นักธรรม
ห้องสมุด "นักธรรม" => หนังสือ => คัมภีร์ => ข้อความที่เริ่มโดย: หนึ่งเดียว หลุดพ้น ที่ 20/09/2010, 08:25
-
ศึกษาคัมภีร์ ทางสายกลาง
โดย อนัตตา
เล่มที่หนึ่ง
บัณฑิตค้นหาภายในตัวเองจนพบ
แต่ปุถุชนค้นหาจากภายนอกชั่วชีวิตมิพบพาน
คำนำ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเบื้องบน บารมีธรรมของพระอาจารย์ - พระอาจาริณีและการส่งเสริมของนักธรรมอาวุโส ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้รับ "วิถีอนุตตรธรรม" หลังจากนั้น จึงได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ "คัมภีร์ทางสายกลาง" ซึ่งตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนคือการปฏิบัติธรรมที่ไม่เน้นหนักสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง แต่เมื่อมาศึกษาคัมภีร์ทางสายกลางของพระศาสดาขงจื้อ ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า จง - อยง จึงได้เกิดความเข้าใจหนทางสายกลางอันแท้จริงซึ่งมิใช่ของง่ายที่จะปฏิบัติได้เสมอเหมือนทุกคน "ทางสายกลาง" เป็นเรื่องของการปฏิบัติ มิได้บัญญัติไว้ในคัมภีร์เพื่อศึกษาหาความรู้เท่านั้น คัมภีร์ทางสายกลางเล่มนี้เป็นพระวจนะที่พระศาสดาขงจื้อนำเอาคัมภีร์โบราณ "หลี่จี้หรือจริยธรรม" มาสั่งสอนอบรมศิษย์ มีถ้อยคำสำคัญที่ใช้ให้เห็นว่า "ธรรมญาณ" ของมนุษย์มีรากฐานมาแต่ฟ้าเบื้องบน การรู้ต้นกำเนิดจึงรู้หนทางคืนกลับ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ "ทางสายกลาง" เป็นหนทางเดียวที่จะได้คืนกลับต้นรากกำเนิดเดิม ถ้อยคำที่พระศาสดาขงจื้อนำมาสั่งสอน ก็คือการถ่ายทอด "วิถีอนุตตระ" แก่ศิษย์ทั้งปวง ศิษย์ชั้นหลังเกรงว่าจะสูญหายจึงบันทึกไว้เรียกว่า "จง -อยง" ผู้เขียนอาศัยสติปัญญาอันน้อยนิด นำถ้อยคำเหล่านั้นมาอธิบายความเขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจทุกวันอาทิตย์ อาจมีข้อขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบหรือตรงต่อความหมายดั้งเดิมที่พระศาสดาขงจื้อต้องการ จึงขอให้ท่านผู้รู้เมตตาชี้แนะส่งเสริม อนึ่ง หนังสือเล่มนี้สำเร็จได้ด้วยการที่อาจารย์ "ศุภนิมิต" ได้นำพาและส่งเสริมให้ผู้เขียนได้ศึกษาวิถีอนุตตระ จึงขอขอบพระคุณไว้ในโอกาสนี้ นักธรรมรุ่นน้อง "พรทัต เจริญสันติวรกุล" ได้กรุณาตรวจทานต้นฉบับครั้งแรก และ คุณเมตตา กันคล้าย กับคุณพนิดา ลาภโชติไพศาล ซึ่งทางโลกเธอทั้งสองเป็นกัลยาณศิษย์ ในทางธรรม ถือเป็นกัลยาณมิตรได้ตรวจทาน - ช่วยเหลือ ในขณะที่ผู้เขียนมีอาการเจ็บป่วย ช่วยให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จสมบูรณ์แบบเป็นรูปเล่ม จึงขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
ขอให้ทุกคนจงเจริญในธรรม
อนัตตา
คัมภีร์ทางสายกลาง
พุทธศาสนิกชนคุ้นเคยกับคำว่า "" ทางสายกลาง "" และยึดถือเป็นวิถีอันถูกต้อง ตรงต่อสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ภายหลังที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แต่ความเข้าใจในสภาวะแห่ง "" ทางสายกลาง "" อันแท้จริงเป็นไฉนนับเป็นปัญหาที่ต้องถกแถลงกันให้กระจ่างชัดเพราะมีความเข้าใจผิดคิดว่า หนทางแห่งทางสายกลางเป็นวิถีชีวิตของปุถุชนทั่วไปที่ปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย ทางสายกลางเป็นอริยมรรค อันเป็นหนทางไปสู่ความเป็นพระอริยะเจ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทางสายกลางจึงมิได้ผูกขาดอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น พระอริยะเจ้าทุกพระองค์ย่อมปฏิบัติหนทางสายกลางด้วยกันทั้งสิ้น ปุถุชนเข้าใจความหมายแห่งทางสายกลางเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ไม่กระทำสิ่งใดสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งและมักกล่าวอ้างเสมอว่ากระทำให้ "" พอดี "" เป็นใช้ได้ "" พอดี "" กับอะไรล่ะ ถ้าพอดีแก่ใจตนเอง หาใช่ความพอดีไม่แต่เป็นความพอใจเสียมากกว่า เพราะด้วยเหตุนี้การปฏิบัติทางสายกลางของชนสามัญจึงไม่อยู่ในขอบเขต ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ การศึกษาเกี่ยวกับ ""ทางสายกลาง"" จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพราะอย่างน้อยเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าที่จะเพียงเสียงพูดออกจากปากว่าปฏิบัติตนตามทางสายกลางก็พอแล้ว เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นเพียงความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความสับสนในหนทางสายกลางที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในการศึกษาครั้งนี้ จะนำเอาคัมภีร์ทางสายกลางของบรมปราชญ์ขงจื้อ มาเป็นหลักด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้อยรจนาของศาสดาขงจื้อกับ "" ทางสายกลาง "" ของพระพุทธองค์มิได้มีความแตกต่างกันเลย คัมภีร์ "" ทางสายกลาง "" ของท่านขงจื้อเรียกว่า "" จง ยง "" พระพุทธองค์ทรงเรียกหนทางนี้ว่า "" มัชฌิมปฏิปทา "" แม้ภาษาพูดแตกต่างกันระหว่างพระศาสาดาทั้งสองแต่ความหมายแห่งการสอนนั้นกลับตรงกันโดยน่าอัศจรรย์นััน ถ้านับด้วยกาลสมัยพระศาสดาทั้งสองพระองค์ร่วมสมัยกัน แต่โดยภูมิศาสตร์อยู่ต่างกัน องค์หนึ่งสถิตบนแผ่นดินใหญ่ของจีนแต่อีกองค์หนึ่งอยู่ในชมพูทวีป แต่ที่ตรัสพระสูตรออกมามีความหมายอย่างเดียวกันนั้นย่อมสำแดงให้เห็นเป็นสัจธรรมว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมี อนุตตรภาวะเฉกเช่นเดียวกัน การสื่อสารในสมัยโบราณมิได้ทันสมัยเยี่ยงปัจจุบันเพราะฉะนั้นจึงเป็นประจักษ์พยานว่าทั้งสองพระองค์มิได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันเลย ศาสดาขงจื้อย่อมอ่านภาษาบาลีไม่ได้ พระพุทธองค์ก็ทรงอ่านภาษาจีนมิได้เช่นเดียวกัน ศาสดาขงจื้อ ท่านสอนคัมภีร์ทางสายกลางนี้โดยบอกว่า เป็นหลักธรรมที่สำคัญที่สุดในอันที่จะกลับคืนสู่ความเป็นพระอริยะพระพุทธองค์หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปเทศนาให้ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน คำเทศนาในครั้งนั้นเรียกว่า "" ธัมมจักรกัปปวัฒนสูตร "" ซึ่งมีความหมายคือ "" ทางสายกลาง "" เป็นธรรมะอันสูงสุดและเป็นหนทางแห่งความสำเร็จ เหตุที่พระองค์ตรัสรู้ว่า เป็นหนทางที่ถูกต้องที่สุดเพราะว่าในชมภูทวีปในขณะนั้นการแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์มีอยู่หลายแบบ เช่นหาความสุขทุกอย่างเพื่อให้ตนเองพ้นไปจากความทุกข์ อีกอย่างหนึ่งคือการทรมานตัวเองให้ได้รับความยากลำบากที่สุด เช่นอดอาหาร ฝังร่างกายในดิน บำเพ็ญทุกขกิริยา ทั้งสองหนทางนี้เป็นการบำเพ็ญแบบสุดขอบทั้งสองข้าง แม้ว่าโดยรูปแบบนั้นแตกต่างกันแต่โดยสภาวะแห่งจิตใจแล้วเหมือนกัน คือไม่รู้หนทางแห่งการพ้นทุกข์ ถ้าจะเปรียบไปแล้วคนที่จนที่สุดกับคนที่รวยที่สุดต่างมีความทุกข์เหมือนกัน คนจนขาดเงินสิบบาทเขาก็ทุกข์มากเท่ากับเศรษฐีขาดเงินร้อยล้านบาท ใครที่เอาเงินสิบบาทมาเทียบกับเงินร้อยล้านบาทแล้วต้ดสินว่าคนขาดร้อยล้านบาทย่อมมีทุกข์มากกว่าคนขาดสิบบาท เพราะเป็นเรื่องที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ที่คิดว่าเขาขาดเงินร้อยล้านบาทมีความทุกข์มากกว่าขาดสิบบาทเพราะเรานำจำนวนเงินมาเปรียบเทียบกัน มิได้นำเอาสภาวะจิตใจมาเทียบเคียงกัน เป็นการเปรียบเทียบที่ผิด เศรษฐีร้องไห้กับขอทานร้องไห้ต่างก็ทุกข์เหมือนกัน เศรษฐีหัวเราะกับขอทานหัวเราะ ความสุขเช่นนั้นก็เช่นเดียวกัน สภาวะจิตของคนทั้งสองแบบนั้นจึงเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้การบำเพ็ญธรรมะสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งจึงมิใช่หนทางแห่งความขจัดความทุกข์ได้เด็ดขาด พระพุทธองค์ได้ตรัสมัชฌิมปฏิปทาคือหนทางสายกลาง เพราะหนทางนี้มิได้บำเพ็ญตกขอบด้านใดด้านหนึ่งเลย การบำเพ็ญด้วยหนทางสายกลางนั้นสภาวะแห่งจิตใจย่อมรับได้ทั้งความดีและความชั่ว เช่นนี้จึงจักเรียกว่าเรามีหนทางสายกลางความแยบยลแห่ง " หนทางสายกลาง " นั้นมีอยู่มากมายนักและมิได้ง่ายอย่างที่ปุถุชนทั่วไปคิดเห็นแลปฏิบัติอยู่โดยเหมาเอาว่า กระทำการด้วย "" ความพอดี "" จึงเป็นหนทางสายกลางซึ่งล้วนแล้วแต่ตกไปอยู่ในขอบเขตของ "" ความพอใจ"" ทั้งสิ้น
-
เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาเพื่อโปรด ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี เราเรียกว่า ธัมมจักรกัปปวัฒนสูตร ซึ่งมีความหมายว่า เป็นพระสูตรที่หมุนกงล้อแห่งพระธรรม หรือแท้ที่จริงคือการเวียนธรรมจักร ในธรรมญาณของเรานั่นเอง ธรรมญาณมีความเคลื่อนไหวจึงเกิด " จิต " นับไม่ถ้วนและผลแห่งจิตนั้นเป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งที่มากระทบตามอายตนะหกที่รับเข้าไป
จิต แกว่งไปตามแรงของสิ่งยั่วยุ ทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตา เห็นในสิ่งที่ดี จิตก็ชอบ เห็นสิ่งไม่ปรารถนา จิตก็ไม่ชอบ
หู ได้ยินเสียงสรรเสริญก็ดีใจ ครั้นได้รับเสียงตำหนิติเตียนก็ไม่พอใจ ความยึดติดเช่นนี้เป็นไปตามอารมณ์ปรุงแต่งทำให้จิตไหวเอนไป และขาดปัญญาพิจารณาให้เห็นเป็นความจริง ว่าเรื่องอย่างเดียวกันทำไมจึงวินิจฉัยได้ผลออกมาไม่เหมือนกัน
พุทธองค์ตรัสถึงทางสายกลางเพื่อมิให้จิตของเราเบี่ยงเบนไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นหนทางที่ไม่มีการเปรียบเทียบ จึงไม่เกิดทุกข์ ใครที่สามารถทำให้จิตของตนเข้าใจถึงความสิ้นสุดของการเวียนว่ายไปมา ระหว่างความดีและความชั่วนั่นแหละ คือการเข้าสู่กระแสของ "" ทางสายกลาง "" อันเป็นความสุขสงบที่สุดของจิต
เมื่อปัญจวัคคีย์ทั้งห้าได้สดับการชี้แนะกระแสจิตได้เข้าสู่หนทางสายกลางจึงเข้าใจถึง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของจิตแลจึงเข้าใจในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค และเข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ของรูปลักษณ์ทั้งปวง อายตนะทั้งหกจึงไม่อาจไปล่อหลอกให้ธรรมญาณนั้นเกิดความหวั่นไหวได้ จึงเป็นการเข้าสู่กระแสทางสายกลาง
ทางสายกลาง จึงเป็นเสมือนหนึ่ง ธรรมะของฟ้า เพราะฟ้าไม่เคยเปรียบเทียบรังเกียจใครเลย ซึ่งตรงกับคัมภีร์ทางสายกลางของท่านขงจื้อ อันมีความหมายอย่างเดียวกันกับ มัชฌิมปฏิปทา
คัมภีร์ทางสายกลางของจีน มีมาก่อนท่านขงจื้อ ซึ่งท่านเรียกคัมภีร์นี้ว่า "" คัมภีร์จริยธรรม "" หรือ "" หลี่จี้ "" เมื่อท่านขงจื้อได้ศึกษาคัมภีร์นี้ จึงได้กล่าวว่า "" ทางสายกลาง "" หรือ จง ยง นั้นเป็นธรรมะของฟ้า สอนให้เรามีพลานุภาพของจิตใจยิ่งใหญ่เท่าฟ้า ทางสายกลางจึงเป็นธรรมะที่ปฏิบัติได้ยากที่สุด เพราะการรักษาสภาวะแห่งจิตมิให้เปรียบเทียบหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากอายตนะทั้งหกนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบากนัก เพราะกระแสของสิ่งมากระทบย่อมก่อกำเนิดพลังผลักดันให้จิตไหวเอนซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นไปตามอำนาจของอารมณ์สองกระแสคือ ดี และ ชั่ว อันเป็นธรรมดาของโลกที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพล ดี และ ชั่ว
แม้ในกายสังขารของคนเราก็มีทั้งพลังบวก และ ลบ ควบคู่กันไป แม้ในดวงจิตที่ธรรมญาณผลิตออกมา ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจ "" ดี "" และ "" ชั่ว "" ถ้าเอาความดีขับเคลื่อนไล่ความชั่วออกไป จึงเรียกว่า "" เวียนธรรมจักร์ "" แต่ถ้าความชั่วขับไล่ความดีออกไปจึงเรียกว่า เวียนไปสู่ความมืดบอด
เวลาสิ่งที่ไม่พอใจมากระทบแม้ปากบอกว่า " ใจเย็น " แต่ใจมิได้ทำตามที่ปากพูด เพราะเหตุนี้จึงกล่าวว่า ปากกับใจไม่ตรงกัน "" ปากพูดดี "" แต่ใจกำลัง " เดือดปุด ๆ สภาวะเช่นนี้จึงมิใช่ความเป็นกลาง
ท่านขงจื้อบอกว่า ธรรมะทางสายกลางเป็นธรรมะของฟ้า ถ้าพิจารณาคุณสมบัติของฟ้าซึ่งครอบคลุมทุกสิ่งอย่างเอาไว้และประทานทุกอย่างให้ทัดเทียมกัน โดยมิได้ลำเอียงแม่แต่น้อย หากใครทำให้สภาวะจิตใจเทียบเทียมฟ้เา ก็ย่อมมีพลานุภาพที่รักทุกคนและสรรพสิ่งเท่ากันหมด แม้คนนั้นจะร้ายกับเราเราก็ยังรักและเมตตาเขาได้ จิตเช่นนี้จึงหาได้ยากนักในมนุษย์ปุถุชน มีแต่คนที่ผิดหวังกลับโทษตำหนิฟ้า อย่างเช่นในยุคสมัยในสามก๊ก ตอนที่จิวยี่แพ้กลอุบายของขงเบ้งก่อนวายชีวิตยังแหงนหน้าตำหนิตัดพ้อต่อว่าฟ้า"" เทียน เซิง หยู เหอปี้ เซิง เหลียง ฟ้าเอยใยส่งจิวยี่มาเกิดแล้ว ทำไมจึงให้ขงเบ้งมาเกิดด้วยเล่า ""
แต่ไม่ว่าฟ้าจะถูกตัดพ้อตำหนิด่าว่าอย่างไร ฟ้าก็ไม่เคยโกรธแค้นตอบโต้ผู้ตำหนิเลย แต่ยังคงประทานทุกสิ่งอย่างให้เช่นเดียวกันกับผู้สรรเสริญพระคุณของฟ้า เพราะฉะนั้นจึงน่าเสียดายนักที่มนุษย์ในโลกนี้ไม่รู้ต้นกำเนิดของ "" ธรรมญาณ ""ว่าแต่เดิมนั้นมาจากฟ้าเบื้องบน และมีแต่ทางสายกลาง เท่านั้นที่จะดำเนินไปสู่จุดกำเนิดดั้งเดิมของต้นธาตุ ต้นธรรม ด้วยเหตุนี้ใครสามารถทำให้สภาวะดั้งเดิมปรากฏขึ้นมาได้จึงมีสภาวะแห่งจิตเหมือนฟ้า และย่อมได้รับความสุขสงบเพราะพ้นไปจากอิทธิพลครอบงำของสรรพสิ่งในโลกนี้
พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ปฏิบัติบนทางสายกลางอันชัดเจนที่สุดพระหฤทัยของพระองค์จึงยิ่งใหญ่เทียมฟ้า เมื่อหัวหน้าพราหมณ์ มาด่าว่าพระองค์ด้วยโทสะอันแรงกล้า พระพุทธองค์มิได้ตอบโต้เลย กลับแสดงธรรมให้สติแก่พราหมณ์ว่า ข้าวอาหารที่เลี้ยงดูแขกหากแขกมิได้รับประทานเจ้าของต้องรีบประทานเอง เฉกเช่นเดียวกับคำหยาบคายทั้งปวงคถาคตมิได้รับไว้เลย หัวหน้าพราหมณ์ได้สติ หลังจากดวงตาเห็นธรรม จึงมาสมัครเป็นศิษย์และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเบื้องปลาย ซึ่งเป็นผลมาจากการเวียนธรรมจักร์ในจิต ขับไล่ความหลงผิดหมดไปนั่นเอง
-
สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมี "" ที่มา "" และ "" ที่ไป "" ด้วยกันทั้งนั้นเพราะมีรูปลักษณ์ จึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการ"" เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลาย "" เป็นวงเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบ คัมภีร์ทั้งปวงของพระอริยะเจ้าก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้เฉกเช่นเดียวกัน
พระวจนะไม่ว่าจะออกมาเป็น " คำพูด " หรือ "" อักษร "" ล้วนแปรเปลี่ยนไปจากจุดมุ่งหมายอันแท้จริงที่พระศาสดาทรงประกาศ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะชนรุ่นหลังตีความตามความเข้าใจจากประสบการณ์ ความพอใจ คาดหมาย เดาเอาจากความคิดของตนเอง มีแต่ "" สัจธรรม "" เท่านั้นที่อยู่เหนือ อักษร และคำพูด อันเป็นของแท้ไม่มีการแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลาแสนนานเพียงใด อริยะมรรค หรือ ทางสายกลาง ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ จึงเป็น อกาลิโก อยู่เหนือกาลเวลา บุคคล สถานที่ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสัจธรรมได้เลย
คัมภีร์ "" จง-อยง "" หรือ ทางสายกลาง ของท่านศาสดาขงจื้อ ก็เช่นเดียวกัน จึงทำความเข้าใจว่า อักษร เป็นเพียงสื่อเพื่อให้ความหมายในขอบเขตอันจำกัดเท่านั้น
ท่านศาสดาขงจื้อ มิได้เขียนคัมภีร์ "" จง-อยง "" เพียงแต่นำหลักสัจธรรมนี้มาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ที่ชื่อว่า "เอี๋ยนหุย" การถ่ายทอดในครั้งนั้นจึงไม่แตกต่างไปจากพระพุทธองค์ทรงแสดง "" ปฐมเทศนาธัมมจักรกัปปวัฒนสูตร "" เพราะเป็นการถ่ายทอดหลักสัจธรรมของฟ้าดินซึ่งเป็นหนทางของพระอริยะเจ้า
ท่านเอี๋ยนหุย เป็นศิษย์ที่ท่านขงจื้อชื่นชมมากในฐานะเป็นผู้ล้ำเลิศด้วยปัญญา โดยมีคำกล่าวรับรองจากท่านศาสดาขงจื้อ ว่า "" ฟังคำพูดของอาจารย์เพียงหนึ่งคำ แต่มีความเข้าใจก้าวไกลไปถึงสิบคำ "" แต่ท่านเอี๋ยนหุยดำรงตนสมถะยิ่งนัก อยู่กระต๊อบเล็ก ๆ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ไม่แสวงหาลาภสักการะ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เนืองนิจ จนบรรดาศิษย์ด้วยกันอยากลองใจพิสูจน์ดู วันหนึ่งท่านเอี๋ยนหุยกลับมาถึงกระต๊อบก็แปลกใจ เพราะหน้าประตู แขวนทองคำแท่งหนึ่งพร้อมทั้งมีอักษรจารึกว่า "" ด้วยเห็นท่านเป็นคนดีมีคุณธรรม ฟ้าจึงประทานทองคำนี้เป็นรางวัล "" ท่านเอี๋ยนหุยเพียงแต่รำพึงกับตัวเองว่า "" ไม่มีคุณงามความดีอะไรสักหน่อย "" แล้วก็เดินเลยเข้าไปในกระต๊อบโดยไม่ใส่ใจต่อทองคำที่แขวนไว้
บรรดาศิษย์ทั้งปวงของท่านขงจื้อจึงยอมรับว่า ท่านเอี๋ยนหุย เป็นผู้ที่ดำรงตนสมถะอันแท้จริง ท่านจึงเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อ "" ทางสายกลาง "" แต่ท่านเอี๋ยนหุยอายุสั้นกลับคืนเบื้องบนเมื่ออายุ 32 ปี
ท่านขงจื้อร้องไห้ด้วยความเศร้าโศเเสียดายยิ่งกว่าบุตรแท้ ๆ ของท่านเสียชีวิต "" ท่านจื่อซือ ""อันเป็นหลานของท่านขงจื้อได้รับการถ่ายทอด "" ทางสายกลาง "" อันเป็นวิถีแห่งการบำเพ็ญจิต เกรงว่าคำสอนนี้จักสูญหายหรือผิดเพี้ยนจึงได้รจนาคำสอนดังกล่าวไว้เป็นคัมภีร์และได้มอบคัมภีร์นี้นี้ให้แก่ "" ท่านเมิ่งจื้อ "" ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งในภายหลัง ท่านเมิ่งจื้อก็เป็นปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงรองลงมาจากท่านขงจื้อ
คัมภีร์ทางสายกลาง ซึ่ง "" ท่านจื่อซือ "" รจนามีทั้งสิ้น 33 บท และมีเพียง "" บทแรกเท่านั้นที่เป็นคำสอนของท่านศาสดาขงจื้อโดยตรง "" นอกนั้นเป็นเรื่องของการยกเอาคำสอนของท่านขงจื้อมาอธิบายขยายความ
"" ทางสายกลาง "" เป็นหลักธรรมข้อเดียวที่สามารถขยายครอบคลุมสรรพสิ่งได้หมดสิ้นและเบื้องปลายของหลักธรรมนี้กลับย้อนคืนมาสู่หลักธรรมเพียงข้อเดียวอีก ท่านขงจื้อกล่าวว่า "" เมื่อนำหลักธรรมทางสายกลางวางลงไปก็มีอนุภาพแผ่ครอบคลุมจักรวาล แต่เมื่อหยิบหลักธรรมนี้ขึ้นมาก็ถูกเก็บเอาไว้ในที่มิดชิด ""
ความหมายแห่งพระวจนะนี้ชี้ให้เห็นว่า "" ทางสายกลาง "" เป็นหลักธรรมของฟ้่า เป็นอนุตตรภาวะที่สามารถก่อกำเนิดสรรพสิ่งได้ทั่วจักรวาล ถ้าจะนำเอาพระวจนะของท่านเหลาจื้อ ในคัมภีร์ "" เต๋า เต๋อ จิง "" มาอธิบายแล้วก็ได้ความว่า "" ธรรมะนั้นกว้างใหญ่ไพศาลจนหาขอบเขตที่สิ้นสุดมิได้ และเล็กจนหาเส้นผ่าศูนย์กลางไม่พบ ""
"" ทางสายกลาง "" จึงเป็นธรรมะอันเที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะใด ๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีสภาวะอันใดมีอิทธิพลจนเปลี่ยนแปลงทางสายกลางได้เลย ดังนั้นผู้ใฝ่การศึกษาธรรมะ หากได้เพียรพยายามศึกษาและไตร่ตรอง จนเกิดความเข้าใจอย่าวจริงจังแล้ว ย่อมได้รับความรู้มากมายจนประมาณมิได้และใช้ได้ไม่มีวันหมดสิ้น ที่เป็นดังนี้เพราะ "" ทางสายกลาง ""ได้รวบรวมสรรพสิ่งไว้จนหมดสิ้น ดังนั้นใครสามารถเข้าใจสภาวะหรือมีความเป็น "" ทางสายกลาง "" จึงมีความรู้ในสรรพสิ่งได้ เพราะทางสายกลางเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ที่เหนือความว่างใด ๆ
"" ความว่าง "" เช่นนี้มีความหมายเป็นไปตามนัยยะที่สามารถบรรจุทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ได้หมดสิ้น มิใช่เป็นการปฏิเสธ"" สิ่งดี และ สิ่งเลว "" ย่อมเดินอยู่บนทางสายกลางได้ทั้งสิ้น การปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วบอกว่าเป็นความว่าง สภาวะแห่งการปฏิเสธจึงมิใช่ความว่างอันแท้จริง
"" ความว่าง"" อันแท้จริง เป็นภาวะแห่งความสงบนิ่งจึง ไม่มา และ ไม่ไป และไม่ยอมหวั่นไหว กับสัมผัสทั้งปวงที่มากระทบ "" ทางสายกลาง "" จึงปราศจากความ "" เป็นมา และ ความเป็นไป ""
-
ตัวตนอันแท้จริงที่เรียกว่า "" ธรรมญาณ "" มีกำเนิดมาแต่แดนดิน "" สูญญตา "" ที่เรารู้กันว่าเป็นโลกุตรภูมิ ซึ่งธาตุเดิมปราศจาก "" อารมณ์ "" และอารมณ์เกิดจากอะไรเล่า ? เพราะอนุตตรญาณมาอาศัยอยู่ในโลกนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กายสังขารของมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยอายตนะหกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งอยู่ในภาวะเป็นคู่
ความเป็น "คู่" นี้หมายความว่า เป็นพลังบวก และ ลบ พลังทั้งสองมีปฏิกิริยาต่อกันจึงเกิดภาวะแห่ง อารมณ์ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า อารมณ์เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ส่วนดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับสัญญาความเคยชินปรุงแต่งขึ้นมา
ครั้งหนึ่ง อาจารย์พร้อมทั้งลูกศิษย์ทั้งสาม อาศัยอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งเพื่อบำเพ็ญปฏิบัติธรรมให้ภาวะจิตพ้นไปจากเครื่องผูกพันของอายตนะหก น้ำกินน้ำใช้บนสำนักหมดแล้วจำเป็นต้องลงจากภูเขาไปตักน้ำที่ลำธารเชิงเขามาใส่ตุ่ม ลูกศิษย์ใหม่ล่าสุดเป็นผู้ที่เดินลงไปตักน้ำ ครั้นโผล่พ้นยอดหญ้าริมลำธารก็ต้องตกตะลึงตัวแข็งเพราะในลำธารน้ำใสแจ๋ว มีหญิงสาวอนงค์หนึ่งเปลือยกายแหวกว่ายอยู่อย่างสำราญ ลูกศิษย์ใหม่ไม่อาจกระทำอะไร ได้แต่ยืนดูตาค้าง อาจารย์รอน้ำอยู่เป็นเวลานาน จึงใช้ให้ลูกศิษย์กลางเก่ากลางใหม่ลงจากภูเขาไปตาม พอเดินมาถึงเห็นลูกศิษย์ใหม่ยืนตาค้าง มองตามสายตาไปพบภาพอันน่าตื่นตะลึง จึงปิดตาเสีย แต่นึกอีกทีน่าเสียดายนักอดใจมิได้จึงลืมตาดู แต่พอได้สติว่าเป็นภาพไม่สมควรดู ลูกศิษย์กลางเก่ากลางใหม่จึงยืนหลับตาเปิดตาอยู่อย่างนั้น อาจารย์จึงยังไม่ได้น้ำ จึงใช้ให้ลูกศิษย์เก่าลงจากภูเขาไปตามเห็นอาการของสองศิษย์เป็นเช่นนี้จึงแลลงไปตามสายตาก็อดสูใจนัก ศิษย์เก่าเห็นว่าเป็นเรื่องน่าบัดสีนักดูมิได้ จึงนั่งสมาธิหลับตาเสีย
อาจารย์ผู้บำเพ็ญดีเห็นท่าไม่ได้เรื่องจึงตัดสินใจลงไปตามทั้งสามศิษย์ ครั้นเห็นอาการของทั้งสามศิษย์จึงฉวยเอาถังตักน้ำลงไปตักน้ำในลำธารแล้วเดินขึ้นภูเขาไปโดยส่งเสียงบอกศิษย์ทั้งสามว่า "" โธ่เอ๊ย อีกาว่ายน้ำตัวเดียวเท่านั้น ""
เรื่องราวนี้พอเป็นที่เปรียบเทียบให้รู้ว่า ภาวะจิตของศิษย์ทั้งสามมิได้อยู่ในทางสายกลาง แต่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหยื่อภายนอกที่เข้ามาปรุงแต่งภาวะแห่ง "" จิต "" ฟุ้งซ่านไปตามสัญชาติญาณดั้งเดิมที่สั่งสมเอาไว้หลายชาติ
อารมณ์ที่เกิดขึ้นจึงควบคุมจิตติดตรึงอยู่กับเหยื่อจึงไม่อาจทำการงานได้เลย แม้ศิษย์เก่าที่นั่งหลับตาทำสมาธิก็เพียงควบคุมอารมณ์ของตนเองไว้เท่านั้น ส่วนอาจารย์ผู้ละวางได้ อยู่ในทางสายกลางจึงเห็นสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นเดียวกันมิได้แยกแยะเปรียบเทียบให้เกิดเป็น พลัง บวก หรือ ลบ ทำลายภาวะธาตุแท้ธรรมญาณของตนเอง
ศิษย์เหล่านั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความรู้อันเป็นตัณหาราคะที่ได้สั่งสมมา ในคัมภีร์ทางสายกลางบทแรกซึ่งเป็นคำสอนของท่านขงจื้อกล่าวเอาไว้ว่า ธรรมญาณเดิมแท้ที่มาจากต้นธาตุต้นธรรม เรียกว่า "" อนุตตรญาณ "" ความสูงส่งแห่งธรรมญาณนี้เทียบเท่าได้กับฟ้าดิน มีอานุภาพแห่งการจำแนกแยกแยะได้เองโดยมิต้องอาศัยความรู้
พลานุภาพแห่งธรรมญาณนี้จึงมีปัญญาเป็นคุณสมบัติสำคัญและปัญญานี้ต้องมีฐานกำเนิดมาจากความว่างอันแท้จริงซึ่งเป็นทางสายกลางอยู่ในตัวเองแล้ว แต่มนุษย์ปุถุชนลืมเลือนความเป็นทางสายกลางของตนเองโดยสิ้นเชิงเพราะเหตุนี้จึงเชื่อว่า การเรียนรู้เป็นการเพิ่มพูนปัญญาของตนเอง แท้ที่จริงการเรียนรู้สิ่งใดล้วนเป็นการเพิ่ม " ความจำ " ให้แก่ตนเองทั้งสิ้น การเริ่มต้น " คิด " ย่อมต้องมาจากฐานแห่งความ " ว่าง " ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการขับเคลื่อนรถยนต์การเข้าเกียร์หนึ่งย่อมเริ่มต้นจากเกียร์ว่าง แม้ไปถึงเกียร์สอง สาม สี่ ห้า ย่อมหวนลับมาสู่จุดเริ่มต้นของ เกียร์ว่าง ฉันใดก็ฉันนั้น
ดังนั้นหาก ""ธรรมญาณ "" แท้ไม่ว่างเสียแล้ว "" ความคิด "" ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน "" ปัญญา "" จึงมีฐานแตกต่างจาก"" อารมณ์ "" อารมณ์ มีฐานที่มาจาก "" ความมี "" เช่นเหยื่อที่มากระทบอายตนะทั้งหกจึงสร้างความมีขึ้นมา จึงมีทั้งดีและชั่ว ผู้ที่ใช้อารมณ์จึงมิได้มีโอกาสแยกแยะสิ่งใดเลย พฤติกรรมทั้งปวงจึงขับเคลื่อนไปตามแรงอารมณ์อันตนเองสร้างขึ้นมา
การแบ่งแยกบุคคลจึงมีหนทางอยู่ตรงนี้ หากประพฤติเยี่ยงเดียวกับคนใช้อารมณ์หรือตกเป็นทาสอารมณ์ย่อมเป็นปุถุชนแท้ส่วนผู้ใช้ "" ปัญญา "" อันแท้จริงย่อมอยู่ในหนทางแห่งทางสายกลางจึงกล่าวได้ว่าโดยธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ มนุษย์มีทางสายกลางอยู่แล้วเพียงแต่มิได้นำเอาพลานุภาพนี้มาใช้ให้เป็นคุณแก่ชีวิตและสรรพสิ่งนั่นเอง
-
ในสามโลกนี้ไม่มีอะไรสูงส่งเท่า "" อนุตตรญาณ "" ของมนุษย์อีกแล้วเพราะสามารถแปรเปลี่ยนได้ทุกสิ่งอย่าง สร้างสรรค์ได้มากมายด้วยปัญญาอันสูงส่งนั่นเอง บรรดาสัตว์นรกย่อมได้รับความทุกขเวทนาที่ตนเองได้สร้างสมเอาไว้ "" ธรรมญาณ "" นั้นจึงไม่มีโอก่สได้ใช้ปัญญาเลย
แม้เทพเทวาในโลกสวรรค์ต่างติดอยู่ใน " ความสุข " จนลืมเลือน " ธรรมญาณ "ของตน จึงมิรู้ว่ายังมี " อนุตตรญาณ " อันเป็นปัญญาสูงสุดได้เพราะเหตุนี้ มนุษย์จึงมีโอกาสพ้นจากการเวียนว่ายกลับคืนสู่ต้นรากกำเนิดเดิมของตนเองคืออนุตตรภูมิ
เทพเทวาจึงอิจฉามนุษย์นัก เพราะเทพเทวาจุติเมื่อใดก็มีโอกาสตกลงเกิดกายเป็นมนุษย์ หรือสัตว์นรก หรือเดรัจฉานได้อีกตามวิบากกรรมที่ตนเองสร้างเอาไว้และยังชดใช้ไม่หมดสิ้น แต่มนุษย์มีทางเลือกได้มากกว่าเทพเทวาเพราะหากใช้ปัญญาเข้าสู่หนทางทางสายกลางได้ย่อมพ้นไปจากเวียนว่ายเข้าสู่อนุตตรภูมิคือแดนนิพพานได้
พระพุทธองค์ทรงค้นพบหนทางนั้นและได้บัญญัติเอาไว้เป็น " ทางสายกลาง " ซึ่งในชั้นหลังแยกแยะออกมาว่าเป็น มรรค มีองค์แปดอันหมายว่าหนทางนี้มีองค์ประกอบอยู่ 8 ประการ
1 . สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ
2 . สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3 . สัมมาวาจา วาจาชอบ
4 . สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
5 . สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
6 . สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
7 . สัมมาสติ ตั้งสติชอบ
8 . สัมมาสมาธิ มีสมาธิชอบ
ความเข้าใจผิดที่ปรากฏอยู่ทั่วไปสำหรับพุทธศาสนิกชนก็คือ การไม่กระทำการใดสุดโต่งไปข้างหนึ่งถือว่าอยู่ในเส้นทางสายกลางถือ เช่น ชายคนหนึ่งเลี้ยงชีพตนเองด้วยอาหารเนื้อสัตว์วันละสามมื้อ มีความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่มิได้อยู่บนหนทางแห่งทางสายกลางเพราะฉะนั้นจึงเปลี่ยนแปลงเป็น มื้อกลางวันเป็นอาหารมังสวิรัติถ้าประพฤติเช่นนี้มิใช่หนทางสายกลางอย่างแท้จริง เพราะเรื่องอาหารเลี้ยงชีวิตเป็นของกาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีรูปลักษณ์ทั้งปวงจึงมิใช่หนทางสายกลาง เพียงแต่สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงมีชีวิตอยู่ได้ด้วย " ความเป็นกลาง " หล่อเลี้ยงเอาไว้ต่างหากเช่นกระดานหกมีจุดศูนย์กลางที่จะทำให้กระดานนี้สามารถทรงตัวอยู่ในแนวระดับเดียวกันได้แต่มิได้หมายความว่า กระดานหกนั้นมีความเป็นกลาง เพียงแต่จุดกึ่งกลางต่างหากที่ทำให้กระดานนั้นคงอยู่ในสภาพเท่ากันหรือสมดุลกัน
คนในโลกนี้ที่ไม่เข้าใจหนทางสายกลางจึงพูดกันติดปากเพียงเพื่อความสบายของตนเองที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งที่ตนเอง พอใจและไม่พอใจเท่านั้นเอง จึงมิได้เดินอยู่บนหนทางสายกลางอันแท้จริง
นอกจากนี้องค์ประกอบ 8 ประการของทางสายกลาง ก็มิใช่เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจึงสำเร็จอยู่บนหนทางสายกลางก็หาไม่แต่เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติไปพร้อมกัน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมิใช่ทางสายกลางตามที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ถ้าหากแยกแยะกันถึงคำว่า " ชอบ " นั้นมีความหมายกว้างไกลแค่ใหน " หลวงพ่อครับ ผมมีอาชีพล่าสัตว์ขาย เป็นอาชีพที่ถูกต้องไหมครับ " ประสกคนหนึ่งถามหลวงพ่อ " โยมมิได้ทำผิดกฏหมายมิใช่หรือ เราจำเป็นต้องมีอาชีพเลี้ยงตนเองอย่างนี้ไม่ผิดหรอกโยม " การวินิจฉัยเพียงแค่นี้เรียกว่าเอากฏหมายบ้านเมืองมาเป็นบรรทัดฐานแต่ในทางสายกลางมิได้เป็นเช่นนี้ เพราะการประกอบอาชีพเช่นนี้เป็นการเอาชีวิตเขามาเลี้ยงชีวิตเรา ถือเป็นผู้เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่น " เอ๊ะ เบียดเบียนตัวเองอย่างไร " " อ้าว ก็ทำให้จิตญาณของตนต้องตกต่ำสู่เดรัจฉานภูมิในชาติต่อไปมิเป็นการเบียดเบียนตัวเองหรื "
ความชอบ ทั้งแปดประการนี้ย่อมต้องชอบต่อสัจธรรม แม้บางคนกล่าวว่าตนเองมีวาจากับใจตรงกันเพราะฉะนั้นจึงกล่าวออกมาจากใจจริงมิได้ซ่อนเร้นอำพรางแต่ประการใด " ถ้าจิตใจมีแต่ความชั่ว วาจาที่ออกมาย่อมชั่วด้วยมิใช่หรือ " " วาจาที่ชอบ ที่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นไปตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน "
เพราะฉะนั้นทางสายกลาง ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้จึงเป็นหนทางของ " จิต " มิใช่หนทางของ " กาย " และประการสำคัญหนทางนั้นเป็นหนทางของ " ธรรมญาณ " อันมีคุณสมบัติเป็น ทางสายกลาง อยู่แล้วโดยมิต้องสงสัย
หนทางทั้ง 8 ประการ เป็นเพียงวิธีปฏิบัติแต่มิได้หมายความว่า ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วถึงซึ่งความเป็นกลางก็หาไม่
ธรรมญาณ หรือ อนุตตรญาณ จึงอยู่เหนือหนทางทั้ง 8 ประการนี้ เพราะโดยสภาพแห่งความเป็นของตนเองมีความเป็นกลางอยู่แล้วโดยมิพักต้องเดินไปถึงแต่ประการใดเลย
-
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในโลกนี้มีสาเหตุมาจาก ไม่มีความพอดี และความพอใจ และกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาถาวรของโลกนี้ เพราะแต่บรรพกาลมาจนถึงปัจจุบันสมัย คนในโลกก็ยังคงรักษาสถานภาพเช่นนี้เอาไว้เป็นชนส่วนใหญ่ของโลก สันติภาพอันแท้จริงจึงไม่เคยเกิดขึ้น มนุษย์โลกจึงเดินไปสู่เส้นทางแห่ง หายนะ ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหายนะภัยของตนเอง ต่างเดินไปสู่ความวิบัติด้วยความไม่รู้ตลอดเวลา
ขอเพียงมนุษย์รู้จัก " พอ " ให้ตรงตามหลักสัจธรรม สันติภาพความสงบสุขแห่งตนจะเกิดขึ้นทันที ถ้าแยกแยะอักษรสองตัวนี้แล้วจะเห็นความแยบยล
" พอ " ประกอบไปด้วยอักษร " พ " และ " อ " " พ " ตัวแรกหมายถึง " พุทธะ " คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หมายถึงความรู้และความเป็นตรงต่อหลักสัจธรรม และหลักสัจธรรมอันแท้จริงคือ " ทางสายกลาง "
มีบางคนอันเป็นส่วนใหญ่ รู้แต้เพียงอักษรแต่จิตใจปฏิบัติไม่ได้ จึงได้รับแต่ขนานนามว่า " พุทธะแต่ปาก
" อ " อักษรตัวนี้หมายถึง " อุปาทาน " คือการยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นภาวะที่พ้นไปจากทางสายกลางอย่างแท้จริง
ถ้ามีแต่การยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะเป็น รูปลักษณ์ หรือไร้รูป ย่อมไม่พบความเป็นพุทธะและไม่อาจเข้าถึงทางสายกลางได้โดยนัยกลับกัน ถ้าต้องการเข้าถึงความเป็นพุทธะ เข้าถึงทางสายกลางย่อมต้องละ ความยึดมั่นถือมั่น ลงไปให้ได้
ความไม่รู้จักพอย่อมก่อบาปและหนี้สินเวรกรรมไม่จบสิ้น ดังชาดกเรื่องหนึ่งซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นจริง ในกรุงพาราณสี แคว้นกาสี มีครอบครัวหนึ่งเป็นพราหมณ์ มีลูกสาวสามคนชื่อ นันทา นันทาวดี และสุนทรีนันทา เมื่อพราหมณ์ อันเป็นหัวหน้าครอบครัวถึงแก่กรรมแล้ว ครอบครัวสามแม่ลูกได้รับความทุกข์ยากสารพัดที่จะเอ่ย แม้ลูกสาวแต่งงานไปแล้วในที่สุดก็ต้องกลับมาอยู่กับแม่ สี่ชีวิตมีแต่ความทุกข์รุมเร้า วันหนึ่งมีพญาหงษ์ทองบินมาเกาะอยู่ที่ท้ายครัวแล้วเปิดเผยความลับใ้ห้สี่แม่ลูกได้ทราบความจริงว่า ในอดีตชาติของตนได้เกิดมาเป็นคนและเป็นหัวหน้าครอบครัว ครั้นตายแล้วด้วยผลบุญที่สั่งสมไว้จึงมาเกิดกายเป็นพญาหงษ์มีขนสีทอง ถ้านำไปขายก็ยังชีพได้ พญาหงษ์ทองต้องการช่วยเหลือครอบครัวตนจึงสลัดขนให้หนึ่งขนแล้วบินจากไป
ครอบครัวพราหมณีหม้ายก็ได้อาศัยขนทองของพญาหงษ์เลี้ยงชีพมีความสุขขึ้นทันตาเห็น แต่แล้ววันหนึ่ง นางพราหมณีก็ปรารภกับลูกสาวว่า " พ่อเจ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน หากวันใดไม่มาหาเราก็คงได้รับความยากลำบากอีก อย่ากระนั้นเลยมาคราวนี้แม่จะจับเอาไว้เลยแล้วถอนขนให้เกลี้ยงเลยดีไหม " แม้ลูกสาวคัดค้านอย่งไร แม่พราหมณีก็หาได้ฟังไม่ ดังนั้นเมื่่อพญาหงษ์ทองมาถึงจึงจัดการถอนขนออกจนหมด แต่ปรากฏว่าขนที่ถอนมานั้นได้กลายเป็นขนนกธรรมดา ไม่อาจนำไปขายแลกเงินได้เหมือนอย่างเคย เมื่อพญาหงษ์ทองปีกขนขึ้นดังเดิมแล้วจึงบินกลับไปอยู่ที่ของตนและไม่ยอมกลับมาเยี่ยมครอบครัวของตนอีกเลย นางพราหมรณีและลูกสาวจึงกลับยากจนต้องเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างต่อไป
ชาดกเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การเดินอยู่บนเส้นทางสายกลางย่อมต้องกระทำชอบหรือตรงต่อหลักสัจธรรม นั่นหมายถึงการละ วาง อุปาทาน ความยึดมั่นลงไปได้โดยไม่หลงเหลือในจิตเลย ภาวะเช่นนี้จึงเป็นกลางอย่างแท้จริง
ศาสดาขงจื้อ ท่านจึงมีพระวจนะเอาไว้ว่า การปฏิบัติตามแนวทางของอนุตตรญาณจึงเรียกว่า " ธรรมะ " แนวทางแห่งอนุตตรญาณนั้นเป็นไฉน ความสูงสุดของวิถีอนุตตร ก็คือทางสายกลางนั้นเแอง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันแท้จริง จึงต้องเข้าสู่ภาวะแห่งความเป็น อนุตตตรภาวะ
ผู้ที่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ พูดธรรมะ ยังมิใช่ผู้ที่เข้าถึงอนุตตรภาวะ เพราะภาวะเช่นนี้ย่อมไม่อาจอธิบายให้ใครได้รับรู้ได้เลย ธรรมะจึงเป็น " ปัจจัตตังเว " รู้ได้เฉพาะตน ไม่อาจอธิบายให้ใครได้รับรู้ได้เลยและที่พยายามอธิบายกันนั้นก็เป็นเพียงการชี้แนะหนทางให้แต่ละคนไปปฏิบัติเองเพื่อเข้าถึงด้วยตนเอง
อาการของ " จิต " ที่ไหลเลื่อนออกมาจากอนุตตรญาณ ถ้าสามารถรักษาภาวะธาตุแท้ความเป็นกลางเอาไว้ได้ย่อมพ้นไปจากเหยื่อร้ายทั้งปวงที่จะมาทำร้าย ธรรมญาณ ของจนเอง เพราะเหตุนี้ผู้ที่เดินบนเส้นทางสายนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีธรรมะและธรรมะทางสายกลาง ย่อมไม่ปฏิเสธสิ่งใดและรับสิ่งใดเอาไว้ให้นอนเนื่องอยู่ในธรรมญาณของตน เพียงแต่เป็นช่องทางให้ผ่านเข้าและออกเท่านั้นเอง ความพอดีของทางสายกลาง ย่อมก่อให้เิกิดความพอใจในทุกสภาวะ และนั่นคือหนทางของพระพุทธะส่วนปุถุชนไม่มีทั้ง "" พอดี และจึง ไม่พอใจ ""
-
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงทรมานพระวรกายด้วยการบำเพ็ญทุกขกิริยากลั้นลมหายใจ อดอาหารจวนเจียนจะถึงซึ่งความแตกดับของกายสังขาร ตามตำนานของศาสนาพุทธหินมยานกล่าวว่า พระอินทร์ได้ดีดพิณสามสาย สายหนึ่งขึงจนหย่อนยานดีดไม่เป็นเสียงเพลง สายหนึ่งขึงและขันจนตึงเปรี๊ยะดีดทีเดียวพิณสายขาดดังผึง สายหนึ่งขันพอดี ๆ ดีดจึงเป็นเสียงเพลงอันไพเราะ
พระพุทธองค์ทรงได้สติและรู้ว่าการบำเพ็ญปฏิบัติต้องดำเนินวิถีแห่งทางสายกลาง จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยากลับมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ และในที่สุดพระองค์จึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ดี รู้ชอบ แต่บัดนั้น บรรดาผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมในชั้นหลังเข้าใจผิดเพี้ยนว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้อริยสัจสี่ประกอบไปด้วย
ทุกข์ หมายถึง สิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ลำบากตรากตรำ เศร้าหมอง
สมุทัย หมายถึง เหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง
นิโรธ หมายถึง ค้นหาวิธีแก้ทุกข์
มรรค หมายถึง หนทางแห่งความดับทุกข์
ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่องแปลกประหลาดจนพระพุทธองค์ต้องทรงบำเพ็ญถึงหกปี จึงค้นพบสิ่งที่มีอยู่และดำรงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ย่อมเหนือกว่าสภาวะอริยะสัจสี่จึงสามารถดับ อริยะสัจสี่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้จึงเป็น " ความเป็นกลาง " อันเป็นคุณสมบัติของ " ธรรมญาณ " มิใช่ " หนทาง "หากพระพุทธองค์มิได้ตร้สรู้เช่นนี้ก็ไม่อาจดับทุกข์ได้เลย ถ้าเปรียบไปแล้วก็เสมือนหนึ่ง ถ้ำที่เต็มไปด้วยอัญมณี และมีเส้นทางอยู่สามสาย ทางซ้าย และขวาเลยปากถ้ำ มีแต่ทางตรงกลางเท่านั้นที่ตรงปากถ้ำพอดี แม้พระพุทธองค์ทรงพบอัญมณีแล้วอธิบายว่า อัญมณีนั้นมีความวิเศษอย่างไร แต่คนชั้นหลังก็ยังติดตรึงอยู่แต่หนทาง จึงไม่อาจเข้าใจความวิเศษแห่งอัญมณีนั้นได้เลย
" ธรรมญาณ " อันเป็น " ตัวจริง " ของมนุษย์นั้นมีความเป็น " กลาง " อยู่แล้วแต่เพราะอาการไหลเลื่อนไปซ้าย ขวา จึงก่อทุกข์ได้แก่ทุกผู้คนที่ไปหลงยึดติดเอาไว้ การค้นหาวิธี ดับทุกข์ จึงเป็นเรื่องของ " ธรรมญาณ " โดยตรง ซึ่งเปล่งอานุภาพแห่งความเป็น " กลาง " ออกมาได้เมื่ิอไรย่อมหมดทุกข์ทันที เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของ " ปัญญา " อันที่จริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ มัชฌิมปฏิปทา จึงเป็นเพียงอาการของ " ธรรมญาณ " ซึ่งเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ตามตำนานของพระพุทธศาสนามหายานได้กล่าวถึง การบรรลุธรรมของพระพุทธองค์ว่า ภายหลังอาการทุกข์ทรมานจวนเจียนดับกายสังขาร หญิงแม่ลูกอ่อนช้อนพระเกศาและปรนนิบัติพระพุทธองค์ประหนึ่งมารดาดูแลบุตรฉะนั้น
พระพุทธองค์ทรงแลเห็น " เมตตา " ของหญิงคนนั้น อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าเด็กเลี้ยงแกะ กำลังยื่นกะลาใส่นมแพะถวายพระพุทธองค์ แต่กลับทูลว่า " ข้าพเจ้าเป็นจัณฑาล กะลานี้ก็ของจัณฑาล ท่านเป็นกษัตริย์จะกล้าดื่มหรือ " ความหิวมิได้แยกแยะว่าเป็นขอทาน จัณฑาล หรือกษัตริย์ " ตำนานทั้งสองนิกายล้วนสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่า พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า " อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ " อันเป็น ปัญญา ยิ่งใหญ่ที่มีอยู่แล้วในทุกผู้คน และหนทางแห่งการค้นพบแม้ตำนานหนึ่งกล่าวถึงพิณสายกลาง อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึง เมตตา อันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคน
"" ปัญญาที่ยิ่งใหญ่เทียมฟ้าเป็นไฉน "" แม้ปัญญาแยกแยะดีหรือชั่วได้ แต่กลับไม่รังเกียจ กลับปฏิบัติต่อ ดีและชั่วเสมอกัน จึงได้ชื่อว่าเป็น " มหาเมตตา " เพราะไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อด้วยความพอใจหรือไม่พอใจของตนเอง ดังนั้น ปุถุชนผู้ไม่เข้าใจทางสายกลาง จึงปฏิบัติตนตามความพอใจ และอ้างว่าเป็นไปตามธรรมชาติ
ทางสายกลาง จึงไม่ต้องกระทำอะไรเลยจะได้ไม่ก่อกรรมให้เกิดผลเวียนว่ายใช่ไหม " นับเป็นความเข้าใจผิดชนิดหนึ่ง ถ้าทางสายกลางปฏิบัติง่ายเช่นนี้ คนปัญญาอ่อน ย่อมปฏิบัติทางสายกลางได้ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ทางสายกลางเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่เที่ยงตรงต่อธรรมญาณไม่เอนหรือไหวไปตามอิทธิพลของอายตนะหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การปฏิบัติเช่นนี้จึงไม่ก่อหนี้สินเวรกรรม ให้แก่ตนเองและผู้อื่น และการกระทำเช่นนี้จึงเรียกว่า เป็นหนทางแห่งธรรมะ
ถ้านั่งเฉย ๆ ไม่ยอมรับรู้เหยื่อมากระทบ เหตุใดจึงรู้ว่า " ธรรมญาณ " ของตนไหวเอนไปตามอิทธิพลของเหยื่อหรือไม่ การนั่งหลับตาทำสมาธิ จึงมิใช่หนทางแห่งการปฏิบัติธรรม แต่เป็นการพักผ่อนจิตอันแสนเหน็ดเหนื่อยชั่วคราวเท่านั้นเอง หนทางแห่งการปฏิบัติธรรมจึงมิได้ขึ้นต่อรูปลักษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับอาการสั่นไหวของ " ธรรมญาณ " เท่านั้น
-
ในร่างกายของมนุษย์มี " ตัวจริง " อันเป็น " สัจธรรม " ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงสูญหายไปเลย ไม่ว่าจะมีอะไรมาเป็นปัจจัยทำลายล้าง ก็ทำลายไม่ได้ " ตัวจริง " นี้ ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า " วิญญาณ "
" ตัวจริง " นี้ ภาษาธรรมะเรียกว่า " ธรรมญาณ "
ญาณ คืออะไร ปรีชาหยั่งรู้ กำหนดรู้ แต่เพราะมนุษย์มิได้รู้จัดตัวเองจึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับ ธรรมญาณ เอาเสียเลย พระพุทธองค๋ทรงเรียนรู้และจัดการกับตัวเองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น พระองค์จึงเป็นผู้รู้แจ้งในหมื่นโลกธาตุ
ความคิดที่ว่า วิญญาณ หรือ ธรรมญาณ นั้นทำลายมิได้แฝงอยู่ในความคิดของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เช่น การแต่งเรื่อง แม่นาคพระโขนง อันแสดงความร้ายกาจของ ผีแม่นาค การปราบผี หมอผี ก็เพียงแต่ใช้คาถาอาคม เรียกวิญญาณลงหม้อและใช้ผ้ายันต์ปิดปากหม้อนำไปถ่วงทะเลเท่านั้น หมอผีไม่อาจฆ่าวิญญาณแม่นาคได้ ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้หม้อแตกวิญญาณของแม่นาคจึงสามารถกลับมาอาละวาดได้อีก
ธรรมญาณ มาแต่ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่มีคุณสมบัติความดีงามพร้อมอยู่แล้วถึง ห้าประการ ดังนี้
1 .เหยิน เป็น ความเมตตา
2. อี้ เป็น มโนธรรมสำนึก
3. หลี่ เป็น จริยธรรม
4. จื้อ เป็น ปัญญาธรรม
5. ซิ่น เป็น สัตยธรรม
ความดีงามทั้งห้าประการนี้มีอยู่เท่ากันและพร้อมที่จะสำแดงอานุภาพออกมาเหมือนกันหมด ขุนโจรคนหนึ่งมีจิตใจเหี้ยมเกรียมนัก เคยฆ่าแม้กระทั่งเด็กทารก วันหนึ่งเดินทางไปริมแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง พลันก็ได้ยินเสียงตะโกนร้องขอความช่วยเหลือว่า " เด็กตกน้ำ " ขุนโจรเหี้ยมคนนั้นรีบวิ่งด้วยความรวดเร็วพร้อมที่จะกระโดดลงไปช่วยชีวิตเด็ก แต่เผอิญผ่านหน้ามารดาของเด็กได้ยินเสียงร้องเตือนว่า " เร็ว ๆ ช่วยลูกชั้นด้วยให้หมื่นหนึ่ง " ขุนโจรชะงักทันทีหันมาถามว่าจะเอาเป็นหรือจะเอาตาย แม่ของเด็กย่อมต้องเพิ่มราคาทันทีเป็นสองสามเท่าตัว ขุนโจรจึงกระโดดลงไปช่วยเด็กเพื่อรับรางวัล
ในช่วงจังหวะที่ขุนโจรใจเหี้ยมกำลังวิ่งออกไปนั้นน กระทำไปด้วยความรักและเมตตาอันบริสุทธิ์ที่มีอยู่แล้วใน ธรรมญาณ ตามธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ทุกคน แต่พอเสียงเงินมากมายมากระทบอายตนะ คือ หู ความโลภก็ย่อมครอบงำธรรมญาณ
ทันที การกระทำตอนหลังจึงกระทำไปด้วย " จิตโลภ " แต่เพียงสถานเดียว
การวิ่งด้วยกำลังของเมตตาธรรมนั้นกระทำไปด้วยหนทาง "สายกลาง" โดยแท้อันเป็นความรักความเมตตมอันยิ่งใหญ่เทียมฟ้าดินที่ต้องการให้สรรพสิ่งปราศจากภัยและอยู่อย่างมีความสุข
ขุนโจร ขณะนั้น ไม่รู้จักเด็ก และไม่คิดว่าจะรับเงินรางวัลหรือกระทำไปด้วยต้องการชื่อเสียง สิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น อานุภาพของธรรมญาณตรงนี้จึงมีเช่นเดียวกับฟ้าดินที่กระทำให้แก่ทุกชีวิตเสมอกันโดยมิได้หวังผลตอบแทนกลับมาอย่างใดเลยเพราะเหตุนี้ คนที่กระทำการอันปราศจากเมตตา จึงขัดต่อสัจธรรมของฟ้าดิน เขาจึงต้องได้รับโทษจากการกระทำของตนเอง
พระพุทธองค์ทรงเตือนมนุษย์ให้ระลึกถึงความดีงามอันมีอยู่แต่เดิมแล้ว แต่มนุษย์หลงอยู่ในโลกนี้จนลืมเลือนความเมตตา เพราะฉะนั้น ศีลข้อที่หนึ่งที่ว่า " ปาณาติปาตาเวรมณี " ความหมายที่แท้จริงมิได้อยู่ที่การฆ่าสัตว์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และควรมีความรักและอาทรต่อกันต่างหาก เพราะทุกชีวิตมีถิ่นกำเนิดมาจากที่เดียวกันแต่เพราะมนุษย์ลืมถิ่นกำเนิดของ ธรรมญาณ เพราะเหตุนี้จึงแบ่งแยกและแข่งขันช่วงชิงและฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด
ความเมตตา ความรัก และ การไม่เบียดเบียน กันจึงเป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะพูดด้วยภาษา จีน แขก ฝรั่ง แต่เพราะการแบ่งแยกกันตามรูปลักษณ์ มนุษย์จึงลืมเลือนความดีงามของตนเองเสียสิ้น ความคับแคบทางจิตใจึงเกิดขึ้น ความสุขสงบจึงหายไปจากจิตใจของมนุษย์ในโลกนี้
พระศาสดาทั้งปวงที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้จึงมีคำสอนเป็นอย่างเดียวกัน เพราะต่างสำนึกว่า มนุษย์มาจากถิ่นที่เดียวกันและมีความดีงามพร้อมอยู่แล้ว หากได้เหตุปัจจัยอันเหมาะควรก็สามารถกลับคืนต้นรากเดิมของตนเองได้
หากธรรมญาณมิได้มาจากถิ่นกำเนิดเดียวกันคือ ฟ้าเบื้องบนแล้ว พระศาสดาทั้งปวง คงไม่อาจปฏิบัติภาระกิจโปรดเวไนยสัตว์ได้อย่างแน่นอน
-
ความเมตตาของปุถุชนมิได้เกิดจาก " ธรรมญาณ " หรือ " ความเป็นกลาง " ย่อมมีเงื่อนไข กาลเวลา ชนชั้น และต้องการค่าตอบแทน เพราะเหตุนี้คำกล่าวที่ยีนยันความจริงข้อนี้จึงมีอยู่ว่า "" ยามรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน ยามชังแม้น้ำตาลยังว่าขม ""
เมตตาของปุถุชนจึงเป็นสิ่งจอมปลอม เมื่อสิ้นเหตุปัจจัย ย่อมหมด " เมตตา " ได้ง่าย ๆ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าปุถุชนไร้เมตตา มีแต่ " ความเห็นแก่ตัว " จึงก่อทุกข์สถานเดียว เมตตา เช่นนี้จึงไม่อาจค้ำจุนโลก มีแต่ทำลายโลกและทำลายตนเอง ปุถุชนจึงทำสิ่งที่ตรงกันข้ามปากพูดอย่างหนึ่ง แต่กระทำอีกอย่างหนึ่ง อย่างกรณีการทำบุญตักบาตร ปากพร่ำบ่นว่า "" สัพเพสัตตาสัตว์ทั้งหลายอันเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรแก่กันและกัน จงอย่ามีความอาฆาตพยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงเป็นสุข ๆ เถิด ""
แต่อาหารที่ใส่ลงไปในบาตรนั้นล้วนเป็นชีวิตเลือดเนื้อของสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เขาจึงทำตรงกันข้ามกับปากที่พูด หากจะพูดตรงต่อความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า "" สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายอันเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงได้มีเวรแก่กันและกัน จงมีความอาฆาตพยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงเป็นทุกข์ ๆ เถิด "" ดังนั้นการทำบุญของปุถุชนจึงมีบาปปนเปไปด้วย
ถ้าพิจารณา " เมตตา " อันเป็นทางสายกลางของพระอริยเจ้าทั้งสามพระองค์ ประกอบไปด้วย พระพุทธเจ้า ท่านเหลาจื้อ ท่านขงจื้อ จะเห็นความเป็นจริงว่า เป็นเมตตาที่ตรงต่อ " ทางสายกลาง " ชัดเจนที่สุด ทั้งสามศาสนามีคำพูดอย่างเดียวกันเพียงแต่ภาษาต่างกันเท่านั้นเอง ท่านเหลาจื้อ ให้บำเพ็ญ ธาตุไม้ มู่
ท่านขงจื้อ ให้บำเพ็ญ เมตตา เหยิน
พระพุทธเจ้า ให้รักษาศีล ปาณาติปาตา เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์
ธาตุไม้ในตัวคน เมตตา ล้วนเป็นสิ่งที่สงบเยือกเย็น เป้นผู้ให้โดยปราศจากข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น
เมตตาที่แท้จริง จึงประกอบไปด้วยลักษณะ 4 ประการ
1. ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใด ๆ จะเป็นญาติ หรือคนที่รัก หรือชัง ล้วนได้รับความเมตตา
2. ไม่มีเวลาจำกัดไม่ว่าจะตายไปแล้วหรือล่วงไปนานเท่าใดก็บังเมตตา
3. ไม่ต้องการค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น แม้เมตตาแล้วจะได้รับผลเลวร้ายก็ยังคงเมตตา
4. ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะสูงส่งต่ำต้อย ยากไร้อย่างไร ก็ได้รับความเมตตาเท่าเทียมกัน
ความเมตตาเช่นนี้จึงมีค่า " ค้ำจุนโลก " ได้หรือมิได้ทำลายสรรพชีวิตใด ๆ เลย มีแต่ทำให้ชีวิตทั้งปวงเจริญงอกงามขึ้นมาดั่งฟ้าดินที่ให้ทุกสิ่งอย่างแก่ชีวิตโดยไม่ต้องการผลตอบแทนและเงื่อนไขใด ๆ ทุกชีวิตต่างได้รับ อากาศ น้ำ ยืนอยู่บนแผ่นดินเท่าเทียมกัน ความเมตตาธรรมเช่นนี้จึงทำให้ชีวิตมีความสุขอันแท้จริง เพราะฉะนั้นถ้ามนุษย์เรียนรู้เมตตาเช่นนี้จึงก่อให้เกิด สันติสุขแก่ตนเองและชาวโลกทั้งปวง แต่ถ้าประพฤติผิดต่อหลักสัจธรรมของเมตตา ย่อมส่งผลร้ายต่อร่างกายเพราะคนที่ไร้เมตตามักจะเป็นผู้ที่มีโทสะจริตครอบงำ โมโหโกรธามาก ๆ ย่อมกระทบกระเทือนต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย คือ " ตับ " ถ้าตับเสีย ย่อมมีผลต่อการกรองของเสียจากอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย
ผู้บำเพ็ญ " เมตตา " อย่างแท้จริงและตรงต่อทางสายกลางจึงเป็นการกำจัด " โทสะ " ได้และย่อมมีผลต่อร่างกายของผู้นั้นเอง หน้าตาจึงผ่องใสยิ้มแย้ม ผู้ทีเมตตาธรรม อันตรงต่อสัจธรรมจึงไม่รับประทานเนื้อสัตว์ เพราะถือเป็นการเบียดเบียนชีวิต พืชผักสีเขียวจึงเป็นคุณต่อตับ "" ยกเว้นเพียง กุ้ยฉ่าย เท่านั้นที่เป็นพิษต่อตับ ""
และเพื่อ "" รักษา ตับ """ มิให้กระทบกระเทือนรสชาดของอาหารจึงหลีกเลี่ยง " รสเปรี้ยวจัด " การดำรงเช่นนี้จึงเป็นทางสายกลางอันนแท้จริง เมื่อทั้ง " กาย " และ " จิต " อยู่ในทางสายกลาง ความเมตตาจึงมีพลานุภาพต่อสรรพชีวิต
ความหมาย " แห่ง เมตตา " จึงทนมิได้กับความทุกข์ยากของผู้อื่น "" ความกรุณา "" จึงใคร่แบ่งปันความสุขของตนเองเพื่อให้คนอื่นมีความสุขเยี่ยงเดียวกัน ครั้งหนึ่งผู้เขียนควรชวนเพื่อนคนหนึ่งให้เข้าปฏิบีติธรรม แต่เขากลับตอบว่า "" อ้าว ก็ทางสายกลางซีครับ "" ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า จิตใจของคุณเป็นเช่น ฟ้า ดิน น้ำ อากาศ อย่างนั้นละซี "" ไม่ใช่ อยากกินก็กิน อยากเที่ยวก็เที่ยว ไม่เบียดเบียนให้ใครเดือดร้อนเป็นใช้ได้ "" แล้วนี่เบียดเบียนตัวเองล่ะ ใช้ได้หรือไม่
การสนทนานั้นจบลงตรงที่ฝ่ายเพื่อนนั่งนิ่งเงียบ เพราะเขาคงได้คิดว่า เมตตาธรรมมิได้หมายความว่า เมตตาต่อผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แท้ที่จริงยังต้องเมตตาต่อตนเองด้วย
" ไม่สร้างกรรมให้ชีวิตจริงของตนเองต้องตกต่ำลงสู่ห้วงเหวแห่งนรกนั่นเอง " ถ้าธรรมญาณตกต่ำออกทางหู ย่อมไปเกิดเป็นตังมิ้ง ออกทางปากย่อมไปเป็นปลาวาฬ เพื่อบำเพ็ญ "" เมตตา "" ให้สมบูรณ์นั่นแล
-
พ่อทำงานแสนเหน็ดเหนื่อยกลับมาถึงบ้านควรได้รับการพักผ่อน แต่กลับมาต้องเสียอารมณ์เพราะลูกชายสองคนกำลังเถียงกันพ่อได้ยินน้องชายเถียงพี่ชายด้วยท่าทีเอ็ดอึงและขาดความเคารพจึงตรงเข้าไปตบหน้าน้องชายหนึ่งที ลูกชายวิ่งหนีเข้าไปในครัว พ่อยังคงมีโทสะครอบงำจึงตามเข้าไปตบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
แต่คราวนี้โทสะจริตครอบงำ ลูกชายจึงคว้ามีดบางในครัวเสียบเข้าที่ลิ้นปี่ของพ่อเลือดไหลนองล้มลงขาดใจตายอยู่ในครัวนั่นเอง เมื่อสติคืนกลับมา ลูกชายถือมึดเดินขึ้นโรงพักและร่ำร้องบอกว่า "" ประหารชีวิตผมเถอะ ประหารชีวิตผมเถอะ "" มโนธรรมสำนึกอันมีอยู่แล้วใน " ธรรมญาณ " ได้สำแดงอานุภาพออกมาเพราะรู้อยู่ว่าการสังหารพ่อนั้นเป็นลูกอกตัญญูโดยแท้ จึงพร้อมที่จะรับโทษทันฑ์ที่ตนเองก่อขึ้น
ปัญหาของปุถุชนจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร ให้มโนธรรมสำนึก มีอานุภาพก่อนที่โทสะสำแดงตนออกมาก่อน แต่เพราะความเคยชินและพ้นไปจาก " หนทางสายกลาง " จึงไม่อาจใช้มโนธรรมได้ทันที
ท่าเหลาจื๊อ จึงให้บำเพ็ญธาตุทอง ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า จิน
ท่านขงจื๊อ จึงให้บำเพ็ญมโนธรรมสำนึก ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า อี้
พระพุทธองค์ทรงให้เจริญศีล อทินนาทานา ซึ่งหมายถึง ไม่เอาของผู้อื่น
มโนธรรมสำนึกนี้ตรงต่ออวัยวะภายในตัวเรา คือ ปอด
ความหมายแห่งคำสอนของพระศาสดาทั้งสาม แม้แตกต่างกันด้วยภาษา แต่ความเป็นจริงแห่งวิถีปฏิบัติแล้วเป็นเช่นเดียวกันการบำรุงเลี้ยงรักษาธาตุทองในตนเองย่อมทำให้สามารถผนึกลมปราณให้เป็นเอกภาพได้ และการควบคุมลมปราณจำเป็นอยู่เองที่ต้องอาศัยปอดที่แข็งแรง
ธาตุทอง มีความหมาย เป็นความแข็งแกร่งและพลานุภาพ สามารถตอบแทนต่อสรรพสิ่งที่เป็นคุณแก่ตนเองได้ การไม่เอาของผู้อื่นมาเป็นของเราย่อมต้องอาศัยมโนธรรมสำนึก รู้ถึงความเดือดร้อนที่ผู้อื่นพึงได้รับ หากตนเองเห็นแก่ตัวหยิบฉวยของผู้อื่นมาเป็นของตน เป็นการขจัดความเห็นแก่ตัวโดยแท้จริง จึงเป็นผู้เสียสละเพื่อคนอื่นได้
ศีลข้อสอง อทินนาทานา ที่พระพุทธองค์ทรงเตือน ให้สาธุชนทั้งหลายให้ระลึกถึงคุณงามความดีของตนเองนั้น มิได้มีความหมายคับแคบอยู่แต่การที่ " ลักขโมย " เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเก็บของผู้อื่นได้ ยังต้องคืนเจ้าของ
มโนธรรมสำนึกนั้น มีความรู้สึกอยากตอบแทนผู้มีพระคุณ ดังนั้นการที่มนุษย์มีความรู้สึกกตัญญูต่อพ่อแม่ก็เพราะ อานุภาพแห่งมโนธรรมสำนึกนี่เอง
ท่านศาสดาขงจื๊อ จึงสอนให้รู้จักกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นอันดับแรก หากใครก็ตามที่ขาดความรู้สึกเช่นนี้ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมของฟ้าดิน และโทษที่เขาได้รับนั้นย่อมไปเกิดเป็นสุนัขเพื่อให้บำเพ็ญกตัญญูรู้คุณ ในโลกนี้จึงได้เห็นคุณงามความดีของสุนัขที่รู้จักตอบแทนคุณเจ้าของ แม้จะได้รับการตอบสนองด้วยความโหดร้ายตบตีอย่างไร สุนัขก็ยังคงไม่หนีหายไปไหน ยังคงติดตามรับใช้ด้วยความจงรักภัคดีและกตัญญูยิ่ง
ที่ญี่ปุ่นมีสุนัขตัวหนึ่ง ทุกเช้าจะเดินมาส่งเจ้านายที่สถานีรถไฟ ตกเย็นก็มารับที่สถานีรถไฟทุกวัน สุนัขตัวนี้ประพฤติเช่นนี้เป็นแรมปีและหลายปี แต่เย็นวันหนึ่งมารอรับเจ้านาย ผู้คนลงจากรถไฟหมดแล้วแต่ไม่เห็นเจ้านายเลย มันเดินคอตกกลับบ้าน
สุนัขตัวนี้ประพฤติเช่นนี้เป็นระยะเวลานานเป็นปี จนมีผู้สังเกตุเห็นจึงไปแจ้งกับตำรวจสะกดรอยตามจนไปถึงที่พัก ปรากฏว่าบ้านรกรุงรังเก่าคร่ำคร่าและเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เจ้านายของหมาตัวนี้ได้ไปสิ้นชีวิตที่เมืองตนเองทำงานอยู่ สุนัขตัวนี้จึงมีชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะที่มีมโนธรรมกตัญญูยิ่ง
การบำเพ็ญมโนธรรมสำนึกนี้ที่เป็นไปตามทางสายกลางจะเห็นได้ว่า การสำนึกรู้ในบุญคุณย่อมพ้นไปจากการเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง ผู้มีมโนธรรมสำนึกย่อมระลึกถึงสรรพสิ่งที่เป็นคุณแก่ตนเองและด้วยระยะเวลาอันยาวนานตราบจนหมดลมหายใจ
การบำเพ็ญมโนธรรมสำนึกเกี่ยวพันกับกายสังขารคือปอด ความคิดฟุ้งซ่านย่อมทำให้ปอดใช้พลังงานมากและเสียหายได้ พืชที่เป็นใบยาสูบ เป็นพิษต่อปอดคนที่สูบบุหรี่จึงคิดมากจึงทำลายอานุภาพของปอดและในที่สุดก็เจ็บป่วยสิ้นพลัง
รสชาติของอาหารที่เป็นอันตรายต่อปอด คือ รสเผ็ด
ถ้าพิจารณาจากวงจรของธรรมชาติจะเห็น "" มโนธรรม "" ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดวงอาทิตย์แผดเผาน้ำระเหยกลายขึ้นไปเป็นไอน้ำจับกันหนาแน่น จึงกลายเป็น เมฆ ครั้นเมฆลอยต่ำกระทบความเย็นจึงกลั่นเป็นน้ำฝน
น้ำฝนตกลงสู่แผ่นดินเกิดความชุ่มชื้น พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงาม ทำให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์จนระเหยกลายเป็นไอน้ำขึ้นไป ต่างตอบแทนกันเช่นนี้ จึงเป็นมโนธรรมสำนึกอันแท้จริงตรงตาม "" ทางสายกลาง ""
-
อริสโตเติล ปรัชญาเมธีของกรีก กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า " มนุษย์เป็นสัตว์สังคม " นั่นหมายความว่า มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า คำกล่าวนี้นับเป็นระยะเวลาสองพันปี
และในช่วงก่อนหน้านั้น ปราขญ์ของจีน พระศาสดาขงจื๊อ ได้สอนมนุษย์เอาไว้แล้วว่า หากต้องการให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขทุกคนต้องปฏิบัติ "" จริยธรรม "" ซึ่งอ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนว่า " หลี่ " อันหมายถึง จริยธรรม ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสามระดับ คือ 1. กษัตริย์กับขุนนาง
2. บิดากับบุตร
3. สามีกับภริยา
ความสันติสุขของสังคมจักเกิดขึ้นได้หากบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทั้งสามระดับนี้มี จริยธรรม และจริยธรรมที่ตรงต่อความเป็น"" กลาง "" ประหนึ่ง ฟ้า - ดิน แล้วไซร้ย่อมมีความร่มเย็นสงบสันติแต่เพียงสถานเดียว
ถ้าจะเปรียบเทียบกับคำสอนของท่านเหลาจื๊อ ซึ่งเป็นปราชญ์โบราณ ท่านสอนให้สำรวมธาตุไฟในตัวตน โลกนี้อยู่ได้เพราะมีดวงอาทิตย์ให้ความร้อนและต้องพอดี จึงจะเกิดประโยชน์ ภายในกายของคนก็มีธาตุไฟ หากควบคุมให้อยู่ในความพอดีย่อมทำให้พลังการขับเคลื่อนภายในเป็นเสมือนหนึ่งพลังงานมีความอบอุ่น ถ้าหากควบคุมมิได้เกิดมากเกินไปย่อมเป็นไข้ หรือน้อยเกินไปย่อมหนาวสั่น ความพอดีนั้นเป็นกลาง
เมื่อเทียบกับคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ข้อจริยธรรมนี้ได้แก่ ศีลกาเมสุมิจฉา โดยแท้ หากไม่ควบคุมกามตัณหาย่อมก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้นั้น ใครที่ล่วงละเมิด ความเป็นกลางของจริยธรรม ในข้อนี้ย่อมเสียหายไปถึงหัวใจเพราะเป็นเสมือนหนึ่งไฟเผาผลาญดวงใจให้เร่าร้อน มีตัณหาย่อมก่อให้เกิด ความดีใจ และ เสียใจ เสมอ
จริยธรรม นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการอยู่ร่วมกันเป็น "สังคม" เพราะ " กามคุณ " ทำลายทุกสิ่งอย่างของมนุษย์ได้รวดเร็วนัก
ในสมัยหนึ่งพระพุทธองค์เกิดกายบำเพ็ญเป็น ฤาษี อยู่ในป่าหิมพานต์ จนสำเร็จโลกียฤทธิ์ หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ ปรารถนาจะลงมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อโปรดสัตว์ในกรุงพารารณสี ชาวเมืองพาราณสีรวมทั้งพระราชาต่างพากันเลื่อมใสในจริยวัตรของฤาษีตนนี้ จนพระราชานิมนต์ให้จำศีลอยู่ในราชอุทยานด้วยการสร้างบรรณศาลาให้ฤาษีได้ปฏิบัติกิจ
พระราชาแห่งกรุงพาราณสีปรนนิบัติฤาษีด้วยความเลื่อมใส จนกระทั่งวันหนึ่ง พระราชาจำเป็นต้องเสด็จไปปราบการจลาจลชายแดนจึงมอบหมายให้พระมเหสีผู้เลอโฉมทำหน้าที่แทน วันนั้นฤาษีเหาะมารับบาตรสายมาก พระมเหสีจึงนอนรออยู่ ครั้นเห็นฤาษีเหาะลงมาโดยที่ตนเองไม่ทันระวังจึงลุกขึ้นจนเครื่องทรงหลุดลุ่ยเปลือยเปล่า ตัณหาราคะของฤาษีที่ข่มเอาไว้ด้วยญาณจึงถึงแก่เสื่อมสูญสิ้นหมดฤทธิ์เดช วันนั้นฤาษีต้องเดินกลับบรรณาศาลา เหาะไม่ได้ ฉันภัตตาหารก็ไม่ได้กลับไปนอนซมด้วยพิษแห่งราคะ จนพระราชากลับจากราชการชายแดนมาเยี่ยมจึงเล่าความจริงให้พระราชาฟัง
"" อาตมาถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ คือ กามราคะ ติดตรึงจนขาดปัญญา แม้ไม่มีบาดแผลแต่มันก็ทำให้หัวใจเจ็ยปวดและเร่าร้อนไปทั่วร่าง "" เมื่อได้ระบายความทุกข์จนสติกลับคืนมาแล้ว ฤาษีนั้นจึงเข้าฌานแล้วเหาะกลับไปบำเพ็ญในป่าหิมพานต์มิกล้าออกมาสู่นครอีกเลย
กามราคะ จึงเป็นเรื่องที่กำจัดและควบคุมยากที่สุดด้วยเหตุที่มีปัจจัยครบ 6 อย่าง ตามอายตนะหก รูปงาม
เสียงไพเราะ กลิ่นเย้ายวนใจ รสต้องใจ สัมผัสนุ่มนวล อารมณ์อ่อนไหว
เพราะการตัดกามตัณหาจึงมิใช่เรื่องปากคุยโอ้อวดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แม้ฌานแก่กล้าเพียงใดยังเสร็จอิสตรี เมื่อเป็นดังนี้ การครองชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกันจึงต้องสำรวมระวังมิล่วงละเมิดลูกเมียคนอื่น เพื่อความสัมพันธ์ที่เป็นคุณแก่ตนเองและผู้อื่นจึงต้องระมัดระวัง ผู้ที่ล่วงละเมิดในข้อจริยธรรมจึงต้องไปเกิดกายเป็นเดรัจฉาน ถือชาติกำเนิดเป็น ม้า เพื่อบำเพ็ญจริยธรรมเพราะลูกม้าตัวผู้จะไม่ล่วงเกินแม่ของมันเป็นอันขาด
ชนชาติตะวันตกได้ทดลองนำลูกม้าตัวผู้ ผูกตาแล้วให้อยู่กับแม่ของมันในฤดูผสมพันธุ์ เมื่อลูกขึ้นขี่แม่ เขาก็เปิดตาออก พอลูกม้าเห็นเป็นแม่จึงลงจากหลังแม่ วิ่งเอาหัวชนกำแพงตายทันที
การบำเพ็ญจริยธรรม จึงประกอบไปด้วยมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เนืองนิจ จึงสามารถรักษาจิตของตนให้อยู่ในทางสายกลางได้และพ้นภัยในที่สุด
-
ใครก็ตามที่สามารถทำใจของตนเองให้ว่างดังเป็น " กลาง " ได้แล้วย้อมได้ "" ปัญญาบริสุทธิ์ "" เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ทรงมี พระปัญญาคุณอันบริสุทธิ์ "" ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาหมายความว่าอย่างไร "" " การใช้ปัญญานั้นมิได้เห็นแก่ตัว แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมแห่งฟ้าดิน "
อานุภาพอันแท้จริงของปัญญามีอยู่ในทุกตัวคนเท่าเทียมกันมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากันแม้นิดเดียว แต่เหตุไฉนจึงมี คนโง่และฉลาด แตกต่างกัน ธรรมชาติเดิมแท้ของ " ธรรมญาณ " มีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่เพราะการเวียนว่ายสังคม บาปกรรม แตกต่างกันสภาวะแห่ง "" ความเป็นกลาง "" จึงผิดเพี้ยนกันไป ดังนั้นอานุภาพแห่งปัญญาจึงแตกต่างกันไป ถ้าจะเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับน้ำ บางคนใช้ประโยชน์ได้มากกว่า แต่บางคนกับใช้ได้น้อยกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกบรือแลความรู้เกี่ยวกับน้ำ
ปัญญา ก็เช่นเดียวกัน บริสุทธิ์ปราศจากอารมณ์ทั้งปวงมิได้ทำให้ ธรรมญาณ หันเหไปสู่หนทางแห่ง ดี หรือชั่ว อานุภาพย่อมไร้เทียมทานสามารถตัดทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงให้สมาทานศีลข้อ ห้า มิให้จิตมัวเมาตกอยู่ภายใต้อำนาจเมาทั้งปวง คนที่ถูกอานุภาพของน้ำเมา ยาเสพติด ย่อมทำให้สติเลอะเทอะ มีอารมณ์ครอบงำ ภาวะแห่งปัญญาจึงสูญเสีย บุคคลเช่นนี้จึงคิดผิด ทำผิด และหลงผิดได้โดยง่าย และเท่าเทียมเสมอกันหมด
อารมณ์ จึงเป็นทะเลทุกข์ของคนทุกชั้นวรรณะ
ความรู้ และ ปัญญา จึงแบ่งแยกได้ตรงนี้
มนุษย์มีความรู้แตกต่างกันอันเกี่ยวกับการสั่งสมของสัญญาขันะ์ที่แตกต่าง แต่ความแตกต่างเช่นนี้หายไปทันทีที่อารมณ์ครอบงำ คนมีความรู้จึงกระทำความผิดได้เท่าเทียมกับคนที่ไม่มีความรู้ เพราะอารมณ์กวาดความรู้ทิ้งไปหมดสิ้นเหมือนกันอารมณ์มิสามารถหยั่งถึงอะไรได้เลยนอกจากกระทำสิ่งที่ขัดต่อสัจธรรมเท่านั้น
แต่ ปัญญา หยั่งถึงสรรพสิ่งได้เพราะ คุณสมบัติแห่งปัญญานั้นต้องอ่อนน้อมเข้าถึงสรรพสิ่งได้ เพราะเหตุนี้ท่านเหลาจื๊อจึงสอนให้บำเพ็ญธาตุน้ำ ธาตุน้ำมีแต่ความเยือกเย็นสงบ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ชะล้างทุกสิ่งอย่างโดยไม่ถือตัว และเข้าสู่ภาชนะใดก็จะอยู่ในรูปลักษณ์ของภาชนะนั้น ๆ
ท่านศาสดาขงจื๊อ กล่าวว่าธาตุแท้ธรรมญาณของทุกคนมีปัญญาอยู่แล้ว อักษรจีน คำว่าปัญญา อ่านว่า "" จื้อ "" ปัญญานั้นมีมาแต่เดิมและอานุภาพเทียบเท่าฟ้าดินหรือสามารถใช้ปัญญา อันเป็นแสงสว่างในตัวเองพาตัวไปถึงฟ้าดินหรือสวรรค์ได้
การสำแดงปัญญาให้ปรากฏ ย่อมใช้วาจาหรือปากเป็นช่องทางแสดงออก การบำเพ็ญปัญญาจึงต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองไว้ มิให้ตกใจ หรือ กลัว หากเกิดอารมณ์เช่นนี้แล้ว สภาวะแห่ง " ปัญญา " ย่อมสูญหายไป ถ้าเทียบเคียงกับร่างกายของคนเราแล้วจะตรงกับอวัยวะสำคัญคือ ไต ผู้ที่สูญเสีย "" ปัญญา "" อยู่บ่อย ๆ อันเนื่องมาจาก อารมณ์กลัว หรือตกใจ ย่อมทำให้ ไต เสีย หรือพิจารณาอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่ ไต ไม่ปกติมักมีอารมณ์ทั้งตกใจและกลัวง่าย
ไต มีหน้าที่ขับของเสียที่มีอยู่ในเลือด
ปัญญา เป็นเรื่องของการแยกแยะสิ่งดี และ เลว
การทำหน้าที่ทั้งสองประการจึงสอดคล้องประสานกันดังนี้ ดังนั้นผู้ที่ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำสูญสิ้นปัญญาอยู่บ่อย ๆ ย่อมสร้างชาติภพเดรัจฉานให้ตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากชำนาญการใช้นัยน์ตา ธรรมญาณ ออกทางตา ย่อมไปได้กายเป็นนก ซึ่งมีปัญญารู้จักสร้างรังของตนเองได้อย่างสวยงาม แต่ถ้าเคยชินด้วยยาเสพติดเพราะติดในกลิ่นย่อมออกจากจมูกและไปกำเนิดเป็นมด ปลวก แมงมุม สัตว์เหล่านี้มีปัญญาในการรู้จักสะสมอาหาร สร้างใยดักจับสัตว์อื่น
ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจึงพยายามรักษาไต ให้อยู่ในสภาวะปกติ เพราะฉะนั้นจึงงดเว้นอาหารเนื้อสัตว์และพืชที่เป็นหัวหอมซึ่งเป็นพิษต่อ ไต โดยตรง ส่วนสีของพืชที่เป็นคุณกับ ไต คือ สีดำ เช่น ถั่วดำ เป็นต้น รสชาติที่เป็นอันตรายต่อไตคือ รสเค็ม
การบำเพ็ญให้ " กาย " และ ""จิต "" อยู่ในทางสายกลางย่อมถือว่าเป็นการปฏิบัติตรงต่อสัจธรรมของฟ้าดินและความเที่ยงตรงย่อมปรากฏโดยมิต้องกำหนด ปัญญาที่สำแดงออกมาในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นปัญญาธรรมอันบริสุทธิ์ นอกจากสามารถฉุดช่วยตนเองให้พ้นไปจากทะเลทุกข์แล้ว เขาย่อมสามารถฉุดช่วยผู้อื่นได้ด้วย
เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญ ทางสายกลาง จึงมิได้อยู่ที่การภาวนาสถานเดียว แต่เป็นการใช้ "" ปัญญาบริสุทธิ์ "" อย่างแท้จริง
-
ปุถุชนคนที่ไม่รู้จัก " ทางสายกลาง " มักเพ่งเล็งสัตยธรรมอยู่ที่ความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นการตีความหมายเป็นศีลข้อที่ 4 ที่พระพุทธองค์ทรงเตือนเอาไว้ว่า " มุสาวาทาเวรมณีสิกขาปะทังสมาทิยามิ " โดยกำหนอขอบเขตแห่งการปฏิบัตินี้เอาไว้แต่เพียงการไม่โกหกต่อผู้อื่นเท่านั้นเอง การแปลความเช่นนี้จึงเป็นความคับแคบและไม่เกิดผลอันแท้จริงต่อ " ทางสายกลาง " ของธรรมญาณของตนเอง คนในโลกนี้จึงโกหกกันได้ตลอดเวลา
ความหมายอันแท้จริงที่ตรงต่อสัจธรรม คือ การซื่อสัตย์ต่อตนเองเป็นเบื้องต้น แต่คนมักจะลืมเลือนความสำคัญข้อนี้ซึ่งโดยธาตุแท้แล้ว ทุกคนมีความซื่อสัตย์อยู่แล้วในตนเอง เพียงแต่ถูกสิ่งแวดล้อมชักจูงให้หลงลืมหรือมิอาจใช้ศักยภาพนี้ได้เต็มที่เท่านั้น ผู้ที่มีจิตสำนึกอันดีจึงไม่อาจให้คำมั่นสัญญาต่อใครได้โยง่ายด้วยเกรงว่าจะผิดต่อสัญญานั่นเอง
" โจร " มีความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติอาชีพของโจร ถือว่าเป็นผู้มีสัจธรรมหรือ "
" ความซื่อสัตย์ของโจรเป็นความซื่อสัตย์ต่อจิตชั่วเท่านั้นเอง "
" และอย่างไรถึงจะเรียกว่าซื่อสัตย์ต่อตนเองแท้จริงเล่า "
""" ต้องซื่อสัตย์ต่อสัจธรรมของตนเองดังฟ้าดิน """
ความซื่อสัตย์ของฟ้าดินจะเห็นได้ว่า การหมุนเวียนเปลี่ยนผันฤดูกาล ถ้าเป็นไปตามกาลเวลาอันถูกต้องสรรพสิ่งก็หมุนเวียนถูกต้อง ความสันติสุขจึงเกิดขึ้น ดวงดาวทั้งปวงต่างหมุนถูกต้องก็ไม่เกิดเหตุวิบัติ เพราะฉะนั้นความเป็นสัตยธรรมของฟ้าดินคือ การกระทำที่ตรงต่อสัจธรรมและสม่ำเสมอ หากเิกิดอาการผิดแม้นิดเดียวภัยพับัติก็ย่อมเกิดขึ้น
มนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกันถ้าผิดต่อสัตยธรรมของตนเองแล้วภัยพิบัติย่อมบังเกิดขึ้นต่อตนเอง สัตยธรรมจึงเป็นความหนักแน่นท่านเหลาจื๊อจึงให้บำเพ็ญธาตุดิน อันตรงต่ออวัยวะสำคัญของคนคือ " ม้าม " ท่านศาสดาขงจื๊อ ให้บำเพ็ญธาตุแท้ซึ่งมีมาแล้ว คือ สัตยธรรม ภาษจีน อ่านว่า " ซิ่น " อันมีความหมายว่า คำพูด กับ คน
คน มีความหมายว่า ตรงต่อฟ้าดิน คำพูด มีความหมายว่า ก่อนจะพูดถ้าได้ไตร่ตรองถึงสามครั้งย่อมไม่มีผิดพลาด การบำเพ็ญสัตยธรรม ย่อมระมัดระวังต่ออารมณ์ของตัณหา หากปล่อยให่อารมณ์เช่นนี้ครอบงำจิตใจแล้วย่อมทำลาย " ม้าม " ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด เพราะฉะนั้นคนที่มัวเมาต่อตัณหาราคะจึงทำให้อายุสั้น คนที่ปฏิบัติผิดต่อสัตยธรรมเมื่อพ้นจากกายสังขารอันเป็นมนุษย์แล้วย่อมไปถือกำเนิดเป็นเดรัจฉาน เพื่อบำเพ็ญสัตยธรรมเพราะฉะนั้นจึงได้กายเป็น "ไก่ " ทำหน้าที่บอกเวลาแก่มนุษย์โดยไม่ผิดพลาด
การบำเพ็ญสัตยธรรมมิใช่เป็นเรื่องง่ายแต่ใครสามารถปฏิบัติได้ตรงต่อฟ้าดินแล้วย่อมอยู่ในหนทางแห่งความเป็นกลางโดยแท้จริง สมัยที่แผ่นดินจีนแบ่งแยกออกเป็น " สามก๊ก " ท่านกวนอู อันเป็นผู้เก่งกล้าสามารถ สาบานเป็นพี่น้องกับ เล่าปี่ เตียวหุย ในสวนท้อ ทั้งสามรักษาคำมั่นสัญญานี้ไว้ว่า "" แม้เกิดคนละวัน แต่ขอตายร่วมวันเดียวกัน "" คำสัญญานี้จึงลือเลื่องมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และท่านกวนอู นั้นเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์นัก แม้ถูกโจโฉจับไปพร้อมกับฮูหยินของเล่าปี่ก็มิได้ล่วงเกิน จุดเทียนอ่านหนังสือตลอดคืนเพื่อพิทักษ์พี่สะใภ้ ความซื่อสัตย์อันยิ่งใหญ่เช่นนี้เทียมฟ้าเทียมดิน ชื่อเสียงจึงขจรขจายมาถึงทุกวันนี้ ชาวจีนจึงเคารพกราบไหว้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ และแน่นอนมรรคผลย่อมเกิดขึ้นจนได้รับอริยะฐานะเป็น "" ท้าวสักกะเทวราช ""ในสมัยยุคปัจจุบัน การบำเพ็ญสัตยธรรมอันตรงต่อฟ้าดินมิใช่เป็นเรื่องที่กระทำได้ง่ายดายนัก เพราะคนเรามักจะอภัยให้ตนเองง่ายดายยิ่งกว่าอภัยให้ผู้อื่น ท่านขงจื๊อ จึงให้คำสอนอันน่าประทับใจในการปฏิบัติยิ่งนัก "" จงอภัยให้ผู้อืน เช่นเดียวกับอภัยให้ตนเอง จงลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับลงโทษผู้อื่น ""
ถ้าใครสามารถกระทำได้ดังนี้จิตใจย่อมซื่อตรงต่อตนเองสม่ำเสมอและปฏิบัติสัตยธรรมได้ตรงต่อฟ้าดินอย่างแน่นอน การบำเพ็ญสัตยธรรมอันตรงต่อธนนมญาณของตนเองก็ย่อมตรงต่อฟ้าดิน และเป็นหนทางแห่ง " ทางสายกลาง " โดยแท้จริง
เพราะฉะนั้นการรักษาวาจาเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาถึงสัตยธรรมแห่งฟ้าดินแล้วไซร์ " สัตยธรรม " นั้นย่อมมิใช่ "ทางสายกลาง"
-
ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมด้วยกรรมวิธีนั่ง "สมาธิ" จึงปรารถนาให้จิตรวมเป็น "หนึ่ง" อันหมายถึงความสงบระงับมิให้ฟุ้งซ่าน แต่ทำไมจึงมิใช่หนทางแห่งการบรรลุถึงจุดหมายปลายทางของอนุตตรธรรม เมื่อจิตยังเป็นหนึ่งอยู่เอาอะไรมาเทียบก็ย่อมเป็นสอง ความเป็นสมาธิของจิตจึงหายไป
การเทียบย่อมก่อให้เกิด "ชอบ" และ "ชัง" เพราะความคิด "ดี" กับ "เลว" ทำให้จิตฟุ้งขึ้นมาอีกครั้ง บรรดาคนที่ปฏิบัตในศาสนาใดก็ตามหากยังติดยึดอยู่กับ "หนึ่ง" แล้วย่อมมองเห็นแต่ความดีงามของตนเองเป็นสำคัญและพาลมองเห็นวิธีการของผู้อื่นเป็นสิ่งผิดเสมอ บุคคลเหล่านี้จึงมิอาจก้าวพ้นไปจากวิถีแห่งการเวียนว่ายได้เลย
" ทางสายกลาง " จึงไม่มีการเปรียบเทียบและยอมรับได้ในทุกสภาวการณ์และในสรรพสิ่งเพราะความไม่มี " หนึ่ง " จึงไม่มีการเปรียบเทียบกังนั้นจึงมองไม่เห็น "ดี" หรือ "เลว" ของใครเลย ความเป็นสัมมาสมาธิจึงเกิดขึ้นตรงนี้
สัมมามรรค ทั้ง 8 ประการ จึงปฏิบัติได้เป็นจริงและเดินไปสู่หนทางแห่ง "ทางสายกลาง" อันแท้จริง พระศาสดาทั้งปวงที่ลงมาฉุดช่วยเวไนยสัตว์ก็ล้วนเดินอยู่บนหนทาง "สายกลาง " เช่นเดียวกัน ลำพังพระศาสดาแล้วพระองค์มิได้ทรงแบ่งแยกหรือเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่ากัน เพราะ มีความเป็นอย่างเดียวกัน แต่ศิษย์โง่เขลาทั้งปวงต่างมาแบ่งแยกเปรียบเทียบทะเลาะกันเองด้วยเชื่อว่าคำสอนของพระศาสดาของตนเองเหนือกว่าพระศาสดาองค์อื่น ๆ
ศิษย์โง่ย่อมมองเห็นวิธีการของพระศาสดาของตนเป็น " หนึ่ง " จึงมองเห็นและเข้าใจว่าพระศาสดาองค์อื่น ๆ เป็นสองนั่นเองพระเยชูคริสต์จึงตรัสอย่างเดียวกับพระศาสดาขงจื๊อที่ว่า " จงปฏิบัตต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน"แม้ภาษาแตกต่างกันแต่ความหมายแห่งคำสอนของพระศาสดาทั้งสองพระองค์นี้เป็นอย่างเดียวกัน เช่น เราต้องการให้ผู้อื่นอ่อนน้อมต่อเรา เราจึงควรอ่อนน้อมต่อผู้อื่น
ดังนั้นพระศาสดาทั้งปวงจึงมีแนวทางในการฉุดช่วยผู้คนในโลกนี้ให้ประพฤติปฏิบัติในแนวทางเดียวกันทั้งสิ้น และถ้านำเอาร่างกายของมนุษย์มาเทียบเคียงกันก็จะเห็นเป็นความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดย่อมมีอวัยวะภายในเหมือนกันหมดและจิตใจย่อมเป็นเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งมี "" ธรรมญาณ"" เหมือนกันเพราะมีต้นกำเนิดมาจากแห่งเดียวกัน
ดังนั้น ถ้านำเอาคำสอนขององค์พระศาสดาทั้งสามคือ พระพุทธเจ้า ท่านเหลาจื๊อ และท่านขงจื๊อ มาเปรียบเทียบกับกายของมนุษย์รวมทั้งอาหารด้วยแล้วย่อมมีหนทางอยู่ในแนวเดียวกัน ดังนี้
พระพุทธเจ้า ปาณาติบาต อนิทนาทา กาเมสุมิจฉา สุราเมระยะ มุสาวาทา
ท่านเหลาจื๊อ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน
ท่านขงจื๊อ เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม สัตยธรรม
อวัยวะสำคัญ ตับ ปอด หัวใจ ไต ม้าม
อารมณ์ที่เป็นพิษ โกรธ วิตกกังวล ดีใจ เสียใจ ตกใจ ตัณหา
อาหารที่เป็นพิษ กุ้ยฉ่าย ยาสูบ กระเทียม หัวหอม กระเทียมโทนจีน
รสชาตเป็นพิษ เปรี้ยว เผ็ด ขม เค็ม หวาน
สีอาหารเป็นคุณ เขียว ขาว แดง ดำ เหลือง
การปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจำเป็นต้องอาศัยกาย ยาววาหนาคืบนี้เพราะการควบคุมกายให้ถูกต้องตามหลักของฟ้าดินจึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อสามารถควบคุมธาตุของตนให้รวมเป็นหนึ่ง ภาวะแห่งอารมณ์ย่อมปราศนาการไป เพราะเหตุนี้การเริ่มต้นทำสมาธิ จึงต้องให้ทุกคนทำสมาทานศีล 5 เสียก่อน ก็โดยหวังว่าจิตใจของคนเหล่านั้นจักปราศจากความคิดฟุ้งซ่าน
การสมาทานศีลเฉพาะแต่ก่อนการนั่งสมาธิจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่การปฏิบัติมิให้ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจย่อมเป็นหนทางแห่งการบำเพ็ญที่แท้จริง สมาธิที่ได้ย่อมคงที่ตลอดเวลา แล้วสามารถก้าวไปถึงขั้นการปล่อยวางสรรพสิ่งได้หมดสิ้น
การปล่อยวางทั้งภายในและภายนอกจนหมดสิ้นนั้นย่อมเข้าสู่หนทางแห่งความเป็น "กลาง " อันแท้จริง เมื่อ " หนึ่ง" ไม่มีเสียแล้ว ความฟุ้งซ่านสัดส่ายย่อมหายไปมิใช่หรือ "
-
ปุถุชนในโลกนี้มักสับสนด้วยคำว่า " ธรรมะ " กับ " ศาสนา " แลเห็นเป็นอย่างเดียวกัน เพราะเหตุนี้คนเป็นจำนวนมากปฏิบัติกิจของศาสนาแล้วอ้างว่า " ได้ปฏิบัติธรรมะ " ที่น่าสมเพชยิ่งกว่านั้น ใครมิได้ปฏิบัติกิจของศาสนากลับกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่มี "ธรรมะ" ธรรมะ กับ ศาสนา มีข้อแตกต่างกันอย่างแน่นอน
เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสนิกของศาสนาพราหมณ์เพราะเป็นชนชั้นกษัตริย์ แต่เมื่อตัดสินพระทัยออกค้นหาหนทางแห่งการพ้นเวียนว่ายตายเกิด ยอมสละฐานันดรแห่งกษัตริย์ มาประพฤติเช่นเดียวกับคนวรรณะต่ำสุดคือ ภิกขาจาร เป็นผู้ขอ ไร้บ้านเรือนบริวารอาหารเลิศรส และความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แต่มีความยากลำบาก เช่น วรรณิพกหรือขอทาน
การกระทำในครั้งนั้นถือเป็นผู้ละเมิดบทบัญญัติแห่งศาสนาพราหมณ์อย่างชัดเจนที่สุด พระองค์ไม่ยอมปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาพราหมณ์ แต่ออกมาค้นหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ในครั้งนั้นผู้คนย่อมบริภาษด่าทอเจ้าชายสิทธัตถะและประนามว่า ไร้ศาสนา ย่อมถูกพราหมณ์สาปแช่ง ให้ลงนรกโลกันต์อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เจ้าชายสิทธัตถะปฏิบัติในระหว่างนั้นคือ ""การปฏิบัติธรรมะ "" เพื่อความรู้แจ้งในสัจธรรมนั่นเอง
เมื่อพระองค์ทรงค้นพบทางสายกลางในวันเพ็ญเดือนหก ก็ยังมิได้สถาปนาพุทธศาสนาขึ้นมาแต่ประการใด เป็นเพียงแต่ผู้ค้นพบหนทางแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น แม้ได้โปรดปัญจวัคคีย์จนดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งในสัจธรรมแล้วก็ยังมิได้เกิดศาสนาพุทธขึ้นมาในโลก ศาสนาพุทธได้บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้เมื่อมีพุทธบริษัทสี่ครบถ้วนคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งในวันนั้นเรียกว่า "" วันอาสาฬหบูชา ""
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติกรอบการปฏิบัติพุทธกิจของ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ปฏิบัติอยู่ในแนวทางเดียวกันเพราะบุคคลเหล่านี้แม้เข้ามานับถือพระพุทธองค์ เป็นศาสดา แต่ก็ยังคงเป็นผู้ไม่รู้แจ้งในสัจธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ายังไม่รู้หนทางแห่งการพ้นทุกข์อันเป็นทางสายกลาง บัญญัติต่าง ๆ อันเป็นคำเทศนาของพระพุทธองค์นั่นแหละเรียกว่า ""ศาสนา""
การปฏิบัติกิจของศาสนาจึงกระทำไปตามแนวทางแห่งคำสอนขององค์ศาสดา ซึ่งพระองค์ทรงวางแนวทางปฏิบัติของบุคคลแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าไม่เหมือนกัน
ผู้ครองเรือนปฏิบัติอย่างไร ชีวิตจึงจะมีความสุขเยี่ยงโลกียสุข ผู้แสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นไปจากทะเลทุกข์ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถึงซึ่งโลกตตระ
คำสอนขององค์พระศาสดาต่าง ๆ จึงแตกต่างกันด้วยวิธีการ แต่หลักสัจธรรมยังคงเป็นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นศาสนาจึงเป็นการแสดงออกของ ""ธรรมะ"" ถ้าธรรมะขาดศาสนาย่อมไม่อาจสั่งสอนผู้คนให้อยู่ในแนวทางแห่งสัจธรรมของฟ้าดินได้ ถ้าศาสนาขาดธรรมะ ย่อมกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดีของฟ้าดินมิได้
""ธรรมะ กับ ศาสนา"" จึงต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในคัมภีร์"จงยง" หรือ ทางสายกลางของท่านขงจื๊อจึงกล่าวเอาไว้ว่า ชิว เต้า จือ เว่ย เจี้ยว อันมีความหมายว่า "การบำเพ็ญจิตให้อยู่ในกรอบของธรรมะ จึงเรียกว่า ""ศาสนา""
พระศาสดาทั้งปวงทรงรู้ถึงสัจธรรมที่มีอยู่ในตัวตนของมนุษย์ เพราะฉะนั้นด้วยพระเมตตาจึงใช้ปัญญาอันบริสุทธิ์นั้นวางแนวทางหรือกรอบให้ผู้คนได้บำเพ็ญปฏิบัติอยู่ในแนวทางแห่งธรรมะ และคนเหล่านี้เป็นเพียงคนดีที่ยังคงต้องเวียนว่ายในวัฏจักร์แห่งการเกิด-ตายต่อไป แต่เป็นการปลูกฝังรากฐานแห่ง""ธรรมะ"" เอาไว้ในจิตใจ
แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านี้ล้วนมีภาวะแห่ง""สัจธรรม"" อยู่ในตนเองด้วยกันทั้งนั้นเพียงแต่ลืมเลือนไป พระศาสดาจึงทรงเป็นเพียงผู้สกิดหรือชี้แนะให้ตื่นตัวขึ้นมาเอง การชี้แนะการตักเตือนเพื่อปลุกให้ตื่นขึ้นมาย่อมบังเกิดผลไม่เหมือนกัน บางคนตื่นทันทีเพราะรากฐานดี บางคนต้องสะกิดกันหลายชาติเพราะรากฐานยังหย่อนยาน การบำเพ็ญจิตของตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งคำสอนขององค์พระศาสดาย่อมมีปัณหาในภายหลัง เมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้วต่างจึงเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติและต่างก็ตีความหมายจนผิดเพี้ยนหันเหไปจากเจตนาของพระศาสดา ด้วยเหตุนี้ศาสนาในโลกนี้จึงไม่มีศาสนาใดอยู่ไปตราบนิรันดร มีแต่ ตั้งอยู่ เสื่อมไป และดับลง เพราะมีคำสอนเป็นตัวตน แต่ ""ธรรมะ"" มีอยู่ตลอดไปเพราะปราศจากตัวตนรูปลักษณ์จึงไม่เสื่อมสลาย
ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง ""กาย"" กับ ""ธรรมญาณ"" ธรรมญาณอันเป็นตัวจริงเป็นหลักบงการให้กายแสดงออกตามท่าทาง ถ้าบงการผิดหลัก กาย ก็แสดงออกผิดแบบ ถ้าธรรมญาณไม่ใช้กายนี้แล้วทิ้งไป กายก็เป็นซากศพหาประโยชน์มิได้ และกายย่อมเปลี่ยนแปลง แก่ เฒ่า และใช้ไม่ได้ในที่สุด ธรรมญาณจึงต้องแสวงหากายใหม่ ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างเอาไว้ """ธรรมญาณ""จึงเป็นธรรมะ """กาย"""จึงเป็นศาสนา ถ้าปฏิบัติอยู่ในกรอบของธรรมะจึงมีแต่ความสุขดังนี้แล
-
ผู้ที่มิได้ปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของธรรมะ แม้อยู่ในศาสนา นับถือศาสดาองค์เดียวกันก็มีความเห็นแตกต่างกันและลุกลามกลายเป็ยข้อขัดแย้งทะเลาะกัน ข้ามศตวรรษก็มีอยู่ทั่วทุกศาสนา ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาใหญ่ ๆ ในโลกที่มีศาสนิกนับถืออยู่มากมายนับเป็นล้าน ๆ คน แต่ก็เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ทุกศาสนาต่างแตกแยกกลายเป็นนิกายต่าง ๆ มากมายจนประมาณมิได้ ศาสนาคริสต์มีนิกายนับร้อย ศาสนาอิสลามก็แบ่งแยกนิกายนับไม่ถ้วน ศาสนาพุทธก็มีนิกายมากมายเช่นกัน
สมัยที่องค์พระศาสดาทรงพระชนม์ชีพอยู่ การแบ่งแยกเป็นนิกายไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่พระศาสดาดำรงอยู่ในฐานะที่ตรัสรู้ธรรมะเพราะฉะนั้นสาวกองค์ใดมีปัญหานอกรีตนอกรอยก็พอที่จะปรามหรือแก้ไขปัญหาทั้งปวงได้ ตัวอย่างสมัยพุทธกาล พระเทวทัต ตั้งตนเป็นใหญ่เพื่อแบ่งแยกการปกครอง ออกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ต่อพระพุทธองค์ว่า
1. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่มีความผิด
2. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตรตลอดชีวิต รูปใดรับกิจนิมนต์มีความผิด
3. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลิดชีวิต รูปใดใช้ผ้าคหบดีมีความผิด
4. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต รูปใดอยู่ที่มุงที่บังมีความผิด
5. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันมีความผิด
ข้อขัดแย้งทั้งห้าประการนี้ล้วนเป็นอุบายที่จะแบ่งแยกการปฏิบัติศาสนิกออกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในครั้งนั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตตามที่พระเทวทัตทูนขอ พระเทวทัตจึงแบ่งแยกสงฆ์ออกไปจากการปกครองของพระพุทธองค์ด้วยพระบวชใหม่ยังไม่เข้าใจในธรรมะจึงติดตามพระเทวทัตไปหมู่หนึ่ง
และในที่สุดข้อขัดแย้งนี้ก็ยุติลงด้วยพระสารีบุตรไปชี้แจงแสดงธรรมะแก่สาวกของพระเทวทัตจนกลับใจ ความแตกแยกทางความคิดของพระศาสนาที่บรรดาศาสนิกทั้งหลาย กระทำขึ้นย่อมระงับได้ด้วยพระบัญชาของพระพุทธองค์ การแบ่งแยกนิกายจึงไม่เกิดขึ้นในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ แม้ในศาสนาคริสต์ อิสลามก็เช่นเดียวกัน
แต่ภายหลังที่พระศาสดาสำเร็จธรรมคืนกลับสู่เบื้องบนแล้ว บรรดาสาวกทั้งปวงต่างตีความคำสอนพระศาสดาตามใจของตนเองจึงแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ มากมาย การตีความนั้นย่อมผิดเพี้ยนออกไปจากหนทางของ "" ธรรมะทางสายกลาง "" เพราะต่างก็จะตีความไปตามความพอใจและความคิดของตนเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ คัมภีร์ อัล-กรุอาน ของศาสนาอิสลามมีอายุยืนยาว 1,416 ปีแล้ว ตัวพระคัมภีร์ไม่มีการแก้ไขแต่ประการใด เพราะถือเป็นบัญญัติของพระอัลเลาะห์ อันเป็นพระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด แต่เหตุไฉนจึงแบ่งแยกนิกายออกไปมากมายได้ เป็นเพราะศาสนิกในรุ่นหลังเอาพระคัมภีร์นั้นมาตีความและปฏิบัตไปตามจริตของตนเอง จึงกลายเป็นข้อขัดแย้งและแบ่งแยกเป็นนิกาย
ส่วนในพุทธศาสนานั้นแบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ ๆ สองนิกายคือ หินยาน และมหายาน แต่ละนิกายก็แบ่งออกเป็นอีกหลายนิกายเพราะความคิดไม่ลงรอยกันในความเชื่อและการตีความพระวจนะของพระพุทธองค์
ทางมหายานอันเป็นยานอันใหญ่ก็มีความเชื่อว่า พระศากยมุนีพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์เป็นพระพุทธเจ้าแท้จริงหรือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่ "พระพุทธเจ้าองค์แท้จริง" บันดาลให้มีขึ้นเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ แต่ทางหินยานหรือเถรวาท ยึดถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ แม้ความเชื่อในทางหลุดพ้นก็แตกต่างกัน หินยานเชื่อว่าความเป็นพระอรหันต์ เป็นทางหลุดพ้นสูงสุด มหายานเชื่อว่าความสำเร็จของพระอรหันต์เป็นธรรมดาของการปฏิบัติ พระพุทธภูมิจึงถือว่าเป็นขั้นสูงสุด แม้ความคิดทางด้านนิพพานก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มหายานเชื่อว่านิพพานคือความเป็นสูญที่สมบูรณ์ที่สุดหมายถึง นิจจัง สุขขัง อัตตา ความเห็นอันแตกต่างกันเช่นนี้เองจึงทำให้ต่างฝ่ายต่างโทษกันว่า "ผิด" เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าตนเอง "ถูก" จึงมองเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง "ผิด"
ที่เป็นเช่นนี้เพราะทั้งสองฝ่ายเดินออกนอกหนทางแห่งกรอบของธรรมะอันเป็นทางสายกลาง ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อของ ปุถุชน ย่อมยึดเอาอารมณ์ของตน เป็นที่ตั้ง แต่ในกรอบของ "ธรรมะ" ย่อมปราศจากอารมณ์ เพราะฉะนั้นพระศาสดาตรัสรู้ทางสายกลางจึงเห็นเป็นอย่างเดียวกันไม่ว่าพระศาสดาองค์นั้นจะถือสัญชาติอะไรก็ตามที
พระศาสดาจึงไม่มีการขัดแย้งและทะเลาะกัน เพราะต่างอยู่ในแนวทางเดียวกัน แต่บรรดาสาวกในชั้นหลังต่างหลุดพ้นไปจาก"ทางสายกลาง" เพราะฉะนั้นต่างคนต่างจึง "เพี้ยน" กันไปโดยไม่รู้ว่าตนเอง " เพี้ยน" ไปจากหนทาง "สายกลาง" ล่วงมาจนถึงพ.ศ.นี้ ศาสนาทั้งปวงจึงเสื่อมไปจากจิตใจของมนุษย์
-
พระศาสดาขงจื๊อกล่าวพระวจนะเอาไว้ในคัมภีร์ "จงอยง" หรือ "ทางสายกลาง" เอาไว้เป็นสัจธรรมว่า "" สรรพสิ่งมีธรรมะอยู่ในตัวไม่อาจละทิ้งธรรมะแม้ชั่วขณะ มิฉะนั้นแล้วหาใช่ธรรมะไม่""" ถ้าตีความแห่งพระวจนะนี้ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างมีความเป็นกลางอยู่ในตัวเองทั้งนั้น และแท้ที่จริงโลกนี้ดำรงอยู่ได้ด้วย "ความเป็นกลาง" หากปราศจากความเป็นกลางก็ไม่อาจทนอยู่ได้เลยสรรพสิ่งย่อมหมายถึงทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต
ธรรมะหมายถึงทางสายกลาง เป็นธรรมะแห่งฟ้า เป็นหลักสัจธรรมอันไม่มีข้อยกเว้นให้แก่ใครเลย สรรพสิ่งที่ไร้ชีวิตมีทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นและเกิดขึ้นด้วยอำนาจของธรรมชาติ และทั้งสองประเภทนี้ย่อมต้องมี "ความเป็นกลาง" สถิตอยู่
ลม น้ำ ดิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของธรรมชาติ หากรักษาความเป็นกลางเอาไว้ได้ นั่นหมายถึง "ธรรมะ" ความสงบย่อมเกิดขึ้น แต่ที่กลายเป็นลมพายุร้าย น้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะมีสิ่งที่ไปเปลี่ยนแปลงทำลายสภาวะแห่ง "ความเป็นกลาง"สูญเสียไป ผู้ที่ทำลาย "ความเป็นกลาง" ก็คือมนุษย์ ซึ่งคิดว่าตนเป็นสัตว์อันประเสริฐ ตัวอย่างเช่น ตัดไม้ทำลายป่าไม้จนหมด ในที่สุดเมื่อน้ำฝนตกลงมาจากฟ้าจึงไม่มีแผ่นดินและรากไม้ที่จะซับรองรับน้ำเอาไว้มิให้มีมากจนเกิดพอดี จึงก่อให้เกิด "น้ำท่วมใหญ่" คร่าชีวิตผู้คนในโลกนี้ มนุษย์สร้างโรงงานมากมาย มีเครื่องยนต์กลไกประมาณมิได้ สิ่งเหล่านี้จึงระเหยมลพิษขึ้นสู่ฟ้า ทำให้สภาวะแห่งความเป็นกลางของลมเสียหายจนกลายเป็น พายุร้ายทำลายชีวิตผู้คนประมาณมิได้
มนุษย์ก่อสร้างขุดหาทรัพยากร ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างลงใต้แผ่นดินจนสูญเสีย "ความเป็นกลาง" ความสงบนิ่งไม่เกิดขึ้น แผ่นดินจึงเคลื่อนไหว เมื่อเป็นดั่งนี้ย่อมกล่าวได้ว่า "มนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง" อย่างแท้จริง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือสิ่งของใดก็ตามย่อมคำนึงถึงจุดสูญกลาง หากบ้านปราศจากศูนย์กลางเสียแล้ว บ้านนั้นย่อมตั้งอยู่มิได้ ความเป็นมนุษย์หากปราศจากความเป็นกลางย่อมเกิดทุกข์และเวียนว่ายไม่สิ้นสุด
การสูญเสียความเป็นกลางชั่วคราว แต่ภาวะเดิมยังคงอยู่ ชีวิตก็ยังคงดำเนินไปได้ คนที่มีโทสะจริตแรงกล้าหรือดีใจจนหาที่พักไม่ได้ย่อมสูญเสียชีวิตเพราะอารมณ์ เหล่านั้นทำลายความเป็นกลางของตนเองจึงไม่อาจรักษากายสังขารเอาไว้ได้
พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้สัมมามรรคข้อหนึ่งว่า """ จงมีความเห็นชอบ""" ความเห็นชอบเช่นนี้ย่อมมีความหมายหลายสถาน หากปุถุชนผู้ไม่รู้หลักของธรรมะ ก็จะเห็นชอบตามหลักของ "กฏหมาย" หรือตามความพอใจของตนเองและยึดถือในความแตกต่างอานุภาพแห่งความเป็นกลางจึงไม่เกิดขึ้น
ชีวิตของปุถุชนจึงมีแต่จมอยู่ในทะเลทุกข์ ตังอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉานทั้งปวง ปุถุชนย่อมแบ่งแยกและปฏิบัติต่อแตกต่างไปจากมนุษย์เพราะต่างมี ธรรมญาณ อย่างเดียวกัน ผู้เขียนเคยเดินไปในทางบรรยาธรรมที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีษะเกษ ได้พบสิ่งที่เป็นประจักษ์หลักฐานว่าสรรพสัตว์ล้วนเป็น ญาณ มาแต่ฟ้าเบี้องบนเช่นกัน วัวตังหนึ่งเป็นเพศผู้ เจ้าของซื้อมาเพื่อส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ แต่โรงงานแห่งนั้น กลับคัดเอาออกถึงสองครั้ง เจ้าของจึงจนปัญญานำมาฝากญาติขาย 2400บาท
หน้าบ้านของญาติซึ่งเป็นเพื่อนบ้านจะมีงานบุญจึงติดต่อขอซื้อวัวตัวนี้เพื่อนำไปฆ่าทำอาหารเลี้ยงแขกถวายพระตกลงขายกันในราคา 3000บาท เจ้าของวัวจึงจูงวัวออกมาส่ง ครั้นถึงหน้าบ้านตนเองวัวก็เข่าอ่อนคุกเข่าลงไป เจ้าของวัวจึงเรียกลูกสะใภ้มาดูว่าวัวเข่าอ่อนหรือเปล่า ลูกสะใภ้บอกว่า "วัวมันคุกเข่าขอชีวิต ดูสิน้ำตาไหลพรากเลย" ตกลงจึงตัดใจไม่ขายให้แก่ผู้ซื้อ เรื่องนี้รู้ถึงญาติธรรมต่างช่วยกันเรี่ยไรต่างได้เงิน 2400บาท แล้วไถ่ชีวิตวัวตัวนี้ ผู้ดำเนินการได้อ่านรายชื่อผู้ร่วมทำบุญ ไถ่ชีวิตให้แก่วัวตัวนี้ฟัง วัวได้ฟังผงกหัวรับทุกชื่อ และน้ำตาไหลพราก วัวตัวนี้ได้ชื่อว่าบุญหลาย มีชีวิตอยู่จนบัดนี้ และทุกครั้งที่ให้อาหารเมื่อบอกว่าจงขอบคุณ เจ้าบุญหลายก็จะรีบคุกเข่าทันที ญาติธรรมไปพูดธรรมะให้ฟัง มันฟังไปก็ร้องไห้ไป คำถามที่น่าตอบที่สุดสำหรับท่านผู้ที่สำหรับผู้ปฏิบัติปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า""การเห็นสรรพสัตว์ เป็นอาหารของคนนั้นเป็นความเห็นชอบหรือไม่ ?
-
มนุษย์มีความแตกต่างไปจากสัตว์อื่น ๆ ตรงที่มี " พลังแห่งความคิด " ซึ่งเป็นธรรมชาติอันวิเศษสุดของมนุษยชาติ เมื่อสรรพสิ่งผ่านเข้ามาทางอายตนะหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมากระทบต่อ "ธรรมญาณ" ปฏิกิริยาต่อเนื่องที่เกิดขึ้นคือ "ความคิด" ซึ่งผลออกมาย่อม ดี หรือ ชั่ว ตามเหตุปัจจัยที่สั่งสมเอาไว้ในจิตใต้สำนึก
มนุษย์ได้สร้างหลักการ เหตุผล เอาไว้มากมายล้วนแต่เป็นไปตามความพอใจและความยึดถือของตัวเองทั้งสิ้น กระแสความคิดของมนุษย์ในโลกนี้จึงเดินอยู่สองหนทางดังกล่าวเพราะฉะนั้นชีวิตจึงวนเวียนอยู่แต่ "ความทุกข์" ไม่สิ้นสุด ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์อันเป็นวัตถุอย่างหนึ่งได้ก้าวหน้าขึ้นมากมาย แต่มนุษย์ไม่รู้เลยว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นร่างแหแห่งความทุกข์ของมนุษย์ไปในที่สุด สมัยก่อนพลังงานไฟฟ้ายังไม่เจริญถึงปัจจุบัน ปัญหาของมนุษย์เกี่ยวกับการมองเห็นไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่บัดนี้พลังงานทางด้านไฟฟ้าเจริญถึงขีดสุด ผู้คนในโลกจึงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคตามากที่สุด
ทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนตกอยู่ในกฏของ "บวก -ลบ" เพราะฉะนั้นโรงงานทั้งปวงผลิตสิ่งของออกมาให้มนุษย์ได้ใช้กันแต่ในที่สุดก็คายกากของเสียลงสู่แม่น้ำทำให้น้ำเสียและกลายเป็นภัยสร้างความทุกข์ให้มนุษย์ต่อไป
พระพุทธองค์จึงสั่งสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวงเดินสู่หนทางสายกลางอันปราศจากพิษภัยทั้งปวง ความคิดชอบจึงหมายถึงชอบต่อหนทางสายกลางอันเป็นธรรมะแห่งฟ้า ผู้ที่มีความคิดชอบในลักษณะเช่นนี้ย่อมพ้นไปจาก "ความดี" และ "ความชั่ว"ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นความคิดที่เกิดขึ้นจึงมิได้ตั้งอยู่บนหนทางแห่งความ "เห็นแก่ตัว" แตเห็นแก่สรรพชีวิตทั้งมวล เปรียบเช่นฟ้าหลั่งฝนลงมาให้ทุกชีวิตชื่นฉ่ำ
แต่ความคิดที่ชอบด้วยกฏหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีและความพอใจของตนเองจึงไม่จีรังยั่งยืนแลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้แต่การสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทำบุญก็ยังติดอยู่ในความโลภ "โยมทำบุญไม่ต้องมากหรอกแล้วตั้งจิตอธิฐานจะขอสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น" "เจ้าประคู้น ลูกช้างบริจาคกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ขอให้ได้วิมานแก้วบนสรวงสวรรค์" การกระทำเช่นนี้ย่อมพ้นไปจากหนทางแห่งทางสายกลางเพราะติดอยู่ในโลภลงทุนแต่น้อยต้องการผลกำไรมากมาย และที่น่าเศร้าสลดใจนัก มีวิธีการโหมโฆษนาให้คนหลงสร้างพระประจำกายเอาไว้กราบไหว้บูชาองค์ละหนึ่งหมื่นบาทเพื่อตนเองจะได้มรรคผลในวันข้างหน้า
พระพุทธองค์ไม่เคยสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เป็นผู้ลุ่มหลงงมงายถึงเพียงนี้ แต่ในชั้นหลังผู้เข้ามาเป็นศิษย์ของตถาคตล้วนแต่จำหน่ายครูบาอาจารย์ของเขาเอง เพื่อเงินตราและสนองตัณหาความโลภไม่มีที่สิ้นสุด "ไหว้พระอย่างเดียวถึงนิพพานหรือ" "ถ้าเช่นนั้นโจรไหว้พระเช้าเย็นก็ย่อมไปนิพพานได้ซี" บัดนี้ทั้งผู้สอนก็งมงายลุ่มหลงจึงพาให้ผู้รับการสั่งสอนงมงายหลงทางไปด้วยกัน แลคนเหล่านี้ไม่ว่าจะอยูาในเพศภาวะใดย่อมพ้นไปจาก "วิถีแห่งสายกลาง"
เขาเหล่านั้นจึงมิได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมะเพื่อพ้นไปจากทะเลทุกข์แต่กลับเป็นผู้แหวกว่ายในทะเลทุกข์ด้วยความปราบปลื้มปรีดิด้วยเข้าใจว่าเป็นสวรรค์นิพพาน พลังความคิดของมนุษย์จึงมีพลานุภาพที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่ควบคุมให้อยู่ในแนวทางแห่งทางสายกลางเสียแล้วย่อมทำลายสรรพสิ่งในโลกนี้ได้จนประมาณมิได้ และทำร้ายตนเองในที่สุด
การทำลายตนเองย่อมทำลายทั้งกายปลอม และ ธรรมกาย ของตนเอง กายปลอมแตกสลายกลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ธรรมกายหรือธรรมญาณ ของตนเองนั้น ต้องหลงวนเวียนอยู่ในนรกและอบายภูมิมิมีที่สิ้นสุด กานปฏิบัติธรรมแท้จริงอยู่บนเส้นทางสายกลางนั้น ย่อมปลดระวางสรรพสิ่งลงไปได้หมดสิ้น
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสาวกให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย อัฐบริขาร เครื่องยังชีวิต 8 อย่างเท่านั้นคือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม รัดประคด และกระบอกกรองน้ำ
นักบวชครองชีพอยู่ด้วยการประหยัดไม่สะสมทรัพย์สมบัติใด ๆ เลย หากมี 8 อย่างนี้ ก็สามารถครองชีวิตกายเอาไว้ได้ แต่บัดนี้ศิษย์ตถาคดพ้นไปจาก อัฐบริขาร 8 อย่างเสียแล้ว เดี๋ยวนี้มีโทรศัพย์มือถือ ทีวี วิทยุ วีดีโอ ตู้เย็น แอร์คอนดิชั่น สบู่กลิ่นหอมราคาแพง ความคิดที่ว่าต้องทันสมัยทันโลกจึงจักพาเวไนยให้ดวงตาเห็นธรรมได้ ล้วนเป็นความคิดที่ผิดไปจากหนทางสายกลางทั้งสิ้นความคิดเห็นมิชอบด้วย ธรรมะสายกลาง เช่นนี้เองจึงพาให้ผู้คนเหล่านั้นพากันจับจองอบายภูมิจนแน่นขนัดไปหมด
-
มนุษย์เป็น "สัตว์ประเสริฐ" ได้ด้วยเหตุที่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาพูดและน่าประหลาดนัก "วาจา" นั่นเองที่ก่อให้เกิดความเข้าใจและผิดใจกันจนเกิดทั้งความรักและแตกร้าวกันด้วยวาจานั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงมีกวีแต่สมัยโบราณได้เตือนใจคนเอาไว้ให่ระวังวาจา เช่น ""ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี"" ความสามารถของมนุษย์เปล่งประกายออกมาทางปากแต่ในขณะเดียวกันปากก็ทำร้ายผู้คนและตนเองอย่างประมาณมิได้เช่นกัน
กวีเอกรัตนโกสินทร์ เช่น สุนทรภู่ จึงเขียนกลอนเตือนใจไว้ว่า...
""อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
เจ็บอื่นหมื่นแสนแม้นแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะพูดเหน็บให้เจ็บใจ""
มนุษย์ในโลกนี้ใช้วาจาประหัตประหารกันและสร้างบาปเวรกรรมเอาไว้มากมายจนประมาณมิได้เพราะมิได้สำรวมวาจา ในชั้นของปุถุชนพระพุทธองค์จึงทรงเตือนใจให้มวลมนุษย์ระลึกไว้ในการสำรวมระวังวาจา ด้วยการรักษาศีลข้อ "มุสาวาทา" อันมีความหมายละเอียดถึง 4 ประการคือ 1.ไม่พูดโกหก 2. ไม่พูดหยาบคาย 3. ไม่พูดเพ้อเจ้อ สิ่งใดไม่รู้จริงไม่พูด 4. ไม่พูดสิ่งที่ไม่ดีของผู้อื่น ซึ่งเรียกว่า "นินทา" แม้การพูดของพระพุทธองค์ก็ได้ทรงกำหนดเอาไว้ 4 ประการเช่นกันว่าควรพูดอย่างไร
1 . พูดเพราะ แต่โกหก 2. พูดหยาบ แต่โกหก 3. พูดหยาบ แต่จริง 4. พูดเพราะ แต่จริง สามข้อแรกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประพฤติ แต่ควรประพฤติใน ข้อสี่ แม้กระนั้นพระพุทธองค์ทรงเลือกเวลา สถานที่ และบุคคล จึงเป็นการสำรวมวาจาอันแท้จริงและวาจาเช่นนี้ล้วนแต่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับฟังทั้งสิ้นเพราะตรงต่อสัจธรรม
""วาจา"" นั้นส่อสำแดงถึงนิสัยธาตุแท้ของมนุษย์ว่าเป็นคนประเภทใด หากพิจารณาจากคำสอนของท่านเมิ่งจื้อ ปราชญ์ของจีนท่านหนึ่ง ท่านบอกเอาไว้ว่า "เมื่อพูดคุยกันจะต้องตั้งใจฟังคำพูด ถ้าเขาพูดออกมากำกวมไม่ชัดเจนแสดงว่าผู้พูดไม่เข้าใจปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าพูดกลับไปกลับมาแสดงว่าเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ ถ้าพูดจาให้ร้ายป้ายสีแสดงว่าเป็นผู้ไร้คุณธรรม ถ้าชอบพูดถึงวิธีการหลบหลีกแสดงว่า เขากำลังเดินไปสู่ทางตัน
ท่านศาสดาขงจื๊อยังเคยกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ "หลุนอวี่" ว่า ""ไม่สดับฟังคำพูดเขาจะรู้จักเขาได้อย่างไร" วาจา ของมนุษย์จึงทรงความสำคัญยิ่งนักเพราะสามารถสร้างสิ่งที่ดีงามหรือบาปเวรกรรมเอาไว้ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นท่านศาสดาขงจื๊อจึงสอนเอาไว้ว่า ""อยู่คนเดียวให้ระวังจิต อยู่สองคนจงระวังวาจา"" การที่เราอยู่คนเดียวความคิดย่อมฟุ้งซ่าน เพราะเหตุนี้อาจทำให้เป็นบ้าได้ แต่การอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำเป็นต้องพูดวาจาเพราะ ฉะนั้นจึงต้องสำรวมระวังวาจาให้มากที่สุดมิเช่นนั้นย่อมก่อเกิดเภทภัยขึ้นมาได้ ท่านศาสดาขงจื๊อได้กล่าววิจารณ์คนพูดคล่องเอาไว้ว่า "" กัลยาณชนจะต้องพูดไม่คล่อง ตีฝีปาก คนรู้น้อยพูดมาก คนรู้มากพูดน้อย "" บรรดาทุรชนหรือคนพาลโดยมากเป็นคนพูดตีฝีปากและพูดคล่องแคล่วนัก คนเหล่านี้ขาดหลักธรรมเพราะหลบหลีกเก่งแลอวดดีเพื่อต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเองเป็นคนเก่งและดี อันเป็นการหลอกลวงชนิดหนึ่ง
แต่วาจาที่ตรงต่อสัจธรรมอันเป็นทางสายกลาง นั้นย่อมก่อกำเนิดมาจากธรรมญาณอันปราศจากความดีและความชั่ว ผู้เปล่งวาจาชนิดนี้จึงมิได้หวังชื่อเสียงเกียรติยศลาภผลแต่ประการใดเลย เฉกเช่นเดียวกับฟ้าดินหรือ บิดา มารดาของบุตร แม้วาจาไม่เป็นที่ชอบใจของบุตรธิดา แต่ความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของคำพูดเหล่านั้นคือ ความรักและเมตตา ซึ่งปรารถนาแต่จะให้บุตรธิดาของตนเป็นคนดี มีแต่ความสุขความเจริญทั้งสิ้น
วาจาของบิดามารดา ที่สั่งสอนบุตรจึงเปรียบได้กับความเมตตาจากฟ้าเบื้องบนเฉกเช่น ธรรมทางสายกลาง เพราะไม่มีการหลอกลวงบุตรของตนและไม่ต้องการผลตอบแทนจากบุตร
แต่คนทุกวันนี้เข้าใจผิดว่า วาจาชอบ นั่นคือ วาจาที่ไม่ผิดต่อกฏหมายบ้านเมืองขนบธรรมเนียมประเพณีพูดเพียงเท่านี้เรียกว่าเป็นคำพูดของปุถุชน ที่ยังปรารถนาลาภผลจากคำพูดของตนเอง แม้นักบวชนักเทศน์ทั้งปวง หากใช้วาจาให้ผู้อื่นลุ่มหลงพ้นไปจากทางสายกลาง ล้วนเป็นทุวาจาทั้งสิ้น
-
ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวเอาไว้เป็นสัจธรรมว่า "การปฏิบัติงานคือการทำหน้าที่ และการทำหน้าที่คือ การปฏิบัติธรรม" ความหมายแห่งคำพูดนี้น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า การงานที่ปุถุชนปฏิบัติอยู่นั้นมีทั้งชอบด้วยสัจธรรมและไม่ชอบด้วยสัจธรรม ทำงานอย่างไรจึงชอบด้วยสัจธรรมเล่า ?และทำงานอย่างไรจึงไม่ชอบด้วยสัจธรรม ?
การทำงานที่เป็นการปฏิบัติธรรมนั้นย่อมหมายถึงเป็นการทำงานที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวตน หรือเพื่อประโยชน์แห่งตนสถานเดียวซึ่งปุถุชนทั้งปวงล้วนยึดถือตัวตนเป็นเกนสำคัญเพราะฉะนั้นกระทำการงานอะไรล้วนคำนึงถึงผลได้ของตนเองเป็นปฐม คนที่ทำการงานโดยยึดถือตัวเองเป็นหลักสำคัญล้วนแต่ต้องการผลตอบแทนเสมอ ถ้าไม่ได้ตามประสงค์ก็เกิดโทสะจริต คนทำงานเช่นนี้จึงมีหนทางอยู่สองประการเท่านั้น ประการแรก ถ้าชอบก็จะกระทำโดยไม่หวั่นเกรงต่อความเหนื่อยยากแม้แต่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นก็กระทำ โดยมิได้คิดถึงบาปเวรกรรมที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวพันกันต่อไปชาติแล้วชาติเล่า
ประการที่สอง หากไม่ชอบก็จะปฏิเสธ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่น และการปฏิเสธเช่นนี้จึงกลายเป็นความเห็นแก่ตัวเช่นเดียวกับการละโมบ กระทำเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
การทำงานโดยคำนึงว่าเป็นการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมหมายถึงกระทำโดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนใด ๆ เลย การกระทำเช่นนี้ย่อมได้ผลตอบแทนอย่างประมาณมิได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการทำงานของธรรมชาติ อันหมายถึงฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป ล้วนก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นในโลกนี้
ฝนตก แดดออก ลมพัด เหล่านี้ล้วนเป็นการงานของธรรมชาติอย่างแท้จริง ธรรมชาติเช่นนี้ กระทำไปโดยมิหวังผลตอบแทนแต่ประการใดเลยแต่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นมากมายและเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งปวง ดังนั้นผู้ที่ทำการงานโดยชอบต่อหลักสัจธรรมย่อมกระทำโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ย่อมได้ผลแห่งการงานนั้นอย่างประมาณมิได้
พระพุทธองค์หลังจากได้ตรัสรู้ "ธรรมญาณ" แล้ว พระองค์ทรงเมตตาต่อเวไนยสัตว์โดยมิได้เลือกชนชั้นวรรณะ และมิได้ประสงค์ผลตอบแทนใด ๆ เลย การประกาศพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จึงกว้างไกล และเป็นที่พึ่งของเวไนยสัตว์โดยประมาณมิได้ ด้วยระยะเวลาอันยาวนานนับเป็นพัน ๆ ปี
คำสอนทั้งปวงของพระอริยะเจ้า ที่ประกาศด้วยสัจธรรมและหนทางของทางสายกลางจึงมิได้เหือดหายไปจากโลกนี้ เพราะคำสอนเหล่านั้นเปรียบดั่งเช่นดวงอาทิตย์ ที่ส่องสว่างให้แก่สัตว์โลกโดยไม่ต้องการผลตอบแทนประการใดเลย
แต่การทำงานของมนุษย์ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ชอบด้วยจิตใจขอองตนเองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นผลตอบแทนจึงสั้นและไม่มีประโยชน์ต่อมวลชน คำสอนนั้นแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่การทำการงานที่ชอบด้วยหลักของทางสายกลางย่อมไม่เคยแปรเปลี่ยนใด ๆ แม้ปุถุชนผู้ไม่เข้าใจจะแปรความหมายไปในทางใดก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างสัจธรรมนั้นได้
สัจธรรมยังคงเป็นสัจธรรมที่ส่องแสงสว่างตลอดกาลนาน ผู้ที่ทำการงานโดยชอบด้วยหลักสัจธรรมจึงเป็นสุขเพราะมิต้องคิดมากและหวาดระแวงแคลงใจต่อผู้ใด ดิน ฟ้า ไม่เคยสนใจว่าสรรพสัตว์จะเป็นอย่างไรแต่ก็ยังทำหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอ แม้ถูกตำหนิติเตียนจากมนุษย์ ฟ้าดินก็ไม่เคยตอบโต้ด้วยการประท้วงไม่กระทำการงานใดเลย แต่ถ้าเป็นปุถุชน ชอบตอบโต้ เพราะต่างเห็นแก่หน้าตนเอง และประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ ปุถุชนต้องการรักษาผลประโยชน์ตนจึงปกป้องตนเองเสมอ เพราะมีอัตตาตัวตน แต่ ฟ้าดิน ปราศจากตัวตน ธรรมะทางสายกลางก็ปราศจากตัวตนเช่นเดียวกัน
ผู้ปฏิบัติธรรมทางสายกลางจึงไม่ตอบโต้ ไม่ว่าสิ่งที่ตอบสนองกลับมาเป็นผลดี หรือผลร้ายต่อตนเอง เพราะเหตุที่ผู้นั้นปราศจากตนเองที่จะต้องรักษาเสียแล้ว จึงป่วยการที่จะตอบโต้เพื่อรักษาอัตตาตัวตนนั่นเอง การปราศจากตัวตนมิได้หมายความว่า กระทำการงานมิได้ แต่เป็นการกระทำไปตามธรรมชาติแห่ง "ธรรมญาณ" นั่นเอง ธรรมญาณ นั้นมาจาก ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นถ้าทำการงานโดยใช้ธรรมญาณของตนเองเป็นหลักจึงกระทำเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินนั่นแล
-
เมื่อมนุษย์มีกายสังขาร ย่อมมีความจำเป็นในการหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโต เพราะกายนี้ต้องการอาหาร อากาศ และน้ำ การเลี้ยงชีพของปุถุชนอันพ้นไปจากทางสายกลาง จึงก่อทุกข์ภัยให้แก่มนุษย์จนเหลือที่จะพรรณนา เพราะกระทำไปด้วยความไม่รู้จึงเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
ความโลภได้เป็นตัวการยั่วยุให้รู้จักสะสมเพื่อได้เปรียบผู้อื่น ความโกรธ เป็นตัวการก่อให้เกิดการแข่งขันชิงดีชิงเด่น ความหลงเป็นตัวการให้เกิดการปรุงแต่งทั้งรูปแบบและรสชาติของอาหาร
การเลี้ยงชีพเช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายให้แก่มนุษย์สถานเดียว เพราะเขาโลภมากจึงไม่สนใจว่าการกระทำเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติทั้งปวงเป็นการทำลายตนเอง บางคนเหน็ดเหนื่อยจนกายเจ็บป่วย บางคนยอมคดโกงเพราะต้องการรวยอย่างเดียว บางคนยอมผิดศีลธรรมเพราะเห็นเงินมีค่ามากกว่า ปุถุชนเหล่านี้จึงไม่เข้าใจ ""กฏแห่งกรรม"" ด้วยซ้ำไป เขาจึงก่อ ""กรรมชั่ว"" ส่งผลให้ต้องเวียนว่ายไปในทะเลทุกข์มิสิ้นสุด
ชายขายหมูคนหนึ่งอยู่ทางปักษ์ใต้ เขาฆ่าหมูขายมานับสิบปีด้วยคำโฆษณาที่ว่า ""หมูร้านนี้ไส้สะอาดที่สุดในโลก"" วิธีฆ่าหมูนั้นพิสดารนัก ด้วยการจับหมูมัดขาแล้วแขวนด้วยไม้หลักสองต้นและใช้เชือกดึงปากหมูให้ถ่างออกจากกัน แล้วใช้น้ำร้อนที่กำลังเดือดพลุ่ง ๆ กรอกลงไปในปากหมู เพื่อล้างใส้หมูและเครื่องในให้สะอาด หมูร้องไม่ออกได้แต่ดิ้นกระแด่ว ๆ นำ้ร้อนและขี้หมูไหลออกมา เขายังคงกรอกน้ำร้อนเดือด ๆ ลงไปในปากหมู จนไส้หมูสะอาดหมดจดและหมูขาดใจตายด้วยอาการทรมาน น่าสงสารนักแต่ชายหนุ่มมิได้มีจิตสำนึกในความเมตตาแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความดีใจที่ขายหมูจนร่ำรวยเพราะวิธีการอันชาญฉลาดนี้เอง ชายขายหมูรู้ตัวอีกครั้งหนึ่งก็ตอนที่ตนเองเจ็บป่วยใกล้ตายได้แต่ร้องสั่งลูกสาวว่า ""ไปต้มน้ำร้อนเดือด ๆ มาเร็วเข้า"" เมื่อได้น้ำร้อนแล้วก็กรอกปากตัวเอง แต่กลับร้องบอกลูกสาวว่า ""ยังไม่ร้อนโว้ย เอาที่ร้อน ๆ กว่านี้"" เขากรอกปากตนเองด้วยน้ำร้อนที่เดือดพลุ่งและถึงแก่ความตาย ไส้พองด้วยอาการอย่างเดียวที่ได้ฆ่าหมูด้วยด้วยวิธีพิสดาร
การเลี้ยงชีพชอบนั้นหมายความว่า ชอบด้วยหลักสัจธรรมของฟ้าดิน มิได้หมายถึงชอบด้วยประเพณีหรือกฏหมาย แม้การเลี้ยงชีพด้วยถูกต้องมิได้เบียดเบียนชีวิตของใคร แต่กลับไม่พอใจอาชีพของตนในขณะที่นำไปเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น เห็นว่าอาชีพของตนเองต่ำต้อย สู้อาชีพของผู้อื่นดีกว่าตนไม่ได้ ขณะใดที่เกิดความรู้สึกเช่นนี้ย่อมกลายเป็นการเลี้ยงชีพแล้วเบียดเบียนตนเอง
การเลี้ยงชีพชอบด้วยทางสายกลาง จึงถูกต้องตรงตามหลักสัจธรรม สรรพชีวิตในโลกนี้เลี้ยงชีพโดยปราศจากความ ""โลภ โกรธ หลง"" จึงเป็นการเลี้ยงชีพชอบด้วย ทางสายกลาง อย่างแท้จริง
ฟ้า ดิน เลี้ยงทุกชีวิตในโลกนี้ โดยปราศจากความต้องการผลตอบแทน น้ำ อากาศ และดิน เลี้ยงทุกชีวิตโดยไม่ต้องการผลตอบแทนใด ๆ และทุกชีวิตสามารถเจริญเติบโตขึ้นมาได้เพราะความเป็นธรรมะทางสายกลางของฟ้าดิน อย่างแท้จริง แต่มนุษย์มิได้เลียนแบบ ฟ้า ดิน เพราะฉะนั้นจึงเกิดทุกข์ภัยเพราะการเลี้ยงชีพเป็นเหตุ ตัวอย่างจากการกินด้วยการทำลายชีวิตสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพตนเอง ความไม่รู้ได้สร้างความเข้าใจผิดว่าสัตว์ เป็นอาหารของมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่สรีระร่างกายของมนุษย์มิได้เป็นสัตว์โลกที่ กินเนื้อสัตว์เลย เพราะเมื่อพิจารณาจาก ฟัน ลำไส้ การระบายเหงื่อ แล้วมนุษย์ผิดกับสัตว์ประเภทกินเนื่อสัตว์อย่างตรงกันข้าม
เมื่อใช้ร่างกายผิดรูปแบบที่ธรรมชาติสร้างมาจึงทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมานแสนสาหัสด้วยโรคนานาชนิด แต่มนุษย์ก็ไม่รู้และตั้งหน้าตั้งตาหาทุกข์ใส่ตัวต่อไป
การปฏิบัติผิดต่อสัจธรรม ""ทางสายกลาง"" จึงพ้นไปจากวิถีแห่งธรรม เมื่อผิดศีล ในข้อเบียดเบียนชีวิตสัตว์คนเหล่านี้จึงได้รับผลตอบแทนจากความทุกข์ที่ตนเองได้สร้างสมเอาไว้จนเป็นเหตุให้เวียนว่ายในวัฏสงสารต่อไป
"" คนกินพืชไม่มีกิเลส โลภ โกรธ หลง กระนั้นหรือ"" ปุจฉา
"" พืช มิใช่ตัวกำจัดกิเลส เพราะเป็นเรื่องของกาย ถ้ากำจัดกิเลสต้องกำจัดที่จิตแต่เพียงสถานเดียว "" วิสัชนา
-
ผู้คนในโลกนี้แบ่งวิถีชีวิตออกเป็นสองหนทางและสับสนด้วยความเข้าใจผิดว่าสองหนทางนี้แยกจากกันเด็ดขาด ทางหนึ่งคือทางโลกีย์ ทางหนึ่งคือทางธรรมะ เมื่อต้องการสร้างบุญกุศลจึงไปวัด คนหลงเหล่านี้จึงขาดความเพียรทางธรรม แต่มีความเพียรพยายามทางกายสังขารด้วยการเอาใจใส่และตั้งเป้าหมายในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน คนหลงเหล่านี้จึงยอมทุ่มเททุกสิ่งอย่างรวมตลอดทั้งชีวิตเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์หรือชื่อเสียงอันจอมปลอมเท่านั้นเอง แม้ไปสู่วัดวาอารามคนหลงเหล่านี้ก็เพียรพยายามขอโชคลาภจากพระ ถ้าหลวงพ่อนั้นให้หวยแม่น มีเวทย์มนต์คาถา ผู้นับถือศรัทธาก็เพียรพยายามที่เฝ้ารอขอตัวเลข ขอน้ำมนต์ เป็นอวิชชา"และเกิดความสับสนปนเประหว่างการปฏิบัติธรรมและครองชีวิตในโลก" แม้เข้ามาปฏิบัติธรรมก็ยิ่งหลงหนทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติธรรมที่คิดว่าตนเองตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่พระนิพพานจักหวังผลสำเร็จ
ความเพียรที่ไม่ชอบด้วยหนทางสายกลาง จึงไม่ต่างอะไรกับความเพียรของฤาษีที่นั่งเข้าฌาณสมาบัตินิ่งเงียบไปเป็นร้อยปีแม้สำเร็จขึ้นไปก็ยังอยู่ในชั้นของ รูปพรหม และอรูปพรหม ไม่อาจชำระล้างกิเลสของตนได้หมดจดเลย ฤาษีผู้นิยมนั่งเข้าฌาณจึงต้องตกอยู่ในวังวนของการเวียนว่ายตายเกิด """เพราะเหตุใด การเข้าฌาณจึงมิใช่หนทางสายกลาง""" ปุจฉา """การบังคับจิตให้เงียบสงบเป็นเรื่องชั่วคราวและหลงในความเงียบจึงมิใช่ทางสายกลาง คนติดความเงียบจึงหลงและทำการงานอะไรมิได้เลย แม้เจอรูปลักษณ์ก็หลงในรูปนั้นด้วยขาดปัญญา คนเหล่านี้จึงตัดกิเลสไม่ขาด""" วิสัชนา
อาการหลงทางจึงเป็นสิ่งที่น่าสงสารนักเพราะคนหลงย่อมไม่รู้ตัวเองหลง เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงแท้ต่อสัจธรรม คนเหล่านี้จึงระดมความเพียรเอาเป็นเอาตาย ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธกาล มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในสมันนี้ ความหลงจึงไม่เลือกกาลเวลา บุคคล สถานที่ จำนวนบุคคล การถอน ""ความหลง"" จึงมิใช่เรื่องที่กระทำให้ง่าย ๆ เพราะอาการยึดมั่นของคนหลงย่อมแข็งแรงมั่นคงนัก
ทางสายกลาง ปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่คนหลงกลับคิดว่า ลูกแก้ว พระพุทธรูป สวรรค์ วิมาน เป็นทางสายกลางอันแท้จริง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะจิตของคนหลงสร้างสวรรค์ขึ้นเองและยึดมั่นเอาไว้เหนียวแน่นยากที่จะแกะออก แม้พระพุทธองค์ตรัสสอนแล้วว่า ทางสายกลางปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง คนหลงเหล่านี้หาเชื่อถือไม่ กลับโจมตีว่าการกล่าวอ้างเช่นนั้นผิดและเผยแพร่คำสอนของตนเองด้วยการอ้างว่าถูกต้องตรงต่อสัจธรรม
""ความเพียรชอบต่อสัจธรรมเป็นไฉน"" ถาม ""ก่อนอื่นต้องพิจารณาคำว่า ความเพียร เสียก่อน"" ตอบ ""แล้วความเพียรหมายความว่าอย่างไรล่ะ"" """กระทำสิ่งที่ซ้ำซากจำเจได้บ่อย ๆ เรียกว่า ความเพียร"""
ด้วยเหตุนี้ผู้กระทำความเพียรจึงต้องตั้งใจหรือมีปณิธานจึงจักมีความเพียรให้ตลอดรอดฝั่ง ด้วยเหตุนี้ความเพียรที่ตรงต่อสัจธรรมนั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนหรือเป็นเครื่องเร่งเร้าให้เกิดความเพียรด้วยการระดมกำลังใจเลย สิ่งที่ฟ้าดินกระทำต่อมนุษย์ในโลกนี้ ล้วนจัดเป็นความเพียรอันตรงต่อสัจธรรม
เมื่อฟ้าดินกระทำหน้าที่ไปตามปกติ ความสุขสมบูรณ์จึงเกิดขึ้นในโลกนี้ แต่ทำไมจึงเกิดการแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ จนสร้างความวิบัติให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตมนุษย์ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุร้อน อันเป็นมหันตภัยของมนุษย์
วิบัติภัยที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เป็นความเพียรของธรรมชาติที่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง แต่เป็นเพราะความเพียรที่ผิดต่อสัจธรรมของมนุษย์ทั้งปวงที่ทำลายการหมุนเวียนของธรรมชาติอันเกิดจากความโลภของตนเองเป็นปฐมเหตุ
มนุษย์ทำลายธรรมชาติก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นกลางของธรรมชาติ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นผลร้ายแรงตามมา ถ้าเปรียบไปแล้ว ตราบใดที่มนุษย์สามารถรักษาความเป็นกลางของ ""จิต"" ตนเองเอาไว้ได้ มนุษย์ก็ไม่ทำร้ายตนเอง แต่ครั้งใดที่ ""จิต"" เคลื่อนไหวพ้นไปจากความเป็นกลางไปสู่ความ โลภ โกรธ หลง ผลที่ตามมาคือ การทำร้ายตนเองให้วิบัติลงไป เพราะฉะนั้นความเพียรชอบต่อทางสายกลางจึงกรำทำได้โดยไม่เบื่อหน่ายและเกิดความสงบสุขอันแท้จริงนั่นเอง
-
โจรคนหนึ่งกำลังวางแผนปล้นธนาคาร เขาคิดถึงทางหนีทีไล่เพื่อให้พ้นเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเพื่อให้การปล้นครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ โจรจึงกำหนดเวลาที่ปลอดผู้คน เส้นทางของการหนี การหลบซ่อนตัว การใช้เงินที่ปล้นได้ควรทำอะไรบ้าง โจรคิดกลับไปกลับมา เช่นนี้เรียกว่า โจรมีสติ แต่เป็น สติชั่ว เพราะล้วนทำการเพื่อประโยชน์ของตนเองสถานเดียว ส่วนใครจะเดือดร้อนไม่สนใจ นักการเมืองคนหนึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจการบริหารบ้านเมืองต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองและงบประมาณนั้นมีเป็นจำนวน หมื่นล้านบาทขึ้นไป นักการเมืองผู้มีอำนาจเริ่มต้นคิดว่า ""อำนาจอนุมัติอยู่ที่เรา หากไม่มีน้ำใจจากผู้รับเหมาอนุมัติไปก็ไม่ได้อะไร""เขาเริ่มต้นคิดใหม่ว่าจะทำวิธีอย่างไรจึงให้ผู้รับเหมารู้ว่าการอนุมัตินั้นสร้างความร่ำรวยให้ผู้รับเหมามากมายแค่ไหน หากอนุมัติช้าสักหน่อยเดียว ผู้รับเหมาจะต้องจ่ายดอกเบี้ยไปอีกเท่าไหร่ นักการเมืองจึงเรียกผู้ใกล้ชิดมากระซิบว่า ""ช่วยไปบอกพ่อค้าผู้รับเหมาทีเถอะว่า สมัยหน้าพรรคจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถ้าผู้รับเหมามีน้ำใจ เราก็มีน้ำเงินให้เหมือนกัน""" และเพื่อให้ประชาชนรู้ว่านักการเมืองท่านนี้เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่เคยกินตามน้ำหรือทวนน้ำเพราะฉะนั้นจึงประกาศให้สื่อมวลชนได้รับรู้ว่างานนี้มีการประมูลอย่างโปร่งใส และนักการเมืองนั้นมิได้ใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายเจ้าหน้าที่ประจำเลยแม้แต่นิดเดียว นักการเมืองคนนี้ย่อมคิดกลับไปกลับมาว่าทำอย่างไรจึงจะได้เงินมาใช้จ่ายสำหรับตนเองและพรรคของตนเอง อาการเช่นนี้เรียกว่า นักการเมืองท่านนี้มี ""สติ""แต่ก็ยังเป็น ""สติชั่ว"" อยู่นั่นเองเพราะเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและกลุ่มของตนเท่านั้น
""สติ"" เช่นนี้จึงไม่ต่างไปจากโจรปล้นธนาคาร เมื่อมีสติชั่ว ปัญญาจึงชั่วตามไปด้วย ผู้มี ""สติปัญญาชั่ว"" ล้วนก่อกำเนิดมาแต่การสั่งสมความชั่วเอาไว้ในตัวเองหลายชาติ เพราะเหตุนี้อาการลักษณะแห่ง ""ความชั่ว""จึงปรากฏให้เห็นเป็นสัญญลักษณ์บนใบหน้าของคนเหล่านี้ชัดเจน
แต่นักบุญคนหนึ่ง คิดถึงการทำบุญเพื่อยังประโยชน์เกิดขึ้นแก่ตนเองทั้งในชาตินี้แลชาติหน้า เขาคิดถึงการทำบุญที่จะเป็นผลบุญอย่างแท้จริงนั้นควรกระทำอย่างไรจึงจักได้เป็นบุญแท้
ครั้งหนึ่งเขาพบแม่ค้าเอานกใส่กรงมาเร่ขายเพื่อให้คนทำบุญปล่อยนก นักบุญท่านนี้คิดว่าการปล่อยนกย่อมให้บุญแน่นอน แต่การสนับสนุนให้แม่ค้าจับนกมาขายอย่างนี้เป็นการได้ บาป เพราะแม่ค้าคนนี้จักต้องรับบาปเวรกรรมไปอีกนานนัก
คนที่เป็นนักบุญถ้าจัดการซื้อนกปล่อย การกระทำเช่นนี้เรียกว่า ไม่มีสติ แต่ถ้าเขาไม่ซื้อเพราะเกรงว่าเป็นการสนับสนุนแม่ค้าให้ทำบาปอย่างนี้เรียกว่า ""มีสติ"" และเป็น ""สติดี""
""สติดี"" กับ ""สติชั่ว"" เป็นสองหนทางที่อยู่ตรงกันข้าม เหมือนคนหนึ่งอยู่ในมุมมืด อีกคนหนึ่งอยู่ในมุมสว่าง แต่ที่เหมือนกันก็คือ ต่างยังหวังผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง
สติเช่นนี้จึงมิใช่ สติชอบ ตามทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะเอาไว้ แต่เป็นสติที่พ้นไปจากหนทางสายกลางอย่างแท้จริง และยังเป็นสติที่ก่อให้เกิดการเวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด คนมี ""สติชั่ว"" ย่อมเวียนลงสู่นรก คนมี ""สติดี"" ย่อมขึ้นอยู่สวรรค์ชั้นเทพเทวา เมื่อทั้งสองฝ่ายเสวยผลบุญและบาปแล้วย่อมเวียนมาก่อสร้างเวรกรรมของตนเองต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
""ทำไมสร้างกรรมดีแล้วยังต้องเวียนว่ายอีกเล่า""" คนที่สร้างบุญกุศลเอาไว้เปรียบดังฝากเงินเอาไว้ในธนาคาร เงินนั้นเป็นของตนเมื่อใช้หมดแล้วย่อมต้องได้รับความทุกข์ที่ยังเกาะติดตัวเองอยู่"""
""สติชอบ""ตามหลักการของทางสายกลางนั้นย่อมพ้นไปจาก ""ความชั่ว"" และ ""ความดี"" เพราะเป็นสติที่ชอบด้วยหลักสัจธรรม การกระทำทุกประการของสติที่ชอบด้วยหลักของทางสายกลางนั้น ย่อมไม่คิดถึงบุญและผลที่ตนเองจักได้รับเลย แต่เป็นสติที่จะยังให้มวลชนทั้งปวงได้รับความสุขถ้วนหน้าโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้ตนเองได้รับทุกข์ แต่เพื่อความสุขของสรรพชีวิตทั้งหลายก็ยินยอม
การตั้งสติชอบ เช่นนี้จึงจักเป็น สติชอบด้วยหลักของทางสายกลางและเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์และเวียนว่ายตายเกิดด้วย ""จิต"" ไม่เกาะเกี่ยวในความดี ความชั่ว อีกต่อไปนั่นแล ""สติ""เช่นนี้แลเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้
-
อาการของจิตที่ตั้งมั่นไม่วุ่นวายฟุ้งซ่านอย่างนี้เรียกมี ""สมาธิ"" แต่ทำไมจึงมี ""สมาธิชั่ว"" ซึ่งเรียกว่า ""มิจฉาสมาธิ"" และ""สมาธิชอบ"" ซึ่งเรียกว่า ""สัมมาสมาธิ""
""เหตุไฉน จึงไม่มี สมาธิดี สมาธิชั่ว และสมาธิชอบเล่า "" การที่จิตตั้งมั่นเสียแล้วย่อมไม่มีหนทางที่สามมีแต่สองหนทางเท่านั้น"" แต่เพราะไม่เข้าใจใช้ปัญญาพิจารณากันให้ถ่องแท้ว่า สมาธิ นั้นมีถึงสองหนทางเพราะฉะนั้นนักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยจึงหลงไปสู่หนทางของ ""สมาธิชั่ว"" และช่วยกันเผยแพร่ว่าหนทางของสมาธิย่อมพาไปถึงนิพพานพ้นเวียนว่ายตายเกิด
""ผลของสมาธิไปสู่นิพพานจริงหรือไฉน"" ปุจฉา
""ผลของสมาธิมิใช่หนทางไปสู่นิพพานเลย เพราะมีผลแต่เพียงทำให้จิตตั้งมั่นเท่านั้นเอง ถ้าผลเพียงเท่านี้ไปนิพพานกันได้แล้วไซร้ ฤาษีย่อมไปถึงนิพพานได้เช่นกัน"" วิสัชนา
สรรพชีวิตในโลกนี้เผชิญต่อความทุกข์เพราะฉะนั้นจึงแสวงหาหนทางที่จะพ้นไปจากทะเลทุกข์ แต่เพราะมิได้ประจักษ์แจ้งในสัจธรรมจึงตกไปเป็นเหยื่อของผู้ที่อาศัยสมาธิมาเป็นสินค้า หลอกลวงให้เกิดความหลงกันทั่วหน้าเพียงเพื่อตนเองจักได้มีทรัพย์ศฤงคารมากมาย ผู้ที่หลอกลวงให้ผู้คนหลงไปในทางที่ผิดเช่นนี้ บาปเวรกรรมนั้นหนักหนาสาหัสนัก จนยากที่ชดใช้ได้หมดเพียงกัปล์เดียว หนทางไปสู่ความเป็น สมาธิ มีอยู่หลายแบบ แต่ละแบบล้วนมุ่งหมายให้ได้ผลเพียงจิตใจสงบตั้งมั่นเท่านั้นเอง
คำภาวนา พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ นับตัวเลข ยกมือ กำหนดลมหายใจ ล้วนมีจุดหมายหลอกให้จิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วมีหนทางใช้อยู่สองหนทาง ทางหนึ่งนั้นหวังอิทธิฤทธิ์ ระลึกชาติได้ เหาะเหินเดินอากาศ ดำดิน ไม่หนาวไม่ร้อน รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เสกของขลัง แปลงกาย หายตัว
การใช้อานุภาพของจิตที่ตั้งมั่นไปในลักษณะเช่นนี้ มิได้มีผลแห่งการพ้นทุกข์ แต่กลับหลงไปสู่หนทางอบายภูมิ เพราะในที่สุดผู้นิยมยกย่องหลงใหล และในที่สุดตัวเองก็หลงตัว ผู้มีญาณสมาธิเช่นนี้จึงเสื่อมได้ โลกียฤทธิ์เหล่านั้นจึงเสื่อมถอยไปด้วย ฤาษีนิยมเข้าฌานสมาธิเช่นนี้
พระพุทธองค์ทรงผ่านวิธีการเช่นนี้มาแล้วกับมหาฤาษีสองตน คือ อุทกดาบส กับ อาฬารดาบส แต่พระองค์พิจารณาว่า สมาธิเช่นนี้มิใช่หนทางแห่งการพ้นเวียนว่ายตายเกิด ไม่อาจบรรลุสู่นิพพานได้เลย พระพุทธองค์จึงทรงเลิกวิธีการนี้เสียหันมาบำเพ็ญเองพระพุทธองค์ทรงใช้ปัญญาพิจารณาและรู้ได้ด้วยว่าสมาธิแห่งฤาษีนั้นมิได้ส่งผลดี มีแต่หนทางหลงเพราะเมื่อพ้นไปจากสมาธิเช่นนี้แล้ว จิตยังคงวนเวียนอยู่กับ ทุกข์ สุข ของโลกนี้ มิได้เป็นความสงบอันแท้จริง
แต่บรรดาผู้ปฏิบัติทั้งปวงมิได้พิจารณาถึงกรณีนี้ กลับนับถือพระพุทธองค์ แต่ใช้วิธีของฤาษีสั่งสอนให้ผู้คนนั่งสมาธิกัน บางแห่งยึดติดสมาธิยังหลงไม่พอกลับหาทางให้ยึดติดรูปปั้นทองคำ บางแห่งต้องการคนมานั่งกันเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ความหลงเหล่านี้ล้วนเป็นบาปเวรทั้งสิ้น
อีกทางหนึ่งของความเป็นสมาธิใช้ไปในทางตัดกิเลสทั้งปวงที่เกิดขึ้นแต่จิต สมาธิเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดสัมมาปัญญาอันแท้จริงการเรียนรู้หรือรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นภายในจิตของตนเองย่อมต้องใช้ปัญญาแยกแยอะและเอาชนะด้วยตนเอง
การบำเพ็ญของพระพุทธองค์แสวงหาสัจธรรมภายในจิตและทรงค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว ""ธรรมญาณ"" อันเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญาไพศาล ไม่มีเกิด ไม่มีตาย ทำลายไม่ได้ โดยสภาวะเดิมแล้วเป็นสมาธิอยู่ในตัวเองเสร็จสรรพ ไม่ต้องกำหนดหมาย ไม่ต้องหลอกล่อ หรือกำหนดรูปแบบใด ๆ เลย เมื่อพระองค์คืนกลับสู่สภาวะเดิมของ ""ธรรมญาณ"" จึงย้อนระลึกได้ว่าการทำลายกิเลสและเอาชนะตัวเองได้จึงเป็นการชนะที่ยิ่งใหญ่
สมาธิเช่นนี้จึงเป็นหนทางสายกลางอันแท้จริง เพราะรู้ตัวทั่วพร้อมและสามารถทำการงานได้ ยังประโยชน์ให้แก่เวไนยสัตว์ได้ แต่มิจฉาสมาธิล้วนแต่กระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น สมาธิเช่นนี้จึงยังคงมีความรักและเกลียดอยู่ไม่รู้หาย
สภาวะแห่งจิตยังคงหมุนเวียนอยู่ในทางดีและชั่ว เพราะปรารถนาให้ได้ ให้เป็น เพื่อตนเอง
แต่สัมมาสมาธิ มิได้ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะเป็นสมาธิแห่งธรรมญาณ จึงกระทำการทุกอย่างดั่งฟ้าดินที่ต้องการให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงพ้นไปจากทุกข์ สัมมาสมาธิ จึงไม่มีอาการเห็นแก่ตัวตน ไม่ต้องการทรัพย์ศฤงคาร ไม่ต้องการคนมานั่งเป็นหมื่นเป็นแสนไม่จำเป็นต้องปั้นรูปทองคำให้คนกราบไหว้บูชา สมาธิชอบจึงเป็นสมาธิที่ชอบด้วยหลักสัจธรรม อันปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ
-
"" ทำไมจึงต้องไปรับธรรมะ ผมทำทุกอย่างตามธรรมชาติอยู่แล้ว "" ผู้ไม่รู้จักธรรมะมักตอบอย่างนี้
"" ธรรมชาติดูจากอะไร "" ผู้ปฏิบัติธรรม ถาม
"" ผมไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อยากินก็กิน อยากนอนก็นอน เท่านั้นเอง ""
"" อย่างนี้ยังไม่ใช่ตามธรรมชาติเพราะเป็นเรื่องของกาย ทำตามความปรารถนาของกาย มิใช่ธรรมะ ""
"" อะไรเล่าคือ ธรรมะ ""
นักปฏิบัติธรรมที่ผิดเพื้ยน และหลงหนทางมักมองดูการปฏิบัติธรรมมิใช่เรื่องธรรมดา ต้องมีอะไรผิดแปลกไปจากคนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปลักษณ์
ความจริง การปฏิบัติธรรมะอยู่ที่ ""จิต"" และเข้าถึง ""ธรรมะ"" ย่อมมองเห็น ""ธรรมญาณ"" สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาอันปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมยิ่งเพี้ยนก็ยิ่งไปกำหนดรูปลักษณ์ ที่แปลกประหลาดจนผิดธรรมดา
สมัยพระพุทธองค์ออกบวช พระองค์มีจุดประสงค์เพื่อทำลายชนชั้นวรรณะของชาวชมพูทวีป จึงเอาเครื่องทรงกษัตริย์คืนไปและปฏิบัติเยี่ยงขอทาน เพื่อให้ทุกชนชั้นวรรณะเข้ามาปฏิบัติธรรมได้เสมอกัน
""ธรรมดาของกาย"" ต้อง กิน นอน แก่ เจ็บ ตาย เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
"" ธรรมดาของจิต"" ไม่เคยหยุดนิ่ง ไหวทุกครั้งที่มีสิ่งมากระทบ เกิด -- ดับ ตลอดกาล
"" ธรรมดาของธรรมญาณ "" จึงเงียบ สงบ สว่าง ว่างเปล่า ไม่ยึดติดสิ่งใด และไม่เกิด -- ดับ ทำลายมิได้
ผู้ปฏิบัติธรรมที่หลงหนทางของกายจึงแปลก แยกทำตัวให้ไม่ธรรมดา
ผู้ปฏิบัติธรรมที่หลงในหนทางของจิต จึงพยายามแสดงอิทธิฤทธิ์อิทธิเดช เพื่อให้คนทั้งปวงเลื่อมใสว่าตนเองเป็นผู้สำเร็จและศักดิ์สิทธิ์ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมที่เข้าใจสภาวะแห่งธรรมญาณ จึงมองทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา นักธรรมอาวุโสท่านหนึ่ง ท่านเป็นธรรมปริณายกที่ผู้ปฏิบัติธรรมยกย่องฉายาว่า ""ผู่เฒ่าน้ำใส"" ท่านปฏิบัติจนแลเห็นเป็นธรรมดา มีนักธรรมจากทั่วโลกเข้าไปกราบพระบาทของท่านเพื่อฟังอรรถาธรรม ซึ่งท่านก็จะประทานพระวจนะอย่างธรรมดา ๆ ว่า "" การปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ที่มโนธรรมสำนึก จิตที่มีมโนธรรมสำนึกรู้จักขอบคุณทุกสิ่งอย่างนั่นแหละ คือ ธรรมะ ""
เวลานักธรรมลากลับ ท่านธรรมปริณายกเดินออกมาส่งถึงประตูรถและโบกมืออำลาให้แก่ทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในฐานะสูงต่ำอย่างไร ท่านปฏิบัติต่อนักธรรมเสมอเหมือนกันหมด จนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา มีแต่นักธรรมผู้อ่อนด้อยในการปฏิบัติเท่านั้นจึงแลดูว่าท่านสูงส่ง ท่านอายุ 90 กว่าปี แล้วยังยกย่องให้เกียรติผู้น้อยเสมอเหมือนกัน ในความรู้สึกของเราจึงไม่ธรรมดา แต่ในความรู้สึกของท่านธรรมปริณายก เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นคนที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือสรรพสิ่งที่ไม่เปลี่ยนจึงกล่าวว่าเป็นธรมดาสามัญ แต่ปุถุชนทั่วไปมิได้เป็นเช่นนั้น พบคนถูกใจก็พูดเพราะ พบคนที่ไม่ถูกใจก็พูดหยาบ คนที่ไม่ธรรมดาเช่นนี้จึงมิใช่ทางสายกลาง ทางสายกลางจึงเป็นธรรมะที่ไม่เปลี่ยนแปลงและคงที่ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ยังคงลักษณะเดิมเอาไว้ได้ตลอดเวลา การปฏิบัติทางสายกลางจึงมีความเที่ยงตรงและสม่ำเสมอ กับทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีการแบ่งแยก
ผู้ประคองรักษาสภาวะจิตของตนเอาไว้ได้เช่นนี้ตลอดเวลา จึงไม่เกิดความทุกข์ เพราะเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า หนทางสายกลางเป็นหนทางแห่งการดับทุกขืที่แท้จริง
ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจของ ""จิต"" ย่อมเคลื่อนไหวไปตามความพอใจและไม่พอใจของอารมณ์ที่สั่งสมเอาไว้ คนเหล่านี้จึงหาทุกข์ใส่ตนเองตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจธรรมญาณ จึงมองดูสรรพสิ่งเท่าเทียมกันและเป็นธรรมดา เพราะต่างมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน แต่มาแตกต่างกันด้วยวิบากรรมที่ต่างสร้างขึ้นด้วยความหลงผิดนั่นเอง
ถ้าทุกคนมองเห็นเท่ากันไม่มีการแบ่งแยกแล้ว การแข่งขันชิงดีชิงเด่นก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร แม้สัตว์ทั้งปวงก็มีรากเหง้าแห่งธรรมญาณมาจากที่เดียวกันแต่ที่แตกต่างกันเพราะ ตัวปลอมที่ธรรมญาณไปอาศัยอยู่ตามกรรมที่ตนเองก่อเอาไว้ เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนไปร่ามงานประชุมธรรมะที่อำเภอปากช่อง นครราชสีมา ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งมีสุนัขมากมายหลายตัวล้วนส่งเสียงเห่ารบกวนการประชุม ตอนที่มีการเตรียมงานประชุมธรรม มีอาจารย์บรรยายธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งถูกสุนัขเหล่านั้นเห่ารบกวน ท่านจึงเดินไปดูว่าตัวไหนมีท่าทีเป็นจ่าฝูง สุนัขจ่าฝูงนั้นมองหน้าอาจารย์ อาจารย์ท่านนี้จึงจ้องหน้าสุนัขตรงจุดญาณทวารแล้วพูดว่า ""ชาตินี้เจ้าเกิดมาเป็นสุนัขถือว่ามีบาปแวรกรรม เราจะมาประชุมธรรมะที่นี่เจ้าจงอย่ารบกวน แล้วไปบอกพวกเจ้าด้วย จะเป็นการสร้างบุญกุศลในครั้งนี้ เมื่อเจ้าเกิดใหม่ธรรมะนี้ยังอยู่ก็จะมีโอกาสได้รับธรรมะนี้ ""
หลักฐานพยานปรากฏชัดว่าธรรมญาณของสุนัขกับคนเหมือนกัน เพราะตลอดสองวันของการประชุมทุกอย่างสงบเรียบร้อยเป็นธรรมดา
-
ปุถุชนชอบแบ่งแยกและเปรีบยเทียบโดยเอาตัวเองเป็นหลัก เพราะเหตุนี้จิตใจของเขาจึงไม่เที่ยงตรงและตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่า ""ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง"" ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ทราบว่า จิตญาณเดิมล้วนเสมอเหมือนกันและมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ที่แตกต่างกันเพราะรูปลักษณ์อันเป็นไปตามวิบากกรรมที่ต่างสร้างสมเอาไว้ไม่เหมือนกัน ถ้าทุกคนมองดูสรรพสัตว์เท่าเทียมกัน ""ความเมตตา"" อันแท้จริงย่อมเกิดขึ้นและต่างไม่เบียดเบียนกันด้วยเห็นเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกัน
พระศาสดาขงจื๊อกล่าวว่า ""ความเที่ยงตรงเป็นธรรมะอันเที่ยงแท้ของจักรวาล"" ความหมายแห่งพระวจนะนี้หากพิจารณาการหมุนเวียนของดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ย่อมเห็นชัดเจนว่าหากดวงดาวเหล่านี้ไม่มีความเที่ยงตรงแห่งการหมุนเวียนแล้วไซร์ย่อมจะเกิดเหตุวิบัติกระทบถึงความปกติสุขอย่างแน่นอน
มนุษย์ก็เช่นเดียวกันหากจิตใจไม่เที่ยงตรงเยี่ยงเดียวกับจักรวาลแล้วย่อมก่อให้เกิดความทุกข์เพราะเกิดความผันแปร แต่ความเที่ยงตรงย่อมไม่เปลี่ยนแปลง
สภาวะแห่งทางสายกลางก็เช่นเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้นจึงก่อเกิดความเที่ยงตรงแห่งจักรวาลนี้ได้ จนกลายเป็นกฏเกณฑ์ธรรมดาของจักรวาล ฝนตก น้ำท่วม ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ แล้วก็ถึงฤดูใบไม้ร่วง หมุนเวียนไปจนแลดูเป็นธรรมดาถ้าหากความธรรมดาเช่นนี้เกิดผิกแผกขึ้นมาเมื่อไร ก็กล่าวได้ว่า ไม่เป็นปกติธรรมดาย่อมก่อให้เกิดภัยพิบัตินานาขึ้นมา
ดังนั้นถ้ามนุษย์มีความเป็นธรรมดาก็สามารถเข้ากับทุกคนได้หมดเฉกเช่นเดียวกับฟ้าดิน เพราะจักปฏิบัติต่อทุกคนเท่าเทียมกันแต่ถ้าเลือกที่รักมักที่ชังแล้วย่อมไม่เป็นธรรมดาและความทุกข์ย่อมติดตามมา ตังอย่างเช่นนี้มีให้เห็นทั่วไป
บางคนปฏิบัติต่อคนรวยและมียศฐาบรรดาศักดิ์อย่างหนึ่งด้วยความนอบน้อม แต่กลับวางอำนาจข่มขู่ผู้ด้อยด้วยเงินตราและยศศํกดิ์ คนที่ปฏิบัติเช่นนี้เขาย่อมต้องปรับเปลี่ยนจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตใจย่อมไม่เที่ยงตรง จึงหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ เพราะต้องคอยถอดหน้ากากและสวมหน้ากาก
""คนเช่นไรเล่าจึงจักปฏิบัติได้อย่างธรรมดา"" ถาม ""ผู้ที่เผชิญหน้ากับธรรมญาณของตนเอง เท่านั้นจึงปฏิบัติได้อย่างธรรมดา"" ตอบ นักปฏิบัติธรรมที่มิได้ถ่ายทอดวิถีจิตย่อมยากที่จะมองย้อนส่องตนเองได้ หรือแม้แต่ผู้ที่ได้รับถ่ายทอดวิถีจิตแล้วหากไม่ใส่ใจศึกษา สภาวะแห่งทางสายกลางก็ยากที่จะเกิดขึ้นหรือเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่อย่างนี้
บรรดาผู้ปฏิบัตธรรมทีี่่กล่าวว่าตนเองอยู่ในทางสายกลางแท้ที่จริงแล้วเป็นหนทางแห่งการกำหนดหมายขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อคิดขึ้นมาได้ ก็เป้นทางสายกลางเสียทีหนึ่ง แต่พอลืมไปก็เป็นทางสายเอียง
ความจริงผู้ปฏิบัติทางสายกลางอันแท้จริง ย่อมเผชิญหน้าแห่งธรรมญาณแห่งตนจึงพบภาวะนั้นอย่างแท้จริงและเป็นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกดังเช่นพระพุทธองค์ทรงปฏิบัตได้ ถ้าทุกคนในสังคมมีความเป็นธรรมดาเท่าเทียมกันหมดก็ไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายหรือกฏเกณฑ์ใด เพราะความเป็นธรรมดาจะกลายเป็นกฏเกณฑ์ที่ควบคุมสังคมซึ่งจะมีความสุข โลกนี้ก็จะมีสันติสุข แต่เพราะความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนี้ เพราะจิตใจของคนพ้นไปจากความเป็นธรรมดา โลกจึงเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ มีอุทกภัย ข้าวยากหมากแพง สิ่งแวดล้อมเป็นมลพิษ
จิตใจของคนที่พ้นไปจากธรรมดาแห่งทางสายกลางจึงต้องสร้างกฏหมายต่าง ๆ ขึ้นมาบังคับแต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เลย เพราะกฏเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นมีพื้นฐานมาจากความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบด้วยความโลภ โกรธ หลง
มนุษย์จึงสร้างกฏเกณฑ์ที่ขัดแย้งกันเอง ความวุ่นวายจึงตามมา และลามปามไปจนถึงการฆ่าฟันกันไม่รู้จบ ทางสายกลางนั้นจึงเป็นเรื่องกับจิตโดยตรง แม้พระพุทธองค์กับพระศาสดาขงจื๊อต่างมีคำสอนที่ตรงกันให้ระวังรักษาจิตของตนเองให้เที่ยงตรงต่อฟ้าดิน อันเป็นทางสายกลางที่แท้จริงตามธรรมชาติ
พระพุทธองค์ตรัสธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร ก็ทรงสอนถึงความเป็นธรรมดาแห่งจิต ที่เที่ยงตรงไม่เวียนว่ายไปสร้างชาตสร้างภพไม่จบสิ้นเพราะวิบากกรรมที่ตนเองสั่งสมเอาไว้แต่ละชาติเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธรรมญาณไปเวียนว่ายอาสัยรูปร่างต่าง ๆ กัน ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิถีจิตย่อมรู้หนทางแห้งการบำเพ็ญมิให้จิตเคลื่อนไหวและกลับคืนสู่สภาวเดิมแห่งธรรมญาณ การไม่เคลื่อนไหวไปตามแรงแห่งอารมณ์ย่อมจบสิ้นมิต้องสร้างกรรมเวรอีกต่อไป ภาวะแห่งการไม่เคลื่อนไหวเช่นนี้จึงกลายเป็นนิพพานแห่งตัวเอง พระพุทธองค์จึงทรงมีพระพุทธวจนะว่า "ไม่ต้องไปแสวงหานิพพานที่ใด นิพพานอยู่ในตัวเรา" คนที่แสวงหานิพพานจากภายนอกหรือจากเกจิอาจารย์ใดย่อมไม่พานพบโดยเด็จขาดเพราะนิพพานคือความเที่ยงตรงแห่งจิตใจอันเหมือนกับความเที่ยงตรงแห่งจักรวาลนั่นเทียว
-
พุทธศาสนิกชนมักเข้าใจกันว่า "ทางสายกลาง" มีแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้นส่วนศาสนาอื่นไม่มี นับเป็นความเข้าในที่ผิด เพราะทางสายกลางเป็นสากลมิได้แบ่งแยกหรือมีแตเฉพาะคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็หาไม่
พระเยซูคริสต์อันเป็นศาสดาของศาสนาคริสต์สั่งสอนเวไนยทั้งปวงว่า "เมื่อถูกตบแก้มซ้าย จงเอียงแก้มขวาให้เขาตบด้วย"ควมหมายนั้ชัดแจ้งว่า พระองค์มิได้สอนให้โต้ตอบ ด้วยการกระทำชั่วเลย แต่จงยอมรับแม้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าใครมีจิตใจเช่นนี้แน่นอนย่อมเป็นจิตใจของทางสายกลางโดยแท้ แม้ในสมัยที่พระเยซูถูกทหารโรมันตรึงกางเขน ด้วยความทุกข์ทรมานแต่พระเยซูเจ้ากลับอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยแก่ผู้หลงผิดเหล่านี้และพระองค์ยินยอมไถ่บาปให้แก่ผู้ทำร้ายพระองค์ ถ้าหากพระองค์มิได้มีจิตใจเป็นทางสายกลางแล้วย่อมเสียสละเช่นนี้มิได้ พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึง ""ชีวิตนิรันดร์"" ว่าหากต้องการมีชีวิตนิรันดร์จงเชื่อและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
พระวจนะนี้จงเทียบเคียงสมัยที่พระเยซูรับศีลจุ่ม ณ แม่น้ำจอร์แดนจากนับุณโยฮัน พระองค์ตรัสว่า "ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปิดกว้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาอย่างรวดเร็วดังนกพิราบเข้ามาสถิตในพระองค์"
ความหมายแห่งชีวิตนิรันดร์ คือ การไม่ตาย ไม่ดับ อันหมายถึง ""ธรรมญาณ"" พระพุทธองค์ตรัสถึงสภาวะแห่ง ""ความไม่เกิด -- ไม่ตาย""ว่า ""ความเชื่อว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ล้วนเป็นควมเชื่อที่ผิด"" พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่าเป็น ""ตถาคต"" มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะเหตุที่ธรรมญาณ ไม่มีเกิดและไม่มีตาย แม้ภาษาแตกต่างกันแต่ความหมายแห่งพระวจนะของพระศาสดาทั้งสองเหมือนกัน
ที่ประเทศอินโดนีเซียมีบาทหลวงคาทอริกอยู่ท่านหนึ่งวึ่งเป็นผู้ที่มีควมศรัทธาแรงกล้าในคริสต์ศาสนา คืนวันหนึ่งท่านนิมิตเห็นพระเยซูเจ้า ตรัสว่า ""เจ้านั้นเคารพนับถือเราแต่เจ้าไม่รู้หนทางชีวิตนิรันดร์เพราะฉะนั้นจึงไม่พ้นไปจากการเวียนว่าย"" ในฝันนั้นพระเยซูได้พับกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นเหมือนเครื่องบินที่เด็กเล่นแล้วตัดด้วยกรรไกรสองครั้ง เมื่อนำกระดาษกลางออกมาเป็นรูปเครื่องหมายแห่งกางเขน ส่วนกระดาษที่เหลือจากการตัดนำมาต่อเป็นตัวอักษรได้ถึงสามภาษาคือ อังกฤษ จีน และไทย เรียงเป็นตัวอักษรจีนได้คำว่า ""หย่งเซิน"" แปลความว่า ""ชีวิตนิรันดร์"" บาทหลวงผู้นั้นจึงถามพระเยซูว่า ""ถ้าต้องการได้ชีวิตนิรันดร์จะทำอย่างไร""พระเยซูจึงชูแผ่นใบฏีกาที่เป็นภาษาจีน หากมีชื่ออยู่ในแผ่นนี้จักได้ชีวิจนิรันดร์ เมื่อเอาเศษกระดาษนั้นมาเรียงกัน อีกก็จะเป็นภาษาจีนอีกสองคำคือ ""สื่อหวัง แปลว่า ""ตายตกนรก"" หากนำมาเรียงเป็นภาษาอังกฤษจะได้คำว่า "" HELL"" แปลว่า"นรก""หลังจากนั้นบาทหลวงก็ออกตามหาใบฏีกาตามศาลเจ้าต่าง ๆ จนกระทั้งได้พบอาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรม และได้ดูใบฏีกาซึ่งเหมือนกับที่พระเยซูได้แสดงให้เห็นในฝัน บาทหลวงจึงรู้ว่าการแบกไม้กางเขนนั้น หากไม่รู้ประตูแห่งธรรมญาณแล้วย่อมไม่พานพบ""ชีวิตนิรันดร์"" ธรรมญาณ จึงเป็นชีวิตนิรันดร์ ที่ไม่เกิดและไม่ดับ แต่ผู้ที่ติดอยู่กับกายเนื้อจึงเกิดดับไม่อาจได้สัมผัสกับชีวิตนิรันดร์ พระศาสดาทั้งปวงและพระอริยะเจ้าทุกพระองค์ย่อมไม่ดับสูญไปจากธรรมจักรวาล เราจะเห็นได้ว่า บัดนี้ สาธุชนกราบไหว้พระองค์เฉกเช่นผู้ยังมีชีวิตอยู่ และยังกล่าวพระนามของพระองค์เสมือนหนึ่งยังทรงพระชนม์ชีพ แต่สำหรับ ปู่ ย่า ตา ทวด ปีหนึ่งจึงนึกถึงครั้งหนึ่งและถ้าไม่รู้จักเลยก็ไม่ได้นึกถึง จึงเสมือนหนึ่งตายจากไปแล้วอย่างแท้จริง
ความหมายแห่ง ""ชีวิตนิรันดร์"" จึงไม่ได้เป็นอยู่อย่างที่นึกถึงเท่านั้น พระองค์จึงทรงอยู่ในถิ่นที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆที่เราเรียกว่า ""โลกุตตรภูมิ"" หรือ ""นิพพาน"" และนำเอาสภาวะแห่ง ""ทางสายกลาง"" มาพิจารณาแล้วก็จะรู้ได้ว่าสภาวะเช่นนี้ ไม่เกิดไม่ดับเพราะมิได้สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
ถ้าเทียบเคียงกับปุถุชนจึงรู้ได้ว่า เวลาโกรธจัด อารมณ์รุนแรงไปทางหนึ่งที่จะทำลายทุกอย่าง แต่พออารมณ์สงบ อาการโกรธหายไปนั่นหมายถึง "อารมณ์ดับ" คนที่มีอารมณ์ดีใจก็เช่นเดียวกัน เขาไม่อาจรักษาอารมณ์นี้ไว้ได้ตลอดไป ในที่สุดก็ต้องดับอารมณ์เช่นนี้เหมือนกัน แต่สภาวะแห่งความเป็นกลาง ไม่มีการเกิด จึงไม่มีการดับ
"""ชีวิตนิรันดร์"" จึงเป็น ""ทางสายกลาง"" โดยแท้
"" ชีวิตนิรันดร์ "" เป็นเช่นใด ""ธรรมญาณ"" ก็เป็นเช่นนั้น"""
-
ความผิดพลาดของมนุษย์จนก่อให้เกิดความหายนะต่อชีวิตและทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากเหตุที่ไม่สำรวมระวัง ปลอ่ย กาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามอารมณ์ ซึ่งมักจะพาไปสู่หนทางแห่งอบายมากกว่า หนทางอริยะ
พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้าำรวมระวัง จิต วาจา และกาย
สำรวมจิต คือ ระวังจิตมิให้วอกแวกหรือสั่นไหวไปตามอารมณ์ทั้งปวง
สำรวมวาจา คือ ระวังมิให้ก่อวจีกรรมอันลามก
สำรวมกาย คือ มิให้กระทำในสิ่งที่ผิดธรรมะ
การสำรวมระวังนี้ต้องกระทำทุกเวลา แต่คนส่วนใหญ่ มักระวังเวลาอยู่กับผู้คนด้วยห่วงใยชื่อเสียงของตนเอง แต่ถ้าลับตาคนแล้วก็ปราศจากความสำรวมระวังปล่อยกายปล่อยใจตามอารมณ์
อาการสำรวมระวัง คือ ระวังให้ ""จิต"" อยู่ในทางสายกลางเสมอ สภาวะจิตเช่นนี้จึงเป็น"มหาสติปัฏฐาน 4" อันได้แก่
1. กายานุปัสสนา การตามพิจารณาเห็นกายว่ามิใช่ตัวตนอันแท้จริงและรู้ความเคลื่อนไหวของกายตลอดเวลา
2. เวทนานุปัสสนา การพิจารณาเห็นอารมณ์ทุกข ์ -- สุข ที่กำลังครอบครองเราอยู่
3. จิตตานุปัสสนา การพิจารณาเห็นจิตที่เคลื่อนไหวก่อเกิด ตัณหา ราคะ หดหู่แล การเกิด-ดับของจิต
4. ธรรมานุปัสสนา การพิจารณาเห็นธรรมอันเป็นไปตามนิวรณ์ 5 ความพอใจ ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน รำคาญ ถ้ารู้ชัดในสิ่งเหล่านี้ แล้วย่อมควบคุมได้
ถ้าสภาวะจิตมิได้อยู่ในทางสายกลาง ก็ยากที่จะมี ""มหาสติ"" และไม่เกิดปัญญาพิจารณาตนเองตามนัยที่พระพุทธองค์ได้กล่าวไว้ ในคัมภีร์จงยง ทางสายกลาง ของท่านขงจื๊อ ได้กล่าวเอาไว้ทำนองเดียวกัน มีความว่า...
ซื่อ กู้ จวิน เจี้ย เซิ่น ฮู ฉี สั่ว ปู้ ตู่ ข่ง จวี้ ฮู ฉี สั่ว ปู้ เหวิน แปลความว่า ""กัลยาณชนผู้บำเพ็ญต้องตักเตือนระวังตนในสิ่งที่ผู้อื่นไม่เห็นและไม่ได้ยิน เพื่อละเว้นการก่อบาปสร้างเวร"""
การตักเตือนตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะตามปกติแล้วปุถุชนไม่เคยตักเตือนตนเองมีแต่จะตักเตือนผู้อื่นเสมอเพื่อสำแดงว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น เก่งกว่า สภาวะจิตอย่างนี้ล้วนพ้นไปจาก "ทางสายกลาง"
แต่การตักเตือนตนเองย่อมต้องอาศัย สติปัญญา สำรวจความผิดพลาดของตนเองอย่างถี่ถ้วนและเป็นธรรม หากไม่มีสภาวะแห่งทางสายกลางอยู่แล้วย่อมไม่อาจสำรวจความผิดพลาดของตนเองได้เลย เพราะปุถุชนย่อมมองเห็นแต่ความดีงามของตนเป็นสำคัญและเห็นความชั่วของคนอื่นก่อนเสมอ ""เห็นความดีของตน"" กับ ""เห็นความชั่วของคนอื่น"" ทั้งสองกรณีนี้สภาวะจิตอยู่ตรงกันข้ามเพียงแต่เหมือนกันที่พ้นไปจากทางสายกลางและเป็นการกระทำของจิตใจที่ไร้สติ และประการสำคัญไม่มีผลแห่งการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น คนที่เห็น ""ความดีของตน"" ย่อมมีแต่ความพึงพอใจไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่นเดียวกับ ""ความชั่วของคนอื่น"" ก็ไม่มีใครยอมให้แก้ไข
ความชั่วที่ปุถุชนกระทำได้ง่ายที่สุดก็คือ ในที่ลับตาคน เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ใครเห็น จิตใจของคนย่อมปล่อยไปตามอารมณ์ขาดความระวังสำรวมเพราะเหตุนี้จึงสร้างเวรกรรมเอาไว้มากมาย
ท่านขงจื๊อ ตักเตือนให้ผู้บำเพ็ญระวังสำรวม ก็โดยรู้ถึงธรรมชาติของจิตมนุษย์ชอบฟุ้งซ่าน และปฐมเหตุแห่งความชั่วทั้งปวงเริ่มต้นที่ ""จิต"" โดยเฉพาะความคิดชั่วที่เกิดขึ้นหากไม่ระงับยับยั้งเอาไว้ย่อมสานต่อไปจนถึงการกระทำด้วยวาจาและกายในที่สุด มนุษย์ชอบปิดบังความชั่วของตนเองไม่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ สถาวะแห่งจิต จึงทุกข์ทรมานเพราะพ้นไปจากทางสายกลาง แต่ถ้าหากเราคิดว่าการกระทำนั้นไม่มีใครรู้ใครเห็น ""จิต"" ย่อมตกอยู่ในสภาวะแห่งความประมาทโดยแท้
พระพุทธองค์ตรัสว่า ""ความลับไม่มีในโลก"" ความหมายก็คือ แม้ไม่มีใครรู้เลยเราเองเป็นผู้รู้ในการกระทำตลอดเวลาและบันทึกเอาไว้เสมือนหนึ่งถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้ในจิตใต้สำนึก และพระอริยะเจ้ากล่าวเอาไว้ว่า ""เหนือศรีษะสามฟุต มีเทพเจ้าอยู่"" เพระฉะนั้นไม่ว่ากระทำการสิ่งใด เทพเจ้าย่อมรับรู้เสมอไป อีกประการหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า กระแสจิตที่เริ่มคิดดีหรือคิดชั่วนั้นย่อมก่อให้เกิดคลื่นและแผ่รังษีออกไปเพราะฉะนั้นเราจะสังเกตุเห็นได้ว่า คนที่กำลังคิดชั่วหากเราอยู่ใกล้ก็จะรับรู้พลังนั้น
ความคิดดีก้เช่นกันย่อมมีพลังส่งกระแสออกไป เพราะฉะนั้นผู้มีจิตสงบจึงสัมผัสได้กับความรู้สึกของผู้คนเหล่านั้น แต่การสำรวมระวังให้""จิต"" อยู่ในทางสายกลางย่อมไม่ปรากฏ พลังดี-ชั่ว แผ่ออกมาเลยนั่นหมายถึงว่า ภาวะจิตสงบ เพราะฉะนั้นการสำรวมระวังจิตจึงต้องกระทำทุกเวลานาที
-
มีคำพังเพยอยู้วลีหนึ่งที่เราเอามาใช้กันจนคิดว่าเป็นของไทยคือ ""อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่ในหมู่มิตรระวังวาจา"" ความจริงคำพังเพยนี้เป็นพระวจนะของศาสดาขงจื๊อแห่งศาสนาปราชญ์ ที่กล่าวเอาไว้ในคัมภีร์จงยง หรือ ทางสายกลาง ซึ่งมีถ้อยคำประโยคหนึ่งที่ว่า...
ม่อเจี้ยน ฮู อิ่น ม่อเสี่ยนฮูเหวย กู้ จวิน จื่อ เซิ่น ฉี ตู๋ เหย่ แปลความหมาย ว่า ""ในที่ลับตาคนย่อมกระทำความผิดได้ง่าย แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมจึงควรระวังจิตของตนเองในขณะที่อยู่ตามลำพง"""
ขณะที่เราอยู่ตามลำพังโดยมากจิตย่อมคิดฟุ้งซ่านเพราะปราศจากการบังคับ แต่การอยู่ในหมู่คนอย่างน้อยมีเป้าหมายที่เราต้องระมัดระวังกริยาท่าทางและวาจา เพราะฉะนั้นความเป็นสมาธิของจิตย่อมเกิดขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านย่อมไม่มี คนที่อยู่คนเดียวจึงไม่อาจบังคับจิตให้หยุดอยู่กับที่ได้ ความคิดแล่นไปไกลจนหาขอบเขตที่หยุดมิได้
และความคิดที่แล่นออกไปโดยปราศจากกรอบบังคับย่อมไปทั้งใน "ความดี-ความชั่ว" แต่เพราะการสั่งสม "ความชั่ว" เอาไว้มาก เพราะฉะนั้นความคิดจึงโลดแล่นไปในทางชั่วมากกว่าความดี เมื่อปราศจาก "สติ" ยั้งคิดย่อมปล่อยปละละเลยแลเห็นความผิดเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไร แต่เมื่อก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ และสั่งสมเอาไว้ในที่สุดควมชั่วนิดเดียวก็กลาบเป็นความชั่วที่ใหญ่โตขึ้นมาได้
"จิต" ที่โลดแล่นไปตามอายตนะทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมก่อให้เกิด""พลังอารมณ์"" ในขณะจิตคิดไปในทางที่ดีย่อมเบิกบานสราญใจ แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อคิดไปในทางไม่ดีย่อมเกิดความเศร้า คับแค้น อารมณ์ทั้งปวงไม่ว่าจะอยู่ทางฝั่งดีหรือชั่วล้วนเป็นเรื่องของการเสวยอารมณ์และเป็นภาวะที่พ้นไปจากทางสายกลางอย่างแท้จริง
การระวังจิตของตนเองจึงควรมีวิธีอันถูกต้อง หาไม่แล้วจะตกอยู่ในฟากของความหลงอย่างเช่น ฤาษีทั้งหลายที่นั่งเข้าฌานสมาบัติหรือเข้าสมาธิล้วนแต่กำหราบจิตของตนเองให้อยู่นิ่งเฉย ดุจก้อนศิลาจึงหาค่าแต่ประการใดมิได้เลย
สมัยหนึ่งท่าน ซูตงพอ กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ้องเดินทางไปกับมหาสมณะ ฝ่าอิ้น ซึ่งเป็นสหายธรรม ท่านซูตงพอแลเห็นพระโพธิสัตว์กวนอิม ก้มพระพักตร์นับลูกประคำอยู่ จึงถามท่านฝ่าอิ้นว่า "เหตุไฉน พระโพธิสัตว์บรรลุธรรมแล้วยังคงภาวนานับลูกประคำอยู่เล่า" ""อ้าว ท่านไม่รู้หรือว่าพระโพธิสัตว์ เมื่อว่างจากการโปรดเวไนยสัตว์แล้ว พระองค์ย่อมต้องระวังจิตด้วยการสำรวมเช่นกัน"ถ้อยคำเช่นนี้ย่อมเป็นประจักษ์หลักฐานให้รู้ว่า "จิต" ไม่วา่จะเป็นของปุถุชนหรือพระอริยะบุคคลย่อมฟุ้งซ่านได้เสมอ เพียงแต่ปุถุชนมิได้สำรวมผิดแผกไปจากพระอริยะ ท่านมีวิธีแห่งสำรวมจิต
การสำรวมระวังจิต ผิด กับการกำหราบจิต ให้อยู่นิ่งของฤาษีเป็นแน่นอน พระอริยเจ้าสำรวมจิตให้อยู่ในทางสายกลางย่อมผ่องใสเพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงมีรอยยิ้มแห่งมหาเมตตาปรากฏอยู่เนืองนิตย์ แต่เหตุไฉน รูปปั้นของพระศรีอริยเมตตรัยจึงไม่เพียงแต่มีรอยยิ้มแต่หัวเราะและมองตรงไปเบื้องหน้า มิเป็นการไม่สำรวมจิตหรือ ปริศนาธรรมเช่นนี้ได้ชี้ให้เห็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า พระศรีอริยเมตตรัยทรงได้รับเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธจิตแล้ว เพราะฉะนั้น สภาวะแห่งความเป็นกลางของจิตมีอยู่ตลอดเวลา และการที่พระศรีอริยเมตตรัยมีท้องใหญ่โตมโหฬารก็เพื่อแสดงให้รู้ว่าพระองค์เก็บได้ทั้งความทุกข์และสุขของเหล่าเวไนยสัตว์ พระองค์จึงหัวเราะได้ทุกเวลาไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับความทุกข์หรือสุข
"""เหตุใดจึงมีพระนามว่า พระศรีอริยเมตตรัย"""
"""ปณิธานของพระองค์ทรงเมตตาอย่างไม่มีเงื่อนไขและเมตตาสามโลก คือ มนุษย์ สวรรค์ และนรก"""
พระศรีอริยเมตตรัยทรงต้องการให้ทั้งสามโลกนี้กลมกลืนกันลและเป็นอย่างเดียวกันนั่นคือ แดนสุขาวดี
ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ย่อมอยู่ในทางสายกลางโดยแท้ แต่ใครที่ได้รับได้แต่ ""ความดี"" หรือ ""ความชั่ว"" เพียงอย่างเดียวย่อมพ้นไปจากทางสายกลาง เพราะจะติดอยู่ในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง การปฏิบัติทางสายกลางจึงต้องกลมกลืนกับคนได้ทุกประเภทสามารถรักทุกคนได้เสมอเหมือนกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะแตกต่างกันด้วย ฐานะ หรือ คุณสมบัติใด ๆ ก็ตาม แต่ถ้าแบ่งแยกอยู่นั่นหมายถึง ""จิตใจ"" ของเราพ้นไปจากทางสายกลาง
ทางสายกลาง จึงเป็นธรรมอันสูงสุด เป็นอนุตตรธรรม และพาให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงพ้นไปจากการเวียนว่ายอันเป็นทะเลทุกข์การระวังความคิดของตนเองจึงเป็นการกำหนดมิให้คิดฟุ้งซ่าน เพื่อมิให้""จิต"" พ้นไปจากทางสายกลางนั่นเอง
ปริศนาธรรม
รูปปั้นพระศรีอริยเมตตรัย ทรงมีรอยยิ้ม หัวเราะ มองตรงไปเบื้องหน้า ปริศนาธรรมชี้ให้เห็นความเป็นจริงว่าพระองค์
ได้ รับเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธจิตแล้ว
รูปปั้นพระศรีอริยเมตตรัย ทรงมีท้องใหญ่โตมโหฬาร ปริศนาธรรมก็เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระองค์เก็บได้ทั้งความทุกข์และสุขของเวไนยสัตว์
เหตุใดจึงได้รับพระนามว่า พระศรีอริยเมตตรัย ปริศนาธรรมเพราะเป็นปณิธานของพระองค์ทรงเมตตาอย่างไม่มีเงื่อนไขและเมตตาสามโลก คือ มนุษย์ สวรรค์ และนรก พระองค์ทรงต้องการให้ทั้งสามโลกนี้กลมกลืนกันและเป็นอย่างเดียวกันคือแดนสุขวดี
-
คำพูดติดปากของคนที่ทำผิดแม้เป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็จะบอกกับตัวเองเสมอมาว่า "ไม่เป็นไร" แต่ที่น่าแปลกประหลาดมากกว่านั้น ในการกระทำผิดเยี่ยงเดียวกัน แม้เล็กน้อยก็ไม่อาจกล่าวคำว่า ""ไม่เ็ป็นไร"" หากการกระทำนั้นเป็นของผู้อื่น เรามักจะมองเห็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและต้องเอาเรื่องจนถึงที่สุด
ปุถุชนจึงใช้คำว่า ""ไม่เป็นไร"" ผิดความหมาย เพราะเป็นคำที่สมควรจะใช้กับผู้อื่นมากกว่าใช้กับตัวเอง ด้วยเหตุนี้ความทุกข์จึงเกิดขึ้นเสมอ เพราะเราไม่ยอมอภัยให้แก่ผู้อื่น แต่รีบอภัยให้แก่ตนเอง
พระศาสดาขงจื๊อจึงกล่าวเอาไว้ว่า ""จงอภัยให้คนอื่นเยี่ยงเดียวกับอภัยให้ตนเอง จงลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับลงโทษผู้อื่น"" การที่เราอภัยให้ตนเองอย่างง่ายดายเพราะเล็งเห็นว่า กรรมที่กระทำไปนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงยอมอภัยให้ด้วยความง่ายดาย เพราะไม่เห็นเป็นโทษผิดบาปแต่ประการใด เมื่ออภัยให้ตนเองบ่อย ๆ เข้าก็กลายเป็นควมเคยชินและบาปเวรกรรมที่กระทำลงไปก็มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นนิสัยและต่อไปกระทำกรรมชั่วหนักหนาก็เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเห็นผิดเช่นนี้จึงก่อกรรมชั่วได้ง่ายดายนัก แลเห็นบาปเป็นบุญไปในที่สุด
คนที่ฆ่าสัตว์บ่อย ๆ จนเคยชินย่อมเห็นว่าไม่ผิดบาปแต่ประการใดกลับคิดว่าสัตว์เหล่านั้นเกิดมาเพื่อให้คนฆ่ากินเป็นอาหาร ในขณะเดียวกันความผิดที่ตนเองกระทำเรามักลงโทษเพียงนิดเดียวเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กแต่ในความผิดอย่างเดียวกันถ้าผู้อื่นเป็นคนกระทำเราจะลงโทษอย่างรุนแรง
ความประพฤติเช่นนี้เป็นเรื่องของปุถุชนผู้หลงผิด และไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่คนที่ปรารถนาความสุขพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง สมควรที่จะลงโทษตนเองเยี่ยงเดียวกับที่ลงโทษคนอื่น แต่กลับลงโทษคนอื่นเยี่ยงเดียวที่อยากลงโทษตัวเอง
ผู้ที่มีจิตใจเยี่ยงฟ้าดินนี้ย่อมอยู่ในหนทางสายกลาง เพราะความเคร่งครัดต่อตนเองแต่ผ่อนปรนผู้อื่นนั้นเป็นอานุภาพของ"ความเมตตา"โดยแท้จริง การลงโทษตนเองย่อมเมตตาต่อตนเองมิให้กระทำผิดอีกต่อไป เมื่อเมตตาต่อตนเองเช่นนี้ ความเมตตาย่อมเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นโดยไม่ต้องสงสัย ความเมตตาที่ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเมตตาแท้เฉกเช่นเดียวกับความเมตตาที่แม่มีต่อบุตรของตนเอง คำว่า ""ไม่เป็นไร"" จึงสมควรที่จะพูดกับผู้อื่นที่กระทำความผิดต่อเรา แต่ถ้าใช้กับตัวเองเมื่อไรก็จงรับรู้ว่ากำลังเดินเข้าสู่หนทางหลงผิดอย่างแท้จริงเพราะจิตใจย่อมขาดความระมัดระวังหรืออาการสำรวมโดยแท้
ในสมัยหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสชาดกเรื่องนกกระทาเพื่อเป้นอุทธาหรณ์แก่ภิกษุหมู่หนึ่งในกรุงโกสัมพี "อดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองสมบัติในกรุงพาราณสี มีเด็กชายคนหนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์แต่กลับไม่ยินดีในสมบัติของบิดาได้ออกไปบำเพ็ญเพียรเป็นฤาษี และเพลิดเพลินอยู่แต่ในฌานสมาบัติในป่าหิมพานต์ ฤาษีเข้าไปยังหมู่บ้านชายแดน ผู้คนในหมู่บ้านเลื่อมใสศรัทธาจึงปลูกบรรณศาลาให้ฤาษีพำนักและอยู่บำรุงด้วยปัจจัยอาหารอยู่ทุกวัน ในหมู่บ้านนั้นมีพรานนกคนหนึ่งอาศัยอยู่ เขาจับนกกระทามาตัวหนึ่งขังกรงไว้และฝึกสอนให้ร้องเพื่อเป้น "นกต่อ" ซึ่งทำให้นายพรานสามารถจับนกได้มากมายด้วยวิธีการเช่นนี้เอง แต่นกกระทากลับคิดว่า "พวกญาติของเราต้องบรรลัยไปเพราะเสียงของเรานี่เอง เราช่างมีบาปมากมายเสียเหลือประมาณ" เมื่อนกกระทาคิดได้ดังนี้จึงหุบปากไม่ยอมส่งเสียงเป็นนกต่ออีกต่อไป ทำให้นายพรานเดือดดาลนักจึงไปเอาแขนงไม้ไผ่มาตีหัวนกอย่างรุนแรงจะหยุดก็ต่อเมื่อนกกระทายอมร้อง นกกระทาต้องร้องด้วยความเจ็บปวดอาดูรนัก นกกระทาทั้งหลายจึงบินมาติดกับนายพรานได้เลี้ยงชีพต่อไป นกกระทาจึงคิดว่า "เราไม่มีเจตนาร้ายแต่เพราะเราถูกบังคับ ไม่รู้ว่าบาปเวรกรรมนี้จะตกต้องตกถึงเราหรือไม่หนอ และใครเล่าจักตอบปัญหานี้แก่เราได้" วันหนึ่งนายพรานจับนกกระทาได้เป็นจำนวนมาก ในขณะเดินทางกลับเกิดอาการหิวกระหายน้ำ นั่งพักแล้วเผลอหลับไป นกกระทาจึงห่อปีกคารวะฤาษีแล้วถามปัญหาขึ้นว่า "ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเป็น "นกต่อ"และถูกบังคับให้เป็นสื่อแห่งความตายแก่ญา๖ิพี่น้องเช่นนี้จักมีบาปกรรมเช่นไรพระคุณเจ้า" ""ถ้าใจ ของเจ้าไม่มีเจตนาในการทำบาปแล้ว ใจย่อมไม่แปดเปื้อนต่อบาปนั้น แต่วิบากทางกายและวาจายังจะต้องชดใช้อยู่"" ชาดกนี้ชี้ให้เห็นสัจธรรมว่า เรื่องเล็กน้อยย่อมไม่สามารถบำบัดได้ด้วยคำว่า ""ไม่เป็นไร""
-
ในที่ลับตาคนมักง่ายต่อการกระทำบาปเวรกรรมเพราะจิตของคนธรรมดาย่อมคิดว่าไม่มีใครรู้เห้นเป็นพยานและโฆษนาบาปกรรมของตนเอง หารู้ไม่ว่า การกระทำทั้งปวงมีผู้รู้เห็นจดจำเอาไว้อย่างไม่ลืมเลือนคือ ""ตัวเราเอง"" และการสั่งสมเอาไว้ในจิตใต้สำนึก สักวันหนึ่งย่อมสำแดงออกมาโดยไม่รู้ตัว
ท่านขงจื๊อ จึงกล่าวเอาไว้ว่า""สิ่งใดก็ตามที่อยู่ในที่เร้นลับเท่าไร ก้ยิ่งค้นหาได้ง่ายเท่านั้น สิ่งใดยิ่งละเอียดก็ยิ่งประจักษ์ได้ง่าย"" เพราะการซ่อนตัวอยู่ในที่เร้นลับย่อมจูงใจให้ผู้คนยิ่งระดมค้นหาเพราะฉะนั้นจึงค้นหาได้ง่ายนัก ตัวอย่างเช่น โจรคนหนึ่งหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากเข้าไปในที่เร้นลับย่อมเป็นเป้าสายตาคนแต่ถ้าเขาซ่อนตัวอยู่ในที่เปิดเผยเช่นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีแต่คนแปลกหน้า ตำรวจย่อมค้นหาได้ยากเย็นนัก แต่ในชนบทความแปลกหน้ามิใช่ธรรมดาย่อมเป้นที่สนใจ
ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับกำแพงสูงใหญ่ สีขาว แต่มีสีดำเพียงจุดเล็กนิดเดียว เวลาผู้คนยืนมองกำแพงนี้จะพบจุดดำนิดเดียวนั้นก่อนอื่น การกระทำของมนูษย์ก็เช่นเดียวกัน ความผิดบาปนิดเดียวย่อมอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปเพราะจิตที่มีความชั่วนั้นตกอยู่ในสถาวะมืด ระหว่างสีดำกับสีขาวคนย่อมมองเห็นสีดำได้เร็วกว่า
และเพราะเหตุใดผู้คนชอบเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดีของคนอื่นเล่า เพราะการเวียนว่ายของมนุษย์ต่างได้สร้างบาปกรรมเอาไว้ในจิตใต้สำนึกเอาไว้มากมายจนกลายเป็นพลังที่สามารถสื่อถึงสิ่งที่ไม่ดีได้เร็วและง่ายกว่าสิ่งดี การกระทำที่ไม่ดีย่อมเป็นไปตามกระแสความดึงดูดของโลกเพราะฉะนั้นจึงกระทำได้อย่างรวดเร็ว แต่การกระทำความดีย่อมเป็นสิ่งที่ยากลำบากเพราะเป็นการฝึกกระแสของโลก และความชั่วที่แฝงไว้ในจิตใจของตนเอง คนจึงมองไม่เห็นความดีของคนอื่นได้ง่าย ๆ เพราะความดีเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นพลังบวก เบา และว่างเปล่า ยิ่งเป็นคนดีแท้ปราษจากรูปลักษณ์แล้วยิ่งหาคนเห็นได้ยากนัก ดังนั้นผู้คนที่ยังต้องการคำสรรเสริญจึงพยายามโฆษนาความดีของตนเอง
การกระทำ ""ความดี"" และ ""ความชั่ว"" ที่ยังติดอยู่ในรูปลักษณ์ย่อมกลายเป็นสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานหรือจิตใต้สำนึกนั่นเอง เพราะฉะนั้นภาวะจิตที่เอนเอียงไปข้างหนึ่งข้างใดจึงเป้นเรื่องที่พ้นไปจาก ""ทางสายกลาง"" พลานุภาพแห่งการกระทำนั้นจึงมิได้แปล่งประกายออกมาตามธรรมญาณของตนเอง
ปุถุชนทำความดีต้องการเสียงสรรเสริญเยินยอ เมื่อไม่ได้ตามที่ตนเองปรารถนาจึงเกิดความทุกข์และท้อถอยต่อการกระทำความดีนั้น แต่ผู้ที่มีสภาวะจิตอยู่ในหนทางสายกลาง ย่อมกระทำไปตามหน้าที่แห่งธรรมญาณเพราะไม่ยึดติดในรูปลักษณ์และผลประโยชน์ตอบแทนทั้งปวง
การกระทำความดีของบุคคลที่สภาวะจิตอยู่ในทางสายกลางจึงกระทำได้ต่อเนื่องและยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมิได้หวังผลแต่ประการใด มีความต้องการเพียงสถานเดียวเท่านั้นคือ ความสุขของผู้อื่น แม้ตนเองจักทุกข์ยากอย่างไรก็ไม่เคยต้ดพ้อต่อว่าและน้อยใจ เมื่อกระทำแล้วจึงปล่อยวางทั้งการกระทำและผลแห่งการกระทำบุคคลเหล่านี้จึงไม่ต้องทุกข์ แม้ผลแห่งการทำความดีจะได้รับผลตอบแทนในทางร้ายก็ตามที
แต่ปุถุชนที่ยังติดยึดอยู่ในความดีและความชั่วจึงห่วงใยกังวลว่า กระทำความดีแล้วไม่ได้รับผลตอบแทน และยิ่งได้รับสิ่งเลวร้ายสนองตอบยิ่งทุกข์หนักยิ่งขึ้นและกลายเป็นคนเคียดแค้นชิงชังไป คนที่กระทำความดีติดอยู่ในความดีย่อมได้รับผลเพียงจำกัดไว้แค่จิตใจที่ต้องการเท่านั้น แต่คนที่กระทำความดีแล้วปล่อยวาง อานุภาพแห่งความดีย่อมแผ่กว้างไพศาลและผลที่ได้รับย่องยิ่งใหญ่สุดประมาณ ""เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้"" ""จิตใจแห่งทางสายกลางย่อมว่างเปล่าสามารถบรรจุทุกสิ่งอย่างได้ไม่จำกัดจำนวนไงล่ะ"" เพราะฉะนั้นที่พระพุทธองค์มีพระวจนะว่า ""ยิ่งอยากได้สิ่งใด ย่อมไม่ได้สิ่งนั้น"" ข้อความนี้เป็นความจริงแท้เพราะยิ่งแสวงหายิ่งไม่ได้เพราะใจที่มีแต่ความละโมบย่อมทำให้เกิดความคับแค้นไม่อาจบรรจุสิ่งใดได้เลย ""คนทำความดีโดยหวังผลจึงมักไม่ได้รับผลดี"" แต่ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนในตัวความดีนั้นมีคุณค่าสามารถบรรจุลงไว้ในธรรมญาณของตนได้โดยไม่มีขีดจำกัด แม้กระทำความดีในที่ลับตาของใครก็ตาม ความดีนั้นย่อมไม่รับไปจาก ธรรมญาณ โดยแท้เพราะมันเป็นต้นกำเนิดแห่งความดีที่แท้จริงนั่นแล
-
ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการนั่งสมาธิมักมีความเข้าใจผิดคิดว่า อาการของจิตที่สงบนิ่งนั้นเป็นหนทางสายกลางอันแท้จริงคงามสงบนิ่งแบบสมาธิเป็นการกำหนดหมายบังคับให้สงบนิ่ง มิได้เป็นไปตามธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ เพราะฉะนั้นการบังคับจิตด้วยการสะกดจิตก็ดี ด้วยเล่ห์เพทุบายร้อยแปดวิธีที่จะทำให้จิตสงบจึงล้วนเป็นหนทางแห่งการหลง "ด้วยหลงผิดคิดว่าจิตสงบนิ่ง"ความนิ่งในลักษณ์เช่นนี้จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่ประการใด ฤาษีทั้งปวงจึงสูญเสียทั้งชีวิตและเวลาเพื่อสงบนิ่งและไม่พบหนทางสายกลางอันแท้จริง จึงไม่พ้นไปจากสภาวะแห่งการเวียนว่ายของจิต
ศาสดาขงจื๊อได้กล่าวเอาไว้ในคัมภีร์แห่งทางสายกลางว่า สี่ นู่ ไอ เล่อ จือเว่ย ฟา เว่ย จือ จง แปลเป็นไทยได้ใจความว่า ""เมื่อจิตสงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับฟ้าดิน ไม่มีอารมณ์ใดมากระทบ สภาวะเช่นนี้จึงเรียกว่า ทางสายกลาง""
ทางสายกลางเช่นนี้ย่อมมีภาวะที่สามารถเปล่งอานุภาพออกมาได้อย่างเต็มกำลังแห่งธรรมญาณ อันเป็นอานุภาพแห่งปัญญาญาณอันแท้จริงที่มองทะลุไปในหมื่นโลกธาตุได้และทำให้พ้นสภาวะไปจากการเวียนว่ายแม้ภายในจิตของตนเอง แต่อาการสงบนิ่งแบบสมาธิของฤาษีนั้น แม้มีอิทธิฤทธิ์ ก็เป็นไปในทางหลง เพราะกลายเป็นอารมณ์แห่งความยินดีที่จักสำแดงฤทธิ์ด้วยอานุภาพของจิต มิใช่อานุภาพของธรรมญาณ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พระเทวทัตผู้บำเพ็ญสำเร็จโลกียฤทธิ์ แม้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่ไม่อาจข่มอารมณ์แห่งความมักใหญ่ใฝ่สูง ละโมบอยากเป็นพระศาสดาเสียเอง จึงก่อมหันตกรรมให้แก่ตนเองจนต้องจมอยู่ในอเวจีเป็นแสนกัปน์
เมื่อมีความสงบนิ่งดั่งฟ้าดิน นั่นหมายความว่าอาการแห่งจิตมิได้เกิดขึ้นอีกแต่เป็นความสงบนิ่งตามธรรมชาติของธรรมญาณ ฟ้าดินมีความเที่ยงตรงทำหน้าที่โดยสม่ำเสมอ มิได้ผิดเพี้ยนใด ๆ เลย เพราะฉะนั้น ความเป็นไปของสรรพชีวิตในโลกนี้จึงเป็นไปด้วยความสงบสุข แต่จิตมนุษย์หาความเที่ยงตรงสม่ำเสมอยากนัก เพราะจักแปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ที่ผ่านจากอายตนะหกมากระทบและเคลื่อนไหวไปตามกระแสของอารมณ์ แม้การสงบนิ่งด้วยการกำหนดหมายก็เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า"ไม่สุข ไม่ทุกข์"" อารมณ์เช่นนี้ย่อมพาให้มืดบอดทางปัญญา เพราะมิได้ใช้อานุภาพแห่งปัญญาญาณของตนเองได้เลย เมื่อมีอารมณ์หลงผิดครอบงำบรรดาผู้มีฤทธิ์ด้วฌานสมาบัติจึงสำแดงฤทธิ์ไปในทางทำลายเพื่อสนองอารมณ์แห่งตนสถานเดียว
ความไม่ทุกข์ไม่สุข ดูเหมือนเป็นอารมณ์แห่งการสงบนิ่งที่ปราศจากความเคลื่อนไหว เพราะเหตุนี้จึงไม่อาจทำการงานที่เป็นประโยชน์ต่อใครได้ แม้แต่ตนเองก็ไม่สามารถช่วยได้ แต่ความสงบนิ่งดั่งฟ้าดินเป็นความเคลื่อนไหวที่ปราศจากแรงผลักดันของอารมณ์ใด ๆ เพราะฉะนั้นจึงกระทำไปตามหน้าที่อันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
พระพุทธองค์อยู่ในทางสายกลางตลอดเวลาแห่งลมหายใจเข้าออก เพราะฉะนั้นอารมณ์ใด ๆ เข้ามาแผ้วพาล พระองค์ก็มิได้ไหวไปตามอารมณ์นั้น แต่ทรงใช้พุทธิปัญญาอันสูงส่งฉุดช่วยเวไนยสัตว์ทั้งปวงได้ สมัยหนึ่งเมื่อพวกเดียรถีร์ให้นางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธองค์ด้วยวิธีการอันแยบยลดังนี้ """ตอนเช้า บรรดาผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเดินทางไปเฝ้า ณ วัดพระเชตวัน นางจิญจมาณวิกาก็ทำทีเดินกลับบ้าน ตรั้นตกเย็น บรรดาพุทธศาสนิกชนเดินทางกลับบ้าน นางจิญจมาณวิกาก็เดินทางสวนกลับเข้าไปในวัดพระเชตวัน กระทำเช่นนี้ติดต่อกันหลายสัปดาห์และเป็นที่น่าสังเกตุว่า ท้องของนางก็โตขึ้นทุกวัน เมื่อมีคนถามไถ่นางก็ตอบว่าไปหาพระพุทธองค์ ครั้นท้องโตเต็มที่แล้ว วันหนึ่งท่ามกลางพุทธศาสนิกชนที่กำลังฟังเทศนาของพระพุทธเจ้า นางจิญจมาณวิกาก็ลุกขึ้นสำแดงวาจาอันหยาบหยามพระพุทธองค์ว่าดีแต่เทศนาสั่งสอนคนทั้งหลาย ทารกในครรภ์ของนางไม่รับผิดชอบหรือไร ท่ามกลางพุทธบริษัทพระพุทธองค์มิได้หวั่นไหวเพียงแต่ตรัสว่า""เรื่องของน้องหญิงมีแต่เรากับน้องหญิงเท่านั้นที่รู้ความเป็นจริง"" นางจิญจมาณวิกาจึงสำแดงอาการโมโหโกรธาเต้นเร่า ๆ จนกระทั่งไม้ที่ผูกเอาไว้ที่ท้องเกิดหลุดออกมาเรื่องจึงแดงและถูกประชาทัณฑ์จมดินตรงนั้นเอง"""
เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำรงอยู่ในธรรมญาณเพราะฉะนั้นเมื่อมีอารมณ์ใดมากระทบพระองค์จึงมิได้ตอบโต้แก้ข้อกล่าวหาใด ๆ เลยดุจดังเช่นฟ้าดิน แม้มนุษย์แหงนหน้าขึ้นด่าฟ้า ฟ้าก็ไม่เคยมีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ เลยและนั่นเป็นอานุภาพแห่งความสงบนิ่งอันแท้จริง
-
กาย เป็นรูปธรรมเพราะเหตุนี้จึงสามารถกำหนดให้หยุดนิ่งได้ไม่ยากนัก แต่ กาย กับ จิต มักเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม พอกายนิ่ง จิตจะวิ่ง ถ้ากายวิ่ง จิตย่อมนิ่ง เมื่อมีภาวะตรงกันข้ามเช่นนี้ เวลาทำ ""จิตนิ่ง"" กายจึงต้องเคลื่อนไหวแม้การกำหนดด้วยลมหายใจ การนับตัวเลขย่อมเป็นความเคลื่อนไหวของกายทั้งสิ้น อาการเคลื่อนไหวของจิตจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ เพราะโดยพลังงานของจิตย่อมไม่อยู่นิ่งอยู่แล้ว ยิ่งมีปัจจัยมาปรุงแต่ง จิตย่อมเคลื่อนไหวได้รวดเร็วจนยากที่จะจับให้อยู่นิ่งได้
ปัจจัยปรุงแต่งมาจากใหน สิ่งที่ไหลเลื่อนมาจากอายตนะหกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าไปสู่การปรุงแต่งเป็นอายตนะภายใน ตาจึงเห็นรูป หูจึงได้ยินเสียง จมูกจึงได้รับกลิ่น ลิ้นจึงได้สร้างรส กายจึงได้ผัสสะ ใจจึงเกิดเป็นอารมณ์
ทั้งหมดนี้จึงไปปรุงแต่งกับจิตจึงก่อให้เกิด ดี และ ชั่ว เมื่อยึดถือเอาไว้จึงกลายเป็น ""ชอบ"" และ ""ชัง"" จิตจึงแสดงออกตามสิ่งที่ตนเองปรุงแต่งถ้าชอบก็ดีใจ ถ้าไม่ชอบก็เสียใจ กายจึงแสดงออกตามจิต รู้สึก ดีใจก็หัวเราะ เสียใจถึงร้องไห้ อาการอย่างนี้จึงเป็นการเคลื่อนไหวของจิต และเมื่อมีกายอยู่ ปัจจัยปรุงแต่งก็ย่อมมีเข้ามาตามอายตนะสม่ำเสมอเพราะฉะนั้น จิตจึงวิ่งรับตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จิตจึงได้รับการเปรียบเทียบดั่งลิง การกำกับให้ลิงอยู่นิ่งยากเย็นฉันใด การกำกับจิตให้อยู่นิ่งก็ยากเย็นฉันนั้น
เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังเป็นสภาวแห่ง ""จิต"" อยู่แล้วย่อมมิได้หยุดนิ่งเลย การภาวนาและหาหนทางกำกับด้วกลอุบายใด ๆ เพื่อให้ ""จิตนิ่ง""จึงเป็นการหลอกลวงจิตโดยแท้จริง และมิได้เป็นหนทางแห่งการพ้นการเวียนว่ายแต่ประการใด
ถ้ารูปแตกกายทำลายลงไป อายตนะหกหมดไป ยังจะมีอะไรปรุงแต่งหรือไม่.....แม้รูปแตกไปแล้วแต่สภาวะแห่งจิตก็ยังเกาะกุมไปด้วย รูป รส กลิ่น เสัยง ผัสสะ และอารมณ์ เหล่านี้จึงกลายเป็นแรงผลักให้ ""จิตวิ่ง"" ไปสู่วิบากกรรมที่ตนเองสร้างเอาไว้
ตังอย่างที่แสดงให้เราเห็นได้ชัดแจ้ง.....ชายคนหนึ่งอยู่จังหวัดบุรีรัมย์มีนิสัยชอบกินเต่า เขาจึงจับเต่าในละแวกบ้านเอามาผ่าอกและยำเนื้อเต่ากินกับเหล้าด้วยความเอร็ดอร่อย กินจนกระดองเต่าสูงเป็นภูเขาขนาดย่อมและเต่าหมดไปจากหมู่บ้าน วันหนึ่งชายคนนี้ได้เดินทางไปหาเต่ายังต่างหมู่บ้านและได้เต่าตัวใหญ่มาตัวหนึ่งแสนดีใจเอามีดผ่าอกเต่าและต้มยำกินด้วยความดีอกดีใจนัก แต่พอกินเต่าตัวนี้หมดเท่านั้น เขาก็ล้มป่วยด้วยโรคประหลาด นอนไม่มีแรงแม้แต่จะลุกขึ้นเอง แต่ตอนกลางคืนกลับสามารถคลานอยู่ในห้องได้ วันหนึ่งหายไปจากที่นอนป่วย ผู้คนในบ้านตามหาจนทั่วจึงไปพบที่ใต้ถุนบ้าน นอนหมอบดังเต่าอยู่ในแอ่งน้ำ เมื่อนำขึ้นมาล้างทำความสะอาดแล้ว ชายคนนี้ก็นอนแบบหมดแรง แต่พอตกดึกในคืนวันนั้นเอง ชายคนนี้ได้เอามีดที่เคยผ่าอกเต่าเป็นประจำมาผ่าอกตนเองตายอย่างเอน็จอนาถนัก และที่แปลกประหลาดก็คือ มีดที่ผ่าอกเต่านี้ ภรรยาเอาไปซ่อนไว้อย่างดีแต่ชายคนนี้กลับหาพบ เมื่อเขาทำลายตัวเองพ้นไปจากมนุษย์แล้ว จิต ของเขาซึ่งยังคงยินดีในรสชาติของเนื้อเต่าย่อมปรุงแต่งให้ตัวเองไปเกิดเป็นเต่า อันเป็นวิบากกรรมที่ได้สร้างเอาไว้ในจิตนั่นเอง
การสำรวม กาย วาจา ใจ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้ก็เพื่อให้พ้นไปจากการปรุงแต่งของจิต นั่นหมายถึง การตัดการไหลเลื่อนของอายตนะทั้งภายในและภายนอก
เมื่อมีปัจจัยมากระทบอายตนะ ปัญญาต้องรู้เท่าทันและไม่ยึดติดต่อปัจจัยเหล่านี้ หากไม่สามารถตัดได้ขาดย่อมเป็นพลังก่อให้เกิดอาการปรุงแต่งและเก็บเอาไว้ภายในจิตของตนเอง
การสั่งสมภาวะทั้งดีและชั่วเอาไว้ภายในจิตของตนเองจึงก่อให้เกิดอาการเคลื่อนไหวของจิต พ้นไปจากหนทางสายกลาง การพ้นไปจากปัจจัยปรุงแต่งจึงมิได้อยู่ที่การบังคับมิได้มันไหลเลื่อนเข้ามาตามช่ิงทางของอายตนะหก แต่ปล่อยให้ไหลเข้ามาแต่มิได้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้ อาการปรุงแต่งย่อมหมดไป และสภาวะเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของ"ธรรมญาณ"อันเป็นทางสายกลางโดยแท้จริง
-
ปุถุชนยึดติดกับตนเอง เขาจึงเรียนรู้แต่เพียงรูปกายของตนเองและยึดถือเป้นตัวตนอันแท้จริง ที่ต้องหวงแหนรักษาเอไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เขาจึงเกรงกลัวต่อการแตกแยกทำลายขันธ์ ความยึดติดจึงก่อให้เกิดความรู้สึกสืบต่อ แม้ว่ากายธาตุนั้นจะแตกดับตลอดเวลาก้หารู้ไม่ เซลล์เก่าตายไป ก่อเกิดเซลล์ใหม่ขึ้นมาด้วยเหตุนี้ร่างกายผิวพรรณของคนจึงแปรเปลี่ยน เหี่ยวย่นเพราะการเกิด - ดับ ของเซลล์ในร่างกาย ถ้าเอารูปของเราตั้งแต่ 3 ขวบ มาเรียงต่อกันจนถึงอายุ 60 ปี จะเห็นความแตกต่างของร่างกายชัดเจนมาก เด็กน้อยน่ารักคนนั้นได้ตายจากไปตั้งนานแล้วเหลือเพียงคนชราคนหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรน่ารักอีกต่อไป แต่ที่รู้ว่าเป็นตัวเราเพราะอาการสืบต่อและยึดถือว่าเป็นตนเอง สภาพจิตของคนก็เช่นเดียวกันเกิด-ดับ ไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อจิตหนึ่งเกิดขึ้นและดับลงไปย่อมทิ้งเอาไว้เป็น ความทรงจำสืบต่อไปจนกลายเป็นวิบากที่สะสมเอาไว้ในธรรมญาณ กรรมดีกรรมชั่วจึงเป็นแรงส่งให้ธรรมญาณลงไปหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุดตราบใดที่ยังไม่รู้สภาวะอันแท้จริงแห่งธรรมญาณของตนเอง ตราบนั้นก็สร้างสมวิบากเอาไว้เรื่อยไป ชาติแล้วชาตเล่า จิตที่หวี่ยงไปตามกระแสพลังดี-ชั่วจึงพ้นไปจากทางสายกลาง
ทำไมบางคนชอบกระทำชั่วแล้วมีความสุข แต่บางคนชอบกระทำความดี แล้วมีความสุข ที่เป็นดั่งนี้เพราะการสั่งสมแห่งวิบากที่ตนเองสร้างเอาไว้ด้วยความเคยชินจนแลไม่เห็นว่านั่นเป็นความชั่วที่ไม่สมควรกระทำ คนที่ชอบเชือดไก่ เขาย่อมมีความสุขที่จักได้กินเนื้อไก่ และไม่รู้เลยว่านั่นเป็นการประกอบกรรมอันชั่วที่ตนเองจักได้รับผลของการตอบแทน จิตใจเช่นนี้ย่อมเบี่ยงเบนไปจากความเที่ยงตรงของฟ้าดินซึ่งมีแต่ความเมตตาธรรม ต้องหล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้เจริญเติบโต
มนุษย์ที่มีใจเบี่ยงเบนไปจากความเที่ยงตรงของฟ้าดินย่อมเสวยทุกข์เพราะเขาไม่อาจกลมกลืนกับสรรพชีวิตใด ๆ ได้เลย ความเที่ยงตรงของฟ้าดินทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในจักรวาลและสรรพชีวิตสามารถเจริญงอกงามขึ้นมาได้ เพราะฝนตกต้องตามฤดูและเวียนไปตามเวลา ความกลมกลืนของสรรพชีวิตย่อมมีจุดร่วม และจุดร่วมสำคัญคือความเที่ยงตรงซึ่งเป็น ""ทางสายกลาง"" เพราะฉะนั้น ถ้าเลียนแบบฟ้าดินและวจักเห็นเป็นความจริงอันสัจจะว่า ฟ้าดินรับได้ทั้งดี-ชั่ว
ไม่ว่าจะเป็นคนชั่วหรือสิ่งเลวทรามอย่างไรก็อยู่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน ดินรองรับทุกสิ่งอย่างแม้เป็นความเน่าเหม็นแห่งซากศพก็แปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงธัญญพืชให้เจริญเติบโตขึ้นมาได้ แต่จิตใจของคนยอมรับในสิ่งที่ตัวเองชอบและผลักในสิ่งที่ตนเองไม่ปรารถนา เพราะเหตุนี่จึงเกิดอาการเกิด-ดับแห่งจิตตลอดเวลา จิตใจเช่นนี้จึงเป็นการเวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุดอาการเวียนว่ายจึงเกิดพลังซึ่งขับส่งให้ธรรมญาณเคลื่อนไปตามแรงปะจุที่มีอยู่ ผู่ที่สามารถแปรเปลี่ยนจิตใจของตนเองให้เทียบเท่าฟ้าดินได้ย่อมเป็นการตัดวงจรแห่งพลังบวก-ลบออกไปได้
ทางสายกลางจึงเป็นหนทางแห่งฟ้าดิน เพราะฉะนั้นทางสายกลางจึงมิได้เป็นเรื่องรังเกียจสิ่งใดหรืออยู่เฉย ๆ ไม่กระทำอะไรเลย ทางสายกลาง เป็นเรื่องของความเคลื่อนไหวสามารถรับทุกสิ่งอย่างไม่ว่าดี-เลว เพียงแต่ไม่ยึดติดในทุกสิ่งและไม่นำมาปรุงแต่ง ในสมัยพระพุทธกาล พระพุทธองค์เสด็จออกบรรพชาเปลี่ยนสภาพจากกษัตริย์มาเป็นภิกษุหรือผู้ขอเฉกเช่น ""ขอทาน""สมัยนั้นชนในชมพูทวีปยังแบ่งเป็น 4 วรรณะ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวทยะ ศูทร สี่วรรณะหากสมรสข้ามวรรณะกัน บุตรที่เกิดมาย่อมเป็นจัณฑาลเป็นชนชั้นต่ำอันเป็นที่น่ารังเกียจของสังคมในยุคนั้น พระพุทธองค์ทรงต้องการละลายวรรณะเหล่านี้ให้กลายเป็นมนุษย์ที่กลมกลืนกัน คนทุกวรรณะสามารถมาบวชอยู่ในวรรณะแห่งผู้บำเพ็ญได้เช่นเดียวกัน
บรรดาผู้ที่อยู่ในวรรณะนักบวชย่อมมีแต่ความสุขเพราะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แม้โจรไพรอย่างองคุลีมาลย์ก็สามารถเข้าบวชอยู่ในอารามเดัยวกับพระพุทธองค์ได้ ในขณะนั้นจิตใจกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันโดยยึดเอาสัจธรรมแห่งฟ้าดินเป็นบรรทัดฐานในวงการพระศาสนาขณะนั้นเป็นวงการสุขสงบ ตัวอย่างเช่นนี้จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นสัจธรรมว่าหากเรารับได้ทุกอย่างโดยมิได้ยติดยึดแบ่งฝักฝ่าย จิตย่อมสงบสุขโดยแท้จริง
-
ความโลภซึ่งเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งย่อมเป็นแรงผลักดันให้จิตปรุงแต่งออกไปจนกลายเป็นอาการของ""ความคิดฟุ้งซ่าน"" แห่งจิต ถ้ายกตัวอย่างของหญิงคนหนึ่งซึ่งชอบซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลเพราะปรารถนาความร่ำรวย ก่อนซื้อสลากกินแบ่งเธอได้ติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้แล้ว ขณะที่เธอกำลังซื้อสลากกินแบ่งจิตใจย่อมเกิดความเชื่อมั่นว่า รางวัลที่หนึ่งย่อมเป็นของเธอแน่นอนเมื่อจิตคิดว่าตนเองได้เงินตราเป็นหลายล้านบาทย่อมคิดต่อไปว่าจะใช้เงินตรานั้นอย่างไร เธอย่อมคิดว่าอยากได้อะไรบ้างเธอจะซื้อทุกอย่างเช่น ตู้เย็น รถยนต์ สร้อยเพชร ทีวี รวมตลอดไปถึงสร้างบ้านและไปเที่ยวต่างประเทศ ความคิดเช่นนี้เรียกว่า""ฟุ้งซ่าน""และสภาวะแห่งจิตพ้นไปจาก""ทางสายกลาง"" จิตย่อมไม่อยู่นิ่งวิ่งไปมาระหว่างที่ตนเองปรารถนาและไม่ปรารถนา
อาการจิตฟุ้งซ่านย่อมอาศัย สัญญาขันธ์เป็นฐานแห่งความคิดเพราะเธอต้องจดจำเอาเยี่ยงอย่างจากผู้มีเงินทั้งหลายเขาประพฤติหรือมีกันเป็นแบบอย่างที่ตนเองจักประพฤติด้วยเพื่อยกฐานะของตนเองให้เป็นผู้ร่ำรวยบ้าง
ถ้าตลอดชีวิตของหญิงผู้นี้ไม่รู้จักเพชรว่ามีค่าแค่ไหน และมีความหมายต่อคนทั้งหลายอย่างไร ครั้นเธอเห็นเพชรย่อมเห็นเป็นก้อนกรวดธรรมดาก้อนหนึ่งเท่านั้น หาค่าและความสนใจมิได้เลย การปรุงแต่งจิตจึงไปตามสํญญาขันธ์โดยแท้
ผู้ที่ติดยึดในความจำหรือสัญญาย่อมฟุ้งซ่านได้ง่าย เพราะสามารถคิดได้ทั้งรูปธรรมนามธรรม บางคนปรารถนาอยากเป็นนักบินแต่ไม่สมปรารถนา แต่กลับจดจำเอาความปรารถนานั้นไว้ไม่ลบเลือน ทำให้จิตยึดแน่นในความต้องการเช่นนั้น คนเหล่านี้จึงเกิดอาการเพื้อและเสียสติได้ง่าย ๆ
อาการปรุงแต่งแห่งจิตเหวี่ยงไปได้ทั้งสองทางคือ ดี-ชั่ว ถ้าเป็นการปรุงแต่งไปในทางที่ดีย่อมสร้างสรรค์สิ่งทั้งปวงขึ้นมาเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งหลายแต่ถ้าเป็นไปในทางที่ชั่วย่อมทำลายทุกสิ่งอย่างรวมทั้งตนเองด้วย แต่ไม่ว่าจิตจะวิ่งไปปรุงแต่งดี-ชั่วล้วนพ้นไปจากทางสายกลางทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นสถาวะแห่งจิตจึงไม่แตกต่างกันมากนัก คนที่เรียนเก่งเป็นอัจฉริยะจึงบ้า ๆ บอ ๆ ไม่เป็นปกติจึงเหมือนคนบ้าประเภทหนึ่ง
สิ่งรอบตัวของเราประกอบกับการวิ่งของจิตที่รับรู้ทุกอย่างตามอายตนะทั้งหกเป็นได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นอาการของจิตจึงเป็นไปตามสภาพภายนอกที่เป็นสิ่งเร้า เพราะฉะนั้นพฤติกรรมของผู้คนที่ไม่รู้ทางสายกลาง และปฏิบัติมิได้จึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า อาตนะทั้งหกเป็น ""มหาโจรทั้งหก""
สิ่งที่ไหลเลื่อนเข้ามาทางอายตนะทั้งหกไม่ว่าจะเป็น ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิต ล้วนแต่มีผลทำให้สภาวะแห่งธรรมญาณหายไปกลายเป็น""จิตดี-ชั่ว ""เสมอ เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงให้จับโจรทั้งหกประหารเสียให้สิ้น ความหมายก็คือ ธรรมญาณต้องไม่ตอดยึดไปอายตนะทั้งหก แม้ได้รับสิ่งเร้าเข้ามาก็สามารถปล่อยวางมิให้มีการปรุงแต่งสืบไป เมื่อธรรมญาณปล่อยวางได้สภาวะแห่งจิตย่อมหายไปเพราะมิได้ขยับจึงไม่เกิดจิต ปุถุชนไม่อาจจับโจรทั้งหกได้เพราะมองไม่เห็นว่าเป็น """มหาโจร"" จึงกำจัดมิได้ ผู้บำเพ็ญและรู้หนทางสายกลางย่อมมีปัญญาพิจารณาเห็น ""มหาโจรทั้งหก"" และสามารถที่จะกำหราบหรือปราบด้วยวืธีแห่งทางสายกลางนั่นเอง
พระพุทธองค์ทรงแนะวิธีอันชอบไว้ในการกำหราบมหาโจรทั้งหก ""เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น - อย่านำมาปรุงแต่ง เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิิน -- อย่านำมาแต่งเติม เมื่อได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น -- อย่าคิดว่าหอมหรือเหม็น เมื่อได้รับรสก็สักแต่ว่าเป็นรส -- อย่าเปรียบว่ารสดีแรือเลว เมื่อได้รับการสัมผัสก็สักแต่ว่าเป็นผัสสะ -- อย่าคิดถึงความนุ่มนวลน่าใคร่
เมื่อคิดก็สักแต่ว่าคิดและรู้ความเคลื่อนไหว -- อย่าปล่อยให้เลื่อนลอยต่อไป การหยุดคิดเป็นการปล่อยโดยสิ้นเชิง การรู้ตัวพร้อมถึงการเคลื่อนไหวแห่งอายตนะหกย่อมเป็นหนทางมให้รู้เท่าทันต่อการปรุงแต่ง ผู้รู้ทางสายกลางย่อมพ้นไปจากมหาโจรทั้งหกได้หรือ
ความรู้แห่งทางสายกลาง ยังมิได้เป็นหลักประกันว่าพ้นไปจากอำนาจของมหาโจรทั้งหก เพราะอาจตกสู่อุ้งมือโจรตัวใดตัวหนึ่งได้โดยง่านเพราะมีความรู้เป็นเพียง สัญญาขันธ์อย่างหนึ่ง ซึ่งมีสภาวะแห่งอนิจจัง คือความไม่เที่ยง เพราะเกิดดับได้ตลอดเวลา ยังมิได้พานพบมหาโจร ย่อมคุยได้ว่า กำหราบได้ แต่พอโจรปรากฏขึ้นในจิตของตนเองกลับไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น ""ความรู้แม้ทางสายกลางก็ยังตกอยู่ในสภาวะท่วมหัว เอาตัวไม่รอดเช่นเดียวกัน""" มีแต่ผู้ที่มี ""ความเป็น"" เท่านั้นจึงพ้นไปจาก มหาโจรทั้งหก เพราะไม่มีจิตปรุงแต่งอีกแล้ว นั่นแล
-
ผู้ที่ไม่เข้าใจในหลักของ ""ทางสายกลาง"" มักคิดว่า การวางเฉยคือไม่ยุ่งเกี่ยวกับสรรพสิ่งรอบตัวประเภทที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวความเข้าใจเช่นนี้ถือว่า ""ผิด"" เพราะเป็นการวางเฉยของคนโง่ไร้สติปัญญา
ในสมัยโบราณมีขุนนางผู้ซื่อสัตย์ท่านหนึ่งเกษียณจากราชการแล้วก็มาหาที่วิเวกอยู่ในชนบท ขุนนางท่านผู้นี้มีความเมตตาอารีย์ต่อประชาชนทั่วไป จนเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน
วันหนึ่งมีชายเมาสุราเดินสะเปะสะปะมาถึงบ้านขุนนางท่านผู้นี้แล้วก็ร้องด่าด้วยถ้อยคำอันหยาบช้า กริยาสามหาวนัก แต่ขุนนางท่านผู้นี้ก็วางเฉยเสีย ไม่โต้ตอบและไม่ลงโทษชายขี้เหล้าคนนั้น ต่อมาอีกไม่นานก็มีผุ้มารายงานขุนนางว่า ชายเมาเหล้าคนนั้น ถูกทางการจับไปลงโทษและประหารชีวิตเสียแล้ว ขุนนางท่านผู้นี้ได้ข่าวแล้วก็แสนโศกเศร้าเสียใจนักเฝ้าแต่ตำหนิตัวเองว่า "เราช่างซื่อบื้อนักหนา"" "มิใช่ความผิดของท่านสักหน่อย"ชาวบ้านแ้ย้ง ""มันเป็นความผิดของเรา หากวันนั้นเราจับชายคนนั้นมาลงโทษสั่งสอนเขาก็คงหลาบจำไม่กระทำผิดจนต้องโทษประหาร""
การวางเฉยตามหลักของ""ทางสายกลาง"" กับอาการ ""ซื่อบื้อ"" จึงเป็นคนละเรื่อง การวางเฉยมิได้กระทำสิ่งใด แต่ทุกอย่างกระทำไปด้วยสติปัญญาอันแท้จริงของธรรมญาณ และเป็นการกระทำที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์แก่ตนเองหรือเพื่ออัตตาตัวตนก็หาไม่ สมัยที่หัวหน้่พราหมณ์มาด่าพระพุทธเจ้าที่หน้ากุฏินั้น พระพุทธองค์วางเฉยแบบทางสายกลางโดยใช้พระปัญญาอันเลอเลิศฉุดช่วยให้พราหมณ์นั้นพ้นไปจากผิดบาป ด้วยการเตือนสติพราหมณ์ให้รู้ว่าการที่มาด่าว่าตถาคตนั้น พระองค์มิได้รับคำด่านั้นเลยแม้แต่คำดียว ความหมายคือมิได้นำมาปรุงแต่งให้เกิดอาการคึ้งเคียดตอบก็หามิได้แต่ในขณะเดียวกันพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยความแยบยล ที่จะช่วยพราหมณ์ผู้หลงผิดได้อย่างไรจึงตรัสถามว่า""พราหมณ์ด่าหมดหรือยัง"" "หมดแล้ว" ตอบด้วยอาการหอบเพราะใช้เสียงมาก ""คำด่าของพราหมณ์ตถาคตมิได้รับเอาไว้เลย"" และทรงเปรียบเทียบให้พราหมณ์ได้คิดว่า ตัวเองรับเอาคำด่าของตนไปแต่เพียงผู้เดียว
ในครั้งนั้น พราหมณ์จึงได้คิดมีสติเห้นความจริงจึงได้เข้ามาบวชอยู่ในอารามของพระพุทธองค์และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในการต่อมา อาการวางเฉยแห่งทางสายกลางจึงมีความหมายแตกต่างไปจากการวางเฉยของผู้ไม่เข้าใจทางสายกลาง
ผู้ไม่เข้าใจทางสายกลางย่อมวางเฉยโดยปราศจากสติปัญญาไม่อาจช่วยตัวเองได้ และยิ่งไม่อาจช่วยผู้อื่นได้ด้วย เพราะฉะนั้นอาการวางเฉยของปุถุชนจึงกลายเป็นอาการ ""ซื่อบื้อ"" นั่นเอง
การวางเฉยแห่งทางสายกลางนั้นเป็นเรื่องของการกระทำ ที่มิได้กระทำเพื่อประโยชน์แห่งตนเพราะฉะนั้นจึงเป็นอาการของ ""ธรรมญาณ"" ที่มีแต่ความเมตตาเล็งเห็นแต่ความสุขของผู้อื่นเป็นสำคัญ ""ธรรมญาณ"" ที่วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบได้ย่อมมีอานุภาพในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่อแก้ไขผู้อื่นอย่างแท้จริง แต่คนวางเฉยด้วยอาการของการนับหนึ่งถึงร้อยก็ดีหรือภาวนาคาถาเพื่อกำหนดจิตของตนเองมิให้เกิดอาการตอบโต้นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการวางเฉยของธรรมญาณ เพราะธรรมญาณเดิมมิได้มีความเอนเอียงและผูกพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแต่มิได้ละทิ้งทุกสิ่งอย่าง แต่สามารถใช้สรรพสิ่งก่ให้เกิดประโยชน์ต่อเวไนยฯสัตว์ทั้งปวง
การวางเฉยตามทางสายกลางนั้นจึงเป็น""สติ"" อันแท้จริงพร้อมที่จะเคลื่อนไหวตลอดเวลาและความหมายเช่นนี้ คือ ""เคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนไหว"" ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วก็อาจหมายถึงกองทหารที่เตรียมพร้อมในที่ตั้งพอได้รับคำสั่งก็สามารถปฏิบัติได้ทันที สภาวะจิตที่อยู่ในทางสายกลางก็เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ในที่ตั้งแห่งทางสายกลางย่อมพร้อมที่จะปฏิบัติกิจอันถูกต้องได้ แต่ถ้าจิตถูกขังเอาไว้เสียด้วยเลขที่นับ หรือ คาถาที่ภาวนาแล้วไซร์ สภาวะจิตตรงนั้นมิอาจกระทำสิ่งใดได้เลย
การไม่สนใจต่อสิ่งใด ๆ แล้วบอกว่าเป็นอาการของการวางเฉย นับเป็นการวางเฉยที่ไม่เกิดผลต่อใครทั้งสิ้นรวมทั้งตัวเองด้วยถ้าเปรียบเทียบกับการวางเฉยของฟ้าดินย่อมเห็นได้ว่า ฟ้าดินวางเฉยแต่ได้ทำหน้าที่อันถูกต้องของตนเองตรงตามภาวะของการเวลา คนที่พยายามหนีไปจากสิ่งแวดล้อมแล้วบอกว่าวางเฉยจึงไม่ถูกต้อง แต่คนที่สามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั้งปวงได้โยตนเองไม่เข้าไปอยากได้อยากเป็นจึงจะเรียกว่าเป็นการวางเฉยอย่างถูกวิธีของ""ทางสายกลาง"" อันแท้จริง การวางเฉยเช่นนี้จึงแตกต่างไปจากอาการ ""ซื่อบื้อ"" โดยสิ้นเชิง
-
การปล่อยวางสรรพสิ่งที่เป็นรูปธรรมย่อมเป็นเรื่องง่าย แต่การปล่อยวางที่เป็นนามธรรม อันได้แก่ อารมณ์ทั้งแปดหมื่นสี่พันธรรมารมณ์ล้วนเป็นเรื่องยากนัก แม้มนุษย์เรียนรู้การปล่อยวางทุกสิ่งได้ ย่อมเป็นความสุขสงบอันแท้จริง ปุถุชนจึงปล่อยวางด้วยวาจามากกว่าการปล่อยวางด้วยจิต เมื่อนักการเมืองพูดว่าตัวเองไม่ได้ยึดติคกับตำแหน่ง จึงเป็นการพูดด้วยวาจาเท่านั้น พอได้รับตำแหน่งใหม่ก็มิได้เอ่ยถึงการปล่อยวางแแต่ประการใด บางคนปากบอกว่าไม่สนใจตำแหน่ง แต่จิตใจรุ่มร้อนวิ่งหาทางดำรงตำแหน่งนั้นให้ได้ ไม่ว่าจะเสียเงินทองหรือศักดิ์ศรีอย่างไรก็ยอมทำทั้งนั้น เพราะจิตยึดติดอยู่กับตำแหน่ง รัฐมนตรี นักการเมืองจึงเป็นตัวอย่างอันวิเศษที่ทำให้เรารู้ว่า คำพูดปล่อยวางนั้นแปล่งได้ง่ายดายนัก
แต่การปล่อยวางด้วยจิตเป็นเรื่องยากนักหนา พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ปล่อยวาง แม้แต่กายสังขารของตนเองยังยึดมั่นถือมั่นมิได้เพราะมันแปรเปลี่ยนได้ทุกวินาที หาความเที่ยงแท้มิได้เลย พระศาสดาขงจื๊อจึงกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ทางสายกลางว่า ...
ฟา เอ๋อ เจีย จง เจี๋ย เว่ย จือ เหอ คำแปลเป็นภาษาไทยกล่าวว่า ""เมื่ออารมณ์ใดมากระทบ จิตรับรู้โดยเป็นกลางไม่ยึดติด รับแล้วปล่อยวางนี่คือ สภาวะแห่งอุเบกขา"" การรับรู้อารมณ์ทั้งปวงด้วยจิตอันเป็นกลางนั้นมิได้เป็นของง่าย ๆ ตามปากพูด เพราะตามสภาพของจิตปุถุชนย่อมรับรู้อารมณ์และติดยึดเอาตามความเคยชิน แม้การปล่อยวางของจิตปุถุชนก็ยังเป็นไปด้วยการชัง แต่เป็นความชอบแล้วย่อมปล่อยวางไม่ลง
เมื่อปุถุชนพูดว่าจิตใจเป็นอุเบกขาคือวางเฉยนั้นหมายความว่า ภายในจิตใจยังเต็มไปด้วยความ ""ชอบ -- ชัง""อยู่เต็มเปี่ยม เพราะฉะนั้นการปล่อยวางของจิตปุถุชนจึงไม่เคย ""ว่าง"" อย่างแท้จริง และเข้าใจผิดเสมอว่า อุเบกขา อาการวางเฉยนั้นคือไม่กระทำสิ่งใดเลย ความจริงแท้แห่งอุเบกขา คือ การกระทำที่เต็มไปด้วยปัญญาญาณอันแท้จริง แต่เพราะความเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจว่า อุเบกขา คือการไม่กระทำสิ่งใดเลย ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิต การวางเฉยทางกาย เป้นสิ่งที่ง่ายดาย แต่การวางเฉยทางจิตเป็นสิ่งที่ยากลำบากนัก
การกระทำของ""จิต"" ย่อมเป้นไปตามสิ่งเร้าอันมาปรุงแต่งเพราะเหตุนี้จึงยากแก่การหยุดยิ่งนัก คนที่ป่วยทาง จิต ภาวะของจิตฟุ้งซ่านจนหาที่ยุติไม่ได้ เพราะจิตวิ่งวนอยู่แต่สิ่งที่ตนฝังใจ เพราะเหตุนี้คนที่จิตฟุ้งซ่านจึงสามารถนั่งบ่นได้เป็นวัน ๆ โดยบ่นเรื่องซ้ำซากอยู่เช่นนี้มิได้เบื่อหน่ายเลย นั่นเป็นการกระทำทางจิต ที่ไร้สิ่งเกาะเกี่ยวและลืมตัวตนที่แท้จริงแต่กลับติดยึดอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น คนที่นั่งภาวนาเพื่อให้ ""จิตว่าง"" จึงเป็นความว่างที่ไม่แท้จริงเพราะติคอยู่กับ ""ความว่าง"" เข้าจังเบอร์
การที่จิตรับรู้สิ่งใดอย่างเป็นกลางมีความหมายว่า มิได้คิดว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว ตนเอง ""ชอบ - ชัง""เพียงแต่รับรู้ว่ามีอารมณ์นั้นเกิดขึ้นแก่ตนเองเท่านั้น ผู้ที่สามารถรับรู้อารมณ์อย่างเป็นกลาง มิได้ตัดสินว่า "ถูก-ผิด"" หรือ ""ดี-เลว""ได้อย่างแท้จริงย่อมต้องรู้ความเคลื่อนไหวของ"จิต"ตนเองอย่างแท้จริง
แต่ทุกวันนี้ปุถุชนยากยิ่งที่จะรู้จัก""จิต""ของตนเองเพราะ "จิต" ติดยึดอยู่สรรพสิ่งมากมายที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาจึงไม่อาจรับรู้ทุกอย่างเป้นกลางได้เลย อากรารับรู้ของคนเหล่านั้เขามีรูปแบบเอาไว้เทียบเคียงแล้วทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมพิวเตอร์ยิ่งเจริญมากขึ้น หน่วยความจำ จึงกลายเป็นเครื่องเปรียบเทียบสิ่งที่เขารับรู้ เพราะฉะนั้นคนในยุคนี้จึงยิ่งไม่สามารถรับรู้อย่างเป็นกลางได้เลย ถ้าผิดจากต้นแบบเป็น "ผิด" ถ้าถูกต้นแบบจึงเป็นสิ่ง"ถูก"
ดังนั้นเมื่อมีการเปรียบเทียบขึ้นมาย่อมเกิดอารมณ์และเป็นไปตาม"ต้นแบบ" ที่ตนเองยึดติดเอาไว้จึงเป็น"อารมณ์ดี" ปุถุชนในยุคนี้จึงปล่อยวางไม่ลง เพราะฉะนั้นความเครียดจึงปรากฏขึ้นเป็นโรดชนิดหนึ่ง ที่รักษากันไม่หาย และกลายเป็นหลายโรคเรื้อรังจนทำลายกายสังขารของตนเองไปในที่สุด
คนในยุคความเจริญทางวิทยาศาสตร์ท่วมท้น "จิตวุ่น" มากกว่า "จิตว่าง" ดั่งนี้แล
-
มีเรื่องเล่ากันในวงสนทนาภาษาธรรมว่า พระภิกษุสองรูปต่างวัยต่างพื้นฐานการบำเพ็ญได้เห็นสีกาอนงค์หนึ่งเดินผ่านไป ภิกษุหนุ่มเอ๋ยเจ้าเห็นอะไรน่ะ" "ผมเห็นสตรีนางหนึ่ง แต่น้ำเลือดน้ำหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัวเลย แล้วท่านอาวุโสล่ะเห็นอะไร""ผมเห็นเพียงโครงกระดูกโครงหนึ่งเดินผ่านไปเท่านั้นเอง"" ถ้อยสนทนาเพียงเท่านี้พอจะหาคำตอบได้ว่า ภิกษุทั้งสองรูปเห็นต่างกันแน่นอนแต่สิ่งที่จริงแท้ ทั้งสองรูปนี้ก็ยังคงปรุงและแต่งเอาตามกำลังแห่งสัญญาของตนเองทั้งสิ้น ภิกษุหนุ่มปรุงแต่งเพียงแค่ได้เปลือกผิวหนัง ภิกษุอาวุโสปรุงแต่งไปถึงโรงกระดูก สัญญาเป็นหน่วยความจำที่รับรู้ผัสสะทั้งปวงตามที่อายตนะหกส่งเข้ามากายเป็นอายตนะภายในหกชนิดคือ รูป รสกลิ่น เสียง สัมผัส และ อารมณ์ ส่งสัญญารับเอาไว้และจดจำได้หมายรู้
ตัวอย่างเช่น คนไทยคุ้นเคยกับการรับประทานมะขาม ซึ่งมีรสเปรี้ยวเพียงแต่เอ่ยนามมะขามเท่านั้น น้ำลายก็สอเสียแล้ว แต่ฝรั่งไม่เคยลิ้มรสมะขามจึงไม่รู้สึกเปรี้ยว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีหน่วยความจำรสเปรี้ยวเอาไว้เลย จะเอ่ยมะขามกี่ร้อยครั้งก็ไม่เกิดความรู้สึกน้ำลายสอเป็นแน่นอน แม้จะพยายามอธิบายอย่างไรก้ไม่เข้าใจจนกว่าฝรั่งจะลองชิมรสเอง
แต่ความพยายามเข้าใจก็ต้องอาศัยการปรุงแต่งเปรียบเทียบกับผลไม้ที่ตนเองเคยรับประทานมา ซึ่งย่อมไม่เหมือนเป็นแน่นอน เช่นสตอเบอรรี่ เป็นต้น ""การปรุงแต่งนั้นจึงกลายเป็นความคิดและเป็นความคิดเชิงเปรียบเทียบจากหน่วยความจำที่ตนเองคุ้นเคยทั้งสิ้น แต่เพราะสัญญาขันธ์ หรือความจำ ย่อมตั้งอยู่บนกฏของความไม่เที่ยงแท้ อาการปรุงแต่งของจิตใจมนุษย์ปุถุชนจึงไม่เคยตรงต่อสภาพความเป็นจริงเสมอไป บางสิ่งบางอย่างจึงกลายเป็นคาดคะเนหรือเดาเอาทั้งนั้น ความผิดพลาดเช่นนี้จึงก่อให้เกิดวิบากกรรมหากความคิดนั้นเปลี่ยนไปในทางทุจริตทำลายผู้อื่น ซึ่งแท้ที่จริงเป็นการทำลายตนเองโดยแท้ เพราะอาการปรุงแต่งที่ผิดพลาดได้กลายเป็นหน่วยความจำสะสมกันไว้ใน ธรรมญาณ ซึ่งจะรอวันส่งผลต่อไป เมื่อเหตุปัจจัยครบสมบูรณ์ และคนที่รับผลครบถ้วนคือ"ตัวเอง" สภาวะที่ปรุงแต่งไปตามอายตนะหกจึงพ้นไปจากวิถีแห่งความเป็นกลางโดยแท้
รูป จึงเป็นเหตุให้เกิด อายตนะภายในและภายนอก วิญญาณรับรู้ส่งต่อมาถึงสังขารปรุงแต่งตามความจำได้หมายรู้ และจึงก่อเกิดเป็นอารมณ์ ดี - ชั่ว ตามกำลังแห่ง สัญญา ความจำ
ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งปวง มิให้มีอุปทานการยึดมั่นในขันธ์ 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ การปล่อยวางขันธ์ 5 ลงไปได้ก็ตัดการปรุ่งแต่ง สภาวะแห่งจิตที่ปล่อยวาง ขันธ์ 5 ลงไปได้ก็ตัดการปรุงแต่ง
สภาวะแห่งจิตที่ปล่อยวาง ขันธ์ 5 ได้อย่างแท้จริง จึงเป็นหนทางสายกลาง แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น พระพุทธองค์ ทรงสอนว่า นัยน์ตา เห็นรูป ให้สักแต่ว่าเห็น
หู ได้ยินเสียง ให้สักแต่ว่าได้ยิน
จมูก ได้กลิ่น ให้สักแต่ว่าได้กลิ่น
ปาก รับรู้รสชาด ให้สักแต่ว่าเป็นรสชาด
กาย ได้รับการสัมผัส ให้สักแต่ว่าสัมผัส
จิต คิด ให้สักแต่ว่าคิด
ความหมายนั้น คือ การปล่อยวางอย่างแท้จริงให้ทุกอย่างเป็นไปโดยปราศจากการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นเรื่องยากนักหนาสำหรับการปฏิบัติให้ได้ตามที่พระพุทธองค์สอน ตราบใดที่สภาวะแห่งจิต มิได้อยู่บนเส้นทางสายกลาง ย่อมกวัดแกว่งไปตามแรงของการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทางสายกลางจึงมิใช่เป็นเรื่องง่ายดายอย่างที่เราชอบพูดกัน เพราะ ทางสายกลาง มิได้ปฏิเสทสิ่งใด รับรู้ทุกสิ่ง แต่ตัดการปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง การปฏิเสธไม่ยอมรับจิตใจก็มิได้อยู่บนทางสายกลางเสียแล้ว เพราะการไม่ยอมรับก็คือ การปรุงแต่งไปตามความเคยชินที่จิตไม่ปรารถนา แม้การยอมรับสิ่งใดที่เป็นไปตามความปารถนาก็จะเกาะเกี่ยวแน่นเหนียว ทั้งสองสภาวะแห่งจิตนี้ เบี่ยงเบนออกจากทางสายกลางโดยแท้จริง พระพุทธองค์จึงทรงแนะว่า ให้ระวัง มหาโจรทั้งหก ที่จักทำร้ายสภาวะจิตแห่งทางสายกลางให้ดี เพราะเหตุนี้ใครมี ""สติ"" รู้เท่าทันก็สามารถจับโจรทั้งหกนี้ได้ แต่เพราะภาวะแห่งจิตปุถุชนที่ไม่รู้จัก ขันธ์ห้า จึงมักปรุงแต่งเข้าด้วยกันเสมอกับเป็นพวกเดียวกับมหาโจรทั้งหก
การประหารมหาโจรทั้งหก จึงต้องใช้ปัญญาอันเกิดจาก ธาตุแท้ธรรมญาณ ซึ่งเป็นทางสายกลาง โดยแท้จริงนั่นแล
-
ผู้ที่เฝ้าสังเกตุความเคลื่อนไหวของ "จิต" ย่อมรู้ดีว่า มันไม่เคยสงบนิ่งเลยเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาตอนเช้า "จิต" ก็เริ่มต้นทำงานคิดสารพัดวุ่นวายร้อยเรื่องพันเรื่องล้วนแต่ "จิต" เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทุกเรื่อง บางครั้งไม่ใชเรื่องราวของตนเองและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยสักนิดแต่ "จิต" ก็เข้าไปคิดและเกี่ยวข้องเสนอแนะจนบางครั้งเกิดเรื่องราวขึ้นมามากมาย
ความวุ่นวายของ "จิต" จึงประมาณมิได้ พระอริยะเจ้าจึงกล่าวว่า "จิตปุถุชน" วุ่นวายเหมือน "ลิง" อันธรรมชาติของลิงไม่เคยหยุดอยู่นิ่งเฉยและไม่มีใครทำให้ลิงนั่งเฉย ๆ ได้เลย "จิต" ที่ชัดส่ายออกไปโลดเต้น มิได้เต้นเพียงอย่างเดียวแต่กลับนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาสะสมเอไว้ในจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็น กิเลส และกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้ "จิต" วิ่งต่อไป แม้ในเวลาที่ร่างกายพักผ่อนนอนหลับ "จิต" ของหลายคนวิ่งเตลิดไปตามพลังที่สะสมเอาไว้ซึ่งเราเรียกว่า "ฝัน" บางคนฝันว่าวิ่งหนี ผี จนเหนื่อยหอบ แม้กายนอนหลับอยู่แต่พอตื่นขึ้นมาก็เกิดความรู้สึกอ่อนเพลียเหงื่อไหล เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้ เมื่อ "จิต" ออกไปเคลื่อนไหวภายนอกกายได้เก็บความรู้สึกของความตกใจ กลัวเหนื่อยอ่อนเอาไว้ ครั้นกลับมาถึงกายภาวะแห่งจิตตอนนั้นจึงกระตุ้นปมประสาทในร่างกายให้รับรู้และมีปฏิกิริยาตรงตามที่ "จิต"ได้ออกไปโลดเต้น กายจึงแสดงออกตามจิตสั่ง
ท่านเมิ้งจื้อ ซึ่งเป็นปราชญ์ที่สองรองจากท่านขงจื้อ จึงกล่าวเอาไว้ว่า ""การบำเพ็ญธรรม คือการนำเอาจิตที่วิ่งออกไปมารวมศูนย์ในที่ของมัน"" ความหมายคือ การสำรวมจิตดั่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์เอาไว้ เพราะ "จิต" ที่วิ่งวุ่นออกไปมิได้เป็นอิสระที่แท้จริง แต่กลับไปสู่ความผูกพันธ์ ทั้งปวงและยึดถือเอาไว้ และหลายครั้งยึดมั่นถือมั่นไม่ยอมปล่อยวาง เช่น เห็นว่ารูปสวยจึงหลงใหลได้ปลื้ม อย่างที่วัยรุ่นทั้งปวงยึดเอารูปดารา จนเรียกว่า บ้าดารา คนที่บ้าดารานั้นติดอยู่ในรูปการแต่งกาย ท่าทาง เสียง กลิ่น และรสชาติสัมผัส "จิต" ของวัยรุ่นมีกำลังวิ่งมาก เพราะขาดสติในการยั้งคิด ใคร่ครวญว่า ดี - ชั่ว
วัยรุ่นเต็มไปด้วยอารมณปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นจึงสามารถไปร้องกรี็ด ๆ เพื่อส่งเสียงเชียร์นักร้องที่ตนเองพอใจ ในขณะนั้น "จิต" ของเขาวิ่งไปจับอยู่ที่นักร้อง ขาดสติ ขาดเป็นตัวของตัวเอง วัยรุ่นจึงไม่มีปัญญาแยกแยะดีชั่ว พฤติกรรมทั้งปวงจึงเป็นไปเพื่อสนองอารมณ์ของตนเอง คนเหล่านี้ติดอยู่กับอารมณ์ ครั้นผิดหวังวัยรุ่นก็จมอยู่ในความเศร้าโศกซึ่งมีความรุนแรงเสมอกับความตื่นเต้นสมใจเช่นกัน "จิต" ของวัยรุ่นจึงแกว่งไปแกว่งมา หาหยุดนิ่งและสำรวมมิได้ แต่ผู้ที่ผ่านความดีชั่วมามากย่อมสั่งสมเอาไว้เป็นบทเรียนและสามารถวางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมิได้ชื่อว่าเป็น อุเบกขา ตามนัยแห่งทางสายกลาง เพราะยังสั่งสมเอาไว้แต่อย่างดี ชั่ว แม้กายสำรวมแต่ จิต มิได้สำรวมเลย สีหน้าไม่แสดงอารมณ์ แต่ความขุ่นข้องเจ็บปวด ยังคงซ่อนอยู่ภายในลึก ๆ พระพุทธองค์จึงตรัสเกี่ยวกับประเภทนี้ว่า ""เวทนามี 3 อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขสุขเวทนา"" อารมณ์ทั้งสามประเภทนี้ยังไม่อาจพ้นไปจากการเวียนว่าย ตายเกิดและอาการของเวทนาพาไป
ความสุขเป็นที่ปรารถนาของปุถุชน ความทุกข์ไม่เป็นที่ปรารถนาของปุถุชน แต่ไม่ทุกข์แลไม่สุข เหตุไฉนจึงไม่เป็นเรื่องของทางสายกลาง เพราะอารมณ์ที่วางเฉยปฏิเสธทั้งทุกข์และสุข จึงเป็นลักษณ์ของการกำหนด หรือบังคับจิตให้อยู่นิ่งเสีย
อารมณ์เช่นนี้ยังคงมีทั้งความชอบ - ชังซ่อยอยู่ในจิตเพียงแต่ไม่แสดงออกมาเท่านั้น ดังนั้นอาการของฤาษีทั้งปวงที่นั่งเข้าฌานมาบัติจึงตกอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง และหลอกหลอนตนเองทำให้จิตคิดว่าตนเองทำสำเร็จมรรคผลเรียบร้อยแล้ว
มารยาทางจิตจึงร้ายแรงนักและพาให้บุคคลเหล่านั้นตกอยู่ในวงจรของการเวียนว่ายไม่รู้ตัว ประการสำคัญอาการยึดมั่นถือมั่นแต่เพียงคนเดียวยังไม่เพียงพอแต่กลับเปิดเผยอาการนั้นสู้ผู้ที่ไม่รู้ให้หลงใหลไปด้วยบาปกรรมชนิดเช่นนี้จึงร้ายแรงจนหาที่ประมาณมิได้ อวิชชา ความไม่รู้ ธรรมญาณ จึงไม่อาจพาจิตให้อยู่ในทางสายกลางได้เลย และอวิชชานี้จึงสร้างชาติภพไม่จบสิ้น
เมื่อ จิต วิ่งไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด จิตนั้นย่อมสร้างวิบากให้ตนเองไปรับเสมอ แต่ผู้ที่รู้จักธรรมญาณตัวตนอันแท้จริงย่อมพ้นไปจาก อวิชชา และสามารถเข้าสู่หนทางสายกลางได้และเมื่อนั้น "ลิง"" ก็จะตายจากจิตไป ไม่วุ่นวายและสงบสำรวมอย่างแท้จริง
-
ความไม่รู้อันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่อาจก้าวพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดก็คือ "ไม่รู้ต้นกำเนิด"ของตนเอง ต้นกำเนิดนี้มิได้หมายถึง กายเนื้อเพราะทุกคนย่อมรู้ว่า ตนเองเกิดมาจากพ่อแม่ แต่ถ้าเทียบเคียงกันจะเห็นได้ว่า ใครก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้วแม้แต่พ่อแม่ก็ให้กายสังขารตนเอง ก็ไม่อาจรู้ได้เขาจะมีความทุกข์เพียงใด
แต่การไม่รู้ต้นกำเนิด "จิตญาณ" ของตนเองนั้นย่อมก่อให่เกิดทุกข์ แต่เพราะความเคยชินเขาจึงลืมเลือนและคิดว่า ไม่มี "จิตญาณ" ในสมัยโบราณมีอริยปราชญ์องค์หนึ่งทรงเป็นถึงกษัตริย์ วันหนึ่งพระองค์รำพึงว่า "ก่อนมาเราเป็นใคร มาแล้วใครเป็นเรา และเราจะไปที่ไหน" พระองค์จึงพยายามแสวงหาต้นกำเนิดโดยวิธีการกราบพระวิสุทธิอาจารย์จนพบพระวิสุทธิอาจารย์ชี้หนทางพ้นไปจากการเวียนว่าย เหตุเพราะพระองค์ทรงรุ็ต้นกำเนิด "จิตญาณ" ซึ่งเท่ากับรู้จักรากฐานเดิมของตนเองและผู้บำเพ็ญกลับสู่หนทางเดิม แต่บัดนี้ปุถุชนกลับไม่รู้จักต้นกำเนิดและพาลไม่เชื่อถือว่า "จิตญาณ" มีต้นกำเนิด คนเหล่านี้จึงตนอยู่ในวังวนของความหลงไม่จบสิ้น และไม่เชื่อในเรื่องเหล่านี้จึงก่อกรรมทำเข็ญไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นแรงเหวี่ยง ให้ชีวิตต้องเวียนไปในภพภูมิต่าง ๆ ตามเหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างเอาไว้อย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว ชาติแล้วชาติเล่า ต่างวนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์จนเคยชินแลไม่เห็นเป็นทะเลทุกข์
เพาระฉะนั้น ต่างจึงลืมรากฐานต้นกำเนิดเดิมของตนเองเสียสิ้น ท่านจอมปราชญ์ขงจื้อ กล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ ทางสายกลางว่า จง เหย เจ่อ เทียน เซี่ย จือ ต้า เปิ่น เหย่ มีความหมายว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ""หนทางสายกลางอันเป็นรากฐานสำคัญของสรรพสิ่ง"" ความหมายนี้เห็นเป็นสัจธรรมว่า สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงจักรวาลนี้ลัวนอาศัย ทางสายกลาง เป็นรากฐานสำคัญทั้งสิ้นหากปราศจากทางสายกลางแล้วสรรพสิ่งย่อมไม่อุบัติขึ้นมา
ดวงดาวน้อยใหญ่ อุกาบาต กาแลคซี่ ล้วนเกิดจาก ทางสายกลางทั้งนั้น เพราะทางสายกลางเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ย่อมก่อเกิดสรรพสิ่งได้ไม่จบสิ้น
จิตญาณ หรือ ธรรมญาณ แท้ของเราล้วนมีต้นกำเนิดมาจากทางสายกลาง เพราะทางสายกลางเป็นความว่างที่ปราศจากขอบเขต เพราะฉะนั้นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งของ "ธรรมญาณ" คือ ความว่างที่ก่อให้เกิดสติปัญญาสามารถรังสรรค์สรรพสิ่งได้ไม่มีที่สิ้นสุด เวลาที่ ธรรมญาณ ของเรามิได้เคลื่อนไหวสงบนิ่งดั่งประภัสสรย่อมไม่ก่อกำเนิดใด ๆ ขึ้นมา แต่พอเคลื่อนไหวกลายเป็นความคิด เราจะเห็นว่ามนุษย์ได้สร้างสรรค์ทุกสิ่งอย่างไว้ในโลกนี้จนยากที่หยั่งคะเนได้
เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องบิน รวมทั้งระเบิดนิวเคลียร์ ลัวนเกิดแต่อาการเคลื่อนไหวของ "ธรรมญาณ" ทั้งสิ้น หาก ธรรมญาณ มิได้มีความว่างดั่งสายกลางแล้วไซร์ย่อมไม่สามารถสร้างสิ่งใด ๆ ขึ้นมาในพื้นพิภพนี้ได้เลย
ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่เราไม่อาจหยั่งคะเนได้คือ ธรรมชาติแห่งความว่าง เรามิอาจรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหากจะกล่าวว่าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลยจากความว่างเปล่านั้น ก็เป็นการคาดคะเนที่ผิดพลาด เพราะจากความว่างนั้นเองเมื่อเคลื่อนไหวย่อมก่อสรรพสิ่งและสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนต้องมีจุดศูนย์กลางคือ "ความว่าง" ผลไม้ที่เราเห็นอยู่ทุกวันภายในเมล็ดหากไม่มีความว่างเสียแล้ว เมล็ดย่อมไม่อาจแทงช่อขึ้นมาได้ ห้องถ้าไม่ว่างก็ไม่อาจบรรจุสิ่งใดลงไปได้ แม้ในร่างกายของเราก็เต็มไปด้วย "ช่องว่าง" หากไม่มีช่องว่างแล้วไซร์การเจริญเติบโตย่อมไม่มี และในขณะเดียวกันหากไม่มีความว่างก็ยากที่จะถึอกำเนิดขึ้นมาได้ เพราะในจุดศูยน์กลางของเซลล์ย่อมมี "ความว่าง" และความว่างนั้นจึงกลายเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้วงจรชีวิตหมุนเวียนไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด
ต้นกำเนิดของ "จิตญาณ" จึงไม่มีใครทำลายได้และไม่อาจแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นอกจากจะอาศัยรูปลักษณ์อย่างอื่นตามเหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครทำลายความว่างอันแท้จริงได้เลยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ธรรมญาณ" ของมนุษย์ที่มาจากความว่างอันแท้ ไม่มีใครทำลายได้เป็นอมตะนิรันดร์กาลที่แท้จริง และความว่างแห่งแดนนิพพานจึงควบคุมทั้งสามภูมิเอาไว้ ถ้าหากเรารู้ต้นกำเนิดที่แท้จริงของตนเองแล้วไซร์ การบำเพ็ญคืนกลับสู่ต้นรากอันแท้จริงย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ใครก็ตามยังคาดหมายเดาเอาว่า ความว่างที่ตนเองกำหนดขึ้นนั้น เป็นความว่างอันแท้จริง ผู้นั้นยังคงหลงอยู่ในการเวียนว่ายและไม่รู้รากฐานอันแท้จริงใน "ธรรมญาณ" ของตนเลยเขาจึงหลงทางชาติแล้วชาติเล่า - น่าสงสารนัก
-
ใครเอ่ยถึงความว่าง แน่นอนเขาย่อมพูดไม่ถูกว่าความว่างคืออะไร ได้แต่คาดและเดาเอาตามสภาพที่นัยน์ตาเห็นเท่านั้น ห้องที่ไม่มีอะไรวางอยู่เลยเราเรียกว่า "ห้องว่าง" จิตใจที่ไม่มีอะไรแผ้วพานหรืออารมณ์ใดครอบงำเลยเรียกว่า "ใจว่าง" เหมือนกัน แต่ความว่างทั้งสองอย่างต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะห้องว่าง ไม่ก่อเกิดสรรพสิ่งและไม่อาจควบคุมสรรพสิ่งได้เลย เป็นความว่างที่ยังปรากฏรูปลักษณ์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดสัมผัสได้ด้วย นัยน์ตา และอายตนะของมนุษย์ เป็น "ความว่าง" อันกำหนดหมายให้เป็นไปเพราะในห้องที่ "ว่าง" นั้นเองยังเต็มไปด้วย จุลชีวัน สิ่งมีชีวิต ฝุ่นผง ที่นัยน์ตาไม่อาจเห็นได้ ความว่างเช่นนี้จึงไม่อาจดำรงอยู่ได้ตลอดกาล และไม่มีอานุภาพใดเลย
เพราะฉะนั้นบรรดานักศึกษาธรรมที่กำหนด "ความว่าง" ขึ้นมาในจิตใจของตนเองจึงไม่ต่างอะไร "ห้องว่าง" ที่ยังเต็มไปด้วยสรรพสิ่งอันไม่อาจสัมผัสได้ด้วยอายตนะหกเพราะเหตุนี้จึงตกอยู่ในความหลง "ความว่าง" ที่ตนเองกำหนดหมายขึ้นไว้ว่าเป็นความว่างอันแท้จริง "ใจว่าง" จึงมีความหมายอยู่สองนัย "ว่าง" โดยการกำหนดหมายเอาเอง "ว่าง" ตามธรรมชาติเดิมของธรรมญาณ
ความว่างโดยการกำหนดหมายจึงตกอยู่ในกฏของอนิจจัง เพราะหาความเที่ยงแท้ มิได้แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยแห่งจิตที่สร้างมาจึงมีความสิ้นสุดและหายไปได้ แต่ความว่างตามธรรมชาติแท้แห่งธรรมญาณ เป็นคุณลักษณ์อันแท้จริงที่มีมาแต่เดิมและไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้ว่างหรือกำหนดเลย ความว่างเช่นนี้จึงยากที่จะหาศัพท์บัญญัติหรือภาษาใด ๆ มาอธิบายให้เข้าใจได้ เพราะไม่อาจเปรียบเทียบให้เห็นเป็นภาพลักษณ์ได้เลย
ธรรมญาณ ของมนุษย์จึงไม่มีสิ่งใดมาปรุงแต่ง
ธรรมญาณ จึงไม่อาจอธิบายด้วยภาษาคน
เพราะธรรมญาณ เป็นธรรมที่แท้จริง
ความว่าง เช่นนี้จึงมีอานุภาพควบคุมและก่อให้เกิดสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีจำกัด ถ้ามองออกไปจนนอกโลกก็จะเห็นความเป็นจริงได้ว่า ความว่างอันแท้จริงที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลสามารถเคลื่อนไหวไปตามสภาพของตนเอง แต่แท้จริงเป็นพลังงานแห่งความว่างที่ำทำให้สรรพสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไหวในทางที่ถูกต้อง
หากมองย้อนกลับมาสู่กายมนุษย์ ธรรมญาณ อันแท้จริงที่สถิตอยู่ภายในเป็นผู้ควบคุม กาย นี้ให้เดินไปตามแนวทางของตนเองการกิน การนอน การยืน การนั่ง ทุกอิริยาบถของกายนี้ล้วนอยู่ในความควบคุมของ "ความว่าง" อันเป็นธรรมญาณแท้ แต่เพราะ อิริยาบถ ที่กายนี้ปฏิบัติจนเคยชินเพราะฉะนั้นจึงมิได้สังเกตุว่าเป็นเพราะ "ความว่าง" ควบคุม
เวลาที่เกิดอาการคันขึ้นตามร่างกายส่วนไหนก็ตาม มือที่เอื้อมไปเกาไม่ต้องรอรับคำสั่งจากใคร เราจึงดูเหมือนว่า เป็นไปตามธรรมชาติ แท้ที่จริงแล้วเป็นไปตามที่ "ธรรมญาณ" เคยสั่งเอาไว้หรือสั่งทุกครั้งจนแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่อาจรับรู้ถึงการสั่งนั้นได้เลยแต่เมื่อใดที่กายกระทำผิดไปจากการควบคุมนั้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันทีอย่างเช่น ฟันกัดลิ้นตัวเอง เป็นต้น
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ธรรมที่แท้จริงจึงปราศจากการปรุงแต่ง ธรรมที่แท้จริงจึงไม่อาจอธิบายได้ แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่รับรู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น" การเข้าถึงความว่างอันแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่อาจเข้าได้ด้วยการนั่งสมาธิเป็นแน่นอน หากการเข้าถึง "ความว่าง" ตามนัยยะอันแท้จริงด้วยวิธีการสมาธิ บรรดาฤาษีทั้งปวงที่ฝึกฝนการนั่งสมาธิย่อมเข้าถึงพ้นไปจากการปรุงแต่ง พ้นเวียนว่ายตายเกิดหมดสิ้นแล้ว แต่พระพุทธองค์ทรงเป็นประจักษ์พยานได้ดีที่สุด เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติสมาธิจนถึงที่สุดแล้วจึงตรัสว่า "มิใช่หนทางแห่งการบรรลุถึงธรรมญาณแห่งตน" พระองค์จึงทรงเลิกวิธีการเช่นนั้นเสีย และใช้ปัญญาพิจารณาจนค้นพบ "ความว่าง" อันแท้จริง
พระองค์จึงรู้ว่า "ความว่าง" เช่นนี้ปราศจากการปรุงแต่ง และไม่เวียนว่ายไปในสามโลกอีกแล้ว ดังนั้นจึงเปร่งพระวาจาว่า "พรหมจรรย์ เราสิ้นสุดแล้ว" เมื่ออานุภาพของ "ความว่าง" ปรากฏชัดจึงควบคุมสรรพสิ่งทั้งภายในและภายนอกหมดสิ้น การกระทำทุกประการจึงเป็นไปตามสัจธรรมอันยิ่งใหญ่แลเห็นได้ว่าตลอดพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ทรงเมตตาต่อเวไนยสัตว์หาขอบเขตมิได้ พระองค์ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทนเลย แต่การกระทำทุกอย่างเป็นไปตามหลักสัจธรรมอันแท้จริง แต่ผลที่ปรากฏขึ้นในภายหลังจึงยิ่งใหญ่ไพศาลนัก
พระเมตตาคุณของพระพุทธองค์ จึงยังให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงที่มีเหตุปัจจัยพร้อมพ้นไปจากวัฏสงสาร ความว่างอันแท้จริงของพระพุทธองค์จึงทรงควบคุมทั้งพระองค์เองและสรรพสัตว์ทั้งปวงซึ่งตามสายตาของปุถุชนจึงเห็นว่าพระองค์มิได้ควบคุมสิ่งใดเลย
-
ปุถุชนมักคิดว่าความโลภหรือความอยากก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวง แท้ที่จริงไม่ว่า ""ความโลภ"" หรือ ""อยาก"" โดยตัวของมันเองไม่อาจก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้เลยนอกจากอารมณ์ซึ่งเป็นผลมาจากการมีปฏิกริยาระหว่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ ธรรมญาณ เท่านั้นเอง ""ความโลภ"" จึงเป็นความหนักที่ไม่อาจก่อสรรพสิ่งใด ๆ ได้นอกจากการรับผลดี - ชั่ว ของตนแต่เพียงอย่างเดียว ความดี และ ความชั่ว ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ยังทำให้ความโง่เข้าครอบงำได้โดยง่าย เพราะเรามักคิดออกไปจากตัวของเราถ้าสิ่งใดชอบนับเป็น ""ความดี"" สิ่งใดไม่ชอบนับเป็น ""ความชั่ว""
เมื่อเกิด ดี - ชั่ว ขึ้นมาแล้ว จิตจึงไม่อาจเข้าสู่หนทางของทางสายกลางได้ นั่นหมายความว่า ไม่อาจสรรค์สร้างสิ่งใดขึ้นมาได้เลย เหมือนแก้วที่เต็มน้ำย่อมไม่อาจเติมน้ำลงไปได้อีก
นักประดิษฐ์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นประจักษ์พยานยืนยันให้เรารู้ว่าเวลาที่เขาคิดประดิษฐ์สิ่งใดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ภาวะของ"จิต" ย่อมต้องว่างปราศจากอารมณ์ทั้งปวง และขณะนั้นสภาวะแห่งจิต อยู่ในหนทางสายกลางอย่างแท้จริง
ท่านเหลาจื้อจึงกล่าวสัจธรรมว่า ""เต๋าอยู่นิ่งมักเกิดสรรพสิ่ง แต่พอเต๋าขยับ สรรพสิ่งจึงก่อเกิด แลสิ่งที่เิกิดมิใช่เต๋า"" เต๋า นั่นคือ ธรรมทางสายกลางอันหมายถึง ธรรมญาณ เมื่อ ธรรมญาณ ขยับตัวจึงกลายเป็น ""จิต"" และคิดสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายจนประมาณมิได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่ตัวธรรมะแท้แต่เป็นผลของธรรมะนั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงดำรงรูปลักษณ์และต้องเสื่อมไปตามกฏแห่งความไม่เที่ยงแท้ แต่ธรรมะทางสายกลาง ปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวงจึงพ้นไปจากกฏแห่งอนิจจัง แต่ทำไมทุกคนจึงเป็นนักประดิษฐ์มิได้แม้มีธรรมญาณเหมือนกันหมด ที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาวะแห่งจิตของคนที่ไม่อาจสร้างสรรค์สิ่งใดได้ด้วย "จิต" พ้นไปจากความเป็น ""ธรรมะทางสายกลาง"" สภาวะเช่นนี้ย่อมคิดอะไรไม่ออกและสร้างอะไรมิได้เพราะเต็มไปด้วยอาสวะกิเลสทั้งปวงเกาะอยู่หนาแน่น แม้ตัวของตนเองยังไม่อาจวิเคราะห์ หรือรู้จักด้วยซ้ำไป แต่ผู้ที่ได้หนทางสายกลางเขาสามารถมองย้อนดูตัวเองปรับปรุงแก้ไขเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ตนเองได้
บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมแลเห็นเป็นรูปลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป ดอกบัว สวรรค์ นรก ล้วนมิใช่สิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเลย แต่เป็นเพราะสัญญาความจำได้หมายรู้ที่นอนเนื่องอยู่ทั้งนั้น พอมองเห็นจึงสำคัญผิดคิดว่าเป็นสิ่งที่""จิต""ไปพบเห็นเข้าแลเห็นเป็นจริงเป็นจัง อาจารย์ผู้สอนในเรื่องสมาธิจึงชักจูงใจศิษย์ด้วยการชี้แนะโน้มน้าวให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้จึงเป็น "ของปลอม" แลเห็น ""กงจักรเป็นดอกบัว"" โดยแท้
เกจิอาจารย์ทั้งหลายจึงพยายามสร้างสรรค์นิพพานขึ้นมาเพื่อหลอกล่อให้ศิษย์หลงเชื่อและนับถือว่า อาจารย์ไปถึงนิพพานแล้วกลายเป็นพระผู้สำเร็จนิพพานไปโน่น แลอวดอ้างว่าเป็น นิพพาน ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ เสียด้วย บรรดาผู้ด้อยปัญญาทั้งปวงจึงหลงติดยึดอาจารย์ประเภทนี้มากมายและพร้อมที่จะถวายทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเป็นการบูชาพระอรหันต์ อรหันต์ศิษย์ตั้งจึงเกิดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝน
พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธวจนะอันเป็นสัจธรรมว่า ""ใครอยากไปนิพพานจักไม่ถึงนิพพาน""ตราบใดที่ความอยากยังคงครอบงำอยู่ สภาวะแห่งจิตย่อมพ้นไปจากทางสายกลาง เพราะสภาวะแห่งจิตไปติดยึด ดี ชั่ว ตามอาการแห่งการปรุงแต่งนั่นเอง ความจริงนิพพานอยู่ในตัวของเราเอง มิต้องกระเสือกกระสนวิ่งวนไปแสวงหาจากภายนอกเลย ผู้ดิ้นรนแสวงหาจากภายนอกตัวเอง เขาจึงไม่พบหนทางสายกลางและปราศจากภาวะนิพพาน เพราะ ""ทางสายกลาง"" เป็นนิพพานอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
การก่อให้เกิดสรรพสิ่งนั้นจึงแบ่งออกเป็นสองทาง ถ้าเป็นไปตามอำนาจแห่ง ""อารมณ์"" สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็น ""ของปลอม" ถ้าเป็นไปตามอำนาจแห่ง ""ความว่าง"" สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็น ""ของจริง""
ทั้งของปลอม กับ ของจริง ล้วนตกอยู่ในกฏแห่ง ""ไตรลักษณ์"" คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับลง เหมือนกันหมด แต่ธรรมญาณอันเป็นทางสายกลางอันแท้จริง มิได้ตกอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ ด้วยเหตุที่ไม่มีรูปลักณ์ใด ปราศจากอาการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอานุภาพ ใด ๆ มาทำลายล้างได้เลย
เมื่อตัวเองไม่ถูกทำลายย่อมก่อเกิดสรรพสิ่งได้โดยประมาณมิได้เพราะต้นกำเนิดไม่มีอะไร จึงก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้มากมายมิใช่หรือ
-
ในโลกของปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสถึงกระทำทุกประการเพื่อประโยชน์แห่งตน และไม่เชื่อว่ายังจะมีผู้ที่กระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ใครกระทำเช่นนั้นก็จักถูกปุถุชนประนามว่า "โง่" ส่วนการกระทำแม้ใช้เล่ห์เพทุบาย และตนเองได้ประโยชน์มักได้รับคำยกย่องว่า เป็นผู้ที่ ""ฉลาด"" เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงเป็นหนทางที่สวนทางกับทางโลกอย่างแท้จริง
ผู้ปฏิบัติธรรมจึงถูกต่อว่าและมองเห็นเป็น ""มนุษย์ประหลาด"" ในสายตาของชาวโลก เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงอดทนต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปวงได้ แต่เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจถึง ""อุเบกขาญาณ"" ความอดทนนั้นก็สูญสิ้นไป สามารถอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยความสุขแห่งธรรมะที่แท้จริง
พระศาสดาขงจื๊อ ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางสายกลางว่า ""เหอ เหย เจ่อ เทียน เซี่ย จือ ต๋า เต้า เหย่ แปลความว่า อุเบกขาคือการวางเฉยอันเป็นหนทางหลักในการก้าวไปของสรรพสิ่ง"" ความหมายนี้อธิบายได้ว่า อุเบกขามิได้เป็นการวางเฉยโดยมิได้ปฏิบัติสิ่งใดเลย หากความหมายเป็นไปตามนัยที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า เป็นการวางเฉยแล้ว อุเบกขา ก็ไม่มีประโยชน์แก่สรรพสิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวะจิตของตนเอง
การวางเฉยมีความหมายถึงการวางเฉยของ ""จิต"" ที่ปราศจากความ โลภ โกรธ หลง ดี และ ชั่ว หรือ บาป - บุญ สภาวะจิตเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งยากเย็นสำหรับจิตที่เวียนว่ายและสะสมเอากิเลสทั้งปวงไว้แม้กระทั่งตนเองก็ไม่รู้สึกว่าภายในจิตมีาิ่งที่เป็นอาสวะกิเลสมากมาย การสะสมเช่นนี้มิได้มีแต่เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่อดีตชาติได้สร้างเอาไว้ก็กลายเป็น วิบากกรรม ของจิต ที่กลายเป็นความเคยชิน คนที่ปากจัก ด่าเก่งเขามิได้เก่งแต่เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่อดีตชาติก็ปากจัดด่าเก่งเหมือนกัน ความโลภก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ทั้งปวงที่สะสมเอาไว้ได้นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของตนเองจนยากที่จะขุดรากถอนโคนได้ เพราะฉะนั้น การวางเฉยที่ไม่ยอมให้กิเลสเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลในจิตของตนจึงเป็นเรื่องยากนักหนาเพราะมันจะผุดขึ้นมาทันทีที่มีสิ่งมากระทบอันเป็นเหยื่ออันโอชะดังชาดกเรื่องนี้
สมัยหนึ่งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล บิดาได้ส่งไปเล่าเรียนศิลปวิทยา ที่เมืองตักกสิลา เสร็จแล้วก็จัดแจงแต่งงาน เมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็ครอบครองสมบัติมหาศาลแลเห็นชีวิตไม่เที่ยงจึงเกิดเบื่อหน่ายละทิ้งทางโลกออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญอยู่ในป่าหิมพานต์ ฉันผักผลไม้เป็นอาหารบำเพ็ญจนได้บรรลุฌาน หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะเหินเดินอากาศได้ วันหนึ่งจึงเหาะมาเมืองพาราณสีบ้านเดิมเพื่อโปรดสัตว์ ฤาษีสำรวมกาย วาจา จนเป็นที่เลื่อมใสของพระราชาจึงนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ในพระราชอุทยานของพระองค์เพื่อสอนธรรม และพระเจ้าพาราณสีปรนนิบัติฤาษีด้วยความเคารพเลื่อมใส อยู่มาวันหนึ่งเกิดจลาจลชายแดนพระเจ้าพาราณสีต้องเสด็จไปปราบจึงบอกกับมเหสีผู้เลอโฉมให้ปรนนิบัติฤาษีเช่นเดียวกับที่พระองค์ปรนนิบัติพระมเหสีรับสนองพระบัญชา ตามปกติฤาษีเคยมารับบาตรในพระราชวังตอนเช้า เมื่อพระราชาไม่อยู่ก็มาไม่เกินเที่ยงวัน วันหนึ่งฤาษีมารับบาตรสายมาก พระมเหสีประทับนั่งคอยไม่ทันระวังพระองค์ ฝ่ายฤาษีเห็นว่าสายมากแล้วจึงเหาะเข้ามาในพระราชวัง ครั้นถึงประตูใหญ่ใกล้หน้าต่างจึงลงมายืนอยู่ พระมเหสีจึงลุกขึ้นโดยไม่ทันระวังพระองค์สะไบพระภูษาจึงหลุดลุ่ยลงมากองที่พื้น พระนางตกพระทัยจึงรีบคว้าขึ้นมาคลุมกาย แต่ก็ช้าไปกว่าสายตาฤาษีที่แลเห็นสวดทรงอันเปลือยเปล่า กิเลสตัณหาที่สะกดเอาไว้จึงพลุ่งพล่านขึ้นจนระงับไม่อยู่ยังผลให้อำนาจฌานเสื่อมไป จิตใจที่เคยสงบเย็นก็ร้อนแรงด้วยกามราคะ อยากเสพสมกับสตรี ไม่สามารถนั่งลงฉันภัตตาหารได้ จึงเดินกลับบรรณศาลา ฉันไม่ลงได้แต่นอนซมด้วยพิษของราคะ
เมื่อพระเจ้าพาราณสีเสด็จกลับจากราชการจึงเข้ามาเยี่ยมฤาษีก็ต้องแปลกพระทัยเพราะศาลาสกปรกรกรุงรัง ครั้นเข้าไปในห้องก็เห็นฤาษีนอนซมอยู่จึงถามว่า ""พระคุณเจ้าป่วยเป็นโรคใดหรือ"" ""ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมาถูกยิงด้วยศรพิษ" ใครยิงหรือ"" ""อาตมาถูกยิงด้วยศรอาบยาพิษคือกามราคะ"" ฤาษีได้เล่าความจริงให้พระราชาทรงทราบ พอได้สติจึงขอเวลาเข้าฌานข่มตัณหาราคะจนเป็นสมาธิแล้วจึงเหาะขึ้นกลางอากาศแล้วทูลพระเจ้าพาราณสีว่า ""อาตมาขอถวายพระพรทูลลากลับไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามเดิมเพราะเป็นที่เหมาะแก่นักบวช อาตมาเกือบเสียคนก็เพราะมาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่เลย""
ชาดกเรื่องนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า จิต ที่แมัได้ฌานแต่ไม่เป็น อุเบกขาฌาน ย่อมเสื่อมจากฌานได้และไม่อาจพ้นไปจากการเวียนว่ายในสามภพสามภูมิและไม่อาจปฏิบัติกิจใด ๆ ได้เลย
-
ผู้คนที่นับถือพระพรหมเวลาผ่านไปแถวโรงแรมไฮแอท เอราวัณ ก็จะยกมือไหว้ พระพรหมหน้าโรงแรมกันเป็นแถว แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า เหตุใดพระพรหมจึงมี 4 หน้า คนเหล่านั้นไหว้เพราะเห็นว่าพระพรหมทรงความศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลโชควาสนาแก้ทุกข์ให้แก่คนที่นับถือได้และมีกิจกรรมรำละครแก้บนอยู่เป็นประจำ
ความหมายแห่ง 4 หน้าของพระพรหมเป็นดังนี้
หน้าหนึ่งให้เมตตา
หน้าหนึ่งให้กรุณา
หน้าหนึ่งให้มุทิตา
หน้าหนึ่งให้อุเบกขา
พระพรหมเป็นผู้ให้โดยแท้และถ้าพิจารณาให้เห็นความละเอียดแล้วก็จักรู้ว่าการให้ของพระพรหมมิได้ต้องการสิ่งใดตอบแทนเลย ความเมตตา ด้วยสงสารว่าคนทั้งปวงมีความทุกข์ จึงใคร่แบ่งความทุกข์ของคนเหล่านั้น
ความกรุณา พระองค์ทรงต้องการให้คนเหล่านั้นมีความสุขเหมือนอย่างที่พระองค์มีอยู่
มุทิตา ยินดีที่คนเหล่านั้นมีความสุขสมปรารถนา
อุเบกขา พระองค์ทรงวางเฉยต่อการให้ทั้งปวงโดยไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทนเลยแม้แต่น้อย
ความหมายแห่งพระพรหม จึงเป็นแต่เพียงผู้สร้างสถานเดียวและปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริงด้วยเหตุดังนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "" บิดา มารดา เป็นพระพรหมของลูก "" คนทั้งหลายมักติดยึดในรูปแบบเพราะฉะนั้นจึงเห็นพระแต่ในรูปลักษณ์ของนักบวชที่ครองผ้ากาสาวพัตร์เท่านั้น การติดยึดเช่นนี้เรียกว่าติดอยู่แต่เปลือกนอกแต่ไม่เห็นถึงแก่นแท้ของความเป็นพระที่แท้จริงอยู่ที่การปฏิบัติของ ""จิต""
เพราะฉะนั้นคนจึงพากันไปกราบไหว้บูชา แต่พระในรูปแบบซึ่งล้วนเป็นสมมุติสงฆ์ทั้งสิ้น แต่พระอรหันต์แท้จริงของตนเองผู้คนกลับมองไม่เห็นจึงไม่กราบไหว้บูชา และปฏิบัติต่อพระพรหมของตนเองเยี่ยงเดียวกับคนทั้งหลาย มิได้นอบน้อมและบูชาท่านเสมือนหนึ่งเป็นพระแท้ ๆ พระพุทธองค์ตรัสถึง คุณบิดา มารดาเยี่ยงเดียวกับพระพรหมย่อมมีเหตุและผลที่ตรงต่อสัจธรรมเป็นแน่แท้ แต่ปุถุชนไม่เห็นความเป็นจริง เช่นนี้จึงปฏิบัติสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตนเองเคารพกราบไหว้บูชา เราพากันนำเอาอาหารเลิศรสไปคุกเข่าถวายกราบกรานด้วยความเคารพต่อสมมุติสงฆ์ แม้ท่านไม่เคยป้อนข้าวเราเลยสักคำเดียว
ส่านพระพรหมของเราป้อนข้าวและน้ำนับไม่ถ้วน แต่กลับไม่เคยนำอาหารเลิศรสไปน้อมถวายกราบกรานด้วยความเคารพเลย หลวงพ่อด่าว่าเรา 20 คำ เราต่างพากันพนมมือรับคำว่า ""ขอรับกระผม"" ไม่เถียงเลยสักคำเดียว แต่ถ้าเป็นพระพรหมที่บ้านด่าว่าเราเพียงคำเดียวเท่านั้น เราก็จะเถียงตอบถึง 20 คำ
สมมุติสงฆ์ที่ร่ำรวยด้วยเงินตรา ไปขอยืม ท่านจะคิดดอกเบี้ย หากไม่ใช้คืนก็จะฟ้องร้องต่อศาล เราก็ยังพากันแลกธนบัตรใหม่ๆใส่ซองสองมือถวายและกราบด้วยความนอบน้อม แต่พระพรหมที่บ้านให้เงินแก่เรานับไม่ถ้วนและไม่เคยเรียกร้องเอาคืนเลยแม้สักบาทเดียว แต่เรากลับไม่เคยแลกเงินใหม่ใส่ซองไปคุกเข่าถวายและกราบด้วยความเคารพ
เกจิอาจารย์ผู้โด่งดัง ถ้าเราประสงค์จะเป็นลูกศิษย์อันสนิทยังต้องร่ำรวยหรือมียศฐาบรรดาศักดิ์จึงเข้าใกล้ชิดได้ ถ้ายากจนแล้วก็เข้าไม่ถึง แต่เราก็พากันหาหนทางที่จะเข้าไปกราบกรานท่านด้วยความเคารพ
แต่พระพรหมที่บ้าน ไม่ว่าเราจะสูงต่ำดำขาว ขี้ริ้ว พิการ หรือยากดีมีจนท่านก็โอบกอดเราได้ด้วยความรัก แต่เราก็ไม่เคยคิดที่จะไปหาและกราบกรานท่าน แต่มัวไปไหว้พระนอกบ้าน ปล่อยให้พระในบ้านอยู่ด้วยความทุกข์ยากลำบาก ไม่กราบไหว้ดูแล มิได้มีประโยชน์อะไรเลยกับการไหว้พระนอกบ้าน
การปฏิบัติของบิดา มารดาที่มีต่อบุตรนั้นเป็นภาวะจิตของพระพรหมโดยแท้ และเป็นหนทางแห่งทางสายกลางที่ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทนแม้ตนเองเหนื่อยยากลำบากก็ไม่เคยปริปากบ่น ต่างก้มหน้าเลี้ยงดูบุตรด้วยเมตตา กรุณา อันแท้จริง ครั้นเห็นลูกเติบใหญ่มีความสุข บิดามารดาก็มีความยินดี อันเป็น""มุทิตา""ที่มิได้หวังว่าบุตรจะนำสิ่งใดมาตอบแทน เพราะความเป็น ""อุเบกขา"" ที่แท้จริง บิดามารดาจึงเป็นหนทางที่ทำให้บุตรนั้นก้าวเดินไปจนเติบกล้าและสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้
พระพรหมที่บ้านจึงศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก แต่น่าเสียใจที่เราพากันลืมกราบไหว้บูชาท่านให้ศักดิ์สิทธิ์นั่นแล
-
การเรียนรู้ธรรมชาติเป็นการ ""ศึกษาธรรมะ"" เพราะธรรมะเป็นธรรมชาติ มิใช่คำสอนของพระสาสดาทั้งปวง แต่ปุถุชนไม่รู้ความจริงเช่นนี้จึงยึดเอาคำสอนของพระศาสดาว่าเป็น ""ธรรมะ"" และแบ่งแยกเป็น ""ธรรมะจีน แขก ฝรั่ง ไทย อินเดีย"" ธรรมชาติไม่มีการแบ่งแยกฉันใด ธรรมะ ก้ไม่มีการแบ่งแยกฉันนั้นแต่ปุถุชนแบ่งแยกและยึดถือจึงก่อกรณีทะเลาะวิวาทกัน แม้อยู่ในศาสนาเดียวกันและนับถือพระศาสดาองค์เดียวกัน และที่น่าสังเวชใจเป็นที่สุดศาสนิกเดียวกันฆ่าฟันกันโดยปราศจากความเมตตาต่อกัน คนเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่ปฏิบัติสวนทางคำสอนของพระสาสดาและมิได้ปฏิบัติธรรม เพราะไม่เข้าใจธรรมะอย่างแท้จริง
สมัยบรรพกาล พระอริยะเจ้าทุกพระองค์ทรงศึกษาธรรมะจากธรรมชาติเพราะในครั้งกระโน้นมิได้มีตำราบัญญัติคำสอนของพระอริยะองค์ใดไว้เลย แต่ผู้บำเพ็ญในยุคนั้นต่างก็สำเร็จธรรมะเพราะเข้าถึง สัจธรรมแห่งธรรมชาติได้
สมัยปัจจุบันมีคำสอนจารึกเอาไว้เป็นพระคัมภีร์มากมายและศึกษากันอย่างง่ายดาย แทนที่จะมีผู้บรรลุสู่สัจธรรมของธรรมชาติแต่กลับกลายเป็นผู้ที่มีปัญหามากมาย โต้เถียงกันไม่รู้จบ และพ้นไปจากวิถีแห่งการบำเพ็ญธรรม กลายมาเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญแห่งพระคัมภีร์เท่านั้น แต่จิตใจกลับมิได้อยู่ในกระแสแห่งธรรมชาติอันแท้จริงเลย แต่ปุถุชนกลับยึดถือว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหลงกราบไหว้บูชาเป็นครูบาร์อาจารย์มากมาย จนคนที่ถูกกราบไหว้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองคือ ""นักธรรม"" แท้ที่จริงเป็นแต่เพียงผู้มีความรู้ทางคำสอนของพระศาสดาเท่านั้นและเป็นความรู้ท่วมหัวเฉกเช่นเดียวกับความรู้ทางโลก """ความรู้นั้นจึงมิได้ช่วยให้จิตใจอยู่ในหนทางสายกลางเลย"" คนเหล่านั้นจึงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว อารมณ์ร้อยแปดพันประการสลัดไม่หลุด เพราะยึดถือแต่รูปลักษณ์ตัวตนแต่ไม่รู้สภาวะ ""จิต""ของตนเอง
การก่อเกิดสรรพสิ่งขึ้นมาในโลกนี้ล้วนเป็นไปตามสภาพแห่ง ""ความสมดุลย์"" คือ ความพอดีทั้งสิ้น ปลูกต้นไม้ขึ้นมาต้นหนึ่ง ย่อมต้องมีน้ำ อากาศ ปุ๋ย พอดีต้นไม้จึงเติบโตขึ้นมาได้ หากมีน้ำมากเกินไป หรืออากาศขาดแคลนความชื้น ปุ๋ย คืออาหารไม่เพียงพอ ต้นไม้นั้นย่อมไม่เจริญงอกงามขึ้นมาได้
ร่างกายมนุษย์ก้เช่นเดียวกัน อาศัย น้ำ อากาศ อาหาร หล่อเลี้ยงร่างกาย หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เพียงพอย่อมไม่เจริญเติบโตแต่ถ้าทุกอย่างพอดีร่างกายนั้นก็เจริญขึ้น ภายในร่างกายของมนุษย์มีอวัยวะสำคัญ 5 ประการ คือหัวใจ ปอด ตับ ไต และม้าม อวัยวะทั้ง 5 อย่างนี้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ร่างกายนั้นก็เจริญเติบโต แข็งแรงขึ้นมาได้ แต่ถ้าสูญเสียหรือขาดความสมดุลย์ในอย่างใดอย่างหนึ่งร่างกายนั้นย่อมมีปัญหาอย่างแน่นอน
สภาวะโลกนี้มีคุณสมบัติ ""อิน หยาง"" คือ บวก ลบ หรือ กลางวัน กลางคืน โลกนี้ยังมีความพอดีจึงสามารถเคลื่อนไปตามเส้นทางของตัวเองได้ แต่ถ้าขาดความพอดีเมื่อไหร่ ภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นต่อโลกนี้เสมือนหนึ่งความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแก่คน ร่างกายของมนุษย์ก็มีสภาวะ ""อิน หยาง"" เช่นเดียวกัน ความเจริญเติบโตของร่งกายล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการทำงานของ อิน หยางที่สมดุลย์กันเท่านั้น แม้ภายในจิตใจของคนก็เช่นเดียวกันมีสภาวะแห่ง อิน หยาง อารมณ์เบิกบาน เบาสบาย นั่น หมายถึงสภาวะ""หยาง"" มีกำลังมากกว่า""อิน""
อารมณ์เสียหงุดหงิดโกรธเกรี้ยวแสดงว่าสภาวะแห่ง ""อิน"" ครอบงำจิต
อารมณ์วางเฉย ย่อมหมายถึงภาวะแห่ง ""อิน หยาง"" ได้สมดุลย์กัน อารมณ์วางเฉยเช่นนี้มิใช่ ""อุเบกขา"" เพราะมิได้ทำการงานก่อให้เกิดสรรพสิ่งใด ๆ เลย และการวางเฉยของสภาวะจิตเช่นนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น ""หนทางสายกลาง"" เช่นกัน เพราะยังไม่อยู่ในสภาวะแห่งธรรมชาติแท้จริง แต่เป็นการกำหนด อันไม่เป็นจริงตามธรรมชาติเพราะเหตุนี้จึงไม่อาจก่อกำเนิดสิ่งใดขึ้นมาได้ เพราะมัวแต่ระมัดระวัง อาการวางเฉยของจิตแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น
การทำงานทั้งปวงก็เช่นกัน หากมีความพอดี การงานย่อมประสบความสำเร็จ การปฏิบัติทางจิตก็เช่นกันหากอยู่ในสภาวะแห่งความพอดีย่อมพ้นไปจากความเห็นแก่ตัวได้ เช่นเดียวกับธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสรรพสิ่ง ล้วนเป็นความพอดีที่ธรรมชาติมิได้เรียกร้องตอบแทนใด ๆ เลย และความไม่เห็นแก่ตัวจึงกลายเป็นหนทางให้สรรพสิ่งได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้
ความเห็นแก่ตัวไม่อาจเป็นหนทางให้เกิดความเจริญ เพราะสภาวะความเห็นแก่ตัวจึงเป็นการทำลาย แม้กระทั่งตัวเอง ความสมดุลย์ทางธรรมชาติคือ ""ความพอดี"" จึงก่อเกิดสรรพสิ่งและนี่คือความหมายอันแท้จริงของคำว่า ""อุเบกขา""ซึ่งสามารถสร้างความเจริญเพราะเป็นหนทางอันแท้จริงของธรรมชาตินั่นแล
-
พระพุทธองค์ตรัสถึงไตรลักษณ์คือ "" สรรพสิ่งล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง"" อาการเช่นนี้เกิดขึ้นแก่สรรพสิ่งที่ปรากฏรูปลักษณ์ทั้งสิ้น และรูปลักษณ์นั้นมิได้หมายความเพียงแต่สิ่งที่ตาเนื้อมองเห็นเท่านั้นแม้แต่สิ่งที่จิตนิมิตหมายขึ้นมาเป็นภาพแห่งความนึกคิดก็หนีไม่พ้นกฏข้อนี้ไปได้เช่นกัน
""เหตุใดสิ่งที่เป็นรูปธรรมจึงเสื่อม"" ปุจฉา
""เพราะรูปธรรมทั้งปวงประกอบไปด้วยสภาวะดี-ชั่ว"" วิสัชนา
""ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลย""
""กลางวันเสื่อม เพราะมีกลางคืนเข้ามาทำหน้าที่ยังไง""
การอธิบายถึงความเสื่อมของรูปลักษณ์ทั้งปวงตามหลักแห่งสัจธรรมแล้วก็หมายถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วน ""เกิด แก่ เจ็บ ตาย""ด้วยกันทั้งนั้น การเจริญเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในอุทรของมารดามิได้หมายความว่า เขาเจริญเติบโต แต่หมายความว่า เขากำลังแก่ลงไปทุกวัน
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม สาว เหมือนกับว่าเขาเจริญเต็มที่ แท้ที่จริงแล้วเขากำลังก้าวไปสู่ ""ความเสื่อม"" อันแท้จริง อาการของหนุ่ม สาว แก่ ล้วนเป็นเรื่องที่บัญญัต์เรียกคุณลักษณ์เท่านั้น ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร สรรพสิ่งก็คงเดินไปตามหนทางแห่งความเสื่อมสูญด้วยกันทั้งสิ้น เพราะความหลักแห่งสัจธรรม ""ดี - ชั่ว"" ทำหน้าที่ลบล้างซึ่งกันและกันเสมอ ภาวะแห่งการขาดความพอดีย่อมก่อให้เกิดพลังในการทำลายกันและกัน จิตใจของมนุษย์ก็เช่นเดียวกันเมื่อเกิดความคิดขึ้นมาย่อมเป็นไปตามดี ชั่ว อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้จิตแล่นไปตามความเคยชินที่ตนเองปฏิบัติมา
""ความคิดดีจึงไม่เคยอยู่ยั่งยืน
""ความคิดชั่วก็มิได้ยั่งยืนเช่นกัน
เมื่อความคิดดีเกิดขึ้นและมีความคิดชั่วตามมา ความคิดดีก็เลือนหายไป เช่นเดียวกับความคิดชั่วเกิดขึ้น ถ้ามีความคิดดี ความชั่วนั้นก็หมดไป แต่ทำไมคนจึงกระทำความชั่ว เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่คิดนั้นดีแลเป็นความพอใจ ซึ่งเป็นกิเลสสั่งสมเอาไว้ เขาจึงยึดถือความชั่ว คนทำดีก้เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องของการสั่งสมมายาวนาน แต่ทั้งหมดก็สูญสิ้นไปตามหลักของการทำลายล้างของสัจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น
ผู้ที่ไม่สามารถรักษาควมดีเอาไว้ได้ ก็หมายความว่าเขาปราศจากปณิธานความตั้งใจนั่นเอง เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของปุถุชนถึงเวียนว่ายอยู่ในสามภพภูมิไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเวียนจนหลงหนทางสายกลางอันแท้จริงของตนเองแล้ว เขาจึงถือไปกำเนิดเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ นั่นหมายถึง ""จิต"" เสื่อมจากธรรมชาติเดิมของตนเอง แต่สภาวะแห่งธรรมญาณเป็นธรรมชาติเดิมแท้ที่ไม่เสื่อมสลายและไม่มีอะไรมาปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงได้เลย
คุณสมบัติเช่นนี้จึงเป็น ""กลาง""อันแท้จริงที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งได้มากมาย แต่สรรพสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมามิใช่สภาวะเดิมของความเป็น ""กลาง"" เพราะเป็นเพียงผลิตผลเท่านั้น นอกเหนือจาก ""ธรรมญาณ"" ล้วนเป็นเรื่องของเปลือกและกระพี้ที่พร้อมจะเสื่อมสลายไปได้เสมอเพราะรูปลักษณ์ที่มีอยู่ซึ่งตามหลักของธรรมะกล่าวว่า เป็นเพียง ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ดิน เสื่อมได้
น้ำ ก็เสื่อมสลายได้
ลม แปรเปลี่ยนตลอด
ไฟ เกิด-ดับ ได้
เมื่อธาตุอันประกอบขึ้นเป็นรูปลักษณ์ยังไม่เที่ยงเช่นนี้แล้ว ส่วนที่ประกอบจากสิ่งเหล่านี้จักยั่งยืนได้ฉันใด แม้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เซลที่เล็กที่สุดของร่างกาย แม้นเป็นนิวเครียส์อันประกอบไปด้วย นิวตรอนและโปรตรอน ต่างก็ทำปฏิกิริยาแปรเปลี่ยนไปได้เช่นกันและสูญไปจากกายมนูษย์ได้อาการเปลี่ยนแปลงนั้นเพราะขาดดุลยภาพด้วยเหตุปัจจัยที่มนุษย์หลงผิดกระทำขึ้นแก่ตนเอง ในร่างกายถ้าน้ำมากไปย่อมเจ็บป่วย ไฟมากไปย่อมเป็นไข้ โรคภัยไข้เจ็ยล้วนเกิดจากการขาดความสมดุลย์ของธาตุในตัวตนทั้งสิ้น แม้การประกอบการงานทั้งปวงก็ยังคงตกอยู่ในกฏนี้เช่นดียวกัน ถ้าทุกอย่างที่กระทำไปไม่มีความสมดุลย์ สิ่งนั้นไม่อาจยั่งยืนยาวนาน มีแต่เสื่ิมสลายไปด้วยอาการอย่างรวดเร็ว
การรักษา""ดุลยภาพ""ของจิตใจจึงเป็นเพียงหนทางที่ทำให้อยู่ได้ในโลกนี้อย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ในที่สุดก็เสื่อมสลายเพราะไม่อาจรักษาดุลยภาพนั้นได้ตลอดกาล
แต่ ""ธรรมญาณ"" อันเป็นสภาวะแห่งทางสายกลางอันแท้จริงและไม่ต้องการสิ่้งใดมาปรุงแต่ง จึงเป็นผู้ที่สามารถให้ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและไม่เสื่อมสลายไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานะกาลใด ๆ และสภาพอย่างไร เพราะธรรมญาณไม่มี อิน หยาง เป้นองค์ประกอบนั่นเอง
-
การดำเนินวิถีชีวิตของคนในโลกนี้มีอยู่สองแบบ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกระแสของจิตใจที่ปรุงแต่งจักวุ่นวายไม่รู้จบเพราะจิตที่วิ่งพล่านออกไปรับสัมผัสทั้งปวงและหลงไหลในสิ่งที่ตนเองได้รับ บุคคลประเภทนี้เรียกว่า "ปุถุชน" ผู้หนาแน่นไปด้วยความทุกข์อย่างแท้จริง ส่วนบุคคลประเภทที่ทวนกระแสของโลก สวนทางกับการหมุนของโลกย่อมมีทั้งความคิดและการปฏิบัติที่ผิดต่อปุถุชนบุคคลประเภทนี้จึงเรียกว่า "" ผู้บำเพ็ญธรรม ""
"" เหตุไฉน ปุถุชน จึงวุ่นวายนัก "" ถาม
"" เพราะความคิดฟุ้งออกไปเป็นหมื่นวิถีและติคยึดกับมันนั่นแหละ "" ตอบ
เมื่อจิตของปุถุชนวิ่งออกไปสู่ภายนอกและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมทั้งปวงย่อมได้รับทั้งความดีและความชั่ว ความพอใจและความไม่พอใจ และที่ทำความยากลำบากให้มากมายเพราะสะสมสิ่งเหล่านี้เอาไว้ในจิตของตนเองจนกลายเป็นตะกอนนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน การสั่งสมสิ่งดีและชั่วเอาไว้มิได้ทำความสุขให้แก่ผู้สะสมมีแต่คอยสร้างความทุกข์ให้เสมอไป เพราะสิ่งดีสิ่งชั่วกลายเป็นมาตรฐานสำหรับตนเองที่จะคอยวัดสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาและตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือ ชั่ว ในแต่ละวันผู้คนประสบสองสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลาจิตคิดดี - ชั่ว วาจาสรรเสริญเยินยอและนินทาว่าร้าย การกระทำที่ถูกใจและไม่พอใจ
กาย วาจา ใจ ของใครก็ตามที่แล่นเข้าสู่จิตใจของคนเรา กลายเป็นสิ่งดีหรือชั่วนั้น ลัวนเป็นเรื่องที่คนเราเอามาเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่ตนเองได้ตั้งขึ้นเอาไว้ทั้งสิ้น
เวลาที่พ่อแม่ดุด่าหรือบ่นว่า ลูกชายทนฟังไม่ได้ด้วยเห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่ในคำพูดอย่างเดียวกัน ถ้ามาจากปากคนที่ตนเองรักก็กลายเป็นคำพูดที่หวังดีหรือไพเราะน่าฟัง
แม่คนหนึ่งเฝ้ามาเยี่ยมลูกซึ่งเป็นนักศึกษาและทำความสะอาดห้องพักซักผ้ารีดผ้าให้ลูกสาวด้วยความรัก บ่นว่าลูกเพียงคำเดียวเท่านั้น ลูกโกรธและไม่ยอมพูดด้วยนานเป็นเดือน
แต่กับแฟนหนุ่มที่ตนเองหลงรักใช้ถ้อยคำหยาบด่าว่ารุนแรงก็มิได้มีความโกรธตอบ กลับเดินตามงอนง้อตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้เพราะในใจของลูกสาวมีแต่มาตรฐานความดีของคนรักเอาไว้ แต่กับแม่กลับเป็นมาตรฐานของความชั่ว
เมื่อใดที่มาตรฐานของตนเองถูกทำลายลงไป ความทุกข์นั้นก็เข้ามาครอบงำซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยว่า มาตรฐานที่ตั้งไว้ในใจของเรานั้นแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา หาแน่นอนมิได้เลย
มาตรฐานวัดในใจเปลี่ยนเช่นนี้สิ่งที่มากระทบจากภายนอกก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน เพราะความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งเป็นสัจธรรม จิตใจของผู้คนจึงปั่นป่วนตลอดเวลา ไม่ว่ามาตรฐานวัดของตนเองเปลี่ยนหรือสิ่งที่มากระทบเปลี่ยนเพราะผลแห่งการเปรียบเทียบไม่เป็นไปตามที่ตนเองปรารถนา ความทุกข์จึงเกิดขึ้น แต่ถ้าตรงกับที่ตนเองตั้งเอาไว้ ความสุขก็เกิด แต่ทั้งความทุกข์และความสุขเช่นนี้จึงไม่คงทนเพราะเปลี่ยนแปลงไปตามกฏแห่งความไม่เที่ยงของจิตใจของตนเอง
ภายในใจของตนเองมีความเป็นหนึ่ง แต่เมื่อนำสิ่งภายนอกเข้ามาเปรียบเทียบจึงกลายเป็นสอง ภายในยึดถือแต่มาตรฐานความดีเมื่อพบความผิดปกติจากที่เคยวางเอาไว้จึงกลายเป็น ""ความชั่ว""
ท่อนไม้ท่อนหนึ่ง ไม่อาจบอกได้ว่า สั้นหรือยาว จนกว่าจะนำมาเปรียบเทียบกันจึงรู้ว่าท่อนไหนยาวหรือสั้น แต่บางคนสามารถบอกได้ว่า ยาว หรือ สั้น ก็มีความหมายว่า ภายในใจของเขามีมาตรฐาน ยาว หรือ สั้น เอาไว้เปรียบเทียบ ความทุกข์ และ ความสุขของคนก็เฉกเช่นเดียวกัน
พระอริยเจ้าจึงกล่าวเอาไว้ว่า "" หมื่นวิถีให้กลับสู่ความเป็น ""หนึ่ง"" ( วั่น ฝ่า กุย อี )
ท่านเมิ่งจื้อ ปราขญ์ที่สองรองจากท่านขงจื๊อ กล่าวเอาไว้ว่า "" การบำเพ็ญธรรม คือการนำเอาจิตใจที่กระเจิดกระเจิงกลับสู่ความเป็น "" หนึ่ง "" ความหมายก็คือ สิ่งใดมากระทบจงอย่านำไปเปรียบเทียบกับอะไรทั้งสิ้น แต่ให้กลายสภาพเป็น "" หนึ่ง "" เสมอไป ความทุกข์จักไม่เกิดขึ้นเลย แต่เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนให้ทุกอย่างเป็น "" หนึ่ง "" ได้ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
ความเป็น ""หนึ่ง "" จึงเป็นบันไดแห่งการบำเพ็ญที่ทำให้ตนเองพ้นไปจากความวุ่นวายปั่นป่วนของสัมผัสทั้งปวงเท่านั้นแต่มิใช่ทางสายกลางแต่ประการใด ทางสายกลางอันแท้จริง ปราศจากความเป็น ""หนึ่ง "" จึงเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์โดยแท้จริง เพราะไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับอะไรเลย รับได้ทุกอย่างและปล่อยวางได้ทุกอย่างไป ความสุขจากทางสายกลาง จึงไม่อาจนำอะไรมาเปรียบเทียบจึงเรียกว่า "" วิมุติสุข ""
-
"" คนใจแคบย่อมเป็นคนเห็นแก่ตัว ""
"" ส่วนคนใจกว้างย่อมไม่เห็นแก่ตัว ""
ถ้วยคำทั้งสองประโยคนี้ ถ้าพิจารณาอย่างธรรมดาก็ล้วนเห็นพฤติกรรมของผู้คนที่แสดงต่อคนด้วยกันชัดเจนนัก แต่เรามักเพ่งเล็งไปว่า คนใจแคบนั้นเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ยอมเผื่อแผ่่สิ่งใดให้แก่ผู้อื่นเลย เป็นคนที่ชอบกอบโกยให้แก่ตนเองสถานเดียว ถ้าพิจารณาเพียงเท่านี้ผู้คนทั่วโลกนี้ล้วนแต่ใจแคบทั้งสิ้นเพราะต่างมีความโลภต้องการทุกอย่างเป็นของตนเอง
แต่แท้ที่จริงแล้ว "" ใจแคบ "" เป็นอาการของ "" จิตใจ "" ที่มิได้เจริญใน "" อุเบกขา "" ต่างหาก คนที่ใจคับแคบถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับภาชนะอย่างหนึ่งที่คับแคบบรรจุสิ่งของได้น้อย ไม่ว่าสิ่งที่บรรจุลงไปจะเป็นสิ่งดีหรือเลวก็ตาม การพิจารณาความใจแคบก็เฉกเช่นเดียวกันแต่ที่ประหลาดแตกต่างไปจากภาชนะก็คือ คนใจแคบ รับเอาแต่สื่งที่ตนเองพอใจเท่านั้นและรับได้มากโดยไม่มีขีดจำกัดแต่สิ่งใดที่ตนเองไม่พอใจล้วนรับมิได้เลย แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนิดเดียว นอกจากรับมิได้แล้วยังมีปฏิกิริยาโต้ตอบเสียด้วย คนใจแคบจึงติดอยู่ในบ่วงคำสรรเสริญเยินยอ และปฏิเสธกับคำนินทาว่าร้าย คนเหล่านี้จึงชอบที่จะแก้ข้อกล่าวหาและตอบโต้อย่างรุนแรงเสมอเพียงเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นไปจากคำนินทา คนใจแคบจึงก่อเรื่องร้าย ๆได้มากมายและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเสมอ แท้ที่จริงคนใจแคบติดอยู่กับคำนินทาว่าร้ายเพราะไม่ยอมปล่อยวางแต่เก็บเอามากังวลสร้างความทุกข์ ความเคียดแค้นพยาบาทอาฆาตให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง คนใจแคบหน้าตาจึงหม่นหมองและอมทุกข์เสมอ คนใจแคบจึงไม่รู้จักการให้อภัยผู้อื่น คนใจแคบจึงรักแต่ตนเอง คนใจแคบจึงไม่อาจปฏิบัติธรรมใด ๆ ได้ คนใจแคบจึงไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายในสามภพสามภูมิ คนใจแคบจึงเสมือนหนึ่งผู้ตกนรกตลอดกาล
ส่วนคน "" ใจกว้าง "" มิได้หมายถึงแต่เพียงว่าให้สิ่งของทุกอย่างแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ความหมายที่แท้จริงอยู่ที่ว่าจิตใจที่น้อมรับทุกสิ่งได้โดยไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ยอมรับได้ทั้งเสียงด่าและสรรเสริญโดยไม่ติดยึดอยู่กับสองสิ่งนี้ ผู้ที่ปฏิบัติได้เช่นนี้จักได้ชื่อว่าเป็นคนใจกว้าง
"" ใครจะทำได้เล่า "" ปุจจา
"" แน่นอนผู้ที่เข้าถึงความเป็นจริงของสัจธรรม "" วิสัชนา
"" สัจธรรมเป็นไฉน ""
"" สัจธรรมปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวงและมีชีวิตจริงที่ไม่เกิดไม่ดับจึงจัดเป็นสัจธรรม ""
คำอธิบายเช่นนี้ต้องขยายความออกไปอีกหลายประโยค เพราะคนเราเข้าไม่ถึงสัจธรรมจึงติดยึดอยู่กับรูปลักษณ์ตัวตนเอาไว้ไม่ให้ใครมาดูถูกเหยียบย่ำทำลาย ปุถุชนเช่นนี้จึงยึด ""ตัวกู""เป็นสำคัญ เมื่อได้รับคำด่าว่าจึงพยายามป้องกันด้วยการตอบโต้แก้ตัวครั้นได้รับคำสรรเสริญจึงหน้าบานดีใจเพราะเป็นการเสริมอัตตาตัวตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไป
แต่คนใจกว้างย่อมปราศจาก ""ตัวกู"" จึงรับได้ทั้งเสียงด่าและสรรเสริญโดยไม่ข้องแวะเกี่ยวพันเพราะไม่มี ตัวกู ต้องรักษาเอาไว้ กายเนื้อเป็นตัวปลอมที่รอวันแตกดับไม่ยั้งยืนเพราะฉะนั้นใครจะด่าก็ด่าไป ใครจะสรรเสริญก็สรรเสริญไป จิต มิได้กระทบหรือรับเอาไว้เป็นอารมณ์ ประการสำคัญผู้เข้าถึงสัจธรรม ย่อมรับรู้ว่าอันธรรมญาณของคนทั้งหลายย่อมมีแหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกันและเสมอเหมือนกัน การยอมรับนับถือว่า คนทั้งปวงเสมอเราย่อมทำให้จิตใจเห็นคนเหล่านั้นล้วนเป็นพี่น้องมาจากแหล่งเดียวกันควรช่วยเหลือและเมตตาต่อกัน อาการแบ่งเขาแบ่งเราย่อมไม่เกิด การเปรียบเทียบย่อมไม่มี ความดีและชั่วย่อมเป็นสิ่งเท่าเทียมกันและน่าสงสารเห็นใจเหมือนกัน
คนใจกว้างจึงหน้าตาเบิกบานสดชื่น คนใจกว้างจึงอภัยให้คนทั้งปวงได้โดยง่ายเพราะมองไม่เห็นเป็นภัย
คนใจกว้างจึงรักทุกคนได้ คนใจกว้างจึงเดินสู่หนทางแห่งการปฏิบัติทางสายกลางได้
คนใจกว้างจึงมีโอกาสพ้นไปจากการเวียนว่าย คนใจกว้างจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่บนสวรรค์ตลอดกาล
เพราะเหตุนี้คนใจกว้างจึงเจริญในอุเบกขาญาณได้เสมอ
-
"" ในโลกนี้หาความเที่ยงธรรมได้หรือไม่ ""
ถ้าคำตอบนี้ปุถุชนได้ยิน คำตอบที่ได้ก็คือ "" ไม่มี "" แต่ในคำถามเดียวกันหากไปถามผู้ปฏิบัติบำเพ็ญสัจธรรมย่อมได้รับคำตอบว่า ""ความเที่ยงธรรมมีอยู่แล้วในโลกนี้"" เหตุไฉนผู้ไม่บำเพ็ญจึงเชื่อว่า ไม่มีความเที่ยงธรรมอยู่ในโลกนี้เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยปฏิบัติ ""จิต"" ของตนให้อยู่ในสัจธรรมอันเป็นทางสายกลาง แต่มันหวั่นไหวไปตามแรงอายตนะหกที่ส่งอารมณ์เข้ามายั่วยุให้จิตใจหวั่นไหวคล้อยตาม และกระแสนั้นมักเป็นไปเพราะประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น ความเห็นแก่ตัวที่ตัดไม่ขาดนั่นเอง จึงทำให้พฤติกรรมทุกอย่างของปุถุชนได้สร้างความไม่เที่ยงธรรมแม้ปากนั้นกล่าวอ้างความเที่ยงธรมก็ตามที เหตุสำคัญจึงอยู่ที่จิตของเขาไม่เที่ยงธรรมต่อทางสายกลาง อันเป็นสัจธรรมจากฟ้าเบื้องบน สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวของมนุษย์ที่ขาดความเที่ยงธรรมต่อสัจธรรมที่เสื่อมโทรมและกลายเป็นพิษทำร้ายมนุษย์เหล่านั้นไปในที่สุด
มนุษย์เห็นแก่ตัวทิ้งสิ่งสกปรกลงไปในแม่น้ำลำคลองโดยเฉพาะสารพิษจากโรงงาน และ อากาศเป็นพิษอันเกิดจากรถยนต์สิ่งเหล่านี้กลับมาทำลายมนุษย์ ความเสื่อมจึงเกิดขึ้นในโลกนี้จนยากแก่การที่จะปฏิรูปหรือแก้ไข พระศาสดาขงจื๊อ จึงกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ "" ทางสายกลาง "" ว่า จื้อ จง เหอ เทียนตี้ เว่ย เยียน วั่น อู้ อวี้ เยียน แปลความว่า ""ผู้บำเพ็ญตั้งตนอยู่ในทางสายกลางและิอุุเบกขาแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของฟ้าดินและจักเกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบไป "" ความหมายอันชัดเจนนั้นย่อมหมายถึง สภาวะจิตของผู้คนทั้งหลายตรงต่อสัจธรรม แล้วย่อมไม่ทำลายสรรพสิ่ง เพราะจักมองเห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งปวงและปล่อยให้เดินไปบนหนทางแห่งธรรมชาติ
สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราล้วนมีวงจรของชีวิตของตนเองอยู่แล้วแต่ที่สูญเสียทุกอย่างเพราะมนุษย์ทำลายวงจรชีวิตของสรรพสิ่งผลร้ายจึงติดตามมา ชาวนาจับงูมาเป็นอาหาร หนูจึงไม่มีผู้กำจัด จึงกัดกินข้าวของชาวนาเสียหายและในที่สุดแมลงต่าง ๆ ก็ทำลายพืชผล ชาวนาต้องใช้ยากำจัดศัตรูพืช ยากำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ล้วนมีพิษต่อร่างกายมนุษย์เพราะฉะนั้นจึงถูกทำลายเจ็บป่วยล้มตายลงไปอย่างประมาณมิได้ กฏเกณฑ์ของฟ้าดิน มีความเที่ยงธรรมและสรรพสิ่งเดินไปบนความเที่ยงธรรมย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองปราศจากทุกข์ แต่เพราะมนุษย์มีสติปัญญาอันไม่ถูกต้องตรงตามความเที่ยงธรรมของฟ้าดินจึงไปทำลายวงจรเหล่านั้น ภัยพิบัติจึงเกิดแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น กล่าวได้อีกแง่มุมหนึ่งมนุษย์ทำลายตนเองโดยแท้ เพราะขาดความเที่ยงธรรมนั่นเอง
กฏของฟ้าดินหรือธรรมชาติคงความเที่ยงธรรมปราศจากความลำเอียงเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นสรรพสิ่งที่อยู่ใต้กฏเกณฑ์นี้ย่อมมีแต่ความสุขและเจริญงอกงาม ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์อันเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ล้วนเป็นเรื่องทำลายความเที่ยงธรรมของธรรมชาติ มนุษย์สามารถคิดปั่นไฟฟ้าจนสร้างแสงสว่างขึ้นมากมายและหลอดไฟฟ้าที่สว่างไสวนั้นได้ทำลายมนุษย์อย่างไม่รู้ตัว เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องสูญเสียความสามารถในการมองเห็นด้วยนัยน์ตาของตนเอง แว่นตาจึงกลายมาเป็นอุปกรณ์สำคัญของการมองเห็น แสงสว่างจากไฟฟ้า ได้ทำลายดวงตาของมนุษย์ให้ด้อยศักยภาพในการมองเห็น
เดี๋ยวนี้เด็กนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์มากกว่าหน้าหนังสือ เพราะฉะนั้น เด็กจึงทำลายดวงตาของตนเองจนต้องสวมแว่นตาตั้งแต่วัยเด็ก สมัยก่อนยังไม่มีความเจริญทางด้านคอมพิวเตอร์ การคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร ล้วนใช้ความสามารถของตนเอง แต่บัดนี้เครื่องคิดเลขเพียงใช้นิ้วเดียวกดปุ่มก็สามารถได้คำตอบทันที ไม่ว่าจะเป็น บวก ลบ คูณ หาร เด็กสมัยนี้จึงคิดเลขไม่เป็น
เมื่อมนุษย์สร้างวิทยาการต่าง ๆ ขึ้นมามากมายล้วนเป็นการขัดแย้งต่อธรรมชาติของฟ้าดิน ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นเครื่องทำลายมนุษย์ไปโดยไม่รุ็ตัว เมื่อมนุษย์ถอยห่างจากสัจธรรมของฟ้าดิน มนุษย์จึงตกต่ำลงไปสู่หนทางแห่งความมืดมิดและสู่อบายภูมิชัดเจนยิ่งขึ้นโดยมิรู้ตัว อวิชชา ความไม่รู้จึงครอบงำมนุษย์มากจนไม่รู้ว่า ภัยพิบัติที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นไว้นั้นกำลังคืบคลานเข้ามาทำลายตัวเอง มนุษย์หลงผิดคิดว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นความรู้แจ้ง แต่แท้จริงแล้วเป็นเครื่องมือเพิ่มพูนกิเลสให้มนุษย์หลงใหลจนพ้นไปจากหนทางของ ""ทางสายกลาง"" อันแท้จริง
เพราะฉะนั้นนอกจากมนุษย์ไม่สามารถทำให้สรรพสิ่งเจริญงอกงามตามกฏของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการทำลายล้างตนเองให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้ด้วย
-
พทุธศาสนิกชนที่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แล้วมีความเห็นขัดแย้งกันมีอยู่ตั้งแต่บรรพกาลมาจนถึงปัจจุบันกาลปัญหาถาวรที่แบ่งความเชื่อ ออกเป็นสองอย่างและเถียงกันไม่จบคือ ฝ่านเถรวาทหรือหินยาน มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าปรินิพพานแล้วไม่เหลืออะไรอีกเลยเหมือนกับสูญไปจากจักรวาลนี้ ฝ่ายอาจาริยวาทหรือมหายาน มีความเชื่อว่าพระพุทธองค์มิได้ดับสูญไปเพียงแต่เป็นธรรมกายมีที่สถิตอยู่ในแดนพุทธภูมิหรือแดนนิพพาน
ความเชื่อสองอย่างนี้ได้ทำให้เกิดความแตกต่างกันในพิธีการปฏิบัติเพื่อไปสู่ความสำเร็จในการบำเพ็ญธรรม ฝ่ายเถรวาทหินยาน เชื่อว่าตนเองบรรลุธรรมแล้วจึงช่วยเหลือผู้อื่น
ฝ่ายอาจาริวาทมหายาน เชื่อว่า ช่วยผู้อื่นให้บรรลุสู่พุทธภูมิก่อนที่ตนเองจักบรรลุ ความเชื่อที่แตกต่างกันนี้มิได้กระทบกระเทือนต่อสัจธรรม เพราะไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร สัจธรรมยังคงเป็นอยู่อย่างนั้นเองหาเปลี่ยนแปลงไม่ เพียงแต่ความคิดแลความเชื่อของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเพราะความเสื่อมจึงเกิดขึ้นต่อมนุษย์เพราะมิได้ปฏิบัติให้อยู่ในแนวหรือกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน สัจธรรมนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ฝ่ายเถรวาท เอาความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มาเป็นข้ออ้างว่า เป็นลัทธิความเชื่อที่แตกต่างกันกับศาสนาพุทธ เพราะพราหมณ์เชื่อมั่น พรหมมัน อันหมายถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าไม่ได้เชื่ออย่างนั้น เพราะเหตุนี้ในพุทธศาสนาจึงไม่มี พรหมมัน หรือ ปรมาตมัน แต่เหมาเอาว่า ความเชื่อของพราหมณ์ เป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็นผิดไปโน่นเลย อาการยึดเอาความเชื่อของตนเองเป็นใหญ่ โดยคิดว่า ความเชื่อของผู้อื่นผิดจึงเป็นเรื่องที่ผิดไปจากสัจธรรมของฟ้าดินโดยแท้จริง หลักของศาสนาพราหมณ์ มีพระพรหม เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
หลักของพระพุทธศาสนา มีธรรมชาติ เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
แต่พิธีการปฏิบัติหรือการบำเพ็ญ แม้แต่ในศาสนาพราหมณ์ ก็ไม่ผิดเพี้ยนเฉกเช่นเดียวกับพุทธศาสนาก็ปฏิบัตผิดอยู่มากมาย พระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อหลักของกรรม คือการกระทำของตนเองเป็นสำคัญ แต่ศาสนาพราหมณ์กลับเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ความเชื่อในครั้งนั้นของศาสนาพราหมณ์จึงมิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่หลักสัจธรรมของพราหมณ์ยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่การปฏิบัติที่ล่วงเลยมานานย่อมผิดแผกไปจากกฏเกณฑ์ของฟ้าดินและมิใช่หนทางอันแท้จริงของการพ้นไปจากทุกข์
พระพุทธองค์จึงทรงค้นหาด้วยพระองค์เองและทรงทราบว่า หนทางสายกลางนั้นเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง แล้วใช้ศักยภาพของตนเองบำเพ็นเพื่อไปสู่หนทางนั้น มิใช่อิทธิฤทธิ์ภายนอกแต่ประการใด เมื่อคำสอนของพระพุทธองค์ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันสมัย ย่อมแปรเปลี่ยนไปเพราะความเชื่อและความคิดของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นการปฏิบัติที่มิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่สัจธรรมของพระพุทธองค์ที่ทรงค้นพบยังคงดำรงอยู่มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย
ตัวอย่างชัดเจนในการตีความหมายแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า "" สรรพสิ่งอันเป็นสังขารทั้งหลายย่อมไม่เที่ยง ความทุกข์ทั้งปวงก็ไม่เที่ยงแท้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่ไร้รูปลักษณ์ทั้งปวง """
ผู้ศึกษาธรรมตีความว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยงจึงรวมไปถึง ธรรมญาณของตนเองก็ไม่เที่ยงด้วยแลคิดว่า ธรรมะ ไม่เที่ยง เพียงแต่ตรัสว่า ธรรมะปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ เท่านั้น มิได้ว่าความหมายไม่เที่ยง ถ้าเชื่อว่าแม้ธรรมยาณก็ไม่เที่ยงแล้ว คำสอนต่อจากนี้ไปจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปมิได้ เช่น การเวียนว่าย ตาย เกิด และถ้าธรรมญาณ เป็นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็ย ตาย ได้แล้วไซร์ ย่อมไม่มีความจำเป็นในการค้นหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์เลย เพราะในที่สุดก็ดับสูญไป
แต่เพราะ ""ธรรมญาณ"" อันเป็นตัวจริงของเรา ไม่มีเกิด ไม่มีดับ ไม่มีใครทำลายได้ ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้จึงสามารถไปเกิดตามเหตุปัจจัยที่ตนเองสั่งสมเอาไว้ แม้แต่คำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า ""ใครเชื่อว่า ตายแล้วเกิด ก็ผิด ใครเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดก็ผิด "" การอธิบายนี้ก็ได้แต่อาศัยว่า มีเหตุปัจจัยเกิดจึงเกิด มีเหตุปัจจัยไม่เกิดก็ไม่เกิด แต่อะไรเล่า เกิดและไม่เกิด คำอธิบายนี้ก็ไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าธรรมญาณไม่เกิดไม่ดับ จึงมีเหตุผลในการอธิบายคำตรัสของพระพุทธองค์
เพราะฉะนั้น การดับสูญของพระพุทธองค์จึงหมายถึง ดับจากเหตุปัจจัยทั้งปวงในโลกนี้ แต่ ""ธรรมญาณ""ตัวจริงของพระพุทธองค์ทรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อันเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้เหนือจากโลกนี้ต่างหาก
-
ใคร ๆ ก็ชอบความเที่ยงตรงและอยากให้ปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความเที่ยงตรง แต่น่าแปลกที่ตนเองปฏิบัติต่อผู้อื่น มักขาดความเที่ยงตรงเสมอ แต่เป็นไปตามความพอใจของตนเองเสียส่วนใหญ่ การตีความหมายของ ""ความเที่ยงตรง"" จึงผิดแผกแตกต่างกันไปเพราะต่างเอาใจตนเองและกิเลสของตนเป็นผู้ตัดสิน ""ความเที่ยงตรงจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นกับมนุษย์"" เมื่อมนุษย์ไม่มีความเที่ยงตรงจึงก่อทุกข์ภัยให้แก่ตนเองมากมายจนประมาณมิได้ และมักโทษสิ่งอื่น มิได้โทษตนเองที่ขาดความเที่ยงตรง
มนุษย์ไม่รู้จัก ""ความเที่ยงตรง"" อันแท้จริง ดังนั้นจึงปฏิบัติผิดต่อกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ความเที่ยงตรงมิอาจนำเอาจิตใจของมนุษย์มาเป็นหลักได้เพราะจิตใจของมนุษย์แปรเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของตนเอง
ความเที่ยงตรงของฟ้าดิน จึงเป็นหลักสำคัญที่มนุษย์ควรเรียนรู้ และเอาแบบอย่างมาปฏิบัติซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะขัดต่อความเคยชินอันเป็นกิเลสของมนุษย์ที่สะสมเอาไว้ ฟ้าดินไม่เคยลำเอียงเข้าข้างสรรพสิ่งในโลกนี้ ฟ้าดินจึงก่อเกิดสรรพสิ่งมากมายจนประมาณมิได้ กาลเวลา ฤดูกาล การหมุนเวียน ล้วนเป็นไปตามความเที่ยงตรง ในโลกนี้มี 4 ฤดู ฤดูร้อน หนาว ใบไม้ร่วง และใบไม้ผลิ ฟ้าดินก่อเกิดฤดูกาลอย่างเที่ยงตรงสม่ำเสมอ ""ทำไมบางแห่งจึงไม่เที่ยงตรง ฤดูกาลไม่ปกติ"" ""ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดจากฟ้าดินแต่เป็นเพราะน้ำมือของมนุษย์"""
คนในกรุงเทพฯทุกวันนี้ไม่รู้จักฤดูหนาว เพราะไม่หนาวมาหลายปีแล้ว ล้วนมีสาเหตุมาจากความวิปริตของมนุษย์ มิใช่เกิดจากฟ้าดินวิปริต แต่มนุษย์มิได้พิจารณาความผิดของตนเองจึงโยนความผิดนี้ให้แก่ฟ้าดิน กรุงเทพฯต้ดโค่นต้นไม้มากมาย จากป่าต้นไม้กลายมาเป็นป่าคอนกรีต ด้วยเหตุนี้ กาลอากาศจึงเปลี่ยนแปลงไป เพราะขาดต้นไม้ที่จะอุ้มน้ำทำความชุ่มชื้นให้เกิดขึ้น กรุงเทพฯจึงมีแต่ฤดูร้อน และ ฝน เท่านั้น
ถ้ามนุษย์ในกรุงเทพ ฯ มีความเที่ยงตรง เยี่ยงเดียวกับฟ้าดิน ย่อมไม่ทำลายต้นไม้มากมายเช่นทุกวันนี้ มลภาวะเป็นพิษก็จะไม่ทำลายชีวิตผู้คน แต่เป็นเพราะมนุษย์ลำเอียงเข้าหนตนเองคิดแต่ว่าความสุขเฉพาะตัวซึ่งถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น ความเที่ยงตรง จึงไม่มี สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวของมนุษย์จึงไม่อาจเจริญขึ้นมาได้ ต้นไม้ดูดสารคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการขจัดมลพิษ แต่มนุษย์กรุงเทพฯ ทำลายต้นไม้ เพราะฉะนั้น มลพิษจึงไม่มีที่ไปจึงกลายเป็นภัยต่อคนกรุงเทพฯ
เหตุที่จิตใจของคนไม่ตรงต่อฟ้าดินเพราะเขาขาดการเรียนรู้จากฟ้าดินมิได้สังเกตุจากธรรมชาติ เพราะฉะนั้น จึงปฏิบัติผิดเพี้ยนไปจากความเที่ยงตรงของธรรมชาติ ""จิตใจของเขาจึงหันเหห่างไปจากหลักของ ทางสายกลาง""" จิตใจของคนจึงปฏิบัติผิดต่อกฏเกณฑ์ของฟ้าดินและกลายเป็นผู้ขัดขวางพยายามเอาชนะธรรมชาติคือ ฟ้าดิน สรรพสิ่งในโลกนี้จึงแปรเปลี่ยนเป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัว มนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปมิได้
สิ่งที่มนุษย์ควรเอาชนะอย่างยิ่งคือ จิตใจของตนเองที่ผิดเพี้ยนไปจากกฏเกณฑ์ของธรรมชาติต่างหาก เมื่อยิ่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้นเพียงใด มนุษย์ยิ่งพ้นไปจากกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือฟ้าดินมากขึ้นเพียงนั้น มนุษย์จึงพ้นไปจากทางสายกลางซึ่งเป็นกฏเกณฑ์สำคัญของฟ้าดิน เพราะฉะนั้น การครงอชีวิตของมนุษย์จึงประสบแต่ความวิบัติไปสู้อบายภูมิในที่สุด
ความเจริญทางด้านวิทธยาศาสตร์ไม่อาจเข้าถึงความเร้นลับของธรรมชาติได้ ภัยพิบัติอันเกิดจากธรรมชาติ มนุษย์ไม่เคยเอาชนะได้เลย ไม่ว่าความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าไปถึงไหนก็ตาม และที่น่าประหลาดเป็นที่สุด วิทยาการทางวิทธยาศาสตร์ก้าวล้ำหน้าไปในอวกาศ แต่ไม่มีวิทยาการใดเลยที่จักทำให้มนุษย์รู้จักตนเองและเอาชนะกิเลสนานาประการของตนเองได้ เมื่อจิตใจของมนุษย์ห่อหุ้มด้วยกิเลสร้อยแปด เขาจึงพ้นไปจากกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน คือ ทางสายกลาง อันแท้จริง เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงไม่อาจสร้างความเจริญอย่างธรรมชาติได้ เขาสร้างได้แต่ความเจริญอันจอมปลอมและทำลายตัวเองโดยแท้จริง
มนุษย์หลงใหลติดอยู่กับความเจริญจอมปลอม และ ส่งเสริมกันจนห่างหายไปจากกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน พลังความชั่วบาปเช่นนี้จึงรวมตัวกันเป็น ""มาร"" มาทำลายล้างมนุษย์ ตราบใดมนุษย์ยังไม่เข้าใจ ""ความเที่ยงตรง""และไม่อาจยังให้สรรพสิ่งเจริญงอกงาม มีแต่ทำลายสรรพสิ่งรอบตัวเอง ในที่สุดก็ถึงกาลเวลาทำลายตนเองนั่นแล
-
มีโคลงโลกนิติ์บทหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้ำลึกของจิตมนุษย์ว่า
มหาสมุทรสุดลึกล้ำ คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร์ ยากแท้หยั่งถึง
เหตุที่ "จิต" ของมนุษย์ "ยากแท้หยั่งถึง" เพราะความแปรปรวนไปจากธรรมชาติเดิมของตนเองด้วยแรงของกิเลสเวรกรรมนานาประการที่ตนเองสร้างสมเอาไว้
ความเคยชินแห่งอารมณ์ที่สั่งสมเอาไว้ย่อมทำให้เกิดความเคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ เพราะฉะนั้นจึงแปรเปลี่ยนได้ตลอดกาล แต่มหาสมุทร หรือ ภูเขา มีความนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหวรวดเร็วจึงรู้ถึงความลึกหรือความสูงได้
ความเปลี่ยนแปลงของ "จิต" มนุษย์มันมากจนกระทั่งแม้ตัวเองก็ไม่อาจหยั่งถึงได้ บางครั้งการกระทำของตนเองเป็นไปด้วยความไม่ตั้งใจ จึงเกิดความเสียใจที่ได้กระทำลงไป เมื่อมีสติคืนกลับมา เป็นต้น ความซับซ้อนอันเป็นเวรกรรมที่สร้างสมไว้เป็นเรื่องของ "ความไม่รู้" สิ่งเหล่านี้จึงดูเหมือนเป็นความลึกลับที่มนุษย์หยั่งไม่ถึง
คนดีบางคนแต่ทำไมจึงได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส
คนชั่วบางคนทำไมจึงเสวยสุขมีเกียรติยศ
ความไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ทำให้มนุษย์มองเห็นเป็นเรื่องลึกลับ แท้จริงแล้วสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นล้วนเป็น "กรรม" ของตนเองที่กำหนดเอาไว้ด้วยตนเองทั้งสิ้น เวรกรรมที่ได้กระทำเอาไว้อย่างซับซ้อนนั่นเองเป็นต้นเหตุที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการดำรง "จิต" ให้อยู่ในทางสายกลางจึงเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับมนุษย์ เพราะหนทางสายกลางของ "จิต" ล้วนเป็นเรื่องของการหักวงจรแห่งเวรกรรมทั้งสิ้น การดำรงจิตให้อยู่ใน อุเบกขาญาณ สามารถรับทุกสิ่งอย่างได้โดยไม่ข้องแวะหรือเป็นไปตามสิ่งมากระทบจึงเป็นเรื่องยากลำบากนัก เพราะภายในจิตใจของคนเหล่านั้นล้วนมีเชื่อเพลิงเอาไว้แล้ว
โลภ โกรธ หลง ล้วนเป็นเชื้อเพลิงที่สั่งสมเอาไว้มากมายจนตนเองไม่รู้สึกว่า สะสมเอาไว้มากน้อยเพียงใด ครั้นกระทบกับเหยื่อที่ต้องกับเชื้อเพลิงเหล่านี้ปฏิกิริยาแสดงออกจึงเกิดขึ้น เชื้อเพลิงมีความรุนแรงมากเท่าไหร่ กระแสไฟก็ลุกขึ้นร้อนแรงเพียงนั้นบางคนเพียงเงินห้าบาทก็สามารถฆ่าคนได้ บางคนเพียงคำพูดมากระทบไม่พอใจก็วิวาทกับผู้คนได้ คนเหล่านี้จึงพ้นไปจากหนทางสายกลางโดยสิ้นเชิง แม้ปากของเขาจะพร่ำพรรณาถึงทางสายกลาง เขาก็ไม่อาจปฏิบัติให้เป็นจริงได้ด้วยจิต มนุษย์จึงพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในวังวนของความยากลำบากขึ้นทุกที เพราะเขาขาดการพิจารณาธรรมชาติ
ธรรมชาตินั้นมีความง่าย แต่เบื้องหลังนั้นมีความลึกล้ำที่ไม่อาจหยั่งคะเนได้เลย การที่เมล็ดไม้พันธุ์ชนิดหนึ่งเติบโตขึ้นมาได้ด้วยอาศัยน้ำและอาหารในดินซึ่งพิจารณาไปแล้วเป็นกรรมวิธีที่ง่าย ๆ แต่เบื้องหลังของความง่ายมีความลึกลับที่มนุษย์ไม่อาจเรียนรู้ได้ ตัวอย่างเช่น ต้นข้าวต้นแรก เกิดขึ้นได้อย่างไร มนุษย์คนแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มนุษย์พยายามค้นคว้าศึกษาและหาข้อสรุป แต่ก็ไม่อาจยืนยันในข้อสรุปของตนเองจนไม่มีข้อถกเถียงอีกต่อไปได้
มนุษย์พยายามทั้งทฤษฏีว่าการเกิดขึ้นของมนุษย์ในโลกนี้เพราะการวิวัฒนาการของสัตว์เซลล์เดียว จากน้ำมาสู่บกและพัฒนาจนกลายเป็นมนุษย์ คำอธิบายเช่นนี้มีข้อที่ถกเถียงได้ ชาร์ล ดาวิน นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นทฤษฏีวิวัฒนนาการของมนุษย์ ถ้าหากทฤษฏีนี้เป็นความจริง ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง แต่สิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมจึงหยุดวิวัฒนาการแต่เพียงเท่านี้ กฏแห่งวิวัฒนาการไม่ควรหยุดยั้งอยู่แค่สรีระอย่างปัจจุบันนี้ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงต่อไป "ความง่ายของธรรมชาติจึงกลายเป็นความลึกล้ำที่มนุษย์หยั่งไม่ถึง" เพราะฉะนั้น การดำรงสภาวะจิตของมนุษย์ที่หลีกเร้นไปจากความง่ายของธรรมชาติ จึงกลายเป็นชีวิตที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นทุกที เสมือนหนึ่งลิงติดร่างแหยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งนุงนังจนหาทางออกไปพบ คนที่สามารถดำรงสภาวะจิตให้อยู่อย่างง่ายตามธรรมชาติของฟ้าดินแน่อนนเขาย่อมมองดูทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงและเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่เกิดความซับซ้อนภายในจิตของเขาเลย
แต่เพราะความเคยชินความยุ่งยากที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจึงทำให้มนุษย์ไม่อาจอยู่อย่างง่าย ๆ ตามธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่งได้เลย
-
สังคมสมัยบรรพกาลไม่ค่อยมีกฏหมาย เพราะการกระทำของผู้คนอยู่ในกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน จิตใจมิได้โหดเหี้ยมเยี่ยงในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นกฏระเบียบต่าง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีมากมาย ความเจริญในสมัยโบราณมิได้ดูจากวัตถุภายนอก แต่เป็นความเจริญทางด้านจิตใจและเกณฑ์กำหนดของความเจริญด้วยสัจธรรม คนใกล้ชิดต่อสัจธรรมภายในตนเองมากกว่าภายนอก เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกันจึงมีความสงบไม่ยุ่งยาก ซับซ้อนเหมือนสังคมในปัจจุบันที่ผู้คนห่างหายไปจากหลักสัจธรรมของตนเอง ผู้คนอยู่กับกิเลสที่ห่อหุ้มจิตใจเอาไว้ คนในยุคปัจจุบันจึงปรุงแต่งสรรพสิ่งมากมายเพราะเป็นไปตามแรงกิเลสมากกว่าที่จะใช้สัจธรรมแห่งตนเป็นผู้กำหนด คำกล่าวของเหลาจื๊อจึงถูกต้องตรงความเป็นจริงว่า "ยิ่งออกกฏหมายมากผู้คนยิ่งกระทำผิดมาก" ตัวอย่างชัดเจน การค้าขายในสมัยปัจจุบันเต็มไปด้วยสัญญาที่เป็นไปตามลายลักษณ์อักษรและกฏหมายที่กำหนดเอาไว้ เพื่อป้องกันการโกง แต่การโกงก็เกิดขึ้นมากมาย กฏหมายเหล่านั้นก็ไม่อาจป้องกันได้เลย ในสมัยก่อน การตกลงการค้าใช้วาจาเท่านั้นก็ตกลงกันได้ เพราะผู้คนต่างรักษาวาจาสัตย์ไม่ยอมละเมิด ความยุ่งยากซับซ้อนจึงไม่เกิดขึ้นเพราะคนเหล่านี้เชื่อในกฏของฟ้าดินและปฏิบัติตนอยู่ในเกณฑ์กำหนดของฟ้า แต่กฏหมายต่าง ๆ ที่มนุษย์ออกมาบังคับล้วนเป็นเรื่องของการป้องกันจิตใจที่ห่างหายไปจากกฏเกณฑ์ของฟ้าดินทั้งสิ้น เมื่อจิตใจของคนเหล่านี้มีลักษณ์เช่นนี้แล้ว กฏหมายที่ตราขึ้นมาก็ไม่อาจแก้ไขหรือระงับยับยั้งการฉ้อโกงนั้นได้เลย
แต่ก่อนนั้นไม่มีคดีความขึ้งโรงศาล แต่บัดนี้มีคดีความที่เกี่ยวกับฉ้อโกงรกโรงศาล แม้จะมีกฏหมายป้องกันก็ไม่เป็นผลตามที่มนุษย์กำหนดเลย การตรากฏหมายขึ้นมากลับกลายเป็นช่องทางให้คนที่รู้กฏหมายใช้เป็นเครื่องมือฉ้อโกงกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้คนเหล่านี้มิได้เกรงกลัวต่อกฏหมายของฟ้าดิน
ใครทำดี ย่อมได้ีับผลดี
ใครทำชั่ว ได้รับผลชั่ว
เป็นกฏเกณฑ์ของฟ้าดินที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้เลย
แต่ผู้คนในสมัยปัจจุบันกลับมิได้เชื่อฟังหรือยอมรับว่ามีกฏหมายของฟ้าดินเพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่กลับเชื่อกฏหมายของมนุษย์ที่สร้างขึ้นมาเอง เมื่อผู้คนอยู่นอกกฏเกณฑ์ของฟ้าดินมากเท่าไหร่ กฏหมายของคนก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และความยุ่งยากซับซ้อนก็มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่มีใครเชื่อใจใคร
การพัฒนากฏหมายซึ่งเป็นถ้อยคำที่สวยหรูแต่แท้ที่จริงเป็นคำพูดที่ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมทางจิตใจของผู้คนมากขึ้นเท่านั้นจึงต้องวางวิธีการเงื่อนไขให้สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เพียงเพื่อป้องกันมิให้เกิดการคดโกงขึ้นมาเท่านั้น แต่ก็ยังทำไม่ได้เพราะคนโกงก็หาช่องทางโกงจนพบ เพราะสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นย่อมมีจุดอ่อนด้วยตัวของมันเอง
บรรดาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทุกชนิดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจึงไม่มีอะไรเลยที่สามารถช่วยให้มนุษย์คืนกลับไปสู่จุดเดิมคือ จิตใจที่ตรงต่อกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน มีแต่ทำให้ผู้คนห่างหายไปจากสัจธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์คือประจักษ์หลักฐานที่สำแดงให้เรารู้ถึงความเสื่อมโทรมทางจิตใจของมนุษย์
วัตถุเจริญมากเท่าไร
จิตใจก็เสื่อมทรามลงมากเท่านั้น
การบำเพ็ญตนให้ตั้งอยู่บนเส้นทาง อุเบกขาญาณและทางสายกลางจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งสำหรับมนุษย์ในยุควิทยาศาสตร์ก้าวหน้า คนเหล่านี้เชื่อแต่กฏวิทยาศาสตร์แต่ละเลยกฏเกณฑ์ของฟ้าดิน สังเกตุเห็นได้ว่า นักวิทยาสาสตร์ไม่มีความเชื่อทาง สัจธรรม เพราะเป็นสิ่งที่พิสูจน์จับต้องไม่ได้ ถ้านักวิทยาศาสตร์คนใดเข้าหาธรรมะก็มักจะหลงเข้าไปสู่หนทางแห่งไสยศาตร์มากกว่าที่จะเป็นสัจธรรมอันแท้จริง
จิตใจของผู้คนที่มอมเมาด้วยวิทยาศาตร์ย่อมไม่อาจตั้งอยู่บนเส้นทาง "สายกลาง" นั้นไม่ต้องการสิ่งใดมาครอบครองเป็นเจ้าของ แต่กลับมีสิ่งที่ครอบครองจนประมาณมิได้เพราะทางสายกลางปล่อยวางทุกสิ่งอย่างรับเอาไว้แต่ไม่เกี่ยวข้องด้วยแรงกิเลส เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งจึงเจริญเติบโตด้วยตัวของตัวเองได้ ความเจริญเช่นนี้ย่อมยั้งยืน แต่มนุษย์ที่ไม่มีจิตใจแห่งทางสายกลางต้องการครอบครองทุกสิ่ง แต่กลับมิได้สักสิ่งเดียว เพราะอารมณ์แห่งความโลภจึงเป็นตัวทำลายสรรพสิ่งทั้งปวง
จิตใจแห่งทางสายกลาง จึงเป็นไปตามธรรมชาติ แห่งสัจธรรม ชีวิตของผู้คนที่ตกอยู่ในกฏเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นจึงพ้นไปจากวิถีสายกลางจึงก่อทุกข์มิสิ้นสุดนั่นเอง
-
ความเป็นกลางของจิตใจ พิจารณาไปอีกทีหนึ่งมิเป็นเรื่องยากนัก เพราะฉะนั้นมีผู้บำเพ็ญจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการเข้าถึงหนทางสายกลางนั้นคือ วางเฉย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งใดก็เป็นความเป็นกลางเสียแล้ว บางครั้งก็คิดไปว่า การปฏิบัติทางสายกลางนั้น ไม่หนักไปในทางใดทางหนึ่ง ย่อมเป็นทางสายกลาง
ความเข้าใจทั้งทางด้านจิตและกาย นั้นเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง ถ้าทางสายกลางเป็นไปด้วยความง่ายดังปากพูดเช่นนี้แล้ว พระพุทธองค์คงไม่จำเป็นต้องบำเพ็ญยากลำบากเพื่อค้นหาอยู่ถึง 6 ปี เป็นแน่แท้
แท้ที่จริง หนทางสายกลาง เป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยง่าย พระศาสดาขงจื๊อถึงแก่กล่าวว่า ""ทางสายกลาง""นี้ยากที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ ความเข้าใจผิดลักษณะของทางสายกลางย่อมนำไปสู่การปฏิบัติผิด ๆ และพ้นไปจากวิถีแห่งทางสายกลางอันแท้จริง เพราะฉะนั้นการที่จะดำรงตนให้อยู่ในลักษณะของทางสายกลางตลอดกาล เวลาที่มีสิ่งมากระทบก็ไม่เคลื่อนไหวหรือคล้อยตามเหยื่อเหล่านั้นเป็นเรื่องยากนัก
สภาพจิตของคนเป็นเสมือนหนึ่งวานรที่วิ่งวนอยู่ตลอดเวลา และชอบรับเหยื่อเสมอ รับมาแล้วก็ปรุงแต่งเพื่อสนองความอยากของตนเองและในที่สุดก็หลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งที่ตนเองปรุงแต่งขึ้นมา
การรักษาสภาพของจิตให้เป็นลักษณะของอุเบกขาญาณนั้นจึงไม่ใช่การอยู่นิ่งเฉย หรือไม่รับรู้สิ่งใดเลยแต่เป็นสภาวะแห่งการทำงานที่ไม่ยึดติดในทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่จิตของตนเองต่างหาก ถ้าหากการบำเพ็ญอุเบกขา ง่ายดังความเข้าใจของปุถุชนแล้วทางสายกลาง ย่อมเป็นสิ่งง่ายนัก แต่สภาพความเป็นจริงมิใช่เป็นเช่นนั้น
ถ้าเปรียบ จิต เหมือนน้ำใส เอาสีดำเทใส่ลงไปแล้วไม่อาจคลุกเคล้าเป็นสีซ้ำเลือดซ้ำหนองได้ นั่นแหละเป็นอุเบกขา แต่สภาพความเป็นจริงของจิตปุถุชน มักจะคลุกเคล้าเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน ความวุ่นวายของชีวิตจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะการคลุกเคล้ากับกิเลสทั้งปวงนั้นเอง
การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราย่อมเป็นไปตามธรรมชาติของตนเองที่ได้กำหนดวงจรเอาไว้ ครั้งหนึ่งมีผู้ถามปัญหาว่า "" ไก่ เป็ด สัตว์ ที่เป็นอาหารของมนุษย์ ถ้าเราไม่กิน มันย่อมจะล้นโลกแน่นอน "" "นั่นแสดงว่า สัตว์เหล่านี้มีชีวิตเป็นอมตะ ไม่รู้จักตายซี " สัตว์โลกย่อมมีเกิดดับเป็นธรรมดา้าเราไม่กินมันก็ต้องตายวันยังค่ำ จึงไม่มีวันล้นโลกเด็จขาด "" แต่ทำไมทุกวันนี้สัตว์เหล่านี้จึงเกิดมามากมายนักเล่า "" ปุจฉา ""ก็เพราะคนไปทำลายวงจรชีวิตของมัน คนจึงต้องไปเกิดแทนสัตว์เหล่านั้นยังไง ซึ่งเป็นไปตามกฏแห่งกรรมมิใช่หรือ "" วิสัชนา
การบำเพ็ญทางสายกลางด้วยจิตอันแท้จริง จึงมิใช่เรื่องง่ายดายดังปากพูด แต่ใครก็ตามที่ค้นพบต้นกำเนิดธรรมญาณของตนเองแล้ว และคงสภาวะนั้นได้ตลอดกาล เขาย่อมอยู่ในหนทางสายกลางตลอดไป สภาพของจิตใจแห่งความเป็นทางสายกลางย่อมเป็นเช่นเดียวกับฟ้าดิน สรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้กฏนี้ ย่อมไม่มีการขัดขวางจากฟ้าดินเป็นแน่นอน
การคงสภาพจิตใจดังฟ้าดินเป็นเรื่องยากนัก ประจัษณ์หลักฐานที่ชัดเจนว่าพระพุทธองค์ทรงมีจิตใจเช่นเดียวกับฟ้าดินก็เมื่อครั้งที่หัวหน้าพราหมณ์ มายืนบริภาษพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย แต่พระพุทธองค์มิได้โต้ตอบด้วยคำหยาบคายกลับคืนไปเลย แต่กลับทรงมีเมตตาชี้แนะให้หัวหน้าพราหมณ์นั้นได้คิดว่า "" ความโกรธที่แสดงออกมานั้นเปรียบเสมือนเช่นไฟเผาผลาญตนเอง "" ในโลกนี้คงหายากที่ผู้ถูกด่าแล้วไม่ด่าตอบ บรรดาปุถุชนล้วนโต้ตอบ แต่การไม่โต้ตอบนั้นแสดงให้เห็นถึงสภาวะของจิตใจดังฟ้าดิน เมื่อเราแหงนหน้าด่าว่าฟ้าเบื้องบน ฟ้าก็ยังคงสงบมิได้โต้ตอบกลับมาเลย เพราะฉะนั้นจิตใจเช่นนี้ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฟ้าดินแน่นอน
ธรรมญาณอันแท้จริงเป็นเช่นนั้นเอง มิได้มีความโกรธ เกลียด รัก ชอบ ด้วยตัณหาราคะ แต่กระทำไปด้วยความเมตตาอันแท้จริง แม้เมตตานั้นก็ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทนกลับมาเลย เพราะเหตุนี้ ""ทางสายกลาง"" จึงมิได้อยู่ที่ปากหรืออาการนั่งหลับตาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีสภาวะเดียวกับฟ้าดินนั่นแล
-
สรรพสิ่งที่รูปลักษณ์ไม่ว่าจะเป็น "มโนรูป" อันเป็นรูปที่ใจสร้างขึ้นมาเองซึ่งรู้สึกได้ แต่จับต้องมิได้ หรือ "กายรูป" อันเป็นสิ่งจับต้องได้ด้วยจักษุก็ตาม ล้วนมีจุดเิริ่มต้นและในที่สุดก็หมดสิ้นไปตามความไม่เที่ยงแท้ตามหลักสัจธรรม แต่ธรรมะ"ทางสายกลาง"มิได้มีคุณสมบัติเช่นนี้เพราะปราศจาก มโนรูป และ กายรูป เพราะเหตุนี้จึงไม่มี จุดเริ่มต้น และ ความจบสิ้น
ทางสายกลาง จึงเป็นสัจธรรมอันเที่ยงแท้ ไม่แปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะอยู่สภาวะเช่นไร คำกล่าวของท่านศาสดาขงจื๊อ ในบทที่หนึ่งนั้นได้อธิบายให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า "ทางสายกลาง" เป็นธรรมะมีแหล่งที่มาจากฟ้่า จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้และธรรมะนี้มีอยู่ในมวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาซึ่งหมายถึง ธรรมญาณ ตัวจริงของมนุษย์ทั้งมวลมีแหล่งที่มาอย่างเดียวกันจึงมีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน และทุกชีวิตมีทางสายกลางอยู่แล้วโดยธรรมชาติเดิมแท้ของตนเอง มนุษย์จึงไม่อาจละทิ้งธรรมะทางสายกลางได้เลย หากละทิ้งธรรมะทางสายกลางก็หมายถึงว่า ไม่อาจครอบครองกายสังขารนี้ได้อีกต่อไป เพราะทางสายกลางคือ ตัวธรรมชาติเดิมแท้หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่เป็น "ชีวิตจริง" นั่นเอง
การศึกษาฝึกฝนอบรมจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองให้พ้นไปจากกิเลสร้อยแปด ตัณหาพันประการเสียให้ได้เพื่อคืนกลับไปสู่ธรรมชาติแท้จริงของตนเอง การตราจสอบการกระทำของตนเองไม่ว่าจะเป็น ความคิด การกระทำ ทางกายหรือวาจาอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นหนทางที่จักทำให้ผู้ปฏิบัติหลีกพ้นไปจากกิเลสทั้งปวง
แต่ปุถุชนในทุกวันนี้แม้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรือศึกษาธรรมะ มิได้สำรวจตนเอง แต่ชอบที่จะสำรวจความผิดของผู้อื่นเสมอ คนเหล่านี้จึงอยู่ห่างจากภาวะ ทางสายกลาง จนเกิดความหลงผิด คิดว่า ทางสายกลาง เป็นธรรมะอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของพระอริยเจ้าเท่านั้นประพฤติปฏิบัติได้ และหากต้องการพบธรรมะทางสายกลาง ก็จำเป็นต้องละทิ้งเคหะสถานบำเพ็ญตนเป็นนักบวช ความเห็นเป็นเช่นนี้ เป็นความเห็นผิดโดยแท้
การย้อนกลับเข้ามาพิจารณาตนเอง หากมีความเพียรพยายามที่แข็งแกร่งมั่นคงแล้วเขาย่อมพบ ทางสายกลางด้วยตนเอง การย้อนมองส่องตน จึงเป็นกรรมวิธีแห่งการปฏิบัติธรรมอันแท้จริง เพราะธรรมะมีอยู่แล้วในทุกตัวคน แต่ที่หลงทางไปยึดถือเอาคัมภีร์หรือมนตรา หรือพิธีกรรมทั้งปวงมาเป็นธรรมะ จึงพ้นไปจากวิถีแห่งการบำเพ็ญโดยแท้
การพิจารณาความผิดพลาดของผู้อื่น มีผลสร้างกิเลสเพิ่มขึ้นในตัวเองเพราะย่อมดู้ถูกเยาะเย้ย หรือพอใจในความหายนะนั้น ๆและได้ก่อกำเนิดความชั่วขึ้นในจิตใจของตนเอง เป็นการสะสมวิบากกรรมเอาไว้ และต้องชดใช้กันต่อไป ผู้ที่ชอบสวดมนต์หรือท่องคาถาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือมหิทธานุภาพใด ๆ ก็ตามล้วนเป็นผู้เข้าใจผิดและหลงผิดโดยแท้ ความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงมิได้อยู่ที่มนตราหรือคาถาใด ๆ เลย แต่อยู่ที่จิตใจของตนเองในขณะที่ท่องบ่นมนตราอยู่นั้นจอตรวมเป็นหนึ่ง ความเป็นหนึ่งนี้จึงมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะมีกระแสแรงกล้า แต่ที่ปุถุชนไม่อาจรวมใจเป็นหนึ่งได้ เพราะตกเป็นทาสของกิเลสทั้งปวง พลังของจิตจึงแตกกระสานซ่านเซ็น ไร้ประสิทธิภาพ
การย้อนมองส่องตนเองเพื่อตรวจสอบหาความเลวร้ายที่ซ่อนอยู่ในจิตจึงเป็นหนทางแห่งการบำเพ็ญโดยแท้ พระอริยะเจ้าทุกพระองค์ล้วนปฏิบัติเช่นนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปี แห่งการบำเพ็ญเพื่อค้นหาสัจธรรมของพระพุทธองค์ ก็อยู่ในเส้นทางนี้เหมือนกัน เพราะพระองค์ต้องการค้นพบหนทางแห่งการหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธองค์มิได้ท่องบ่นมนตราใด ๆ พระพุทธองค์มิได้แสวงหาพละกำลังภายนอกเพื่อเอาชนะผู้อื่น พระพุทธองค์มิได้สะสมเหยื่อ กิเลสทั้งปวง พระพุทธองค์มิได้แสวงหาอาจารย์ผู้วิเศษเพื่อทำให้ตนเองเรืองฤทธิ์ พระพุทธองค์มิได้ต้องการชื่อเสียงเกียรติยศใด ๆ แต่พระพุทธองค์สำรวจตนเอง และค้นหากิเลสในตัวเองจนในที่สุดก็ค้นพบ ธรรมญาณ อันเป็น ทางสายกลาง พระพุทธองค์ทรงเอาชนะตนเอง มิได้เอาชนะผู้อื่นเลย ในทุกวันนี้เรากราบไหว้พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา แต่การปฏิบัติมิได้เดินตามรอยบาทของพระศาสดา แต่กลับปฏิบัติสวนทางคำสอนและวิธีปฏิบัติของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง
สาวกในทุกวันนี้อ้างตนเป็นพุทธบุตร แต่มิได้ดำเนินรอยตามพระบิดาของตนเอง สาวกแสวงหาเงินตรา สาวกแสวงหาลาภสักการะ สาวกแสวงหาชื่อเสียงเกียรติคุณ สาวกตั้งตนเป็นอาจารย์ผู้วิเศษ การปฏิบัติเช่นนี้จึงพ้นไปจากวิถี แห่ง "ทางสายกลาง"เพราะฉะนั้นสิ่งที่สาวกเหล่านี้ได้รับจึงเป็นสิ่งจอมปลอมทั้งสิ้น
อานุภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นอานุภาพที่หลอกลวงเพื่อลาภผลของตนเอง สาวกเหล่านี้จึงไม่พ้นอบายภูมิโดยแน่แท้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงค้นพบ ทางสายกลาง อันแท้จริง พระองค์ได้แสดงอานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ไม่มีเทวดาและมนุษย์เทียบเทียมได้ คำสอนทั้งปวงจึงเป็นสัจธรรมที่ทันกาลอย่างสม่ำเสมอ อานุภาพที่แท้จริงคือ การเปลี่ยนแปลงตนเอง อานุภาพจอมปลอมจึงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เพราะฉะนั้น ทางสายกลาง ที่พระศาสดาค้นพบไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาขงจื๊อล้วนมีอานุภาพเฉกเช่นเดียวกัน เพราะเป็นอานุภาพที่ไม่มีจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีวันสิ้นสุด
แต่อานุภาพจอมปลอมที่มิใช่หนทางสายกลางย่อมเริ่มต้นเพื่อจักสิ้นสุดลงในวันหน้านั่นเอง และเขาก็จะเริ่มต้นใหม่เพื่อเดินไปสู่หนทางแห่งความสิ้นสุดโดยไม่พบหนทางแห่งธรรมะ ที่แท้แม้แต่มีอยู่แล้วในตัวของเขาเอง นับเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติที่หลงผิดเท่านั้น และในโลกนี้ก็ยากที่จะมีใครเตือนเขาได้ เพราะเขาไม่ได้เตือนตนเองเป็นเบื้องต้น การเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ชาติจึงเริ่มต้นด้วย ""ความไม่รู้"" นั่นแล
ธรรม ญาณเราเก่าแท้ ใช้อะไร ที่ไหน
ทาง หลุดล่มหลงใหล ทุกด้าน
สาย ใยตัดขาดไป พ้นผ่าน ติดยึด
กลาง จิตเดิมมั่นนั้น ตัดแล้วว่ายเวียน
อนัตตา
~ จบเล่มที่ 1 ~
-
คัมภีร์ทางสายกลาง ปฐมบท (จง -- อยง ) เที่ยงตรง -- สัจธรรม
ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง
ผู้จัดทำ
ศุภนิมิต
คำนำ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเบื้องบน ด้วยอริยคุณพระบรรพจารย์ บารมีคุณท่านเหล่าเฉียนเหยิน ท่านเฉียนเหยิน โปรดปรกแผ่ เตี่ยวฉวนซือโปรดเกื้อกูล นักธรรมผู้ใหญ่หนุนนำ คัมภีร์ธรรมจง - อยง ซึ่งเคยศึกษากันอยู่แต่ในหมู่ของปัญญาชน จึงได้รับการส่งเสริมถ่ายทอดให้เรียนรู้กันอย่างแพร่หลายในอาณาจักรอนุตตรธรรม บัดนี้ ในอาณาจักรธรรมอนุตตรธรรมประกอบด้วยสาธุชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกระดับการศึกษา ทุกศาสนานิกาย ทุกฐานะความเป็นอยู่ ผู้ที่ศรัทธามุ่งมั่นจะปฏิบัติบำเพ็ญมีอยู่มากมาย ท่านเหล่านั้นพยายามขวนขวายเพื่อจะเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวิถีอนุตตรธรรม อันเป็นวิถีจิตโดยตรง เพื่อการเจริญธรรมแห่งตน ฉะนั้น เมื่อท่านเฉียนเหยินได้โปรดกำหนดเอาคัมภีร์ธรรมจง - อยง ลำดับเข้าไว้ในหลักสูตรของการศึกษาธรรมระดับชั้น "จื้อชั่นปัน" ผู้ศึกษาธรรมจึงต่างสำนึกในพระคุณของท่านเป็นยิ่งนัก แม้จะต้องรับมือกับอุปสรรคทางอักษรและภาษา แต่ต่างก็ยินดีที่จะพากเพียรเรียนรู้ให้จงได้ ข้าพเจ้าจึงขอน้อมใจรับใช้อาณาจักรธรรม นำเอาความเข้าใจที่มีต่อคัมภีร์ธรรมจง - อยง ในระดับหนึ่ง พิมพ์เฉพาะปฐมบท ร่วมศึกษากับท่านทั้งหลาย ความผิดพลาดบกพร่องประการใด ๆ ในการแปล - เรียบเรียงคัมภีร์ธรรมบทนี้ที่เกิดมี ข้าพเจ้าน้อมจิตกราบขออภัยต่อทุกพระองค์ น้อมจิตกราบขออภัยต่อทุกท่านที่โปรดสร้างสรรค์ และมีส่วมร่วมจรรโลงคุณค่าของคัมภีร์ธรรมจง - อยง ให้สืบทอดเรื่อยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ศุภนิมิต