน เจริญธรรมจนถึงขั้นสุดยอด เป็นหลักคานของพุทธศาสนาในประเทศจีนได้อย่างมั่นคง วันหนึ่ง พระอาจารย์เต้าอัน (พระอาจารย์ของท่านฮุ่ยเอวี่ยน) ถูกฝูเจียน ผู้มีอำนาจนำทหารหนึ่งแสนคนมาชิงตัวไป ท่านฮุ่ยเอวี่ยนจึงต้องรีบพาศิษย์พี่ศิษย์น้องทั้งหมดหลบหนีไปยัง "หลูซัน" "หลูซัน เป็นภูเขาสูงเสียดฟ้า ลักษณะลู่ทางมหัศจรรย์ซับซ้อน จนน้อยคนนักจะขึ้นไปถึงยอดเขาได้ อีกทั้งทิวทัศน์ก็งดงามมากตั้งแต่เชิงเขาจนถึงยอดเขา จากการช่วยเหลือของ "หวนอี" เจ้าเมืองเจียงโจว พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยนได้สร้างวัดแห่งประวัติศาสตร์ไว้บนยอดเขาทางทิศตะวันออกวัดหนึ่ง ชื่อว่าวัด "ตงหลินซื่อ" พระมหาเถระสหายธรรมของท่านนามว่า "ฮุ่ยอย่ง" ได้สร้างไว้บนยอดเขาทางทิศตะวันตกตรงข้ามอีกวัดหนึ่ง ชื่อว่าวัด "ซีหลันซื่อ"
ท่านฮุ่ยเอวี่ยนได้ใช้เวลาบั้นปลายของชีวิตสามสิบเจ็ดปี ศึกษาบำเพ็ญเพียรจนถึงขั้นสุดยอด ณ วัด "ตงหลินซื่อ" นี้ ระหว่างเวลาเกือยบสี่สิบปีนั้นท่านฮุ่ยเอวี่ยนได้ทุ่มเทสร้างสรรค์ นำพาสาธุชนให้ได้สวดมนต์เจริญภาวนารักษาศีล ทำฌาณสมาธิกันมากมาย นักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มาร่วมสวดมนต์ด้วยก็มีมากถึงหนึ่งร้อยยี่สิบสามคน ซึ่งต่อมาได้ก่อเกิดเป็น "ชมรมพุทธศาสนิกบัวขาว ไป๋เหลียนเซ่อ" ขึ้น เน้นการสวดมนต์เป็นหลัก นั่นคือ จุดเริ่มตันของการสวดมนต์ในประเทศจีน อีกทั้งเป็นเสียงกู่เสียงแรกของการเรียนรู้ "ฌาณ" ทางแถบใต้ลุ่มน้ำแยงซีเกียง ชมรมสวดมนต์ "บัวขาว" ในยุคนั้นมิใช่สวดท่องปากเปล่าแต่ทุกคนเข้าถึงภาวะแห่งพระธรรมคัมภีร์ที่สวดท่องนั้นอย่างลึกซึ้ง
ฉะนั้น สภาวะที่เข้าถึงฌาณสมาธิของผู้สวดท่องกับบรรยายกาศขณะที่สวดท่องจึงศักดิ์สิทธิ์สูงส่งยิ่งนัก การจะเข้าสู่ชมรมบัวขาวในยุคนั้น เป็นเรื่องยากพอสมควร บุคคลที่มีอำนาจวาสนาหลายคนถูกปฏิเสธ เพราะไม่สำรวม กาย วาจา ใจ ยังเป็นลักษณะของปุถุชนมากไป กิตติศัพท์ของท่านฮุ่ยเอวี่ยนระบือไกลไปทั่วดินแดนแยงซีเกียงตอนใต้ จนแม้กวีเอกแห่งยุคนั้นคือท่าน "เถาเอวียนหมิง " (ค.ศ. 372 - 427) ก็อุตสา่ห์เดินทางนับพันลี้เพื่อมาเจริญธรรมไมตรีกับท่านฮุ่ยเอวี่ยน
-
ตามรอยอริยา
8 พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน
ต่อมา "หวนเสวียน" ผู้ตรวจราชการแผ่นดินราชวงศ์ "จิ้น" เป็นขบถ ยกทัพผ่านมาทาง หลูซัน รู้สึกเลื่อมใสจึงขึ้นเขาไปนมัสการท่านฮุ่ยเอวี่ยน แต่ด้วยคงามฮึกเหิมเริงอำนาจ ความรู้สึกเลื่อมใสจึงเป็นเพียงความชื่นชม มิได้ศรัทธาลึกซึ้งในสัจธรรม ฉะนั้น เมื่อยึดอำนาจครองราชย์แล้วจึงประกาศว่า "อ๋องคือผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน นักบวชผู้บำเพ็ญจะต้องคุกเข่าคารวะ" ท่านฮุ่ยเอวี่ยนได้ทราบประกาสนี้ รีบเขียนจดหมายถึงอ๋องขบถสามฉบับทันที ขอให้ยกเลิกกฏเกณฑ์นี้เสีย ต่อมา อ๋องขบถฮึกเหิมหนึกขึ้นถึงกับบัญชาให้กวาดล้างทำลายสงฆ์ทั้งหมดในบ้านเมือง แต่มีข้อยกเว้นว่า "วัดบนหลูซันบรรพต เป็นที่พำนักของผู้มีคุณธรรม ไม่ต้องตรวจค้นกวาดล้าง" ในจุดนี้ ทำให้เห็นสถานภาพอันสูงส่งยิ่งของท่านฮุ่ยเอวี่ยนในครั้งนั้น ท่านฮุ่ยเอวี่ยนไม่เพียงเสี่ยงชีวิตเพื่อธำรงรักษาศานาพุทธไว้ พร้อมกันนั้นยังเผาไหม้ชีวิตทั้งหมดของท่านเองเหมือนแสงเทียนละลายแท่งเพื่อให้พุทธธรรมจรัสแสงสว่างใสในใจของคนทั้งหลาย สามสิบเจ็ดปีบนหลูซันบรรพต ท่านไม่เคยพ้นไปจากที่นั่นแม้สักก้าวเดียว
ครั้งหนึ่ง ท่านกวีเอก "เถาเอวียนหมิง" ซึ่งเคารพชอบพอกับท่านฮุ่ยเอวี่ยนมาก มาเยี่ยมแล้วลากลับเหมือนอย่างเคย แต่การสนทนาปรัชญาธรรมยังติดพันไม่จบความ จึงเดินคัยกันไปพลาง แต่พอถึงลำธาร "หู่ซี่" สุดเขตกลูซัน ท่านฮุ่ยเอวี่ยนก็หยุดเดิน ท่านเถาเอวียนหมิงจึงขอร้องท่านฮุ่ยเอวี่ยนว่า"เดินคุยกันต่อไปอีกสักหน่อยเถิด ข้ามลำธาร "หู่ซี่" พ้นเขตหลูซันไปสักเล็กน้อยคงไม่เป็นไร ท่านฮุ่ยเอวี่ยนตอบว่า
"จะละเลยปล่อยใจมิได้
จะตามใจใคร่อยากมิควร
ซินปู้เข่อจ้ง
อวี้ปู้เขอจั่ง
แม้อาตมาจะยินดีเดินไปส่งท่านให้ไกลกว่านี้ แต่หากล่วงพ้นลำธาร "หู่ซี" ก็จะเท่ากับอาตมา "ปล่อยใจ ตามใจ" ไปเสียแล้ว ท่านเถาเอวียนหมิงถามว่า "นี่เป็นกฏเกณฑ์ในการบำเพ็ญด้วยหรือ มีความหมายเพียงไรกับการล่วงข้ามหรือไม่ ล่วงข้ามลำธารหู่ซี" ท่านฮุ่ยเอวี่ยนตอบว่า "เป็นกฏเกณฑ์เฉพาะอาตมา" ศาสนาปราชญ์เตือนไว้ว่า
"อย่าเห็นความดีเพียงน้อยนิดไม่คิดทำ
อย่าทำผิดบาปด้วยเห็นเพียงเล็กน้อย
อู้อี่ซั่นเสี่ยวเอ๋อปู้เอว๋ย
อู้อี่เอ้อเสี่ยวเอ๋อเอว๋ยจือ"
การไม่ล่วงข้ามลำธารหู่ซี แม้จะไม่มีความหมายสำคัญแต่เมื่ออาตมาได้ตั้งใจและไม่ละเมิดจนถึงที่สุดได้ ความหมายสำคัญย่อมเกิดแก่อาตมาผู้ถือปฏิบัติเคร่งครัดอย่างแน่นอน คติพจน์นี้ ทำให้ท่านเถาเอวียนหมิงกำซาบใจไม่รู้หาย ท่านถามตัวเองว่า "คุ้มแล้วหรือกับบำเหน็จข้าวสารห้าทะนานหลวง ทำให้เราต้องโค้งตัวต่อขุนนางทุกขณะ แต่ไม่มีอิสระจะสนทนาธรรมกับมหาเถระได้"
-
ตามรอยอริยา
8 พระบรรพจารย์ฮุ่ยเอวี่ยน
ท่านเถาเอวียนหมิงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายอำเภอทันที ท่านเขียนกวีบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ให้ชื่อว่า "กุยชวี่ไหลฉือ กลับไปมาลา" ในปีที่ธรรมชันษาของพระบรรพจารย์ได้แปดสิบสาม (ค.ศ. 416) เป็นวันพระหนึ่งค่ำ (ซูอี) เดือนแปดสุดท้ายในโลกสำหรับท่าน ท่านอาพาทหมดแรงกระทันหันสานุศิษย์ห้อมล้อมอยู่เต็ม ศิษย์หลายคนเป็นบุคคลสำคัญในสมัยนั้น รวมถึงแพทย์ผู้มีชื่อเสียง เมื่อแพทย์ปรุงยาให้ท่านฉัน ท่านพิจารณาดมดูก่อนเห็นว่ามีเหล้าเจือปนอยู่ด้วย ก็ปฏิเสธ ศิษย์ทุกคนพร้อมใจกราบวิงวอน ขอให้ท่านฉันเพื่อรักษาอาการอาพาธเถิด ท่านกล่าวว่า "อาตมาจะละเมิดศีลโดยเห็นแก่กายสังขารได้อย่างไร " แพทย์ไม่ละความพยายาม กราบเรียนถามท่านว่า จะเปลี่ยนเป็นเหล้าข้าวหมัก ท่านส่ายหน้าปฏิเสธ แพทย์กราบเรียนถามท่านใหม่ จะเปลี่ยนเป็นน้ำผึ้งผสมน้ำ ศิษย์ทุกคนก้มกราบอ้อนวอน จนสุดท้าย ท่านจึงกล่าวว่า "เอาละ ลองไปตรวจดูในพระวินัยปิฏกว่ามีบัญญัติอนุญาตหรือไม่" ศิษย์ทุกคนดีใจรีบไปตรวจค้นกันเป็นการใหญ่ แต่ยังไม่ทันค้นพบ พระอาจารย์ก้หลับตาละสังขารไปจากสานุศิษย์ ท่ามกลางบรรยายกาสอันระทึกใจนั้น คำโบราณกล่าวไว้ว่า "เดินย่ำผ่านคมมีดนั้นง่าย ยอมตายด้วยมโนธรรมนั้นยาก เต้าไป๋เหยิ่นอี้ ชงหยงจิ้วอี้หนัน " พระบรรพจารย์ได้ทำสิ่งยากให้สำเร็จ ได้จนถึงวินาทีสุดท้าย คติธรรมของท่านเริ่มจาก
"... ท่านไม่เพียงเป็นนักคิด แต่เป็นนักปฏิบัติด้วย..." ท่านได้สำแดงคุณแห่งพุทธศาสนา ไว้ด้วยความคิดและการปฏิบัติให้เห็นอย่างแท้จริง..."
ท่านได้สำแดงคุณแห่งความเป็นพุทธะไว้ทุกขณะทุกสถานการณ์ในชีวิต ท่นปฏิเสธลาภยศสรรเสริญ จากอ๋องฮ่องเต้โดยไม่หวั่นเกราอาญาบ้านเมือง...ท่านปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอยู่บนหลูซันอย่างสมถะ แม้แต่ลำธารหู๋ซีสายเล็กๆ สุดแนวเขตหลูซัน ท่านก็ให้เห็นเป็นกำแพงขวางกั้น
ท่านปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอยู่บนภูเขาหลูซันอย่างสมถะ ศีลวัตรที่ดูอย่างไม่สลักสำคัญอะไรนัก สำหรับท่านแล้ว ทุกอย่างเป็นพลังสร้างสมความมุ่งมั่น ยั่งยืน ในการเจริญธรรม บรรลุธรรมทั้งสิ้น สมควรที่เราศิษย์แห่งธรรมกาลยุคขาวจะเจริญรอยตาม
"ผิดวินัย แม้อยู่ได้ก็ต้องตาย
ถูกวินัย แม้ต้องตาย ก็ยืนยง
รอยเท้าที่ก้าวตาม งดงามทุกคืบวา
ประณตจรดบาทา อริยาผู้ไปดี
จบเล่ม