นักธรรม
ห้องสมุด "นักธรรม" => หนังสือ => คัมภีร์ => ข้อความที่เริ่มโดย: หนึ่งเดียว หลุดพ้น ที่ 7/07/2011, 00:51
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ
แปลและเรียบเรียงโดย ศุภนิมิต
คณะผู้จัดทำ
ศุภนิมิต
นายวีเกียรติ มารคแมน
นายปรีชา อัศวกาญจนา
นางสาวชลาลัย วงศ์วิญญูตระการ
จัดพิมพ์โดย
สำนักพิมพ์ส่งเสริมคุณภาพชีวิต 23 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 44 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์ 0-2883 - 0620 , - 081-613-7550 โทรสาร 0-2883 - 0621
และ ไท่ถงธรรมสถาน 19 หมู 9 บ้านเขาพระ ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30320 โทรศัพท์ 0-4432-2087-8
พิมพ์ที่
อักษรสยามการพิมพ์ 1137/1 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 13 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2410 - 7813
สารบัญ
ปราชญ์เมิ่งจื่อ เริ่มเรื่อง
ประวัติสังเขปปราชญ์เมิ่งจื่อ
ปรัชญาพื้นฐานจากปราชญ์เมิ่งจื่อ
1. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
2 บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
3. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
4. บทหลีโหลว ตอนต้น
บทหลีโหลว ตอนท้าย
5. บทวั่นจัง ตอนต้น
บทวั่นจัง ตอนท้าย
6. บทเก้าจื่อ ตอนต้น
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
7. บทจิ้นซิน ตอนต้น
บทจิ้นซิน ตอนท้าย
ดรรชนี
ปรัชญาเมิ่งจื่อ
ปราชญ์เมิ่งจื่อ
เริ่มเรื่อง
ก่อนคริสตศักราชหนึ่งพันหนึ่งร้อยกว่าปี เป็นสมัยปลายราชวงศ์อินซัง (สามพันสองร้อยปีโดยประมาณ) ผู้ปกครองแผ่นดินคือ โจ้วอ๋วง ทรราชผู้ฉาวโฉ่ โจ้วอ๋วงหลงราคะ ประหารขุนนางศรีที่เตือนสติ ข้าราชฯ คนดีต่างหนีหาย ประชาชนระส่ำระสายทุกข์ยาก ก่อนหน้านั้น ขณะรุ่งเรือง ทางทิศตะวันตกของบ้านเมืองยังมีชุมชนกลุ่มใหญ่สกุลโจว เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อบัลลังก์ทรราชสั่นคลอน กลุ่มชนสกุลโจว ซึ่งนำโดยประมุขจีฟา จึงบุกเข้าขับไล่ ขจัดภัยแก่ประชาราษฏร์ ก่อนคริสตศักราชหนึ่งพันหนึ่งร้อยสิบเอ็ดปี ทรราชโจ้วอ๋วง พ่ายแพ้ยับเยิน ไปเผาตัวตายที่เมืองเจาเกอ ราชวงศ์อินซังถึงการสิ้นสูญ จีฟา ผู้นำกลุ่มชนสกุลโจว ก็คือ กษัตริย์โจวอู่อ๋วง ในเวลาต่อมา เพื่อการปลอบขวัญชาวบ้านชาวเมืองเก่าของทรราชโจ้วอ๋วง กษัตริย์โจวอู่อ๋วง ได้แต่งตั้งราชบุตรอู่เกิงของทรราชเป็นอ๋องรักษาการเมืองเก่า แบ่งแผ่นดินผืนใหญ่ จัดสร้างเมืองใหม่แก่โจวกง (จีตั้น) พระอนุชาผู้มีคุณต่อแผ่นดินของพระองค์ โจวกงเอาแผ่นดินพระราชทาน ซึ่งปัจจุบันคือ มณฑลซันตง อำเภอฉวี่ฟู่ สร้างเป็นเมืองหลู่ นั่นคือ ถิ่นกำเนิดของปราชญ์เมธีมากมายในภายหลัง เนื่องจากโจวกงจะต้องดูแลราชการเมืองหลวงของกษัตริย์โจวอู่อ๋วง จึงส่งป๋อฉิน ราชบุตรของพระองค์เองไปเป็นเจ้าเมืองหลู่
ป๋อฉิน จึงนับเป็นเจ้าเมืองต้นราชวงศ์หลู่ ได้สืบต่อยุคสมัยโดยรัชทายาท นับเป็นสายตรงจากโจวกง หรือ พระเจ้าปู่โจวกง ซึ่งเป็นพระอนุชา ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรม จริยธรรม ของอริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง หลายร้อยปีต่อมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าหลู่หวนกง พระเจ้าหลู่หวนกง แต่งตั้งรัชทายาทจีถง (วัน เดือน เวลา กำเนิด ตรงกับพระบิดา) สืบต่อเป็นพระเจ้าหลู่จวงกง พระเจ้าหลู่จวงกงมีพระอนุชาสามพระองค์ ได้เจริญงอกงามเป็นสามตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลเมิ่งซุน สูซุนกับจี้ซุน ล้วนเป็นมหามนตรีที่สูงส่งด้วยอำนาจราชศักดิ์
ปราชญืเมิ่งจื่อ คือ ทายาทบุตรหลานของท่านเมิ่งซุน จึงใช้แซ่สกุลเมิ่ง ภายหลังบรรพบุรุษสกุลเมิ่ง รุ่นใดไม่แจ้งชัด ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่เมืองโจว ปราชญ์เมิ่งจื่อ จึงกลายเป็นคนเมืองโจวไป เมืองหลู่ กับ เมืองโจว ระยะทางห่างกันเพียงไม่กี่สิบลี้ ปัจจุบันคือซันตง มณฑลเดียวกัน
บิดา ของปราชญ์เมิ่งจื่อ นามว่า เมิ่งจี วายชนม์เมื่อเมิ่งจื่ออายุได้ สามปี มารดาของเมิ่งจื่อเป็นกุลสตรี ธิดาสกุลจั่ง เป็นยอดมารดาที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า "หากปราศจากท่าน โลกจะไม่มีปราชญ์ที่ชื่อว่า "เมิ่งจื่อ" ย้อนหลังค้นหาจึงได้พบว่า ปราชญ์เมิ่งจื่อสืบสายต่อมาจากพระเจ้าปู่โจวกง จากป๋อฉินเป็นอันดับแรก สืบต่อด้วยเจ้าเมืองหลู่อีกหลายพระองค์ จนถึงพระอนุชาเมิ่งซุน จึงเกิดแซ่สกุลเมิ่ง
ปราชญ์เมิ่งจื่อถือ กำเนิดก่อนปีคริสตศักราช 372 ปี ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าโจวเลี่ยอ๋วง ปีที่สี่ ปราชญ์เมิ่งจื่อ นาม เคอ นามรอง จื่ออวี๋ เนื่องจากกำพร้าบิดา ฐานะยากจน มีแต่มารดาหาเลี้ยงอุ้มชู ระหว่างวัย สิบห้า สิบหกปี จากการอบรมโน้มนำของมารดา เมิ่งจื่อชื่นชอบปรัชญา จึงเดินทางมาศึกษาที่บ้านเมืองจอมปราชญ์บรมครูขงจื่อ ปราชญ์เมิ่งจื่อใกล้ชิดติดตามศิษย์ของปราชญ์จื่อซือ ศิษย์เอกของบรมครู ปราชญ์เมิ่งจื่อรับศิษย์ปรัชญาเมื่ออายุได้สามสิบ อายุสี่สิบเริ่มปฏิบัติตามอุดมการณ์ออกเดินทางเช่นเดียวกับที่บรมครูโปรด จาริกเรียงเมือง (โจวอิ๋วเลี่ยกว๋อ) เพื่อกล่อมกลายเหล่าประมุขให้ดำเนินการปกครองโดยกรุณาธรรม แต่มิอาจฝ่าฟันกิเลสวิสัยในใจของผู้มีอำนาจได้ ปราชญ์เมิ่งจื่อจึงเดินทางกลับ ตั้งใจให้การศึกษาปรัชญาแก่อนุชน
ศิษย์เอกของท่าน อาทิ วั่นจัง กงซุนโฉ่ว เข้าใจเจตนารมณ์สูงส่งของครูปราชญ์ จึงร่วมช่วยงานรวบรวมพิจารณาปรัชญาของท่านจอมปราชญ์ขงจื่อ กับ ปรัชญาความคิดของครูปราชญ์เมิ่งจื่อ ให้ปรากฏแก่ชนรุ่นหลัง อย่างน้อยก็เพื่อฉุดยั้งความเสื่อมทรามของจิตใจ รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม กรุณาธรรม ที่ทั้งท่านบรมครูขงจื่อ และ ครูปราชญ์เมิ่งจื่อ ได้เพียรพยายามเรียกร้องด้วยชีวิตทั้งชีวิตที่อุทิศสิ้นแล้ว
ปราชญ์เมิ่งจื่อ ละสังขารในปีก่อนคริสตศักราช 289 ปี รวมสิริอายะ แปดสิบสี่ปี สรีรร่างแห่งความเป็นปราชญ์ชนของท่าน ได้รับการฝังไว้บนแผ่นดินด้านประตูเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยี่สิบห้าลี้ บนเทือกเขาด้านตะวันตก ซีจีซัน
ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ
ปราชญ์เมิ่งจื่อ : ประวัติสังเขป
ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ นาม เมิ่งเคอ นามรองจื่ออวี๋ เป็นชาวเมืองโจวโดยกำเนิด (ก่อนคริสตศักราช 327 - 289) ศึกษาปรัชญาจากท่านปราชญ์จื่อซือ (ศิษย์ท่านบรมครู) ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อแจ้งใจในหลักปรัชญาแล้ว เดินทางไปแสดงธรรมแก่พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ฉีเซวียนอ๋วง ยินดีนักแต่ปฏิบัติตามไม่ได้ ท่านจึงจาริกต่อไปที่เมืองเหลียง พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วง เข้าใจดี แต่ไม่ปฏิบัติตามท่านสอน ซ้ำยังกลับกล่าวหาเพื่อแก้ตัวว่า ปรัชญาเหลวไหลเป็นไปไม่ได้ สมัยนั้นเป็นยุคขุนศึกจั้นกั๋ว บ้านเมืองน้อยใหญ่ต่างกระหายสงคราม ช่วงชิงความเป็นใหญ่ ใคร่ได้ใคร่ครองแผ่นดินของกันและกัน ปรัชญาปกครองแผ่นดินโดยธรรมของท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ จึงมีอันเป็นต้องตายเสียก่อนเกิด เมื่อไม่อาจเผยแพร่ปรัชญาธรรมเพื่อความสงบสุขแก่ปวงประชาได้ ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อจึงเดินทางกลับบ้านเมืองท่รวบรวมประพันธ์หนังสือว่าด้วยกรุณามโนธรรม สืบต่อผลงานของท่านบรมครู โดยมีศิษย์เอก อาทิ กงซุนโฉ่ว กับ วั่นจัง ร่วมกันพิจารณาเรียบเรียง
หลักปรัชญาของท่าน แสดงความสำคัญที่ประมุขของบ้านเมือง จะต้องทำหน้าที่อุ้มชูประชาราษฏร์ มิให้กดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ ให้ทุกคนมีกรุณามโนธรรมสำนึก ตั้งแต่ประมุขเบื้องสูงจนถึงชนเบื้องล่างทุกระดับ ให้ทุกคนค้นหาจิตเดิมแท้แห่งตน มิให้กระเจิงหายเหมือนเป็ดไก่ที่เตลิดไปจากเล้า ให้เสริมสร้างจิตมหาพลานุภาพเที่ยงธรรมในตน ให้ตรงต่อฟ้าดินด้วยมโนธรรมสำนึก
มาถึงรัชสมัยปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซ่ง เกียรติคุณอันสูงส่งของปราชญ์เมิ่งจื่อยิ่งได้รับการเทิดทูน ต่อมาในรัชสมัย จื้อซุ่น ราชวงศ์เอวี๋ยน ท่านได้รับการเทิดทูนถึงขั้นปราชญาจารย์ระดับที่สอง รองจากท่านจอมปราชญ์ขงจื่อ เท่านั้น เรียกว่า รองจอมปราชญ์ หรือ อริยปราชญ์เจริญรอย (อย่าเชิ่ง)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ
ปราชญ์เมิ่งจื่อ : ปรัชญาพื้นฐานจากปราชญ์เมิ่งจื่อ
ประมุขทรงธรรมนำพาประชาราษฏร์
ย่อมแคล้วคลาดทุกข์ภัย ได้สุขเกษมศานต์
ดังนี้ ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อจึงสู้อุตสา่ห์ฝ่าฟันอุปสรรค ฝ่าฟันอันตรายจาริกไป หวังจะกล่อมกลายฮ่องเต้ เจ้าเมือง อ๋องผู้ครองแคว้น ให้ใช้ธรรมะเป็นหลักปกครองประชาราษฏร์ เช่นเดียวกับที่ท่านจอมปราชญ์ขงจื่อบรมครูได้เคยจาริกเรียงเมือง (โจวอิ๋วเลี่ยกว๋อ) เพื่ออุดมการณ์นี้ก่อนหน้ามาแล้ว
ชี้แจงต้นบท
ตามความเป็นจริง ปราชญ์เมิ่งจื่อไปพบพระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ก่อน แต่เพื่อจะชี้ให้เห็นจิตใจของคนที่มุ่งหมายประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง จึงนำเรื่องด้วยบทสนทนาธรรมกับพระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วง เป็นอันดับแรก
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
เมื่อได้พบกันกับพระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วง เจ้าเมืองเอว้ย เหลียงฮุ่ยอ๋วงเอ่ยถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อทันทีว่า "ท่านผู้สูงวัยสู้เดินทางมาไกล คงจะมีอรรถประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเราสินะ" ปราชย์เมิ่งจื่อตอบว่า "อ๋องท่านไฉนเอ่ยหาอรรถประโยชน์ ข้า ฯ มีแต่กรุณา มโรธรมเท่านั้น (ที่จะให้) เมื่อผู้เป็นอ๋องเอ่ยหาอรรถประโยชน์เพื่อแผ่นดินที่ครอบครอง ขุนนางก็จะเอ่ยหาอรรถประโยชน์เพื่อครอบครัวที่ครองครอง นักศึกษาประชาชน ก็จะเอ่ยหาอรรถประโยชน์เพื่อตนที่ครอบครอง ทุกระดับต่างจับจ้องช่วงชิง ดังนั้น บ้านเมืองจะมีภัย" เหตุนี้ บ้านเมืองของมหากษัตริย์ที่มีหมื่นคันรถศึก ผู้อาจหาญปลงพระชนม์ ก็จะเป็นเหล่ามหามนตรีที่มีนับพันรถศึกในครอบครอง หัวเมืองที่มีนับพันรถศึก ผู้อาจหาญพิฆาตอ๋อง ก็จะเป็นขุนนางใหญ่ผู้ที่มีนับร้อยรถศึกในครอบครอง เหตุผลนี้ไม่ต่างกัน บ้านเมืองที่มีนับหมื่นรถศึก รุกรานกลืนกินบ้านเมืองที่มีนับพันรถศึก บ้านเมืองก็มีนับพันรถศึก กลืนกินแว่นแคว้นที่มีนับร้อยรถศึก ตัวเลขดังนี้ไม่นับว่าไม่มากไม่ได้ หากแม้เห็นแก่อรรถประโยชน์มโนธรรม ไม่ช่วงชิงถึงมือได้ จะไม่พอใจ พึงรู้ไว้ไม่เคยที่คนมีกรุณาธรรมจะละทิ้งพ่อแม่ ไม่เคยที่คนมีมโนธรรมจะละเลยประมุขบ้านเมือง ฉะนั้น อ๋องท่านจึงพึงเอ่ยหาแต่กรุณามโนธรรมเทานั้น จะเอ่ยหาอรรถประโยชน์ทำไม" หมายเหตุ : อรรถประโยชน์ คือประโยชน์เพื่อการบำรุงบำเรอตน ปราชย์เมิ่งจื่อพบกับพระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วงอีกครั้งขณะที่เหลียงฮุ่ยอ๋วง ประทับยืนข้างหนองน้ำในพระราชอุทยาน ชื่นชมนกฮ้งใหญ่ นกเป็ดน้ำตัวเล็ก กีบกวางน้อยใหญ่ เหลียงฮุ่ยอ๋วงเอ่ยถาม "เมธีท่านก็ชื่นสุขต่อสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจือตอบว่า "ผู้เจริญธรรมแล้วจึงชื่นสุขต่อสิ่งเหล่านี้ หากมิใช่ผู้เจริญธรรม แม้มีสภาพแวดล้อมนี้ก็หามีความชื่นสุขไม่" ในคัมภีร์กวีธรรม (ซือจิง) บทเนินสุชีพ (หลิงไถ) จารึกความว่า เมื่อครั้งที่ (อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง) เริ่มจัดสรร กำหนดแผนงานก่อสร้าง "เนินสุชีพ หลิงไถ" นั้น ประชาราษฏร์รู้ข่าว ต่างกรูกันเข้ามาช่วยสร้าง ไม่นานวันก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์เป็นวนอุทยานแห่งชาติ เดิมทีพระองค์มิได้เร่งรีบ แต่ประชาราชษฏร์ประดุจลูกหลานกรูกัน ขณะที่เหวินอ๋วงประทับ ณ อุทยาน เห็นแม่กวางมอบพักสบาย แม่กวางอ้วยท้วนขนเงางาม นกสีขาวสะอาดก็ดูสมบูรณ์ เมื่อทรงทัศนาริมหนองน้ำ ก็อุทานชมหมู่มัจฉาที่กระโดดเล่นน้ำกัน เหวินอ๋วงได้อาศัยแรงงานของประชาราษฏร์สร้างเนิน สร้างหนองน้ำ ประชาราษฏร์ต่างยินดีปรีดา พระองค์จึงโปรดประทานชื่อเนินนี้ว่า "เนินสุชีพ" ประทานชื่อหนองน้ำนี้ว่า "หนองน้ำสุชีพ" ทุกคนต่างชื่นสุขกับหมู่กวาง ตะพาบ ปลา โบราณกาล กษัตริย์กับประชาราษฏร์ล้วนชื่นสุขร่วมกัน จึงเป็นความชื่นสุขอย่างแท้จริงได้ทั่วหน้า หมายเหตุ : สุชีพ อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง ทรงเห็นชีวิต ประชาราษฏร์และชีวิตทั้งปวงมีค่า สูงส่ง ดีงาม ศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกว่า สุชีพ (หลิง) ชีพอันศักดิ์สิทธิ์
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
ในคัมภีร์ซูจิง บททังซื่อ จารึกไว้ว่า "วันเวลาที่อยู่กับการเข่นฆ่าทำลาย ประหนึ่งแดดกล้าเผาหัว ขณะนี้ ข้าอยากตายไปพร้อมกับเจ้าเมือง" (เซื่อเจี๋ย ทรราชผู้โฉดชั่ว) ประชาราษฏร์อยากพลีชีพฆ่าเจ้าเมือง ยอมตายไปพร้อมกัน ความแค้นแสนสาหัสนี้ แม้จะมีวนอุทยานนก และจัตุบาท เช่นเนินสุชีพ หนองน้ำสุชีพอันน่าชื่นสุข จะชื่นสุขอยู่ลำพังได้อย่างไร (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ เปรียบเทียบให้พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วงได้คิด ระหว่างอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงกับเซี่ยเจี๋ย ทรราชผู้โฉดชั่ว) เหลียงฮุ่ยอ๋วง กล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เราปกครองบ้านเมืองอย่างได้ตั้งใจเต็มที่แล้ว เช่น แผ่นดินด้านในแม่น้ำเกิดวิกฤติ ก็จะขนย้ายประชาชนไปอยุ่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำ ส่งเสบียงไปให้ด้านใน ช่วยประชาชนที่เหลืออยู่ในพื้นที่อดอยาก เมื่อด้านตะวันออกของแม่น้ำฝนแล้งอดอยาก ก็จะช่วยเหลือในทำนองเดียวกัน มองดูการปกครองของบ้านเมืองใกล้เคียง ไม่มีที่จะตั้งใจดีเช่นเราเลย แต่ประชากรบ้านเมืองใกล้เคียง มิได้ลดน้อยลง ประชาชนของเราก็มิได้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุอันใดหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า " อ๋องท่านชอบสงครามสู้รบก็จะเอาสงครามมาเปรียบเทียบให้ฟัง การสงครามใ้ช้กลองศึกกระตุ้นให้ปะทะกัน ก็มีทหารทิ้งเกราะ ทิ้งอาวุธหนีไป บ้างก็วิ่งไปหนึ่งร้อยก้าวก็หยุดวิ่ง บ้างวิ่งไปห้าสิบก้าวแล้วหยุดวิ่ง ผู้วิ่งหนีห้าสิบก้าว หัวเราะผู้วิ่งหนีร้อยก้าวว่า ขี้ขลาด (อู่สือปู้เซี่ยวไป่ปู้) ดังนี้ อ๋องท่านเห็นเป็นเช่นไร" เหลียงฮุ่ยอ๋วงตอบว่า "จะหัวเราะเยาะไม่ได้ เขาเพียงยังวิ่งไปไม่ถึงร้อยก้าว แต่ก็เท่ากับวิ่งหนีเหมือนกัน" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวต่อไปอีกว่า "เมื่ออ๋องท่านรู้เหตุผลเช่นนี้แล้ว ก็มิพึงต้องมุ่งหวังให้ประชากรมากกว่าบ้านเมืองใกล้เคียงอีก" อย่าผิดต่อฤดูเพาะปลูก พืชพันธุ์ธัญญาหารก็เกินจะกินแล้ว ร่างแหถี่เล็ก ไม่ลงช้อนจับในบ่อลึกน้ำนิ่ง ตะพาบ ปลา สัตว์น้ำ ก็เกินกว่าจะกินแล้ว แบกขวานเข้าป่าให้ถูกต้องตามฤดูกาล ไม้ก็มากมีเกินกว่าจะใช้แล้ว เมื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารกับสัตว์น้ำเกินกว่าจะกิน ไม้มากมีเกินกว่าจะใช้ ก็คือการชุบชีวิตประชาราษฏร์ แม้ตายก็ไม่ผิดหวังค้างใจ เมื่อชีวิตรับได้รัยชุบชู แม้ตายก็ไม่ผิดหวังค้างใจ เช่นนี้ จึงเป็นธรรมะเบื้องต้นแห่งเจ้าผู้ครองบ้านเมือง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
ทุกครอบครัวให้มีบ้านอาศัยในเนื้อที่ห้าหมู่ (หนึ่งหมู่เท่ากับหกพันตารางฟุต) ปลูกต้นหม่อนไว้ริมรั้วบ้านเพื่อเลี้ยงไหมทอผ้า อายุห้าสิบ ก็จะได้สวมใส่ผ้าไหนแพรพรรณแล้ว สุนัข สุกร ไก่ สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ หากไม่ผิดต่อการเจริญพันธุ์ตามควรแก่ฤดูกาล คนที่อายุเจ็ดสิบปี จะกินเนื้อสัตว์ก็มีจะกินได้ จัดสรรที่นาทำกินให้ครอบครัวละหนึ่งร้อยหมู่ เพาะปลูกให้ถูกต้องตามฤดูกาล เฉลี่ยสมาชิกในครอบครัวมีแปดคน ก็จะไม่มีที่ต้องอดตาย อีกขั้นหนึ่งคือ ก่อตั้งสถานศึกษา ให้การอบรมธรมะของความกตัญญู พี่น้องปรองดอง คนผมขาวก็จะไม่ต้องแบกหามของหนักอยู่ตามทาง สูงวัยไม่ต้องระหกระเหินตรากตรำ ด้วยลูกหลานมีจิตสำนึกเลี้ยงดู อายุเจ็ดสิบ สูงวัยได้แพรพรรณสวมใส่ ได้กินอิ่ม ไพร่ฟ้าประชาราษฏร์ไม่ต้องทนหิวทนหนาว ไม่ขาดแคลนเสื้อผ้าอาหาร เช่นนี้แล้ว บ้านเมืองยังไม่รุ่งเรืองได้ ไม่มีเลยสุนัข สุกร กินอาหารที่คนกิน แต่ไม่รู้จักจัดสรรตามควร ริมทางมีคนอดอยาก เหตุด้วยไม่สงเคราะห์เอื้อเฟื้อให้ เขาตาย กลับพูดว่า ไม่ใช่ความผิดของข้า เป็นเพราะภัยแล้ง หากดูดายเช่นนี้ จะต่างอะไรกับที่เอามีดมาเข่นฆ่าเขา อีกที่ปฏิเสธว่า "ไม่ใช่ความผิดของข้า เขาตายเพราะการรบ" หากอ๋องไม่มีการเบี่ยงบ่ายป้ายโทษ ชาวประชาก็จะมาสวามิภักดิ์ พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วงว่า "เรายินดีสงบใจรับฟังคำชี้แนะ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ฆ่าคนให้ตายโดยใช้ไม้พองหรือใช้มีด แตกต่างกันหรือไม่" ตอบว่า "ไม่แตกต่าง" (ที่สุดก็คือตาย) ถามอีกว่า "ใช้มีดฆ่าคนให้ตาย กับใช้การปกครองฆ่าคนให้ตาย ต่างกันหรือไม่" ตอบว่า"ไม่ต่างกัน" (ที่สุดก็คือตาย) ในครอบครัวของวังหลวงมีมังสาหารอุดมสมบูรณ์ ในคอกม้าของวังหลวงมีม้าอ้วนพี แต่ประชาชนผอมโซหิวโหย อีกทั้งมีศพผู้คนที่อดตายแถบชายป่า เลี้ยงม้าให้อ้วนพีแต่ประชาชีกลับอดอยาก เช่นนี้ จะต่างอะไรกับนำสัตว์มากินคน สัตว์ขย้ำกินกันเองคนยังเกลียดชังมัน นับประสาอะไรกับผู้ที่เป็นพ่อแม่ของประชาราษฏร์ ท่านบรมครูขงจื้อโปรดไว้ว่า "ผู้ริเริ่มทำหุ่นคน ร่วมฝังไปกับผู้ตาย เขาคงจะขาดสิ้นลูกหลานกระมัง" ใช้หุ่นคนไปร่วมฝังกับผู้ตาย ท่านขงจื้อยังตำหนิให้ นับประสาอะไรกับที่ปล่อยให้ประชาราษฏร์ผู้รับใช้บ้านเมืองต้องอดตาย พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วงว่า "แผ่นดินจิ้น (ครั้งบรรพบุรุษของแผ่นดินเหลียงนี้) ใต้หล้าหามีใครเทียมได้ไม่ ปราชญ์ท่าน (เมิ่งจื่อ) ก็ย่อมรู้ดี บัดนี้สืบต่อมาถึงตัวเรา ดินแดนทางตะวันออกพ่ายแพ้แก่เมืองฉี ลูกชายคนโตของเราตายในการรบ ครั้งนั้น ทางตะวันตกสูญเสียดินแดนแก่เมืองฉินไปเจ็ดร้อยลี้ ทางใต้ถูกเมืองฉู่เหยียดหยามย่ำยี เราอปยศอดสูนัก อยากจะล้างแค้นแทนผู้ตายเหล่านั้นสักที ควรทำอย่างไรดี" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "แผ่นดินแม้เล็กน้อยเพียงร้อยลี้ ก็อาจปกครองเป็นอ๋องของแผ่นดินได้ หากปกครองประชาราษฏร์โดยธรรม ยกเว้นการลงทัณฑ์ ทำทารุณกรรม ลดหย่อนภาษี สอนชาวนาคราดไถให้ลึก ง่ายแก่การกำจัดวัชพืช คนหนุ่ม วัยแรง ใช้วันว่างงาน ศึกษาวิชาเรียนรู้กตัญญู พี่น้องปรองดองซื่อสัตย์จงรักภักดี สัตย์จริง เข้าบ้านให้รับใช้ใกล้ชิดพ่อแม่ ดูแลพี่น้อง ออกจากบ้านให้เคารพรับใช้ผู้ใหญ่ เคารพผู้สูงวัยให้เกียรติเมธี (จิ้งเหล่าจุนเฉียน) สอนให้พวกเขาทำไม้พอง ฝึกซ้อมวิทยายุทธ เพื่อเอาไว้รับมือฟาดฟันกับเกราะแข็งอาวุธคมของทหารจากเมืองฉิน เมืองฉู่ (ที่มารุกราน) ได้ เมื่ออ๋องฝ่ายโน้นริดรอนฤดูทำนาของประชาราษฏร์ ทำให้ไม่อาจคราดไถเพาะปลูก ไม่อาจเลี้ยงดูพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเหน็บหนาวอดอยาก พี่น้องลูกเมียต้องพลัดพราก เท่ากับอ๋องฝ่ายโน้นได้ฝัง ได้กดประชาราษฏร์ให้จมน้ำ เมื่อนั้น หากเหลียงฮุ่ยอ๋วง ท่านยกทัพไปปราบปราม ยังจะมีใครต่อต่านได้อีก จึงกล่าวว่า "ผู้มีกรุณาธรรม ย่อมปราศจากศัตรู (เหยินเจ่ออู๋ตี๋) อ๋องท่านโปรดอย่าได้สงสัยเลย"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อเข้าพบเหลียงเซียงอ๋วง (ราชบุตรของเหลียงฮุ่ยอ๋วง) เมื่อกลับออกมาแล้ว ได้กล่าวแก่ใคร ๆ ว่า "มองแต่ไกลไม่เหมือนลักษณะของประมุขเข้าใกล้ก้ไม่เห็นน่าเกรงขาม" แต่ทันใดเหลียงเซียงอ๋วง กลับเอ่ยถามว่า " จะปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขได้อย่างไร" ข้าพเจ้าตอบว่า " สงบสุขได้ด้วยความเป็นหนึ่ง"ถามอีกว่า "ผู้ใดสามารถทำความเป็นหนึ่งได้" ตอบไปว่า "ผู้ไม่ใฝ่สงครามเข่นฆ่า จะสามารถทำความเป็นหนึ่งได้" ถามอีกว่า "ใครจะมาสมานร่วมด้วยได้" ตอบว่า "ทั่วหล้าไม่มีที่จะไม่มาสมานร่วมด้วย อ๋องท่านรู้เห็นต้นข้าวกล้าไหม ระหว่างเดือนเจ็ดเดือนแปดแล้งฝน ต้นกล้าเหี่ยวเฉา พลันเมื่อฝนตกลงมาห่าใหญ่ ต้นกล้าก็พลันชูต้นเจริญงาม อ๋องเป็นเช่นเดียวกับน้ำฝน ใครจะต้านทานไม่ให้เขามาสมานร่วมด้วยได้" บัดนี้ ประมุขผู้ปกครองประชาราษฏร์ในโลก ไม่มีที่จะไม่ชอบฆ่าคน หากมีที่ไม่ชอบฆ่าคน ประชาชนทั่วหล้าล้วนจะมุ่งมาสวามิภักดิ์ เพียงหากไม่อยากเข่นฆ่าเช่นนี้จริง ๆ ประชาชนที่มุ่งเข้าหาสวามิภักดิ์ จะเหมือนน้ำจากที่สูงไหลลงสู่ที่ต่ำ โกรกกรากลากล้นจนใครหรือจะต้านได้ พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงแห่งแผ่นดินฉี เรียนถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เรื่องราวของพระเจ้าฉีหวนกง กับ พระเจ้าจิ้นเหวินกง ท่านได้ยินมาหรือไม่" ปราชญเมิ่งจื่อตอบว่า "ศิษย์ท่านบรมครูขงจื่อ ไม่เคยพูดคุยกันถึงเรื่องราวของพระเจ้าฉีหวนกง กับ พระเจ้าจิ้นเหวินกง ฉะนั้น เรื่องราวของอ๋องทั้้งสองในสมัยนั้น จึงมิได้แพร่หลาย ข้าฯไม่เคยได้ยิน อย่ากระนั้น เราจงสนทนาหลักธรรมแห่งอ๋องกันเถอะ" เซวียนอ๋วงจึงเรียนถามว่า"จะต้องกอปรด้วยคุณธรรมใดหรือ จึงจะสมกับเป็นอ๋องได้" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "เอาคุณธรรมที่ปกป้องประชาราษฏร์มาให้อ๋อง ก็ไม่มีอะไรต้านได้แล้ว" ถามว่า "อย่างเช่นเรานี้ จะปกป้องประชาราษฏร์ได้หรือไม่" ตอบว่า "ได้" ถามว่า "ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเราทำได้" ตอบว่า"ข้าฯได้ยินจากคนชื่อหูเหอ เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งอ๋องท่านหนึ่งประทับนั่ง ณ พระราชฐานเปิด มีชายคนหนึ่งจูงวัวที่ไถนาผ่านมา พอได้เห็น อ๋องท่านก็ถามไปว่า "จะจูงวัวไปทำอะไร" ทูลตอบว่า "นำไปฆ่าเพื่อจะเอาเลือดทาระฆังที่เพิ่งสร้างเสร็จ อ๋องท่านรีบห้ามชายผู้นั้นทันทีว่า "ปล่อยมันไปเถิด เราไม่อาจทนเห็นมันสะท้านกลัวอย่างนี้ได้ ดูอย่างกับตัดสินประหารชีวิตคน ทั้งที่เขาไม่ผิด" ชายผู้นั้นทูลตอบว่า "ถ้าเช่นนั้น ก็จะโปรดให้ยกเลิกพิธีกรรมเอาเลือดทาระฆังกระนั้นหรือ" อ๋องท่านตอบว่า "จะยกเลิกความเชื่อดั้งเดิมได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้นเอาเลือดแพะแทนก็แล้วกัน..." ไม่ทราบว่ามีเรื่องประการนี้หรือไม่" อ๋องตอบว่า "มีจริง" ปราชญ์เมิ่งจื่อจึงกล่าวว่า "จิตใจเช่นนี้เพียงพอที่จะป็นอ๋องได้ ประชาราษฏร์อาจเห็นว่าอ๋องท่านคงเสียดายวัว (ตัวใหญ่ช่วยงานได้) แต่ข้าฯรู้ดีว่า เป็นเพราะอ๋องท่านไม่อาจทนเห็นทารุณกรรมได้ซึ่ง ๆ หน้า"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงว่า "ถูกต้อง มีประชาชนที่เข้าใจเราผิดเช่นนี้จริง ๆ เมืองฉีของเราแม้จะเป็นบ้านเมืองเล็กๆ แต่จะอัตคัตถึงกับเสียดายวัวตัวใหญ่ให้แลกกับแพะตัวเล็กเชียวหรือ ที่ทำเช่นนี้ เพราะไม่อาจอดใจทนดูภาพสั่นสะท้านหวั่นหวาดของวัวตัวนั้นได้ เหมือนกับประหารชีวิตคนที่ไม่มีความผิด ฉะนั้น จึงจะเปลี่ยนใช้แพะแทน" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "วิธีการของอ๋องท่าน ก็ไม่แปลกหรอกที่ประชาชนจะเข้าใจผิดว่า รักเสียดายวัว เอาตัวเล็กตายแทนตัวใหญ่ ใครจะรู้เจตนาดีของท่านอ๋องได้ หากอ๋องท่านสงสาร มิอาจอดใจทนเห็นความตายอันไม่ยุติธรรม ถ้าเช่นนั้น การตายของวัวกับแพะ มันจะต่างกันอย่างไรหรือ (เป็นชีวิตที่เจ็บปวดกระแด่วดิ้นเช่นกัน)" พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ทรงสรวลในความขาดสติปัญญาต่อการตัดสินของพระองค์เอง แล้วว่า "ขณะนั้น ด้วยความคิดจิตใจอย่างไรหนอ ทำให้ตัดสินใจอย่างนั้น เรามิได้รักเสียดายทรัพย์สินที่เทียบค่าเป็นราคา จึงแลกกับแพะ ซึ่งด้อยค่ากว่า...ก็สมควรแล้วที่ประชาชนจะคิดเห็นเจตนาของเราผิดไปเช่นนี้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ไม่ใช่ความผิดนักหนาอะไร นั่นเกิดจากท่านอ๋องมีกรุณาธรรมเป็นพื้นฐาน เห็นสภาพหวาดกลัวตัวสั่นของวัว แต่ไม่ได้เห็นว่าแพะก็จะมีสภาพเช่นเดียวกัน จึงมิได้ยั้งคิด อันว่าอ๋องผู้เป็นใหญ่ในทวยราษฏร์นั้น ล้วนมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งปวง เมื่อเห็นเขามีชีวิต ย่อมไม่อดใจทนเห็นเขาตาย แม้เพียงได้ยินเสียงเขาร้อง ก็มิอาจอดใจกินเนื้อเขาได้ ดังนั้น ประมุขทรงธรรมผุ้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงห่างไกล (ไม่อยากเข้าใกล้) ครัวไฟที่ประกอบอาหารจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต" (เจี้ยนฉี่เซิง ปู้เหยิ่นเจี้ยนฉีสื่อ เอวิ๋นฉีเซิง ปู้เหยิ่นสือฉีโย่ว ซื่ออี่จวินจื่อเอวี่ยนเผาฉูเอี่ย) พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ได้ยินแจกแจงดังนี้ ด้วยความปลื้อปิติที่ปราชญ์เมิ่งจื่อเข้าใจ จึงกล่าวว่า "ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า เขามีความในใจ เราช่วยประเมินคลี่คลาย" เช่นเดียวกับปราชญ์ที่ทานกล่าวมานี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้น เราเป็นผู้กระทำเอง แต่กลับไม่รู้ใจตน เมื่อปราชญ์ท่านแจกแจง ทำให้เราใจตื้นตันหนัก แต่ทว่า จิตใจเยี่ยงนี้ ที่ว่าสมควรแก่การเป็นอ๋องนั้น อย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " หากมีผู้กราบทูลท่านอ๋องว่า ข้าพเจ้ายกน้ำหนักได้ร้อยชั่ง แต่ยกขนไก้ก้านหนึ่งหาขึ้นไม่ หรืออาจมีผู้กราบทูลว่า "ข้าพเจ้าเห็นความเล็กละเอียดได้ชัดเจน แม้เพียงขนอ่อนเพิ่งงอกบนตัวนกน้อย แต่ไม่อาจมองเห็นท่อนฟืนทั้งคันรถได้ (หมิงฉาชิวเหา) ดังนี้ อ๋องท่านจะเชื่อหรือไม่" ตอบว่า "ไม่" บัดนี้ พระกรุณาฯ อ๋องท่านปรกแผ่ไปถึงสัตว์ทั้งหลายได้ แต่พระบารมีกลับไม่อาจปรกแผ่ ไปถึงสัตว์ทั้งหลายได้ จะเป็นด้วยเหตุผลอันใดหรือ แต่หากไม่อาจยกแม้ขนไก้ก้านเดียวนั่น (เหตุผล) ก้คือไม่ใช้แรง และก็ไม่เห็นท่อนฟืนทั้งคันรถคือไม่ใส่ใจมองดู ถ้าประชาราษฏร์ไม่ได้รับการเหลียวแล นั่นก็คือ เหนือหัวมิได้ปรกแผ่กรุณาฯ ฉะนั้น อ๋องที่ไม่มีคุณธรรมความเป็นอ๋องได้นั้น ก็คืออ๋องที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ดี มิใช่ทำไม่ได้ พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงเรียนถามต่อไป "ที่ไม่ได้ทำกับทำไม่ได้นั้น ต่างกันอย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ถ้าจะบอกกับใคร ๆ ว่าหนีบเอาไท่ซันมหาบรรพตไว้กับตัวแล้วก้าวข้ามทะเลเป่ยไห่" การนี้เราทำไม่ได้ แต่ถ้าจะหักกิ่งไม้ให้ผู้ใหญ่สักกิ่งหนึ่ง แ้ล้วบอกกับใคร ๆ ว่า"เราทำไม่ได้" นี่คือไม่ทำ มิใช่ทำไม่ได้ ฉะนั้น อ๋องที่ไม่เป็นอ๋อง ไม่ใช่เหมือนพวกที่จะต้องหนีบเอาไท่ซันข้ามทะเลเป่ยไห่เลย แต่อ๋องที่ไม่เป็นอ๋องนั้นคือ พวกที่หักกิ่งไม้เท่านั้น (เป็นอ๋องที่ทำดีได้ แต่ไม่ตั้งใจจะทำ) "
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
จงปฏิการะคนชราของเรา จนถึงขราของเขาอื่น จงอุปการะผู้อ่อนเยาว์ของเรา จนถึงผู้อ่อนเยาว์ของเขาอื่น (เหล่าอู๋เหล่า อี่จี๋เหยินจือเหล่า อิ้วอู๋อิ้ว อี่จี๋เหยินจืออิ้ว) หากโอบอุ้มรอบรายได้เช่นนี้ การปกครองบ้านเมือง ก็จะอยู่ในอุ้งมือคุณธรรมได้ ดังในคัมภีร์ซือจิงจารึกว่า "เป็นแบบอย่างแก่ภรรยา จนถึงพี่น้อง จนกระทั่งขยายขอบเขตไปถึงการปรกครองบ้านเมือง" (สิงอวี๋กว่าชี จื้ออวี๋ชยงตี้ อี่อวี้อวี๋เจียปัง) คำพูดทั้งหมดคือ ให้ใจนั้นมีความรักเมตตา ปรกแผ่แก่คนทั้งหลายนั้นเอง ฉะนั้น การปรกแผ่เอื้อคุณแก่ประชาราษฏร์ จะสามารถรักษาเขตคามทั่วทิศ หากไม่ปรกแผ่เอื้อคุณ จะมิอาจรักษาแม้บุตรภรรยาตน ผุ้ปกครองแว่นแคว้นแต่โบราณ เหตุที่อยู่เหนือคนทั้งหลายได้นั้น ไม่มีอื่นใด เพียงแต่แผ่ขยายการเอื้อคุณ ให้กว้างออกไปเท่านั้น บัดนี้้ อ๋องท่านมีเมตตาการุณย์เอื้อคุณไปถึงสัตว์ได้ แต่ยังมิได้เอื้อคุณไปถึงประชาราษฏร์ได้นั้น ด้วยเหตุอันใดหรือ?. "ชั่ง" แล้วจึงรู้ว่าหนักหรือเบา "วัด" แล้วจึงรู้ยาวหรือสั้น สรรพสิ่งล้วนเป็นเช่นนี้ จิตใจเป็นเช่นไร อ๋องท่านเป็นผู้วัดใจดูเอง หากอ๋องท่านยาตราทับ เป็นภัยต่อเหล่าทหารขุนนาง อีกทั้งสร้างความเจ็บแค้นไว้กับเจ้าเมืองต่าง ๆ อย่างนั้นแล้ว จะปรีดาปราโมทย์หรือ พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงตอบว่า "ไม่ เราจะปราโมทย์ด้วยการกระทำเช่นนั้นได้อย่างไร สิ่งที่ทำให้ปรีดาปราโมทย์ได้คือ เราหวังในความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของเรา" ปราชญ์เมิ่งจื่อถามว่า "ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของอ๋องท่าน จะให้ข้าได้รับรู้หรือไม่" พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงทรงสรวลแต่ไม่ตอบ ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ก็เพื่อด้วยเหตุที่อาหารเลิศรสยังไม่อิ่มโอษฐ์ ฉลองพระองค์ยังไม่อบอุ่นเบาสบาย หรือเพื่อด้วยเหตุที่สีสันไม่งดงามชวนชม เสียงเสนาะยังไม่ไพเราะพอ หรือสาวสรรกำนัลในที่เรียงรายอยู่ไม่พอเรียกหาใช้สอย กระนั้นหรือ" ที่ข้าฯ มองดูขุนนางทั้งหลายของอ๋องท่าน การปรนเปรอใช้สอยล้วยสมบูรณ์แล้ว แต่อ๋องท่านยังรู้สึกไม่เต็มอิ่มกับสิ่งเหล่านี้หรือ ฉีเซวียนอ๋วงว่า "หาเป็นเช่นนั้นไม่ เรามิใช่ปรารถนาต่อสิ่งเหล่านี้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ถ้าเช่นนั้น ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของอ่องท่านก็พอจะรู้ได้แล้วว่า ปรารถนาจะขยายอาณาเขต ต้องการให้เมืองฉิน เมืองฉู่ มาถวายบรรณาการทุกปี ต้องการปกครองแผ่นดินจีนทั้งหมดเป้นเอกเทศ สยบขวัญชนเผ่าน้อยรอบด้าน แต่ทว่า วิธีการปกครองขณะนี้ จะหวังให้เป็นไปตามปรารถนา จะอุปมาดั่งปีนป่ายต้นไม้หาปลา (เอวี๋ยนมู่ฉิวอวี๋) อ๋องว่า "ถ้าทำเช่นนั้นจะมีภัยร้ายแรงเชียวหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "เป็นภัยใหญ่หลวงนัก...ปีนต้นไม้หาปลา แม้ไม่ได้ปลา หามีภัยตามมาไม่ แต่การกระทำในขณะนี้ มุ่งหวังให้เป็นไปตามปรารถนา ทุ่มเทแรงใจทำไปภายหน้าแน่นอน" อ๋องว่า "จะพูดให้เราฟังได้หรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "สมมุติเช่น ชาวเมืองโจวกับชาวเมืองฉู่ สู้รบกัน อ๋องท่านประเมินดูว่าฝ่ายใดจะชนะ" อ๋องว่า "คนเมืองฉู่ชนะ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ถ้าเช่นนั้นหมายความว่า บ้านเมืองเล็กไม่อาจรบชนะบ้านเมืองใหญ่ได้แน่ คนน้อยไม่อาจต่อสู้กับคนมาก กำลังอ่อนไม่อาจเอาชนะกำลังกล้า ขณะนี้ แผ่นดินใหญ่โดยรอบทั้งสี่ทืศ อาณาเขตตารางพันลี้ มีเก้าบ้านเมือง เมืองฉีของอ๋องท่านเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น อ๋องท่านจะใช้กำลังเพียงหนึ่งส่วนที่มีน้องพิชิตอีกแปดส่วน เช่นนี้ จะแตกต่างอะไรกับชาวเมืองโจวอันน้อยนิด ที่สู้รบกับชาวเมืองฉู่ที่เข้มแข็งกว่าเล่า ซึ่งจะต้องย้อนมองหลักธรรมของความเป็นอ๋องแห่งตนแล้ว"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนต้น
วันนี้ หากอ๋องท่านใช้การปกครองด้วยการุณยธรรม เพื่อให้เหล่าขุนนาง ทหารทั้งหมด ล้วยอยากอยู่คู่ราชวงศ์อ๋องท่าน ชาวไร่ชาวนา ล้วนอยากคราดไถบนผืนแผ่นดินของอ๋องท่าน คนค้าขาย ก็ล้วนอยากเก็บสินค้าไว้ภายในตลาดของอ๋องท่าน คนเดินทาง ก็ล้วนอยากเข้าออกตามถนนหนทางของอ๋องท่าน ประชาชนที่เกลียดชังเจ้าเหนือหัวของเขา ก้จะพากันมาระบายความทุกข์กับอ๋องท่าน หากเป็นเช่นนี้ ใครหรือจะต่อสู้กับอ๋องท่านได้ พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงว่า "เรารู้ตัวว่าด้อยปัญญา เกรงว่าจะไม่อาจทำเช่นนี้ได้ ขอท่านได้ช่วยให้เราสมความตั้งใจด้วย จงสอนเราให้ชัดเจน แม้เราจะไม่ปราดเปรื่อง ก็จะลองทำตามท่านดู" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า"จะต้องตระหนักอีกว่าชาวบ้านชาวเมืองหากไม่มีสินทรัพย์มั่นคง จิตใจก็จะขาดความหนักแน่น จิตใจหนักแน่นนี้ มีแต่ "สุชนผู้กล้า" เท่านั้นที่เป็นได้ สำหรับชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป หากไม่มีสินทรัพย์มั่นคง จิตใจก็จะไม่หนักแน่น เมื่อปราศจากความหนักแน่นมั่นคง ก็จะประพฤติตนนอกลู่นอกทาง เสียหายไปตามความพอใจสุดท้ายก็ต้องตกไปสู่โทษผิด ถูกจับมารับโทษ เช่นนี้ เท่ากับใช้ร่างแหไม่มีรูปขอบข่ายชาวบ้านชาวเมืองไว้ ไหนหรือคือเจ้าเหนือหัวผุ้การุณย์ปกครอง เป็นการปกครองที่ใช้ร่างแห ครอบข่ายประชาราษฏร์ ไว้มิใช่ดอกหรือ ด้วยเหตุดังนี้ ประมุขผู้ชาญฉลาดกำหนดทรัพย์สินแก่ประชาราษฏร์ จะต้องให้เขาเห็นว่ามีฐานะพอควรแก่การปฏิการะบิดามารดา พอควรแก่การเลี้ยงดูอุปการะลูกเมีย ในวัยฉกรรจ์ มั่นใจต่อความอุดมสมบูรณ์ได้ตลอดชีวิต ในวัยชรา มั่นใจว่าจะไม่อดอยากตายอย่างอนาถา จากนั้น ผลักดันให้เข้าสู่คุณความดี ดังนี้ ประชาราษฏร์ก็จะยินดีอยู่ในความปกครองอย่างง่ายดาย วันนี้นั้น ประมุขควบคุมสินทรัพย์ประชาราษฏร์ เก็บภาษีอากร จนทำให้ไม่พอแก่การปฏิการะบิดามารดาได้เต็มที่ ไม่พอแก่การอุปการะลูกเมียได้ทั่วถ้วน ในวัยฉกรรจ์ ต้องเหนื่อยยากลำบากชั่วชีวิตเช่นนี้ มิพ้นที่ชราวัยจะต้องอนาถอดตาย สภาพการณ์ดังกล่าว แม้เพียงช่วยเหลือผู้ที่จะต้องอดตายก็ยังไม่ทั่วถึงเลย ยังจะมีเวลาพูดถึงการปกครองโดยจริยมโนธรรม หรืออ๋องท่านแทนที่จะใช้ระบบศักดินาปกครอง ไฉนไม่เปลี่ยนการปกครองโดยธรรมเล่า ทุกครอบครัวให้มีบ้านอาศัยในเนื้อที่ห้าหมู่ (หนึ่งหมู่เท่ากับหกพันตารางฟุต) ปลูกต้นหม่อนไว้ริมรั้วบ้าน อายุห้าสิบ ก็จะได้สวมใส่ผ้าไหมแพรพรรณแล้ว สุนัข สุกร ไก่ สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ หากไม่ิดต่อการเจริญพันธุ์ตามควรแก่ฤดูกาล คนที่อายุเจ็ดสิบปีจะกินเนื้อสัตว์ ก็จะได้กิน จัดสรรที่นาทำกินให้ครอบครัวละหนึ่งร้อยหมู่ (6,000 ตารางฟุต X 100) เพาะปลูกให้ถูกต้องตามฤดูกาล สมาชิกครอบครัวมีแปดคน ก็จะไม่มีที่ต้องอดตาย อีกขั้นหนึ่งคือ ก่อตั้งสถานศึกษา ให้การอบรมธรรมะของความกตัญญู พี่น้องปรองดอง คนผมขาว (ชราวัย) ก็จะไม่ต้องแบกหามของหนักอยู่ตามทาง อายุเจ็ดสิบ (สูงวัย) ได้สวมใส่แพรพรรณ กินอิ่ม ไพร่ฟ้าประชาราษฏร์ไม่ขาดแคลนเสื้อผ้าอาหาร เช่นนี้แล้ว บ้านเมืองยังไม่รุ่งเรืองได้ คงไม่มี
(บทนี้ ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อยกตัวอย่างตักเตือนให้พระเจ้าฉีเซวี๋ยนอ๋วง ละทิ้งความคิดเผด็จการที่จะปกครองบ้านเมืองในระบบศักดินาเบ็ดเสร็จ)
จบบทเหลียงฮุ่ยอ๋วงตอนต้น
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ขุนนางเมืองฉี นามว่าจวงเป้า เข้าพบท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ เรียนถามว่า "วันก่อนข้าพเจ้าเข้าเฝ้าท่านอ๋อง ท่านอ๋องว่า องค์ท่านโปรดดนตรี ข้าพเจ้ายังมิได้ตอบว่ากระไร ข้าพเจ้าจึงใคร่เรียนถามท่านปราชญ์ว่า "เป็นอ๋องโปรดดนตรี จะมีผลต่อการปกครองอย่างไรหรือไม่" ตอบว่า "หากอ๋องโปรดดนตรีอย่างยิ่ง (ขวัญวิญญาณเข้าถึงดนตรีได้อย่างแท้จริง) เมืองฉีก็จะสงบสุขได้ในไม่ช้า" หลายวันต่อมา ปราชญ์เมิ่งจื่อเข้าพบเจ้าเมืองฉี ถามว่า "อ๋องท่านเคยกล่าวแก่ขุนนางจวงเป้าว่าโปรดดนตรี มีเรื่องนี้หรือไม่" อ๋องมีสีหน้าละอายแก่ใจ ตอบว่า "เราจะชื่นชมดนตรีสมัยอดีตอ๋องหาได้ไม่ แต่กลับชื่นชอบดนตรีดนตรีทางโลกสมัยปัจจุบัน" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "หากอ๋องท่านโปรดดนตรีเป็นที่ยิ่ง เมืองฉีก็จะมีหวัง (สงบสุข) ดนตรีสมัยปัจจุบัน พลิกแพลงมาจากดนตรีโบราณ" อ๋องว่า "เหตุผลนี้จะพูดให้เราฟังได้หรือไม่"ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ชื่นชมยินดีมีความสุขกับดนตรีคนเดียว หรือชื่นชมยินดีมีความสุขกับดนตรีร่วมกับใคร ๆ ความสุขใดจะดีกว่า" อ๋องว่า "มีความสุขร่วมกับใคร ๆ จะดีกว่า" ถามอีกว่า "มีความสุขร่วมกับคนหมู่น้อยกับหมู่มาก สุขใดจะยิ่งใหญ่กว่า" อ๋องว่า "มีความสุขกับคนหมู่มากยิ่งใหญ่กว่า" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็จะพูดหลักเหตุผลนี้แก่อ๋องท่าน" "สมมุติว่าขณะนี้ อ๋องท่านกำลังทรงดนตรีอยู่ที่นี่ ประชาราษฏร์ได้ยินเสียงดีดสีตีเป่า ทุกคนก็จะปวดหัว หน้านิ่วคิ้วขมวด ตัดพ้อด้วยความขัดเคืองใจ วิพากษ์วิจารณ์กันว่า "อ๋องของเราดปรดดนตรี มีความสุข แต่ทำไมต้องทำให้เราตกอยู่ในความทุกข์เช่นนี้ ดูซิ พ่อลูกต้องจากกัน พี่น้องลูกเมียกระจัดกระจาย" สมมุติอีกว่า ขณะนี้อ๋องท่านล่าสัตว์อยู่แถบนี้ ประชาราษฏร์ได้ยินเสียงฝีเท้าม้าขบวนล่าสัตว์ เห็นธงทิวสวยงามที่ประดับด้วยขนนก ทุกคนก็จะปวดหัว จะหน้านิ่วคิ้วขมวดกลัดกลุ้มขัดเคือง จะวิพากษ์วิจารณ์ต่อกันว่า "อ๋องของเราโปรดการล่าสัตว์ สนุกเพลิดเพลิน แต่ทำไมต้องทำให้เราตกอยู่ในความทุกข์เช่นนี้ พ่อลูกต้องพลัดพรากจากัน พี่น้องลูกเมียกระจัดกระจาย เหตุดังนี้มิใช่อื่นใด ด้วยไม่ร่วมสุขกับประชาราษฏร์นั่นเอง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ในทางตรงข้าม วันนี้หากประชาราษฏร์ได้ยินเสียงกลอง ระฆัง ดีดสีตีเป่า เสียงทรงดนตรีจากอ๋อง ประชาราษฏร์ต่างปลาบปลื้มยินดี บอกต่อกันว่า "อ๋องของเราคงจะทรงพระเกษมสำราญ ไม่เจ็บป่วยเป็นแน่ มิฉะนั้น จะทรงดนตรีได้อย่างไร" วันนี้หากองค์ทรงล่าสัตว์ ประชาราษฏร์ได้ยินเสียงรถ เสียงฝีเท้าม้า ได้เห็นธงทิวประดับขนนก งดงามผ่านมา แล้วต่างบอกกล่าวต่อกันด้วยความปลาบปลื้มยินดีว่า "อ๋องของเราคงจะไม่เจ็บไม่ป่วยกันแน่ มิฉะนั้น จะทรงออกล่าสัตว์ได้อย่างไร" เหตุดังนี้มิใช่อื่นใด ก็ด้วยร่วมสุขกับประชาราษฏร์นั่นเอง วันนี้ หากอ๋องท่านจะร่วมสุขกับประชาราษฏร์ได้ ก็จะเป็นอ๋องผุ้ทรงธรรม พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงถามว่า "อาณาเขตวนอุทยานป่าล่าสัตว์ของพระเจ้าโจวเหวินอ๋วง นั้น ได้ยินมาว่า กว้างใหญ่ไพศาลถึงเจ็ดสิบลี้โดยรอบทีเดียว เป็นความจริงหรือไม่" ปราชญืเมิ่งจื่อตอบว่า "หนังสือพงศาวดารได้จารึกไว่เช่นนั้น" "กว้างใหญ่ปานนั้นเชียวหรือ" อ๋องทรงอุทาน ปราชญ์เมิ่งจื่อเสริมว่า"กว้างใหญ่เพียงนี้ ประชาราษฏร์ยังว่าเล็กไป" อ๋องว่า"สวนสัตว์ของเรากว้างใหญ่โดยรอบสี่สิบลี้ ประชาราษฏร์ยังว่ากว้างใหญ่เกินไป นี่เป็นเพราะเหตุใด" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "วนอุทยานของอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงกว้างใหญ่เจ็ดสิบลี้ ผู้ประสงค์ตัดหญ้านำไปเลี้ยงม้า วัว ควาย ประสงค์จะต้ดไม้แห้งไปทำฟืน ประสงค์จะจับกระต่ายป่า ไก่ป่า ล้วนเข้าไปได้ในบริเวณนี้ ด้วยมิได้เป็นเขตหวงห้ามสำหรับประชาราษฏร์ แต่เป็นสมบัติของกษัตริย์ร่วมกันกับประชาราษฏร์ ประชาราษฏร์จึงว่ายังเล็กเกินไป พอข้าพเจ้าเหยียบย่างเข้าเขตบ้านเมืองนี้ ข้า ฯ ขอถามทันทีว่า ข้อห้ามสำคัญยิ่งของบ้านเมืองนี้คืออย่างไร จากนั้นจึงกล้าเหยียบย่างเข้ามา ข้าฯ ได้ยินว่า นอกปราการบ้านเมืองหนึ่งร้อยลี้ มีสวน (ล่า) สัตว์กว้างใหญ่สี่สิบลี้โดยรอบ หากมีใครฆ่ากวางเล็กกวงาใหญ่ในสวนหนึ่งตัว จะมีโทษกับฆ่าคนตายไปหนึ่งคน เช่นนี้ สวนสี่สิบลี้โดยรอบจะเท่ากับหลุมพลางของบ้านเมือง ประชาราษฏร์จึงว่ากว้างใหญ่เกิน กล่าวเช่นนี้ มิใช่สมควรดอกหรือ
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
พระเจ้าฉีเซวี๋ยนอ๋วงถามว่า "การคบหากับกับบ้านเมืองชิดใกล้ จะถือว่ามีธรรมะไหม" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "มี" อ๋องผุ้มีการุณยธรรมเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ที่พระเจ้าซังทังผู้เกรียงไกร ใส่พระทัยชิดเชื้อเกื้อกูลบ้านเมืองเก่ออาณาจักรเล็ก ๆ อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงผู้ยิ่งใหญ่ อุ้มชูดูแลชนเผ่าคุนอี๋บ้านเมืองชาวป่า กษัตริย์โกวเจี้ยน เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนบ้านเมืองของกษัตริย์อู๋ผู้อ่อนกำลังกว่า "การที่เป็นผุ้ใหญ่ โอบอ้อมอารีต่อผู้น้อยผู้ด้อยกำลัง" แสดงถึงความเป็นผุ้ใหญ่ เป็นผุ้สมานสุขประดุจฟ้ากว้าง ในส่วนผู้น้อยผู้ด้อยกำลัง พึงรู้จักสวามิภักดิ์ยำเกรง ผู้สมานสุขดุจฟ้ากว้าง จะคุ้มครองรักษาไพร่ฟ้าในโลกหล้าได้ ผู้สวามิภักดิ์ยำเกรง จะรักษาเขตคามบ้านเมืองได้ ดังคำที่ว่า "เคารพยำเกรงฟ้าอันน่าคร้ามนัก จึงอาจรักษาพระโองการฟ้า (ของบ้านเมือง) (เอว้ยเทียนจือเอวย อวี๋สือเป่าจือ) หมายเหตุ จากคัมภีร์ซือจิง บทโจวซ่ง ผู้ทำหน้าที่ปกครองดูแลมหาชน เบื้องหลังของสถานภาพนั้น ล้วนเป็นพระโองการบัญชามาจากฟ้าเบื้องบน ให้ทำการคุ้มครองรักษา บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่มหาชน ให้อุ้มชูรับใช้ มืใช่ให้วางอำนาจบาตรใหญ่ มิฉะนั้น จะมิอาจรักษาพระโองการฟ้าให้รุ่งเรือง เฟื่องฟูอยู่ได้ยาวนาน พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ทรงอุทานด้วยความปลื้อมปิติว่า "โอ คำพูดเหล่านี้ช่างยิ่งใหญ่แท้ แต่เรานั้นมีข้อเสียที่ชอบฮิกหาญ" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "ขออ๋องท่านจงอย่าได้ยินดีต่อความหึกหาญอันด้อยน้ำหนักขาดปัญญา ไม่ต่างจากผู้ที่มือกุมดาบ ถลึงนันย์ตาท้าทายว่า "เจ้ากล้าพอที่จะสู้เขาข้าหรือ" เช่นนี้คือ ความฮึกหาญของคนระดับล่างที่ประจันกันตัวต่อตัว ขอให้อ๋องท่านจงฮิกหาญการใหญ่เถิด เช่นในคัมภีร์ซือจิง บทต้าอย่าหวงอี่ สรรเสริญอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงว่า "เนื่องจากเมืองมี่ ชอบที่จะรบกวนรุกรานแผ่นดินโจวอยู่บ่อย ๆ (เหมือนแมลงหวี่ที่ตอดตอมพญาช้างสาร) เป็นที่น่ารำคาญยิ่งนัก พระเจ้าโจวเหวินอ๋วงเหลืออด จึงสำแดงความฮึกหาญจัดการยกทัพระงับข้าศึก มิให้เข้าถึงเขตพรหมแดนจวี่ของพระองค์ได้แม้แต่น้อย (จวี่ ปัจจุบันคือมณฑลซันตง) เพื่อรักษาเสถียรภาพเพิ่มพาสันติภาพ นำความสุขสงบมาสู่ราชวงศ์โจวทั้งหมด นี่คือความฮึกหาญของพระเจ้าโจวเหวินอ๋วง เป็นความฮึกหาญที่เมื่อเกิดขึ้น ก็โอบอุ้มให้คุณแก่ประชาราษฏร์ได้ทันที
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ในหนังสือพงศาวดารของราชวงศ์โจว บทไท่ซื่อ ได้จารึกความฮึกหาญมั่งมั่นของพระเจ้าโจวอู่อ๋วงไว้ว่า "ในเมื่อฟ้าเบื้องบนดปรดประทานชีวิตประชาราษฏร์ โปรดยกย่องให้ข้า ฯ (อู่อ๋วง) ขึ้นเป็นเจ้าผู้ปกครอง เป้นครูอาจารย์ ผู้ปรกนำ ก็เพื่อการช่วยงานฟ้าเบื้องบนเท่านั้น (พระมหาเมตตากรุณาคุณแห่งฟ้าเบื้องบน ล้วนประสงค์ให้ทุกข์ชีวิตอยู่ดีมีสุข เจริญธรรมเพื่อความสูงส่งของชีวิต) ข้าฯ จึงพึงโอบอุ้มให้คุณต่อทุกชีวิตสี่ทิศโดยรอบ ประชาราษฏร์มีโทษหรือไม่ ล้วนอยู่ที่ตัวข้าฯ ใครหรือจะกล้าละเมิดความมุ่งมั่น (อุดมการณ์) นี้" ทรราชอินโจ้วอ๋วง คนเดียวนั้น ทำการเข่นฆ่าระรานพระเจ้าโจวอู่อ๋วงผู้ทรงธรรม ทนเห็นความชั่วร้ายไม่ได้จึงฮึกหาญจัดการปราบปราม นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ความฮึกหาญของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีผลต่อการคุ้มครองรักษา บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาราษฏร์ วันนี้ หากฉีเซวียนอ๋วงท่านฮึกหาญบันดาลโทสะแล้วสามารถคุ้มครองรักษา บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาราษฏร์ได้เช่นเดียวกับอริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง ประชาราษฏร์ยังจะเกรงแต่ว่า อ๋องท่านไม่บันดาลโทสะฮึกหาญเสียอีก" พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงได้พบปราชญ์เมิ่งจือที่เสวี่ยกง (พระราชวังสำหรับแปรพระบาทพักผ่อน) อ๋องโปรดถามว่า "ท่านก็มีรสนิยม (ชอบ) กับความสุขนี้ด้วยหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "มี..." แต่หากประชาราษฏร์มิได้ร่วมรับความสุขนี้ เขาก็จะกล่าวร้ายต่อเบื้องสูง ผู้ที่กล่าวร้ายเบื้องสูงมิใช่อื่นไกล ก็ด้วยเบื้องสูง (รวมทั้งเหล่าขุนนาง) ไม่ให้ ไม่ร่วมสุขกับประชาราษฏร์ มิใช่เพียงเท่านั้น หากเบื้องสูงเห็นความสุขของประชาราษฏร์เป้นเช่นความสุขของตน ประชาราษฏร์จะสุขใจ เบื้องสูงเห็นความทุกข์ของประชาราษฏร์เป็นเช่นความทุกข์ของตน ประชาราษฏร์ก็จะเห็นความทุกข์ของเบื้องสูงเป็นความทุกข์ของตนด้วยเช่นกัน "สุขด้วยทวยราษฏร์สุข ทุกข์ด้วยทวยราษฏร์ทุกข์" (เล่อหมินจือเล่อ อิวหมินจืออิว) แต่ทว่าผู้ขาดความเป็นอ๋อง (ผู้ทรงธรรม) หาเป็นเช่นนี้ไม่" ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อยกตัวอย่างอีกว่า " ครั้งนั้น พระเจ้าฉีจิ่งกง ถามขุนนางเอี้ยนผิงจ้งว่า "เราใคร่จะประพาสชมจ่วนฟู่ กับ เฉาอู่ สองบรรพต แล้วเรียบชายทะเลไปทางใต้จนถึงเมืองหลังเสีย เราจะต้องบำเพ็ญวาสนาเช่นใดหรือ จึงจะเสมอด้วยอดีตอ๋องที่ประพาสท่องเที่ยวไปได้อย่างกว้างไกล
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ขุนนางเอี้ยนจื่อ (เอี้ยนผิงจ้ง) ทูลตอบว่า "ขอจงทรงพระเจริญที่ถามเช่นนี้ กษัตริย์คือบุตรแห่งฟ้า จะประพาสเยี่ยมเยียนตรวจตราหัวเมืองต่าง ๆ (ประพาสใหญ่สิบสองปีต่อหนึ่งครั้ง) เรียกว่า ประพาสตรวจตราความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเจ้าเมืองหัวเมือง เจ้าเมืองทุกหัวเมืองจะถวายรายงานราชการของหัวเมืองนั้น มิใช่ประพาสโดยปราชจากงานเมือง ยังมีที่ประพาสตรวจตราการเกษตรเพื่อเสิมสิ่งขาดพร่องสงเคราะห์แก่เกษตรกรในฤดูเพาะปลูก (ฤดูใบไม้ผลิ) จากนั้นก็ประพาสสอดส่องการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อสงเคราะห์เพิ่มเติมความขาดแคลนในฤดูใบไม้ร่วงอีกครั้งหนึ่ง มีคำพังเพยในราชวงศ์เซี่ย ว่า "หากกษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งเราไม่เสด็จประพาส เราจะรับความปิติยินดีได้อย่างไร" หากกษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งเราไม่ทรงปลาบปลื้มชื่นสุข เราจะรับการสงเคราะห์ช่วยเหลือได้อย่างไร" การเสด็จประพาสก็ดี ความปลาบปลื้มชื่นสุขก็ดี แต่ละครั้งที่เสด็จ ก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เจ้าเมือง ซึ่งสนองพระบัญชาปกครองดูแลหัวเมืองต่าง ๆ อยู่ แต่บัดนี้ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุกครั้งที่เจ้าเมืองยกขบวนผ่านมา ชาวบ้านกลับจะต้องกระเสือกกระสน ค้นหาข้าวปลาอาหารต้อนรับเตรียมเสบียงให้ขนไป ดังนั้น ชาวบ้านผู้อดอยากยากไร้ยังคงไม่มีจะกิน ชาวบ้านผู้เหนื่อยหนักยังคงมิได้พักผ่อน ทุกคนก็จะส่งสายตาเคืองแค้นสาปแช่งด่าทอ จากนั้นก็จะประพฤติผิดคิดร้าย แต่เหล่าเจ้าเมืองก้ยังฝ่าฝืนพระบัญชา รีดนาทาเร้น กินเล่น ทิ้งขว้าง ทำตามอำเภอใจไม่สำนึก ยังคงไหล เนื่อง เถื่อน ต่ำ ไม่รู้ตัว เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เจ้าเมืองทั้งหลายน่าจะทุกข์เศร้าห่วงใย มีคำกล่าวว่า "นั่งเรือตามน้ำไปไม่หันหลังเรียกว่า ไหล (หลิว) รั้งเรือทวนน้ำดันทุรังไปไม่เหลียวหลังเรียกว่า เนื่อง (เหลียน) ล่าสัตว์กวดจับไม่ยับยั้งเรียกว่า "เถื่อน" (ฮวง) ดื่มหัวราน้ำเมามายไม่หน่ายพอเรียกว่า "ตาย" (อวั่ง) เจ้าเมืองก่อนเก่า ไม่มีที่จะหาความสุขอย่าง ไหล เนื่อง ตามใจไม่ขาดสติยั้งคิด ไม่มีการกระทำเถื่อน ตาย หายนะ เป็นภัยมุทะลุขาดสติ ตัวอย่างนี้ ล้วนแต่อ๋องท่านจะพิจารณาดำเนินองค์เองเถิด" พระเจ้าฉีจิ่งกงได้ฟังปรัชญาจากท่านปราชญ์เมิ่งจื่อแล้ว ทรงโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ถึงกับบัญชาให้มีการประกาศเผยแพร่ไปทั่วเมือง อีกทั้งจัดสร้างยุ้งฉางไว้นอกเมือง เพื่อแจกข้าวให้แก่ประชาชนที่อดอยากขาดแคลนแถบนั้น ๆ จากนั้น ก็เรียกอาจารย์ฝ่านดนตรี (ไท่ซือ) เข้าเฝ้า มีรับสั่งว่า ท่านจงแต่งเพลงที่สมานความสุขร่วมกันระหว่างองค์ประมุขกับข้าราชบริพารโดยทั่ว" เพลงที่ไท่ซือแต่งถวายในครานั้น สืบเนื่องเรื่อยมาจนบัดนี้ นั่นก็คือเพลง "เจิงเจา" กับ เพลง "เจี่ยวเจา" ความหมายหลักของเพลงคือ " จงยับยั้งองค์ประมุขไว้มิให้มีผิด จะให้มีผิดได้อย่างไรกัน " ผุ้ที่ยับยั้งองค์ประมุขไว้มิให้มีผิด คือผู้เคารพรักองค์ประมุขอย่างแท้จริง" (บทนี้ ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อยกตัวอย่างให้เห็นพระการุณย์ คุณธรรม การร่วมทุกข์ร่วมสุขระหว่างองค์ประมุขกับประชาราษฏร์ จากกษัตริย์ก่อนเก่าให้ฉีเซวียนอ๋วงฟัง)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงถามว่า "ทุกคนขอให้เรารื้อถอนพระราชวังหมิงถัง ที่อดีตกษัตริย์ราชวงศ์โจว ใช้ประชุมเจ้าเมืองหัวเมืองน้อยใหญ่ ในโอกาสเสด็จประพาสตรวจงาน จะรื้อถอนหรือไม่ อย่างไรจึงจะถูกต้อง" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "พระราชฐานหมิงถัง เป็นพระราชฐานที่อดีตกษัตรย์ทรงสร้างขึ้นเพื่อคุณประโยชน์ หากอ่องท่านจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม ก็อย่าได้รื้อถอนเลย" อ๋องว่า "การปกครองแผ่นดินโดยธรรม จะต่องดำเนินการอย่างไร จะว่าให้เราฟังได้หรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ครั้งนั้นที่กษัตริย์โจวเหวินอ๋วง บริหารเมืองฉีซันนั้น เก็บภาษีจากชาวนาที่นั่น เป็นข้าวเพียงหนึ่งส่วนในสิบส่วน สำหรับข้าราชฯนั้น มีบำนาญ ด่านค้าขาย ตรวจสอบแต่โจรภัย ไม่ตรวจเก็บภาษี หนองน้ำตามเขื่อนดินธรรมชาติ ไม่หวงห้ามชาวบ้านจับสัตว์น้ำ นักโทษให้รับโทษตามความผิดเฉพาะตน ไม่โยงใยไปถึงลูกเมีย (เช่นการฆ่าล้างโคตร) ชายสูงวัยไม่มีภรรยา เรียกว่า กวนฟู หญิงสูงวัยไม่มีสามี เรียกว่า กว่าฟู่ ชราวัยไม่มีลูก เรียกว่า ตู๋เซิน เยาว์วัยกำพร้าพ่อแม่ เรียกว่า กูเอ๋อ ทั้งสี่สถานนี้ ทุกข์ระทมนัก ยากจะบอกกล่าวแก่ใคร อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงโปรดประกาศ "บุญทานบัญญัติ" "ดำเนินการปกครองด้วยการุณย์คุณธรรม" จะต้องคุ้มครองคนสี่สถานนี้ก่อนอื่นใด ในคัมภีร์ได้จารึกไว้ว่า "มีชีวิตอยู่ได้ (ไม่ขัดสน) คือ คนมั่งมี" (เข่ออี่ฟู่เหยิน) "น่าสงสารที่สุด คือ โดดเดี่ยวกำพร้าไม่มีที่พึ่งพิง" (ไอฉื่อฉยงตู๋) พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงชื่นชอบตอบรับว่า "คำพูดเหล่านี้ช่างดีแท้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ถ้าอ๋องท่านเห็นด้วยต่อการนี้ ไฉนไม่ปฏิบัติเล่า" อ๋องว่า "เรามีข้อบกพร่องด้วยใฝ่ใจอยากใคร่ในสินทรัพย์" (โลภ ตระหนี่) ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กาลก่อนฮ่องเต้กงหลิว ต้นราชวงศ์โจวก็อยากใคร่ในสินทรัพย์ ประวัติจารึกไว้ในคัมภีร์ซือจิง บทต้าอย่ากงหลิว ว่า"ด้านโน้นก็สะสม ทับถมกองพะเนิน ด้านนี้ก็แน่น โกดังโรงเก็บ ยังมีเสบียงกรังที่บรรจุพร้อมในหีบห่อต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วน ล้วนเตรียมการไว้เพื่อรวบรวมบำรุงประชาราษฏร์ เพื่อศักดิ์ศรี สถานภาพของบ้านเมือง ยังมีเครื่องเกราะ เกาทัณฑ์ หอกดาบ มีดขวาน ก็เตรียมการเรียงรายไว้เป็นระเบียบ พร้อมสรรพแล้วจึงออกเดินทางอพยพไปตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองใหม่ที่ปิน ฉะนั้น ผู้ปกครองหากยินดีสะสมเสบียงอาหารเต็มที่ จากนั้นจึงออกเดินทางอพยบเช่นเดียวกับกงหลิว บรรพกษัตริย์ต้นราชวงศ์โจว ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาราษฏร์ ความยินดีต่อทรัพย์สินร่วมกับประชาราษฏร์ มีอะไรที่ผิดต่อความเป็นอ๋องหรือ" อ๋องว่า "เรายังมีข้อบกพร่องอีกที่ใฝ่ใจในหญิงงาม" ปราชญ์ว่า "กาลก่อน กษัตริย์โจวไท่อ๋วง(บรรพชนของอริยกษัตริย์เหวินอ๋วง) ฝักใฝ่ในหญิงงาม โปรดปรานนางสนม ซึ่งมีเรื่องจารึกไว้ ใน "คัมภีร์กวีธรรมซือจิง" ว่า "บรรพกษัตริย์โจว กู่กงตั้นฟู่ (โจวไท่อ๋วง) ถูกชนเผ่าเหนือรังแกบีบเค้น เพื่อการหลีกเลี่ยงลี้ภัย เช้าวันรุ่งขึ้น จึงขี่ม้าออกเดินทางนำทหารติดตามเลียบแม่น้ำซีเหอ จากนั้นได้มาดูบ้านพักแรมพร้อมกับสนมเจียง" สมัยนั้น ในบ้านไม่มี "หญิงสาวตกค้าง" นอกบ้านไม่มี "ชายโสดโดดเดี่ยว" หากอ๋องใฝ่ใจในหญิงงาม ให้เหมือยสมัยไท่อ๋วง ที่ชาวบ้านต่างมีคู่ครองทั่วหน้า เช่นนี้ การครองแผ่นดินโดยธรรม ยังจะมีอะไรยากหรือ" (บทนี้ ท่านปราชญ์เมิ่งจื่ออนุโลมฉีเซวียนอ๋วงในเรื่องใฝ่ใจในหญิงงาม เพื่อจะเดินเรื่องปกครองโดยธรรมให้สำเร็จ)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวต่อไปว่า "หากสมมุติว่า ขุนนางของอ๋องท่านได้ฝากภรรยาไว้ในความดูแลของเพื่องสนิท ตนเองต้องเดินทางไปเมืองฉู่ พอกลับมาได้พบว่า ภรรยาของตนถูกทอดทิ้งอยู่กับความหิวหนาว เพื่อนอย่างนี้ควรจะทำอย่างไรกับเขา" อ๋องว่า "ตัดขาดกัน" ปราชญ์เมิ่งจื่อสมมุติอีกว่า "หากผู้บังคับการในลหุฯ ไม่อาจควบคุมจำกัดลูกน้องของตนได้เล่า ควรทำอย่างไร" อ๋องตอบว่า "ไล่ออกจากงาน" ปราชญ์เมิ่งจื่อสมมุติอีกว่า "หากประมุขของบ้านเมือง ไม่อาจควบคุมความสงบภายในเขตบ้านเมืองรอบด้านได้เล่า ควรจัดการอย่างไร" อ๋องเหลียวดูขุนนางซ้ายขวา หาคำตอบไม่ได้ แล้วเฉไฉพูดเรื่องอื่นไป (บทนี้ ปราชญ์เมิ่งจื่อยกตัวอย่างเพื่อให้อ๋องตื่นใจ ได้ข้อคิดพิจารณาตน) อีกครั้งหนึ่ง ที่ปราชญ์เมิ่งจื่อได้พบกับฉีเซวียนอ๋วง กล่าวว่า "อันบ้านเมืองเก่าแก่นั้น มิใช่เห็นได้ด้วยต้นไม่เก่าแก่ยืนต้นเต็มบ้านเมือง แต่เห็นได้จากขุนนางเก่าแก่จงรักภักดีมาหลายชั่วคน ขณะนี้ อ๋องท่านไม่มีแม้แต่ขุนนางที่สนิท ที่เพิ่งแต่งตั้งเมือ่วันก่อน วันนี้ก็ยังมิรู้ว่า จะยั่งยืนหรือไม่เพียงไร" อ๋องว่า "ถ้าเช่นนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะดูออกว่านั่นไม่ใช่คนที่มีคุณสมบัติ จะได้เพิกถอนเสีย" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กษัตริย์จะคัดขุนนางเข้าวังถ้าจำเป็นจะต้องยกย่องผู้อยู่ตำแหน่งล่างให้สูงขึ้นกว่าคนที่อยู่เหนือกว่า ยกย่องขุนนางที่อยู่ห่าง ให้ขึ้นมาใกล้ชิดกว่าคนสนิทที่มีอยู่ก่อน การนี้ จะไม่รอบคอบระมัดระวังไม่ได้ หากบุคคลผู้รับการยกย่องนั้น ขุนนางซ้ายขวาต่างชื่นชมว่าดีเช่นนี้ ก็ยังรับไม่ได้ หากขุนนางทั้งหมดล้วนว่าดี ก็ยังเชื่อไม่ได้ แต่ถ้าชาวเมืองทั้งหมดชมว่าดี อย่างนี้สมควรที่จะพิจารณา เมื่อเห็นเป็นเมธีแท้ จากนั้นจึงแต่งตั้ง คนซ้ายขวาล้วนว่าใช้ไม่ได้ อย่าได้เชื่อความ แต่คนทั้งบ้านเมืองล้วน
ว่าใช้ไม่ได้ จึงพิจารณา เมื่อเห็นว่าใช้ไม่ได้จริง จากนั้นจึงปลดไป หากคนซ้ายขวาว่าประหารได้ อย่าฟัง ขุนนางทั้งหมดล้วนว่าประหารได้ อย่าฟัง คนทั้งบ้านเมืองว่าประหารได้ จึงพิจารณา เมื่อเห็นว่าประหารได้จึงประหาร จึงกล่าวได้ว่า "เป็นโทษประหารจากมติของคนทั้งบ้านเมือง" ทำดังนี้ได้ จึงเป็นพระบิดาแห่งประชาราษฏร์" พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ถามอีกว่า "กษัตริย์ซังถัง เนรเทศกษัตริย์เซี่ยเจี๋ย (ทรราช) กษัตริย์อู่อ๋วงยกทัพปราบกษัตริย์โจ้วอ๋วง (ทรราช) เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "มีประวัติจารึกไว้" ถามอีกว่า "ถ้าเช่นนั้น ขุนนางล้มล้างปลงพระชนม์กษัตริย์ได้หรือ" ตอบว่า "คนที่ทำลายกรุณาธรรม เรียกว่า "ปล้น" (เจ๋ย) คนที่ทำลายหลักมโนธรรม เรียกว่า "โหด" (ฉัน) คนที่ปล้นฆ่ากรุณามโนธรรม เรียกว่า "ทรชน คนโฉด" (ตู๋ฟู) ข้าพเจ้าได้ยินแต่ว่า กษัตริย์โจวอู่อ๋วงนั้น ได้ล้มล้างทรชนคนหนึ่งนามว่าโจ้ว ไม่ได้ยินว่า กษัตริย์โจวอู่อ๋วงปลงพระชนม์กษัตริย์เลย"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ท่านปราชญืเมิ่งจื่อพบกับฉีเซวียนอ๋วง กล่าวว่า "เมื่อจะสร้างพระราชฐานใหม่ จะต้องให้ช่างหาต้นไม้ขนาดใหญ่ เมื่อช่างได้ต้นไม้ขนาดใหญ่มา อ๋องก็จะดีใจมาก คิดว่าช่างคนนี้รับผิดชอบต่อหน้าที่ดีนัก เมื่อช่างไม้จัดการถากไม้ ตัดแต่งให้ได้ตามสัดส่วนที่ต้องการ อ๋องกลับพิโรธ เมื่อเห็นไม้ใหญ่กลายเป็นไม้เล็ก คิดว่าช่างนี้ทำหน้าที่ไม่ได้เสียแล้ว คนทั่วไปเรียนรู้การช่างตั้งแต่เด็ก ล้วนหวังว่าเมื่อวัยฉกรรจ์จะได้แสดงฝีมือเต็มที่ แต่หากอ๋องบอกแก่เขาว่า "หยุดความคิดของเจ้าได้แล้ว จงทำตามที่เราจะบอกให้สร้าง" ถ้าเป็นเช่นนี้ อ๋องท่านลองประมาณการสิว่า พระราชฐานหลังนั้นจะงดงามหรือไม่ สมมุติอีกว่า ขณะนี้ มีหินหยกที่ยังไม่ได้เจียระไนก้อนหนึ่ง แม้ค่าของหยกจะมหาศาล แต่จะต้องผ่านการ แกะ สกัด เจียระไน จากช่างหยก จึงจะเป็นเครื่องหยกล้ำค่าได้ สำหรับการปกครองบ้านเมืองก้เช่นกัน หากพูดว่า "ท่านจงหยุดพูดถึงหลักธรรมที่เรียนมาจากอริยปราชญ์เสียก่อนเถิด แต่จงทำตามความคิดของเรา ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน" หากเป็นเช่นนี้ ก็จะต่างอะไรกับการสอนให้ช่างหยกตกแต่งหินหยกตามใจตนซึ่งเป็นผู้ไม่รู้เล่า" เมืองฉียกทัพไปตีเมืองเอียน ได้ชัยชนะ ฉีเซวียนอ๋วงถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "มีคนเสนอความเห็นว่า เราอย่าได้ยึดครองแผ่นดินเอียน แต่บ้างก็เสนอให้ยึดครอง เมืองฉีที่มีหมื่นคันรถม้าศึก ยกทัพไปรบรากับเมืองเอียนที่มีหมื่นคันรถม้าศึก ใช้เวลาเพียงห้าสิบวัน ก็ได้ชัยชนะ ถ้าเพียงใช้กำลังคน (ทหาร) คงไม่เร็วได้เพียงนี้ ชนะศึกแล้วไม่ยึดครองแผ่นดิน เกรงฟ้าจะบันดาลโทษภัย... เราว่า ยึดครองเสียจะดีหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "หากยึดครองแล้วชาวเมืองเอียนยินดีปรีดา ก็จงยึดครองเถิด กษัตรย์ก่อนเก่าก็เคยปฏิบัติมา เช่นกษัตริย์อู่อ๋วง ที่ปราบปรามทรราชโจ้วนั่นเอง หากยึดครองแผ่นดินแล้ว ชาวเมืองเอียนไม่พอใจ ก็อย่าได่ยึดครอง ซึ่งกษัตริย์ก่อนเก่าก็เคยปฏิบัติมา คือ กษัตริย์เหวินอ๋วง การใช้รถม้าศึกหนึ่งหมื่นคัน ปราบปรามบ้านเมืองที่มีรถม้าศึกหนึ่งหมื่นคันเสมอกัน เมื่อได้รับชัยชนะ ประชาชนฝ่ายผู้แพ้จะนำข้าวใส่กระบอกไม้ใผ่ นำจอกใส่เหล้ามาต้อนรับกองทัพผู้ชนะจะด้วยสาเหตุใดอีกเล่า ทั้งนี้ก็คือ อยากพ้นจากปกครองที่ " น้ำลึก ไฟร้อน " แต่ก่อนมา (สุ่ยเซินหั่วเย่อ) อยากจะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมที่ต้องทนรับสภาพเท่านั้นเอง" (บทนี้ ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อให้ข้อคิดว่า ยกทัพปราบปรามยึดครองแผ่นดิน จะต้องไม่ฝืนใจชาวประชา จึงจะสอดคล้องต่อพระประสงค์ฟ้าเบื้องบน) เมืองฉียกทัพปราบศึกเมืองเอียน ยึดครองแผ่นดิน เจ้าเมืองหัวเมืองน้อยใหญ่รวมใจกัน จะกอบกู้เมืองเอียนกลับคืนมา ฉีเซวียนอ๋วงถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เจ้าเมืองน้อยใหญ่รวมใจ จะยกทัพจับศึกต่อเรา จะทำอย่างไรดี" ตอบว่า "ข้าฯ ได้ยินมาว่า มีพื้นที่โดยรอบเพียงเจ็ดสิบลี้ ก็เป็นอ๋องปกครองบ้านเมืองได้แล้ว นั่นคือ กษัตริยฺซังทังผู้ทรงธรรม ข้าฯ ไม่เคยได้ยินว่า บ้านเมืองที่มีพื้นที่กว้างใหญ่โดยรอบถึงหนึ่งพันลี้ ต้องตกอยู่ในภาวะระแวงภัย" ในหนังสือซั่งซู จารึกไว้ว่า "ครั้งแรกที่กษัตริย์ซังทังยาตราทัพ เริ่มจากเมืองเก่อ ผู้คนทั่วหล้าฟ้ากว้างต่างเชื่อว่า กษัตริย์ซังทังยกทัพจับศึก ก็เพื่อจะปลดปล่อยชาวบ้านชาวเมืองที่ถูกกดขี่ข่มเหง ดังนั้น หากกษัตริยฺซังทังยาตราทัพไปทางตะวันออก ชาวเมืองอี๋ทางทิศตะวันตกก็จะน้อยใจ หากยาตราทัพไปทางใต้ ชาวเหนือก็น้อยใจ ต่างกล่าวกันว่า "ไฉนให้เราลำดับหลัง" ประชาราษฏร์ทุกบ้านเมือง รอคอยการปกครองโดยธรรมจากกษัตริย์ซังทัง ไม่ต่างคอยเมฆฝนจากหน้าแล้ง ไม่ต่างจากทุกเช้าคอยรุ้งกินน้ำให้ฝนฉะนั้น ทุกหนแห่งที่กองทัพของกษัตริย์ซังทังไปถึง คนซื้อขายในตลาดยังคงซื้อขายไปตามปกติ ไม่วิตกกังวล หยุดชะงัก ชาวไร่ชาวนายังคงก้มหน้าคราดไถต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กองทัพจับทรราชสำเร็จโทษ ให้ประโยชน์ปลอบขวัญชาวบ้านชาวเมือง เหมือนฝนอมฤตชโลมลง ประชาชนต่างยินดีปรีดา ดังได้จารึกไว้ในหนังสือซั่งซูว่า "รอคอยกษัตริย์ผู้ทรงธรรมของเรามาถึง จากนั้น พวกเราก็จะได้ฟื้นคืนชีพ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
วันนี้ อ๋องแห่งเมืองเอียน ขูดรีดประชาชน อ๋องท่าน (ฉี) ยาตราทัพเข้าไป ชาวประชาเข้าใจว่า ทั้งนี้ เพื่อการกอบกู้พวกเขาให้พ้นจากสภาพน้ำลึกไฟร้อน (สุ่ยเซินหั่วเย่อ) จึงต่างนำกระบอกข้าว จอกเหล้า มาต้อนรับกองทัพของอ๋องท่าน แต่หากทำการฆ่าพ่อฆ่าพี่ของเขา มัดตัวลูกหลานของเขา ทำลายศาลบรรพชน ขนข้าวของมีค่าของเขาไป ทำให้พวกเขาผิดหวัง ดังนี้จะได้หรือ ทั่วหล้าจะขยาดเมืองฉี อีกทั้งบัดนี้ เมืองฉีได้แผ่นดินจากการยึดครองไปอีกหนึ่งเท่าตัว แต่ไม่ครองแผ่นดินโดยธรรม ไม่บริหารบ้านเมืองโดยการุณย์ เห็นได้ชัดเจนว่า หาศึกทั่วหล้ามาประชิดตน อ๋องท่านรีบมีพระบัญชาเถิด รีบปล่อยเฉลยศึก ทั้งผู้เยาว์ เฒ่าชรา หยุดการโยกย้ายกอบโกยของมีค่า รีบปรึกษาหารือขอความเห็นจากชาวเมืองเอียน แต่งตั้งประมุขคนใหม่ให้เรืองรุ่ง จากนั้นถอนทัพกลับออกมา ยังจะแก้ไขเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่เมืองฉีของอ๋องท่านได้ เมืองโจว กับ เมืองหลู่ พิพาทบาดหมางกัน พระเจ้าโจวมู่กง ถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ขุนนางปกครองท้องถิ่นของเรา สู้รบตายไปสามสิบสามคน ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีที่จะทะยานตนเข้าช่วยเหลือสักคน การนี้ หากเอาโทษชาวบ้าน จัดการประหารเสียก็มากมาย ประหารได้ไม่หมด แต่หากไม่ประหารก้เท่ากับยอมรับการเฉยเมยมองดูผู้ปกครองท้องถิ่นถูกฆ่าตายของพวกเขา เราจะจัดการอย่างไรดี" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ปีฝนแล้งไร่นาล่ม ประชาชนของอ๋องท่านทั้งผู้เยาว์ เฒ่าชรา อ่อนกำลังต่างอดตาย ศพมากมายเหล่านี้ถูกนำไปทิ้งลงหลุมในหุบเขา คนที่ยังแข็งแรงก็กระจัดกระจายไปตายเอาดาบหน้า คนเหล่านี้มีจำนวนหลายพัน... ...แต่ในยุ้งฉางของอ๋องท่านนั้น กักตุนข้าวเปลือกไว้เต็มเพียบ ท้องพระคลังก็มั่งคั่งมากล้น ขุนนางผู้ปกครองท้องถิ่นต่างเพิกเฉย ไม่กราบทูลความทุกข์ยากของประชาชน ให้ทรงทราบ เช่นนี้คือ ลบหลู่เบื้องสูง ดูดายเบื้องต่ำ ลบหลู่กับดูดายเช่นนี้ ท่านปราชญ์เจิงจื่อเคยกล่าวไว้ว่า "ทำการใด ๆ ให้รอบคอบระวังตั้งใจหนอ ระวังตั้งใจหนอเรื่องร้ายที่ออกไป (เกิด) จากตัวท่าน จะต้องสนองตอบแก่ตัวท่านหนอ" นั่นก็คือ ชาวบ้านจะต้องเสียหายจากการดูดายของขุนนางผู้ปกครองอยู่ทุกวัน สุดท้าย ขุนนางเหล่านั้น ย่อมต้องได้รับผลนั้นตอบสนอง ฉะนั้น อ๋องท่านมิพึงกล่าวโทษชาวบ้าน ขอเพียงดำเนินการปกครองด้วยการุณย์ธรรม ชาวบ้านทุกคนก็จะชิดใกล้ ยอมตายเพื่อขุนนางปกครอง" พระเจ้าเถิงเหวินกง เรียนถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เถิงของเราเป็นเมืองเล็ก อีกทั้งถูกขนาบสองข้างด้วยฉีกับฉู่เมืองใหญ่ เราควรจะสวามิภักดิ์กับเมืองใด" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า " แผนรับมือนี้ มิใช่ข้า ฯจะคิดให้รอบคอบได้ (ใจคนหยั่งยาก) หากจำเป็น มีทางเดียวคือ ขุดคูล้อมเมือง สร้างกำแพงป้องกันโดยรอบ ประชาชนอยู่ภายใน ให้ร่วมใจรักษาเมือง ไม่ทิ้งไปทำเช่นนี้จะดีกว่า (บทนี้ ปราชญ์เมิ่งจื่อสอนให้ยืนหยัดด้วยตน "พึง" อาจล้ม)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๑. บทเหลียงฮุ่ยอ๋วง ตอนท้าย
ถามอีกว่า "เมืองฉีกำลังจะสร้างปร้อมปราการเขตเมืองเซวีย ที่ฉียึดครองมาได้ เมืองเซวียอยู่ติดชายแดนเมืองเถิงของเรา ทำให้ประวั่นนัก จะทำอย่างไรดี" ตอบว่า "ครั้งกระโน้น กษัตริย์โจวไท่อ๋วง (ต้นตระกูลราชวงศ์โจว) ตั้งเมืองอยู่ที่ปิน ถูกชนเผ่าชาวเหนือ รุกรานทำร้ายอยู่เนือง ๆ สุดท้ายต้องทิ้งเมืองปินไปอยู่เชิงเขาฉีซัน โจวไท่อ๋วง มิใช่จงใจจะเลือกใช้สถานที่ใหม่แห่งนี้ แต่เป็นเพราะจำใจ แต่หากสร้างคุณความดีมีกรุณาธรรม ลูกหลานภายหน้าก็จะได้ปกครองแผ่นดินสืบสานงานใหญ่ต่อไป นั่นคือ ฟ้าลิขิตให้ตรงต่อจิตดีงาม ขณะนี้ อ๋องท่านจะทำอะไรได้กับเมืองฉี มีแต่ปกครองแผ่นดินโดยธรรมเท่านั้น ให้ลูกหลานได้สืบสานต่อไป" เถิงเหวินกงถามอีกว่า "เถิงของเราเป็นเมืองเล็กนัก พยายามเอาใจพวกเมืองใหญ่ แต่ยังไม่วายถูกรุกราน จะรับมืออย่างไรดี" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "แต่ก่อน โจวไท่อ๋วงตั้งเมืองอยู่ที่ปิน ถูกชนเผ่าเหนือรุกรานเป็นประจำ โจวไท่อ๋วงส่งเครื่องบรรณาการเป็นประจำ เช่น หนังสัตว์ แพรพรรณ ไปแสดงความสวามิภักดิ์ การรุกรานยังคงมีมาไม่ขาด จึงส่งสุนัขพันธุ์ดีและม้าไปให้ การรุกรานของชนเผ่าเหนือยังคงไม่หยุดยั้ง แม้แต่บรรณาการด้วยหยก ด้วยอัญมณีล้ำค่า ก็ไม่อาจยับยั้งได้ สุดท้าย โจวไท่อ๋วงจึงเรียกประชุมผู้ใหญ่ทั้งหลาย ประกาศให้เห็นจริงว่า "สิ่งที่ชนเผ่าเหนือต้องการนั้น มันคือแผ่นดินโจวของเรา" กษัตริย์โจวไท่อ๋วง กล่าวต่อผู้ใหย๋ที่ทรงคุณวุฒิทั้งหลายต่อไปว่า "เราได้ยินมาว่า กัลยาณชนประมุขผู้ทรงธรรม จะไม่ทำให้ชีวิตคนต้องเสียหาย เพื่อที่จะเลี้ยงดูผู้คน (แย่งชิงดินแดนจนต้องเข่นฆ่ากัน) ท่านทั้งหลายไม่ต้องห่วงใยว่าจะไม่มีประมุข เราจะย้ายถิ่นฐาน" ในที่สุด โจวไท่อ๋วงไปจากเมืองปิน เดินทางข้ามเขาเหลียงซัน ไปสร้างเมืองใหญ่ที่เชิงเขาฉีซัน ชาวเมืองปินที่อยู่ร่วมกันมา ต่างกล่าวว่า "โจวไท่อ๋วงทรงมีกรุณาธรรมยิ่งนัก เราจะผิดไปจากการปกครองของพระองค์ไม่ได้" ฝูงชนที่ติดตามโจวไท่อ๋วง อพยบเดินเบียดเสียดเป็นขบวนยาวเหมือนคนซื้อขายกันในตลาด แต่มีคนกล่าวว่า "แผ่นดินผืนนี้ที่อยู่มา น่าจะรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานสืบต่อไป ไม่ใช่ว่าปู่ย่ารักษามาแล้ว เราก็จะทิ้งไป เราจะยอมสู้ตายกับผู้รุกราน จะไม่ยอมไปจากที่นี่ วิธีการทั้งสองแล้วแต่อ๋องท่านจะเลือกสรร" (บทนี้ปราชญ์เมิ่งจื่อชี้ให้เห็นหลักเหตุผล ของการรุกและรับ) พระเจ้าหลู่ผิงกง กำลังจะออกจากพระราชฐาน ขณะนั้น ขุนนางคนสนิทชื่อว่า จังชัง ทูลถามว่า "ทุกครั้งที่จะออกจากวัง ฝ่าบาทจะบอกกล่าวเจ้าหน้าที่รักษาการ ให้รู้รายละเอียดของการเสด็จไป แต่วันนี้ รถม้าเตรียมพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่กลับไม่มีใครทราบเลย ได้โปรด..." หลู่ผิงกงตอบว่า "จะไปพบปราชญ์เมิ่งจื่อ" คนสนิทว่า "เหตุใดฝ่าบาทจึงลดองค์ลงยกย่องสามัญชนเช่นนั้น หรือสำคัญผิดว่า เขาคือเมธีผู้มีคุณธรรม เมธีจะต้องแสดงจริยมโนธรรมจากการกระทำของตน แต่ในภายหลัง เมิ่งจื่อจัดงานศพให้มารดาสูงส่งกว่างานศพของบิดาก่อนหน้านั้น เท่ากับดูเบาบิดาตน ฝ่าบาทไม่น่าลดองค์ลงไปหา" หลู่ผิงกงตอบว่า "ใช่" เอวี้ยเจิ้งจื่อ (ศิษย์เมิ่งจื่อ เป็นขุนนางเมืองหลู่) เห็นหลู่ผิงกงเปลี่ยนใจจึงว่า "ไฉนฝ่าบาทจึงไม่ไปพบท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ" หลู่ผิงกงตอบว่า "มีคนบอกเราว่า เมิ่งจื่อจัดงานศพมารดาในภายหลังสูงส่งกว่าบิดาในครั้งก่อน ดูอย่างกับเมธีที่ไม่รู้จริยมโนธรรม จึงไม่ไปพบ" เอวี้ยเจิ้งจื่อว่า "ที่ว่าสูงกว่านั้น หรือเป็นเพราะในครั้งก่อน ครูปราชญ์ยังเป็นนักศึกษา แต่ครั้งหลังเป็นขุนนาง เป็นเพราะครั้งก่อน ใช้เครื่องเซ่นไหว้ระดับสาม ครั้งหลังใช้ระดับห้าตามสถานภาพ" หลู่ผิงกงว่า "มิใช่เหตุนี้ แต่เป็นเพราะครั้งหลังนี้ การตกแต่ง เสื้อผ้า โลงศพหรูหรากว่าครั้งก่อนมาก" เอวี้ยเจิ้งจื่อว่า "ดังนี้มิใช่เจตนาจัดงานเหลี่ยมล้ำ แต่เป็นเพราะฐานะก่อนหลังต่างกัน" เอวี้ยเจิ้งจื่อ มาพบครูปราชญ์เมิ่งจื่อ กล่าวว่า "ศิษย์ได้กล่าวขวัญคุณธรรมแห่งปราชญ์ของครูท่าน จนหลู่ผิงกงจะมาพบครูท่านอยู่แล้ว แต่มีขุนนางคนสนิทชื่อจังซัง ยับยั้งไว้ ทำให้หลู่ผิงกงไม่อาจมาได้ตามพระประสงค์เดิม" ครูปราชญ์ว่า "คน ดำเนินการย่อมมีผู้ยับยั้ง ธรรมะ จะดำเนินการหรือไม่ มิใช่ใครจะบงการได้ ที่ครูกับหลู่ผิงกงไม่ได้พบกัน นั่นเป็นเจตนาของฟ้าเบื้องบน จังซังคนนี้ จะยับยั้งให้เราไม่ได้พบกันได้หรือ" (บทนี้ ปราชญ์เมิ่งจื่อแสดงความแห่งบุญวาระอันเกี่ยวข้องกับชะตากรรมของบ้านเมืองที่เป็นไปตามพระโองการฟ้า)
จบบทเหลียงฮุ่ยอ๋วงตอนท้าย
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
กงซุนโฉ่ว ศิษย์ของครูปราชญ์เมิ่งจื่อ ขุนนางเมืองฉี เรียนถามครูปราชญ์ว่า "สมมุติว่า ครูท่านกุมอำนาจใหญ่ทางการปกครองบ้านเมืองฉี การกระทำของสองอภิขุนนาง คือ ก่วนจ้ง กับ เอี้ยนจื่อ จะปรากฏใช้ได้อีกหรือไม่" ครูปราชญ์เมิ่งจื่อตอบแก่ศิษย์ว่า "ศิษย์ช่างเป็นคนของเมืองฉีนัก รู้จักแต่ก่วนจ้ง กับเอี้ยนจื่อ (ไม่รู้จักปราชญ์เมธี)" แต่ก่อน มีคนถามเจิงซี หลานชายของท่านปราชญ์เจิงจื่อ (ศิษย์เมธีของท่านบรมขงจื่อ) ว่า "ระหว่างท่านกับจื่อลู่ (ศิษย์เมธีของท่านบรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ) ผู้ใดจะสามารถปราดเปรื่องกว่ากัน" เจิงซี (ซึ่งเป็นรุ่นหลาน) อกสั่นขวัญหายไม่สบายใจ ตอบไปว่า " ท่านปราชญ์จื่อลู่เป็นผู้ที่บรรพชนเราเคารพยำเกรง เราจะบังอาจเปรียบกับท่านได้อย่างไร" ผู้นั้นถามอีกว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านเปรียบกับอภิขุนนางก่วนจ้งล่ะ ใครจะสามารถปราดเปรื่องกว่ากัน" เจิงซีได้ยินคำถามนี้เกิดโทสะทันทีตอบว่า "ทำไมท่านจึงเอาเราไปเปรียบกับก่วนจ้งอีก ก่วนจ้งเป็นขุนนางที่ฮ่องเต้โปรดปราณไว้วางใจ การกระทำของเขาล้วนใช้อภิสิทธิ์ คิดเองตัดสินใจเอง หากพูดถึงบริหารบ้านเมือง ถือว่าเขาทำมานาน แต่หากพูดถึงผลงาน สิ่งที่เขาทำล้วนต่ำช้าสามานย์ ทำไมท่านจึงเอาเราไปเปรียบกับก่วนจ้งคนพรรค์นั้น" ครูปราชญเมิ่งจื่อยกตัวอย่างเรื่องนี้ให้ศิษย์กงซุนโฉ่วฟัง เพื่อจะบอกว่า ความประพฤติกับการกระทำของอภิขุนนางก่วนจ้ง แม่แต่เจิงซียังไม่อยากเห็นดีด้วยเลย ศิษย์คิดว่าครูจะเห็นดีด้วยหรือ ศิษย์กงซุนโฉ่วกล่าวอีกว่า "ก่วนจ้งทำให้ฮ่องเต้เขาเป็นจักรพรรดิ์ผู้พิชิต ส่วนเอี้ยนจื่อทำให้อำนาจของฮ่องเต้โด่งดังน่าคร้ามไปทั่ว ความดีความชอบของทั้งสอง ยังไม่เพียงพอที่จะทำตามอีกหรือ" ครูปราชญ์ตอบว่า "ความยิ่งใหญ่ของเมืองฉีขณะนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ขุนนางชั่วช่วยเสริม หากเปลี่ยนเป็นปกครองโดยธรรม จะง่ายดั่งพลิก ศิษย์กงซุนโฉ่วยังคงสงสัย เรียนถามต่อไปว่า "ถ้าอย่างนี้ ศิษย์ยิ่งไม่เข้าใจ เหตุใดคุณธรรมของกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง ซึ่งมีพระชนม์ยืนยาวเกือบร้อย (เก้าสิบเจ็ดปี) ยังไม่อาจปรกแผ่กรุณาบารมีไปทั่วหล้าได้ จนถึงรัชสมัยอู่อ๋วงราชบุตรกับปู่เจ้าโจวกงสืบต่อ จึงได้สำเร็จการปกครองโดยกรุณาธรรม ดู "ง่ายอย่างกับพลิกฝ่ามือ" ถ้าเช่นนั้น วิธีการของเหวินอ๋วง ก็เอาหาใช้ไม่ได้น่ะสิ" (้พราะใช้เวลาเกือบชั่วชีวิต ยังไม่สำเร็จได้)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
ครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เหวินอ๋วงจะเทียบอย่างไรได้ เนื่องจากช่วงเวลาที่กษัตริย์ทังราชวงศ์ซัง จะสืบต่อจนถึงอู่ติงนั้น ยังมีกษัตริย์เมธีเกิดขึ้นอีกถึงหกเจ็ดสมัยทั่วหล้าสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ซังมาช้านาน ด้วยเหตุที่เนิ่นนานมาก ฉะนั้น จะปรับเปลี่ยนจึงยากมาก เมื่อกษัตริย์อู่ติงฟื้นฟูความสำพันธ์กับเจ้าเมืองทั่วหน้าด้วยมิตรไมตรีทุกอย่างจึงง่ายดายเหมือนสิ่งอันอยู่กลางใจมือ จึงได้รับความเคารพสนิทใจจากเจ้าเมืองทั้งหลาย ยิ่งกว่านั้น ช่วงที่ทรราชโจ้วอ๋วงก่อการ ยังห่างจากกษัตริย์อู่ติงไม่นาน ลูกหลานขุนนางก่อนเก่ายังยึดถือในคุณงามความดีดั้งเดิมอยู่ อีกทั้งยังมีขุนนางคนดี อาทิ เอว๋ยจื่อ เอว่ยจ้ง หวังจื่อ ปี่กัน จีจื่อ เจียวเก๋อ ล้วนขุนนางศรีเมธีปราชญ์ ช่วยกันบริหารบ้านเมือง ฉะนั้น ภายหลังแม้ทรราชโจ้วอ๋วงจะชั่วร้าย แต่บ้านเมืองก็ยังดำรงอยู่ได้ (เนื่องจากพื้นฐานดีมานาน ลูกหลานขุนนางดี ยังรักษาความดีอยู่ มีเมธีชนช่วยอุ้มชู) ช่วงนั้น แผ่นดินทุกตารางนิ้วถูกทรราชยึดครอง ประชาราษฏร์ทุกคนอยู่ใต้อาณัติของทรราช อีกสาเหตุหนึ่งที่เหวินอ๋วงยังไม่อาจสำเร็จคุณของการปกครองแผ่นดินโดยธรรมได้ เพราะเหวินอ๋วงเริ่มก่อร่างสร้างบ้านเมืองด้วยเนื้อที่โดยรอบเพียงหนึ่งร้อยลี้เท่านั้น กับการจะปกครองแผ่นดินด้วยกรุณาธรรม ดังนั้น ความสำเร็จที่จะเกิดมีได้จึงยากแท้ ชาวเมืองฉีกล่าวกันว่า "แม้ฉลาดปราดเปรื่องนัก มิสู้รู้จักฉวยโอกาส แม้มีเครื่องมือไถคราด มิสู้ลมฟ้าอากาศมาอำนวย" (ซุยโหย่วจื้อฮุ่ย ปู้หยูเฉิงซื่อ ซุยโหย่วจือจี ปู้หยูไต้สือ) บัดนี้ เป็นโอกาสที่จะดำเนินการปกครองบ้านเมืองด้วยกรุณาธรรมอย่างง่ายดายแล้ว ในรัชสมัยเซี่ย ซัง และโจว เป็นยุดเฟื่องฟูที่สุด ที่ดินกรรมสิทธิ์ของแต่ละเจ้าเมือง ยังไม่มีที่จะเกินหนึ่งพันลี้ แต่บัดนี้เมืองฉีกลับครอบครองที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล เสียงไก่ขันสุนัขเห่า ก็ต้อนรับกันไปทั่วถึงชายแดน (เพื่อนบ้านเรียกขานกันไม่ห่าง) เมืองฉีในบัดนี้ มีประชากรมากมาย ที่ดินทำกินก้ไม่ต้องบุกเบิกใหม่อีก ประชาชนก็ไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานเหมือนแต่ก่อน ฉะนั้น จึงถือโอกาสนี้ดำเนินการปกครองด้วยกรุณาธรรม ประกาศตนเป็นอ๋องผู้ทรงธรรมจะไม่มีผู้ใดขัดขวางเป็นแน่ อีกทั้งการไม่ปรากฏอ๋องผู้ทรงธรรม ไม่มีช่วงใดน้อยไปกว่านี้อีกแล้ว ประชาราษฏร์ที่ซูบโทรม ครวญคร่ำ ภายใต้ระบบกดขี่ก็ไม่มีที่เลวร้ายไปกวานี้ คน ขณะหิว จะง่ายต่อการให้อาหาร ขณะกระหาย จะง่ายต่อการให้ดื่ม ท่านบรมครูกล่าวไว้ว่า "เกียรติคุณของการปกครองโดยธรรม แพร่สะบัดรวดเร็วยิ่งกว่าการส่งสาส์น" ยุคนี้ หากบ้านเมืองมีรถม้าศึกหมื่นคัน ยินดีดำเนินธรรมประชาราษฏร์ย่อมยินดีปรีดา ประหนึ่งช่วยพวกเขาให้พ้นทุกข์จากการผู้แขวนห้อยหัวลง ฉะนั้น สิ่งที่ทำ ขอเพียงยอมเหนื่อยแค่ครึ่งเดียวของท่านทั้งหลายในกาลก่อน ผลงานที่เกิดก่อนย่อมทวีคูณกว่าท่านแต่กาลก่อนอย่างแน่แท้ "มีแต่เวลานี้เท่านั้นที่จะปฏิบัติการได้" (บทนี้ ปราชญ์เมิ่งจื่อให้ศิษ์กงซุนโฉ่วพิจารณาโอกาสของการดำเนินธรรม)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
ศิษย์กงซุนโฉ่วเรียนถามครูปราชญ์อีกว่า "หากครูท่านอยู่ในตำแหน่งมุขมนตรีแห่งเมืองฉี ได้ดำเนินการปกครองโดยธรรม จากนั้น ก็ได้เป็นใหญ่เหนือบรรดาเจ้าเมือง ยิ่งกว่านั้น ยังได้เป็นมหาราชา ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ครูท่านจะหวั่นไหวหรือไม่" ครูปราชญ์ตอบว่า "ไม่ เมื่อครูอายุได้สี่สิบ ก็ไม่หวั่นไหวแล้ว" "ถ้าเช่นนั้น ครูท่านก็เหนือกว่าเมิ่งเปินยิ่งนัก" นักรบผู้กล้าของเมืองเอว้ย ไม่เกรงกลัวภยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น) ครูปราชญ์ตอบว่า ทำได้ไม่ยาก ปราชญ์เก้าจื่อ (ศิษย์ของครูเอง) ยังทำใจไม่หวั่นไหวได้ก่อนครู" ศิษย์เรียนถามอีกว่า "ใจไม่หวั่นไหวมีวิธีฝึกหรือไม่" ครูปราชญ์ตอบว่า "มี จะเล่าตัวอย่างคนสองคนให้ฟัง เป่ยกงอิ่ว นักรบผุ้กล้าแห่งเมืองฉี ประคองรักษาความไม่หวั่นไหวด้วยการไม่หดหนีเมื่อเนื้อหนังถูกเข็มทอง ไม่เคลื่อนไหว ดวงตาเหมือนดวงตาถูกเข็มแทง ความคิดของเขา การถูกเหยียบย่ำแม้ขนอ่อนหนึ่งเส้น ก้จะน่าอับอาย เท่ากับถูกตีด่าในท้องพระโรงหรือตลาดนัด เขาจะไม่ยอมให้สามัญชนสบประมาท ไม่ยอมจน แม้ว่าเจ้าเหนือหัวผู้ครอบครองรถม้าศึกถึงหมื่นตัวมาสบประมาท (ไม่หวั่นไหว ใจเข็ง กล้าสู้กล้าเผชิญ) แม้เห็นเจ้าเมืองถูกแทงตาย ก็เห็นเป็นธรรมดา เหมือนคนทั่วไปถูกฆ่า ไม่หวดหวั่นต่ออิทธิพลอ๋องใด หากมีเสียงด่าทอเข้าหู เขาก็จะตอบโต้หยาบคายกลับไปทันที อีกคนหนึ่งชื่อ เมิ่งซือเซ่อ เขามีวิธีการฝึกความกล้าคือ เห็นความพ่ายแพ้เป็นชนะ (ไม่กลัวพ่ายแพ้) แต่จะประมาณกำลังคู่ต่อสู้เสียก่อน เห็นว่าสู้ได้ จึงรุก เห็นว่าชนะจึงประจัญรบ นี่คือไม่ประมาท ด้วยเกรงว่ากำลังศัตรูจะมากกว่าสามกองรบ (กองรบละหนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อย คูณสาม) เขากล่าวว่า มิใช่ว่าข้าฯ เมิ่งซือเซ่อ จะชนะศึกได้ ทุกครั้งเพียงแต่เตรียมใจได้ไม่ให้หวาดหวั่นเท่านั้นเอง" ศิษยฺเรียนถามอีกว่า " เมิ่งซือเซ่อ มีส่วนคล้ายท่านปราชญ์เจิงจื่อ ที่เรียกร้องความถูกต้อง เป็นไปได้จากตนเอง เป่ยกงอิ่ว มีส่วนคล้ายท่านปราชญ์จื่อเซื่ยที่มุ่งชนะ หนักแน่นมั่นคงต่อการรักษาสัตย์สัญญา ถ้าเช่นนั้น ผู้แกร่งกล้าที่ไม่หวั่นไหวทั้งสองนี้ ใครหรือที่ปัญญาปราดเปรื่อง คุณธรรมงามสง่ากว่ากัน" ครูปราชญ์ตอบว่า "เมิ่งซือเซ่อ รักษาความกล้าแกร่งแห่งธรรมได้ดีกว่าเป่ยกงอิ่ว ท่านปราชญ์เจิงจื่อ (ศิษย์บรมครู) เคยกล่าวแก่ศิษย์จื่อเซียงว่า"ศฺิษย์จื่อเซียง เธอใฝ่ฝันมนความกล้ากระนั้นหรือ ครูเอง (เจิงจื่อ) เคยได้ยินท่านบรมครู กล่าวถึงความกล้าอันยิ่งใหญ่มาแล้ว นั่นก็คือ "หากย้อนถามใจตนเอง รู้ว่าเหตุผลของตนไม่ตรงไม่ถูกต้อง แม้คู่กรณีจะเป็นเพียงสามัญชน เราก็จะยอมรับผิด ไม่หวั่นเกรงอัปยศอดสูกระนั้นหรือ หากถามใจตน ตรงต่อหลักธรรมไม่ผิด แม้จะมีผู้ต่อต้านนับหมื่นพัน ก็จะก้าวต่อไปไม่หวั่นกระนั้นหรือ" เห็นเช่นนี้แล้ว การรักษาความกล้าของเมิ่งซือเซ่อ ก้ยังมิอาจเทียบได้กับท่านปราชญ์เจิงจื่อ (เมิ่งซือเซ่อรักษาพลังความกล้าของกาย แต่ปราชญ์เจิงจื่อ ท่านรักษาหลักธรรมความถูกต้อง โดยไม่หวั่นไหวไว้ได้) ศิษย์ (กงซุนโฉ่ว) บังอาจเรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ที่ใจท่านไม่หวั่นไหว กับที่ใจของท่านปราชญ์เก้าจื่อไม่หวั่นไหวนั้น เป็นเช่นไร" ความไม่หวั่นไหวของปราชญ์เก้าจื่อนั้น ท่านกล่าวว่า "เกิดมีคำพูดไม่เหมาะ ไม่ใฝ่ใจครุ่นคิด เกิดมีความคิดไม่เหมาะ เป็นผลให้จิตใจวุ่นวาย สับสน กระวนกระวาย ให้ระงับจิตใจ ไม่อาศัยพลังในกาย แสดงออกด้วยการกระทำ ประการหลังนี้ใช้ได้ แต่ในข้อ "คำพูดไม่เหมาะ ไม่ใฝ่ใจ ครุ่นคิดนั้น" ใช้ไม่ได้ อันความมุ่งมั่นนั้น เป็นตัวเอกของพลังกาย พลังกายประจุอยู่ทั่วตัว เมื่อถึงที่สุดของใจมุ่งมั่น พลังกายจะเป็นตัวรอง จึงกล่าวว่า ดำรงความมุ่งมั่น แต่อย่าได้เสียหายแก่พลัง (ความคิดของท่านปราชญ์เมิ่งจื่อคือ หากไม่ได้คำพูดที่เหมาะที่ควรจากผู้ใด ให้พิจารณาตน) (ความมุ่งมั่นของท่านปราชญ์เมิ่งจื่อคือ สร้างสันติธรรมทั่วหล้า "จึงสู้อุตสา่ห์จาริกกล่อมเกลา แต่คำตอบที่สะท้อนกลับมาล้วนไม่เหมาะต่อการดำเนินสันติธรรม จึงต้องครุ่นคิดพิจารณา หาทางสร้างสรรค์ต่อไป ประโยคสุดท้ายจึงกล่าวว่า " ดำรงความมุ่งมั่น แต่ไม่ให้เสียหายแก่พลัง") เรียนถามต่อไปว่า " ในเมื่อกล่าวว่า "มุ่งมั่นเป็นเอก พลังเป็นรอง" อีกทั้งกล่าวว่า "ดำรงความมุ่งมั่น แต่ไม่ให้เสียหายแก่พลัง" แล้วจะเป็นเช่นไร ครูปราชญ์ว่า "ใครก็ตามที่มุ่งมั่นต่อการหนึ่งก็จะสะเทือนถึงพลังในกาย หากเจาะจงใช้พลังในกายทำการหนึ่งการใด ความมุ่งมั่นก็จะหวั่นไหว" ตัวอย่างเช่น คนหกล้มกับวิ่งเร็ว มันเริ่มจากพลังในกายใช้งาน แต่สุดท้ายผลก้กระทบใจ มันเกี่ยวเนื่องกัน ฉะนั้น เมื่อตั้งความมุ่งมั่นแล้ว ยังจะต้องสงบใจ รักษาพลังไว้ให้ปกติ (มุ่งมั่นแต่อย่าทะยานฮึกเหิม)"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
บังอาจเรียนถามครูปราชญ์ "ความประณีตในการ "ไม่สะเทือนแก่ใจ" มีข้อดีอะไร" ครูปราชญ์ตอบว่า "พูดเท่าที่ครูรู้ ครูประคองหล่อเลี้ยงพลังแกร่งตรงคงมั่นของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้" (หว่อเหนิงหันหย่างต้าจื้อหยันเตอเจิ้งต้ากังจื๋อจือชี่)
บังอาจเรียนถาม "อย่างไรคือ "มหาพลานุภาพ" อันเป็นเช่นนั้นเอง" ครูปราชญ์ว่า "ตอบยาก มหาพลังนี้กว้างไกลไม่ประมาณ แกร่งกล้าไม่ประมาณ ใช้มหาพลานุภาพเที่ยงธรรมนี้ ดำรงเลี้ยงจิตภายในเรื่อยไป อย่าให้เสียหายแก่เขา มหาพลานุภาพนั้น ก็จะประจุเต็มท่ามกลางฟ้าดิน มหาพลานุภาพเที่ยงธรรมนี้ปลูกฝังสร้างสรรค์ บำรุงเลี้ยงด้วยสัจจมโนธรรมประกอบกัน หากปราศจากสัจจมโนธรรมกับสัจจธรรมประกอบกันไว้ มหาพลานุภาพก็จะเหี่ยวแห้งอับเฉา ไม่อาจเติมเต็มเป็นจริง มหาพลานุภาพเที่ยงธรรมนี้ ก่อเกิดเติบโตได้ด้วยสัจจมโนธรรม แต่มิใช่บรรจบพบกับสัจจมโนธรรมโดยบังเอิญ แล้วก็จะรับเอาได้ง่าย ๆ เลย การกระทำ ความประพฤติ มีส่วนไม่เหมาะกับน้ำใจงาม มหาพลานุภาพนั้นก็จะเหี่ยวแห้งอับเฉา ไม่อาจเติมเต็มได้" ครูจึงได้กล่าวว่า "ปราชญ์เก้าจื่อ ยังเข้าไม่ถึงความหมายอันแท้จริงของมหาพลานุภาพ เพราะเขาเข้าใจว่า มหาพลานุภาพนี้ มีได้ด้วยการรับเอาจากภายนอก ซึ่งยังจะต้องรู้อีกว่า มหาพลานุภาพนี้ จะมุ่งกระทำการใดเพื่อให้เกิดมีก็มิได้เพราะจะไม่เที่ยงธรรม ขอเพียงรักษาภาวะจิตสัจจมโนธรรมไว้ไม่ลืม (ดำรงความเป็นเช่นนั้นเอง มีอยู่ เป็นอยู่ ด้วยภาวะของธรรมชาติ) แต่อย่าได้ยึดหมายในความมีอยู่นั้น อีกทั้งอย่าได้หาทางสร้างเสริมเพิ่มพูน ด้วยว่าภาวะของมหาพลานุภาพ เป็นสิ่งซึ่งจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ จึงอย่าได้ทำอยางชาวซ่งคนหนึ่ง กล่าวคือ... ชาวเมืองซ่งคนหนึ่ง ห่วงกังวลว่าข้าวกล้าที่หว่านไว้ไม่เติบใหญ่ จึงช่วยดึงต้นให้สูงขึ้น เขากลับบ้านด้วยความอ่อนล้า บอกแก่ทุกคนในบ้านว่า ฌหนื่อยนัก ฉันได้ช่วยข้าวกล้าสูงขึ้น" (อย้าเหมียวจู้จั่ง).....
บุตรชายรีบวิ่งไปดู ปรากฏว่าข้าวกล้าในนาเหี่ยวเฉาหมดสิ้น
คนในโลกนี้ ที่ไม่ช่วยดึงต้นกล้าให้สูงขึ้นนั้นน้อยนัก (รวบรัดสุกเอาเผากิน) เห็นความประณีต สุขุมลึกล้ำอย่างธรรมชาติ เช่น การสั่งสมมหาพลานุภาพอันเป็นเช่นนั้นเอง ดำรงอยู่เอง เป็นเรื่องเสียเวลาหาประโยชน์มิได้ จึงเท่ากับไม่บำรุงรักษาข้าวกล้า แต่เร่งถอนให้ต้นสูงขึ้น ซึ่งเท่ากับทำลายไป ไม่เกิดผลดี" กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์อีกว่า "อย่างไรจึงจะรู้วาจา" (รู้เจตนาเบื้องหลังของคำพูด) ครูปราชญ์ว่า
"วาจาที่โน้มเอียง ก็จะรู้ว่า เขาถูกผลประโยชน์บดบังใจ
วาจาลามกเสียจรรยา จะรู้ได้ว่า เขาถูกตัณหาราคะครอบงำ
วาจาลื่นไหลไม่เข้าหลักเที่ยงตรง ก็จะรู้ว่า เขาห่างสัจจมโนธรรม
วาจาที่หลีกเลี่ยงวกวน ปฏิเสธปิดบัง นั่นคือ เขากำลังอับจนลำบากใจ
ส่วนใหญ่หนึ่งคำพูดล้วนเกิดจากใจ หากเป็นขุนนางใจเสียหาย จะเสียหายต่องานความรับผิดชอบ จากนั้นสู่คนร่วมงาน สุดท้าย เสียหายต่อการปกครองบ้านเมืองอันเป็นเรื่องใหญ่ หลักเหตุผลนี้ แม้พระอริยะอุบัติมา ก็จะอบรมเช่นเดียวกันนี้ ปราชญ์ไจหว๋อ จื่อก้ง ศิษย์เมธีทั้งสองของท่านบรมครูเป็นผู้มีวาทะศิลป์ดีมาก ปราชญ์หยั่นหนิว หมิ่นจื่อ เอี๋ยนเอวียน (หยั๋นป๋อหนิว หมิ่นจื่อเซียน เอี๋ยนหุย) อรรถาจริยคุณธรรมได้ดีเลิศ (ด้วยท่านเป็นเช่นนั้น) ท่านบรมครูขงจื่อมีความล้ำเลิศทั้งสองประการ แต่ท่านกลับน้อมใจกล่าวว่า "เรายังไม่สามารถใช้ถ้อยคำวาจาดีได้ดังนี้เลย" กงซุนโฉ่วว่า "ครูปราชญ์ (เมิ่งจื่อ) ท่าน "รู้วาจา" ได้ถึงเพียงนี้ (อีกทั้งดำรงเลี้ยงมหาพลานุภาพจิตให้คงอยู่อย่างธรรมชาติได้) ท่านก็คืออริยปราชญ์แล้ว" (ปราชญ์เมิ่งจื่อแดสงความเป็นผู้ "รู้วาจา" เข้าถึงมหาพลานุภาพเที่ยงธรรมแห่งฟ้า" มิใช่โอ้อวด แต่เพียงนำทางและแสดงหลักหลักสัจธรรมแก่ศิษย์กงซุนโฉ่ว ส่วนท่านบรมครูที่กล่าวว่า "เรายังไม่สามารถใช้ถ้อยคำวาจาดีได้ดังนี้เลย" นั้น เป็นการสะท้อนความชื่นชมต่อศิษย์ที่ทำได้ดีแล้ว อีกทั้งเสริมส่งศิษย์ข้างหลังต่อไป มิใช่เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อตน"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
ปราชญืเมิ่งจื่อว่า "โอ กล่าวเช่นนี้ได้อย่างไร ครั้งกระนั้น ปราชญ์จื่อก้ง (ศิษย์บรมครู) ถามท่านบรมครูว่า "ท่านบรมครูเป็นอริยปราชญ์ใช่หรือไม่" บรมครูขงจื่อตอบว่า "อริยะนั้น ครูมิอาจรับ ที่เป็นได้คือ ศึกษาไม่รู้หน่าย สอนให้ไม่รู้หนื่อย" (เสวียเอ๋อปู๋เอี้ยน เจียวเอ๋อปู๋เจวี้ยน)
ศิษย์จื่อก้งว่า "ศึกษาไม่รู้หน่าย คือปัญญาธรรม สอนให้ไม่รู้เหนือย คือ กรุณาธรรม ผู้สูงส่งด้วยกรุณาปัญญาธรรมดังนี้ ก็คืออริยเมธีแล้ว" (เสวียปู๋เจวี๋ยน จื้อเอี่ย เจียวปู๋เจวี่ยน เหยินเอี่ย เหยินเฉี่ยจื้อ ฟูจื่อจี้เซิ่งอี่)
(เมิ่งจื่อ) ดูเถิด ระดับท่านบรมครูขงจื่อ ยังไม่ยอมรับฐานะความเป็นอริยะ แล้วศิษย์กล่าวอะไรออกมา" กงซุนโฉ่วว่า "เคยได้ยินมาว่า ปราชญ์จื่อเซี่ย จื่ออิ๋ว จื่อจาง ล้วนได้เรียนรู้ส่วนหนึ่งของความเป็นอริยะ สำหรับหยั่นหนิว หมินจื่อ กับ เอี๋ยนเอวียนนั้น แม้จะได้เรียนความสมบูรณ์ของอริยะ แต่ยังได้แก่ตนไม่มาก ดังนี้แล้ว ครูท่านเห็นเป็นเช่นไร" ตอบว่า "อย่าเพิ่งพูดถึงท่านเหล่านี้เลย" (กงซุนโฉ่วอยากถามบุคคลที่เป็นแบบอย่างเพื่อเจริญรอยตาม) กงซุนโฉ่วถามอีกว่า "ราชบุตรป๋ออี๋ กับ สัตบุรุษอี๋อิ่นล่ะ เป็นเช่นไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "ท่านต่างจากเราคือ หากมิใช่เจ้าเหนือหัวแห่งตน จะไม่สวามิภักดิ์ หากมิใช่พสกนิกรแห่งตน จะไม่ใช้งาน ขณะบ้านเมืองปกติสุข จะออกมารับราชการ หากบ้านเมืองวุ่นวาย จะลาพักราชการอยู่กับบ้าน นี่คือ จุดหมายของการใช้ชีวิต (รักสันโดษ รักสงบ) ของราชบุตรป๋ออี๋" ส่วนสัตบุรุษอีอิ๋นนั้น จุดหมายของการใช้ชีวิตก็คือ ไม่มีพระราชาบ้านเมืองใดที่จะรับใช้ไม่ได้ ไม่มีชาวเมืองใดที่จะใช้งานไม่ได้ บ้านเมืองปกติสุขก็รับราชการอยู่ บ้านเมืองวุ่นวายก็ยังคงรับราชการอยู่ (อะไรก็ได้ อย่างไรก็ได้) นี่คือ อีอิ่น
สำหรับบรมครูนั้น วาระอันควรรับราชการก็รับ วาระอันควรหยุดพักก็หยุด วาระอันควรยาวนานยั่งยืนก็ยั่งยืนต่อไป วาระอันควรเร่งรีบถอดถอนก็ถอดถอน นี่คือจุดหมายการใช้ชีวิตของท่านบรมครู (ไม่ยึดหมาย ให้พิจารณาการอันควร) ทั้งสามท่านนี้ ล้วนอริยชนคนก่อนเก่า ครูเอง (เมิ่งจื่อ) ยังไม่อาจเลียนอย่างท่านได้ แต่ที่ปรารถนานั้น คือ เจริญเรียนตามท่านบรมครูขงจื่อ" กงซุนโฉ่วถามว่า "ป๋ออี๋ อีอิ่น กับบรมครูขงจื่อ อริยชนระดับเดียวกันกระนั้นหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อ ตอบว่า "มิได้เลย ตั้งแต่มีมนุษยชาติมาจนบัดนี้ ยังไม่มีคุณธรรมความเป็นคนสมบูรณ์แบบที่ยิ่งใหญ่เช่นท่านขงจื่ออีกเลย กงซุนโฉ่วว่า "ถ้าเช่นนั้น ทั้งสามท่านมีอะไรเหมือนกันหรือไม่" ตอบว่า "มี สมมุติหากมีแผ่นดินร้อยลี้ (เล็กมาก) ให้ท่านเป็นกษัตริย์ ท่านสามารถทำให้เจ้าเมืองน้อยใหญ่ทั้งหมดเคารพสยบใจได้ แต่หากจะให้ท่านทำเรื่องผิดต่อมโนธรรมสักเรื่องหนึ่ง หรือสังหารคนไม่มีโทษผิดสักคนหนึ่ง เพื่อให้ได้มหาอำนาจครองโลก ทั้งสามท่านจะไม่ทำเป็นอันขาด นี่คือสิ่งที่เหมือนกัน" กงซุนโฉ่วว่า "ขอบังอาจเรียนถามอีกว่า สิ่งต่างนั้นเช่นไร" ตอบว่า "ปราชญ์ไจหว่อ จื่อก้ง โหย่วยั่ว ทั้งสามท่าน ปัญญาล้วนพร้อมพอต่อการเรียนรู้ได้ในความเป็นอริยะ เชื่อว่าการเรียนรู้ได้และมั่นใจ่ออริยะ จะไม่เกิดจากความคิด จิตลำเอียง หรือเป็นไปตามอารมณ์พอใจยินดีของตนต่อท่านผู้นั้น (ซึ่งเป็นอริยะ) ปราชญ์ไจหว๋อกล่าวว่า "จากการที่ได้พินิจพิจารณาบรมครูขงจื่อ ทุกอย่างที่ท่านทำทุกอย่างที่ท่านเป็น และทุกอย่างที่เป็นท่าน ล้วนเลิศล้ำ งามสง่า ยิ่งกว่าอริยกษัตริน์เหยากับซุ่นอีกมากนัก" ปราชญ์จื่อก้งก็กล่าวว่า " อดีตกษัตริย์แม้ผ่านหายไปามกาลเวลา แต่พิจารณาจากบทบัญญัติจริยประวัติของพระองค์แล้ว ก็จะรู้ได้ว่า การดำเนินการปกครองบ้านเมืองของพระองค์นั้น ดีหรือไม่อย่างไร ฟังลีลาดนตรีที่ท่านประพันธ์ทำนองไว้ ก็จะรู้คุณธรรมความเป็นท่านนั้นเป็นอย่างไร (เจี้ยนฉีหลี่เอ๋อจือฉีจื้อ เหวินฉีเอวี้ยเอ๋อจือฉีเต๋อ)
จากจุดนี้ แม้เนื่องนานผ่านไป กษัตริย์ภายหลังหนึ่งร้อยสมัยพิจารณาตัดสินความเป็นไปของกษัตริย์ก่อนหน้าร้อยสมัย จึงไม่มีผิดพลาดได้แน่นอน
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ ยังไม่เคยมีที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าท่านบรมครูขงจื่อเลย ปราชญ์โหย่วยั่ว กล่าวว่า "ไฉนจึงมีผู้ต่างจากคนทั่วไป" กิเลน (ฉีหลิน ) กับจัตุบาทอื่น หงส์ฟ้าพรรณราย (เฟิ่งหวง) กับนกทั้งหลาย มหาบรรพตกับเนินดิน ทะเล แม่น้ำ กับแอ่งน้ำ ล้วนจำพวกเดียวกัน อริยชนกับคนทั้งหลาย ล้วนคนด้วยกัน แต่คุณสมบัติต่างจากพวกเดียวกัน อริยคุณธรรมล้ำเลิศเหนือคนด้วยกัน ตั้งแต่มีมนุษยชาติมา ยังไม่เคยมีคุณธรรมล้ำเลิศกว่าบรมครูขงจื่อเลย" (จื้อเซิงหมินอี๋ไหล เอว้ยเจี้ยนฟูจื่อเอี่ย)..........
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เอาชนะด้วยกำลัง จากนั้นเสแสร้งกรุณา เช่นนี้ เรียกว่าผู้พิชิต" ผู้พิชิตจะต้องมีกำลังของความเป็นมหาอำนาจ เป็นราชอาณาจักรใหญ่ เอาชนะด้วยคุณธรรม จากนั้นให้ความกรุณา เช่นนี้ เรียกว่า "ผู้เป็นเจ้า" (อ๋อง) ความเป็นอ๋อง มิพึงต้องรอให้ยิ่งใหญ่เสียก่อน กษัตรย์ซังทังผู้ทรงธรรม ภาคภูมิในความเป็นอ๋อง บนผืนแผ่นดินเพียงเจ็ดสิบลี้โดยรอบ เอาชนะด้วยกำลัง มิอาจเอาชนะใจฝ่ายตรงกันข้ามได้ เขาสยบเพราะอ่อนกำลังตอบโต้ เอาชนะด้วยคุณธรรม ยินดีสยบด้วยศรัทธา เช่นเดียวกับเจ็ดสิบศิษย์เอกที่สยบต่อบรมครูขงจื่อ ในคัมภีร์ซืออจิง จารึกว่า "จากตะวันตกถึงตะวันออก จากใต้ไปเหนือ ไม่มีสักคนที่คิดจะไม่สยบศรัทธา" ย้อนมองส่องตน (หุยกวงฝั่นเจ้า) คุณธรรมล้ำเลิศได้ด้วยใจจริง มิใช่ด้วยฐานะ สถานภาพ โอกาส กรณีเสริมส่งจึงเป็น "ผู้ให้" เพื่อเขาจะ "ได้" โดยไม่หวังตอบแทนใด ๆ ... ฉันเป็นเช่นนี้ไหม
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้เป็นใหญ่มีกรุณาธรรม ย่อมเจริญ ย่อมภาคภูมิใจ ขาดกรุณาธรรม จะย่ำแย่อัปยศ" ทุกวันนี้ ประมุขของบ้านเมืองรู้จักแต่จะรังเกียจความอัปยศ แต่ก็ไม่ตั้งอยู่บนกรุณาธรรม จึงเหมือนกับ ไม่ชอบความอับชื้น แต่ก็ชอบที่จะอยู่ในหุบลึก หากเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รังเกียจความอัปยศจริง วิธีหลีกเลี่ยง ไม่มีอะไรดีไปกว่าเทิดทูนคุณธรรม ยกย่องขุนนางศรี เชิดชูเมธีคนดีทั้งหลาย เมื่อราชาธิบดีเป็นเมธีมีคุณธรรม นำขุนนางศรีผู้มีความสามารถช่วยกันบริหารบ้านเมือง จะเกิดสุขสงบทั่วหน้า เมื่อถึงเวลานั้น พิจารณาการอาญากับการปกครองบริหารให้เข้าทำนองคลองธรรม ดังนี้แล้วแม้บ้านเมืองใหญ่ ยังจะต้องหวั่นเกรงบ้านเมืองนี้
ในคัมภีร์ซือจิง จารึกไว้ว่า "รักษาโอกาศขณะฝนยังไม่ชุก นกน้อยเร่งรีบจิกรากหม่อน ลอกเปลือกไม้เป็นใบยาง เอามาซ่อมแซมรังของตนให้มั่นคง รังจะไม่โปร่งสบายไม่อับชื้น (แซมรังก่อนฝน) (เอว้ยอวี่โฉวโหมว) " "หากเตรียมการดังนี้แก่ประชาราษฏร์ ใครหรือจะกล้ามารุกราน" ธรรมกวีบทนี้ เมื่อท่านบรมครูได้อ่าน ท่านชื่นชมว่า "ผู้เขียนกวีบทนี้ รู้หลักธรรมดี รู้ที่จะปกครองป้องภัยแก่บ้านเมือง ใครจะกล้ามาราวี"
วันนี้ ผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง เมื่ออยู่กับภาวะปกติสุขปลอดสงครามโจรภัย แทนที่จะใช้โอกาสดี สร้างฐนสุขสวัสดิ์แก่บ้านเมือง แต่กลับส้องเสพบันเทิงใหญ่ เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจต่อประชาราษฏร์ วางอำนาจหยิ่งผยอง ดังนี้คือ "หาภัยใส่ตน" เคราะห์ภัยวาสนา ไม่มีที่มิใช่ใฝ่หาเข้ามาเอง ในคัมภีร์ซือจิงจารึกไว้ว่า "คำนึงถึงการอันตรงต่อฟ้าทุกเวลา เรียกหาความถูกต้องจากตนเอง ตนย่อมสมบูรณ์พร้อมวาสนา" (อย่งเอี๋ยนเพ่ยมิ่ง จื้อฉิวตัวฝู) ในหนังสือซังซู บทไท่เจี่ย จารึกไว้ว่า "ภัยพิบัติอันเกิดจากฟ้า ยังอาจหาทางเลี่ยงหลบพ้น ภัยพิบัติอันเกิดจากตน หลีกไม่พ้นไม่รอดได้" (เทียนจั้วเนี่ยอิ๋วเข่อเอว๋ย จื้อจั้วเนี่ย ปู้เข่อหัว) ก็คือเช่นนี้
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อ ว่า "ยกย่องให้เกียรติเมธีผู้มีคุณธรรม ให้ตำแหน่งแก่ปรีชาชนคนที่ไว้ใจได้ ปราชญ์เมธีคนดีอื่น ๆ จะต่างยินดีเข้าร่วมงานบ้านเมือง เก็บภาษีร้านค้า ไม่เก็บภาษีสิ่งของ เป็นระเบียบ ไม่ซ้ำซ้อน พ่อค้าวานิชทั้งหลายต่างพอใจ จะซื้อขายในบ้านเมืองนี้ ตั้งด่านตรวจตราสิ่งของต้องห้าม แต่ไม่เรียกเก็บภาษี คนเดินทางต่างยินดีเข้าออกบ้านเมืองนี้ ไม่เรียกเก็บภาษีที่นา แต่ให้ชาวนาช่วยกันลงแรงในแปลงกลาง ที่เก็บเกี่ยวเข้ายุ้งฉางคลังหลวง ดังนี้ ชาวนาทั้งหมดล้วนยินดีลงแรงทำไร่นา หากไม่ริบเอาที่อาศํยแทนเงินค่าภาษี ชาวบ้านชาวเมืองทุกหนแห่ง ต่างยินดีมาเป็นประชากรบ้านเมืองนี้ ประมุขผู้เป็นใหญ่ หากทำห้าประการนี้ได้ ชาวเมืองใกล้เคียงก็จะเทิดทูนประหนึ่งพ่อแม่ใกล้เคียงของประชาราษฏร์ จะประณามการปกครองที่ไม่เป็นธรรมของบ้านเมืองตน พาลูกหลานมาอยู่บ้านเมืองนี้ ตั้งแต่มีมนุษยชาติมา ยังไม่มีประมุขใดทำได้เพียงนี้ ควรทำดังนี้ จึงจะไม่มีศัตรู ไม่มีศัตรู ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินก็คือ ผู้รับบัญชามาจากเบื้องบน ดังนี้ มิใช่อ๋องผู้เป็นใหญ่ในโลกหล้า คงจะไม่มี" ปราชญ์เมิ่งจื่อ ว่า "คนล้วนมีจิตที่มิอาจอดใจดูดาย กษัตริย์โบราณมีจิตที่มิอาจอดใจดูดาย จึงได้มีการปกครองบ้านเมืองที่มิอาจอดใจดูดาย เอาจิตที่มิอาจอดใจดูดายนี้ ดำเนินการปกครองที่มิอาจอดใจดูดาย การปกครองโลกหล้า ก็จะช่วยเหมือนลูกแก้วกลิ้ง ในกลางใจมือ" ที่กล่าวว่า คน ล้วนมีจิตมิอาจอดใจดูดาย เช่น เมื่อเห็นเด็กน้องกำลังจะหัวทิ่มลงบ่อ ไม่ว่าเขาผู้เห็นจะเป็นคนเช่นไร ล้วนบังเกิดจิตสงสารสะท้านลึก มิใช่ด้วยคิดว่าจะต้องนำเด็กไปส่งพ่อแม่ (ไม่ทันเกิดแผนคิดใด ๆ ) ไม่ใช่คิดว่า จะได้ชื่อเสียงคำชื่นชมจากใคร ๆ อีกทั้งมิใช่เกลียดเสียงเด็กตกน้ำ (จิตที่มิอาจอดสูดูดายนี้ เป็นธาตุแท้ของจิตเดิมแท้ที่มีอยู่เอง) จะเห็นได้ดังนี้ ...
ผู้ไม่มีจิตสงสารสะท้านลึก ไม่นับได้ว่าเป็นคน
ผู้ไม่มีจิตละอายต่อความชั่วผิดบาปของตน ก็ไม่นับได้ว่าเป็นคน
ผู้ไม่มีจิตเลี่ยงละสละให้ ก็ไม่นับได้ว่าเป็นคน
:
:
:
ํ
(อู๋เซ่ออิ่นจือซิน เฟยเหยินเอี่ย
อู๋ซิวเอ้อจือซิน เฟยเหยินเอี่ย
อู๋ฉือยั่งจือซิน เฟยเหยินเอี่ย
อู๋ซื่อเฟยจือซิน เฟยเหยินเอี่ย
จิตสงสารสะท้านลึก เป็นจุดเบื้องต้นของกรุณาธรรม (เซ่ออิ่นจือซิน เหยินตือจวน)
จิตละอายต่อความชั่วผิดบาป เป็นจุดเบื้องต้นของมโนธรรมสำนึก (ซิวเอ้อจือซิน อี้จือตวน)
จิตเสียสละเลี่ยงให้ เป็นจุดเบื้องต้นของจริยธรรม (ฉือยั่งจือซิน หลี่จือตวน)
จิตรู้ผิดชอบชั่วดี เป็นจุดเบื้องต้นของปัญญาธรรม (อู๋ซื่อเฟยจือซิน จื้อจือตวน)
หากคนมีสี่จุดเบื้องต้นนี้ เปรียบได้ดั่งมีมือเท้าทั้งสี่ มีจิตที่เป็นจุดเบื้องต้นของธาตุแท้อยู่กับตน แต่กลับปฏิเสธว่าทำความดีไม่ได้ เท่ากับทำร้ายตน (ไม่ใช้มือเท้า [คุณความดี] ให้เกิดประโยชน์) ผู้รักษา "สี่จุดเบื้องต้น" ในตนไว้ได้ ล้วนรู้ที่จะขยาย และเติมเต็มให้แก่พลังนั้น เหมือนเพลิงไฟที่เริ่มลุกโชนเหมือนลำธารที่เริ่มไหลโกรก หากเติมเต็มแก่พลังนั้นได้ พลังนั้นก็จะโอบอุ้มรักษาได้ทั่วหล้า แต่หากไม่เติมเต็ม ก็ยังไม่พอต่อการปฏิการะบิดามารดา (จุดเบื้องต้นของคุณงามความดีที่แฝงอยู่ในตน มิได้สำแดงแม้แต่เป็นที่พึ่ง ที่ภาคภูมิใจ ที่ปลอบขวัญ ยังไม่พอ) ปราชญ์เมิ่งจือ ว่า "ผู้สร้างลูกธนู จิตเดิมแท้ของเขานั้นขาดความกรุณาต่อผู้สร้างเกราะป้องกันกระนั้นหรือ หาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ ผู้สร้างลูกธนู เกรงแต่จะสร้างได้ไม่แหลมคม ผู้สร้างเกราะ เกรง
แต่จะสร้างได้ไม่แข็งแกร่ง ป้องกันไม่ได้ อาจารย์เวทมนต์คาถากับช่างไม้ก็เป็นเช่นเดียวกัน (อาจารย์เวทมนต์คาถา ภาวนาไม่ให้เขาตาย แต่ช่างไม้เกรงจะขายโลงศพไม่ได้) ดังนั้น งานช่างฝีมือทั้งสี่นี้ เมื่อพิจารณาจะรู้ว่า ทุกอย่างพึงชั่งใจ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น
บรมครูขงจื่อท่านเคยกล่าวไว้ "ในหมู่บ้าน จะต้องมีประเพณีนิยมของกรุณาธรรมประจำใจ จึงจะดี เลือกถิ่นฐานที่อยู่อาศัยที่ไม่มีบรรยากาศของกรุณาธรรมจะนับว่าฉลาดมีปัญญาได้หรือ" จึงกล่าวได้ว่า กรุณาธรรมเป็นศักดิ์ศรีสูงส่งของฟ้าเบื้องบน เป็นฐานตำแหน่งที่ตั้งอันปลอดภัยที่สุดของคน จะก้าวขึ้นสู่ศักดิ์ศรีอันสูงส่ง จะอาศัยอยู่กับฐานตำแหน่งที่ตั้งอันปลอดภัยนั้น ไม่มีใครต่อต้าน คนที่ไม่รู้จักดำเนินกรุณาธรรมเป็นคนขาดปัญญา ไม่มีกรุณาธรรมอีกทั้งไม่มีปัญญา ก็จะไม่มีจริยระเบียบ และยังไม่รักษาทำตามหลักของมโนธรรมอีกด้วย ถ้าเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ จะต้องรับสภาพความเป็นข้าทาส เมื่อตกสู่ฐานะต่ำต้อยรับสภาพอย่างนั้น จึงรู้สึกตัวว่าน่าอดสู อย่างเดียวกับช่างทำเกาทัณฑ์อดสูใจที่สร้างอาวุธทำร้ายคน อย่งเดียวกับช่างทำลูกธนูอดสูใจที่ทำลูกธนูทำร้ายคน ยอมทนอยู่กับความอดสูใจ มิสู้ดำเนินชีวิตใหม่ด้วยกรุณาธรรม จะดำเนินกรุณาธรรม เริ่มจากตั้งตนเที่ยงตรง เหมือนคนจะยิงธนูให้ตรงเป้า ผู้ยิงจะต้องยืนตัวตรงเสียก่อนเล็งตรงเป้าหมาย แล้วจึงยิง (เหมือนตั้งหลักกรุณาธรรม) หากพลาดเป้า (ใช้กรุณาธรรมแล้ว ผลตอบสนองยังไม่ดี) อย่าขัดเคืองผู้ชนะเหนือกว่าตน แต่จงเรียกร้องความถูกต้องจากตนเองให้เที่ยงตรงยิ่งขึ้น (ฝั้นฉิวจูจี่่)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ปราชญ์จื่อลู่ (ศิษย์จอมปราชญ์) นั้น หากมีใครชี้จุดผิดพลาดให้ จะดีใจได้แก้ไข" อริยกษัตริย์อวี่ เมื่อได้ยินใครกล่าวคติเตือนใจให้ปิยวาจาจะแสดงความเคารพ อริยกษัตริย์ซุ่น สูงส่งยิ่งกว่าสองท่านนี้นัก พระองค์จะทรงฟังความเห็นของทุกคน (รักประชามติ) จะสละพระประสงค์เดิม เมื่อประชามติต้องการเป็นอย่างอื่น ก็ยินดีรับเอาความสามารถของใคร ๆ ไว้ศึกษาเป็นแบบอย่าง พระองค์เริ่มจากทำไร่ไถนา ทำงานเผาเครื่องเคลือบหาปลา จนกระทั่งถูกเชิญให้ขึ้นครองราชย์ ไม่มีขณะใดเลยที่ไม่น้อมใจฟังเหตุผลที่ถูกต้อง ยินดีเรียนรู้ความสามารถพิเศษของผู้อื่น แล้วปฏิบัติตามนั้น การเอาปิยวาจา คติธรรม เอาความประพฤติปฏิบัติดีของใครเป็นแบบอย่าง นั่นก็เท่ากับช่วยให้ใคร ๆ ได้สัมฤทธิ์ผลในการ คิดดี พูดดี ทำดีนั้นด้วย กล่าวได้ว่า กัลยาณชนคนดีงาม ไม่มีคุณธรรมใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าช่วยใคร ๆ ให้ได้ปฏิบัติ ให้ได้สัมฤทธิ์ผลในคุณความดีของเขา (ความถูกต้องดีงามทั้งปวงเพื่อส่วนใหญ่ หากไม่มีใครเชื่อฟังทำตาม ความถูกต้องดีงามย่อมไม่ผลิดอกตกผล) ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านป๋ออี๋นั้น หากมิใช่ประมุขแห่งตน จะไม่รับใช้งานมิใช่เพื่อนอันพึงคบหา ก็จะไม่เสวนาด้วย ไม่ยอมเหยียบย่างเข้าในราชฐานของทรราช ไม่ทักทายพูดจากับคนชั่วช้าสามานย์ แม้ยืนอยู่บนราชฐานของทรราช(โดยไม่ได้สมัครใจยินดี) และมีความจำเป็นต้องตอบโต้กับทรราช ความรู้สึกจะเหมือนสวมหมวก เครื่องยศชุดวังเต็มภาคภูมิเข้าท้องพระโรงใหญ่ แต่ต้องนั่งอยู่ในโคลนตมความรัง้กียจชิงชังต่อความไม่ถูกต้องของใคร ๆ (ด้วยคาดหมายต่อความดีที่ทุกคนจะต้องมี จะต้องเป็น) แม้กระทั่งเมื่อยืนอยู่กับเพื่อนบ้าน ตั้งใจจะพูดจาทักทาย แต่เมื่อเหลียบเห็นหมวกที่เขาสวมใส่ไม่ตรง ดังนี้ ท่านก็จะผละจากไปทันที เสมือนเห็นสิ่งปฏฺกูลอันจะป้ายเปื้อนถึงตัวได้" ด้วยเหตุ (เคร่งครัดมุ่งหมายให้ถูกต้อง) ดังนี้ แม้เจ้าเมืองมากหลายที่มีวาทะคมคาย จะพยายามมาโน้มน้าวให้ไปเป็นขุนนาง ก็ล้วนถูกปฏิเสธ ที่ไม่ยอมรับนั้นคือ เห็นความเป็นขุนนางไร้ค่า หามีศักดิ์ศรีไม่ ขุนนางข้าราช ฯ คือ หมู่ชนน่ารังเกียจ ชอบแต่จะกลั่นแกล้ง แก่งแย่ง ป้ายสี ป้อยอ สอพลอ ฉ้อฉล ใช้อำนาจบาตรใหญ่เพื่อประโยชน์ตน) หลิ่วเซี่ยฮุ่ย ขุนนางเมธีแห่งเมืองหลู่ (ความคิดจิตใจต่างไปจากป๋ออี๋) จะไม่รู้สึกน่าอับอายที่มีประชุมไม่สำรวม แม้จะให้รับตำแหน่งขุนนางระดับล่าง ก็รับได้ไม่รังเกียจ ท่านรับราชการพร้อมกับแสดงความดีของเมธีชน งานทุกอย่างปฏิบัติด้วยความถูกต้องเป็นธรรม ถูกสั่งพักงาน (ดีเกินไป) ก็ไม่ขัดเคือง สิ่งแวดล้อมจะเลวร้าย ก้ไม่ทุกข์เศร้า ท่านกล่าวเสมอว่า "เขาทำของเขา เราทำของเรา แม้เขาจะสวมเสื้อเปิดไหล่หรือเปล่าเปลือย ยืนอยู่ข้าง ๆ เรา เขาจะป้ายเปื้อนแก่เราได้หรือ" หลิ่วเซี่ยฮุ่ย จึงเป็นตัวของตัวเอง จะยืนอยู่กับใคร ก็ยังคงความเป็นผู้มีพลังเที่ยงธรรมในตนได้ เมื่อขอลาออกจากหน้าที่ แต่หามีผู้รั้งไว้ ก็อยู่ต่อไป เมื่อรั้งและอยู่ต่อไป จึงหมายความว่า ไม่ตั้งใจจะลาออกอย่างแท้จริง ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ป๋ออี๋ ไม่เปิดใจกว้าง ไม่ยอมรับในผู้อื่น ส่วนหลิ่วเซี่ยฮุ่ย ตามสบายไม่เคร่งครัด เท่ากับไม่มีความเคารพ ทั้งสองลักษณะนี้ กัลยาณชนมิพึงเอาเยี่ยงอย่าง"
~ จบบทกงซุนโฉ่ว ตอนต้น ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " วาระฟ้า ฤกษ์ยาม ฤดูกาล " มิสู้ " ทิศทาง สภาพ ชัยภูมิ " " สภาพทิศทางชัยภูมิ " มิสู้ " ผู้คนสมานใจ " (เทียนสือปู้หยูตี้ลี่ ตี้ลี่ปู้หยูเหยินเหอ ) ........................................ สมมุติเช่น มีกำแพงเมืองชั้นในล้อมไว้สามลี้ มีกำแพงชั้นนอกล้อมไว้อีกเจ็ดลี้ เพียงเท่านี้ ยังตีเมืองไม่แตก แต่เมื่อล้อมเมืองไว้นานเข้า ผลจกวันเวลาจะเอื้ออำนวยให้ ( เช่น ในเมืองเกิดอดอยาก เกิดภัยธรรมชติ...) อย่างนี้เรียกว่าเป็นไปตาม " วาระฟ้า ฤกษ์ยาม ตามฤดูกาลกำหนด " จึงตีเมืองได้ แต่หากยังตีไม่ได้ ก็ด้วย " วาระฟ้า ฤกษ์ยาม ฤดูกาล " มิสู้ " ทิศทาง สภาพชัยภูมิ " ชัยภูมิบ้านเมืองของเขาอาจมีสภาพเอื้ออำนวยความมั่นคงปลอดภัย ไม่ขาดแคลน ปิดล้อมไว้นานเพียงใด ก็ยังอยู่ได้ กำแพงเมืองนั้น มิใช่ไม่สูงทะมึน คูล้อมเมืองรอบนอก ก็มิใช่น้ำไม่ลึก อาวุธสงคราม ก็มิใช่ไม่แกร่งกล้าเพียบพร้อม เสบียงอาหารในเมือง ก็มิใช่ไม่อุดมสมบูรณ์ แต่สุดท้าย ทหาร ผู้คน พากันหนีหายออกไปจากเมือง ทิ้งเป็นเมืองร้างไว้ ไม่ต้องโจมตีก็เข้ายึดเมืองได้สบาย ๆ นี่เรียกว่า " สภาพทิศทางชัยภูมิ " มิสู้ " ผู้คนสมานใจ " จึงกล่าวว่า " มิพึงปิดชายแดนกำจัดสิทธิห้ามชาวบ้านผ่านเข้าออกอย่างเสรี มิพึงอาศัยเขาสูงเหวลึก เป็นชัยภูมิป้องกันบ้านเมือง หรือมีอานุภาพโดยมิต้องใช้ศาสตราวุธข่มขู่ไว้หากการปกครองนั้น ถูกต้องตามทำนองครองธรรม ผู้ช่วยเหลือสนับสนุนจะมากมาย แต่หากปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ช่วยเหลือสนับสนุนก็จะมีน้อย ที่สุดของการขาดความช่วยเหลือสนับสนุนคือ แม้แต่ญาติกันก็หันหน้าหนี " ที่สุดของการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุน จะได้จากชาวประชาทั่วฟ้ากว้างทุกคนต่างมุ่งหน้ามาสวามิภักดิ์ บ้านเมืองที่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนเป็นอย่างดีจากประชาราษฏร์ จะจัดการกับบ้านเมืองที่แม้แต่ญาติยังหันหน้าหนีย่อมไม่มีอะไรกั้นขวาง กษัตริย์ทรงธรรมผู้ไม่ปรารถนาสงคราม หากมีความจำเป็นจะต้งรับมือ ก็จะชนะได้แน่นอน ปราชญ์เมิ่งจื่อกำลังจะไปพบฉีเซวียนอ๋วง แต่อ๋องส่งคนมาบอกว่า " เราตั้งใจจะมาพบท่าน แต่เกิดเป็นหวัด ถูกลมไม่ได้ จึงมิได้มา พรุ่งนี้เช้าออกบัลลังก์ว่าราชการ ท่านจะมาพบเราได้หรือไม่ " ตอบไปว่า " น่าเสียดายที่ไม่ค่อยสบาย จึงมิอาจเข้าวัง " วันรุ่งขึ้น ปราชญ์เมิ่งจื่อไปงานพิธีเคารพศพขุนนางเมืองฉี ที่บ้านสกุลตงกัว ศิษย์กงซุนโฉ่วถามครูปราชญ์ว่า "เมื่อวานท่านปฏิเสธที่จะเข้าวังโดยอ้างว่าป่วย แต่วันนี้กลับมาเคารพศพ มันอาจจะไม่เหมาะกระมัง" ครูปราชญ์ตอบว่า "เมื่อวานป่วย วันนี้หาย ไฉนจะมางานศพไม่ได้"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
เวลานั้น อ๋องส่งตัวแทนมาเยี่ยมไข้พร้อมด้วยแพทย์หลวงเมิ่งจ้งจื่อ ลูกพี่ลูกน้องปราชญ์เมิ่งจื่อรับหน้าที่อยู่ กล่าวแก่ตัวแทนเยี่ยมไข้ว่า "เมื่อวานได้รับบัญชาเชื้อเชิญ แต่ปราชญ์ท่านไม่ค่อยสบายจึงไปเข้าเฝ้าไม่ได้ วันนี้ค่อยหายป่วย จึงรีบเดินทางเข้าวัง ไม่ทราบว่าบัดนี้ไปถึงแล้วหรือไม่" พร้อมกันนั้น ได้ส่งสองสามคนไปดักท่านเมิ่งจื่อกลางทาง บอกว่า "อย่ากลับบ้านเป็นอันขาด (อาจถูกจับผิด) ให้รีบเดินทางเข้าวังไป" ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อย้อนกลับไปค้างบ้านขุนนางฉี จิ่งจื่อรู้เรื่องนี้เข้า กล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ในบ้าน สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก อยู่ในราชสำนัก สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างประมุขกับขุนนาง นี่คือธรรมะอันเป็นคุณสัมพันธ์ของคน ระหว่างพ่อกับลูก หลักใหญ่ให้รู้พระคุณความสนิทชิดเชื้อ ระหว่างประมุขกับขุนนาง หลักใหญ่ให้เคารพ ให้เกียรติ ขณะนี้ ข้าฯเห็นแต่ประมุขให้เกียรติท่าน แต่ไม่เห็นท่านเคารพประมุขเลย" ปราชญ์เมิ่งจื่อสะท้อนใจกล่าวว่า "คำพูดนี้ พูดได้อย่างไร ชาวเมืองฉี ไม่มีสักคนที่จะถวายวาจากรุณาธรรมแด่อ๋องหรือเห็นว่า กรุณาธรรมมิได้ดีงาม ในใจของพวกเขายังอาจพูดว่า "เหตุใดจึงกล้าเอากรุณาธรรมไปกล่าวสอนอ๋อง" หากคิดเช่นนี้ ถือเป็นความไม่เคารพต่ออ๋องเป็นอย่างยิ่ง นอกจากหลักธรรมที่อดีตอริยกษัตริย์เหยากับซุ่น ใช้ปก
ครองบ้านเมื่องทั่วหล้าแล้ว คำพูดอื่น ๆ ข้าฯ มิกล้ากล่าวแก่อ๋องท่านเลย ฉะนั้น ข้าฯ จึงกล้าูพูดได้ว่า ชาวเมืองฉี ไม่มีสักคนที่เคารพอ๋องเท่ากับข้าฯ" (เคารพให้สติ ให้ข้อคิด) จิ่งจื่อว่า "หามิได้ มิใช่กล่าวเช่นนั้น" ในคัมภีร์หลี่จี้ จารึกไว้ว่า "บิดาเรียกใช้ มิให้ชักช้าที่จะขานรับ ประมุขผู้เป็นใหญ่ให้หา จะรอจนรถม้าเตรียมเสร็จมิได้" อันที่จริง ปราชญ์ท่านเตรียมจะเข้าวังไปพบอ๋องอยู่แล้ว พอได้ยินว่า มีพระบัญชาส่งคนมาเรียก ก็กลับเปลี่ยนความตั้งใจเสีย การกระทำดังนี้ ดูเหมือนจะขัดต่อจริยธรรมที่จารึกไว้ในคัมภีร์หลี่จี้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ในคัมภีร์หลี่จี้กล่าวไว้ เป็นกรณีเดียวกันกับเรื่องนี้หรือ แต่ก่อน ท่านปราชญ์เจิงจื่อกล่าวว่า "ความร่ำรวยของเมืองจิ้น เมืองฉู่ เรามิอาจเทียบได้ เมื่อเขาเอาความร่ำรวยมาโอ้อวด เราจึงกล่าวอ้างถึงกรุณาธรรม (ความร่ำรวยที่เรามี) เมื่อเขาเอาบรรดาศักดิ์มาจูงใจเรา เราจึงเอาหลักมโนธรรมไปต้านเขา เรามีอะไรที่ขาดพร่องกว่าเขาหรือ" คำพูดเหล่านี้ มิใช่หลักเหตุผลดอกหรือ ท่านเจิงจื่อยังแฝงหลักธรรมอีกชั้นหนึ่งว่า "คนในโลก มีคุณสมบัติเป็นที่เคารพของใคร ๆ ได้สามประเภทคือ ยศศักดิ์สูง อายุสูง คุณธรรมสูง ในพระราชฐาน ไม่มีที่เกินกว่ายศศักดิ์สูง (ได้รับความเคารพ) ในหมู่บ้าน ไม่มีที่เกินกว่าอายุสูง หากพูดถึงการอุ้มชูกอบกู้ชาวโลก ก้จะไม่มีที่เกินกว่าคุณธรรมสูงดังนี้แล้ว ไฉนจึงเหตุยศศักดิ์สูงเพียงอย่างเดียว ก็จะดูแคลนอายุสูงกับคุณธรรมสูงไปเสียได้" ฉะนั้น ประมุขผู้เป็นใหญ่ทำงานใหญ่ในแผ่นดินตั้งแต่โบราณมา จะต้องมีขุนนางใหญ่ ผู้รับใช้คนสำคัญที่ "มิให้เรียกใช้" ไม่เรียกให้เข้าเฝ้าโดยไม่จำเป็น อีกทั้งจะต้องยกย่องไว้ในฐานะเฉพาะกิจเฉพาะการ จะพร่ำเพรื่อมิได้ หากมีแผนงานจะต้องปรึกษาหารือด้วย ประมุขยังจะต้องน้อมองค์ลงไปหา แสดงถึงความทรงธรรม ให้ความสำคัญแก่คนสำคัญ แก่เรื่องสำคัญที่จะหารือ หากไม่ปฏิบัติเช่นนี้ ก็น่าจะไม่มีการร่วมงานสำคัญเฉพาะกับเขา ฉะนั้น กษัตริย์ซังทัง ยกย่องเรียกให้อีอิ่น จึงเริ่มน้อมองค์ลงศึกษาวิชาการจากอีอิ่น จากนั้น จึงยกย่องขึ้นเป็นขุนนางใหญ่ กษัตริย์ซังทัง จึงสำเร็จการใหญ่ เป็นอ๋องผู้ยิ่งใหญ่ทั่วแผ่นดิน โดยมิต้องยุ่งยากลำบากใจเลย สำหรับพระเจ้าฉีหวนกง ที่ไว้ใจเรียกใช้ก่วนจ้งนั้น ก็เริ่มจากน้อมองค์ศึกษาวิชาการระดับสูงจากก่วนจ้งเช่นกัน จากนั้น จึงโปรดให้รับตำแหน่งขุนนางใหญ่ดังนั้น พระเจ้าฉีหวนกง จึงสำเร็จความเป็นอ๋องผู้พิชิต โดยมิต้องยุ่งยากลำบากใจเลย
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
วันนี้บ้านเมืองต่าง ๆ ใต้หล้า มีอาณาเขตบ้านเมืองน้อยใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คุณสมบัติของความเป็นประมุขก็พอกัน ไม่มีคุณสมบัติเลิศล้ำด้วยวิชาการใด มีแต่จะให้ขุนนางรับการสั่งสอนจากผู้เป็นใหญ่ไม่มีที่ยินดีน้อมองค์ลงมาศึกษาจากขุนนางเมธีอีก พึงรู้ว่า กษัคริย์ซังทัง ปฏิบัติต่อขุนนางอีอิ่น กับที่พระเจ้าฉีหวนกง ปฏิบัติต่อก่วนจ้งนั้น ล้วนแต่ไม่กล้าเรียกตัวเข้าพบโดยไม่มีเหตุอันควรทั้งนั้น โดยเฉพาะคนอย่างก่วนจ้งนั้น ยิ่งจะเรียกหาให้เข้าเฝ้าง่าย ๆ ไม่ได้ลย เฉินเจิน (ศิษย์เมิ่งจื่อ) เรียนถามครูปราชญ์ว่า "วันก่อนที่เมืองฉี อ๋องท่านโปรดพระราชทานทองคำเนื้อแท้ให้ถึงหนึ่งร้อยอี้ (หนึ่งอี้เท่ากับยี่สิำบสี่ตำลึง) แต่ครูท่านไม่รับ พอมาถึงเมืองซ่ง อ๋องท่านโปรดพระราชทานก้อนทอง (เนื้อผสม) เจ็ดสิบอี้ ครูท่านกลับรับไว้ มาถึงเมืองเซวีย อ๋องท่านโปรดพระราชทานก้อนทอง (เนื้อผสม) ห้าสิบอี้ ครูท่านก็รับไว้อีก วันก่อนที่ไม่รับนั้น ถ้าเป็นการสมควร วันนี้ที่รับไว้ก็เท่ากับเป็นการไม่สมควร หากวันนี้ที่รับไว้เป็นการสมควร วันก่อนที่ไม่รับไว้ก็จะเป็นการไม่สมควร ทั้งสองกรณีนี้ ครูท่านจะต้องมีกรณีหนึ่งที่ไม่สมควรเป็นแน่ ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ถูกต้องสมควรทั้งสองกรณี " เมื่ออยู่เมืองซ่งนั้น ครูกำลังจะเดินทางไกล สำหรับผู้จะเดินทางไกล เจ้าบ้านจะต้องมอบค่าพาหนะค่าเดินทาง ซึ่งผู้มอบให้ก็ได้กล่าวประสงค์นี้ ครูจะไม่รับได้อย่างไร เมื่ออยู่เมืองเซวีย มอบเงินเรียกขวัญ ครูกำลังพรั่นใจต่อผู้ปองร้าย อ๋องเมืองเซวียมอบเงินเรียกขวัญ กล่าวประสงค์ว่า " เอาไว้ใช้จ่ายในการป้องกันตัว " ดังนี้ ครูจะไม่รับได้อย่างไร เมื่ออยู่เมืองฉี ไม่ได้ใช้เงินเพื่อประโยชน์เฉพาะกาลอันใด อ๋องมอบเงินทองจำนวนมากมายให้ ก็มิได้กล่าวเพื่อประโยชน์เฉพาะกาลใด เงินทองนั้นจึงถือเป็น " สินบน " กัลยาณชนจะรับเงินทองอันเป็นสินบนจากใครได้หรือ เมื่อปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางมาถึงอำเภอผิงลู่ ของเมืองฉี กล่าวแก่ขุนนางนายอำเภอที่ผิงลู่ว่า "หากทหารที่ถืออาวุธยืนยามของท่าน ทิ้งแถวหายไปวันละสามครั้ง ท่านจะปลดเขาออก หรือยังจะใช้เขาต่อไป " ขุนนางตอบว่า ""ไม่ต้องรอถึงสามครั้ง" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า ถ้าเช่นนั้น ตัวท่านเองละทิ้งหน้าที่ เหมือนทิ้งแถวความผิดก็มากมายนัก หลายปีที่ฝนแล้งอดอยาก ประชาชนในการปกครองดูแลของท่านที่ี่นี่ คนแก่เฒ่าผอมโซ กระเสือกกระสนจะหาอะไรกิน ต้องอดตายตกลงไปในคูน้ำ ขอบเหว วัยฉกรรจ์ คนแข็งแรง กระจัดกระจายไปหาทางอยู่รอดเหล่านั้น ไม่รู้กี่พันคนไปแล้ว " ขุนนางนายอำเภอว่า "นี่ไม่ใช่ข้าฯ ข่งจวี้ซิน จะทำอย่างไรได้ หน้าที่รับผิดชอบนี้เป็นของประมุขเจ้าเมือง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สมมุติว่า วันนี้มีคน ๆ หนึ่งรับจ้างเลี้ยงวัวกับแพะไว้ ซึ่งจะต้องหาหญ้าหาน้ำ หาที่ทางเลี้ยงดู แต่หากหาหญ้า หาที่ทางเพื่อเลี้ยงดูไม่ได้ ท่านจะต้องส่งคืนวัวแพะแก่เจ้าของเขา หรือจะยืนดูวัวแพะอดตายไปต่อหน้าต่อตา" ขุนนางจวี้ซิน ตอบว่า "นี่ถือเป็นโทษของข้า ฯ จวี้ซิน แล้ว" วันต่อมา ปราชญืเมิ่งจื่อได้พบฉีเซวียนอ๋วง กล่าวว่า "ขุนนางผู้ปกครองอำเภอต่าง ๆ ของอ๋องท่าน ที่ข้า ฯ รู้จักนั้นมีห้าคน ในจำนวนห้าคนนั้น สำนึกในความผิดของตน มีแต่ขุนนางจวี้ซวินคนเดียว ที่ข้า ฯ จะกล่าวชื่นชมแก่อ๋องได้" ฉีเซวียนอ๋วงว่า " นี่เป็นโทษของเราแล้ว ที่มิอาจให้ขุนนางเกิดมีจิตสำนึกได้ทุกคน" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวแก่ฉืออวา ขุนนางเมืองฉีว่า "ท่านลาจากตำแหน่งนายอำเภอที่หลิงชิว มารับตำแหน่งตุลาการ ดูอย่างกับเหมาะสม เพราะได้ใกล้ชิดกับอ๋อง บทลงโทษไม่ยุติธรรมใด ๆ จะได้กราบทูลให้อ๋องได้พิจารณาแก้ไข แต่บัดนี้หลายเดือนผ่านไป ยังไม่มีทางกราบทูลได้หรือ" ฉืออวาเสนอและทัดทานหลายเรื่อง แต่อ๋องไม่รับพิจารณา ฉืออวาจึงลาออกจากราชการแล้วหายตัวไป ชาวเมืองฉีพากันวิจารณ์ว่า "ท่านเมิ่งจื่อช่วยวางแผนแก่ฉืออวานั้นดีอยู่ แต่เมื่ออ๋องท่านไม่รับฟังข้อเสนอของฉืออวาที่ได้มาจากท่านเมิ่งจื่อ และบัดนี้ฉืออวาลาออก แต่ไฉนท่านเมิ่งจื่อจึงไม่ลาออก ไม่เข้าใจจริง ๆ " กงตูจื่อ ศิษย์ท่านเมิ่งจื่อ ได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์จึงนำความมาเรียนแก่ครูปราชญ์ทราบ "ดังได้สดับคือ ผู้มีตำแหน่งหน้าที่รักษาราชการ หากผิดต่อหน้าที่ ไม่มีความสามารถ ก็ควรจะลาออก แต่ครูไม่มีตำแหน่งหน้าที่รักษางานราชการ ไม่มีหน้าที่เสนอข้อคิดเห็น จะอยู่จะไปไม่มีพันธะผูกพัน เป็นอิสระสง่าผ่าเผยทุกโอกาส (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ อยู่ในฐานะปราชญ์ผู้ทรงคุณวุติพิเศษที่ได้รับเชิญจากอ๋อง) ปราชญ์เมิ่งจื่อเป็นขุนนางรับเชิญระดับสูงของเมืองฉี (มิใช่ขุนนางข้าราชบริพาร) ครั้งหนึ่งท่านทำหน้าที่ทูต เดินทางไปร่วมงานเคารพพระศพ ที่เมืองเถิงแทนอ๋อง งานนี้ อ๋องได้โปรดให้ขุนนางไก้ นามว่าหวังฮวน เป็นอุปทูตร่วมทางไปด้วยกัน อุปทูตหวังฮวน ได้พบปราชญ์เมิ่งจื่อทุกค่ำเช้าตลอดระยะทางยาวไกลที่เดินทางไปเมืองเถิง แต่ไม่เคยเอ่ยถึงการทูตที่จะต้องไปจัดการนี้เลย ศิษย์กงซุนโฉ่วเรียนถามครูปราชญ์ว่า "ขุนนางหวังฮวนมีหน้าที่ดุแลขุนนางรับเชิญของบ้านเมืองคือครูปราชญ์ท่าน นับว่าสำคัญไม่น้อย หนทางไปสู่เมืองเถิงก้ไม่ใช่ใกล้ ตลอดทางไปกลับ ไม่เห็นครูท่านพูดเรื่องงานพระศพกับหวังฮวนเลย ด้วยเหตุอันใดหรือ" ครูปราชญ์ตอบว่า "งานนี้ทุกอย่างหวังฮวนจัดการเองเสร็จสรรพ ยังจะมีอะไรให้ครูต้องพูดอีกเล่า (หวังฮวน ไม่ขอคำแนะนำจากผู้ใหย๋ แสดงว่าเหนือกว่าครูปราชญ์จึงเห็นว่าไม่น่าจะแนะนำอะไรให้ได้อีก ปราชญเมิ่งจื่อเดินทางจากเมืองฉี กลับไปจัดการฝังศพมารดาท่านที่เมืองหลู่ เสร็จงาน จึงเดินทางกลับเมืองฉี ระหว่างทางพักแรมที่อำเภออิ๋ง ชงอวี๋ ศิษย์ครูปราชญ์เรียนถามว่า "ที่ผ่านมา ครูท่านไม่เห็นศิษย์ด้อยความสามารถ มอบหมายให้ศิษย์ดูแลช่างไม้ทำโลงศพ ตอนนั้นเวลากระชั้น ศิษย์ไม่กล้าเรียนถามครูปราชญ์ท่าน บัดนี้จะแอบเรียนถามว่า ไม้นั้นสวยงาม แต่ดูเหมือนจะดีเกินไป" (ศิษย์ไม่ค่อยเห็นดีด้วยกับโลงศพไม้หนาไม้เนื้อกล้านั้น) ครูปราชญ์ตอบว่า "ครั้งโบราณ โลงศพชั้นในกับชั้นนอก ไม่มีขนาดจำกัดมาตรฐานความหนาของไม้ ครั้งโบราณสมัยกลางต่อมา กำหนดความหนาเจ็ดนิ้ว โลงชั้นนอกชั้นในพอเหมาะกัน
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
การนี้ สูงศักดิ์ระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ต่ำสุดจนถึงชาวบ้านธรรมดา ใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะความสำคััญมิได้อยู่ที่สวยงาม (อยู่ที่กตัญญู ซึ่งลูกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน) (อีกทั้งเพื่อมิให้ไม้ถูกหนูเจาะ ซึมน้ำ ผุพังเร็ว เพื่อรักษาร่างกายของพ่อแม่ให้คงสภาพไว้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้) เช่นนี้ จึงจะถึงที่สุดของการตอบแทนพระคุณ บิดามารดา อันเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะแสดงต่อท่านได้ แต่สำหรับพิธีการที่ทำไม่ได้นั้น อย่าทำตามใจที่ใคร่จะทำ (เกินกำลังความสามารถสภาพแวดล้อม) หากขาดแคลนเงินทอง ก็อย่าทำตามใจที่ใคร่จะทำ ให้ถูกต้องสมควรต่อจริยพิธี และมีเงินทองที่จะทำได้ คนโบราณปฏิบัติมาอย่างนี้ ไฉนครูจะทำเช่นนี้ด้วยไม่ได้" เพื่อพ่อแม่ที่วายชนม์ โลงศพหากทำให้หนาไว้ ก็จะป้องกันดินมิให้ประชิดร่างกาย เช่นนี้ ใจของผู้เป็นลูก จะไม่รู้สึกดีกว่าหรือ ที่ครูเคยได้ยินมา "กัลยาณชนจะไม่หวงแหนเสียดายสรรพสิ่งใด ๆ ในโลกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่ทำให้แก่พ่อแม่" เสิ่นถง ขุนนางเมืองฉี เอาความเห็นส่วนตัว ถามท่านเมิ่งจื่อว่า "เมืองเอียนนั้นน่าจะถูกปราบปรามหรือไม่" ตอบว่า "น่า" (เพราะความผิดพลาดเสียหายมาก) จื่อไคว่ เจ้าเมืองเอียน จู่ ๆ ก้ยกตำแหน่งเจ้าเมืองให้เขาไปทำเช่นนี้ไม่ได้ จื่อจือ ขุนนางเมืองเอียน จู่ ๆ ก็ยกตำแหน่งอ๋องมาครองทำเช่นนี้ไม่ได้ เปรียนเช่นขุนนางคนหนึ่งอยู่ตรงนี้ แม้ท่านจะชื่นชอบเขาแต่โดยมิได้กราบทูลอ๋องทรงทราบ ท่านก็ยกตำแหน่งบำเหน็จบำนาญให้เขา ขุนนางคนนี้ไม่ได้รับพระบัญชาอนุญาต ก็รับเอาตำแหน่งบำเหน็จบำนาญไปดื้อ ๆ ทำเช่นนี้ได้หรือ เรื่องนี้ไม่ต่างกับจื่อไคว่ จื่อจือ ที่ยกตำแหน่ง รับตำแหน่งกันไปเอง ภายหลังเมืองฉีตีเมืองเอียน มีผู้ถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านส่งเสริมให้เมืองฉีตีเมืองเอียนหรือ" ตอบว่า "มิได้" ครั้งหนึ่ง ขุนนางเสิ่นถงถามข้า ฯ ว่าเมืองเอียนน่าปราบปรามไหม ข้า ฯ ตอบว่า "น่า" หลังจากนั้นเขาคิดว่าสมควร เขาจึงไปตี แต่หากเขาจะถามข้า ฯ ต่อไปว่า ใครน่าจะเป็นผู้ตี ข้า ฯ ก็จะตอบว่า "กษัตริย์ทรงธรรมผู้ได้รับพระโองการฟ้า น่าจะเป็นผู้ตี" วันนี้มีผู้ฆ่าคน อาจจะถามว่า "คนนั้นน่าจะถูกฆ่าไหม" ข้า ฯ ก็จะตอบเขาว่า "น่า" หากเขาถามต่อไปว่า "ผู้ใดน่าจะเป็นคนฆ่า" ก็จะตอบว่า "ผู้พิพากษาตัดสินให่ฆ่าได้ตามโทษอุกฤษฏ์นั้น" วันนี้เมืองฉีไม่มีธรรมไม่ต่างกับเมืองเอียน แม้จะเป็นเมืองฉีตีเมืองเอียนแต่ก็เท่ากับเมืองเอียนตีเมืองเอียนเอง ข้า ฯ จะมีเหตุผลอะไรส่งเสริมให้เมืองฉีตีเมืองเอียน"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
เมืองฉีตีเมืองเอียนได้แล้ว ต่อมาชาวเมืองเอียนลุกฮือขึ้นแข็งข้อ เจ้าเมืองฉีว่า "เราไม่ละอายใจต่อเมิ่งจื่อนัก" เฉินเจี่ย ขุนนางเมืองฉีกล่าวว่า "อ๋องท่านอย่าคิดกังวลไปเลย อ๋องท่านเทียบกับโจวกง ผู้ใดหรือที่มีกรุณา - ปัญญาธรรมล้ำเลิศกว่ากัน" (ดูประวัติได้จากหนังสือสายทองเล่มหนึ่ง ศุภนิมิต) เซวียนอ๋วงถอนใจว่า "พูดอะไรอย่างนั้น" (เทียบกันไม่ได้เลย) เฉินเจี่ย กล่าวต่อไปว่า "กษัตริย์อู่อ๋วง ปราบทรราชโจ้วอ๋วง จากนั้น ยกย่องอู่เกิง ราชบุตรของทรราชขึ้นเป็นเจ้าหัวเมืองอิน โจวกงแต่งตั้งให้ก่วนสู ควบคุมดูแลราชบุตรอู่เกิง แต่ภายหลังก่วนสูกลับช่วยอู่เกิงก่อกบฏเสียเอง เรื่องนี้ หากโจวกงรู้แต่แรกว่า ภายหน้าก่วนสูผู้ได้รับมอบหมายจะก่อการร้าย แต่จะรอดูให้เกิดเป็นจริงเสียก่อน จึงลงโทษ เช่นนี้ เท่ากับมีแผนรอให้เขาลงมือ เรียกว่า ขาด "กรุณาธรรม" แต่หากโจวกงไม่รู้มาก่อนว่า ก่วนสูจะช่วยราชบุตรของทรราชก่อการร้าย จึงมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมดูแล อู่เกิงราชบุตร อย่างนี้เรียกว่า ขาอ "ปัญญาธรรม" กรุณากับปัญญา อริยกษัตริย์เช่นโจวกงนั้น ยังพลาดพลั้งไม่รู้ทั้งหมด อ๋องท่านจะไม่พลาดพลั้งได้อย่างไร เมื่อเข้าพบท่านปราชญืเมิ่งจื่อได้แล้ว ข้า ฯ จะอธิบายให้ท่านปราชญ์ฟัง" เมื่อขุนนางเฉินเจี่ย เข้าพบท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ เรียนถามว่า "ท่านโจวกง เป็นใครอย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "เป็นอริยชนครั้งโบราณ" ขุนนางว่า "โจวกงมอบหมายให้ขุนนางก่วนจ้ง (พี่ชายของโจวกงเอง) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอู่เกิง ราชบุตรของทรราช เสร็จแล้ว ก่วนจ้ง กลับใช้ให้อู่เกิงแข็งข้อทำการกบฏ มีเรื่องนี้จริงหรือ" เมิ่งจื่อตอบว่า "ใช่" เฉินเจี่ยว่า "โจวกงรู้ว่าพี่ชายจะก่อการ จึงเจตนาส่งเขาไปเช่นนั้นหรือ" เมิ่งจื่อตอบว่า "ไม่รู้" เฉินเจี่ยว่า "ถ้าเช่นนั้น อริยชนยังมีผิดพลาดได้หรืออย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "โจวกงเป็นน้อง ก่วนจ้งเป็นพี่ชาย น้องเคารพยกย่องพี่ ความผิดพลาดของโจวกงครั้งนั้น เกิดอย่างถูกต้องมิใช่หรือที่น้องเคารพไว้ใจพี่ อีกทั้งกัลยาณชนคนก่อนเก่า เมื่อผิดพลาดก็จะแก้ไข แต่บัดนี้ ที่เรียกว่ากัลยาณชนนั้น เมื่อผิดพลาดจะปล่อยเลยตามเลย แก้ไขไม่ได้ กัลยาณชนก่อนเก่า หากมีผิดพลาด จะชัดเจนเหมือนจันทรคราส สุริยคราส ทุกคนจะมองเห็นได้ เมื่อเขาปรับเปลี่ยนตนแล้ว ก็ยังคงความสว่างดังสุริยันจันทรา ผู้คนยังคงแหงนหา แต่่ที่เรียกว่ากัลยาณชนในวันนี้นั้น ไม่เพียงทำผิดแล้วปล่อยไป อีกทั้งยังเสียงแข็ง ปิดบังเต็มที่" ปราชญ์เมิ่งจื่อลาออกจากตำแหน่งขุนนางรับเชิญกิติมศักดิ์กำลังจะไปจากเมืองฉี ฉีเซวียนอ๋วงมาพบ กล่าวว่า "วันก่อนอยากพบท่าน แต่ไม่สมดังตั้งใจ บัดนี้ เราได้มาอยู่กับท่าน เพื่อขอฟังคำแนะนำ รวมทั้งทุกคนในราชสำนักก็ล้วนยินดียิ่ง แต่นี่ท่านกำลังจะทิ้งเราไป ไม่รู้ว่าหากท่านอยู่ที่นี่ต่อไป เราจะได้พบหน้ากันทุกวันหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "ข้อนี้มิกล้ากล่าวได้ แต่อันที่จริง เดิมที ข้า ฯ นั้นหวังว่า จะได้พบหน้ากับอ๋องท่านทุกวันอยู่แล้ว" ผ่านไปหนึ่งวัน ฉีเซวียนอ๋วงกล่าวแก่ขุนนางสือจื่อว่า "เราคิดจะสร้างบ้านให้ปราชญ์เมิ่งจื่อสักหลังในบ้านเมืองของเรา ใช้เป็นที่อบรมลูกหลานชาวเมืองฉี ให้เงินบำเหน็จปีละหนึ่งหมื่นจง อีกทั้งเพื่อให้ขุนนางกับชาวเมืองทั้งหมด มีรูปแบบงามสง่าน่าเกรงขามไว้เรียนรู้กัน ไฉนท่านไม่ออกหน้าพูดแทนเรา" (ทัดทานการจากไป)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
สือจื่อบอกเรื่องนี้แก่เฉินจื่อ ศิษย์ท่านเมิ่งจื่อ เฉินจื่อถ่ายทอดแก่ครูปราชญ์ ครูปราชญ์ว่า " ถ้าเช่นนั้น ขุนนางสือจื่อรู้สาเหตุ ที่ครูจะอยู่ที่นี่ต่อไปอีกไม่ได้หรือ หากคิดใคร่ในเงินทอง ไฉนจึงลาออกจากบำเหน็จหนึ่งแสนเพื่อรับเพียงหนึ่งหมื่นเป็นเครื่องบูชาครูเล่า อย่างนี้จะเป็นการหวังรวยเงินทองหรือ" (ขุนนางสือจื่อเข้าไม่ถึงอุดมการณ์อันสูงส่งของครูปราชญ์ จึงอาจหาญมายื่นข้อเสนอเงินหมื่น) กาลก่อน จี้ซุน ขุนนางเมืองหลู่ เคยกล่าวไว้ว่า "แปลกแท้ จื่อสูอี๋คนนี้ ประมุขเมืองหลู่จะให้เขาเป็นขุนนางฝ่ายปกครอง เขาไม่เอา เมื่อปฏิเสธว่าไม่ได้ ก้น่าจะจบเรื่องไป แต่ไฉนกลับหาทางเต็มที่เพื่อให้ลูกศิษย์ ลูกหลานของตนเข้าไปเป็นขุนนาง คน มีคนไหนบ้างที่ไม่หวังรวยมีฐานะ มีแต่จื่อสูอี๋คนนี้ เท่านั้น ที่อยู่ในแวดวงร่ำรวย (เหล่าขุนนาง) ยังคิดเห็นแก่ตัว จะเอาผลประโยชน์จากผลประโยชน์ทับซ้อน (ขอยืมมือผู้อื่น)" หมายความว่าอย่างไรหรือ คนค้าขายสมัยก่อน ล้วนเอาสินค้าสิ่งของของตน ไปแลกกับสิ่งของของผู้อื่น (ซื้อขายแบบแลกเปลี่ยน) ขุนนางทหารที่ดูแลย่านการค้า ทำหน้าที่เพียงรักษาการณ์ แต่มีชายต่ำทรามพวกหนึ่ง จะเอาประโยชน์ส่วนนี้ให้ได้จึงขึ้นไปยืนบนที่สูง จุดที่มองเห็นด้านการค้าอย่างทั่วถึง มองเห็นสินค้าดีก็กว้านซื้อในราคาถูก จากนั้นก็ขายไปในราคาแพง หาผลประโยชน์หยิบฉวย ผิดทำนองคลองธรรม ทุกคนเห็นว่า คนเหล่านี้ต่ำทรามชั่วช้า ดังนั้น ขุนนางทหารจึงจัดการเรียกเก็บภาษีจากคนพวกนั้น ภายหลัง จึงมีการเก็บภาษีกันทั่วหน้า
ก็คือเริ่มจากชายชั่วช้าเหล่านั้นเป็นต้นมา ข้า ฯ เมิ่งจื่อ มีหรือจะใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับจื่อสูอี๋ และ ชายชั่วช้าพวกนั้น เมื่อปราชญ์เมิ่งจื่อไปจากเมืองฉีพักที่อำเภอโจ้ว มีคน ๆ หนึ่งอยากจะช่วยฉีเซวียนอ๋วงรั้งท่านปราชญ์ไว้ ได้มานั่งคุยกับปราชญ์เมิ่งจื่อ ท่านไม่ตอบ แสร้งพิงโต๊ะบนตั่งหลับเสีย ชายผู้นั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง กล่าวว่า " ผู้น้อยตั้งใจจริง ถือศีลกินเจมาหนึ่งวันหนึ่งคืน จึงกล้ามาพูดคำนี้แก่ท่าน ท่านกลับพิงโต๊ะหลับไปเสียไม่ฟัง ผู้น้อยจะบอกแก่ท่านว่า ต่อไปผู้น้อยไม่กล้าที่จะมาพบท่านอีกแล้ว"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๒. บทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เชิญนั่ง เราจะพูดให้ฟังโดยละเอียด กาลก่อน ที่พระเจ้าหลู่โหมวกง รั้งท่านปราชญ์จื่อซือ ไว้นั้น หากมิใช่ส่งคนมารับใช้ไกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อแสดงความเคาพเทิดทูนแล้ว ก็จะมิอาจเรียกใจของท่านปราชญ์จื่อซือให้วางใจอยู่ด้วยได้ เซี่ยหลิ่ว (เมธีเมืองหลู่) กับ เซินเสียง (บุตรชายปราชญ์จื่อจาง) หากไม่มีคนชื่นชมความปรีชาสามารถของท่านต่อพระเจ้าหลู่โหมวกงเสมอ ๆ แล้ว ก็มิอาจทำให้ทั้งสองอยู่ยั้งในเมืองหลู่ได้อย่างวางใจ ท่านลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้างสิ ช่วยพิจารณาแทนเราผู้สูงอายุสักหน่อย หากไม่เป็นท่านท่านปราชญ์จื่อซือ เราจะวางใจได้ไหม (ฉีเซวียนอ๋วงไม่จริงใจ อีกทั้งไม่แสดงใจจริง ทำอย่างกับท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ "ผู้ให้" เหมือน "ผู้ใคร่ได้") บัดนี้ ท่านเป็นผู้ปฏิเสะเราผู้สูงอายุก่อน หรือเราผู้สูงอายุปฏิเสธท่านก่อน" ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อไปจากเมืองฉี อิ่นซื่อ ชาวเมืองฉี พูดกับใคร ๆ ว่า "หากเมิ่งจื่อไม่รู้มาก่อนว่า เป็นไปไม่ได้ที่ฉีเซวียนอ๋วงจะสร้างอริยกิจปกครองแผ่นดินโดยธรรม จะเจริญรอยตามกษัตริย์ซังทังกับอริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง ที่ปราชญ์ท่านพยายามกล่อมเกลานั้น เท่ากับไม่เข้าใจหลักความเป็นจริง แต่หากรู้อยู่ก่อนหน้าแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ แต่ยังอุตส่าห์จะมาเมืองฉีอีก ถ้าอย่างนั้นก็คือต้องการตำแหน่งขุนนาง เพื่อสินจ้างรางวัล จึงได้มิหวั่นพันลี้
เดินทางไกลมาพบเจ้าเมืองฉี บัดนี้ ความเห็นไม่ตรงกันจึงต้องจากไป แต่ไฉนสามคืนผ่านไป จึงออกนอกเมืองมาพักที่อำเภอโจ้ว เหตุใดจึงหยุดพัก ทำยึกยักชักช้าอยู่เหมือนไม่อยากจากไป ข้า ฯ อิ่นซื่อ ไม่ชอบวิธีการนี้ของปราชญ์เมิ่งจื่อเลย" เกาจื่อ ศิษย์ท่านเมิ่งจื่อ ได้ยินคำวิจารณ์เช่นนี้ จึงไปเรียนให้ครูปราชญ์ทราบ ครูปราชญ์ว่า "อิ่นซื่อผู้นั้น จะรู้ความตั้งใจจริงของครูได้อย่างไร ที่มิหวั่นพันลี้ เดินทางไกลมาพบเจ้าเมืองฉี เป็นความปรารถนาด้วยความยินดีของครูเอง ความเห็นไม่ตรงใจจึงจากไป นั่นเป็นความปรารถนายินดีของครูด้วยหรือ" การจากไปของครูเป็นความจำใจ ค้างอยู่อีกสามคืน จึงค่อยออกมาที่ชานเมืองอำเภอโจ้ว ใจของครูยังรู้สึกว่า ด่วนจากเร็วเกินไป ครูยังหวังว่าเจ้าเมืองฉี จะสำนึกแก้ไขได้ หากสำนึกต่อความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ อ๋องก็จะต้องตามมาเชิญครูกลับไปแน่นอน บัดนี้ เมื่อมาถึงอำเภอโจ้วพ้นชายแดนแล้ว อ๋องก็จะไม่มาตามครูกลับไปอีกแล้ว ( ตักเตือน สอนสั่ง กล่อมเกลา แต่งปั้น ขัดถู เป็นหัวใจ ปณิธานของปราชญ์ที่มีต่อผู้ไกลห่างทางธรรม) เมื่อรู้แน่ว่าหมดทางที่จะกล่อมเกลาอีกต่อไป จากนั้น ใจของครูจึงเหมือนกระแสน้ำไหล ยั้งเท้าไว้ไม่อยู่ตัดสินใจคืนหลังยังบ้านเกิด แม้ครูจะจากไป แต่จะทิ้งเจ้าเมืองฉีหมดสิ้นได้หรือ อย่างน้อยก็ยังพอให้หวังได้ว่า อ๋องจะดีใจ หากเจ้าเมืองฉียินดีใช้ประโยชน์จากครู เช่นนั้นแล้ว ไม่เพียงประชาราษฏร์ จะได้สุขสงบมั่นคง แม้แต่โลกกว้างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหมด ก็จะพลอยได้รับความสงบสุขมั่นคงไปด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฉีเซวียนอ๋วงจะแก้ไขจิตใจที่ไม่เป็นธรรม นี่เป็นสิ่งที่ครูมุ่งหวังตั้งตาคอยอยู่ทุกวัน ครูจะเหมือนจัณฑชนคนใจแคบกระนั้นหรือ ครูทัดทานตักเตือนความผิดแก่อ๋องของเขา อ๋องของเขาไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมรับ เขายังจะมาแสดงสีหน้าอาการโมโหพลุ่งพล่านแก่ครู ความเห็นต่างกันเข้าใจไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เขา (คนที่วิจารณ์) แผดเสียงออกอาการจนกว่าจะหมดสิ้นกำลังของเขาไป วันใดวันหนึ่ง จึงจะให้เขาหยุดทำหน้าตาถมึงทึงได้ อิ่นซื่อ ผู้วิจารณ์ ได้ยินคำกล่าวของปราชญ์เมิ่งจื่อ เช่นนี้ เขาสำนึกเสียใจ กล่าวว่า "ข้า ฯ อิ่นซื่อ ช่างไม่รู้เห็นความเป็นจริง อีกทั้งใจแคบนักเช่นนี้" เมื่อเมิ่งจื่อไปจากเมืองฉี ศิษย์ชื่อ ชงอวี๋ เรียนถามท่านเมิ่งจื่อในระหว่างทางว่า "ครูปราชญ์ท่าน สีหน้าดูอย่างกับไม่มีความสุข เมื่อก่อนศิษย์ได้ยินครูปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่า "กัลยาณชนจะไม่ขัดเคืองโทษฟ้าว่าไม่คุ้มครอง จะไม่โกรธเคืองว่าเป็นความผิดของใคร" (ปู๋เอวี้ยนเทียน ปู้อิ๋วเหยิน) ครูปราชญ์ตอบว่า "คำพูดดังกล่าวนั้น คือเหตุการณ์ขณะนั้น แต่ขณะนี้คือ ภาวะที่ทุกข์เศร้าห่วงใยชาวโลก" ครูปรา๙ญ์ว่า "(แต่บรรพกาลมา) ห้าร้อยปีจะต้องมีอริยกษัตริย์อุบัติมาฟื้นฟูโลก และระหว่างเวลาว่างเว้นนี้ จะต้องมีเมธีปราชญ์เป็นที่เทิดทูนของชาวโลกอุบัติมา แต่ นับจากราชวงศ์โจวมาจนถึงบัดนี้ เจ็ดร้อยกว่าปีแล้ว ห้าร้อยปีมีอริยกษัตริย์ แต่นี่ล่วงเลยเวลามาช้านาน หากพิจารณาจากสัจธรรมที่ว่า "สถานการณ์วุ่นวาย ถึงที่สุดย่อมสงบ" (สือซื่อล่วน จี๋ปี้จื้อ) เวลานี้ก็น่าจะมีอริยกษัตริย์เกิดขึ้นได้แล้ว แต่นี่ชะรอยเป็นพระประสงค์ของฟ้าเบื้องบน ที่ยังจะไม่ประทานความสงบราบเรียบแก่โลกนี้กระมัง หากจะโปรดประทานความสงบราบเรียบแก่โลกนี้ ขณะนี้ ในโลกนี้ นอกจากครูแล้ว ยังมีท่านใดอีกหรือ เช่นนี้ จะให้ครูมีความสุขได้อย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อไปจากเมืองฉี พักอยู่ที่อำเภอซิว ศิษย์กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ครูปราชญ์เป็นขุนนางไม่รับบำเหน็จค่าตอบแทน เป็นหลักธรรมแต่โบราณมากระนั้นหรือ" ครูปราชญ์ว่า "ไม่ใช่เช่นนั้น แรกเริ่มเมื่ออยู่อำเภอฉง ครั้งแรกที่ครูได้พบกับเจ้าเมืองฉี พอออกจากท้องพระโรงแล้ว ครูก็ตั้งใจจะไปจากเมืองฉี ภายหลังต่อมา แม้เป็นขุนนางรับเชิญของเมืองฉี ก็ยังจะเปลี่ยนใจจะไปจาก ดังนั้น จึงไม่รับบำเหน็จรางวัลตอบแทนใด ๆ ภายหลัง ไดรับมอบให้ดูแลกองทัพไปปราบศึก เหตุการณ์ประดังจึงยั้งอยู่ มิได้ขอลาจากตำแหน่ง จนทำให้ต้องอยู่เมืองฉีเสียนาน นี่มิใช่ความปรารถนาแต่เดิมทีของครู"
~ จบบทกงซุนโฉ่ว ตอนท้าย ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
ครั้งที่พระเจ้าเถิงเหวินกง ยังทรงเป็นราชบุตรอยู่ ขณะเป็นทูตไปยังเมืองฉู่ ได้ยินว่าปราชญ์เมิ่งจื่ออยู่ที่เมืองซ่ง จึงตั้งใจเข้าไปขอศึกษา ปราชญ์เมิ่งจื่ออรรถาปรัชญญาธรรมว่าด้วยเรื่อง " จิตญาณดีงามโดยธาตุแท้ " แก่ราชบุตร ทุกถ้อยคำล้วนชื่นชมอริยกษัตริย์เหยากับซุ่น เมื่อราชบุตรเดินทางกลับจากเมืองฉุ๋ ได้เข้ามาขอศึกษาต่อปราชญ์เมิ่งจื่ออีก ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ราชบุตรคงสงสัยว่า เหตุใดเราจึงกล่าวถึงคุณธรรมความดีงามของสองอดีตอริยกษัตริย์ อันหลักธรรมที่คนพึงรักษา ล้วนเกิดแต่จิตเดิมแท้หนึ่งเดียวเท่านั้น ( จิตเดิมแท้ไม่มุ่งหมาย หรือติดอยู่กับความโลภ โกรธ หลง อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ทรงรักษาจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ไว้ได้ด้วยกรุณามโนธรรม มีความรักทั่วหน้าต่อประชาราษฏร์ ) เฉิงเจี้ยน ข้าราชสำนักเมืองฉี กล่าวแก่พระเจ้าฉีจิ่งกงว่า " ผู้เป็นอริยเมธาคือชายชาตรีที่มีศรีสง่า เราก็เป็นชายชาตรี หากเราปฏิบัติตนเยี่ยงท่านเหล่านั้น ยังจะเกรงอะไรกับการมิได้เป็นอริยเมธาเสมอด้วยท่านเหล่านั้น " ปราชญ์เอี๋ยนเอวียน ( เอี๋ยนหุย ) เคยกล่าวว่า "อริยกษัตริย์ซุ่นคืออะไร คือคน เราคืออะไร คือคน เพียงแต่มุ่งมั่นดั่งพระองค์ เราก็จะเป็นเช่นพระองค์ได้ " กงหมิงอี๋ หรือปราชญ์เจิงจื่อ ( ศิษย์บรมครู ) เมธีชาวเมืองหลุ่กล่าวว่า "อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง เป็นครูแห่งเรา เป็นแบบอย่างให้เจริญรอยตาม พระเจ้าปู่โจวกง ได้กำหนดจริยระเบียบไว้ถ้วนถี่ เราปฏิบัติตามนั้น...จะเป็นไปได้หรือที่พระเจ้าปู่โจวกงจะหลอกลวงให้เรากระทำความผิด"ราชบุตรว่า " วันนี้เมืองเถิงของเราแม้จะเล็ก แต่หักส่วนยาวเติมส่วนสั้นแล้ว ก็ยังได้แผ่นดินโดยรอบห้าสิบลี้ อาจสร้างเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เป็นบ้านเมืองแห่งคุณงามได้ " ในหนังสือซังซู จารึกว่า "ป่วยหนักหากได้ยา ไม่มีอาการสนองตอบ ป่วยคงไม่หาย ปกครองบ้านเมืองก็เช่นกัน ได้ยินคติธรรมไม่สำนึกรู้บ้านเมืองก้ไม่อาจรักษาได้ " พระเจ้าเถิงติ้งกงสวรรคต ราชบุตรเถิงเหวินกงกล่าวแก่หยันโหย่ว ผู้เป็นราชครูว่า " วันก่อนปราชญ์เมิ่งจื่อเคยพูดเรื่องจิตเดิมแท้ดีงามต่อเราที่เมืองซ่ง เราประทับฝังใจไม่ลืม วันนี้เราเคราะห์ร้ายที่ต้องสูญเสียพระบิดาไป เราอยากให้ท่านช่วยไปเรียนถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อเสียก่อน จากนั้น จึงค่อยมาจัดการงานพระศพของพระบิดา " ราชครูหยันโหย่ว จึงเดินทางไปเมืองหลู่ อำเภอโจว เรียนถามพิธีการงานพระศพจากปราชญ์เมิ่งจื่อ ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " ราชบุตรใช้ท่านมาถามพิธีการจัดงานพระศพพระบิดาเป็นเรื่องที่ดีแท้ บิดามารดาวายชนม์ คนที่เป็นลูกจะต้องทำเต็มที่ต่อกตัญญุตาธรรม" แต่ก่อนท่านปราชญ์เจิงจื่อกล่าวไว้ว่า "บิดามารดามีชีวิตอยู่ ดูแลด้วยความเคารพยิ่งด้วยจริยธรรม เมื่อท่านวายชนม์ ก็จัดการฝังด้วยจริยประเพณี เมื่อเซ่นไหว้ก้ให้เหมาะสมต่อจริยพิธี สามสิ่งนี้สมบูรณ์ ก็นับว่าเป็นลูกกตัญญูแล้ว"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "พิธีการหลวง ข้าฯ หาได้เรียนมาไม่ แต่ถึงกระนั้นก็เคยได้ยินมาว่า บิดามารดาวายชนม์ ให้ไว้ทุกข์สามปีตามจริยประเพณี สวมใส่ผ้าดิบปล่อยชาย ไม่เย็บขอบ อาหารการกินเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง ตั้งแต่ระดับฮ่องเต้จนถึงสามัญชน ตั้งแต่รัชสมัยเซี่ย ซัง โจว ล้วนรักษาประเพณีนี้สืบต่อกันมา " ราชครูหยันโหย่วกลับไปกราบทูลตอบ ราชบุตรรับปฏิบัติตาม กำหนดไว้ทุกข์สามปี แต่ญาติผู้ใหญ่ ขุนนางทั้งหลายล้วนไม่ยินดี ต่างกล่าวว่า "เมืองหลู่ต้นตระกูลเดียวกันกับพวกเรา มิใช่ปฏิบัติดังนี้ แม้อ๋องก่อนเก่าแห่งเมืองเถิงของเรา ก็มิได้กระทำ พอมาถึงราชบุตรท่านกลับจะเปลี่ยนไปเช่นนี้ หาควรไม่ " อีกทั้งในหนังสือจื้อซู ก็ได้จารึกไว้ว่า "จริยพิธีงานพระศพ พึงปฏิบัติตามบรรพชน " ในความหมายนั้นก็คือ อนุชนรุ่นหลังพึงปฏิบัติจามบรรพชน" ราชบุตรจนใจกล่าวต่อราชครูหยันโหย่วว่า "ที่แล้วมาเรามิได้ขยันหมั่นศึกษาหาความรู้ ชอบแต่ขี่ม้าฟันดาบ บัดนี้ญาติผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลกับเหล่าขุนนางต่างไม่พอใจดำริแห่งเรา เกรงว่าจะจัดพิธีพระศพไม่ได้เต็มที่ ฉะนั้น ขอให้ราชครูท่านกลับไปเรียนถามท่านเมิ่งจื่ออีกครั้ง" ราชครูกลับไปยังอำเภอโจว เมืองหลู่อีกครั้ง ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว ที่ไม่อาจเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามได้" ท่านบรมครูขงจื่อกล่าวไว้ว่า "เหนือหัวสวรรคตราชการงานเมืองบัญชาการโดยมหามนตรี ฮ่องเต้องค์ใหม่สืบต่อราชบัลลังก์ ทำหน้าที่เฉพาะกิจเพียงเสวยข้าวต้มเล็กน้อย ใบหน้าเศร้าหมองแสดงความโศกเศร้า เมื่อเข้ากราบพระศพก็ทำูฟูมฟายคร่ำครวญ ขุนนางน้อยใหญ่ได้เห็นภาพสะเทือนใจ ไม่มีผู้ใดที่จะอดไปพิลาปร่ำไห้ตามไปด้วยได้ ฉะนั้น ผู้สืบต่อราชวงศ์จะต้องแสดงความรวดร้าว เพื่อโน้มน้าวความจงรักภักดีต่อทุกคน" ผู้อยู่เบื้องสูง หากเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณธรรม ผู้อยู่เบื้องล่าง ย่อมสนองรับเป็นไปตามยิ่งกว่า ผู้อยู่เบื้องสูงก่อเกิดคุณธรรมเปรียบได้ดั่งลม พสกนิกรเป็นผู้อยู่เบื้องล่างเปรียบดั่งต้นหญ้า เมื่อลมพัดมา ต้นหญ้าย่อมลู่น้อมเอนราบลงตามลม จริยพิธีพระศพจึงอยู่ที่ราชบุตรเอง ที่จะเป็นแบบอย่างก่อเกิดความซาบซึ้งถึงพสกนิกรได้เพียงไร" เมื่อราชครุกลับมาถวายรายงาน ราชบุตรเชื่อมั่นกล่าวว่า "แน่นอน ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา" จากนั้นก็กำหนดแน่ชัดว่า จะสร้างกระท่อมหญ้าคาอยู่เฝ้าสุสานพระบิดาห้าเดือน เรื่องนี้ยังมิทันได้ออกแถลงการณ์เหล่าพระญาติพระวงศ์ขุนนางน้อยใหญ่ต่างชื่นชมราชบุตรว่ารู้จริยธรรม วันที่ฝังพระศพ ผู้คนมากมายพากันมาสังเกตุการณ์ให้เห็นจริง เมื่อเห็นพระพักตร์เศร้าหมองของราชบุตร เมื่อได้ยินเสียงร่ำไห้ ทุกคนในพิธีจึงต่างโทมมนัสสะเทือนใจ ราชบุตรขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเถิงเหวินกง เรียนถามการปกครองจากปราชญ์เมิ่งจื่อ ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เรื่องปากท้องไร่นาประชาราษฏร์ อย่าคลาดเคลื่อน" ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "เธอจงตัดหญ้าคาเวลากลางวัน ถักฟั่นเป็นเชือกในยามค่ำ เร่งรัดเวลาว่างซ่อมหลังคาบ้านทันท่วงทีก่อนที่ฤดูฝนจะมา ให้ทันเวลาเพาะปลูกคราดไถ" นี่คือการใส่ใจกระตุ้นเตือนชาวไร่ชาวนา หลักธรรมในการปกครองนั้น พึงรู้ว่า ผู้มีอสังหาริมทรัพย์ ไว้ในครอบครอง จิตใจจะมั่นคงกว่าผู้ไม่มีอสังหาริมทรัพย์ จึงพึงให้ความมั่นคงด้วยทรัพย์สินแก่ทุกคน หากจิตใจขาดความมั่นคง ก็จะระส่ำระสาย ระเริงปล่อยใจ ทำผิดคิดร้ายได้ทุกอย่าง ต้องถูกปราบปรามกลายเป็นประชาชนนักโทษ กลายเป็นระบอบการปกครองรุนแรง ประมุขผู้มีกรุณาธรรม จะใช้การปกครองดั่งใช้ร่างแหครอบขึงไว้อย่างไรได้ ( พึงแก้ที่ต้นเหตุ มิใช่สุดวิสัย จึงใช้ปลายเหตุดังนี้ )
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
ด้วยเหตุดังนี้ ประมุขเมธีจึงพึงน้อมองค์ลงด้วยจริยธรรม สำรวมประหยัดเป็นแบบอย่าง ให้คุณธรรมต่อข้าบาท ฯ จัดเก็บภาษีเพิ่มแต่ความเหมาะสม ซึ่อ หยางหู่ พ่อบ้านสกุลจี้แห่งเมืองหลู่ ( แม้เป็นเพียงข้ารับใช้ตระกูลใหญ่ ยังสะท้อนใจ ) ว่า " คนที่ทำเพื่อความร่ำรวย จะขาดกรุณาธรรม ผู้มีกรุณาธรรม ไม่ทำเพื่อความร่ำรวย " ( เอว๋ยฟู่ปู้เหยินอี่ เอว๋ยเหยินปู๋ฟู่อี่ ) ระบบภาษีราชวงศ์เซี่ย ชายฉกรรจ์หนึ่งคน รับแบ่งที่ดินห้าสิบหมู่ ห้าหมู่มอบเป็นค่าภาษีแก่หลวง เรียกว่า " ก้ง " ส่วนราชวงศ์อิน ทุกหกร้อยห้าสิบหมู่ แบ่งเป็นอักษรจิ่ง แบ่งที่ทำกินครอบครัวละเจ็ดสิบหมู่ แปดครอบครัวโดยรอบอักษรจิ่ง ร่วมช่วยกันทำนาให้หลวงเจ็ดสิบหมู่ เป็นค่าภาษีร่วมกันเรียกว่า จู้ สำหรับราชวงศ์โจว นั้นเฉลี่ยที่ทำกินครอบครัวละหนึ่งร้อยหมู่ และร่วมกันทำนาบนหน้าที่ส่วนกลางหนึ่งร้อยหมู่ เพื่อเข้าหลวงเช่นเดียวกัน เรียกว่า เช่อ ราชวงศ์เซี่ย ซัง โจว สามสมัยล้วนใช้เศษหนึ่งส่วนสิบเป็นมาตรฐาน ระบบภาษีของราชวงศ์โจว เรียกว่าเช่อ เช่อ แปลว่า "ร่วมมือถึงที่สุด" ( ถึงที่สุดเท่าที่ไม่เก็บภาษีเกินเหตุ ) ราชวงศ์อิน เรียกว่า จู้ คือ "ช่วยเหลือเกื้อกูล" เมธีหลงจื่อสมัยนั้นกล่าวว่า "จัดระบบภาษีที่ดินไม่มีวิธีใดดีกว่า "ช่วยเหลือเกื้อกูล" แต่ไม่มีระบบใดด้อยไปกว่าระบบก้ง ของราชวงศ์เซี่ย ก้ง คือ "อุทิศประโยชน์" เฉลี่ยผลเก็บเกี่ยวในหลายปีเป็นมาตรฐานภาษี ในปีสมบูรณ์ผล หากชาวนาทิ้งขว้างพืชผลเรี่ยราดจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกหนึ่งหน่วย ก็ไม่ถือว่าขูดรีด แม้การเรียกเก็บภาษีจะไม่มาก แต่เมื่อประสบภัยแล้ง การให้ปุ๋ยไม่เพียงพอ ยังคงเรียกเก็บภาษีเต็มอัตตากำหนด พ่อเมืองนายภาษีมีฐานะดั่งพ่อแม่ของเกษตรกร รู้เห็นสภาพเป็นจริงไม่ผ่อนหนักผ่อนเบา ทุกคนก็จะสะท้อนสายตาชิงชัง เพราะเหนื่อยยากมาทั้งปี พืชผลยังไม่พอเลี้ยงดูพ่อแม่ยังจะต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายภาษีให้ครบ เกษตรกรอดอยาก ยิ่งกระเบียดกระเสียร คนแก่และเด็กจึงบ้างหิวโซหมดแรง หล่นลงคูน้ำหุบเหวตายไป อย่างนี้จะเรียกได้หรือว่า พ่อเมือง พ่อแม่เกษตรกร สำหรับขุนนางศรีมีคุณต่อบ้านเมือง ลูกหลานพลอยได้ใช้บำเหน็จบำนาญจากหลวงไปด้วย วิถีนี้เมืองเถิงเคยทำมา โดยได้จากผลเก็บเกี่ยวของผืนนาส่วนกลาง ที่ร่วมแรงกันทำ หนังสือซือเสี่ยวอย่า บทต้าเถียน จารึกไว้ว่า "หวังวอนฟ้าประทานฝนให้แก่ผืนนาส่วนกลาง พวกเราผืนนาข้าง ๆ ก็จะพลอยได้ฝนไปด้วย" จึงมีแต่ระบบ " ช่วยเหลือเกื้อกูล " เท่านั้น ที่จะกำหนด " ผืนนาส่วนกลางได้ " ระบบของราชวงศ์โจวคือ "ร่วมมือถึงที่สุด " ก็เช่นเดียวกับระบบ "ช่วยเหลือเกื้อกูล"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
เมื่อรายได้ปกติแล้ว สร้างโรงเรียนชนบท อบรมกตัญญูคุณธรรม ผู้สูงวัยได้สุขสงบ จากผู้เยาว์เอาใจใส่ ปลูกฝังความรู้ให้เข้าใจความเป็นคน ฝึกยิงธนูไว้ป้องกันบ้านเมือง โรงเรียนชนบท ราชวงศ์เซี่ยเรียก เซี่ยว ราชวงศ์อิน เรียกซวี่ ราชวงศ์โจวเรียก เสียง สามราชวงศ์ล้วนส่งเสริมการศึกษา เสวีย เพื่อให้คนเข้าใจคุณสัมพันธ์ต่อกัน คนระดับบนทำตามคุณสัมพันธ์ต่อกัน เมตตาปราณีต่อคนระดับล่าง ภายหน้าหากมีกษัตริย์สืบต่อ ก็จะทำตาม ผู้นำจึงเป็นครูของผู้ทำตาม คัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ราชวงศ์โจว แม้จะเป็นบ้านเมืองก่อนเก่า แต่พัฒนาการปกครองให้เหมาะสมทันยุคสมัยได้" นี่เป็นคำพูดสรรเสริญพระปรีชาสามารถของกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง หากพระเจ้าเถิงเหวินกง จะมุ่งมั่นเต็มกำลัง ก็อาจปฏิรูปบ้านเมืองให้เหมาะสมทันยุคสมัยได้ จากนั้น พระเจ้าเถิงเหวินกง ได้บัญชาให้มหามนตรีปี้จั้นไปเรียนรู้การแบ่งสรรค์ที่ดินตามอักษรจิ่ง ปราชญเมิ่งจื่อว่า "ประมุขของท่านจะปกครองบ้านเมืองด้วยกรุณาธรรม เลือกใช้วิธีนี้พร้อมกับส่งท่านมาเรียนรู้ ท่านจะต้องพยายามทำความเข้าใจ" ปกครองด้วยกรุณาธรรม จะต้องเริ่มจากการจัดสรรค์ที่ดินทำกิน หากอาณาเขตไม่ตรง ที่ดินอักษรจิ่งไม่ลงตัว การเก็บภาษีข้าวจะไม่ยุติธรรม ดังนี หากเจ้าเหนือหัวเป็นทรราช ขุนนางก็จะทุจริต ชี้เขตผิด ๆ ถือโอกาสข่มขู่เรียกเก็บภาษีโดยไม่ชอบธรรม หากแบ่งเขตถูกต้องชัดเจน จัดสรรค์อยู่ในระบบหลวงย่อมรอเก็บผลได้อย่างวางใจ แผ่นดินเมืองเถิงแม้จะแคบเล็ก แต่ก็มีประมุข มีชาวประชาปราศจากประมุขมิอาจปกครองชาวประชา ปราศจากชาวประชา มิอาจปฏิการะประมุข ขอจงจัดสรรค์ที่ทางชนบทให้เป็นอักษรจิ่ง แปดส่วนนอก "ช่วยเหลือเกื้อกูล" ส่วนที่เก้าตรงกลางเป็นของหลวง แถบเมืองไม่เหมาะที่จะจัด ก็ให้เอาหนึ่งส่วนสิบของผลประโยชน์จากที่นาบุคคล ให้เขานำมาจ่ายภาษีเอง ขุนนางแต่งตั้งมุขมนตรีลงมา จะต้องจัดสรรค์ที่นาเพื่อเซ่นไหว้บรรพชนแก่เขาคนละห้าสิบหมู่ ชายหนุ่มตัวคนเดียว อายุสิบหกปีขึ้นไป ยังไม่มีครอบครัวให้ยี่สิบห้าหมู่ การฝัง การย้ายหลุมศพ ถูกกำหนดอยู่ในทรัพย์สินที่ดินเฉพาะ ผู้คนก็จะไม่ทิ้งหายไปจากที่ดินของตน ที่ดินชนบทรูปอักษรจิ่ง เพื่อนบ้านเพื่อนนาจะมีน้ำใจไมตรีต่อกัน ดูแลใส่ใจกันได้ใกล้ชิด เจ็บป่วยได้ช่วยเหลือกัน เช่นนี้ ประชาราษฏร์บ้านเมืองย่อมสมานฉันท์ ที่ดินโดยรอบหนึ่งลี้ จัดสรรค์เป็นอักษรจิ่งเก้าส่วน ส่วนละหนึ่งร้อยหมู่ แปดส่วนชาวบ้าน หนึ่งส่วนของหลวง ปลูกฝังจิตสำนึกช่วยบ้านเมือง " บ้านเมืองอยู่ดี ประชาชีก็มีสุข " โดยสังเขปเป็นเช่นนี้ พสกนิกรชื่อฉ่ำหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับประมุขท่านจะให้อะไรแก่เขา
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
มีผู้สวมรอยทฤษฏีของอริยเจ้าเสินหนง บรมครูเภสัช สมุนไพร เขาผู้นั้นชื่อสวี่สิง จากเมืองฉู่เดินทางมาเมืองเถิง เมื่อย่างเข้าประตูราชฐาน ก็ทูลแก่พระเจ้าเถิงเหวินกงทันทีว่า "ข้าฯ มาจากแดนไกล ได้ยินว่าพระองค์จะใช้แผนปกครองกรุณาธรรม หวังจะได้บ้านสักหลังอยู่อาศัยเป็นข้าแผ่นดินในพระองค์" เถิงเหวินกงโปรดประทานบ้านให้ ลูกศิษย์ผู้ติดตามเขาหลายสิบคน ล้วนสวมผ้าเนื้อหยาบ ดำรงชีวิตจากการทำรองเท้าหญ้า และทอเสื่อขาย เฉินเหลียงปราชญ์เมืองฉู่ มีศิษย์ชื่อเฉินเซียง กับน้องชายของเขาชื่อเฉินซิน แบกคราด คันไถจากเมืองซ่งมาเมืองเถิง กล่าวว่า "ได้ยินว่าองค์ประมุขจะปกครองแผ่นดินเช่นอริยชน นั่นก็คืออริยกษัตริย์ ข้า ฯ ขอเป็นชาวเมืองอริยะ" เฉินเซียงได้พบกับสวี่ซิงที่มาถึงก่อน ได้ยินทฤษฏีที่เขาพูดดีใจมากถึงกับละทิ้งวิชาชีพที่เรียนรู้มา ขอศึกษาทฤษฏีของอริยเจ้าเสินหนง จาก สวี่สิง ภายหลัง เฉินเซียง ไปพบท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ บอกกล่าวคำพูดของสวี่สิงแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "พระเจ้าเถิงเหวินกงถือเป็นประมุขเมธีโดยแท้ แต่ถึงกระนั้น พระองค์ยังไม่เคยฟังหลักธรรมของอริยะ ประมุขเมธีมีคุณธรรม น่าจะต้องใช้ชีวิตทำงานคราดไถร่วมไปกับชาวบ้าน หุงหาอาหารพร้อมกับปกครองบ้านเมือง แต่บัดนี้เล่าเมืองเถิงมียุ้งฉางใหญ่ ท้องพระคลังมีทรัพย์สินมากมาย นี่ก็คือ เอาความเหนื่อยยากของประชาชนมาปรนเปรอหลวง จะเรียกว่า ประมุขเมธีมีคุณธรรมได้อย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สวี่สิงผู้นั้นคงทำนาปลูกข้าวเอามากินใช่หรือไม่" ตอบ : ใช่
ถาม : เขาได้ทอผ้ามาตัดเย็บสวมใส่เองหรือ
ตอบ : มิได้ แต่เขาสวมผ้าหยาบ ( ผ้ากระสอบ )
ถาม : เขาสวมหมวกหรือไม่
ตอบ : สวม
ถาม : หมวกอะไร
ตอบ : หมวกเรียบๆ ทอด้วยไหมดิบ
ถาม : ทอเองหรือ
ตอบ : มิได้ เอาข้าวเปลือกแลกมา
ถาม : ทำไมจึงไม่ทอเอง
ตอบ : จะเสียเวลาที่ต้องทำนา
ถาม : สวี่สิงผู้นั้นหุงข้าวด้วยหม้อโลหะ คราดไถด้วยเครื่องมือโลหะหรือไม่
ตอบ : ใช่
ถาม : เครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหมด เขาทำเองหรือ
ตอบ : หามิได้ เอาข้าวเปลือกแลกมา
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เอาข้าวเปลือกไปแลกเครื่องมือทำนา แลกหม้อโลหะดินเผา จะไม่เหนื่อยยากแก่ช่างตีเหล็กคนทำงานเตาเผาหรอกหรือ ส่วนคนทำงานเตาเผา ช่างตีเหล็กก็เอาสินค้าของตน ไปแลกข้าวเปลือกกับชาวนา จะไม่เหนื่อยยากแก่ชาวนาหรอกหรือ ไฉนสวี่สิงผู้นั้นจึงไม่เป็นช่างเผา ช่างเหล็กเสียเอง ทำได้เองจะมิดีกว่าหรือ ต้องการสิ่งใดก็ทำได้เองในบ้านตน ทำไมจะต้องวุ่นวายไปแลกเปลี่ยนกับใคร ๆ เขา ไม่เกรงว่าจะยุ่งยากลำบากแก่ใคร ๆ หรือ" เฉินเซียงตอบว่า "คงเป็นไปไม่ได้ ขณะทำนากับทำอย่างอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ถ้าเช่นนั้น ก็มีแต่ผู้บริหารบ้านเมืองเท่านั้นสิ ที่ต้องทำนาไปด้วย อย่างที่ท่านว่า พึงรู้ว่า งานนั้นมีงานของผู้ใหญ่ มีงานของผู้น้อย หากทุกงานรวมอยู่บนตัวคน ๆ เดียว จะต้องทำของใช้ทุกอย่างด้วยตัวเองแล้วจึงได้ใช้ ถ้าเช่นนั้น ผู้นำบ้านเมืองก็จะต้องตระเวณไปรอบบ้านเมืองไม่หยุดหย่อน" โบราณกล่าวว่า บางคนจะต้องเหนื่อยยากใจ บางคนจะต้องเหนื่อยยากแรงกาย หเนื่อยยากใจ ทำหน้าที่ปกครองดูแลคน เหนื่อยยากแรงกาย ได้รับการปกครองดูแล คนที่ได้รับการปกครองดูแล ทำหน้าที่เลี้ยงดูผู้ปกครองดูแล ผู้ปกครองดูแล ได้รับการเลี้ยงดูจากคนภายใต้ปกครอง นี่เป็นหลักการที่เป็นไปในโลก
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
ในสมัยอริยกษัตริย์เหยา โลกยังไม่สงบ เป็นสภาพเพิ่งสร้างโลก กระแสน้ำเชี่ยวกรากยังแทรกซอนไปทั่วแผ่นดิน น้ำท่วมขังไปทั่ว ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต สัตว์ต่าง ๆ เจริญพันธุ์ แต่ที่นาเพาะปลูกเสียหาย ธัญญาหารเก็บเกี่ยวไม่ได้ สัตว์มากมายยังเพ่นพ่าน ทำร้ายคน เส้นทางผ่านของสัตว์บกสัตว์อากาศพาดไขว้ไปมาเต็มแผ่นดิน เหนือท้องฟ้า (สัตว์ครองแผ่นดิน) อริยกษัตริย์เหยา ในครั้งนั้นทรงเป็นห่วงอยู่เงียบ ๆ ภายหลังจึงได้แต่งตั้งซุ่นขึ้นจัดการบริหาร (คืออริยกษัตริย์ซุ่น) อริยกษัตริย์ซุ่น มอบหมายให้ขุนนางซื่อป๋ออี้ ทำหน้าที่เผาป่า ขับต้อนสัตว์ย้อนเส้นทางออกไปไกลจากชาวบ้าน มอบหมายให้อวี่ ขุดลอกแม่น้ำลำคลองเก้าสาย รวมทั้งแม่น้ำจี้ และ แม่น้ำท่า ให้ไหลลงทะเล อีกทั้งขุดขยายแม่น้ำหยู่ แม่น้ำฮั่น ระบายแม่น้ำโฮว๋ แม่น้ำซื่อ ไหลลงแม่น้ำใหญ่ จากนั้นบ้านเมืองจึงพ้นอุทกภัยทั้งปี จึงมีการทำไร่ไถนา ทำกินได้เต็มที่ ในเวลานั้น อวี่ได้รับมอบหมายเรื่องชลประทาน ทุ่มเทกายใจทำงานเต็มที่อย่างหนักมิพักเลยตลอดแปดปี แม้มีโอกาสเดินผ่านหน้าบ้านตนถึงสามครั้ง แต่ด้วยหน้าที่ไม่มีเวลาแวะเข้าบ้านเลยแม้สักครั้งชั่วขณะ คนที่รับผิดชอบต่องานเฉพาะด้านเช่นนี้ คิดที่จะร่วมคราดไถกับชาวนา จะเป็นไปได้หรือ ยุคต่อมา โฮ่วจี้ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว สอนราษฏรให้รู้จักเพาะปลูก ศิลปะ วิธี
การ จนธัญพืชงอกงามเก็บเกี่ยวได้ผลเต็มที่ ทุกคนอุดมสมบูรณ์ อริยกษัตริย์เหยา ทรงคำนึงอีกว่า "คนจะต้องมีหลักธรรมประจำใจ หากแต่ได้กินอิ่มสวมอุ่นอยู่สบายเที่ยวเล่นไป ไม่มีจริยธรรมกำหนดไว้ คน จะไม่ต่างไปจากเดรัจฉาน" เมื่อมีความห่วงใยดังนี้ จึงโปรดบัญชาให้ เซี่ย รับตำแหน่งซือถู ทำหน้าที่ขุนนางฝ่ายวัฒนธรรมกับการศึกษา อบรมความเป็นคน คุณสัมพันธ์อันพึงมีต่อกัน สอนคนให้รู้ความสนิทชิดเชื้อระหว่างพ่อ ( แม่ ) ลูก รู้มโนธรรมความเคารพระหว่างประมุขกับข้าราช ฯ สามีภรรยามีหน้าที่ต่างกัน ในบ้านกับนอกบ้าน รู้ลำดับพี่กับน้อง รักษาความสัตย์จริงต่อกันระหว่างเพื่อนพ้อง นี่คือคุณสัมพันธ์ห้า อันพึงมีต่อกัน บทกวีที่ชื่นชมอริยกษัตริย์เหยา มีอยู่ว่า....
ปลอบขวัญคนขยันงานคลายเหนื่อยหนัก
ยากจนลำบาก ปลอบใจให้สังคม
เดินทางผิดมิจฉาชีพ โน้มน้าวให้เขาตรง
พฤติกรรมผิดจริยธรรม ก้อบรมสั่งสอนประคองอุ้มชู ดูแล ช่วยเหลือเกื้อกูลหนุนนำ ทำให้เขาเข้าใจหลักของความเป็นคน มุ่งมั่นต่อคุณธรรมคุณงามความดี" อริยประมุขเหนื่อยหนักลำบากใจ ต่อไพร่ฟ้าถึงปานนี้ ยังจะมีเวลาไปร่วมทำไร่ไถนากับใครได้ อริยกษัตริย์เหยาเศร้าพระทัย หากไม่ได้ซุ่นมาร่วมงาน อริยกษัตริย์ซุ่น ทรงห่วงใย หากไม่มีอวี่ กับ เกาเอี้ยว มาช่วยบริหาร คนที่ห่วงใยต่อผืนดินที่นาหนึ่งร้อยหมู่ของตนเอง จะเป็นได้แค่ชาวนา
การช่วยเหลือเงินทองแก่เขา เรียกว่า เอื้ออารี
อบรมกล่อมเกลาเขา เรียกว่า สัตย์ซื่อจริงใจ
ช่วยหาผู้ทรงธรรมนำหนุนชาวโลก เรียกว่า กรุณา
กล่าวได้ว่า ยกบัญลังก์ทรงศักดิ์ให้ใครรับไป ยังจะง่ายกว่า ที่จะหาผู้ทรงธรรมสักคนมาปกครองบ้านเมือง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
บรมครูขงจื่อว่า " ความเป็นอริยกษัตริย์ของเหยา ฟ้ามหาจักรวาลกว้างใหญ่ไม่อาจประมาณ มีแต่กษัตริย์เหยาเท่านั้น ที่แผ่อริยบารมีคุณดุจมหาจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดได้ ความไพศาลมิอาจประมาณ เช่นเดียวกับความเป็นธรรมอันล้ำลึก ไพร่ฟ้ามิอาจพรรณาได้เลย" อริยกษัตริย์ซุ่น ทรงพระบารมีคุณแห่งความเป็นประมุขยิ่งแล้ว ยิ่งใหญ่เกริกไกรแท้ แต่มิแสดงอำนาจบาตรใหญ่แห่งกษัตริย์ อันอริยกษัตริย์เหยากับอริยกษัตริย์ซุ่นปกครองใต้หล้า หรือว่ามิต้องเหนื่อยหนักกายใจ แต่คงไม่ต้องใช้กายใจเพื่อร่วมงานเพาะปลูกด้วยกระมัง เคยข้าพเจ้าเคยแต่ได้ยินแต่ว่า "เอาวัฒนธรรมการศึกษาของราชวงศ์เซี่ย ไปปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยพัฒนาของชาวป่าเขา แต่มิเคยได้ยินว่า ละทิ้งวัฒนธรรมการศึกษาอารยธรรมไปหาความป่าเถื่อน" เฉินเหลียง ครูของท่านเป็นชาวใต้เมืองฉู่ ด้วยยินดีต่อหลักธรรมของปู่เจ้าโจวกงกับบรมครูขงจื่อ จึงขึ้นเหนือมาศึกษาวัฒนธรรมและความเจริญ นักศึกษาชาวเหนือจึงมิอาจเทียบได้ นับว่าท่านเฉินเหลียงนี้มีอิจฉริยภาพทีเดียว ท่านเฉินเซียง - เฉินซิน สองพี่น้องดูแลรับใช้ท่านเฉินเหลียง มานานหลายสิบปี แต่พอท่านสิ้นลงก็ผิดจากคำสอนทันที มายินดีในสวี่สิงเช่นนี้ อย่างไรได้ ครั้งกระนั้น เมื่อบรมครูขงจื่อละจากโลก เวลาผ่านไปสามปี ศิษย์ทั้งหลายไว้ทุกข์ทางใจสงบสำรวม กราบไหว้อาลัยรักดังบิดาวายชนม์ ทุกคนพร้อมใจกันร่วมเฝ้าสุสานสามปีเต็ม วันครบกำหนด เก็บสัมภาระด้วยอาลัย ก่อนจะจากไปได้เข้าไปคารวะจื่อก้งศิษย์ผู้พี่ ในชั่วขณะอึดใจนั้นเอง เสียงสะท้อนจากทรวงในทุกคน ประดังออกมาพร้อมกันโฮใหญ่ ไม่อาจหยุดยั้งได้ นานมาก จนพอจะคลายอาลัยอาดูรแล้ว จึงต่างค่อยแยกย้ายกลับภูมิลำเนาตน จื่อก้งศิษย์พี่ มิอาจตัดใจ ปลูกเพิงไว้ทุกข์ เฝ้าสุสานบรมครูตามลำพังต่อไปอีกสามปี ครบกำหนดแล้วจึงจากไปด้วยอาลัยรัก วันเวลาผ่านไป วันหนึ่ง จื่อเซี่ย จื่อจาง จื่ออิ๋ว (ศิษย์บรมครู) เห็นว่าโหย่วยั่วหรือจื่อโหย่ว ศิษย์บรมครูด้วยกัน เป็นเอกทางจริยพิธี มีลักษณะละม้ายท่านบรมครู จึงคิดจะใช้จริยระเบียบที่เทิดทูนบรมครูมาใช้กับโหย่วยั่ว ขอความเห็นชอบจากปราชญ์เจิงจื่อ ศิษย์พี่ ปราชญ์เจิงจื่อว่า "ทำเช่นนี้ไม่ได้ คุณธรรมความสูงส่งคงแก่เรียนของท่านบรมครู สะอาดหมดจดจนเหมือนผ่านการชำระด้วยน้ำทั้งหมดจากฉางเจียง แม่น้ำมหานทีกับฮั่นสุ่ยทั้งสองสาย อีกดั่งได้ผ่านแสงแดดแผดร้อน ยามเที่ยงจนปราศจากเศษอับชื้อมลทินมาถึง ที่สุดแล้ว ความบริสุทธิ์ผุดผ่องสูงส่งของบรมครู น่าจะยังไม่มีผู้ใดเทียบได้เลย" บัดนี้ สวี่สิง คนใต้ชาวป่า เสกสรรวาจาอันมิใช่หลักธรรมคำสอนของครูอาจารย์ ไปเอาอย่างคำพูดเขา ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักธรรม ความเคารพครูอาจารย์ของท่านปราชญ์เจิงจื่อพอดี เราเคยได้ยินมาว่า นกน้อยจะทะยานบินจากหุบเขามืดครึ้ม ขึ้นจับเกาะอาศัยบนต้นไม้ใหญ่ แต่มิเคยได้ยินว่า นกน้อยโผบินลงจากต้นไม้ใหญ่ลงไปอาศัยในหุบเขามืดครึ้ม ในคัมภีร์ซือจิงจารึกว่า "ชาวซีหยง เป่ยตี้ ชนเผ่าจิงฉู่ ซูกั้ว ที่ยังป่าเถื่อน จะต้องสบยเพื่ออบรมวัฒนธรรมการศึกษาให้เป็นอริยชน ปู้เจ้าโจวกงปราบปรามความป่าเถื่อนก็เพื่อกล่อมเกลา แต่นี่ท่านกลับไปเรียนรู้จากเขา ซึ่งเป็นความพลิกผันอันไม่ดีงาม" เฉินเซียงแจ้งว่า "หากใช้หลักปกครองของสวี่สิง ราคาสินค้าในตลาดจะไม่สูงต่ำ ประชาชนจะไม่มีพฤติกรรมหลอกลวง แม้จะใช้ให้เด็กน้อยไปซื้อขาย ก็จะไม่ถูกโกง ผืนผ้ามีความยาวเท่ากัน ราคาก็จะเสมอกัน ผ้าป่านปอทอถัก น้ำหนักเท่ากัน เนื้อหยาบละเอียดพอกัน ราคาก็จะพอกัน ธัญพืชจำนวนเท่ากัน ราคาก็จะเสมอกัน รองเท้าคู่เล็กคู่ใหญ่ ก้ให้ราคาเท่ากัน"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนต้น
ปราชย์เมิ่งจื่อว่า ไสินค้ามีเนื้อหยาบละเอียด วัสดุมีดีเลวต่างกัน เป็นเกณฑ์ของราคา ราคาจึงต่างกันไปตามคุณค่าของสิ่งของ บ้างราคาสูงกว่าห้าเท่าบ้างต่างกันสิบเท่าร้อยเท่าถึงพันเท่าหมื่นเท่าก็มี ท่านกำหนดมาตรฐานเพียงแค่สั้นยาวเบาหนัก ทฤษฏีนี้มันก่อความวุ่นวายกันชัด ๆ" รองเท้าใหญ่เล็กราคาคู่ละเท่ากัน นายช่างจะยินดีทำรองเท้าคู่ใหญ่หรือ หากทำตามหลักการของสวี่สิง จะเท่ากับชี้ช่องให้หลอกลวงกัน จะปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร อี๋จือ ศึกษาปรัชญาปราชญ์ม่อจื่อ วันหนึ่ง สวีผี้ แนะนำมาพบครูปราชญ์ของตน ครูปราชญ์กล่าวแก่ศิษย์สวีผี้ว่า "อันที่จริงครูยินดีจะพบกับเขา แต่ขณะนี้ไม่ค่อยสบายอยู่รอให้หายป่วย ครูจะไปพบกับเขาเอง ขอให้ท่านอี๋จือไม่ต้องมา" วันรุ่งขึ้น อี๋จือของให้สวีผี้ศิษย์ครูปราชญ์ ช่วยให้ได้พบอีก ครูปราชญ์ว่า "วันนี้ ครูจะพบเขาได้แล้ว" หากไม่ดัดเขาให้ตรงเสียก่อน หลักธรรมที่จะสอนแก่เขาจะไม่ชัดเจน ยิ่งกว่านั้นยังจะชี้จุดบกพร่องให้ เขาจึงจะเข้าใจ ครูได้ยินว่า อี๋จือผู้นี้ศรัทธาปรัชญาท่านม่อจื่อ เห็นว่างานศพของพ่อแม่ ทำอย่างประหยัด จัดง่าย ๆ พอเป็นพิธีจะถูกต้อง อี๋จือผู้เป็นศิษย์ของม่อจื่อ คิดจะใช้หลักการนี้ไปเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมชาวโลก เท่ากับเห็นว่า ถ้าไม่ประหยัด ไม่จัดแค่พอเป็นพิธี แล้วจะไม่สูงส่งกระนั้นหรือ แต่สำหรับงานศพของพ่อแม่อี๋จือเอง กลับจัดเสียอลังการ ก็เท่ากับเขาได้เอาพิธีการที่ตนเองจะขจัดเสีย ไปใช้แก่พ่อแม่ของตนเองน่ะสิ ศิษย์สวีผี้ นำความนี้ไปบอกล่าวแก่อี๋จือ
อี๋จือแย้งว่า "ธรรมะแห่งปราชญ์ คนโบราณกล่าวว่า ดั่งรักษาทารก (ยั่วเป่าซื่อจื่อ) หมายความว่าอย่างไร" ข้าพเจ้าอี๋จือเห็นว่า รักษาผู้อื่นก็มิให้แตกต่างกัน การปฏิบัติจะต้องเริ่มจากบิดามารดาตน ศิษย์สวีผี้กราบเรียนแก่ครูปราชญ์ ครูปราชญ์ว่า "อี๋จือคงเข้าใจว่า ใคร ๆ จะรักใคร่พี่น้องลุกหญิงชายของเขาไม่ต่างจากที่เขารักใคร่เด็กน้อยเพื่อนบ้าน เขาไม่รู้หรอกว่า คำว่าดั่งรักษาทารก ของอริยเมธาโบราณที่ขานไข หมายถึง ให้ผู้ปกครองบ้านเมืองรักลูกบ้านลูกเมืองตนเหมือนดั่งรักษาทารกไว้ มิให้มีภัยอันตรายต่างหาก" อุปมาทารกคลานอยู่กับพื้น จวนเจียนจะตกบ่อน้ำ นั่นมิใช่ความผิดของทารก ด้วยเด็กทารกไร้เดียงสา ต้องอาศัยบิดามารดาดูแลคุ้มภัย ในคัมภีร์ซือจิง จารึกไว้ว่า "เอาจิตใจดั่งรักษาทารก ไปรักษาลุกบ้านลุกเมืองที่มิรู้ความ" ฟ้าเบื้องบนก่อกำเนิดฟูมฟักสรรพพสิ่ง ให้ทุกอย่างต่างมีหนึ่งรากฐานต้นสาย บิดามารดาของบุคคลนี้ ย่อมเป็นหนึ่งรากฐานต้นสายกายเนื้อนี้ บัดนี้ อี๋จือ ให้กตัญญูเคารพรักบิดามารดาทั่วไปให้เสมอหนึ่งเดียวกัน เท่ากับอี๋จือมีมากกว่าหนึ่งรากฐานต้นสายที่ให้กำเนิดมา ในสมัยโบราณ มีผู้ไม่ฝังศพพ่อแม่ หามไปโยนไว้ในหุบเหว เวลาล่วงไปหลายวัน ถ้าลูกเดินผ่านแถบนั้น ก็จะเห็นฝูงหมาจิ้งจอกกำลังแทะดึง ทึ้งกินเนื้อตัวหน้าตับไตไส้พุงของพ่อแม่ แมลงวันมากมายตอมกินเลือดเนื้อน้ำเหลือง หนอนตัวใหญ่ ๆ ชอนไชเต็มไปหมด ได้เห็นสภาพนี้แล้ว ลูกจะรู้สึกเหงื่อเย็นท่วมหัวไม่อาจทนดู แต่ยังแอบชำเลืองอยู่ ที่เหงื่อเย็นท่วมหัวนั้น มิใช่เกรงผู้อื่นมาพบเห็น แต่เป็นจิตสำนึกที่ร้าวรานใจ ใครก็ตามที่เห็นสภาพศพของพ่อแม่เช่นนี้ จะต้องรีบกลับบ้าน เอาจอบบุ้งกี๋มาโกยซากศพของพ่อแม่ฝังเสีย ฝังศพพ่อแม่จึงเป็นเรื่องพึงกระทำอย่างยิ่ง ฉะนั้น การเอาอย่างลูกกตัญญูผู้มีกรุณาธรรมจัดการฝังศพจึงมีเหตุผลถูกต้อง ศิษย์สวีผี้ นำคำสอนของครูปราชญ์ไปบอกแก่อี๋จืออีก คราวนี้อี๋จือนิ่งงันเหมือนขาดสติไปชั่วครู่ จากนั้นตื่นใจได้สติกล่าวว่า "ได้รับความกรุณาอบรมจากท่านปราชญ์ ข้าพเจ้าเข้าใจชัดเจนแล้ว"
~ จบบทเถิงเหวินกง ตอนต้น ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓. บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ศิษย์เฉินไต้ เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ครูท่านไม่ยอมไปพบเหล่าเจ้าเมือง ดูจะเป็นการเคร่งครัดกับเรื่องเล็กน้อยไปหน่อย ตอนนี้หากไปพบพวกเขา ได้โอกาสกล่อมเกลาแพร่ธรรม ภายหน้าผลใหญ่คือ อาจได้อ๋องครองหล้าผู้ทรงธรรม ผลน้อยก็จะได้ผู้นำเป็นเจ้าเหล่าหัวเมือง อีกทั้งในหนังสือจื้อซู ก็กล่าวไว้ว่า " ยอมรับคับข้องสองคืบคต สิบหกคืบยึดขยายได้ภายหลัง " ดูแล้วงานนี้น่าจะทำได้ ครูปราชญ์ตอบว่า " ครั้งนั้น พระเจ้าฉีจิ่งกงจะออกล่าสัตว์ แต่ใช้ธงขนนกห้าสีไปเชิญ ผู้ดูแลสวนสัตว์ไม่มา ฉีจิ่งกงจึงลงอาญาประหารเสีย บรมครูขงจื่อทราบเรื่องนี้ อุทานชื่นชมคนเฝ้าสวนสัตว์ว่า "ผู้แกร่งตรงคงมั่น แม้ต้องอดตายในร่องคู ยังหยัดอยู่ไม่เปลี่ยนไป นักรบหาญกล้ามุ่งมั่น คอถูกบั่นแต่ไม่ลืมปณิธาน" ท่านบรมครูอุทานชื่นชมคนเฝ้าสวนสัตว์จุดไหน ก็คือ ชื่นชมการรักษาระเบียบแบบแผน ผิดระเบียบจึงไม่ไป วันนี้ หากเหล่าเจ้าเมืองมาอย่างไม่ตรงระเบียบแบบแผน ผู้ถูกเชิญยังจะเหลือคุณค่าอะไร อีกทั้งศิษย์พี่ยกตัวอย่างว่า "ยอมรับคับข้องสองคืบคต สิบหกคืบยึดขยายได้ภายหลัง" นั่นมันเป็นทฤษฏีของการค้าหาผลประโยชน์ ในแง่ของการค้าหาผลประโยชน์ "แม้จะต้องยอมรับคับข้องสิบหกคืบ ( แปดบรรทัด ) สองคืบได้ในภายหลัง" ก็ถือว่ายังมีกำไร อย่างนี้ทำได้" (สองคืบประมาณหนึ่งฟุตครึ่งสากล หนึ่งบรรทัดจีนโบราณยาวกว่า จึงใช้ว่าสองคืบ) แต่ก่อนขุนนางเมืองจิ้น นามว่า เจ้าเจี่ยนจื่อ เรียก หวังเหลียง ขับรถม้าแทนปี้ซี่ ซึ่งเป็นบ่าวคนโปรดประจำตระกูล เพื่อออกไปล่าสัตว์ วันนั้น เช้าจรดเย็น ล่าสัตว์ไม่ได้แม้แต่นกสักตัว ปี้ซี่ บ่าวคนโปรดรายงานเจ้านายว่า "หวังเหลียงคนนี้ขับรถม้าแย่ที่สุด" มีคนนำคำพูดนี้ไปบอกแก่หวังเหลียง หวังเหลียงกล่าวแก่บ่าวปี้ซี่ว่า "ลองดูอีกสักครั้งปะไร" ยึกยักเป็นนาน ปี้ซี่จึงยอมพิสูจน์ใหม่ ผลคือ ยิงนกได้สิบตัวตั้งแต่ช่วงเช้า ปี้ซี่กลับมารายงานเจ้านายอีกว่า "หวังเหลียงขับรถม้าฝีมือเยี่ยมที่สุด" ขุนนางเจี่ยน กล่าวแก่ปี้ซี่ว่า "ถ้าเช่นนั้น ก็ให้เขาเป็นคนขับรถม้าให้แก่เจ้าแล้วกัน" เมื่อบอกเรื่องนี้แก่หวังเหลียง หวังเหลียงไม่ยินดี ปฏิเสธว่า "ข้าพเจ้าขับรถม้าให้ตามแบบอย่างที่ปี้ซี่ต้องการ แต่เช้าจรดเย็นไม่ได้นกสักตัว ครั้งที่สองข้าพเจ้าไม่ขับตามนั้น แต่ใช้วิธีขับอย่างล่อหลอก ปี้ซี่กลับได้นกมาสิบตัวแต่เช้า ในคัมภีร์ซือจิง จารึกไว้ว่า "ผู้ขับรถไม่ผิดต่อหลักการขับรถ ยิงธนูเข้าเป้าจึงจะนับว่ายิงแม่น" ข้าพเจ้าไม่คุ้นกับการขับรถให้แก่คนที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ช่วยตอบปฏิเสธแทนขัาพเจ้าด้วย" คนขับรถหยั่งรู้ว่า การร่วมงานกับคนยิงธนูที่ไม่มีระเบียบเป็นความน่าละอาย ไม่มีระเบียบ แม้ยิงสะเปะสะปะ จะได้สัตว์กองเท่าภูเขา คนขับนั้นก็ไม่ยอมทำ ครูเอง ( เมิ่งจื่อ ) หากจะต้องขัดต่อหลักธรรมความถูกต้องเออออไปกับเหล่าเจ้าเมือง นั่นเพื่ออะไรกัน คำที่ศิษยฺเฉินไต้กล่าวมานั้นก็ผิดอยู่แล้ว เท่ากับหักล้างความเที่ยงธรรมในตน ซึ่งก็อาจจะไม่แก้ไขการกระทำไม่เที่ยงธรรมของผู้อื่นได้ด้วย"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ชายคนหนึ่งนาม จิ่งชุน กล่าวแก่ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กงซุนเอี่ยน ขุนนางเมืองเอว้ย กับจางอี๋ มุขมนตรี จะไม่นับเป็นยอดบุรุษอย่างแท้จริงได้หรือดูเถิด เพียงแค่เขาโกรธ ก้สามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองต่าง ๆ ให้ห้ำหั่นกันได้ อีกทั้งยังทำให้ต่างหวาดผวา ยิ่งกว่านั้นทั้ง ๆ ที่พักผ่อนสบายในบ้านตน ก็ยังสามารถหยุดการสงครามระหว่างเมืองได้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เช่นนี้จะเรียกว่ายอดบุรุษได้อย่างไร ท่าน (ผู้ถาม) ไม่ได้เรียนคัมภีร์หลี่จี้มาหรือ ในคัมภีร์บันทึกว่า ชายหนุ่มถึงวัยยี่สิบ เมื่อได้สวมหมวกผู้ใหญ่ พ่อก็จะสอนหลักการเป็นคนให้ หญิงสาวเมื่อจะออกเรือน แม่ก็จะอบรมหลักของกัลยาณี เมื่อส่งมาถึงหน้าประตู ก็จะย้ำเตือนว่า "จะต้องกตัญญูเคารพพ่อแม่สามี เตือนตนอยู่เสมอ อย่าผิดต่อความตั้งใจของสามี" คล้อยตามจึงเป็นหลัก ก็คือระเบียบที่ผู้หญิงพึงรักษา" ยอดบุรุษที่แท้จริง พึงกอปรด้วยใจกรุณาเพื่อมหาชน มุ่งมั่น ก่อเกิดฐานเที่ยงธรรมให้ใต้หล้า ปฏิบัติมโนธรรมหนทางใหญ่ เมื่อใดที่อุดมการณ์บรรลุผล ก็ขยายผลไปสู่ปวงชน แต่หากไม่บรรลุปณิธาน ก็ประคองรักษาไว้เองบนหนทางเที่ยงตรงนี้ ร่ำรวยสูงศักดิ์อย่างไร จะไม่เริงกาม ยากจน ต่ำต้อยอย่างไร ไม่แปรไปจากปณิธาน อิทธิพลคุกคามอย่างไรไม่อ่อนข้อให้ เช่นนี้จึงเรียกว่า ยอดบุรุษ โจวเซียว ชาวเมืองเอว้ย เรียนถามท่าน
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กัลยาณชนคนแต่ก่อน ชอบที่จะออกไปรับราชการกันหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "รับ" ในหนังสือจ้วนซู จารึกว่า "บรมครูขาดราชการงานเมืองสามเดือน จะพะวักพะวนออกจากเขตบ้านเมือง จะต้องมีเครื่องบรรณาการแสดงสถานภาพตำแหน่งเตรียมไปด้วย" กงหมิงอี๋ ก็กล่าวว่า "สามเดือน
ไม่ได้ร่วมประชุมเบื้องบัลลังก์ เพื่อนพ้องจะพากันมาเยี่ยมเยียน" โจวเซียนเรียนถามต่อไปว่า "สามเดือนไม่ได้ร่วมประชุมเบื้องบัลลังก์ เพื่อนพ้องจะพากันมาเยี่ยมเยียน มิเป็นการร้อนใจไปหน่อยหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ขุนนางละจากตำแหน่งหน้าที่ ประหนึ่งเจ้าเมืองสูญเสียบ้านเมือง" ในคัมภีร์หลี่จี้ จารึกว่า "เจ้าเมืองลงแรงแปลงนาที่จะเก็บผลไว้เซ่นไหว้ ชาวบ้านจะร่วมช่วยกัน" ภรรยาเจ้าเมืองจะเลี้ยงไหม สาวใยทอผ้าเองเพื่อใช้ในพิธีเซ่นไหว้ แต่หาก
เจ้าเมืองสูญเสียบ้านเมือง เครื่องเซ่นไหว้จะไม่พร้อม ข้าวที่เซ่นไหว้ไม่ขาวสะอาด ขาดความพิถีพิถันคัดสรร ผ้าผ่อนแพรพรรณไม่งามเหมาะพร้อมเพรียง ดังนี้ ก็จะไม่กล้าจัดพิธีเซ่นไหว้ เมื่อละจากราชการงานเมือง ขาดสถานภาพขาดความพร้อม ย่อมต้องระงับพิธีเซ่นไหว้อันสำคัญประจำปีไป เมื่อเครื่องเซ่นไหว้ ภาชนะ อาภรณ์ทุกอย่างไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม ย่อมไม่กล้าจัดพิธีเซ่นไหว้ ดังนี้ ก็จะเกิดความไม่สบายใจ แล้วไฉนจะไม่ได้รับการเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขจากเพื่อนพ้องเล่า โจวเซียว เรียนถามอีกว่า "จะออกจากบ้านเมือง เหตุใดจึงต้องเตรียมเครื่องบรรณาการประจำตัวไป" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "บุรุษสมสง่าจะออกไปรับราชการต่างเมือง ก็เหมือนชาวนาจะออกนอกคูหาไปคราดไถ จะต่างออกนอกเมืองหรือ จึงต้องแบกถือเครื่องมือไปด้วย" เรียนถามอีกว่า "แต่ก่อนเมืองจิ้นของเรา ก็เป็นที่ชุมนุมของข้าราชการมากมาย แต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินว่า จะเป็นข้าราชการพึงเคร่งครัดถึงเพียงนี้ ที่ท่านว่า บุรุษสมสง่าจะเข้ารับราชการ จะต้องผ่านระเบียบเคร่งครัดดังนี้ ถ้าเช่นนั้น ตามที่อาวุโสกล่าวว่า "กัลยาณชนรับราชการยาก" นั้นหมายถึงอย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เมื่อกำเนิดบุตรชาย พ่อแม่ก็หวังจะให้เขาได้ศรีภรรยามาเป็นคู่ครอง เมื่อกำเนิดบุตรี พ่อแม่ก็หวังจะให้ได้เขยศรีได้ฝากฝังแก่ครอบครัวดี จิตใจของพ่อแม่ล้วนเป็นเช่นนี้ แต่หากไม่รอให้พ่อแม่เห็นชอบสู่ขอจัดการ ไม่ผ่านสื่อกลางผู้แนะนำ ไม่รู้ชาติตระกูลกัน ชอบพอกันเองโดยเจาะกำแพงข้างฝาแอบดูกัน ปีนกำแพงลักพากันเช่นนี้ คนทั้งบ้านเมืองจะปรามาสพ่อแม่สองฝ่ายทั้งชายหญิง คนแต่ก่อน มิใช่จะไม่อยากรับราชการ แต่รังเกียจวิธีการลักลอบที่ชอบจะติดสินบนขอเข้ารับราชการ ซึ่งไม่ต่างกับปืนกำแพง"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
เผิงเกิง ศิษย์ท่านครูปราชญ์เรียนถามว่า "รถตามขบวนหลายสิบคัน คนเดินตามขบวนหลายร้อยคน เดินทางถึงไหน ผู้ปกครองท้องถิ่นที่นั่นก็จะต้องจัดอาหารให้กินกัน มันไม่เกินไปหน่อยหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "หากไม่ถูกต้องสมควร แม้ข้าวกระบอกเดียวก็ไม่ควรรับการเลี้ยงดูจากใคร แต่หากถูกต้องสมควรแม้ซุ่นรับบัลลังก์จากเหยา ก้ไม่นับว่าเกินไป ท่านเห็นว่าเกินไปหรือไม่เล่า" ศิษย์เผิงเกิงว่า "ความหมายของศิษย์มิใช่เช่นนี้ ศิษย์หมายถึง ผู้คนเหล่านั้นไม่ช่วยทำการใดแก่ใคร อยู่ ๆ มารับการเลี้ยงดู รู้สึกว่าไม่สมควร" ครูปราชญ์ว่า "หากไม่ร่วมงาน ไม่ประสานงานกับใคร ไม่เอาผลผลิตส่วนเกินแลกเปลี่ยนผลผลิตจำเป็นสำหรับตนต่อกัน ชาวนาก็จะกินข้าวที่ปลูกได้ไม่หมด หญิงทอผ้าก็จะมีผ้าผ่อนเหลือเฟือ ถ้าประสานงานแลกเปลี่ยนกัน คนทำล้อรถล้อเกวียนก็แลกเปลี่ยนกันไป สมมุติว่า บัดนี้ มีคน ๆ หนึ่ง อยู่บ้านกตัญญูดูแลพ่อแม่ ออกนอกบ้านเคารพให้เกียจเพื่อนพ้อง ทุกอาการทำตามหลักธรรมที่อริยประมุขปฏิบัติมา เพื่อเตรียมการถ่ายทอดแก่อนุชนรุ่นหลัง คนเช่นนี้ไม่สมควรได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านอย่างนั้นหรือ ศิษย์จะเห็นความสำคัญเหนื่อยยากเฉพาะของช่างไม้ ช่างทำรถ แล้วยังจะดูแคลนความสำคัญของคนดำเนินกรุณามโนธรรมอย่างนั้นหรือ" ศิษย์เผิงเกิง กล่าวอีกว่า "ช่างไม้ ช่างรถทำงานก็เพื่อปากท้อง แต่กัลยาณชนผู้สูงด้วยคุณธรรม พร่ำสอนอบรมคุณธรรม ก็ทำเพื่อปากท้องของตนเหมือนกันหรือ" ครูปราชญ์ว่า "ไฉนศิษย์จึงเจาะจงแต่เป้าหมายที่เห็นผลตอบแทนเป็นรูปธรรมเล่า ถ้าเช่นนั้นผู้มีบุญคุณต่อศิษย์ สมควรได้รับเอื้อเฟื้อความเป็นอยู่จากศิษย์ก็เอื้อเฟื้อเถิด ก็เท่านั้นเอง ครูจพถามเธอว่า ที่ศิษย์เอื้อเฟื้ออาหารการกินแก่ใครนั้น เอื้อเฟื้อโดยเขาร้องขอหรือโดยตอบแทนบุญคุณแก่เขา" ตอบ "โดยนเขาร้องขอ" ครูปราชญ์ว่า "สมมุติใครคนหนึ่งอยู่ตรงนี้ ทำกระเบื้องหลังคาของศิษย์แตก ทำสีบนผนังของศิษย์เลอะเทอะ ความมุ่งหมายของเขา คือ เรียกร้องให้เอื้อเฟื้ออาหารการกิน เช่นนี้ศิษย์จะให้เขาหรือไม่" ศิษย์เผิงเกิงตอบว่า "ไม่ให้" ครูปราชญ์ว่า "เช่นนี้ก็เท่ากับไม่เอื้อเฟื้อเรียกร้อง แต่จะเอื้อเฟื้อโดยคุณความดี"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ศิษย์วั่นจัง เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ซ่งเป็นเมืองเล็ก บีดนี้จะดำเนินการปกครองเป็นเอกเทศ แต่หากเมืองฉี เมืองฉู่ เกิดอิจฉามาโจมตี จะทำอย่างไรดี" ครูปราชญ์ว่า " ครั้งนั้นกษัตริย์ทังตั้งเมืองอยู่ที่ป้อ เป็นเพื่อนเมืองกับเก่อ ประมุขเมืองเก่อหยามหยาบไม่ทำการเซ่นไหว้ กษัตริย์ทังส่งคนไปถามหาสาเหตุที่เว้นจากเซ่นไหว้" ประมุขเมืองเก่อว่า "ไม่มีสัตว์สามประเภทเป็นเครื่องเซ่นไหว้" กษัตริย์ทังจึงส่งวัว แพะไปให้ ประมุขเก่อไม่จัดทำพิธี แต่กลับกินวัว แพะ ที่รับมาเสียสิ้น กษัตริย์ทังส่งคนไปถามเหตุที่ไม่เซ่นไหว้อีก ประมุขเก่อ ตอบว่า "ไม่มีข้าวอย่างดีที่ปลูกเฉพาะกาลนี้" กษัตริย์ทังเรียกให้ชาวเมืองป้อของพระองค์ไปช่วยทำนาแปลงเฉพาะให้คนแก่คนด้อยกำลังเป็นผู้บริการทำอาหารไปให้คนคราดไถ แต่ประมุขเมืองเก่อกลับพาประชาชนของตนมาขวางทาง แย่งชิงเหล้ายาอาหารพันธุ์ข้าวไปเสียหมด คนที่ยึกยักไว้ไม่ปล่อยมือให้ก็ถูกฆ่าตาย เด็กชายคนหนึ่งกำลังยื่นอาหารให้คนทำนาประมุขเมืองเก่อก็แย่งชิงแล้วฆ่าเด็กตาย ในคัมภีร์ซูจิง จารึกว่า " ประมุขเมืองเก่อเป็นเห็นคนที่ส่งอาหารไปให้เป็นศัตรู เช่นนี้" เนื่องด้วยประมุขเมืองเก่อ ฆ่าฟันแม้กระทั่งเด็กชาย กษัตริย์ทังจึงยกทัพไปปราบปราม ไพร่ฟ้าทั่วหล้าทุกแผ่นดินจึงแซ่ซ้องว่า "กษัตริย์ทัง มิใช่ชิงแผ่นดินเก่อ เพื่อเพิ่มพูนฐานะแต่เพื่อแก้แค้นแทนประชาชนตาดำ ๆ ทั้งหญิงชาย" ยกทัพปราบปรามครั้งแรก เริ่มจากเมืองเก่อ จากนั้นปราบปรามความไม่เป็นธรรมบ้านเมืองอื่น รวมสิบเอ็ดครั้ง ทั่วหล้าจึงสงบราบคาบ เมื่อไปปราบปรามทางทิศตะวันออก ชนเผ่าอี๋ ทางิศตะวันตกก็จะตัดพ้อ เมื่อไปปราบอธรรมทางทิศใต้ ชนเผ่าตี๋ ทางทิศเหนือก็จะตัดพ้อเช่นเดียวกันว่า "ไยจึงทิ้งเราไว้เบื้องหลัง ไม่มาช่วยขจัดเสี้ยนหนามให้เราก่อน" ไพร่ฟ้าใต้หล้าทุกแห่ง ต่างรอคอยให้กษัตริย์ทังมาช่วยเปลี้ยงทุกข์ ต่างแหงนหน้าเหมือนคอยฟ้า คอยฝนมาชุบชีวิตเช่นนั้น ในขณะยกทัพประชิดเมือง ย่านค้าขายยังคงค้าขายไปตามปกติ คนตัดหญ้าทำนายังคงก้มหน้าทำนาต่อไป เพราะนั่นคือสงครามปราบทรราช กำจัดอธรรมเพื่อปรอบขวัญประชาชนผู้ทุกข์ยาก เหมือนฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนจึงต่างยินดีปรีดา ในคัมภีร์ซูจิง จารึกว่า "รอคอยกษัตริย์ผู้ทรงธรรมของเรา เมื่อพระองค์มาถึง พวกเราก็จะพ้นจากทารุณกรรมของเหล่าทรราชได้" ในคัมภีร์ซูจิง บทอู่เฉิง บันทึกเรื่องราวสมัยราชวงศ์โจว ไว้ตอนหนึ่งว่า "ขุนนางที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ โจวอู่อ๋วงยกทัพไปปราบปราม ด้านตะวันออก จัดวางความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ตกทุกข์ยาก ให้สงบสุข ประชาชนต่างเอาตระกร้าไม้ไผ่ใส่เหรียญเงิน ใส่ผืนผ้ามาต้อนรับกองทัพของโจวอู่อ๋วง พร้อมกับบอกเล่ากันอย่างเซ็งแซ่ว่า "ถูกทรราชโจ้วอ๋วงกดขี่ทารุณมานาน บัดนี้จะได้ถวายความจงรักภักดีต่อฮ่องเต้แล้ว เป็นบุญวาสนาโดยแท้ พวกเราจะเป็นข้าบาท ฯ รับใช้ในราชวงศ์โจว" ตอนนั้น ขุนนางราชวงศ์ซัง ก็จัดผืนผ้าเหรียญเงินใส่ตระกร้าไม้ไผ่ มาต้อนรับขุนนางโจวอู่อ๋วง ชาวบ้านใช้กระบอกไม่ใผ่บรรจุข้าว น้ำแกงใส้ไว้ในเหยือก มาต้อนรับพลทหารของโจวอู่อ๋วง ไฉนจึงยินดีปรีดิ์เปรมกันปานนี้ ก็ด้วยอริยกษัตริย์ ดั่งผู้ชุบชีวิตเขาทั้งหลายให้พ้นน้ำท่วมเพลิงไพรช่วยกำจัดทรราชที่ทำร้ายพวกเขา ก้เท่านั้นเอง"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ในหนังสือโจวซู บทไท่ซื่อ บันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้าโจวอู่อ๋วง มีแต่ได้รับการสรรเสริญ ต่อการรุกรบกับแผ่นดินโจ้วอ๋วง เพราะได้กำจัดทรราชที่ก่อกรรมทำเข็ญประชาราษฏร์ ดังนั้น บุญคุณจากการพิชิต จึงสะท้านสะเทือนเจิดจ้ายิ่งกว่าที่ราชวงศ์ทัง ปราบปรามกบฏเซี่ยเจี๋ยเสียอีก เห็นเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ดังนี้แล้ว หากเมืองซ่งจะไม่ดำเนินการปกครองเป็นเอกเทศก็แล้วไป แต่หากจะเป็นเอกเทศประชาราษฏร์ก็ต่างจะแหงนหน้าขึ้นมอง ใคร่จะรับใช้ประมุขของเขาด้วยความมั่นใจ ฉี ฉู่ สองเมืองแม้จะใหญ่ แต่ก็ไม่น่ากลัว" ปราชญ์เมิ่งจื่อ กล่าวแก่ไต้ปู๋เซิ่ง ขุนนางเมืองฉีว่า "ท่านอยากให้ประมุขของท่านปกครองแผ่นดินโดยธรรมหรือไม่ เราจะกล่าวแก่ท่านโดยละเอียด สมมุติ ขณะนี้ มีขุนนางเมืองฉู่อยู่ที่นี่ หวังให้บุตรชายศึกษาภาษาเมืองฉีของท่าน แต่จะให้คนเมืองฉู่หรือคนเมืองฉีเป็นผู้สอนดีเล่า" ไต้ปู๋เซิ่งตอบว่า "ก็ต้องเป็นคนเมืองฉีสอนให้น่ะสิ" ครูปราชญ์ว่า "คนเมืองฉีคนเดียวพร่ำสอนแต่คนเมืองฉู่มากมายพูดคุยให้ไขว้เขว แม้จะเคี่ยวเข็ญทำโทษทุกวันให้พูดภาษาเมืองฉีให้ดี แต่ก็เป็นไปไม่ได้" แต่หากพาเด็กชายไปอยู่ที่ตลาดจวงเอวี้ย เมืองฉี เพียงไม่กี่ปี แม้จะบังคับลงโทษให้กลับมาพูดภาษาเมืองฉู่อย่างเดิมให้ดีก็เป็นไม่ได้เช่นกัน" กล่าวว่า เซวียจวีโจวผู้นี้ เป็นปรีชาชนคนดี จึงได้เสนอให้ใกล้ชิดเจ้าเมืองซ่ง เพื่อจะได้หมั่นเตือนอ๋องให้ปกครองโดยธรรม หากผู้ใกล้ชิดอ๋องไม่ว่าอายุมากอายุน้อย ตำแหน่งใหญ่ตำแหน่งเล็ก ก็ให้เหมือน
เซวียจวีโจวที่เป็นปรีชาชนคนดี อย่างนี้แล้วยังจะมีใครไปทำความไม่ดีกับอ๋องได้ หากผู้อยู่ใกล้ชิดเจ้าเมืองซ่ง สูงวัยอ่อนวัย ศักดิ์ใหญ่ศักดิ์เล็ก ล้วนมิใช่ปรีชาชนคนดีเยี่ยงเซวียจวีโจว อย่างนี้แล้ว ยังจะมีใครไปโน้มนำให้อ๋องทำความดีได้ ฉะนั้น หากอาศัยเซวียจวีโจวคนเดียวจะสามารถโน้มนำอ๋องให้ครองแผ่นดินโดยธรรมได้หรือ ผู้อยู่ใกล้ชิดจึงมีอิทธิพลมากต่อบ้านเมือง ศิษย์กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์ว่า "กัลยาณชนมักจะไม่ยอมไปพบเจ้าเมืองด้วยตนเอง นั่นหมายความว่าอย่างไร" ครูปราชญ์ตอบว่า "คนแต่ก่อนเก่า หากไม่เคยเป็นขุนนางข้าราชฯ ของเจ้าเมืองนี้ ก็จะไม่ยอมไปพบเจ้าเมืองคนนี้ เช่นเดียวกับที่ต้วนกันมู่ ผู้บำเพ็ญธรรมชาวเมืองจิ้น ไม่เคยเป็นข้าราชฯ ในเจ้าเมืองเอว้ยเหวินโหว เมื่อเจ้าเมืองไปขอพบ เขาปืนกำแพงหลบหายไป เซี่ยหลิ่วเมธีเมืองหลู่ก็เช่นกัน ด้วยไม่เคยเป็นข้าราชฯ ของเจ้าเมืองหลู่โหมวกง ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าหลู่โหมวกงไปขอพบ จึงปิดประตูไว้ไม่ออกมา แต่ทว่า ทั้งสองท่านดังกล่าวก็เกินไป ประมุขของบ้านเมืองมาขอพบ มีความจริงจังเพียงนี้ ก็น่าจะออกมาพบ" ครั้งนั้น หยางฮว่อ ขุนนางเมืองหลุ่ ใคร่เชิญบรมครูไปพบเขา แต่ก้เกรงใคร ๆ จะว่าเขาไม่มีจริยะ จึงใช้ประโยชน์จากจริยระเบียบข้อที่ว่า เมื่อขุนนางมอบขอกำนัลแก่ผู้ใด หากผู้นั้นมิได้อยู่บ้าน มิได้รับกับมือ มิได้ฝากขอบคุณแก่ผู้นำส่งมา ภายหลังก็จะไปขอบคุณด้วยตนเองถึงจวนขุนนางผู้มอบของกำนัล ดังนั้น ขุนนางหยางฮว่อ จึงคอยส่องหาโอกาสที่บรมครูท่านออกจากบ้านไป จึงได้ส่งเนื้อหมูนึ่งสุกก้อนหนึ่งไปที่บ้านบรมครู บรมครูรู้เจตนาของเขา ก้หาโอกาสตอนที่ขุนนางหยางฮว่อไม่อยู่บ้าน ไปขอบคุณ เรื่องราวนี้ หากหยางฮว่อ มีเจตนาบริสุทธิ์ตั้งแต่แรก ไหนเลยท่านบรมครูจะจงใจไม่พบกับเขา ปราชญ์เจิงจื่อว่า "แสร้งยิ้มเอาใจให้ความเคารพ ยกยอปอปั้น วุนวายอารมณ์ ทุกข์ใจยิ่งกว่าขุดดินทำคันนากลางแดดแผดจ้าหน้าร้อนเสียอีก" ปราชญ์จื่อลู่ว่า "พูดคุยกับคนต่างจิตต่างใจ ดูสีหน้าเขาเหมือนแดงก่ำ หูร้อนไม่เป็นธรรมชาติ ความรู้สึกอย่างนี้มิใช่ข้าพเจ้าจะเข้าใจได้เลย จากนี้จะเห็นได้ว่า จิตปราณีตของกัลยาณชนเป็นเช่นไร จึงมิใคร่ชิดใกล้คนมีอำนาจบาตรใหญ่"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ไต้อิ๋งจือ ขุนนางเมืองซ่ง กล่าวแก่ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ข้าพเจ้าใคร่ขอให้อ๋องใช้ระบบเก็บกาษีหนึ่งส่วนสิบของครั้งโบราณ อีกทั้งยกเลิกภาษีผ่านด่าน กับภาษีเรียกผู้ค้าในตลาด แต่ทว่าในปีนี้ยังทำถึงขั้นนี้ไม่ได้ ได้แต่ขอร้องให้อ๋องลดหย่อนภาษีลงบ้าง จนถึงปีหน้า จะยกเลิกระบบเดิมทั้งหมด ปราชญ์ท่านเห็นเช่นไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สมมุติว่าขณะนี้ มีใครคนหนึ่งขโมยไก่ชาวบ้านทุกวัน มีคนเตือนเขาว่า "นี่ไม่ใช่พฤติกรรมของกัลยาณชน" คนขโมยไก่ว่า "ถ้าอย่างนั้นก็ลดน้อยลง โดยขโมยเดือนละหนึ่งตัว ปีหน้าจะวางมือทั้งหมด" ท่านคิดว่าคำพูดนี้ถูกต้องหรือไม่ เมื่อรู้ว่าภาษีน้นไม่ถูกต้อง ก็ควรจะระงับเสียโดยเร็ว ไฉนจะต้องรอให้ถึงปีหน้า" กงตูจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์ กล่าวแก่ครูปราชญ์ว่า "คนข้างนอกต่างกล่าวว่า ครูปราชญ์ท่านชอบโต้แย้งวิจารณ์ " บังอาจเรียนถามว่า "เพราะเหตุใด" ครูปราชญ์ว่า "ครูชอบโต้แย้งที่ไหนกัน คำวิจารณ์ของครูก็เป็นเรื่องจำใจนัก" มนุษยชาติเกิดมาในโลกนี้นานนักหนาแล้ว บางครั้งอยู่อย่างสงบ บางครั้งอยู่อยางวุ่นวาย เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา ในครั้งอริยกษัตริย์เหยา กระแสน้ำใหญ่จะไหลหลาก
ท่ามท้นแผ่นดินจีนทั้งหมด พวกงู มังกร สัตว์น้ำต่าง ๆ ไหลตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากมา เข้ายึดครองที่อยู่ของผู้คน สร้างรัง สร้างโพลง สร้างถ้ำบาดาล
จนผู้คนไม่มีที่อยู่แน่นอนได้ คนที่อยู่ในที่ต่ำ จึงต้องขึ้นไปสร้างแคร่อาศัยบนต้นไม้ คนที่อยู่ในที่สูง จะต้องขุดโพลงอาศัยถ้ำ ในหนังสือซั่งซู บทต้าอวี่หมอจารึกว่า "ฟ้าเบื้องบให้อุทกภัยกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต เป็นสัญญาณเตือนภัยให้แก่เรา" อริยกษัตริย์ซุ่น ต่อจากอริยกษัตริย์เหยา มอบหมายให้อวี่ไปแก้ไขมหาอุทกภัย อวี่จึงนำผู้คนช่วยกันขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้น้ำบนแผ่นดินโกรกลงทะเล ช่วยกันขับต้อนพวกงู พวกมังกรออกไปจากผืนแผ่นดินที่ระบายน้ำได้แล้ว ให้ลงชายเลนไป จากนั้น น้ำจึงรวมไหลไปเป็นสายเป็นกระแสในที่ต่ำกว่าผืนแผ่นดิน นั่นก็คือแม่น้ำใหญ่ฉางเจียง (แยงซีเกียง) แม่น้ำไฮว๋เหอ หวงเหอ ฮั่นสุ่ย ผืนน้ำเวิ้งว้างเหือดหาย แผ่นดินใหญ่ปรากฏชัด นกใหญ่นกยักษ์ดุร้ายที่จิกตีกัดกินผู้คน ก็กระจายหมดไป จากนั้น มนุษย์จึงตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ได้บนผืนแผ่นดิน หลังจากสิ้นอริยกษัตริย์เหยากับซุ่นแล้ว หลักธรรมที่อริยปฏิบัติมาค่อย ๆ เสื่อมถอยอีกทั้งทรราชเกิดตามกันมาใช้อำนาจทำตามอำเภอใจ ทำลายที่อยู่อาศัยของประชาชนเพื่อสร้างสระน้ำใหญ่ สร้างทัศนียภาพอลังการ ชาวบ้านไม่มีที่อยู่พักพิง ทรราชช่วงชิงที่นา สร้างอุทยานสวนสัตว์ เพื่อความสนุกสนานบานใจ ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน ทรราชพูดจาข่มขวัญมอมเมาชาวบ้าน ให้อยู่อย่างหวดผวา สระน้ำใหญ่ อุทยานสวนสัตว์ขนาดกว้างใหญ่มาก สุดท้ายกลายเป็นที่ชุมนุมของสัตว์ต่าง ๆ อีกจนไม่อาจควบคุมได้ มาถึงรัชสมัยทรราชโจ้วอ๋วง บ้านเมืองเกิดจราจลใหญ่จนพระเจ้าปู่โจวกง ต้องหนุนให้อริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง ทำการเด็ดขาดพิชิตทรราชโจ้วอ๋วง ปราบทรราชเมืองน้อยใหญ่อีกห้าสิบกว่าเมืองอันเป็นขบวนการเดียวกัน โดยเฉพาะเมืองเอียน ใช้เวลาสามปี กว่าจะพิชิตได้ ขับต้อนกองทัพของเฟยเหลียน ขุนนางคนโปรดของทรราชโจ้วอ๋วง ไปจนมุมที่ชายทะเลแล้วจบชีวิตลงที่นั่น
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ได้ล้มล้างบ้านเมืองพรรคพวกกับทรราชโจ้วอ๋วง ไปประมาณห้าสิบเมือง ขับต้อนเสือโคล่ง เสือดาว แรด ช้าง ที่ทรราชโจ้วอ๋วงเลี้ยงไว้ออกไปให้ไกล ชาวบ้านชาวเมืองพากันดีใจได้สงบสุข ในคัมภีร์ซูจิง จารึกว่า "เป็นแผนงานวิเศษใหญ่ยิ่งของกษัตริย์เหวินอ๋วงแล้ว..." กษัตริย์อู่อ๋วงสืบต่อความยิ่งใหญ่นี้ เบิกทางให้คนข้างหลังเดินไปบนความเที่ยงตรงสมบูรณ์แบบ พอถึงช่วงราชวงศ์โจวย้ายถิ่นฐานไปทางทิศตะวันออก บรรยายกาสธรรมต่ำลง ผู้คนเสื่อมเสีย มิจฉาศาสตร์กับการกระทำร้ายกาจเกิดขึ้นทั่วไปอีก ข้าราชฯ ปองพระชนเจ้าเหนือหัว ลูกฆ่าพ่อ พฤติกรรมสุดโหดโฉดชั่วปรากฏมากมาย ท่านบรมครูรู้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ ให้หวาดหวั่นสะท้านใจนัก จึงได้้จารึกหลักธรรมเป็นหนังสือ ชุนชิว กุก่อง - กวาดเก็บ (ฤดูผลิใบงอกงามจนถึงฤดูใบไม้ร่วงเสื่อมทราม) หนังสือพงศาวดาร ชุนชิว กุก่อง - เก็บกวาด ชุดนี้ล้วนให้คติตำหนิโทษบาป ระบือความดี เขียนถึงความเป็นบุตรแห่งฟ้าของประมุขหนือหัว ฉะนั้น บรมครูจึงกล่าวว่า "ใคร่รู้ว่าเรานี้มีความทุกข์ห่วงใยชาวโลกเพียงใร ขอให้อ่านหนังสือนี้ ผู้ใคร่จะว่ากล่าวเรา ก็ขอให้อ่านหนังสือนี้" จากนั้นแล้ว อริยกษัตริย์ไม่เกิดมีอีก เหล่าเจ้าเมืองฮึกเหิมทำตามอำเภอใจ ใครคับแค้นที่แฝงผละตนออกไปจากการบ้านการเมือง พากันออกมาแสดงทฤษฏีผิด ๆ ตามความคิดของหยางจู กับม่อตี๋ จนมืดฟ้ามัวดิน บ้างอยู่ฝ่ายหยางจู บ้างอยู่ฝ่ายม่อตี๋ ทฤษฏีของหยางจูคือ ทุกอย่าง "เพื่อประโยชน์ตน" ไม่เคารพผู้ครองแผ่นดิน ทฤษฏีของม่อตี๋คือ รักแผ่ไพศาลโดยไม่มีชั่วดีถี่ห่าง ไม่มีข้อต่างทั้งพ่อแม่และเหนือหัว ไม่เจาะจงกตัญญูเฉพาะใคร จึงเป็นทฤษฏีเดรัจฉานกงหมิงอี๋ นักปราชญ์เมืองหลู่ เคยกล่าวไว้ว่า "ในครัวมีเนื้อมันหนา ในคอกม้ามีม้าอ้วนพี แต่ชาวบ้านมีสีหน้าอดอยากซีดเซียว ที่รกร้างมีซากศพคนอดตายการปกครองเยี่ยงนี้ คือนำสัตว์ป่ามากินคนชัด ๆ " หากมิจฉาทฤษฏีของหยางจู กับ ม่อตี้ ยังไม่ดับสิ้นไป หลักธรรมของบรมครูขงจื่อท่านก็มิอาจชัดแจ้ง การใช้มิจฉาทฤษฏีมามอมเมาประชาชน กรุณามโนธรรมสำนึกที่มีอยู่แต่เดิมทีในใจของประชาชนเอง ก็จะพากันตื้อตันไปหมด เมื่อจิตกรุณามโนธรรมตื้อตัน จะไม่เพียงนำสัตว์ป่ามากินคน แม้ในระหว่างคนด้วยกันก็ยังขบกินกันเอง สภาพการณ์ดังนี้ ทำให้เราทุกข์ใจ ห่วงใย หวาดหวั่น จึงจำต้องเจริญรอยตามคำสอนของอดีตอริยะ ไปต่อสู่กับมิจฉาทฤษฏีของหยางจูกับม่อตี๋ กำจัดถ้อยคำวาจาน่ารังเกียจ ระงับความเหิมเกริมของผู้กล่าวมิจฉาวาจาเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้มิจฉาคติหากก่อเกิดขึ้นในใจ ก็จะเป็นผลร้ายต่อการกระทำของเขา เมื่อสิ่งที่เขาทำนั้นผิดไป ก็จะเป็นภัยต่อการปกครองของบ้านเมือง หลักเหตุผลนี้ แม้หากอริยะอุบัติมาใหม่ ก็จะไม่แก้ไขคำพูดเหล่านี้ของเราเป็นแน่
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๓
บทเถิงเหวินกง ตอนท้าย
ครั้งกระนั้น อริยกษัตริย์อวี่ รับบัญชาจากอริยกษัตริย์ซุ่น จัดการชลประทานครั้งใหญ่จนบ้านเมืองสงบสุข ภายหลังปู่เจ้าโจวกง ร่วมกับชาวอี๋ตี๋ ขับต้อนสัตว์ป่าดุร้ายออกไปจากถิ่นที่ผู้คนอาศัย จากนั้น ชาวบ้านจึงอยู่อย่างสงบสุข หลังจากที่ท่านบรมครู บันทึกเรื่องราวอัปยศคดโกง โหดเหี้ยมเหลี่ยมร้ายของผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายลงในหนังสือ "ชุนชิว" แล้ว ขุนนางคนชั่วจึงได้ขยาดกลัว ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "เมืองซีหยง เป่ยตี๋ เมืองจิง เมืองซู ซึ่งขาดวัฒนธรรมเหล่านี้ จะต้องปราบปรามเพื่ออบรม จึงจะไม่มีใครกล้าใช้มิจฉาวาจามาต่อต้านคุณธรรม" การเสื้อมสอนของทฤษฏีว่าด้วย "ไม่มีความเป็นพ่อ หรือประมุขอันพึงปฏิการะ" เป็นเรื่องที่ปู่เจ้าโจวกงพิชิตเอง ครู ก็ใคร่ปรับแปรใจคนให้เที่ยงธรรม ระงับมิจฉาวาจา ต่อต้านการกระทำนอกลู่นอกรอย กำจัดคำกล่าวที่ผิดจริยะดีงามเพื่อสืบต่อคุณธรรม ( อวี่ โจวกง ขงจื่อ ) สามอริยะ นี่หรือที่ว่า ครูชอบโต้แย้ง แท้จริงเป็นเรื่องจำใจ "อย่างไรก็ตาม ที่ปฏิเสธมิจฉาทฤษฏีของหยางจู กับม่อตี๋ ได้ ก็นับว่าเป็นศิษย์ของอริยะแล้ว" ควงจัง ชาวเมืองฉี เรียนถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เฉินจ้งจื่อ ชาวเมืองฉีของข้าฯ คนนี้ นับเป็นสุจริตชนแท้จริงได้หรือ เขาหนีออกจากบ้านพี่ชายที่ฉ้อราษฏร์บังหลวง ไปอยู่กระท่อมที่อูหลิง สามวันไม่กินข้าวจนหูอื้อนัยน์ตาพร่ามัว ใกล้บ่อน้ำข้างที่พักของเขา มี " ลี้ " ผลหนึ่งอยู่บนต้น ถูกแมลงวันทองชอนกินไปกว่าครึ่งลูกแล้ว เขาค่อยคลำทางไปเก็บมากิน กินไปได้สามคำ มีอาหารตกถึงท้องบ้าง หูอื้อตาลายจึงค่อยทุเลา" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ในหมู่ขุนนางเมืองฉี ก็ต้องถือว่าเฉินจ้งจื่อผู้นี้เป็นที่หนึ่ง แม้จะนับว่าจ้งจื่อ เป็นสุจริตชนหรือไม่ก็ตาม แต่หากจ้งจื่อใช้ชีวิตสมถะเรียบง่ายอย่างใส้เดือนได้ ก็นับว่าใช้ได้" อันว่าใส้เดือนนั้น โผล่ขึ้นกินดินแห้ง มุดลงดินกินน้ำซึม ไม่เดือดร้อนยุ่งยากกับใคร แต่บ้านที่จ้งจื่ออาศัย ผู้ปลูกสร้างเป็นสุจริตชนสูงส่งเช่นราชบุตรป๋ออี๋ หรือปลูกสร้างโดยมหาโจรเต้าจื๋อผู้เลื่องลือ อีกทั้งข้าวที่เขากินนั้น ปลูกโดยป๋ออี๋ผู้สุจริตสูงส่ง หรือปลูกโดยมหาโจรเต้าจื๋อเล่า นั่นเป็นเรื่องที่ไม่อาจรู้ได้ ควงจังว่า "เรื่องบ้าน เรื่องข้าว ใครสร้างให้อยู ใครปลูกให้กิน ไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับการได้รับยกย่องว่าสุจริตชน เพราะความเป็นอยู่ปัจจุบัน เขาถักรองเท้าฟางเอง ภรรยาฟั่นเชือกไปแลกของใช้ของกิน" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จ้งจื่อเป็นบุตรหลานตระกูลขุนนางมาหลายชั่วคน พี่ชายของเขาชื่อว่า เฉินไต้ รับเงินบำเหน็จของอำเภอไก้ ปีละถึงหนึ่งหมื่นจง จ้งจื่อเห็นว่าเงินบำเหน็จของพี่ชายไม่สุจริตถูกต้อง จึงไม่ยอมกิน ไม่ยอมใช้ทุกอย่างที่ได้มาจากเงินบำเหน็จของพี่ชาย คิดว่าบ้านที่พี่ชายสร้างผิดต่อมโนธรรม จึงไม่ยอมร่วมอยู่" จ้งจื่อหลบจากพี่ชายกับมารดาที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ไปอยู่ที่เชิงเขาอูหลิง วันหนึ่ง เขากลับมาบ้าน พอดีมีคนเอาห่านเป็น ๆ มากำนัลพี่ชาย จ้งจื่อขมวดคิ้วไม่ยินดี กล่าวว่า "ทำไมจะต้องกำนัลด้วยชีวิตเป็น ๆ อย่างนี้ด้วย" หลายวันผ่านไป แม่จัดการเชือดห่านตัวนั้นทำอาหารให้จ้งจื่อขณะกินห่านนั้น พี่ชายกลับมาบ้านเห็นเข้า จึงบอกแก่จ้งจื่อน้องชายว่า "นี่ก็คือเนื้อของได้ตัวที่ร้อง "ห่าน ๆ" อยู่เมื่อวานนั่นแหละ" จ้งจื่อได้ฟังดังนั้นเขารีบออกไปล้วงคอตนเองให้อาเจียนเนื้อห่านออกทันที จ้งจื่อไม่ยินดีกินอาหารจากมารดา แต่ยินดีกินอาหารจากภรรยาแลกเปลี่ยนมา ไม่ยินดีอยู่บ้านของพี่ชาย แต่อยู่บ้านที่อูหลิงได้ เช่นนี้เรียกว่าสุจริตชนสูงส่งได้หรือ เมื่อรู้ว่าพี่ชายไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม ควรจะหาทางตรงท่ามกลางความคด เอาธรรมะค่อย ๆ ซึมซาบสู่พี่ชายอย่าให้หลงผิด หากความคิดของสุจริตชนเป็นเช่นจ้งจื่อ ก้ควรจะเอาอย่างใส้เดือนไปเสียเลย ที่โผล่ขึ้นกินดินแห้ง มุดลงดินกินน้ำซึม เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ไม่เดือดร้อน ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ๆ
~ จบบท ~ เถิงเหวินกง ~ ตอนท้าย ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
หลีโหลว หรือ หลีจู เป็นคนโบราณสมัยอริยะกษัตริย์เซวียน เอวี๋ยนหวงตี้ มีสายตาคมชัดยาวไกล เห็นสิ่งเล็กละเอียดได้ แม้ห่างไปเกินกว่าร้อยก้าว ในหนังสือจวงจื่อ บท "เทียนตี้ ฟ้าดิน" จารึกว่า "เมื่อครั้งอริยกษัตริย์หวงตี้ เสด็จประพาสเหนือแม่น้ำซื่อสุ่ย สู่คุนหลุนมหาบรรพต แก้ววิเศษประจำพระองค์หล่นหาย ได้โปรดบัญชาให้หลีโหลวเป็นผู้มองหา" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สายตาคมชัดยาวไกลของท่านหลีโหลว ฝีมือปฏิมากรรม ประอิษฐกรรมสรรค์สร้างอย่างล้ำเลิศวิเศษยิ่งของท่านกงซูจื่อ หลู่ปัน ชาวเมืองหลู่ ยุคชุนชิว หากไม่ใช้วงเวียน มาตรวัดบรรทัดฐาน จะไม่อาจประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ได้เที่ยงตรงทั้งกลมเหลี่ยม ประสาทแยกเสียงได้อย่างวิเศษของท่านซือคั่ง ครูดนตรีของพระเจ้าจิ้นผิงกง สมัยชุนชิว แต่หากไม่ใช้บันไดเสียงเทียบเคียงระดับความสูงต่ำ ก็จะไม่อาจกำหนดเสียต่างทั้งห้า (เดิมที) หลักการปกครองบ้านเมืองของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น หากไม่ใช่หลักกรุณาธรรมอบรมประชาราษฏร์ก้ไม่อาจสงบราบเรียบได้ บัดนี้ แม้ประมุขบางบ้านเมืองจะได้รับการกล่าวขวัญว่า มีความรักกรุณา แต่ประชาราษฏร์ก็มิได้รับบริบาลความชุ่มฉ่ำจากน้ำพระทัย ประมุขมิได้คงแบบอย่างไว้ให้ประชาราษฏร์เจริญตาม ก็เพราะมิได้ดำเนินการปกครองด้วยกรุณาธรรมอย่างอดีตกษัตริย์ จึงกล่าวว่า "มีแต่ใจดีที่มิได้สร้างสรรค์การปกครอง หรือได้แต่กำหนดว่าจะปกครองโดยธรรม แต่มิได้ดำเนินจริง เจ้าตัวของการปกครองโดยธรรม มันไม่อาจสำแดงตนให้เป็นผลได้ด้วยตัวของมันเอง ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "อย่าได้มีความผิดพลาด อย่าลืมการปกครองโดยธรรมจากอดีตกษัตริย์ ทำตามบัญญัติเดิม หลักการเดิมของพระองค์แล้วจะผิดพลาดนั้น ไม่เคยปรากฏมี" อริยะท่านได้พยายามสุดสายตาแล้ว ที่จะสอดส่องให้ชัดเจน จากนั้นก็ได้ใช้วงเวียนมาตรวัดบรรทัดฐาน วิธีการกุศโลบายต่าง ๆ เข้าช่วย เพื่อให้สิ่งอันต้องขัดเกลา ตรงเรียบได้รูป ใช้การได้เต็มที่เมธาจารย์ก่อนเก่าได้ใช้โสตสัมผัสเต็มที่แล้ว จึงได้แยกแยะระดับ ประเภทเสียงที่ต่างกัน คนภายหลังจึงได้ใช้ประโยชน์ไม่จบสิ้น ในเมื่ออริยเมธาจารย์ได้ครุ่นคิดใคร่ครวญสุดใจแล้ว เราจะต้องสืบต่อด้วยการปกครอง ไม่ใจร้ายดูดาย เช่นนี้ ความรักกรุณาจะปกหล้า จึงกล่าวได้ว่า "พูนดินขึ้นเนิน เนินสูงได้ง่าย" "ขุดแอ่งที่ลุ่ม ทุ่นงาน ทุ่นแรง" การปกครองก็เช่นกัน หากไม่ตามรอยกรุณาของอดีตกษัตริย์ จัดว่ามีปัญญาไหม ฉะนั้น จึงมีแต่คนที่สามารถปกครองโดยกรุณาธรรมเท่านั้น ที่สมควรแก่ตำแหน่งเบื้องสูง หากขาดกรุณาธรรม ดำรงตำแหน่งสูงกุมอำนาจปกครอง ก็จะกระจายความชั่วร้ายไปสู่ปวงชน ประมุขไม่มีธรรมนำทาง ขุนนางไม่อาจรักษาการเต็มภาคภูมิ ในพระราชฐาน ไม่ดำเนินตามธรรมอรัยกษัตริย์ก่อนเก่า ข้าราชฯน้อยใหญ่ จะไม่เคารพเชื่อถือระบบระเบียบของบ้านเมือง เมื่อข้าราชฯ ทั้งหลายผิดต่อหลักสัจจมโนธรรม ชาวประชาก็จะละเมิดกฏหมาย บ้านเมืองเมื่อรวนป่วนถึงเช่นนี้ ถ้ายังรักษาเสถียรภาพมั่นคงอยู่ได้ ก็ถือว่าเป็น "เคราะห์ดี" จึงกล่าวว่า "กำแพงล้อมเมืองชั้นนอก - ชั้นใน จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง ไพร่พลอาวุธจะไม่พร้อมพรัก เหล่านี้ยังมิใช่เหตุแห่งภัย ไร่นาไม่เจริญ การค้าไม่คับคั่ง ก็ยังมิใช่เหตุแห่งความเสื่อมโทรม แต่หากเบื้องสูงรวน ส่ายไร้จริยธรรม เบื้องล่างขาดความเข้าใจไม่อบรมให้เรียนรู้ โจรผู้ร้ายได้โอกาสฮึกเหิม ความหายนะจะเกิดแก่บ้านเมืองนั้นในไม่ช้า"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "เจตนาแห่งฟ้าเบื้องบนจะพลิกคว่ำบ้านเมืองของเจ้าอยู่แล้ว เจ้ายังคงระเริงใจไม่ใฝ่งานบริหาร เอาแต่สอพลอผู้เป็นใหญ่ นั่งนอนกับเงินหลวงตามสบายไม่หนาวร้อน ไม่มีมโนธรรมสำนึกต่อเหนือหัว ไม่มีจริยธรรมยำเกรง พูดจาวิจารย์การปกครอง ทำลายล้างคุณธรรมอดีตกษัตริย์ ผิดพลาดก็ยังคงสบาย ๆ ไม่รับรู้" จึงกล่าวว่า "นบนอบเบื้องสูงจงทักท้วง นำทางปกครองโดยธรรม เคารพเบื้องสูงให้แนะนำสัมมาวิถี ปิดทางมิจฉาหายนะ อย่าเบี่ยงบ่ายว่าได้เสนอแนะ แต่องค์ท่านทำไม่ได้ ดังนี้ไซร์ เจ้าจะเป็นขุนนางอันไม่ต่างกับโจร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า"วงเวียนสร้างกรอบกลม บรรทัดสร้างกรอบเหลี่ยม ให้เหลี่ยมกลมตรงเที่ยงไม่เอนเอียง อริยชนสร้างคนด้วยคุณสัมพันธ์งดงามต่อกัน ให้เที่ยงตรงไม่เอนเอียง จะเป็นองค์ประมุข ให้ถึงที่สุดด้วยธรรมแห่งประมุข จะเป็นข้าราชฯ ขุนนาง ให้ถึงที่สุดด้วยข้าราชฯ ขุนนาง สองสภาพนี้ เพียงให้เจริญรอยตามจริวัตรอริยกษัตริย์เหยากับซุ่นก็พอเพียง แม้ไม่ใช้ความเที่ยงตรงเช่นอริยกษัตริย์ซุ่น ที่เทิดทูนปฏิยัติต่ออริยกษัตริย์เหยา เท่ากับไม่เคารพองค์ประมุข แม้ไม่ใช้หลักธรรมที่อริยกษัตริย์เหยาปกครองประชาราษฏร์จะเท่ากับเป็นโจรภัยให้ร้ายประชาราษฏร์" ท่านบรมครูขงจื่อ กล่าวว่า "หลักการปกครองใต้หล้าฟ้านี้ มีเพียงสองสถาน คือ การุณย์รัก กับ ไม่การุณย์รักเท่านั้น กดขี่ถึงที่สุด ผู้กดขี่ตาย บ้านเมืองล่มสลาย กดขี่ยังไม่ถึงที่สุด ผู้กดขี่แม้ไม่ตายอันตรายก็จะถึงตัวบ้านเมืองจะถูกรุกรานแทรกแซง ผู้กดขี่แม้ตัวตาย ยังไว้ชื่อต่อไปว่า "ประมุขผี" "ประมุขโหด" แม้จะมีลูกหลานดีเด่นเกิดมาภายหลัง ก้ไม่อาจลบล้างสมญาน่ากลัวน่ารังเกียจนี้ได้" คัมภีร์ซือจิง จารึกไว้ว่า "ดูอย่างทรราชโจ้ว กับ เจี๋ย เป็นตัวอย่างที่สังวรความหมายเป็นเช่นนี้" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "ราชวงศ์ เซี่ย ซัง โจว ที่ได้ใต้หล้ามาครอบครอง ก็ด้วยกรุณาธรรม ภายหลังต้องสูญเสีย จบสิ้นราชวงศ์หลายร้อยปี คือเกือบหนึ่งพันปีต่อมา ก็ด้วยขาดกรุณาธรรม ความรุ่งเรืองเฟื่องฟู คงอยู่หรือจบสิ้น ก็ด้วยสาเหตุนี้เป็นสำคัญ"
เจ้าฟ้าขาดกรุณาธรรม มิอาจปรกนำสี่สมุทรสุดหล้า เทียนจื่อปู้เหยิน ปู้เป่าซื่อไห่
เจ้าเมืองขาดกรุณา ไม่อาจรักษาขันธสีมาบ้านเมือง จูโหวปู้เหยิน ปู้เป่าเซ่อจี้
ขุนนางมนตรีไม่มีกรุณา ไม่อาจรักษาศาลบูชาบรรพชน ชิงต้าฟูปู้เหยิน ปู้เป่าจงเมี่ยว
สามัญชนขาดกรุณา ไม่อาจรักษาสุขภาพร่างกาย ซื่อซู่เหยินปู้เหยิน ปู้เป่าซื่อถี่
คนปัจจุบันเกลียดชังความตาย แต่กลับหาความสุขพอใจ จากการขาดกรุณาธรรม ไม่ต่างกับคนชิงชังอาการเมามาย แต่ไม่ละสุราเมรัย
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "รักเขา เขาไม่สนิทชิดใกล้ ให้ย้อนมองความขาดพร่องของตนต่อกรุณาธรรม
อบรมเขา เขาไม่ยินดีตามที่สอน ให้ย้อนมองความขาดพร่องของตนต่อปัญญาธรรม
น้อมเคารพเขา เขาไม่น้อมเคารพตอบ ให้ย้อนมาองความขาดพร่องของตนต่อความเคารพ
ทำการใด ๆ ไม่อาจสัมฤทธิ์ผล ล้วนจะต้องเรียกร้องย้อนหาจากตนเอง"
(ไอ้เหยินปู้ชิน ฝั่นฉีเหยิน
ฉือเหยินปู๋จื้อ ฝั่นฉีจื้อ
หลี่เหยินปู้ต๋า ฝันฉีจิ้ง
สิงโหย่วปู้เต๋อเจ่อ เจียฝั่นฉิวจูจี่)
ตน ตั้งตนอยู่อย่างเที่ยงตรง ส่งผลให้ทุกคนมุ่งหา ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ย้อนมองส่องตน ทั้งวาจาอาการให้ตรงต่อฟ้าเสมอ เรียกร้องความถูกต้องจากตนเองเป็นประจำ ย่อมนำสุขวาสนามาสู่" (อย่งเอี๋ยนเพ่ยมิ่ง จื้อฉิวตัวฝู)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "มีคำพูดประโยคหนึ่งที่พูดกันเสมอว่า "ใต้หล้าฟ้าบ้านเมือง" (เทียนเซี่ยกว๋อเจี๋ย) แท้จริงแล้ว ใต้หล้าจะสดใสอับเฉา ขึ้นอยู่กับบ้านเมืองต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์หรือทำลาย บ้านเมืองจะสดใสหรืออับเฉา ขึ้นอยู่กับทุกคนในครอบครัวจะสร้างสรรค์หรือทำลาย โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวทำตัวเป็นแบบอย่าง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "บริหารบ้านเมืองนั้นไม่ยาก เพียงแต่อย่าทำให้ผู้มีฐานะตระกูลใหญ่ในบ้านเมืองต้องผิดหวังต่อคุณธรรมอันพึงมี หากทำให้เขาเหล่านั้นชื่นชมโสมนัส ชาวบ้านชาวเมืองก็จะพลอยเห็นดี คนทั้งบ้านเมืองชื่นชม โลกกว้างต่างชื่นชม เช่นนี้ คุณธรรมคำสอนของเขา ก็จะเป็นกระแสธารไหลผ่านไปทั่วโลกกว้าง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ยุคนี้โลกนี้มีธรรม เจ้าเมืองที่ไม่สำรวมดี ยังจะยอมเชื่อฟังกษัตริย์ผู้ทรงธรรม เจ้าเมืองผู้ด้อยความสามารถ ก็ยอมรับความสามารถของกษัตริย์ผู้ปรีชา แต่หากเป็นยุคที่ไม่มีธรรมค้ำชูอยู่ เจ้าเมืองเมืองเล็กจะถูกเจ้าเมืองเมืองใหญ่ข่มขวัญบัญชา เจ้าเมืองที่บ้านเมืองอ่อนแอ ก็จะถูกเจ้าเมืองมีกำลังข่มขวัญบัญชา มันแน่แท้นัก ฉะนั้น ทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปตามครรลองธรรม จึงจะอยู่ได้ ผิดต่อครรลองฟ้าชะตากำหนด ย่อมหมดสิ้นดับสลาย"
อันที่จริงบ้านเมืองยิ่งใหญ่เกรียงไกรแห่งราชวงศ์ฉี รุ่งเรืองอยู่หลายปี พอถึงรัชสมัยพระเจ้าฉีจิ่งกง ก็เริ่มอ่อนกำลังลง จึงถูกคุกคามจากเมืองอู๋ ผู้ด้อยอารยธรรม พระเจ้าฉีจิ่งกงกล่าวแก่ขุนนางว่า "จะทำอย่างไรได้ เมื่อตกอยู่ในฐานะที่ไม่อาจเอาชนะ อีกทั้งไม่ยอมจำนนแก่เขา มันจนหนทางเสียแล้ว" ฉีจิ่งกงปวดร้าวร่ำไห้ จำใจต้องยกพระธิดาเป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้าเมืองอู๋ บัดนี้ เมืองเล็กเอาอย่างเมืองใหญ่ เห็นว่าการรับบัญชาจากเมืองใหญ่เป็นเรื่องอัปยศ เฉกเช่นศิษย์ที่รู้สึกอัปยศเมื่อรับบัญชาจากครูบาอาจารย์ หากรู้สึกอัปยศดั่งนี้โดยแท้ ก็จงเจริญรอยตามอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงที่ปกครองโดยกรุณาธรรมเสียปะไร หากเจริญรอยตามได้ เมืองใหญ่ตั้งใจ จะใช้เวลาเพียงห้าปี เมืองเล็กตั้งใจ จะใช้เวลาเพียงเจ็ดปี บ้านเมืองก็จะเป็นปกติสุขโดยธรรม ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "รัชทายาทของราชวงศ์ซังมากมายเกินกว่าคณานับ แต่พระโองการฟ้า (เทียนมิ่ง) ได้แปรไปสู่ราชวงศ์โจว ดังนั้น ลูกหลานรัชทายาทราชวงศ์ซัง จึงมิได้สืบต่อพระโองการ จำต้องถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์โจว ทั้งนี้ ด้วยเหตุอันใด ก็ด้วยพระโองการฟ้ามิใช่ตายตัว เคลื่อนไปตามความเหมาะสมของผู้ได้รับ ข้าราชการ ขุนนางของราชวงศ์ซัง แม้จะดีเด่นเป็นศรีสง่า แต่เมื่อถึงวาระนี้ ต่างก็ต้องเข้าพิธีถวายสุรา เซ่นไหว้เจ้าที่ในเมืองหลวง เพื่อเฉลิมชัยให้แก่ราชวงศ์โจว"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
ท่านบรมครูขงจื่อ ได้อ่านกลอนบทนี้จากคัมภีร์ซือจิงแล้ว ต้องทอดถอนใจว่า "ใคร่จะปกครองด้วยกรุณาธรรม จงอย่าเสแสร้งต่อประชาราษฏร์ เมื่อดำเนินการจริง ปวงภัยย่อมจะปลาสนาการผ่านพ้น บัดนี้ เจ้าเมืองทั้งหลายใคร่ปราศปวงภัย แต่หาได้ดำเนินกรุณาธรรมไม่ จึงเหมือนกับจะจับของร้อน โดยไม่ชุบมือในน้ำเย็นเสียก่อน" ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ใครหรือที่จับของร้อนได้โดยไม่ใช้น้ำถอนความร้อนเสียก่อน" ปราชย์เมิ่งจื่อว่า "ต่อประมุขที่ขาดกรุณา จะพูดกรุณาด้วยได้หรือ ผลประโยชน์บดบังน้ำใจ อันตรายกับเห็นความปลอดภัย ระเริงชั่วร้ายหมายว่าสนุก หากพูดกรุณาธรรมกับคนเช่นนี้ได้ ไฉนยังจะมีที่บ้านเมือง ที่ต้องฉิบหาย" แต่ก่อนมีเพลงที่เด็ก ๆ ร้องเล่นกันว่า "น้ำใสไหลผ่านแหล่งน้ำชังหลังสะอาดนัก จะล้างซักสายคาดหมวกของข้า เมื่อแหล่งน้ำชังหลังขุ่นตมมา ยังจะชำระล้างขาของข้าได้" ท่านบรมครูกล่าวว่า ""เด็กน้อย (ศิษย์) ทั้งหลายจงฟัง น้ำใสใช้ชำระสายคาดหมวก น้ำขุ่นใช้ชำระเท้า" น้ำเหมือนกัน แต่คุณค่าเพื่อใช้ต่างกัน น้ำ ทำตัวของตัวเอง คนมักจะลบหลู่ดูถูกตนเองเป็นเบื้องตน จึงถูกผู้คนลบหลู่ดูถูกให้ในภายหลัง ครอบครัวทำลายตนเองเสียก่อน ภายหลังจึงถูกเขาทำลาย เมืองราวีตน จากนั้นคนจึงราวีเมือง คัมภีร์ซูจิง บทไท่เจี่ย จารึกว่า "ฟ้าให้เวรภัย ยังหลบเลี่ยงได้ ตนเองสร้างเวรภัย ไม่อาจอยู่รอด" ดังกล่าวเช่นนี้ (เทียนจั่วเนี่ย อิ้วเข่ยเอว๋ย จื้อจั้วเนี่ย ปู้เข่อหัว)
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "เหตุที่บ้านเมืองเจี๋ย กับ โจ้ว ต้องสูญเสีย เริ่มจากสูญเสียประชาชน" เหตุที่สูญเสียประชาชน เริ่มจากสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชน ฉะนั้น จะได้ใต้หล้ามาครอง ต้องมีหลัก ได้ใจประชาชนก่อนแล้วจึงได้ใต้หล้า ได้ประชาชนมีหลัก คือได้จิตใจ จึงได้ประชาชน ได้จิตใจมีหลัก คือประชาชนต้องการสิ่งใด จะต้องสร้างสรรค์อำนวยให้ ประชาชนชิงชังสิ่งใด ระงับยับยั้งอย่าสร้างความชิงชัง ประชาชนเข้าหาการปกครองโดยธรรม จะกรูกันประดุจน้ำโกรกลงสู่ที่ต่ำ ประดุจสัตว์วิ่งเข้าหาป่าเมือเป็นอิสระ ฉะนั้น ที่ไล่ต้อนปลาไปสู่น้ำลึก คือพวกนาคที่กินปลาเป็นอาหาร ที่ขับไล่นกเล็กเข้าป่า คือนกใหญ่ดุร้ายที่กินนกเล็กเป็นอาหาร พวกที่ขับต้อนประชาชนให้หนีมาสวาภิภักดิ์ต่ออริยกษัตริย์ซังทังกับโจวอู่ฮ๋วง ก็คือ ทรราชเจี๋ยกับโจ้วืั้กดขี่ทำร้ายประชาชนนั่นเอง บัดนี้ หากประมุของค์ใดในโลกยินดีต่อการปกครองโดยธรรม เจ้าเมือง ผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็จะเป็นผู้ขับเอาชาวเมืองของตนออกมาสวามิภักดิ์ให้เอง แม้องค์ประมุขนั้นจะไม่ปรารถนาการเป็นผู้ครองโลก ก็ไม่อาจปฏิเสธชาวประชาที่หันหน้าหนีร้อนมาพึ่งเย็นได้ ส่วนผู้มักใหญ่ใคร่ครองโลก เหมือนคนเจ็บป่วยเรื้อรังมาเจ็ดปี จะต้องใช้สมุนไพรไอ้เฉ่า ที่เก็บค้างสามปีมารนไฟรักษาจึงจะหาย หากไม่เสาะหามาค้างปีไว้ จนตายก็ไม่มีอะไรจะรักษาได้ (โรคของคนทะยานอำนาจลืมตัว ต้องรักษาด้วยกรุณาธรรมที่สร้างสมมาสามปี จนกว่าจะมีประสิทธิภาพ) หากไม่มุ่งมั่นใช้ความกรุณามาปกครอง ชีวิตจะหมองไหม้ ไร้เกียรติ ถูกเหยียดหยาม สุดท้ายตัวตาย บ้านเมืองสลายสิ้น ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า ""มันจะเป็นผลดีได้อย่างไร พาเขาขื่นขมล่มจมเช่นนี้" (ฉีเหอเหนิงสู ไจ้ซวีจี๋นี่)
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "คนที่กล้าทำร้ายศักดิ์ศรีตน มิอาจพูดหักธรรมด้วยได้ คนที่ยอมละทิ้งศักดิ์ศรีตน มิอาจทำการใหญ่ด้วยได้ คนที่พูดจาผิดต่อหลักจริยมโนธรรม เรียกว่า ทำร้ายศักดิ์ศรีของตน คนที่ไม่รักษากรุณาธรรม เรียกว่า ละทิ้งศักดิ์ศรีของตน กรุณาธรรมเป็นสถานพักพิงอันมั่นคงของคน มโนธรรมคือเส้นทางใหญ่ตรงเรียบที่น่าเดินของคน มีสถานพักพิงมั่นคงพร้อมอยู่ไม่เข้าไปอยู่ มีเส้นทางใหญ่ตรงเรียบให้เดิน ไม่เดิน น่าสมเพชนัก"
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "ธรรมะอยู่ตรงหน้า แสวงหา ณ ที่ไกล เรื่องนั้นแท้ง่าย แต่กลับเรียกร้องไปให้ยาก ทุกคนสนิทชิดเชื้อเคารพผู้ใหญ่ โลกก็จะปกติสุขราบเรียบ" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "ผู้อยู่เบื้องล่างไม่ได้รับความไว้วางใจจากเบื้องสูง บ้านเมืองจะปกครองไม่ได้ " ได้รับความไว้วางใจจากเบื้องสูงหรือไม่ มีหลักชัดเจนคือ แม้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อน จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อน จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากเบื้องสูง
ใคร่ได้รับความวางใจจากเพื่อนก็มีหลักชัดเจนคือ หากไม่อาจดูแลพ่อแม่ให้ท่านยินดีได้ จะไม่ได้รับความวางใจจากเพื่อน จะดูแลพ่อแม่ให้ท่านยินดีมีหลักชัดเจนคือ จะต้องย้อนมองส่องตนว่า กายใจที่ปฏิบัติต่อท่านนั้น บริสุทธิ์ศรัทธาจริงแท้เพียงไร จะบริสุทธิ์ศรัทธาจริงต้องมีหลักชัดเจน หากเข้าไม่ถึงหลักปรัชญาคุณสัมพันธ์ เข้าไม่ถึงทำนองคลองธรรมแล้ว ใจก็จะไม่อาจบริสุทธิ์ศรัทธาจริงแท้ได้ (กาลก่อน "เพื่อน" หมายถึงผู้อุ้มชูดูแลซึ่งกันจนถึงสละชีพเพื่อกัน) จึงกล่าวว่า ความบริสุทธิ์ศรัทธาจริงใจเป็นภาวะของจิตเดิมแท้ธรรมญาณอันได้มาจากฟ้า ใคร่รักษาความบริสุทธิ์ศรัทธาจริงใจ ให้รักษาหลักธรรมอันพึงรักษา หากได้ให้ศรัทธาจริงใจจนหมดสิ้นต่อเขาแล้ว เขายังไม่ซาบซึ้ง เช่นนี้ยังไม่เคยมี จะมีแต่ไม่ศรัทธาจริง จึงยังไม่มีที่ซาบซึ้ง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "เมื่อครั้งราชบุตรป๋ออี๋ หลบทรราชโจวไปซ่อนตัวที่เป่ยไห่ พอได้ข่าวว่ากษัตริยฺเหวินอ๋วง ถูกยกย่องขึ้นเป็น "ซีป๋อ ผู้นำเหล่าเจ้าเมือง" และกปครองโดยธรรม ราชบุตรป๋ออี๋ปีติยิ่ง กล่าวว่า "ไฉนเราจะไปม่ไปพึ่งบารมีเล่า ได้ยินว่าซีป๋อท่านนี้เคารพผู้สูงวัย สงเคราะห์คนแก่แม่หม้ายผู้เยาว์ " พระเจ้าปู่เจียงไท่กง ราชครูในพระเจ้าโจวเหวินอ๋วง (พระประวัติ สายทองเล่มหนึ่ง หน้า70) ขณะหลบทรราช แฝงองค์อยู่ชายทะเลตงไห่ พอได้ข่าวซีป๋อ ผู้นำเหล่า้เจ้าเมือง "ก็ยินดีนักกล่าวว่า "ไฉนเราจึงไม่รีบไปพบ "ซีป๋อ" ผู้นำเจ้าเมือง ผู้ชอบเคารพเลี้ยงดูผู้สูงวัย" เมื่อผู้สูงวัยกับสูงคุณธรรม อันเป็นเสมือนบิดาที่เคารพยิ่งของมหาชน พร้อมกันมาน้อมรับพระบารมีอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง ชาวบ้านชาวเมืองทั่วหล้าฟ้าไกลต่างก็พากันสวาภิภักดิ์"
เมื่อราชบุตรป๋ออี๋ กับพระเจ้าปู่เจียงไท่กง ผู้สูงวัยด้วยคุณธรรมทั้งสอง อันเป็นเสมือนบิดาที่เคารพยิ่งของมหาชน น้อมรับพระบารมีอริยกษัตริย์แล้วลูกหลานของบ้านเมืองจะไปไหนเสีย ฉะนั้น เหล่าเจ้าเมืองที่ได้รับการปกครองโดยธรรมจากโจวเหวินอ๋วง ภายในเจ็ดปี บ้านเมืองจะสงบราบเรียบแน่นอน
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "ครั้งกระนั้นท่านหยั่นฉิว (ศิษย์บรมครู) ไปเป็นผู้จัดการบ้านตระกูลจี้ขุนนางเมืองหลู่ ไม่อาจปรับเปลี่ยนการรีดนาทาเร้นของขุนนางจี้ได้ ยังกลับขูดรีดหนักขึ้น บรมครูโกรธหนัก กล่าวแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า "หยั่นฉิวไม่ใช่ศิษย์ของครู ทุกคนช่วยกันเอาโทษโจมตีเขาให้หนัก" จากจุดนี้จะเห็นได้ว่า องค์ประมุขไม่ทรงธรรม ขุนนางกลับ (เหมือน) มีส่วนร่วมขูดรีดจนร่ำรวย เท่ากับละทิ้งขาดสิ้นการปกครองโดยธรรมตามที่บรมครูเรียกร้อง
ยิ่งกว่านั้น พวกฮึกหาญลาญรบ แย่งชิงแผ่นดิน ฆ่าคนเกลื่อนกลาด สู้รบชิงเมืองฆ่าคนกองพะเนิง นี่เรียกว่า "รวบแผ่นดินกินเนื้อคน" โทษคนพวกนี้ถึงตายไม่สาสม ฉะนั้น แต่ก่อนกาลมา พวกชอบฆ่าชอบรบ ต้องได้รับโทษอุกฤษฏ์ โทษรองลงมาคือร่วมกับเจ้าเมืองยกทัพช่วงชิง โทษอีกขั้นหนึ่งคือ เรียกเก็บภาษีที่ดินชั้นดีที่ชาวบ้านแผ้วถางป่ารกมาจนเลือดตาแทบกระเด็นฯ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "หยั่งดูใจคน ไม่มีอะไรเห็นชัดเท่าสังเกตแววตา แววตาไม่อาจปกปิดความชั่วร้ายในใจ ถ้าจิตใจซื่อตรง แววตาก็จะมีพลังเที่ยงตรง จิตใจไม่ซื่อตรง นันย์ตาไม่อาจซ่อนเร้นได้"
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า
"ประมุขผู้น้อมองค์ให้เกียรติยกย่องใคร ๆ จะไม่เหยียดหยามประชาราษฏร์
ประมุขผู้มัธยัสถ์จะไม่เรียกเก็บภาษีหนักขูดรีดประชาชน
ประมุขที่เหยียดหยามอีกทั้งขูดรีด ก็เพื่อแสดงเดชานุภาพ เพื่อสยบประชาชน ให้อยู่ภายใต้นโยบาย
เช่นนี้เขาจะให้เกียรติ เขาจะมัธยัสถ์ทำไม ให้เกียรติ มัธยัสถ์ จะต้องแสดงผลอันเป็นจริง มิใช่ใช้เสียงหรือรอยยิ้ม ก็จะเสแสร้งทำได้"
ฉุนอวี่คุน นักคารมชาวเมืองฉี เรียนถามท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "หญิงชายไม่ควรชิดใกล้หยิบยื่นถึงมือกัน เป็นจริยธรรมหรือ" (หนันหนวี่โซ่วโซ่วปู้ชิน) ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "ถูกต้อง" เรียนถามอีกว่า "ถ้าเช่นนั้น หากพี่สะใภ้ตกน้ำ จะยื่นมือไปฉุดได้หรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "พี่สะใภ้หรือหญิงคนใดตกน้ำ ไม่ยื่นมือช่วยเท่ากับอำมหิต" อันว่าหญิงชายไม่หยิบยื่นถึงมือกันเป็นจริยธรรม แต่พี่สะใภ้ตกน้ำเป็นเหตุปัจจุบันทันด่วนอันพึงอนุโลม ฉุนอวี่คุน เรียนถามอีกว่า "บัดนี้ ชาวโลกเหมือนจมน้ำตะเกียกตะกาย ควรทำอย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "โลกจมลง ฉุดช่วยด้วยธรรม" (โลกจมสู่หายนะด้วยความขาดกรุณามโนธรรม) (เทียนเซี่ยนี่ เอวี๋ยนจื่ออี่เต้า) พี่สะใภ้จมน้ำช่วยได้ด้วยมือ หรือท่านคิดจะช่วยชาวโลกด้วยมือ"
ศิษย์กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ที่กัลยาณชนไม่อบรมลูกด้วยตนเองนั้นด้วยเหตุอันใด" ครูปราชญ์ตอบว่า "ยากด้วยสภาพการ (กัลยาณชนสุภาพเกินกว่าจะดุว่าเข้มงวด) สอนลูกจะต้องใช้หลักธรรม หากลูกไม่ทำตาม ขั้นต่อไปก็จะต้องลงโทษดุว่าเข้มงวด ลงโทษดุว่าเข้มงวดก็ด้วยรักลูก อยากให้ได้ดี แต่หากทำดังนี้ต่อไป พ่อลูกก็จะหมางใจกัน ในใจลูกจะย้อนตำหนิว่า "บิดาเป็นครูสอนลูกด้วยหลักธรรม แต่บิดาเองไม่เห็นดำเนินต่อหลักธรรมเลย ดังนี้ ระหว่างนี้พ่อลูกก็จะหมางใจกัน เมื่อหมางใจกัน คุณสัมพันธ์รักใคร่จะกลายเป็นเลวร้าย ฉะนั้น คนก่อนเก่าจึงแลกเปลี่ยนอบรมลูก ด้วยเหตุ
ที่ระหว่างพ่อลูกไม่อาจดุว่าฝืนใจให้ใฝ่ดีได้ ดุว่าฝืนใจให้ใฝ่ดี ความรักใคร่ผูกพันก็จะห่างหาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลไม่ดีจะเกิดตามมา"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ปฏิการะใดยิ่งใหญ่สำคัญ ปฏิการะบิดามารดา ยิ่งใหญ่สำคัญ (ซื่อสูเอว๋ยต้า ซื่อชินเอว๋ยต้า)
รักษาใดยิ่งใหญ่สำคัญ รักษาตนยิ่งใหญ่สำคัญ " (โส่วสูเอว๋ยต้า โส่วเซินเอว๋ยต้า)
"รักษาตนสุจริต ไม่ประพฤติผิดเสียหาย จึงจะปฏิการะบิดามารดาได้" ดังนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินมา
ผู้ไม่รักษาตนสุจริต ประพฤติผิดเสียหาย ปฏิการะบิดามารดาได้ ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินมา ผู้ใดมิพึงทำการนี้ ปฏิการะบิดามารดา เป็นรากฐานของความเป็นคนหนอ ผู้ใดมิพึงรักษาตน รักษาตนเป็นการรักษาฐานของชีวิตทีเดียว
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนต้น
ครั้งกระนั้น ปราชญ์เจิงจื่อ (ศิษย์บรมครู) ปฏิการะเจิงซีผู้บิดา ทุกมื้อจะต้องเพียบพร้อมด้วยเหล้ายาอาหาร ครั้นจะเก็บสำรับ ก็จะถามว่า อาหารที่เหลือจะแจกจ่ายแก่ใคร บิดาแจกจ่ายแก่ลูกหลานแล้วจะถามว่า "ยังมีเหลือหรือไม่" หากยังมีเหลือเจิงจื่อก็จะตอบว่า "มี" เมื่อเจิงซี บิดาของเจิงจื่อสิ้นไป เจิงเอวี๋ยน หลายชาย ปฏิการะเจิงจื่อผู้บิดา ทุกมื้อก็เพียบพร้อมเช่นกัน ครั้นจะเก็บสำรับกลับจะไม่ถามบิดาว่า ที่เหลือจะแจกจ่ายแก่ใคร หากเจิงจื่อแจกจ่ายแก่ลูกหลาน แล้วถามว่า "ยังมีเหลือหรือไม่" แม้จะยังมีเหลือ เจิงเอวี๋ยน บุตรชายก็จะตอบว่า "ไม่มี" ตอบเช่นนี้ ด้วยเกรงว่าบิดาจะแจกจ่ายเสียหมด ตอบว่าไม่มีจะเหลือไว้ให้บิดากินมื้อหน้าต่อไป เช่นนี้ เรียกว่า "เลี้ยงดูสังขาร" แต่สำหรับเจิงจื่อนั้น เลี้ยงดูบิดาด้วยกตัญญู ปฏิการะบิดามารดาอย่างปราชญ์เจิงจื่อนั้นใช้ได้"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"คนที่ขาดคุณธรรมใช้ไม่ได้ ไม่ต้องมัวติเตียน
องค์ประมุขบริหารบ้านเมืองได้ไม่ดี ไม่ต้องมัวตำหนิ ขอเพียงให้มีผู้ทรงคุณธรรมสะท้อนให้เห็นความผิดพลาด
เมื่อเบื้องสูงให้กรุณาธรรมสูง เบื้องล่างจะสูงตาม
เบื้องสูงมีมโนธรรม เบื้องล่างจะไม่กล้าละเมิด
เบื้องสูงเที่ยงตรง เบื้องล่างไม่กล้าคด
ประมุขเที่ยงตรงองค์เดียว บ้านเมืองมั่นคงได้
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "คนมักประสบสิ่งไม่คาดคิด เช่นคำชื่นชม หรือที่ตนคิดว่าทำดีที่สุด แต่ถูกใส่ร้ายป้ายสีทำลายชื่อเสียง" กล่าวอีกว่า "คนที่ชอบพูดพล่อย คือคนที่ยังไม่ได้รับการว่ากล่าวติเตียนจากใคร ๆ " กล่าวอีกว่า "โรคประจำตัวของคน คือชอบเป็นครูเขา สู่รู้สู่สอน"
เอวี้ยเจิ้งจื่อ เป็นผู้ติดตามจื่อเอ๋า ขุนนางอิทธิพลเมืองฉี มาเมืองฉีขอเข้าพบท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ ปราชญ์เมิ่งจื่อตำหนิว่า "ท่านก็รู้จักจะมาพบเราด้วยหรือ" เอวี้ยเจิ้งจื่อถามว่า "เหตุใดท่านจึงกล่าวดังนี้" "ก็ท่านมาถึงที่นี่กี่วันแล้วล่ะ" "สองวันก่อน" "ก็ถูกต้องแล้วที่ถาม" "ที่มาช้าไปเพราะที่พักยังไม่เรียบร้อย" "ท่านเคยได้ยินมาหรือว่า จนกว่าที่พักเรียบร้อยแล้ว จึงจะมาคารวะผู้ใหญ่" เอวี้ยเจิ้งจื่อน้อมรับว่า "เป็นความผิดของข้าพเจ้าแล้ว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อ ให้ข้อคิดอีกว่า "ท่านติดตามขุนนางจื่อเอ๋าเข้าเมืองมา ก็เพื่อดื่มกิน คิดไม่ถึงว่าท่านผู้ศึกษาหลักธรรมของบรรพชน ได้แต่เอาการศึกษานั้นมาดื่มกิน" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผิดต่อกตัญญูมีสามข้อ ข้อที่หนึ่ง ตัดทางทายาทไม่ยอมมีบุตรสืบสกุลผิดที่สุด (ปู๋เซี่ยวโหย่วซัน อู๋โฮ่วเอว๋ยต้า) อริยกษัตริย์ซุ่น อภิเษกสมรสโดยมิได้บอกกล่าวบิดา ด้วยเกรงจะขาดทายาท ภายหลังจึงมีกัลยาณชนวิเคราะห์กรณีนี้ว่า ไม่ได้บอกกล่าว ก็เหมือนได้บอกกล่าว เนื่องจากบิดาของท่านเป็นคนโง่ หยาบ ไม่อาจรับรู้ มีแต่จะอาละวาดโวยวาย"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ดำเนินกรุณาธรรมแท้จริง คือปฏิการะบิดามารดา"
"รักษามโนธรรมแท้จริง คือโอนอ่อนผ่อนพี่ "
มีสติปัญญาแท้จริงคือ เข้าใจหลักคุณสัมพันธ์ กตัญญู พี่น้องปรองดองอย่างมั่นคงไม่ลืม
ความหมายที่แท้จริงของดนตรี อยู่ที่แปรใจคนให้ได้รับความสุขโดยเหมาะกับจริยธรรม
ความยินดีต่อความสุข หากแม้ตั้งอยู่บนฐานกตัญญูน้อมใจ ความสุขอันเป็นธรรมชาติก็จะค่อย ๆ ก่อเกิด เมื่อก่อเกิดเช่นนี้ ก็จะลุ่มลึกยาวไกลไพศาล มิอาจประมาณ มิอาจยับยั้งได้ เมื่อไม่อาจยับยังความสุขอันเป็นธรรมชาตินั้น พลันมือเท้าก้อาจเคลื่อนไหว ไปตามลีลาของความสุขนั่นเอง โดยมิต้องกำหนดหมาย
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า
เมื่อชาวโลกต่างปิติยินดีที่จะเข้ามา จงมองดูให้เขาปิติยินดีมา มากมายเหมือนผักหญ้า สถานภาพนี้ มีแต่อริยกษัตริย์ซุ่นเท่านั้นที่ได้รับ แต่ในใจของอริยกษัตริย์ซุ่น เห็นความกตัญญูสำคัญที่สุด จึงกล่าวว่า ผู้ไม่ได้รับความยินดีจากบิดามารดา ไม่นับว่าไม่เป็นคนโอนอ่อนตามใจ จะนับไม่ได้ว่าเป็นบุตรธิดาจากท่าน ฉะนั้น อริยกษัตริย์ซุ่นจึงทำความกตัญญูเต็มที่ จนกระทั่งกู่โส่ว บิดาผู้โง่เขลาหยาบช้าชอบอาละวาด ยินดีปรีดิ์เปรม ชาวโลกได้เห็นความเป็นไปจึงได้คิดว่า "พ่อแม่จะต้องให้ความรักเมตตา ลูกจะต้องกตัญญู รักษาคุณสัมพันธ์ต่อกัน เช่นอริยกษัตริย์ซุ่นนี้ เรียกว่า "มหากตัญญู" ผู้คนจึงปิติยินดีที่จะเข้ามา
~ จบบทหลีโหลว ตอนต้น ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "อริยกษัตริย์ซุ่น ถือกำเนิดที่จูเฝิง ภายหลังย้ายไปอยู่ที่ฟู่เซี่ย สุดท้ายทรงสิ้นที่หมิงเถียว เป็นถิ่นของชนป่าดอยด้อยความเจริญทางทิศตะวันออก ปัจจุบันคือมณฑลซันตง - ซันซี อริยกษัตริย์เหวินอ๋วง ถือกำเนิดที่ฉีโจว ทรงสิ้นที่ปี้อิ่ง เป็นถิ่นของชนป่าดอยด้อยความเจริญทางทิศตะวันตก ปัจจุบันคือ มณฑลสั่นซี - ซีอัน ทั้งสองอริยกษัตริย์ ณ ที่ห่างกันพันกว่าลี้ ยุคสมัยกาลเวลาก็ห่างกันพันกว่าปี แต่ทั้งสองพระองค์ต่างมุ่งมั่นผลักดันสร้างสรรค์การปกครองโดยธรรมอย่างเดียว ดุจดั่งลัญจกรตราประทับที่ผ่ากลางเป็นสองฝามาประกบเข้าหากัน พระองค์หนึ่งเป็นอริยบรรพกาล พระองค์หนึ่งเป็นอริยปัจฉิมกาล แต่หลักธรรมอริยนั้นหนึ่งเดียวกัน (เซียนเซิ่งโฮ่วเซิ่ง ฉีขุยอีเอี่ย)
เมื่อครั้งจื่อฉั่น ขุนนางยุคชุนชิว บริหารงานเมืองเจิ้ง เคยใช้รถม้าของตนทอดขวางเป็นสะพานให้คนข้าำมลำน้ำเจินกับลำน้ำเอว่ย ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"แสดงน้ำใจโดยไม่รู้หลักใหญ่การบริหาร ถ้ารู้หลัก เดือนสิบว่างจากงานนา เดือนสิบเอ็ดงานสร้างสะพานคนข้ามก็แล้วเสร็จ เดือนสิบสองรถม้าก็สัญจรไปมาได้ ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องลุยน้ำลำบาก คนเบื้องสูงพัฒนาให้ประชาชนสุขสบาย แม้จะต้อนผู้คนให้หลบรถม้าที่ตนขับขี่ผ่านไปก็ยังพอว่า แต่คนที่ยังเปลือยขาลุยน้ำมีมากนัก รถคันเดียวทอดเป็นสะพานให้คนเดินข้ามชั่วขณะจะพอเพียงหรือ ฉะนั้น ผู้บริหารบ้านเมือง จงอย่าได้แสดงน้ำใจเอาหน้าเอาบุญคุณส่วนตัวให้เขาชื่นชม แม้ทำเช่นนี้เรื่อยไปทุกวัน ก็ไม่ทันต่อความจำเป็น"
ปราชญ์เมิ่งจื่อ กล่าวแก่พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วงว่า " หากอ๋องท่าน เห็นข้าราชฯ ประหนึ่งมือเท้าร่วมกายา ข้าราชฯ ก็จะเห็นพระองค์ประหนึ่งทรวงใจที่รักใคร่พึงปกป้อง แต่หากอ๋องท่านเห็นเขาไม่ต่างจากสุนัขหรือม้า เขาก็จะเห็นอ๋องท่านสามัญไร้ค่า ยังมีอ๋องที่เห็นประชาชน ข้าราชฯ เหมือนผักหญ้าเศษขยะ พวกเขาก็จะเห็นอ๋องเป็นเช่นศัตรูผู้ร้ายที่น่าชัง
ฉีเซวียนอ๋วงรู้สึกว่า ที่ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประมุขกับขุนนาง ออกจะจริงจังเกินไป จึงตั้งคำถามว่า "จริยประเพณีกำหนดว่า ขุนนางเก่าที่ไปจากบ้านเมือง เมื่อประมุขที่ขุนนางเคยรับใช้สิ้นไป ขุนนางยังจะต้องไว้ทุกข์ให้สามเดือน ประมุขจะต้องปรกบารมีคุณแก่ขุนนางนั้นมาก่อนอย่างไรหรือ ขุนนางนั้นจึงไว้ทุกข์ถวายให้" ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "คำทัดทานที่ดีของขุนนางนั้นพึ่งพาได้ ข้อเสนอที่ดีของขุนนางนั้นทำตามได้ เนื่องด้วยคำทัดทานและข้อเสนอนั้น เอื้อคุณแก่ประชาราษฏร์ เช่นนี้ วันใดหากขุนนางผู้นั้นมีเหตุจำเป็นด้วยกรณีพิเศษจะต้องไปอยู่บ้านเมืองตน ประมุขจะต้องจัดคณะผู้นำส่งให้เขาปลอดภัย อีกทั้งจะต้องให้คนล่วงหน้าไปยังบ้านเมืองที่ขุนนางนั้นจะไปรับตำแหน่งใหม่ ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณแก่เขา ส่วนตำแหน่งเดิมยังคอยเขาอยู่ สามปีไม่กลับมาจึงจะถือว่าพ้นจากสถานภาพ ทรัพย์สินไร่นาที่ปูนบำเหน็จไว้ จึงค่อยถอนกลับเข้ากองคลัง " นำส่ง ยกย่อง รอคอย" เรียกว่าจริยะประเพณีสามประการ และนั่นก็คือ เห็นขุนนางดั่งแขนขาในตัวตนของประมุข ขุนนางจะไม่รำลึกพระคุณ ไม่ไว้ทุกข์ให้ประมุขสามเดือนได้หรือ แต่บัดนี้ ขุนนางทัดทาน ประมุขไม่เชื่อคำเสนอแนะ ไม่ทำตาม อีกทั้งพระมหากรุณาฯ ก็ไม่ปรากฏแก่พสกนิกร เมื่อขุนนางมีเหตุจำเป็นจะต้องจากไป ประมุขกลับจะจับกุมขัดขวาง ตัดโอกาส ทำลายความเชื่อถือแก่ตำแหน่งแห่งใหม่ ทันที ที่จะจากไป ก็จะยึดทรัพย์ที่บำเหน็จไว้ ดังนี้คือ ปฏิบัติต่อกันดั่งศัตรู เมื่อความรู้สึกเป็นสัตรูต่อกัน จะยังมีแก่ใจไ้ว้ทุกข์ถวายให้อีกหรือ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ข้าราช ฯ ขุนนางถูกประหารไม่ผิด จะรู้ความโฉดเขลาเมาอำนาจขององค์ประมุข ดังนั้น ข้าราช ฯ ขุนนางอื่นๆ พึงหาทางไปจากเสีย
ชาวบ้านถูกทารุณเข่นฆ่าโดยไม่ผิด จะรู้การปกครองที่ล้มเหลวเสียหาย ผู้คนทั้งหลายพึงหาทางโยกย้ายไปจากบ้านเมืองนี้"
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า
"หากประมุขปกครองด้วยกรุณา ทุกคนในบ้านเมืองไม่มีที่จะไม่ปฏิบัติกรุณาธรรม หากประมุขปกครองโดยมโนธรรม ทุกคนในบ้านเมืองไม่มีที่จะไม่ดำเนินมโนธรรม"(จวินเหยินม่อปู้เหยิน จวินอี้ม่อปู๋อี้) กล่าวอีกว่า "ประเพณีที่มิใช่จริยธรรม ความถูกต้องที่มิใช่หลักมโนธรรม ผู้ใหญ่ คนใจงาม จะไม่ทำตาม" กล่าวอีกว่า "ทุกคนในโลกล้วนมีหน้าที่รับใช้ด้วยมโนธรรม คนที่รู้หลักทำนองคลองธรรม มีหน้าที่รับใช้ ชี้นำผู้ไม่รู้ทำนองคลองธรรม คนที่มีปัญญาความสามารถ มีหน้าที่รับใช้ชี้นำคนโง่เขลาเบาปัญญา ทุกคนต่างหวังได้พ่อ ได้พี่ มีปัญญาความสามารถ ไว้อบรมชี้นำทุกเวลา ในทางตรงกันข้าม ผู้รู้ทำนองคลองธรรมละทิ้งผู้ไม่รู้ คนที่ปราดเปรื่องเรืองปัญญา ละทิ้งคนโง่เขลาเบาปัญญา ดังนี้ คนดีมีปัญญา กับคนโง่เขลเบาปัญญา ย่อมไปได้ไม่ไกลกัน ประชากรขาดการสอนสั่ง บ้านเมืองนั้นย่อมด้อยควาเจริญ ชาวบ้านขาดการสอนสั่ง จารีตขนบธรรมเนียมย่อมเสียหาย ลูกหลานของผู้รู้ ผู้เรืองปัญญา ก็ยากจะดีได้ จึงว่า "ไปได้ไม่ไกลกัน" กล่าวอีกว่า "คนพึงมีใจต่อต้าน ภายหลังจึงอาจสร้างคุณความดีได้ (คล้อยตามความผิดไม่อาจสร้างความดี)" กล่าวอีกว่า "เอาแต่ตำหนิติเตียนว่าร้ายใครเขา วันใดเขาย้อนสนองให้ จะรู้ผลภัยที่ตามมา" กล่าวอีกว่า "บรมครูจ้งหนี (ขงจื่อ) ไม่ทำสิ่งสุดโต่ง สอนให้โดยไม่บังคับขับเคี่ยว" กล่าวอีกว่า "ตำแหน่ง สถานภาพใหญ่ พูดอะไรมิใช่สัตย์จริงทุกสิ่งไป ทำการใดก็มิใช่แน่ชัดเด็ดขาดบรรลุผลทุกอย่างไป จงเดินตามทำนองคลองธรรม" กล่าวอีกว่า " ผู้ใหญ่คือผู้สูงด้วยคุณธรรม คือผู้ดำรงจิตบริสุทธิ์อยู่ได้" กล่าวอีกว่า " ปฏิการะบิดามารดา ยังมิใช่ทำการใหญ่ จัดงานศพแก่ท่านนั่นคือทำการใหญ่ เป็นความกตัญญูที่ผู้คนรับรู้ ไม่อาจเสแสร้งตบตาได้"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวอีกว่า
"สิ่งที่กัลยาณชนศึกษาค้นคว้า ล้วนอาศัยหลักเหตุของธรรมชาติ เพื่อให้ตนรู้แจ้งต่อหลักธรรม เมื่อรู้แจ้งต่อหลักธรรมแล้ว จิตจะสงบมั่นคง เมื่อจิตสงบมั่นคง คุณสมบัติของความเป็นคนย่อมลุ่มลึก คิด พูด ทำการใดในทุกขณะทุกสถาน ก็จะสอดคล้องต่อหลักธรรม ฉะนั้น จุดมั่งหมายในการศึกษาค้นคว้าของกัลยาณชน ก็เพื่อให้ตนรู้แจ้งต่อหลักเหตุและผลจนถึงที่สุดแห่งธรรมชาติ" กล่าวอีกว่า ""กัลยาณชนพึงเป็นผู้รอบรู้ อีกทั้งรู้จักซักถาม รู้จักตรึกคิด เมื่อรู้ชัดแล้วจึงอาจปฏิบัติจริง อาจถ่ายทอดให้ถูกต้องได้ ขยายความได้ ย่อความได้" กล่าวอีกว่า "เอาความดีไปสยบเขา ไม่มีที่จะสยบได้ เอาความดีไปบำรุงเลี้ยงใจเขา จึงจะกล่อมกลายให้เขาอ่อนน้อมลงได้ เมื่อใจอ่อนน้อม บ้านเมืองย่อมสงบ ปกครองได้ดี ประชาราษฏร์ไม่อาจน้อมใจ จะเป็นอ๋องเต็มภาคภูมิได้ไม่เคยมี" กล่าวอีกว่า "วาจาไม่สัตย์จริงเป็นสิ่งอัปมงคล ปิดบังปรัชญา ปิดบังสัจวาจาของปราชญ์เมธี มีผลของความอัปมงคลสู่ผู้นั้น
โบราณจึงกล่าวว่า บ้านเมืองมีสามอัปมงคลคือ
1. มีปราชญ์เมธีอยู่ แต่มิรู้ว่ามีอยู่
2. มีปราชญ์เมธีอยู่ แต่มิรู้จักใช้ให้เกิดคุณ
3. มีปราชญ์เมธีอยู่ แต่มิได้ยกย่องไว้วางใจ
(โหย่วเสียนเอ๋อปู้จือ จือเสียนเอ๋อปู้ย่ง ย่งเอ๋อปู๋เยิ่นฉีเฉวียน ซันปู้เสียงเอี่ย)
สวีจื่อ ศิษย์ของปราชญ์เมิ่งจื่อ เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ครั้งกระนั้น ท่านบรมครูมักจะอุทานชื่นชมน้ำบ่อย ๆ ว่า "น้ำหนอ น้ำหนอ" น้ำมีจุดเด่นให้ยึดหมายได้หรือ" ครูปราชญ์ว่า
"น้ำมีตาน้ำต้นกำเนิด ล้นหลากไม่ขาดสาย ต่อเนื่องทั้งกลางวันกลางคืน เต็มแอ่งแล้วจึงเดินหน้าต่อไป เป็นกระแสลงสู่สี่คาบสมุทรใหญ่ ผู้รู้กำเนิดตนก็เป็นเช่นน้ำ มีพลังแรงส่งในตนด้วยตน เป็นคน ไม่คำนึงถึงต้นกำเนิด (ธาตุธรรม) จะเหมือนฝนชุกเดือนเจ็ดเดือนแปด น้ำขังไปทั่วไร่นาแอ่งคู แต่พอ
เหือดแห้ง ก็ได้แต่รอฝนจากฟ้า
ฉะนั้น ชื่อเสียงจอมปลอมปรุงแต่ง ปราศจากตาน้ำต้น กำเนิดที่ล้นหลากคุณาประโยชน์ไม่ขาดสาย จึงเป็นเรื่องน่าละอายยิ่ง" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กัลยาณกษัตริย์อวี่ รังเกียจสุราที่ว่าเลิศรส เพราะจะทำให้หลงจิตติดเผลอ แต่ชอบที่จะฟังสิ่งดีมีประโยชน์ กษัตริย์ทัง ทำการด้วยหลักธรรมทางสายกลาง ใช้คนดีโดยไม่จำกัดคุณสมบัติเฉพาะ อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง ห่วงใยดูแลประชาราษฏร์ไม่พลาดห่าง หวังให้ธรรมะทางสายกลางซึมซับประชาราษฏร์ แต่รู้สึกเหมือนยังไม่ถึงเป้าหมาย อริยกษัตริย์โจวอู่ฮ่วง ไม่กล้าละเลยงานอีนพึงทำ ณ บัดนี้กับที่จะต้องทำต่อไป ความคิดดำริของปู่เจ้าโจวกง ผู้สำเร็จราชการ กอปรด้วยคุณธรรมงดงามของกัลยาณกษัตริย์ กับอริยกษัตริย์เซี่ย ซัง โจว ทั้งสามสมัยรวมกันดำเนินงานที่สี่มหากษัตริย์ อวี่ ทัง เหวิน อู่ ทรงให้ความสำคัญ สิ่งใดที่ไม่เหมาะกับสถาณการณ์ขณะนั้น ท่านจะแแหงนหน้ามองฟ้า ครุ่นคิดพิจารณาอยู่นาน ตรึกตรองทั้งกลางวันกลางคืน หากโชคดี หากคิดได้เหมาะสม ก็จะนั่งรอจนเวลาฟ้าสางแล้วรีบมีคำสั่งดำเนินการ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ราชวงศ์โจว ภายหลังเมื่อกษัตริย์โจวผิงอ๋วง โยกย้ายเมืองไปทางทิศตะวันออกแล้ว การปกครองด้วยธรรมที่ดำเนินเรื่อยมามอดดับลง กลอนกวีที่แซ่ซ้องโลกสุขสงบก็เงีบยหาย จากนั้น ท่านบรมครูขงจื่อจึงเรียบเรียงจารึกเรื่องราวบุคคลที่มีคุณ-โทษ จงรัก-คดโกง ดีงาม-เลวร้าย แห่งประวัติกาลนั้นลงในหนังสือชุนชิว กุก่อง-กวาดเก็บ หนังสือพงศาวดารเมืองจิ้น ชื่อว่าเซิ่ง พงศาวดารเมืองฉู่ ชื่อว่าเถาอู้ พงศาวดารเมืองหลู่ ชื่อว่าชุนชิว เป็นหนังสือพงศาวดารบ้านเมืองเช่นเดียวกัน พงศาวดารเมือง จารึกที่เมืองฉีหวนกง กับจิ้นเหวินกง ชิงแผ่นดิน ข้อความในหนังสือชุนชิว ได้จากบันทึกวิจารณ์คุณ-โทษ ของขุนนางฝ่ายข้อมูลประวัติ
บรมครูขงจื่อว่า
"ความหมายหลักของข้อมูลประวัติ เราได้บันทึกส่วนที่สำคัญไว้ในชุนชิวแล้ว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"กัลยาณชนผู้มีคุณธรรม สืบส่งบารมีศรีสง่าแก่อนุชน อย่างน้อยก็จะดำรงต่อไปห้าสมัยจึงจะขาดสิ้นเช่นกัน ท่านบรมครูขงจื่อ สืบส่งปรัชญางามสง่า บารมีเลิศล้ำแห่งคุณธรรม จนมาถึงข้าพเจ้านี้เพิ่งสี่สมัย (ขงจื่อ เจิงจื่อ จื่อซือ เมิ่งจื่อ) ฉะนั้น แม้ข้าพเจ้าจะเป็นศิษย์ ที่มิได้รับโปรดอบรมจากบรมครูโดยตรง แต่ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ได้รับการสืบส่งบารมีศรีสง่าแห่งปรัชญษคุณธรรมจากท่านบรมครูแล้ว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
" รับทรัพย์สิ่งของ ๆ เขา ตามหลักดูอย่างการรับไว้ได้ พิจารณาอีกด้านหนึ่ง น่าจะไม่รับก็ได้ รับไว้ จะเสียหายแก่ "สุจริตธรรม"
ให้ทรัพย์สิ่งของแก่เขา ตามหลักดูอย่างกับให้ได้ เมื่อพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะไม่ให้ก็ได้ ให้ไป จะเสียหายแก่ "ทานจรรยา"
ยอมตายเพื่อศักดิ์ศรี ตามหลักดูอย่างกับสมควรตาย แต่จะไม่ตายก็ได้ ตาย กลับจะเสียหายต่อ "คุณธรรมแห่งความกล้า" ฉะนั้น ทุกอย่างจึงพึงพิจารณาทั้งสองด้านให้รอบคอบถี่ถ้วน" รัชสมัยเซี่ย นักฉมังธนูนามว่า เฝิงเหมิง มาศึกษาการยิงธนูจากประมุขอี้ เจ้าเมืองโหย่วฉยง ศึกษาจนประมุขหมดภูมิ ในใจ เฝิงเหมิง แอบคิดว่า นักฉมังธนูที่เหนือกว่าข้า ในโลกนี้มีแต่ประมุขอี้เท่านั้น จึงลอบสังหารอี้เสีย เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "นี่เป็นความผิดของอี้ด้วย ที่รับศิษย์ไว้ไม่พิจารณา" ท่านกงหมิงอี๋๋ ปราชญ์ก่อนเก่า ชาวเมืองหลู่ เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า "อี้ น่าจะผิด" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จะไม่ผิดได้อย่างไร เพียงแต่มีส่วนความผิดตั้งแต่เริ่มแรก มิใช่ไม่ผิด"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ครั้งหนึ่งเมือเจิ้ง มอบหมายให้ จื่อจั๋วหยูจื่อ นำทัพไปตีเมืองเอว้ย แต่กลับถูกตีพ่าย เมืองเอว้ยให้ขุนนางอวี่กงจือซือไล่กวดสังหาร จื่อจั๋วหยูจื่อ ประหวั่นสะท้านว่า "โรคเก่าของเรากำเริบ ไม่อาจง้างศรยิงธนูสกัดศัตรู ครั้งนี้ เราคงไม่รอดแน่" จึงถามสารถีว่า "คนที่ไล่กวดเรามาคือผู้ใด" ตอบว่า "คืออวี่กงจือซือ" พอได้ยิน จื่อจั๋วหยูจื่อกลับอุทานว่า "โอ ถ้าอย่างนั้นเรารอดแล้ว" สารถีถามว่า "ไฉนจึงว่ารอดได้ เขาฉมังธนูที่สุดในเมืองเอว้ยทีเดียว" ตอบว่า "ที่ว่ารอดได้นั้น มีเหตุผลอยู่" อวี่กงจื่อซือ เรียนการยิงธนูจากอิ่นกงจือทา ส่วนอิ่นกงจื่อทานั้น เรียนวิชายิงธนูไปจากเรา ศิษย์ของเราเป็นคนเที่ยงธรรม ความประพฤติดี ฉะนั้น คนที่เขาคบหาน่าจะเป็นผู้ประพฤติดีเช่นกัน ไม่นาน อวี่กงจือซือ ก็ไล่กวดมาทัน พอเห็นฝ่ายตรงข้ามเฉยอยู่ไม่จับอาวุธ จึงถามว่า"ทำไมท่านไม่ยกคันธนู" จื่อจั๋วหยูจื่อตอบว่า " วันนี้โลกเก่าของเรากำเริบ ไม่อาจจับคันธนูได้" อวี่กงจือซือว่า "ข้าพเจ้าผู้น้อยเรียนการยิงธนูจากอิ่นกงจื่อทา เรียนมาจากท่าน ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้น้อยมิอาจทำใจใช้วิชาจากท่านกลับมาทำร้ายท่านได้ แต่วันนี้ เป็นโองการบัญชาจากประมุข ข้าพเจ้าผู้น้อยมิกล้าผิดต่องานหลวงด้วยความสัมพันธ์สวนตัว ว่าแล้ว อวี่กงจือซือ ก็ชักลูกธนูจากกระบอก ฟาดลงกับล้อรถให้หัวธนูหักเสีย แล้วยิงมาสี่ดอก จากนั้น
หันกลับ (เรื่องนี้ เป็นข้อเปรียบเทียบที่ศิษย์ทรยศสังหารอาจารย์ กับศิษย์กตัญญูรู้คุณที่ตอบแทนคุณอาจารย์)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ไซซี หญิงงามเลื่องชื่อระบือไกล หากมีกลิ่นกายไม่สะอาด ผู้คนเข้าใกล้ก็จะต้องปิดจมูก ตรงกันข้าม แม้ผู้มีหน้าตาไม่งดงาม หากถือศีลกินเจ กายใจสะอาดบริสุทธิ์ ผู้นั้นยังจะทำหน้าที่ถวายบูชาสักการะพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบนได้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ชาวโลกค้นคว้าหลักจิตญาณของสรรพชีวิต ด้วยการประเมินเหตุผลตามที่รู้เห็นมา ปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้เห็นได้ ล้วนมีรากฐานมาจากธรรมชาติ เหตุที่เราเบื่อหน่ายผู้อวดรู้อวดเก่ง เพราะพวกเขาไม่ใช้คุณประโยชน์จากธรรมชาติตามสภาพความเป็นจริง แต่จะใช้ทฟษฏีขุดเจาะ ผู้มีปัญญาโดยแท้นั้น จะใช้ธรรมชาติเองปรับแปรธรรมชาติ เช่น กษัตริย์อวี่ จัดชลประทานใช้กำลังน้ำ ขุดลอกคลองระบายลงทะเล เช่นนี้จึงจะเป็นปัญญาที่ไม่น่าเบื่อหนาย"
กษัตริย์อวี่จัดชลประทาน ล้วนอาศัยพลังน้ำอันเป็นคุณสมบัติของน้ำเอง จึงประหยัดและเป็นธรรมชาติ ผู้มีปัญญาโดยแท้ หากรู้จักอาศัยคุณสมบัติของธรรมชาติการทุกอย่างก็จะเป็นไปโดยง่ายและประหยัดเช่นกัน อีกทั้งปัญญาก็จะไร้ขอบเขต ฟ้าอวกาศสูงกว้าง ดวงดาวต่าง ๆ ไกลโพ้น แต่หากรู้จักค้นหาเหตุผล ธรรมชาติที่มา แม้วันเวลานับพันปี ก็อาจนั่งอยู่กับที่คำนวนการได้ (จิตญาณปัญญาของมนุษย์ เป็นที่สุดของความลึกล้ำธรรมชาติ)
กงหังจื่อ ขุนนางเมืองฉี จัดงานศพบุตรชายของหวังฮวน มหามนตรีฝ่ายขวา แทนองค์ประมุขไปร่วมงานไว้อาลัย พอหวังฮวนย่างเข้าประตูมา หลายคนเข้ารับหน้าทักทายสนทนา บ้างนั่งประกบข้างพูดคุย มีแต่ปราชญ์เมิ่งจื่อที่มิได้เสวนา มหามนตรีรู้สึกไม่ชอบใจ กล่าวแก่ใคร ๆ ว่า "ทุกคนต่างเข้ามาพูดจา มีแต่เมิ่งจื่อที่ไม่คุยด้วย เท่ากับดูแคลนเราหวังฮวน" ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวให้ว่า "จริยระเบียบในพระราชฐาน (ของขุนนาง) ไม่อนุญาตให้ลุกจากที่นั่งไปคุยกัน ไม่ให้ข้ามลำดับขั้นไปคารวะกัน ข้าพเจ้ารักษาระเบียบแห่งราชฐาน ท่านเข้าใจว่าข้าพเจ้าดูแคลน ไม่แปกไปหน่อยหรือ" (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อต้องการตักเตือนมหามนตรีที่ชอบคนสอพลอประจ๋อประแจ๋ อีกทั้งตำหนิผู้มีนิสัยเช่นนี้ด้วย)
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"สิ่งที่กัลยาณชนต่างจากใคร ๆ นั้น อยู่ที่รักษาน้ำใจดีงามตลอดเวลา กัลยาณชนจะมีกรุณาธรรม จริยางดงามประจำใจทุกขณะ ผู้มีจิตใจดังนี้ ด้วยกรุณา ด้วยจริยา ก็จะรู้รักใคร ๆ ให้เกียรติ ผู้รู้รักใคร ๆ ใคร ๆ ยิ่งรู้รักเขาเนานาน รู้ให้เกียรติเคารพ ใคร ๆ ใคร ๆ ยิ่งให้เกียรติเคารพเขาเนานาน
(จวินจื่ออี่เหยินฉุนซิน อี่หลี่ฉุนซิน
เหยินเจ่อไอ้เหยิน ดหย่วหลี่เจ่อจิ้งเหยิน
ไอ้เหยินเจ่อ เหยินเหิงไอ้จือ
จิ้งเหยินเจ่อ เหยินเหิงจิ้งจือ)
สมมุติมีคนหนึ่งอยู่ที่นี่ แสดงความหยาบคายร้ายกาจต่อเรา คนที่เป็นกัลยาณชนจะต้องย้อนมองส่องตนทันทีว่า "เราคงเสียจริยา ขาดความกรุณาต่อเขาก่อนเป็นแน่ มิฉะนั้นเขาจะประพฤติต่อเราถึงขนาดนี้ได้อย่างไร"
เมื่อย้อนมองตนว่า กรุณาธรรมมิได้ขาดพร่อง ต้องย้อนมองอีกว่า จริยาขาดพร่องต่อเขาหรือไม่ เขายังคงหยาบร้ายต่อเรา กัลยาณชนก็จะต้องพิจารณาตนอีกขั้นหนึ่งว่า เราไม่จริงใจต่อเขาหรือ พิจารณาละเอียด เห็นว่าไม่ขาดพร่องความจริงใจ แต่ไฉนเขาจึงยังหยาบร้ายต่อเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ กัลยาณชนก็ได้แต่สะท้อนใจว่า เป็นเพราะเราขาดสติ ขาดสติ ขาดเหตุผล จะแตกต่างจากเดรัจฉานอย่างไรได้ เช่นนี้เราจะตำหนิเขาได้หรือ
ฉะนั้น ชั่วชีวิตของกัลยาณชนจึงเหนื่อยใจ ระวังตัวกลัวพลาดผิด จึงไม่มีวันเกิดอุบัติเหตุจากการระวังตัว ที่กัลยาณชนเหนื่อยใจกังวลนั้น มีเหตุอันควรหรือ เมื่อสำนึกว่าอริยกษัตริย์ซุ่น คือคน เราเองก็คน แต่พระองค์เป็นแบบอย่างแก่คนทั้งโลกเรื่อยมาจนถึงบัดนี้ได้ แต่ไฉนเราจึงไม่อาจสำแดงแบบอย่างของคุณความดีเยี่ยงพระองค์ได้ เหนื่อยใจกังวลนี้ จึงเป็นกุศลเตือนตน เมื่อล่วงพ้นจนสมบูรณ์ได้ เหนื่อยใจกังวลก็พ้นไป ดังนั้น กัลยาณชนจึงปราศจากเภทภัย ไม่ผิดต่อจริยธรรม แต่พลันประสบภัย กัลยาณชนก็จะไม่ทุกข์ร้อน ด้วยรู้แท้ว่า ภัยนั้นมิใช่ตนเป็นต้นเหตุ
กษัตริย์อวี่กับโฮ่วจี้ในยุคถังอวี๋ ที่โลกสงบสุขจากโจรสงคราม แต่เพื่อการชลประทาน สอนชาวบ้านทำการเกษตร ทุ่มเทกายใจไม่ว่างเว้น จนแม้แปดปีเดินผ่านหน้าบ้านตนสามครั้ง ยังรีบเร่งเลยไป
บรมครูชื่นชมท่านมาก เอี๋ยนหุย ศิษย์บรมครู สมัยชุนชิวยุคจลาจล ท่านพักอยู่ในตรอกซอย อาหารคือข้าวหนึ่งกระบอกกับน้ำหนึ่งจอก ทุกคนทุกข์ร้อนกับปวงภัย แต่ปราชญ์เอี๋ยนหุย ท่านสงบสบายอารมณ์ สุขุมตามปกติ บรมครูก็ชื่นชมศิษย์เอกนี้มาก ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เซี่ยอวี่ โฮ่วจี้เอี๋ยนหุย รักษาหลักธรรมเดียวกัน อวี่เห็นว่า ถ้าผู้คนต้องทนทุกข์จมน้ำ ก็คือตัวท่านเองที่ทำให้เจาต้องทนทุกข์จมน้ำ จี้เห็นว่า ถ้าผู้คนต้องทนทุกข์อดอยาก ก็คือ ตัวท่านเองที่ทำให้เขาต้องทนทุกข์อดอยาก ความห่วงใยต่อประชาราษฏร์ที่ท่านมี รีบเร่งจริงจังดังนี้
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
อวี่ จี้ หุย ทั้งสามท่านนี้ หากแม้สับเปลี่ยนหน้าที่สภาพการณ์ต่อกัน หลักการของท่านยังคงจริงจัง ไม่พลิกผันตามภาวะแวดล้อม มีตัวอย่างแตกต่างให้พิจารณา สมมุติคนในบ้านเกิดต่อสู้แย่งชิง เพื่อจะห้ามปรามเขา เรารีบร้อนผมเป็นกระเซิง ใช้สายคาดหมวกรวบผูกผมอย่างลวก ๆ ออกจากห้องมาห้ามปราม นี่ไม่เป็นไร แต่หากเพื่อนบ้านในตำบลต่อสู้แย่งชิง เราก็รีบร้อนผมเป็นกระเซิงออกจากบ้านไปห้ามปรามเช่นนี้ จะลุกลี้ลุกลนเกินควร ซึ่งถ้าจะปิดประตูไม่รู้เห็น ก็ยังทำได้
ศิษย์กงตูจื่อ เรียนถามครูปราชญ์ว่า "ควงจัง ชาวเมืองฉีคนนี้ ทุกคนตราหน้าว่าอกตัญญู ครูท่านกลับไปมาหาสู่ อีกทั้งสุภาพต่อเขา บังอาจเรียนถามว่าเพราะเหตุใด"
ครูปราชญ์ตอบว่า
"ชาวโลกกล่าวว่า อกตัญญูมีห้าสถานคือ เกียจคร้านไม่ทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ อกตัญญูหนึ่ง
ชอบการพนัน นั่งเล่นหมากรุกหมดเวลา กินเหล้าเมายา ไม่ใส่ใจเลี้ยงดูพ่อแม่ อกตัญญูสอง
ใฝ่ใจโลภอยากแต่สิ่งของเงินทอง ดูแลแต่ลูกเมีย ไม่ใส่ใจเลี้ยงดูพ่อแม่ อกตัญญูสาม
หูตาระเริงกาม ปล่อยใจไปกับกิเลสตัณหาราคะ ทำให้พ่อแม่อัปยศอดสู อกตัญญูสี่
ชอบเป็นนักเลงตีรันฟันแทง ทำให้พ่อแม่ประหวั่นพรั่นใจ อกตัญญูห้า
ควงจัง คนที่ท่านว่า มีความอกตัญญูใดในห้าสถานนี้หรือ
(ปู๋เซี่ยวเจ่ออู่ ตั้วฉีซื่อจือ ปู๋กู้ฟู่หมู่จือหย่าง
ป๋ออี้เฮ่าอิ่นจิ่ว ปู๋กู้ฟู่หมู่จือหย่าง
เฮ่าฮว่อไฉ ซือซีจื่อ ปู๋กู้ฟู่หมู่จือหย่าง
จ้งเอ่อมู่จืออวี้ อี่เอว๋ยฟู่หมู่ลู่ ซื่อปู๋เซี่ยวเจ่อ
เฮ่าอย่งโต้วเหิ่น อี่เอว๋ยฟู่หมู่ อู่ปู๋เซี่ยวเจ่อ)
ถ้าเช่นนั้น ควงจัง ก็ถูกปรักปรำว่าอกตัญญู แท้จริงแล้ว เขาขอให้พ่อกลับตัวเป็นสัมมาชน จึงเกิดหมางใจกัน ควงจังไม่รู้ว่า การตักเตือนตำหนินั้นทำได้แต่ระหว่างเพื่อน ส่วนกับพ่อของตน จะตักเตือนตำหนิไม่ได้เลย จะกินใจกันมาก เจตนาของควงจัง มีหรือจะไม่โอบอ้อมความเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ลูกไว้ แต่เป็นเพราะทำให้พ่อโกรธ ถูกขับไล่ ไม่อาจอยู่รับใช้ใกล้ชิด อีกทั้งยังถูกพรากจากลูกเมียชั่วชีวิต (โบราณ ลูกชายไป ลูกสะใภ้ต้องอยู่) ไม่ได้ปรนนิบัติรับใช้จากลูกเมีย ควงจังลงโทษความคิดของตัวเองที่ตักเตือนบิดา แต่หากไม่ตักเตือน เขาคิดว่า โทษบาปของเขาก็จะยิ่งหนักหนา ควงจังเท่านั้น ที่ยอมเสียทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างนี้
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
4
บทหลีโหลว ตอนท้าย
ครั้งที่ปราชญ์เจิงจื่ออยู่ที่อู่เฉิง เมืองหลู่ มีชาวเมืองเอว้ยมาปล้นสดมภ์ มีคนมาบอกเจิงจื่อว่า "พวกโจรเข้าปล้นไฉนไม่หลบไป" ก่อนที่ปราชญ์เจิงจื่อจะหลบไป ได้สั่งผู้ดูแลบ้านว่า "อย่าให้ใครเข้าพักในห้องอรรถาปรัชญา เกรงจะทำลายไม้ประดับกับเครื่องเรือน" เมื่อพวกโจรถอยออกไป เจิงจื่อสั่งคนมาบอกผู้ดูแลบ้านว่า "รีบซ่อมบ้านโดยไวเราใกล้จะกลับมา" เมื่อพวกโจรถอยตัวไปสิ้น เจิงจื่อกลับมา คนรอบข้างแอบวิจารณ์ว่า "ขุนนางเมืองอู่เฉิงเรานี้ ศรัทธาเคารพท่านปราชญ์ยิ่งนัก ไม่คิดว่าพอพวกโจรเข้ามา ท่านก็หลบไปก่อนใคร อย่างนี้ เกรงว่าชางบ้านจะขัดเคืองใจ พอพวกโจรถอยไป ท่านค่อยกลับมา ทำอย่างนี้เห็นทีไม่เหมาะนัก"
เสิ่นอิ๋วสิง ศิษย์ของท่านปราชญเจิ่งจื่อ กล่าวแก่เขาเหล่านั้นว่า "เหตุผลนั้นไม่ใช่พวกท่านจะเข้าใจได้" แต่ก่อน ขณะที่ท่านบรมครูพักอยู่ที่บ้านสกุลเสิ่นอิ๋วซื่อ พอดีเกิดเหตุพวกตัดไม้ป่าก่อความวุ่นวายเผาผลาญ ขณะนั้น ศิษย์ผู้ติดตามบรมครูท่านมีเจ็ดสิบคน บรมครูนำพาทุกคนหลบภัย มิได้ร่วมขบวนการปราบจลาจล อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ปราชญ์จื่อซือ เป็นขุนนางรับราชการอยู่เมืองเอว้ย มีชาวเมืองฉีมาปล้นสดมภ์ มีคนเตือนปราชญ์จื่อซือว่า
"พวกโจรเข้าปล้น ไฉนไม่หลบไป" ปราชญ์จื่อซือตอบว่า "หากเราหลบไป ใครจะร่วมอยู่รักษาเมืองเอว้ยกับเจ้าเมืองเล่า" ปราชญ์เมิ่งจื่อวิจารณ์เรื่องนี้ว่า "เจิงจื่อ จื่อซือ ล้วนรักษาทำนองคลองธรรม แต่เจิงจื่อทำหน้าที่ครูอาจารย์ของบ้านเมือง จื่อซือ เป็นข้าราชบริพารเมืองเอว้ย ข้าราช ฯ มีภาระรับผิดชอบต่อการรักษาบ้านเมืองด้วยชีวิต หากสับเปลี่ยนภาระหน้าที่ระหว่าง เจิงจื่อ กับจื่อซือ เชื่อว่าการปฏิบัติก็เป็นเช่นเดียวกันนี้"
ฉู่จื่อ ชาวเมืองฉี กล่าวแก่ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ฉีอ๋วงของเรา เคยส่งคนไปแอบดูท่านบรมครูขงจื่อ ดูซิว่าท่านจะแตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่อย่างไร" ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อหัวเราะแล้วตอบว่า "ตัวตนเป็นคน จะแตกต่างกันอย่างไร แม้อริยกษัตริย์เหยากับซุ่น ก็เป็นคนเช่นเดียวกัน" (ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อ ต้องการให้ฉู่จื่อเข้าถึงความแตกต่างของจิตสำนึก จึงตอบดังนี้)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ชาวเมืองฉีคนหนึ่ง มีภรรยากับอนุภรรยาอยู่ร่วมชายคา สามีจะออกนอกบ้านกินเหล้ายาอาหารเพียบแปล้ เมาแอ๋กลับมาทุกวัน" ภรรยาถามเขาว่าไปดื่มกินกับคนอะไร เขาตอบว่า "ล้วนร่ำรวยสูงศักดิ์" ภรยาจึงบอกกับอนุภรรยาว่า "สามีเราเมื่อออกไป ก็จะดื่มกินเต็มคราบกลับมา ฉันถามเขาว่า "ดื่มกินกับใคร" เขาว่า "คนร่ำรวยสูงศักดิ์" แต่ฉันไม่เคยเห็นคนร่ำรวยสูงศักดิ์มาเยี่ยมบ้านเราสักคน ฉันจะแอบตามไปดูซิว่าเขาไปที่ใด"
วันรุ่งขึ้น ภรรยาตื่นแต่เช้าแอบตามหลังสามีไป ตลอดทางทั้งเมือง ไม่เห็นมีใครทักทายเสวนากับสามีสักคน สุดท้าย ตามไปจนถึงสุสานสถานนอกเมือง ที่นั่นกำลังมีคนเซ่นไหว้สุสาน ภรรยาเห็นสามีร้องขอเหล้ายาอาหารที่เหลือจากการเซ่นไหว้ยังกินไม่พอก็ชะเง้อขวาซ้ายไปขอเขากินอีก นี่คือการหาเหล้ายาอาหารทุกวันของเขา ภรรยากลับบ้านบอกเล่าให้อนุภรรยาฟัง อนุภรรยาพูดอย่างช้ำใจว่า "สามีคือคนที่เราฝากชีวิตไว้ ไฉนจึงเป็นเช่นนี้" ภรรยากับอนุภรรยาร้องไห้ตัดพ้ออยู่ด้วยกันกลางห้อง สามียังไม่รู้ความ ทำกระหยิ่มยิ้มย่องเข้าบ้านมา อีกทั้งทำเชิดหน้าท่าเขื่อง ในสายตาของกัลยาณชน คนที่วอนขอความสงสาร วอนขอเขาให้ทาน และยังใฝ่ใจคนร่ำรวยสูงศักดิ์เช่นนี้ จะมีหรือไม่ที่เมื่อภรรยาของเขารู้เห็นความเป็นจริงแล้ว จะไม่ฟูมฟายอัปยศอดสูใจยิ่งนัก
~ จบบทหลีโหลว ตอนท้าย ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
ศิษย์วั่นจัง ชาวเมืองฉี เรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ก่อนกาล อริยกษัตริย์ซุ่น คราดไถอยู่ในนา พลันแหงนหน้ากู่ก้อง ร้องไห้โฮต่อฟ้า อะไรทำให้พระองค์โทมนัสขนาดนั้น ครูปราชญ์ตอบว่า "ด้วยรักเทิดทูนบิดามารดา แต่มิอาจใกล้ชิด มิได้รับถนอมรัก เกิดความคับแค้นใจในชีวิต จึงได้ระบายต่อฟ้า" ศิษย์วั่นจังว่า "ถ้าบิดามารดาถนอมรัก ก็จะดีใจไม่อาจลืมเลือน แต่หากบิดามารดาเกลียดชัง แม้แต่ทุกข์ยากลำบากเพราะท่าน ก็จะแค้นเคืองมิได้ หรือว่าพระองค์จะแค้นเคืองกระนั้นหรือ" ครูปราชญ์ว่า "ครั้งนั้น ฉังสี ถาม กงหมิงเกา ครูปราชญ์ของเขา ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านปราชญ์เจิงจื่อว่า ซุ่นลงไปทำนาเป็นเรื่องที่ครูท่านเคยชี้แจงให้ฟัง แต่ส่วนที่พระองค์ร้องไห้โฮต่อฟ้า เรื่องนี้ศิษย์ยังไม่เข้าใจเลย" กงหมิงเกาสรุปว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องที่ศิษย์จะเข้าใจได้" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กงหมิงเกาคงจะคาดเดาความรู้สึกของซุ่น จากความเป็นลูกกตัญญูของตน อันที่จริงควรจะไม่ใช่ว่า ไม่ได้รับถนอมรักจากบิดามารดา แล้วแสดงออกดังกล่าว แต่ควรจะสุขุมไม่กลัดกลุ้ม หากเป็นครูเองก็จะหาทางออกด้วยการคาดไถเต็มกำลัง ทำหนาที่ของลูกให้ถึงที่สุดเท่านั้น
บิดามารดาไม่ถนอมรัก แต่ซุ่นมีอะไรที่ผิดต่อบิดามารดาหรือ ก็ไม่
ภายหลังอริยกษัตริย์เหยารู้คุณธรรมของซุ่น จึงส่งราชบุตรทั้งเก้า พระธิดาทั้งสอง ขุนนางนับร้อย วัว แพะ ข้าวเปลือก เต็มยุ้งฉาง ไปปฏิการะซุ่นที่อยู่กลางนา ผู้คนมากมายได้ยินกิติศัพท์ ก็พากันมานอบน้อม อริยกษัตริย์เหยา ยังเตรียมการจะยกแผ่นดินของบ้านเมืองทั้งหมดให้แก่ซุ่น แต่เนื่องจากซุ่นไม่อาจเป็นที่ปิติยินดีของบิดามารดาได้ จึงยังคงเศร้าเสียใจเหมือนคนยากจน ไร้บ้านอาศัย
การเป็นคนที่คนทั่วหน้าพากันชื่นชม เป็นสิ่งอันพึงปรารถนายิ่งของทุกคน แต่ยังมิอาจคลายทุกข์เศร้าในใจของซุ่นได้ หญิงงามเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างยินดี ได้พระธิดาทั้งสองของอริยกษัตริย์มาครอง ก็ยังมิอาจคลายทุกข์เศร้า ความร่ำรวยมั่งคั่ง เป็นสิ่งอันพึงปรารถนายิ่งของใคร ๆ บัดนี้ ซุ่นได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์อันสูงส่ง ความทุกข์เศร้าจากความเป็นลูกกตัญญูยังคงมีอยู่ ความชื่นชม พระธิดา สถานภาพ ความร่ำรวยสูงศักดิ์ ไม่อาจจะช่วยได้ มีแต่การทำให้บิดามารดาเกิดความพอใจเท่านั้น ที่จะคลายทุกข์เศร้าได้
คนเรามักจะคิดถึงพ่อแม่ขณะเยาว์วัย เติบใหญ่ก็จะพอใจอิสตรี จะคิดคำนึงถึงหญิงงาม เมื่อได้ภรรยา ใจก็ฝักใฝ่ในภรรยา เมื่อเป็นขุนนาง ก็คิดถึงองค์ประมุข แต่หากไม่เป็นที่พอพระทัย ใจก็จะรุ่มร้อนดังไฟลน มีแต่ลูกกตัญญูเป็นที่ยิ่งเท่านั้น ที่จะดำรงความคิดถึงแต่ดั้งเดิมไว้ไม่เปลี่ยนไปจากพ่อแม่ตราบชั่วชีวิต อายุห้าสิบปีแล้วยังคงคิดถึงพ่อแม่ทุกขณะเวลา เราได้เห็นแล้วจากอริยกษัตริย์ซุ่น"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์อีกว่า ในคัมภีร์ซือจิงจารึกไว้ "ตกแต่งภรรยาจะต้องทำอย่างไร จะต้องเรียนให้บิดามารดาทราบ" เรียนถามครูปราชญ์ว่า "จะต้องปฏิบัติดังนี้แน่หรือ ถ้าเช่นนั้น ในเมื่อผู้รักษาจริยธรรมไม่มีใครเกินซุ่นแล้ว แต่ซุ่นตกแต่งภรรยา กลับไม่เรียนให้บิดามารดาทราบ เพราะ
เหตุใด" ครูปราชญ์ชี้แจงว่า "บิดามารดาของซุ่น โง่ดื้อถือทิฐิมาก หากบอกก็จะไม่ได้แต่ง เท่ากับทำลายคุณสัมพันธ์ของชีวิต ยิ่งจะทำให้บิดามารดา
กล่าวโทษโกรธว่าขาดทายาท ฉะนั้น ซุ่นจึงไม่บอก" ศิษย์วั่นจังว่า "เหตุนี้เคยได้ยินครูชี้แจงแล้ว แต่ในส่วนของกษัตริย์เหยา จะแต่งพระธิดาให้แก่ซุ่น
ไม่บอกพ่อแม่ของซุ่นนั้นด้วยเหตุใด" ครูปราชญ์ว่า "กษัตริย์เหยาก็รู้ความเป็นจริงว่า ถ้าบอกจะไม่ได้แต่ง" ศิษย์วั่นจังว่า "ก่อนหน้านั้น บิดามารดาเรียก
ให้ซุ่นไปซ่อมยุ้งข้าว พอซุ่นขึ้นสูงถึงหลังคาก็ชักบันไดออก กู่โส่วผู้เป็นบิดาจุดไฟเผายุ้งข้าว จะให้ซุ่นตายทั้งเป็น เคราะห์ดีที่ซุ่นใช้หมวกปีกกว้างเป็นร่ม
ชูชีพร่อนตัวลงมา ต่อมา ใช้ซุ่นลงไปขุดดินก้นบ่อน้ำ ซุ่นรู้ทันแอบขุดทางหนี ข้างบนถมดินลงมามิดบ่อ นึกว่าซุ่นตายแน่ แต่แท้จริงรอดออกมาได้ เซี่ยง
น้องชาย เป็นลูกจากแม่เลี้ยง บอกพ่อแม่ว่า แผนสังหารนี้ ข้ามีความชอบเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้สมบัติของซุ่น วัว แพะ ให้พ่อแม่ ยุ้งข้าวให้พ่อแม่ อาวุธทุก
อย่างเป็นของข้า เกาทัณฑ์สลักลายเป็นของข้า พี่สะใภ้คือภรรยาทั้งสองของซุ่นใ้มาจัดที่นอนปรนนิบัติข้า เซี่ยงแบ่งสมบัติแล้ว ก็เข้าวังของซุ่นไป เห็นซุ่นนั่งดีดพิณอยู่บนเตียงตั่ง เซี่ยงเสแสร้งทักว่า "ข้าอึดอัดใจคิดถึงพี่ท่าน" แต่สีหน้าอาการแสดงความละอาย ซุ่นจึงพูดว่า "ข้าราชบริพารชาวบ้านขาดคนดูแล น้องชายปกครองด้วยเถิด" ในขณะนั้น ซุ่นจะรู้ไหมว่า น้องชายได้ทำการสังหารตน ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "มีหรือไม่รู้ แต่ซุ่นรักน้อง เห็นน้องทุกข์จะต้องทุกข์ด้วย เห็นน้องยินดีจะยินดีด้วย" วั่นจังว่า "ถ้าเช่นนั้น ซุ่นเสแสร้งยินดีหรือไม่" "ไม่" ครูอธิบายให้ศิษย์ฟัง แต่ก่อนมีคนเอาปลาเป็น ๆ มาให้จื่อฉั่น ขุนนางเมืองเจิ้ง จื่อฉั่นให้คนดูแลสระน้ำนำปลาไปเลี้ยงไว้ แต่คนดูแลนั้น เอาปลาไปฆ่ากิน กลับมารายงานจื่อฉั่นว่า "ทีแรกปล่อยปลาลงสระ ดูมันอ่อนแรง พักหนึ่งจึงมีชีวิตชีวา จากนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว จื่อฉั่นยินดีว่า "มันอยู่สบายแล้ว อยู่สบายแล้ว" คนดูแลสระบอกแก่ใคร ๆ ว่า ใครว่าท่านจื่อฉั่นเป็นคนเฉลียวฉลาด ข้าเอาปลามาทำอาหารกินเสียแล้ว ท่านยังพูดเรื่อยไปว่าปลาเหล่านั้นอยู่สบายแล้ว"
เรื่องนี้ จะเห็นว่า ต่อกัลยาณชนเราใช้เรื่องราวที่สมเหตุสมผลไปหลอกให้เชื่อได้ (เพราะกัลยาณชนจะคิดซื่อ คิดตรง ไม่ระแวงสงสัยใคร) แต่อย่าใช้เรื่องไม่สมเหตุสมผลไปปิดบังอำพลาง เซี่ยงลูกของแม่เลี้ยง ใช้คำพูดเหมือนเคารพรักพี่ชาย ซุ่นใจซื่อไม่ถือสา แม้เพิ่งผ่านการถูกฆ่ามาเมื่อสักครู่ก็ลืมสิ้น มีแต่ความยินดีที่น้องเคารพรัก ฉะนั้น จึงบอกได้ว่า ซุ่นไม่ได้เสแสร้ง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
ศิษย์วั่นจังเรียนถามอีกว่า "เซี่ยง ลูกของแม่เลี้ยงที่จะฆ่าซุ่นอยู่ทุกขณะจิต ภายหลังเมื่อกษัตริย์เหยา สละราชบัลลังก์ให้ซุ่นขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ซุ่นไม่ลงอาญาฆ่าผู้ปองร้าย ได้แต่เนรเทศไปเสีย นั่นด้วยเหตุอันใด" ครูปราชญ์ว่า "แท้จริงคือแต่งตั้งให้เซี่ยง (น้องต่างมารดา) ไปกินเมืองเสพสุข ผู้คนกลับเข้าใจไปว่าเนรเทศ" ศิษย์วั่นจังว่า "กษัตริย์ซุ่นเนรเทศขุนนางก้งกงไปเมืองอิว สังหารหัวหน้าเผ่าซันเหมียวที่ซันเอว๋ย สังหารกุ่นที่อวี่ซัน เปิดเผยความชั่วร้ายชัดเจนเป็นที่ขอบพระคุณยินดีของทุกคน เพราะนี่คือการลงโทษทรชน แต่เซี่ยงน้องชายนั้น เป็นคนใจดำอำมหิตที่สุดในโลก ซุ่นกลับส่งไปกินเมืองเสพสุขที่โหย่วปี้ ชาวเมืองโหย่วปี้มีโทษผิดอะไรหรือ ที่จะต้องรองรับทารุณกรรมจากเซี่ยงผู้อำมหิต ผู้ทรงธรรมเขาปฏิบัติกันอย่างนี้หรือ ทรชนที่เป็นคนอื่นจัดการสังหาร แต่ทรชนน้องของตน กลับให้กินเมืองเสพสุข" ครูปราชญ์ว่า "ผู้มีกรุณาธรรมจะไม่เก็บความแค้นในอดีตที่เคยมีต่อพี่น้องกัน มีแต่รักสนิท ในเมื่อให้ความรักสนิท ก็จึงให้ความรุ่งเรืองร่ำรวย แต่งตั้งให้กินเมืองโหย่วปี้ ก็เพื่อให้รุ่งเรืองร่ำรวย เมื่อตนเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่หากพี่น้องยังเป็นสามัญชนอยู่ จะนับว่ามีใจรักสนิทต่อพี่น้องได้หรือ" บังอาจเรียนถามอีกว่า "เหตุใดบางคนจึงว่าเซี่ยงถูกเนรเทศ" ตอบว่า "เหตุที่เซี่ยงแม้จะได้ตำแหน่งกินเมือง แต่ก็ไม่อาจทำคุณประโยชน์ใดแก่บ้านเมืองได้ กษัตริย์ซุ่นจึงสั่งผู้ปกครองบ้านเมืองอีกชุดหนึ่งไปบริหาร ยกภาษี คืนเครื่องบรรณาการให้ จึงมีส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่าเนรเทศ เซี่ยงสมบูรณ์พูนสุขอย่างนี้แล้ว ยังจะขูดรีดประชาชนไปทำไม อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ซุ่นอยากให้เซี่ยงมาพบบ่อย ๆ จึงส่งขุนนางไปช่วย หนังสือเก่าจารึกว่า "ไม่ต้องรอวันกำหนดที่เจ้าเมืองเข้าเฝ้า อ้างงานราชการก็อนุญาตเซี่ยงแห่งเมืองโหย่วปี้ เข้าเฝ้าได้ทุกเวลา" ดังนี้"
ศิษย์เสียนชิวเหมิง เรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า คำโบราณกล่าวไว้ ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรม เจ้าฟ้ามหากษัตริย์จะปฏิบัติด้วยขุนนางธรรมดามิได้ บิดามารดาก็ไม่ให้ปฏิบัติด้วยบุตร ครั้งนั้น อริยกษัตริย์ซุ่นประทับนั่งบนบัลลังก์ด้านใต้ เหยาองค์อดีตกษัตริย์ นำเหล่าเจ้าเมืองเข้าเฝ้ามาทางด้านเหนือ กู่โส่ว บิดาผู้หยาบช้าของกษัตริย์ซุ่น ก็ถือวิสาสะเข้ามาทางด้านเหนือด้วย ทำให้กษัตริย์ซุ่นอึดอัดเล็กน้อย บรมครูวิจารณืเรื่องนี้ว่า "คุณสัมพันธ์หกหัวลง (ผิดทำนองคลองธรรม) เกิดอาการอึดอัด เป็นลางบอกเหตุร้าย ไม่ทราบว่าเรื่องนี้มีจริงหรือไม่"
ครูปราชญ์ว่า
"มิได้ นี่ไม่ใช่วาจาของกัลยาณชน เป็นคำพูดของชาวบ้านทางตะวันออกเมืองฉี เนื่องจากอดีตกษัตริย๋เหยาทรงพระชนมายุมาก จึงยกแผ่นดินให้ซุ่นช่วยจัดการดูแล ในคัมภีร์ซูจิง บทเหยาเตี่ยน จารึกว่า "ซุ่นสำเร็จราชการแทนกษัตริย์เหยายี่สิบแปดปี กษัตริย์เหยาจึงถึงกาลสวรรคต เวลานั้น ประชาราษฏร์เหมือนสูญเสียบิดามารดา คร่ำครวญอาลัยไว้ทุกข์เต็มที่ถึงสามปี ในระหว่างนั้น ไม่มีการบันเทิงใด ๆ ทั้งสิ้น" บรมครูก็เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "บนฟ้าไม่มีอาทิตย์สองดวง ประชาราษฏร์ไม่มีกษัตริย์สองพระองค์ (ในเวลาเดียวกัน) ซุ่นขึ้นครองราชย์ ต่อมากษัตริย์เหยาสวรรคต ซุ่นนำเจ้าเมืองทั้งหมดไว้ทุกข์แก่กษัตริย์เหยาสามปี เช่นนี้ มิใช่มีกษัตริย์สองพระองค์ดอกหรือ
ศิษย์เสียนชิวเหมิงกล่าวว่า "ซุ่นไม่กล้าเห็นอดีตกษัตริย์เหยาในฐานะข้าราชบริพาร เรื่องนี้ ครูท่านเคยชี้ให้เห็นแล้ว" แต่คัมภีร์ซือจิงว่า "ใต้หล้าฟ้านี้ไม่มีสักแห่งที่ไม่ใช่แผ่นดินของกษัตริย์ ทั่วทั้งสี่คาบสมุทร ไม่มีใครบนแผ่นดินที่มิใช่ข้าราชพารของกษัตริย์ บัดนี้ ซุ่นได้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแล้ว" ครูท่านว่า "บิดาของซุ่น หากไม่นับเป็นข้าราชพารของแผ่นดินแล้ว จะนับเป็นอะไร" ตอบว่า "นั่นคือหลักใหญ่โดยรวมของคัมภีร์ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ จารึกนั้นคือคำตัดพ้อของบริพาร เหนื่อยยากเพื่องานเมืองแต่ไม่อาจเลี้ยงดูพ่อแม่ของตน คับแค้นใจจึงว่า ทำทุกอย่างล้วนงานของบ้านเมือง เหตุใดเพียงแค่ข้ามีความสามารถ ก้เรียกใช้จนสาหัสถึงกับไม่มีโอกาสปฏิการะพ่อแม่ ฉะนั้น การตีความในคัมภีร์ซือจิง อย่าเอาเฉพาะความหมายของอักษร ทำให้เข้าใจถ้อยคำภาษอารมณ์ผิดไป อีกทั้งอย่าตีความเจตนาของผู้เขียนผิดไป พึงเอาความหมายในบทกวี ประสานความตั้งใจของผู้เขียน จึงจะเข้าถึงเจตนาจริงของผู้เขียน หากไม่คลี่คลายความหมายที่แฝงอยู่ในถ้อยคำภาษา เอาแต่อธิบายอักษร ก็จะเหมือนประโยคในบทอวิ๋นฮั่น ที่ว่า "ราชวงศ์โจวปราศจากประชาชนที่หลงเหลือ" (โจวอู๋อี๋หมิน) นี่เป็นเพียงอารมณ์สะท้อนใจของผู้เขียน ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
ที่สุดของความเป็นลูกกตัญญู ไม่มีที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าให้พ่อแม่สูงส่ง ให้พ่อแม่สูงส่ง ไม่มีที่เกินกว่าลี้ยงดูท่านด้วยเงินตอบแทนคุณความดีจากแผ่นดินเป็นบิดาเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ สูงส่งที่สุดแล้ว ได้รับเลี้ยงดูจากแผ่นดิน เป็นที่สุดของการเลี้ยงดู คัมภีร์ซือจิงจารึกว่า "ตั้งใจกตัญญูตลอไป ตั้งใจกตัญญูเป็นหลักการณ์" ดังนี้ คัมภีร์ซูจิง ก็จารึกว่า "ซุ่นกตัญญูยิ่ง แต่พอเห็นบิดาจะหวั่นกลัว ฝ่ายกู่โส่ว ผู้บิดาเชื่อมั่นกตัญญูของซุ่น จึงไม่ขัดฝืนซุ่นอีกต่อไป" นี่แสดงถึงหลักการที่ว่า "บางกรณี บางสถานภาพ บิดาจะแสดงต่อบุตรเยี่ยงบุตรมิได้"
ศิษย์วั่นจังเรียนถามว่า "กษัตริย์เหยา ยกแผ่นดินให้ซุ่น ใช่หรือ" ครูปราชญ์ตอบ "มิใช่ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์เหยามิอาจยกแผ่นดินแก่ใคร" ศิษย์วั่น-
จั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น ซุ่นครองแผ่นดิน ใครเป็นผู้ยกให้" ตอบว่า "ฟ้าโปรดประทานให้" ศิษย์ว่า "ในเมื่อฟ้าประทาน ได้โปรดกำชับตักเตือนถี่ถ้วนหรือไม่" ตอบว่า "หาใช่ไม่ ฟ้ามิอาจพูดจา แต่เราจะรู้ได้จากพฤติกรรมกับการดำเนินงานของซุ่น" ศิษย์วั่นจังว่า "จากพฤติกรรมการดำเนินงาน แสดงให้เห็นว่า ฟ้าโปรดประทานนั้นอย่างไร" ครูปราชญ์ว่า "เจ้าแผ่นดินคัดสรรบุคคลสำคัญทำงานแทนฟ้า งานของฟ้าคือปกปักรักษาไพร่ฟ้า แต่ไม่อาจให้ฟ้าจะต้องมอบแผ่นดินให้เขา เหล่าเจ้าเมืองคัดสรรบุคคลสำคัญทำงานแทนฟ้า แต่ไม่อาจให้เจ้าแผ่นดินจะต้องยกฐานะเจ้าเมืองแก่เขา เหล่าขุนนางคัดสรรบุคคลสำคัญให้แก่เจ้าเมือง แต่มิอาจให้เจ้าเมืองจะต้องยกตำแหน่งขุนนางแก่เขา ครั้งกระนั้น กษัตริย์เหยาถวายตัวซุ่นแด่ฟ้าเบื้องบน "ฟ้า" รับไว้ "ฟ้า" ให้ซุ่นสำแดงคุณ ดำเนินงานให้ประจักษ์แก่สายตาประชาชน ประชาชนน้อมรับบุคคลที่ฟ้ามอบให้ จึงกล่าวว่า "ฟ้า" ไม่พูดจา แต่โปรดประทานแผ่นดินแก่ซุ่นจากพฤติกรรม การดำเนินงานที่ปรากฏให้เห็นเป็นสำคัญ
ศิษย์วั่นจัง ว่า "เรียนถามครูปราชญ์ "ถวายแด่ฟ้า และฟ้ารับไว้" ฟ้ามอบมา ประชาชนน้อมรับคืออยางไร" ครูปราชญ์ตอบว่า "เมื่อซุ่นไปทำหน้าที่สักการะเทพยดา ฯ เทพยดาอารักษ์ล้วนมาชื่นชม (บรรยายกาศมงคลราบรื่น) นี่แสดงว่า "ฟ้า" รับไว้ ให้ซุ่นดำเนินการปกครองบ้านเมือง บ้านเมืองประชาราษฏร์ปลอดภัยได้สุขสงบ นบนอบยินดี นี่แสดงว่าประชาราษฏร์น้อมรับ จึงเห็นได้ว่าแผ่นดินใต้หล้าฟ้านี้ ฟ้าโปรกประทาน ประชาราษฏร์เห็นพ้อง จึงกล่าวว่า "เจ้าฟ้ามหากษัตริย์มิอาจยกแผ่นดินแก่ใคร" ซุ่นช่วยกษัตริย์เหยาปกครองแผ่นดินทั่วหล้าเป็นเวลายี่สิบแปดปี นี่เป็นเจตนา "ฟ้า" หาใช่กำลังความสามารถของคนไม่
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
สามปีหลังจากสิ้นกษัตริย์เหยา จัดงานพระศพแล้ว ซุ่นหลบไปอยู่ทางใต้ เมืองหนันเหอ เพื่อจะสละละเลี่ยงฐานะกษัตริย์ให้แก่ราชบุตรของเหยา แต่เหล่าเจ้าเมืองไม่ไปเข้าเฝ้าราชบุตร กลับพากันไปที่ซุ่น คนที่จะกราบทูลร้องเรียนก็ไม่ไปที่ราชบุตร แต่กลับมาที่ซุ่น ผู้แซ่ว้องบารมีคุณก็ไม่แซ่ซ้องราชบุตร แต่กลับแซ่ซ้องซุ่น จึงกล่าวว่า "นี่คือเจตนาของฟ้า" ซุ่น เมื่อถึงเวลานี้ จำต้องกลับเข้าแผ่นดินขึ้นครองราชย์ แต่หากสิ้นกษัตริย์เหยา แล้วซุ่นเข้าสู่ราชฐานของเหยาทันที ทำให้ราชบุตรหมดสถานภาพต้องออกไปจากวัง อย่างนี้จะต้องเรียกว่า "ช่วงชิง" ไม่ใช่ฟ้าโปรดประทาน ในหนังสือซั่งซู บทไท่ซื่อ จารึกว่า "การสอดส่องจากฟ้า พิจารณาตัดสินจากประชามติ การรับฟังคัดสรรไว้ ก็กำหนดเอาตามที่ประชารับฟังคัดสรรไว้" (เทียนซื่อจื้อหว่อหมินซื่อ เทียนทิงจื้อหว่อหมินทิง) ที่กล่าวนั้นเป็นดังนี้
ศิษย์วั่นจั่งเรียนถามครูปราชญ์ "มีคนกล่าวว่า เมื่อถึงสมัยอวี่ คุณธรรมของกษัตริย์เสื่อมถอย ไม่มอบหมายบัลลังก์แก่ปรีชาชน แต่สืบสายให้บุตรตนเป็นความจริงหรือไม่" ครูปราชญ์ว่า "ไม่เป็นความจริง ฟ้าใคร่มอบหมายแก่เมธี ก็มอบหมายแก่เมธี ใคร่มอบหมายแก่ราชบุตรของอวี่ ก็มอบให้ แต่ก่อนซุ่นถวายตัวอวี่แด่ฟ้า อวี่ช่วยซุ่น จัดระเบียบบริหารแผ่นดิน สิบเจ็ดปี จนสิ้นซุ่นจัดงานพระศพ ไว้ทุกข์ครบสามปี อวี่สละฐานะกษัตริย์แก่ราชบุตรของซุ่น ด้วยการหลบเลี่ยงไปที่เมืองหยาง หารู้ไม่ว่า ประชาราษฏร์ล้วนปรารถนาสวามิภักดิ์ต่ออวี่ อันเป็นเช่นเดียวกับที่เมื่อสิ้นกษัตริย์เหยา ชาวเมืองพากันมุ่งหาซุ่น ไม่เข้าหาราชบุตร
กษัตริย์อวี่ถวายตัวอี้ ขุนนางผู้ช่วยงานชลประทานแด่ฟ้า อี้ช่วยกษัตริย์อวี่ บริหารการปกครองแผ่นดินจีนอยู่เจ็ดปี จนสิ้นกษัตริย์อวี่ เมื่อครบกำหนดไว้ทุกข์สามปี อี้ก็หลบเลี่ยงไปอยู่หลังเขาจีซัน แต่เหล่าเจ้าเมืองกับผู้ถวายเรื่องราวร้องเรียน ไม่ไปที่อี้ แต่กลับพากันไปที่ฉี่ ราชบุตรของอวี่ ทุกคนต่างพูดว่า "นี่เป็นราชบุตรของกษัตริย์แห่งเรา" ผู้แซ่ซ้องสดุดีก็มิได้แซ่ซ้องสดุดีอี้ แต่แซ่ซ้องสดุดีราชบุตรฉี่ เขาพร้อมกันกล่าวว่า "นี่เป็นราชบุตรของกษัตริย์แห่งเรา"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
ตันจู ราชบุตรของอริยกษัตริย์เหยา ไม่ปรีชาสง่าสม ซังจวิน ราชบุตรของอริยกษัตริย์ซุ่น ก็มิได้ปรีชาสง่าสม อีกทั้งเมื่อซุ่นช่วยงานแผ่นดินในกษัตริย์เหยา เรื่อยมาจนถึงอวี่ สืบต่อช่วยงานแผ่นดินกษัตริย์ซุ่นเป็นเวลานานปี สร้างคุณไว้แก่ประชาราษฏร์เกินกว่าคณานับ
รุ่นหลังคือฉี่ ราชบุตรของกษัตริย์อวี่ มีปัญญา ความสามารถ อีกทั้งยังน้อมรับการกล่อมเกลาคุณธรรมจากกษัตริย์อวี่บิดาด้วยความสำรวมไม่ผิดเพี้ยน ส่วนอี้ ที่เป็นขุนนางช่วยชลประทานกษัตริย์อวี่นั้น ช่วงเวลาสร้างผลงานไม่มากสร้างคุณแก่ประชาราษฏร์ยังไม่นาน อีกทั้งระยะเวลาระหว่างกษัตริย์ซุ่น กษัตริย์อวี่ จนถึงอี้ ขวบปีที่บริหารแผ่นดินนั้นต่างไกลกัน ฉะนั้น ราชบุตรทั้งสามจะปรีชาสง่าสมเพียงใดหรือไม่ล้วนเป็นเจตนาฟ้า ไม่ใช่คนจะทำให้เป็นไปได้ อะไรก็ตามที่เป็นไปโดยดุศฏีและธรรมชาติ ล้วนเป็นเจตนาฟ้า
สามัญชนจะได้ครองแผ่นดินพึงมีคุณธรรมเช่นซุ่นกับอวี่ เป็นที่ตั้ง ยังจะต้องมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรมเชิดชูให้ จึงจะได้ ท่านบรมครูขงจื่อ แม้จะเลิศล้ำคุณธรรมเช่นซุ่นกับอวี่ แต่ไม่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรมเชิดชูให้ จึงไม่อาจครองแผ่นดิน สำหรับการสืบต่อแก่รัชทายาทนั้น เมื่อถึงเวลาที่ฟ้าจะให้เขาล่มสลาย ชะตากรรมก็จะเหมือนทรราชเจี๋ย โจ้ว ที่ไร้ธรรม
ฉะนั้น ถึงแม้อี้ อีอิ่น จนถึงปู่เจ้าโจวกง ทั้งสามพระองค์นี้ แม้คุณธรรมบารมีจะสูงยิ่ง แต่ที่ไม่ได้รับสืบสายรัชทายาท ก็เพราะกษัตริย์ที่ท่านสนองพระบาทอยู่ ต่างมีรัชทายาทที่ปรีชาสง่าสมได้เอง เดิมที อีอิ่น ช่วยงานกษัตริย์ทัง ปกครองแผ่นดินโดยธรรม พอสิ้นกษัตริย์ทัง ยุพราชไท่ติง สิ้นเสียก่อนจะครองบัลลังก์ ราชบุตรรองลงมาคือ ไอว้ปิ่ง พระชันษาสองปี อีกองค์หนึ่งจ้งเหยิน ก็เพิ่งจะสี่ปี ยุพราชไท่ติง มีราชบุตรซึ่งเป็นรุ่นหลาน มีพระชันษาสูงกว่าจึงแต่งตั้งให้ครองบัลลังก์ของปู่ ไท่เจี่ย หลานปู่ไม่รู้รับผิดชอบ มักทำการเสียหายต่อระเบียบแบบแผนเดิม อีอิ่น ช่วยกษัตริย์ทัง ประคองรักษาแผ่นดินเรื่อยมา เมื่อเห็นไม่ได้การจึงจัดส่งไท่เจี่ยไปเสพสุขที่เมืองถงอี้ สามปีผ่านไป ไท่เจี่ยสำนึก "ตำหหนิตน บำเพ็ญตน" สร้างกรุณาธรรมสำแดงมโนธรรมที่เมืองถงอี้ ตั้งตนอยู่ในโอวาทของอีอิ่น ผู้เป็นเสมือนปู่และบิดาจนเป็นที่ประจักษ์ชัด สุดท้าย อีอิ่น จึงได้เชิญไท่เจี่ย กลับมาครองแผ่นดินที่เมืองป้อ
นี่คือสาเหตุที่อีอิ่นมหาสัตบุรุษไม่ได้ครองแผ่นดินในยุคนั้น ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าปู่โจวกงอริยบุคคล มิได้ครองแผ่นดินนั้นคือ ฟ้าได้ให้กำเนิดโจวเฉิงอ๋วงที่ปรีชาสง่าสมมาเป็นรัชทายาทของอริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง เช่นเดียวกับที่อี้ประกบฉี่ ผู้สูงส่งสมควร และอีอิ่นประกบไท่เจี่ยราชบุตร
บรมครูขงจื่อกล่าวว่า
"อริยกษัตรย์เหยากับซุ่น มอบหมายแผ่นดินแก่ผู้ปรีชาสง่าสม ต่อมาราชวงศ์เซี่ย ซัง โจว สามสมัย มอบหมายแผ่นดินแก่รัชทายาทบุตรหลาน เมื่อเป็นไปตามครรลองฟ้า ก็คือหลักหนึ่งเดียวกัน
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์เมิ่งจื่อ "มีผู้กล่าวว่า อีอิ่นอาศัยฝีมือชำแหละเนื้อปรุงอาหารชั้นดี ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ทัง รับการอุ้มชู มีเรื่องอย่างนี้หรือไม่"ครูปราชญ์ตอบว่า "ไม่ใช่เช่นนั้น" เดิมที อีอิ่นทำไร่นาอยู่ชนบทเมืองโหย่วเซิน ชอบศึกษาหลักธรรมของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น เรื่องไม่ถูกต้องไม่สมเหตุผล แม้จะบำเหน็จรางวัลด้วยสินทรัพย์ทั้งโลก ท่านก็ยืนกรานอยู่เช่นนั้น ต่อให้จูงรถม้าหนึ่งพันคันมาให้ ท่านก็ไม่เหลียวมอง ไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลมโนธรรม หญ้าหนึ่งต้นยังไม่ยอมให้ใคร ไม่ยอมรับจากใคร เวลานั้น กษัตริย์ทัง ส่งคนนำเครื่องบรรณาการไปเชื้อเชิญให้มาร่วมงาน อีอิ่นแสดงสีหน้าไม่อยากได้ กล่าวว่า "จำเป็นด้วยหรือ ที่เราจะรับบรรณาการจากกษัตริย์ทัง เพื่อการถูกเรียกใช้" หากเราออกไปเป็นขุนนาง ไหนเลยจะเหมือนอยู่ไร่นาเป็นอิสระดื่มด่ำอยู่กับหลักธรรม ที่กษัตริย์เหยา - ซุ่นกล่าวไว้ได้ทุกวัน
จนเมื่อกษัตริย์ทัง ส่งคนไปเชิญเป็นครั้งที่สาม แม้อีอิ่นจะยังคงดื่มด่ำอยู่กับความทรงธรรมของกษัตริย์เหยา - ซุ่น แต่ท่าทีนั้นเปลี่ยนไป โดยได้คิดว่า ต่อการอยู่ไร่นาซึ้งซาบหลักธรรม มิสู้ออกไปทำให้กษัตริย์องค์ปัจจุบันมีความเป็นเหยา - ซุ่น มิสู้ทำให้ชาวประชาผาสุกเยี่ยงสมัยเหยา - ซุ่น อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
ฟ้าเบื้องบนก่อเกิดปวงชน ให้ผู้รู้เห็นหลักธรรมก่อนไปปลุกคนข้างหลังให้รู้เห็นตามกัน ให้ผู้ตื่นใจก่อนเบิกทางแก่คนข้างหลังให้ตื่นใจตามกัน (เซียนจือ เจวี๋ยโฮ่วจือ เซียนเจวี๋ย เจวี๋ยโฮ่วเจวี๋ย) เราคือชนอันได้รับญาณจากฟ้าให้ตื่นใจก่อนแล้ว เราอยากจะนำเอาหลักธรรมที่เข้าใจ ไปปลุกใจปวงชนแล้วหากมิใช่เรา ยังจะมีใครไปปลุกเขา (จะละเลี่ยงเกี่ยงให้ใครทำ)
อีอิ่น ครุ่นคิดพิจารณา อันประชาราษฏร์ทั้งหญิงชาย ผู้มิได้รับคุฯปรกแผ่จากเหยา - ซุ่น ขณะนั้น จะเหมือนพาตัวไปหมกโคลนในท่อน้ำ คิดดังนี้แล้วจึงปวารณาตัวจะแบกรับภาระหนักในการกอบกู้ เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว จึงสิเคราะห์การปกครองโดยธรรมแห่งเหยา - ซุ่น แด่กษัตริย์ทัง เห็นว่าจะต้องปราบทรราชเจี๋ย เพื่อฉุดช่วยมวลประชา ครูปราชญ์กล่าวแก่ศิษย์วั่นจัง "ครูไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า "ตนคดยังอาจนำพาคนคดให้ตรงได้" ยิ่งกว่านั้น ตนหยามตนแล้ว ยังจะอุ้มชูคนทั่วหล้าให้เที่ยงตรงได้"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนต้น
อริยบุคคลดำเนินตนต่างกัน บ้างเข้าหาองค์ประมุข บ้างออกจาก บ้างไปจาก บ้างยังอยู่ แม้ขัดแย้ง เหตุผลล้วนจะรักษากายใจให้พ้นมลทินทั้งสิ้นเท่านั้น ครูได้ยินแต่ว่า อีอิ่นใช้หลักธรรมของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ไปวอนขอให้กษัตริย์ทัง ดำเนินการปกครองโดยธรรม แต่ไม่เคยได้ยินว่า อีอิ่นอาศัยฝีมือชำแหละเนื้อ ปรุงอาหารเอาใจให้กษัตริย์ทังอุ้มชูใช้งาน ในคัมภีร์ซูจิง บทอีซวิ่น จารึกว่า "เจตนาฟ้าจะให้ทรราชเจี๋ยล่มสลายนั้น เริ่มไล่รุกจากพื้นที่มู่กง" อีอิ่นกล่าวว่า "มันเริ่มตั้งแต่เราเข้ารับงานจากกษัตริย์ทังที่เมืองป้อ"
ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์
"มีคนกล่าวว่า ท่านบรมครูขงจื่อเมื่อครั้งจาริกเมืองเอว้ย ได้พำนักอยู่กับหมอหลวงรักษาโรคผิวหนัง เมื่อจาริกเมืองฉีนั้น พำนักที่บ้านขันทีจี๋หวน เป็นความจริงหรือไม่" ครูปราชญ์ตอบ "ไม่จริง" คำพูดนั้นเป็นความเท็จจากผู้ชอบสร้างเรื่องเล่าลือ เมื่อครั้งที่บรมครูจาริกสู่เมืองเอว้ย ท่านพำนักอยู่ในจวนมหามนตรีเอี๋ยนโฉวอิ๋ว ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรม ช่วงนั้น เมืองเอว้ยมีขุนนางคนสนิทชื่อหมีจื่อ ภรรยาของเขาเป็นพี่น้องแท้ ๆ กับภรรยาของจื่อลู่ ศิษย์เอกคนหนึ่งของบรมครู หมีจื่อเคยกล่าวแก่จื่อลู่คู่เขยว่า ถ้าแม้บรมครูได้มาพำนักที่บ้านซึ่งข้าพเจ้าเป็นเจ้าบ้าน ตำแหน่งมนตรีแห่งเมืองเอว้ย ข้าพเจ้าย่อมจะได้มาโดยง่าย" ศิษย์จื่อลู่ กราบเรียนข้อความนี้ต่อบรมครู บรมครูว่า "ตำแหน่งฐานะฟ้าลิขิตแน่นอนอยู่" ครูปราชญ์สรุปแก่ศิษย์วั่นจังว่า "บรมครูท่านทำการทุกอย่างด้วยจริยะ กาละ เทศะ แม้จะถอนตัว อำลาก็สมควรแก่หลักธรรม ท่านจึงกล่าวว่า "จะได้ตำแหน่งฐานะ ฟ้าลิขิตแน่นอนอยู่"
หากท่านบรมครูพำนักอยู่กับหมอหลวงรักษาโรคผิวหนัง และบ้านหัวหน้าขันทีเจ้าบ้านที่เป็นจัณฑชนคนหยาบ ซึ่งเจ้าบ้านทั้งสองนี้ ไม่ใช่ผู้ที่จะยอมรับหลักธรรมฟ้าชะตาลิขิตได้ ระยะหนึ่งที่ท่านบรมครูไม่ยินดีอยู่ในบ้านเมืองหลู่ และเอว้ย จึงจากไปอยู่เสียที่เมืองซ่ง ไม่คิดว่าขุนนางซือหม่าหวนถุยจะกีดกัน เตรียมดักสังหารกลางทาง ท่านบรมครูไหวทัน จึงสวมใส่เยี่ยงชาวบ้านสามัญชนออกจากเมืองซ่ง ไปยังเมืองเฉิน ขณะนั้น แม้อยู่ระหว่างอันตราย ท่านยังพิจารณาที่พำนักอันสมควร คือจวนขุนนางเจินจื่อ เวลานั้น เจินจื่อยังเป็นขุนนางเมืองเฉิน ภายหลังเป็นปลัดเมืองซ่ง ครูเคยได้ยินมาว่า "แม้ใครู่้รู้ความดีร้ายในตัวขุนนางผู้ใด ให้พิจาารณาจากแขกผู้มาพำนักกับเขาผู้นั้น จะสอดส่องดูขุนนางต่างเมืองที่มาว่าดีร้าย ก็จะรู้ได้จากเจ้าบ้านเคหสถานที่เขามาพำนัก คนประเภทเดียวกัน จะเนื่องนำใฝ่หากัน ถ้าหากท่านบรมครูพำนักกับหมอหลวงและหัวหน้าขันทีนั้นตามคำเล่าลือ ท่านบรมครูจะเป็นบรมครูจอมปราชญ์ได้หรือ"
ศิษย์วั่นจัง เรียนถามครูปราชญ์
"มีคนกล่าวว่า ป๋อหลี่ซีขุนนางเมืองอวี๋ ขายตัวเองไปเลี้ยงสัตว์บ้านที่เมืองฉิน ได้รับค่าตอบแทนเป็นหนังแพะห้าตัว ไปรับจ้างเลี้ยงวัวเพื่อถือโอกาสใกล้ชิดพระเจ้าฉินมู่กง อุ้มชูเข้ารับราชการ เรื่องนี้จริงหรือ" ครูปราชญ์ตอบว่า "ไม่จริง เป็นความเท็จที่พวกชอบเล่าลือกุกัน ท่านป๋อหลี่ซีเป็นชาวเมืองอวี๋ด้วยเหตุที่เดิมทีชาวเมืองจิ้นได้นำหยกงามของเขตฉุยจี๋ กับรถม้าอย่างดีของอำเภอชวี เป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้าเมืองอวี๋ เพื่อขอทางผ่านไปตีเมืองกว๋อครั้งนั้น มหามนตรีกงจือฉี ทัดทานเจ้าเมืองอวี๋ มิให้อนุญาตแต่ไม่ฟัง ส่วนขุนนางป๋อหลี่ซี นั้นวางเฉยไม่ทัดทาน เพราะรู้ดีว่าทัดทานไม่เป็นผล มิอาจแก้ไขได้ จึงไปสู่เมืองฉิน ขณะนั้น อายุเจ็ดสิบปีแล้ว
ผู้มองเห็นความถูกต้องชัดเจนเช่นนี้ มีหรือจะยอมทำตัวอัปยศไปเลี้ยงวัวเพื่อให้พระเจ้าฉินมู่กงสนใจเรียกใช้ ถ้าเช่นนั้นจะนับว่ามีปัญญาหรือ แต่เมื่อรู้ว่าทัดทานเจ้าเมืองอวี๋ จะไม่มีผล จึงเฉยไว้ ไม่ใช่มีปัญญาดอกหรือ รู้การข้างหน้าว่าเมืองอวี๋ จะต้องล่มสลาย จึงลาออกเสียก่อน เช่นนี้จะว่าไม่มีปัญญาไม่ได้ เมื่อเมืองฉินเห็นความสามารถของป๋อหลี่ซี ป๋อหลี่ซีก็เห็นว่า พระเจ้าฉินมู่กง เป็นประมุขที่เติมเต็มได้ ปราดเปรื่องได้ จึงสุดใจเทิดหนุน เช่นนี้จะว่าป๋อหลี่ซีด้อยปัญญาได้หรือ เมื่อเทิดหนุนแล้ว เกียรติคุณของประมุขลือเลื่อง สืบต่อถึงรุ่นหลัง ดังนี้ หากมิใช่ปรีชาญาณ จะทำได้หรือ ที่เล่าลือว่าขายตัวตกต่ำเพื่อเสนอตัวนั้น (ไม่เซินฉิวหยง) ซึ่งแม้แต่ชาวบ้านผู้รักดี ก็ยังไม่กระทำ นับประสาอะไรกับเมธี มีหรือจะประพฤติดังกล่าว
~ จบบทวั่นจัง ตอนต้น ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
ครูปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า
"นิสัยใจคอของราชบุตรป๋ออี๋ นันย์ตาไม่มองดูสิ่งไม่เที่ยงตรง หูไม่ฟังคำไม่เที่ยงตรง ไม่ใช่ประมุขอันพึงสนองบัญชา จะไม่สนอง ไม่ใช่ชาวประชาอันพึงใช้สอยได้ จะไม่เรียกใ้" ขณะบ้านเมืองมีระเบียบจะเป็นผู้ร่วมปกครอง บ้านเมืองยุ่งเหยิงจะถอยห่างออกไป ถิ่นที่ก่อเกิดอาชญากรรม สถานที่ชุมนุมความชั่วร้าย และขณะเมื่อการปกครองเสียหาย ราชบุตรป๋ออี๋จะไม่หยุดยั้ง ขณะนั่งลงพูดคุยกับชาวบ้าน หากผู้นั้นเสียกิริยา ราชบุตรป๋ออี๋จะเดินหนี จะหงุด
หงิด ประหนึ่งสวมเครื่องฐานันดรเต็มยศแล้วนั่งจมโคลน ช่วงเวลานั้น ทรราชโจ้วไร้ธรรม ราชบุตรป๋ออี๋จึงแฝงองค์อยู่แถบชายทะเลเป่ยไห่ รอคอยวันสงบอยู่เงียบ ๆ ฉะนั้นคนที่ได้ยินกิติศัพท์ความสูงส่งเรียบง่ายของราชบุตรป๋ออี๋ ซึ่งแม้แต่คนโง่ก็ยังอยากเอาอย่างสุจริตธรรม คนขลาดยังอยากตั้งความมุ่งมั่น
อย่างราชบุตรป๋ออี๋ "
มหามนตรีอีอิ่น ในกษัตริย์ทัง กล่าว (แย้งความคิดของราชบุตรป๋ออี๋) ว่า "ประมุของค์ใดหรือที่มิพึงสนองบัญชา ประชาใดหรือที่มิพึงใช้สอย โลกสุขสงบ แน่นอนจะต้องออกมารับราชการ การปกครองวุ่นวายเสียหาย ก็จะต้องออกมารับราชการ" ยังพูดเสมอว่า "ฟ้าเบื้องบนก่อเกิดปวงชน" ให้ผู้รู้เห็นหลักธรรมก่อน ไปปลุกคนข้างหลังให้รู้เห็นตามกัน ให้ผู้ตื่นก่อน เบิกทางแก่คนข้างหลังให้ตื่นใจตามกัน เราคือชนอันได้รับญาณจากฟ้าให้ตื่นใจก่อนแล้ว เราอยากจะนำเอาหลักธรรมที่เข้าใจไปปลุกใจปวงชนแล้ว" ตามความคิดของอีอิ่น ปวงชนทั่วหน้า ไม่ว่าหนึ่งชายหรือหนึ่งหญิง ในขณะนั้นที่ไม่ได้รับคุนอันปรกแผ่จากอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ก็จะเหมือนพาพระองค์เองไปหมกท่อน้ำ (มิได้สร้างสรรค์) คิดดังนี้แล้ว อีอิ่นจึงอยากจะแบกรับงานใหญ่ อุ้มชูงานบ้านเมือง นิสัยใจคอของหลิ่วเซี่ยฮุ่ย ขุนนางมหาบัณฑิต ชาวเมืองหลู่ สมัยชุนชิว ต่างจากราชบุตรป๋ออี๋ หลิ่วเซี่ยฮุ่ยไม่รู้สึกอดสูใจที่รับราชการกับประมุขมลทินไม่เกี่ยงตำแหน่งราชการชั้นผู้น้อย เมื่อรับราชการแล้วไม่ซ่อนเร้นความปรีชาสามารถ ทำทุกอย่างด้วยหลักเหตุผล ถูกเขาดูหมิ่น ถูกเขาละทิ้ง ก้ไม่ขัดเคืองทอดถอน เจออุปสรรคยากเข็ญ ก็ไม่ทุกข์กังวล อีกทั้งอยู่กับชาวบ้านที่ไม่รู้การอันควร ก้ไม่อาจตัดใจเดินหนี หลักความคิดของหลิ่วเซี่ยฮุ่ย คือ ใครจะพูดว่าอะไรก็ว่าของเขาไป เรามีหลักการของเรา เขาจะเปลีอยท่อนบน เปลือยทั้งตัวนั่งอยู่ข้าง ๆ มันจะเป็นผลแปดเปื้อนจิตญาณของเราได้หรือ คนที่ได้ฟังบุคลิกภาพของหลิ่วเซี่ยฮุ่ยดังนี้แล้ว แม้แต่คนใจแคบชอบรังเกียรติเดียดฉันท์ ก็กลับกลายเป็นใจกว้าง คนเอาเปรียบกลับกลายเป็นโอบอ้อมอารี
สำหรับท่านบรมครูนั้น ก็จะต่างกันเล็กน้อย ครั้งนั้น เมื่อท่านจะไปจากเมืองฉี แม้จะซาวข้าว ตั้งหม้อยังไม่ทันหุงให้สุก จะออกเดินทาง รินน้ำทิ้ง ไปหุงเอาข้างหน้า อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจะไปจากเมืองหลู่ แม้ศิษย์จื่อลู่จะเร่งเร้า แต่บรมครูกลับตามสบาย กล่าวว่า "ช้า ๆ ก็ได้" เพราะการจากครั้งนี้คือ จากพรากมาตุภูมิ มีเหตุอันควรจะอาลัย การบางอย่างควรรีบร้อน บางอย่างควรผ่อนช้า บางสถานการณ์ควรแฝงตน บางสถานการณืพึงทะยานออกมารับราชการ นี่คือหลักการตามควรของท่านบรมครู
ครูปราชย์กล่าวแก่ศิษย์วั่นจังอีกว่า
"ราชบุตรป๋ออี๋ เป็นอริยชนผู้รักษาตน ไว้ตัวสูงส่งมิให้แปดเปื้อนแม้แต่น้อย อีอิ่น กษัตริย์ผู้สำเร็จราชการ เป็นอริยชนผู้มุ่งมั้นรักษาภาระหน้าที่เที่ยงตรงสูงส่งทุกขณะจิต ขุนนางมหาบัณฑิตหลิ่วเซี่ยฮุ่ย เป็นอริยชนผู้สมานฉันท์ต่อชนทุกชั้น ทุกสถานการณ์ ท่านบรมครูขงจื่อ เป็นอริยเจ้าผู้ดำเนินมัชฌิมาปฏิปทาสำแดงคุณธรรมตามเหตุอันควรทุกกรณี"
เซิ่งจือชิงเจ่อ เซิ่งจือเยิ่นเจ่อ
เซิ่งจือเหอเจ่อ เซิ่งจือสือเจ่อ
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
ท่านบรมครูได้รับการเทิดทูนสรรเสริญว่า "มหาสมิทธิ" (จี๋ต้าเฉิง) (มหาสมิทธิ คือ สำเร็จ สัมฤทธิ์ สมบูรณ์การพรั่งพร้อม) ความเป็นมหาสมิทธิ อธิบายให้เห็นจิงเช่นการบรรเลงเพลงที่เริ่มจากเสียง "ระฆังทองกังวานใสเปิดใจนำทาง" และจบลงด้วยการ "เคาะคันหยกเสียงนุ่มทุ้ม ลุ่มลึก จับใจ" (จินจงอวี้ชิ่ง) ระฆังทองเปิดทางปัญญา จัดระเบียบ นำเสียงอื่น ๆ ให้ตามกันมา เสียงคันหยกนุ่มทุ้มจับใจพาให้ "เข้าถึง" ความลุ่มลึกแห่งอริยะ เป็นสัญญาณให้เสียงอื่น ๆ ค่อย ๆ นิราศล้างจางหาย เสียงเปิดปัญญา เปรียบเช่นความคิดจิตใจปราดเปรื่อง ส่วนการ "เข้าถึง" คือพลังเนื่องหนุนอันสุขุม เปรียบเช่นการยิงธนู จากหนึ่งร้อยก้าวขึ้นไปให้เข้าเป้า "เข้าเป้า" คือพลังของผู้ยิง "ถูกกลางเป้า" ไม่ใช่พลังของผู้ยิง แต่เป็นความปราดเปรื่อง ฉะนั้นท่านบรมครูจึงมีทั้งพลังและความปราดเปรื่อง มีปัญญาแห่งอริยะ สำเร็จ สัมฤทธิ์ สมบูรณ์การณ์พรั่งพร้อม ต่างจากอริยะอื่น ๆ ที่สำเร็จสัมฤทธิ์ในอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ บรมครูจึงเป็นจอมปราชญ์ เป็นสมหาสมิทธิ (ต้าเฉิงจื้อเซิ่ง)
เป่ยกงฉี ชาวเมืองเอว้ย เรียนถรมปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ราชวงศ์โจว จัดลำดับขุนนางกับระบบแบ่งปันที่นาอย่างไร" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "รายละเอียดครั้งกระโน้นไม่อาจรู้ได้ ด้วยเหตุที่เจ้าเมืองต่าง ๆ ไม่ยินดีต่อบางอย่างในระบบแบบแผน ที่ไม่อำนวยคุณแก่ตน จึงทำลายบันทึกทะเบียนส่วนใหญ่เสีย แต่ข้าฯ ยังเคยได้ยินมาบ้าง"
ลำดับที่หนึ่ง กษัตริย์ ฮ่องเต้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ลำดับที่สอง มหามนตรี ลำดับที่สาม เจ้าเมือง ที่สี่ เจ้าผู้ครองแคว้น ที่ห้า ผู้ครองเขตแดน รวมห้าระดับ อีกระบบอหนึ่งคือ หนึ่ง ประมุขเจ้าผู้ครองนคร สอง มหาอำมาตย์ สาม ขุนนาง สี่ ห้า หก ข้าราชฯ เอก โท ตรี รวมเป็นหกระดับ
ระบอบเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ปกครองแผ่นดินโดยรอบหนึ่งพันลี้ มหามนตรี เจ้าเมือง หนึ่งร้อยลี้ เจ้าผู้ครองแคว้น เจ็ดสิบลี้ ผู้ครองเขตแดน ห้าสิบลี้รวมสี่ระดับ เมืองเล็กที่แผ่นดินไม่เต็มห้าสิบลี้ จะเข้าเฝ้าเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินโดยตรงไม่ได้ ให้ขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองที่ชิดใกล้ เรียกว่า "อิงเมือง" มนตรีของเจ้าฟ้าฯ ได้รับส่วนแบ่งที่ทางเทียบเท่าเจ้าเมือง ขุนนางได้เทียบเท่าผู้ครองแคว้น ข้าราชสำนักเอกได้เทียบเท่าผู้ครองเขตแดน
มหามนตรีเจ้าเมืองใหญ่ ครอบครองพื้นที่โดยรอบหนึ่งร้อยลี้ บำเหน็จสินทรัพย์สำหรับประมุขมากกว่ามหามนตรีสิบเท่า มหามนตรีมากกว่าขุนนางสิบเท่า ขุนนางมากกว่าข้าราชฯเอก หนึ่งเท่า ข้าราชฯเอกมากกว่าข้าราชฯโทหนึ่งเท่า ข้าราชฯโทมากกว่าข้าราชฯตรีหนึ่งเท่า ข้าราชฯตรี ได้เท่ากับข้าราชฯเวรยาม บำเหน็จนี้เพียงพอสำหรับทดแทนรายได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวเท่านั้น ที่ดินรองลงมาของเจ้าผู้ครองแคว้นเจ็ดสิบลี้โดยรอบ ประมุขของเขาจะได้รับบำเหน็จสินทรัพย์มากกว่ามหามนตรีสิบเท่า มหามนตรีมากกว่าขุนนางสามเท่า ขุนนางมากกว่าข้าราชฯเอกหนึ่งเท่า ข้าราชฯเอกมากกว่าข้าราชฯโทหนึ่งเท่า ข้าราชฯโทมากกว่าข้าราชฯตรีหนึ่งเท่า ข้าราชฯตรีได้เท่ากับข้าราชฯเวรยามชาวบ้าน ซึ่งเพียงพอแก่การทดแทนรายได้จากไร่นาเท่านั้น
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
บ้านเมืองเล็กครอบครองพื้นที่โดยรอบห้าสิบลี้ บำเหน็จสินทรัพย์สำหรับเจ้าเมือง มากกว่ามหามนตรีของเมืองนั้นสิบเท่า มหามนตรีมากกว่าขุนนางสองเท่า ขุนนางมากกว่าข้าราชฯเอกหนึ่งเท่า ข้าราชฯเอกมากกว่าข้าราชฯโทหนึ่งเท่า ข้าราชฯโทมากกว่าข้าราชฯตรีหนึ่งเท่า ข้าราชฯตรีได้บำเหน็จสินทรัพย์เท่ากับประชาชนทั่วไปที่รับใช้งานบ้านเมือง บำเหน็จสินทรัพย์นี้ เพียงพอสำหรับทดแทนรายได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวเท่านั้น รายได้จากนาโดยเฉลี่ย ชายคนหนึ่งต่อที่นาหนึ่งร้อยหมู่ หากปุ๋ยอุดม ชาวนาชั้นดีจะเลี้ยงคนได้เก้าคน รองลงมาแปดคน ระดับกลางได้เจ็ดคน รองลงมาอีกได้หกคน ต่ำสุดได้ห้าคน ชาวบ้านรับจ้างหน่วยงานหลวง เช่นเป็นเวรยามก็จะได้ค่าจ้างเท่ากับระดับห้า
ศิษย์วั่นจังเรียนถามครูปราชญ์ "หลักการคบเพื่อน" ครูปราชญ์ว่า
"อย่าถือตนว่าอายุมาก อย่าถือตนว่าสถานภาพสูง อย่าถือเอาความมีอำนาจของพี่น้องไปคบหา พึงรู้ว่า คบหาเพื่อน คือคบหาคุณธรรมความประพฤติดีของเขา จะถือดีไม่ได้ เมิ่งเซี่ยนจื่อ ขุนนางศรีของเมืองหลู่ ครอบครองรถศึกถึงหนึ่งร้อยคัน เขามีเพื่อนแท้ห้าคน คือ เอวี้ยเจิ้งฉิว มู่จ้ง อีกสามคนครูลืมชื่อเสียแล้ว เซี่ยนจื่อคบหากับเพื่อนทั้งห้า ล้วนเห็นด้วยกับคุณธรรมความประพฤติดี เพื่อนทั้งห้าคนก็ไม่ได้มองดูความร่ำรวยสูงศักดิ์ของเซี่ยนจื่อเป็นสำคัญ หากมองดูที่ความร่ำรวยสูงศักดิ์ เมิ่งเซี่ยนจื่อก็คงจะไม่คบหาคนเหล่านั้นเป็นแน่ ไม่เพียงผู้ครองครองรถศึกร้อยคันที่คบหาเพื่อนสนิท ประมุขเมืองเล็กก็มีเพื่อนแท้ เช่น ประมุขเมืองเฟ่ย ประมุขเฟ่ยฮุ่ยกงกล่าวว่า "สำหรับปราชญ์จื่อซือ เราปฏิบัติต่อเพื่อนด้วยเทิดทูนเคารพ ปฏิบัติต่อเอี๋ยนปัน ด้วยให้เกียรติยกย่อง สำหรับหวังซุ่นกับฉังสีนั้น เป็นเพื่อนแท้ที่ดูแลรับใช้เรา"
ไม่เพียงประมุขเมืองเล็ก ประมุขเมืองใหญ่ก็มีการคบหาเพื่อนแท้ เช่น พระเจ้าจิ้นผิงกง มีเพื่อนแท้ที่เทิดทูนเคารพคือ ไฮ่ถัง เมธีผู้ถือสันโดษยุคชุนชิว เมื่อพระเจ้าจิ้นผิงกงไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อนผู้นี้ จะยืนรออยู่หน้าบ้านจนกว่าเมธรไฮ่ถังจะเรียกเชิญจึงจะเข้าไป เชิญให้นั่งจึงจะประทับนั่ง เชิญให้เสวยจึงจะเสวย ซึ่งอาหารแม้จะเป็นผักหญ้าพื้นบ้านธรรมดา ก็ไม่เคยเสวยได้ไม่อิ่ม ไม่อิ่มจะแสดงว่าไม่เคารพ แต่น่าเสียดายที่ความเป็นเพื่อนแท้คงตัวอยู่ที่เทิดทูนเคารพ มิได้ให้ร่วมบัลลังก์ มิได้มอบหน้าที่สำคัญในการปกครองบ้านเมืองให้ มิได้เชิดชูฐานันดรหรือบรรดาศักดิ์ให้ ซึ่งแม้เพื่อนจะถือสันโดษมิได้เรียกร้องก็ตาม ดังนี้ เท่ากับแสดงความเป็นเพื่อนแท้ที่เทิดทูนเคารพเยี่ยงสามัญชนเท่านั้น มิใช่ในฐานะองค์ประมุข
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
ครั้งกระโน้น เมื่อซุ่นยังทำนาอยู่ที่ลี่ซัน ก้ได้รับเป็นราชบุตรเขยของอริยกษัตริย์เหยาแล้ว ฉะนั้น เมื่อซุ่นไปเข้าเฝ้ากษัตริย์เหยา พระองค์ก็จะรั้งราชบุตรเขยให้พักอยู่ก่อนที่วังรอง บางครั้งพระองค์ก็ได้รับเลี้ยงจากซุ่น ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เป็นผู้รับเชิญ นี่ก็คือ เจ้าฟ้าคบหาสมาคนกับสามัญชน ผู้อยู่เบื้องล่างนบนอบเบื้องสูง เรียกว่าเทิดทูนคนบุญผู้สูงศักดิ์ ผู้อยู่เบื้องสูงเคารพรักผู้อยู่เบื้องล่าง เรียกว่า เคารพเมธาชนคนดี แท้จริงเทิดทูนกับเคารพ ความหมายเป็นเช่นเดียวกัน"
ศิษย์วั่นจัง ขออนุญาตเรียนถามครูปราชญ์ว่า
"การตอบรับกับมอบให้ไปมาแก่กัน เป็นความนึกคิดอย่างไร" ตอบ "เป็นการแสดงความน้อมใจให้แก่กัน" วั่นจังว่า "หากเขามอบของกำนัลมา คืนไปไม่รับไว้ เช่นนี้ถูกเรียกว่า ไม่น้อมใจไม่เคารพ มีเหตุผลอย่างไร" ครูปราชญ์ว่า "ผู้ใหญ่ให้ของกำนัล ถ้าเรารับไว้โดยค้างใจว่าถูกต้อง สมควรที่จะรับหรือไม่ เท่ากับไม่น้อมใจไม่เคารพ ฉะนั้น อย่าคืนไปจะดีกว่า" ศิษย์วั่นจังว่า "เรียนถาม หากคืนกลับไปโดยไม่พูดไม่ได้หรือ เพราะศิษย์คาดว่าของกำนัลนี้เขาอาจได้จากผู้อื่นมาโดยไม่ชอบธรรม" ครูปราชญ์ว่า "ขอเพียงคบหากับเขาด้วยมโนธรรมสำนึกดี การรับของกำนัล ขอให้ถูกต้องต่อจริยธรรม" ซึ่งท่านบรมครูก็ยอมรับ ศิษย์วั่นจังว่า "สมมุติ ขณะนี้ ที่นอกเมืองมีผู้ดักชิงทรัพย์ แต่เขากับศิษย์คบหากันด้วยมโนธรรม เขามอบของกำนัลแก่ศิษย์ ก็ถูกต้องด้วยจริยธรรม เช่นนี้จะรับของที่เขาชิงมาได้หรือ" ครูปราชญ์ตอบ "ไม่ได้ ในคัมภีร์ซูจิง บทคังเก้า ก็จารึกว่า "ปล้นฆ่าคนที่มาจากทางไกล ช่างโฉดช่วยไม่กลัวตาย ไม่มีใครที่ไม่ชิงชัง" คนเช่นนี้มิพึงรอรับการกล่อมเกลา ก็สมควรตายแล้ว การลงโทษสถานนี้มีในสมัยซัง สืบต่อจากสมัยเซี่ย และสืบต่อมาถึงสมัยโจว ไม่มีอะไรโต้แย้งได้ ยุคนี้ยิ่งจะเข้มงวด ฉะนั้น จะรับของกำนัลจากคนพรรค์นี้ได้อย่างไร" ศิษย์วั่นจังว่า "เจ้าเมืองสมัยนี้เรียกเก็บภาษี เอาประโยชน์จากประชาชนหนักหนา ไม่ต่างจากจี้ปล้น ถ้าคนพวกนี้ใช้จริยพิธีดีงามสื่อสัมพันธ์กัลยาณชนก็รับกำนัลด้วยจริยะดีงามนั้น ขอเรียนถาม การนี้จะอธิบายว่ากระไร" ครูปราชญ์กล่าว "ศิษย์เข้าใจว่า หากมีอริยเจ้าสักท่านออกมาปกครองโลก ก็จะสังหารเจ้าเมืองผู้กระทำผิดได้ทั้งหมดกระนั้นหรือ หรือจะห้ามปรามกำราบเสียก่อน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงจึงจะสังหาร พวกที่แก้ตังว่า "เขาเอามาให้" ... รับของโจรก็ถือว่าเป็นโจรแล้ว แต่หากวิเคราะห์ชัดเจน ปล้น และรับเอาของปล้นนั้น การกระทำย่อมต่างกัน ฉะนั้น จะเปรียบเหล่าเจ้าเมืองเป็นโจรไม่ได้ ครั้งกระโน้น ท่านบรมครูเป็นขุนนางเมืองหลู่ ทุกครั้งที่ชาวเมืองหลู่จัดพิธีเซ่นไหว้ ผู้คนชิงกันล่าสัตว์ ดูใครจะได้มากกว่ากัน ท่านบรมครูก็เคยเข้าร่วมด้วย แข่งขันชิงกันล่า เฉพาะหน้าเฉพาะครั้งยังพอเป็นได้ ไม่ต่างรับของกำนัลจากเจ้าเมือง แต่เจตนาที่รับ ที่ล่า คือหาโอกาสปรับแปรเขา"
ศิษย์วั่นจัง แย้งอีกว่า
"แต่ท่านบรมครูเป็นขุนนาง มิใช่จุดประสงค์เพื่อแพร่ธรรมหรือ" ครูปราชญ์ว่า "ก็ใช่น่ะสิ" ถามว่า "จุดประสงค์เพื่อแพร่ธรรม ไฉนยังจะร่วมแข่งขันชิงล่าตามอย่างชาวบ้าน" ครูปราชญ์ว่า "บรมครูได้จัดทำสมุดบันทึกกำหนดพิธี อาหาร ภาชนะ เครื่องเซ่นไหว้ไว้ก่อนหน้าแล้ว ระบุว่าไม่ใช้เนื้อสัตว์ ไม่ใช้อาหารที่หามาโดยยากทั่วปริมณฑลโดยรอบมาเซ่นไหว้" นี่ก็คือ อุบายของการที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยเคยชินในการแข่งขันชิงล่า (ให้ผู้ชิงล่าปรามาสรังเกียจบรมครูแล้วย้อนดูตน) ศิษย์วั่นจังว่า "เมื่อปรับแปรเขาไม่ได้ ไฉนไม่ละจากเมืองหลู่เล่า" ครูปราชญ์ว่า "บรมครูคิดจะใช้วิธีค่อย ๆ กล่อมเกลา หากปรับแปรได้จึงค่อยดำเนินการแพร่ธรรม ปรับแปรไม่ได้จริง ๆ ก็จะละจาก" ดังนี้ ท่านบรมครูไม่ว่าไปโปรด ณ บ้านเมืองใด จึงมิได้เนิ่นนานเกินกว่าสามปี ท่านบรมครูเป็นขุนนางด้วยหลักมโนธรรม บางครั้งเห็นโอกาสดำเนินธรรมได้ จึงไปเป็นขุนนาง บางครั้งเป็นเพราะองค์ประมุขมีจริยธรรมในการต้อนรับจึงไปเป็นขุนนาง บางครั้งเป็นเพราะองค์ประมุขมีจิตใจศรัทธา อุ้มชูรักษาเมธี จึงไปเป็นขุนนาง ในครั้ง จี้หวนจื่อ ก็คือ เห็นว่าดำเนินงานธรรมได้ จึงไปเป็นขุนนาง ในครั้งพระเจ้าเอว้ยหลิงกงนั้น ยินดีเป็นขุนนางให้ เพราะจริยอัธยาศัยของพระองค์ ในครั้งพระเจ้าเอว้ยเซี่ยวกง ก็คือเห็นความศรัทธาจริงใจในการอุ้มชูรักษาเมธาจารย์
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เป้าหมายของการเข้ารับราชการเป็นขุนนาง มิใช่หวังเงินบำเหน็จบำนาญ เนื่องจากยากจน แต่บางครั้งก็เพราะขัดสน อยากได้เงินทองมาปฏิการะบิดามารดา ตกแต่งภรรยาก็เพื่อให้มีทายาทสืบสกุล มิใช่เพื่อให้ช่วยการปฏิการะ แตบางครั้งก็ยังต้องอาศัยภรรยาให้ช่วยด้วย เป็นขุนนางเนื่องจากยากจน ควรละตำแหน่งสูง รับงานตำแหน่งต่ำ รับบำเหน็จน้อย แต่จะละตำแหน่งสูง สละบำเหน็จมาก หน้าที่ใดจึงจะเหมาะสมเล่า มีแต่หน้าที่รักษาประตูเมือง ตรวจเวรยาม ตีเกราะเคาะระฆังบอกเวลาเท่านั้นที่เหมาะสม ท่านบรมครูก็เคยรับราชการระดับต่ำ เป็นผู้จัดการดูแลคลังเก็บพัสดุสิ่งของ เนื่องจากขัดสน ท่านบรมครูเล่าเองว่า ตำแหน่งหน้าที่นี้ รับผิดชอบเพียงดูแลสิ่งของเข้าออกมิให้ผิดพลาดเท่านั้น ท่านบรมครูยังเคยรับราชการเป็นขุนนางเล็ก ๆ ดูแลสวนสัตว์ราชอุทยาน ท่านว่า เพียงแค่ดูแลให้วัว ให้แพะอ้วนพีเท่านั้น ขุนนางเล็ก ๆ วิพากษ์วิจารณ์ราชการงานของขุนนางใหญ่ คือก้าวก่าย คนที่ทำหน้าที่ขุนนางใหญ่ ไม่อาจดำเนินงานแพร่ธรรมในราชสำนักได้ น่าละอายนัก (ขุนนางใหญ่ จะต้องทำหน้าที่สำแดงธรรม นำพาขุนนางทั้งหลายให้มีธรรม)
ศิษย์วั่นจังเรียนถามว่า "คนมีธรรม แม้เป็นขุนนาง ก็ไม่ยอมพักพิงชายคาเจ้าเมืองด้วยเหตุใด" ครูปราชญ์ตอบว่า "เพราะมิได้ให้คุณ มิกล้ารับคุณ (อู๋กงปู้กั่นโซ่วลู่) ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่เขา จะเอาประโยชน์จากเขาไม่ได้ หากเป็นเจ้าเมืองที่เสียเมือง ระหกระเหินไปพักพิงกินอยู่กับเจ้าเมืองอื่น อย่างนี้ไม่ผิดจริยระเบียบโบราณ แต่คนมีธรรมอาศัยเจ้าเมืองโดยเปล่าประโยชน์ ก็จะผิดจริยะ" ศิษย์วั่นจังว่า "ถ้าเช่นนั้น ข้าวเปลือกที่เจ้าเมืองมอบให้จะรับได้หรือไม่" ครูปราชญ์ว่า "รับได้" ศิษย์เรียนถาม "รับได้ด้วยหลักเหตุผลใด" ตอบว่า "ประมุขบ้านเมืองถือหลักธรรม พึงสงเคราะห์ผู้มาจากแดนไกล"ศิษย์เรียนถามอีกว่า "สงเคราะห์ รับได้ "บำเหน็จ รับไม่ได้" ด้วยเหตุผลใด ตอบ "มิได้ให้คุณ มิกล้ารับพระคุณ" วั่นจังว่า "บังอาจเรียนถาม ที่ว่ามิกล้านั้น ด้วยเหตุอันใด" ครูปราชญ์ว่า "เช่นเฝ้าประตูเมือง ยืนยามค่ำคืน ตีเกราะเคาะระฆังบอกเวรยาม เรียกว่าผู้มีหน้าที่ประจำ ก็จะรับบำเหน็จสินจ้างจากหลวงได้โดยดุษณี แต่ขุนนางที่มิได้มีตำแหน่งการงานเจาะจง เป็นประจำ จะรับบำเหน็จรางวัลจากองค์ประมุข เกรงว่าจะไม่เป็นที่ยินดีแก่ใคร ๆ
ศิษย์วั่นจังว่า "องค์ประมุขโปรดพระราชทานข้าวเปลือกสงเคราะห์ รับไว้ได้ ไม่ทราบว่า จะสงเคราะห์ติดต่อเรื่อยไปหรือไม่" ครูปราชญ์ตอบว่า "แต่ก่อน พระเจ้าหลู่โหมวกง แสดงท่าทีต่อท่านปราชญ์ จื่อซือ (ข่งจี๋) นั้น จะถามทุกข์สุขเสมอ ส่งเนื้อต้มสุกเป็นของฝาก ท่านปราชญ์จื่อซือหายินดีไม่ครั้งสุดท้ายที่ส่งมา ท่านปราชญ์จื่อซือ กวักมือเรียกขุนนางผู้นำส่ง ออกมานอกประตูใหญ่ ตัวท่านเองหันหน้าไปทางทิศเหนือก้มกราบ โค้งสองคำนับ ขอบคุณแล้วปฏิเสธที่จะรับของกำนัล กล่าวว่า "วันนี้ เรารู้ชัดแล้ว องค์ประมุขเมืองหลู่ใช้วิธีขุนสุนัข เลี้ยงม้า มาปฏิบัติต่อเราจื่อซือ นับจากนั้น ขุนนางผู้นำส่งก็ไม่มาอีกเลย ยินดีในปราชญ์ แต่มิได้เชิดชูในงาน ก็จะมิได้อุปถัมภ์กันยั่งยืน ดังนี้หรือจะเรียกว่า รักปราชญ์ เทิดทูนปราชญ์"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
วั่นจังเรียนถามว่า "องค์ประมุขจะอุปถัมภ์ค้ำชูกัลยาณชน พึงทำเช่นไร" ครูปราชญ์ว่า "ครั้งแรกใช้พระบัญชา ให้นำของกำนัลไปให้ ผู้รับจะต้องโค้งคารวะสองครั้ง กราบรับไว้อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่กองยุ้งฉางก็จัดส่งข้าว เจ้าหน้าที่โรงครัวก็จัดส่งอาหารต่อเนื่องอย่างไม่เป็นทางการ" แต่ปราชญ์จื่อซือรู้ว่าทุกครั้งที่ส่งอาหารมาให้นั้น เป็นพระบัญชาทุกครั้ง ทำให้ต้องโค้งคารวะก้มกราบรับไว้ ยุ่งยากลำบากใจนัก อีกทั้งมิใช่ท่าทีขององค์ประมุขอันพึงแสดงต่อกัลยาณชน เพื่อการอุปถัมภ์ค้ำชู ก่อนกาล อริยกษัตริย์เหยาแสดงต่อซู่นนั้นคือ ส่งราชบุตรทั้งเก้าของพระองค์ไปดูแลรับใช้ซุ่น ตกแต่งพระธิดาทั้งสองให้ซุ่น อีกทั้งจัดเตรียมขุนนางนับร้อยไว้ให้ซุ่นเรียกใช้ จัดวัว แพะเต็มคอก เลี้ยงสัตว์ จัดข้าวเปลือกเต็มยุ้งฉางไปมอบแก่ซุ่นถึงกลางนา ภายหลัง ยังได้เชิดชูมอบหมายให้งาน ให้ตำแหน่งมุขมนตรี เช่นนี้ จึงจะเรียกว่า จริยะที่องค์ประมุขเชิดชูเมธี
ศิษย์วั่นจังเรียนถามอีกว่า "ผู้คนไม่กล้าเข้าพบเจ้าเมืองด้วยตนเอง เพราะเหตุไร" ครูปราชญ์ตอบว่า "ผู้คนในเมืองหลวง เรียกว่าพสกนิกรชาวเมืองผู้คนชนบทเรียกว่่าพสกนิกรชาวบ้านป่า ทั้งสองประเภทนี้ ล้วนเป็นสามัญชน สามัญชนที่ยังไม่เคยเรียนรู้จริยพิธีในการแนะนำตนเองต่อผู้ใหญ่ ก็จะไม่กล้าเข้าพบเจ้าเมือง นี่เป็นจริยะโบราณ" ศิษย์วั่นจังว่า "เจ้าเมืองเรียกใช้แรงงานชาวบ้าน ชาวบ้านพากันไป แต่เรียกให้เข้าหากลับไม่ไป เพราะเหตุใด" ครูปราชญ์ว่า "เรียกใช้แรงงาน ชาวบ้านเห็นเป็นหน้าที่ แต่เรียกให้เข้าหา เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ อีกทั้งไม่มีเหตุอันควร" ศิษย์วั่นจังว่า "คนที่ไม่ยอมเข้าหาเป็นเพราะว่า เขามีความรู้กว้างขวางอีกทั้งเป็นเมธี" ครูปราชญ์ว่า "ในเมื่อเป็นเพราะมีความรู้กว้างขวาง ถ้าเช่นนั้น แต่โบราณมา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินยังไม่กล้าเรียกครูบาอาจารย์ให้เข้าหา จึงนับประสาอะไรกับเจ้าเมือง จะเรียกให้เข้าหาได้ และถ้าหากเป็นเมธี ครูก็ไม่เคยได้ยินว่า เจ้านายจะเรียกให้เมธีเข้าหาได้"
แต่ก่อน พระเจ้าหลู่โหมวกง ไปขอพบท่านปราชญ์จื่อซือเสมอ เพื่อปรึกษาความว่า "องค์ประมุขบ้านเมืองที่มีรถม้าศึกถึงหนึ่งพันคัน คบหาเป็นเพื่อนกับสามัญชน ปราชญ์จื่อซือท่านเห็นเป็นการสมควรหรือไม่" ท่านปราชญ์ไม่พอใจคำถามนี้ตอบว่า "โบราณแบ่งแยกการปฏิการะ หาได้แบ่งแยกมิตรภาพไม่" ครูเองเข้าใจว่า ที่ท่านปราชญ์จือซือไม่พอใจนั้น น่าจะหมายถึงว่า "ถ้าพูดกันถึงสถานภาพ ท่านเป็นองค์ประมุข เราเป็นข้าแผ่นดิน มีหรือจะบังอาจเป็นเพื่อน แต่หากพูดกันถึงคุณธรรม ท่านประมุขจะต้องปฏิการะเรา จะเป็นเพื่อนกับเราได้หรือ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๕
บทวั่นจัง ตอนท้าย
แม้มีรถศึกถึงหนึ่งพันคัน หวังเป็นเพื่อนด้วยยังมิได้ ยังจะเรียกให้เข้าหาได้หรือ แต่ก่อน พระเจ้าฉีจิ่งกงจะประพาสล่าสัตว์ ส่งธงประดับขนนกห้าสีไปเรียกหาตัวผู้คุมป่าวนอุทยาน ผู้คุมไม่มา เพราะการเรียกหาผิดจริยะ ฉีจิ่งกงจะประหารเขา ท่านบรมครูได้ทราบเรื่องนี้ ชื่่นชมว่า คนที่รักษาระเบียบเที่ยงตรงจะไม่ลืมว่า แม้ต้องสิ้นไร้ตายอยู่ในหลุมคู ก็จะไม่เอนเอียง ผู้หาญกล้ารักษาบ้านเมืองจะไม่ลืมว่า แม้เสียหัวไม่กลัวตาย ท่านบรมครูชื่นชมเขาในจุดใดหรือ ก็คือจุดที่ไม่ถูกต้องต่อจริยระเบียบ เรียกหาก็จะไม่รับ
ศิษย์วั่นจังว่า "บังอาจเรียนถาม ถ้าเช่นนั้น เรียกหาผู้คุมป่าวนอุทยาน ควรใช้อะไร"
ครูปราชญ์ว่า
"ใช้หมวกหนังสัตว์เป็นสัญลักษณ์เรียกหา จริยระเบียบเรียกหาชาวบ้าน ใช้ธงแดงไม่มีลวดลาย เรียกหาข้าราชฯใช้ธงลวดลายมังกรสองตัว เรียกหาขุนนาง จึงใช้ธงประดับขนนกห้าสี ใช้จริยระเบียบขุนนาง ไปเรียกหาผู้คุมป่าวนอุทยาน ถึงตายเขาก็ไม่กล้ามา ใช้จริยระเบียบเรียกหาข้าราชฯ ไปเรียกหาชาวบ้าน เขาจะกล้ามาหรือ ยิ่งกว่านั้น ยังจะเรียกหาเมธีอย่างผิดจริยา เขาจะยอมมาได้อย่างไร"
ใคร่พบเมธี แต่ไม่ทำตามหลักให้ถูกต้อง จะเหมือนปิดประตูไว้ เรียกให้เขาเข้ามา หลักธรรมความถูกต้อง เหมือนหนทางใหญ่ จริยะเหมือนประตูทางตรง กัลยาณชนย่อมจะเดินทางใหญ่ เข้าประตูทางตรง ในคัมภีร์ซือจิง มีข้อความบัญญัติการปกครองของราชวงศ์โจวว่า "ความยุติธรรมเหมือนหน้าหินลับมีด (สึกไปเห็นได้ชัด) ความเที่ยงตรงเหมือนธนูยิงผ่าน (แน่วแน่) เป็นสิ่งที่กัลยาณชนพึงปฏิบัติจริง ชาวบ้านควรเห็นเป็นแบบอย่าง"
ศิษย์วั่นจังว่า "ครั้งกระนั้น ท่านบรมครูได้รับบัญชาจากองค์ประมุขเรียกหา บรมครูไม่รอ ให้เตรียมรถม้าพร้อมสรรพ ก็รีบขับไป เช่นนี้ บรมครูท่านก็ผิดเสียแล้ว หรือมิใช่" ครูปราชญ์ว่า "ครั้งกระนั้น ท่านบรมครูเป็นขุนนางประจำ มีภาระกิจของขุนนางอยู่กับตัว องค์ประมุขทรงเรียกหาด้วยกิจของขุนนางประจำ" ครูปราชญ์กล่าวแก่ศิษย์วั่นจังว่า "ผู้เจริญคุณความดีที่สุดในตำบล ก็จะคบหากับคนดีทั้งหมดของตำบลได้ ผู้เจิญความดีที่สุดของบ้านเมือง ก็จะคบหากับคนดีทั้งหมดทั่วหล้าได้ คบหากับคนดีทั้งหมดทั่วหล้ายังไม่พอ ยังอาจพิจารณาค้นหาคนดีในยุคก่อน แซ่ซ้องกลอนเพลงสรรเสริญท่าน อ่านบทประพันธ์ของท่าน แต่ยังไม่รู้ชัดว่าท่านเป็นคนเช่นไร จึงพิจารณาค้นหาเรื่องราวของท่านว่า ถูกต้องตามที่กล่าวไว้หรือไม่ ดังนี้ จึงเหมือนคบหาเป็นเพื่อนกับคนยุคก่อนด้วย
พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ถามปราชญ์เมิ่งจื่อเรื่องหน้าที่ของขุนนางมนตรี ปราชญ์เมิ่งจื่อตอบว่า "ที่ประมุขท่านถามนั้น คือขุนนางมนตรีจำพวกไหน" เซีวยนอ๋วงว่า "ขุนนางมนตรีก็มีจำพวกต่างกันด้วยหรือ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "มีต่างกัน มีขุนนางมนตรีสูงศักดิ์สกุลเดียวกัน มีต่างสกุลกัน" ขอทราบ "สูงศักดิ์สกุลเดียวกัน" ตอบว่า "องค์ประมุขมีความผิดพลาดใหญ่หลวง จะต้องทัดทานเต็มกำลัง หากทัดทานครั้งแล้วครั้งเล่ายังไม่ยอมรับฟัง ก็ควรปรับเปลี่ยนประมุข สถาปนาเมธีในราชนิกูลขึ้นแทนที่" พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ได้ยินดังนี้ สีพระพักตร์เปลี่ยนไปทันที ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อ๋องท่านอย่าได้ถือโกรธเมื่อถามมา ข้าพเจ้ามิกล้าไม่ถวายความตามจริง" เซวียนอ๋วง ค่อยคลายความขึ้งเครียดลง จากนั้น จึงขอทราบหน้าที่ขันนางมนตรีต่างสกุลต่อไป ปราชญ์
เมื่งจื่อตอบว่า "เมื่อองค์ประมุขมีความผืดพลาดจะต้องทัดทาน ทัดทานย้ำสามยังไม่รับฟัง ขุนนางมนตรีผู้นั้นจะต้องพาตัวจากไป"
~ จบบท วั่นจัง ตอนท้าย ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
เก้าจื่อ แซ่เก้า นามปู๋ไฮ่ เป็นคนสมัยขุนศึกจั้นกั๋ว เคยศึกษาปรัชญากับปราชญ์เมิ่งจื่อ ภายหลังแยกความคิดจากปราชญ์ เป็นทฤษฏีว่าด้วย "จิตอันไม่คงที่" เก้าจื่อว่า "จิตวิสัยของคนเหมือนกิ่งหลิวที่อ่อนไหว หลักมโนธรรมที่คนพึงรักษา จึงเหมือนใช้ไม้อ่อนมาดัดให้เป็นรูปเป็นภาชนะ หลักของกรุณามโนธรรมที่คนสำแดงการ จึงเหมือนเอากิ่งหลิวมาดัดเป็นเครื่องใช้
ครูปราชญ์เมิ่งจื่อย้อนถามศิษย์เก้าจื่อว่า
"ถ้าเช่นนั้น ท่านจะคล้อยตามจิตวิสัยอันโอนอ่อนดุจกิ่งหลิว เพื่อทำเป็นภาชนะได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องดัด ถากกิ่งหลิวนั้นเสียก่อน จึงจะใช้ทำภาชนะได้ หากจะต้องตัด ถากกิ่งหลิวเสียก่อน ก็จะต้องตัดถากจิตวิสัยเสียก่อน จึงจะสำแดงกรุณามโนธรรมได้ นำพาชาวโลกให้ทำร้ายกรุณามโนธรรม ก็คือทฤษฏีขัดกันเองของท่านนี้แหละ (จิตวิสัยเดิมที มิใช่เป็นเช่นกิ่งหลิว)
เก้าจื่อ กล่าวอีกว่า "จิตวิสัยของคนเหมือนวังวนน้ำเชี่ยว พอฝั่งน้ำตะวันออกเกิดแหว่งเว้า น้ำก็ไหลเข้ามหา ฝั่งน้ำตะวันตกเกิดแหว่งเว้า น้ำก็ไหลเข้าหา" ครูปราชญ์ชี้นำศิษย์เก้าจื่อว่า "แท้จริงวิสัยของน้ำ ไม่แยกความเป็นตะวันออกตะวันตก แต่มิได้แยกขึ้นลงด้วยหรือ จิตวิสัยของคนดีงามแต่เดิมที เหมือนวิสัยของน้ำจะต้องไหลลง จิตวิสัยของคนแต่เดิมที ไม่มีใครไม่ดีงาม วิสัยของน้ำ ไม่มีที่จะไม่ไหลลง (เหยินอู๋โหย่วปู๋ซั่น สุ่ยอู๋โหย่วปู๋เซี่ย)
เอาละ เราจะมาพูดถึงน้ำ ถ้าเรากระแทกกระทั้น น้ำจะกระเพื่อมกระเซ็น เราทำให้น้ำกระเซ็นข้ามหัวได้ ยิ่งใช้แรงกดดันมาก น้ำอาจไหลย้อนขึ้นจนถึงเขาสูง เช่นนี้ เป็นวิสัยของน้ำเองหรือ นี่คือ ถูกอำนาจจากภาวะแวดล้อมทำให้เป็นไป "คน" ทำความชั่วร้าย ก็เป็นเพราะถูกอำนาจจากภาวะแวดล้อม กดดันให้เป็นไป
เก้าจื่อว่า "ทุกชีวิตที่รู้สึกได้ เคลื่อนตัวได้ เรียกว่า มีจิตวิสัย" ครูปราชญ์ว่า "ทุกชีวิตที่รู้สึกได้ เคลื่อนตัวได้ เรียกว่ามีจิตวิสัย เช่น เรียกสิ่งที่มีสีขาวว่าสีขาวกระนั้นหรือ" ศิษย์เก้าจื่อว่า "ใช่" ครูปราชญ์ว่า "ขนสัตว์สีขาว ขาวเหมือนหิมะสีขาว หรือเหมือนหยกขาว กระนั้นหรือ" ศิษย์เก้าจื่อว่า "ใช่" ครูปราชญ์ว่า "ตามที่ท่านว่ามา ถ้าเช่นนั้น จิตวิสัยของสุนัข ก็เป็นอย่างเดียวกับวัวควายด้วยน่ะสิ จิตวิสัยของวัวควายก็เป็นอย่างเดียวกับคนด้วย อย่างนั้นหรือ" เก้าจื่อว่า "คนชอบการกิน ชอบกามราคะเป็นอารมณ์ในจิตวิสัย ความรักความกรุณาเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดจากภายใน มิได้เกิดจากภายนอก ส่วนหลักธรรมที่จำแนกเรื่องราวนั้น เกิดจากภายนอก มิใช่ภายใน" ครูปราชญ์ว่า "ท่านเอาหลักอะไรมาสรุปว่า ความรัก ความกรุณาเกิดจากอารมณ์ภายใน ส่วนหลักธรรมนั้นเกิดจากภายนอก" เก้าจื่อว่า "อย่างเช่น เราเห็นผู้สูงวัย จึงได้เคารพในความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เกิดจากภายในใจที่เคารพอยู่ก่อน เหมือนกับที่เห็นของสิ่งหนึ่งเป็นสีขาว เราจึงบอกได้ว่าเป็นสีขาว เพราะความเป็นสีขาวเห็นได้จากภายนอก จึงกล่าวว่า หลักธรรมเกิดขึ้นจากภายนอก"
ครูปราชญ์ว่า
"หากจำแนกสีจากม้าขาวกับคนขาวไม่มีความแตกต่าง แต่ไม่รู้ว่า ความเคารพที่มีต่อม้าขาวสูงอายุกับคนขาวสูงอายุ ความเคารพนั้นจะแตกต่างกันหรือไม่" อีกทั้งจะถามว่า "ผู้สูงวัยพึงได้รับความเคารพโดยหลักธรรมอยู่แล้ว หรือว่าคนที่เคารพผู้สูงวัยมีหลักธรรมเคารพผู้สูงวัยอยู่ก่อนแล้ว
เก้าจื่อว่า "สมมุติเช่น เรารักน้องชายในสายเลือด แต่น้องชายคนเมืองฉินเราไม่รัก ทำให้เห็นได้ว่า ความรักนี้เกิดจากภายใน จึงกล่าวว่า อารมณ์ความรักความกรุณาเกิดมาจากภายใน สมมุติอีกว่า จะเคารพญาติผู้ใหญ่ของคนเมืองฉิน หรือเคารพญาติผู้ใหญ่ของตนเองมากกว่า นี่เป็นเพราะเขาสูงวัย ทำให้เกิดอารมณ์เคารพ ยินดี ฉะนั้น จึงกล่าวว่า หลักธรรมก่อนำจากภายนอก"
ครูปราชญ์ว่า
"สมมุติเช่น ชอบกินเนื้อย่างจากเครื่องปรุงคนเมืองฉิน กลับชอบกินเนื้อย่างจากเครื่องปรุงเราเองไม่ต่างกัน ถ้าอย่างนั้น ความชอบกิน กับความเคารพผู้ใหญ่ ก็เป็นเหตุผลเดียวกัน ตามที่ท่านว่ามา ความชอบกินเกิดจากภายนอก ไม่ใช่เกิดจากใจภายในดอกหรือ หากเกิดจากภายนอก ที่ท่านว่า ความอยากกิน อยากเสพกาม เป็นอารมณ์ของจิตวิสัย ถ้าเช่นนั้น ทฤษฏีนี้ก็ขัดกันเองเสียแล้ว
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
เมิ่งจี้จื่อ น้องชายคนที่สี่ในสกุลเมิ่ง ถามกงตูจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์ว่า "หลักธรรมเดียวกับสรรพสิ่ง เกิดขึ้นจากจิตภายในหรือ"
กงตูจื่อว่า "การแสดงความเคารพนั้น เกิดขึ้นจากจิตภายในของข้าพเจ้า ฉะนั้น จึงกล่าวว่า เกิดจากจิตภายใน"
จี้จื่อว่า "สมมุติว่า มีคนบ้านอกคนหนึ่ง อายุมากกว่าพี่ชายใหญ่ของท่านหนึ่งปี ท่านจะยกย่องคนไหน"
กงตูจื่อว่า "ยกย่องพี่ชายใหญ่"
จี้จื่อว่า "ถ้าหากร่วมดื่มกัน ท่านจะรินเหล้าเชื้อเชิญคนไหนก่อน"
กงตูจื่อว่า "ควรรินแก่คนบ้านนอกนั้นก่อน"
จี้จื่อว่า "ในใจยกย่องพี่ชายใหญ่ของตน แต่คนบ้านนอกนั้นอาวุโสกว่า ดังนั้น หลักธรรมเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่าง จึงเกิดจากเหตุภายนอก มิใช่เกิดจากจิตภายใน
ศิษย์กงตูจื่อ จนปัญญาจะโต้แย้ง จึงไปเรียนถามครูปราชญ์ ครูปราชญ์ว่า "ท่านกลับไปถามเขาซิว่า ปกติเขาเคารพน้องชายของพ่อหรือน้องชายของเขาเอง ซึ่งเขาจะตอบว่า "เคารพน้องชายของพ่อ" ท่านก็จงถามเขาอีกว่า "สมมุติว่าน้องชายตาย เวลาเซ่นไหว้จะเชื้อเชิญใครดื่มกินก่อน" เขาก็จะตอบว่า "เชื้อเชิญน้องชายก่อน" จงถามต่อไปว่า "ไฉนก่อนหน้านี้จึงกล่าวว่าเคารพน้องชายของพ่อก่อน" เขาก็จะตอบว่า "เพราะน้องชายอยู่ในฐานะรับการเซ่นไหว้" จงถามต่อไปว่า "รินเหล้าเชื้อเชิญคนบ้านนอกนั้นก่อน ก็เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งผู้รับเชิญ ปกติเคารพพี่ชายใหญ่ โดยมารยาทเฉพาะหน้า จึงเคารพคนบ้านนอก"
จี้จื่อไม่ลดละ กล่าวแก่กงตูจื่ออีกว่า "ควรเคารพน้องของพ่อก่อนก็เคารพ ควรเคารพน้องของตนก่อนก็เคารพ หลักการของเรื่องเหล่านี้ เกิดจากเหตุภายนอกโดยแท้ มิใช่เกิดจากจิตภายใน"
กงตูจื่อว่า "สมมุติว่าหน้าหนาว ทุกคนชอบดื่มน้ำแกงร้อน ๆ ส่วนหน้าร้อนชอบดื่นน้ำเย็น ๆ ความรู้สึกต่อการดื่มกินเช่นนี้ ก็เกิดจากเหตุภายนอกด้วยหรือ (มโนธรรม คือความสำนึกรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตภายใน มิใช่เกิดจากเหตุภายนอกอย่างที่จี้จื่อว่า)
ศิษย์กงตูจื่อเรียนถามครูปราชญ์ "เเก้าจื่อเคยกล่าวว่า "จิตวิสัยของคนไม่มีดี ไม่มีชั่ว" มีคนกล่าวอีกว่า "จิตวิสัยของคนสำแดงดีได้ สำแดงชั่วได้"ฉะนั้น ขณะที่อริยกษัตริย์เหวินอ๋วง กับ อู่อ๋วง ครองราชย์ ประชาชนจึงชอบก่อการรุนแรงวุ่นวาย" ยังมีผู้กล่าวอีกว่า "บางคนจิตวิสัยดี บางคนจิตวิสัยชั่ว จึงยังมีข้าแผ่นดินใจทรามอย่างเซี่ยง กับ กูโส่ว น้องชายและบิดาที่แล้งน้ำใจของอริยกษัตริย์ซุ่น
ทรราชโจ้วอ๋วง ผู้เป็นหลานได้รับมอบบัลลังก์ ยังมีปี่กัน ผู้เป็นอาแสนดี และ เอว๋ยจื่อฉี่เป็นข้าราชฯ ซื่อสัตย์รับใช้ ที่ครูปราชญ์ท่านว่า "คนมีจิตวิสัยดีงามแต่เดิมที เท่ากับกล่าวว่า ทฤษฏีของท่านอื่น ๆ ไม่ถูกต้องกระนั้นหรือ
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
ครูปราชญ์ว่า "อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้นด้วยจิตวิสัยราบเรียบ (เป็นธรรมชาติ ไม่ขัดฝืนปรุงแต่ง) เรียกได้ว่า "ดี" อย่างที่ครูว่า จิตวิสัยคนดีงามแต่เดิมที นั่นเอง หากทำไม่ดี ก็ไม่ใช่ธาตุแท้ชั่วของจิตวิสัย เป็นแต่ถูกชักนำลวงล่อจากกิเลส เปรียบเช่นจิตเวทนารักสงสาร ภาวะนี้ ทุกคนต่างมี
จิตรู้สึกละอายและชิงชัง ทุกคนก็ต่างมี
จิตเคารพยกย่อง ทุกคนก็ต่างมี
จิตที่รู้ผิดชอบชั่วดี ทุกคนก็ต่างมีอยู่
จิตเวทนารักสงสาร ก็คือคุณธรรมความกรุณา
จิตรู้ละอายและชิงชัยความชั่ว ก็คือหลักมโนธรรมสำนึก
จิตรู้เคารพยกย่องผู้อื่น คือจริยธรรม
จิตรู้ผิดชอบชั่วดี ก็คือปัญญา
จิตใจที่เมตตากรุณา รักษามโนธรรมสำนึก รู้มารยาท จำแนกผิดชอบชั่วดีได้ คุณธรรมดีงามสี่ประการนี้ มิได้ถูกหล่อหลอมจากภายนอกเลย มันมีอยู่ในตนแต่เดิมที เพียงแต่ไม่ได้พิจารณาค้นหาเท่านั้น จึงกล่าวว่า ถ้าตั้งใจไปพิจารณาค้นหา ก็จะได้รับความเป็นจริง แต่ถ้าละทิ้งใจที่พิจารณาค้นหา ก็จะสูญเสียวิสัยคุณธรรม ยิ่งนานวันความชั่วดีของการกระทำ จะต่างกันมาก มากจนเปรียบเทียบกันไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่ไม่อาจสำแดงคุณสมบัติของจิตวิสัยที่มีอยู่อย่างเต็มที่นั่นเอง ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ฟ้าเบื้องบนก่อกำเนิดชาวโลกมากมาย ไม่เพียงสร้างรูปกาย ยังใช้หลักธรรมประจำใจ ชาวโลกจึงมีสัญชาต
ญาณรักคุณธรรมความดีงาม ท่านบรมครูชื่นชมกวีธรรมบทนี้ว่า "ผู้เขียนกวีบทนี้ เป็นผู้เข้าถึงธรรม" จึงได้กล่าวว่า เมื่อกำเนิดสรรพสิ่ง ก็ให้มีหลักของ
สรรพสิ่งอันพึงรักษา ด้วยเหตุที่เบื้องบนโปรดมอบหลักธรรมไว้ในจิตวิสัย ชาวโลกจึงมีจิตวิสัยของคุณงามความดี
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
ครูปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวว่า "ปีที่เก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานส่วนใหญ่จะเกียจคร้าน" ปีที่ข้าวยากหมากแพง ลูกหลานส่วนใหญ่จะวุ่นวายเสียหาย นี่ไม่ใช่จิตวิสัยที่ได้นั้นแตกต่างกัน ที่เขาทำผิดคิดชั่ว เนื่องด้วยแรงกดดันจากความอดอยากเหน็บหนาว จะเปรียบเช่นข้าวสาลี เมื่อหว่านเมล็ดพันะุ์แล้วไถกลบบนผืนดินเช่นกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ความเจริญงอกงามน่าจะเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อถึงฤดูร้อน ข้าวน่าจะสุกทั่วกัน แต่หากผลเก็บเกี่ยวต่างกัน นั่นเป็นเพราะเนื้อดินต่างกัน น้ำฝน น้ำค้างที่ได้รับ การบำรุงเลี้ยงเอาใจใส่ต่างกัน ฉะนั้น สรรพสิ่งประเภทเดียวกัน ย่อมต่างกันไปไม่มาก ไฉนจึงจำเพาะแยกจิตวิสัยคนว่า ต่างกันโดยสิ้นเล่า จิตวิสัยของอริยะก็เป็นเช่นเรา
ท่านหลงจื่อ ปราชญ์ก่อนเก่าเคยกล่าวว่า "แม้ไม่รู้ขนาดเท้าที่เล็กใหญ่กว่ากัน ประมาณการทำรองเท้าฟาง ฉันรู้ว่าเขาคงไม่ทำขนาดใหญ่เท่าบุ้งกี๋ใส่ดินเป็นแน่" เหตุที่ขนาดของรองเท้าฟางเล็กใหญ่ต่างกันไม่มาก ก็เพราะลักษณะและขนาดเท้าของคนในโลกต่างกันไม่มากนั่นเอง ไม่เพียงเท้าของคนเล็กใหญ่ต่างกันไม่มาก ลิ้นที่จำแนกรสก็เช่นกัน อี๋ - อย๋า นักปรุงรสชั้นเลิศสมัยชุนชิว เป็นคนแรกที่ได้รับรสมาตรฐาน ที่เราชอบกินกัน แต่ว่าหากการจำแนกรสของทุกคน มีคุณสมบัติต่างกันไปหมด อย่างนั้น คนก็จะเหมือนกับสัตว์ที่ต่างประเภทกับพวกเราน่ะสิ ถ้าเช่นนั้น รสชาติที่คนในโลกพึงใจ จึงตรงต่อรสชาติที่ อี๋ - อย๋า ปรุง พูดถึงรสชาติ ในเมื่อคนในโลกล้วนหวังจะได้ลิ้มรสอาหาร ที่อี๋ - อย๋าปรุง จึงเท่ากับรสชาติชวนกินของคนในโลกเป็นเช่นเดียวกัน
พิจารณาการชวนฟัง ทุกคนในโลกล้วนพึงใจต่อเสียงดนตรีจากฝีมือผู้สันทัด นี่คือการชอบฟังเสียงที่เป็นอย่างเดียวกันของชาวโลก
พิจารณาการชอบมองบ้าง เมืองเจิ้ง มีชายนามว่าจื่อตู ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่า เขามีลักษณะหน้าตางามเลิศเลอ ผู้ไม่รู้เห็น คือผู้ปราศจากนัยน์ตา ฉะนั้น จึงกล่าวว่าการจำแนกแยกรู้รสชาติของปากลิ้นเป็นเช่นเดียวกัน หูก็ชอบรับฟังเสียงไพเราะเสนาะโสตเช่นเดียวกัน นันย์ตารับรู้รูป สีสันน่าอภิรมย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน พูดถึงใจคน จะไม่มีที่เหมือนกันหรือ ที่เหมือนกันคืออะไร คือหลักธรรมความถูกต้องของมโนธรรมสำนึกอันเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ องค์อริยะรู้ตื่นก่อน จึงรู้หลักธรรมความเหมือนกันในใจของคนเรา ฉะนั้น หลักธรรมจึงสมานใจคนได้โดยดุษณี ไม่ต่างจากปวงสัตว์ที่พึงใจประเภท รสชาตือาหารนั้น ๆ ตามธรรมชาติ
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " พฤกษาป่าหนิวซัน ตะวันออกเฉียงใต้เมืองฉี อันที่จริงเดิมทีหนาทึบ แต่ด้วยเหตุติดเขตชายแดนเมืองใหญ่ บ้านเมืองนั้นรุกล้ำบั่นทอนอยู่ประจำ ป่าจะงดงามอยู่ได้หรือ ทุกคือวัน แม้มันจะผผลิใบแตกตาออกรับน้ำค้างพร่างพรหม แต่ทันทีที่ถูกวัวแพะแทะเล็มกุดไป เมื่อเขาใช้เป็นที่ปศุสัตว์ ป่านี้จึงมีแต่ต้นไม้ในโกร๋น ผู้ไม่รู้เห็นเข้า ต่างคิดว่าป่านี้กันดาร สภาพเช่นนี้ จะกล่าวได้ไหมว่า ป่านี้ไม่มีวิสัยของไพรพฤกษ์เจริญพันธุ์"
สิ่งอันดำรงไว้ในตัวคน จะไม่มีสักสิ่งหนึ่งที่เป็นกรุณามโนธรรมเชียวหรือ คนที่ละทิ้งน้ำใจงาม ไม่ต่างจากตัดไม้ทลายป่า บั่นทอนพฤกษ์ไพรในตนทุกวัน แล้วยังจะเหลือความร่มรื่นสวยงามได้ไฉน น้ำใจงามของคน ยังอาจงอกเงยได้อีก เช่นเดียวกับพฤกษาในป่าหนิวซัน ประหนึ่งยอดอ่อนที่ผลิแพลมทุกขณะเวลาคืนวัน กับพลังบรรยายกาศสงบเย็นใสในช่วงก่อนรุ่งช่วยเสริมสร้าง แต่สำหรับคน การงอกเงยนั้น หากขาดจิตสมานราบเรียบ ต้องล่วงผ่านคืนวันด้วยตัณหา ชีวิตชีวาที่ผลิแพลม พลังสงบใสใกล้รุ่งก็ไม่อาจคงอยู่ได้ เมื่อไม่อาจรับคุณจากพลังสงบใสใกล้รุ่งไว้กับตน น้ำใจงามก็จะเหือดแห้ง ไม่ต่างอะไรกับสัตว์อื่น ๆ เมื่อใคร ๆ สัมผัสสัญชาตญาณคล้ายสัตว์ของเขา ก็จะเข้าใจว่า เขาไม่มีจิตใจเยี่ยงคน เช่นนี้ จะว่าเขาไม่มีจิตวิสัยคนได้หรือ จิตวิสัยถูกทำลายไปต่างหาก จึงกล่าวว่า ถ้าได้บำรุงเลี้ยง ไม่มีสิ่งอันไม่เจริญ แต่หากขาดการบำรุงเลี้ยง ก็จะไม่มีสิ่งอันไม่สิ้นสูญ ท่านบรมครูเคยกล่าวว่า "ประคองรักษาจิตวิสัยจากฟ้าแต่เดิมมาไว้ได้ ก็จะดำรงอยู่ได้ ละทิ้งวิสัยจากฟ้าแต่เดิมมา ก็จะสิ้นสูญ" "การดำรงอยู่หรือละทิ้งจิตวิสัยจากฟ้าแต่เดิมมาไม่คงที่ ก็จะไม่รู้เป้าหมายดีร้ายในชีวิตนั้น" นั่นคืออารมณ์
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อย่าโทษว่าฉีอ๋วง เจ้าเมืองฉี ไม่ฉลาดเลย" แม้ในโลกจะมีชีวิตที่ก่อเกิดเติบโตได้ง่าย แต่ถ้าให้ความอบอุ่นหนึ่งวัน แล้วต้องรับความหนาวเย็นสิบวัน (อี๋ฟู่สือหัน) ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตนั้นจะก่อเกิดเติบโต เวลาที่ข้าฯไปพบกับฉีอ๋วง นั้นน้อยนัก อีกทั้งได้เห็นฉีอ๋วงออกจากพระราชฐาน แ็จะได้เห็นพวกแช่เย็นฉีอ๋วงตามติด ข้าฯให้ความอบอุ่นแก่ฉีอ๋วงเล็กน้อย เพื่อจิตวิสัยฟ้าจะได้งอกเงย แต่ถูกพวกแช่เย็นเข้าครอบงำ ดังนี้ จิตวิสัยจากฟ้าของฉีอ๋วงจะงอกเงยได้อย่างไร จะใช้ศิลปะการเดินหมากรุกมาสมมุติ มันเป็นกลเม็ดเล็กน้อย แต่หากไม่ตั้งใจแน่วแน่ก็จะไม่ได้กลเม็ดนั้น อี้ซิว เป็นนักเดินหมากเก่งที่สุดของบ้านเมือง สมมุติว่าเชิญอี้ซิวมาสอนคนสองคนเดินหมาก คนหนึ่งตั้งใจแน่วแน่ จำคำสอนของอี้ซิวได้หมด ส่วนอีกคนหนึ่งฟัง แต่ในใจคิดว่า นกใหญ่กำลังจะบินมาตรงหัว เตรียมธนูจะยิงนก ดังนั้น แม้จะร่วมเรียนพร้อมกันกับอีกคนหนึ่งที่ตั้งใจ แต่ก็เทียบเขาไม่ได้เลย นี่เป็นเพราะปัญญาความสามารถของเขา ด้อยกว่าหรือหามิได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่ตั้งใจศึกษา
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนชอบรสชาติเนื้อปลา รสชาติของอุ้งตีนหมียิ่งชอบ แต่หากไม่อาจได้ทั้งสองอย่าง ก็มักจะตัดใจเลือกเอาอุ้งตีนหมีไว้" (องี๋อวี่สยงจั่ง เอ้อเจ่อปู้เข่อเต๋อเจียน) ชีวิต เป็นสิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้ มโนธรรมก็ยิ่งจะรักษาอย่างมั่นคง หากทั้งสองสิ่งไม่อาจมีพร้อม ก็จะต้องตัดใจสละชีวิตเพื่อรักษามโนธรรมไว้ ชีวิต เราจะต้องรักษา แต่ยังมีสิ่งสำคัญกว่าชีวิตที่จะต้องรักษา ฉะนั้น จึงอย่าได้หวังเพียงอยากมีชีวิตอยู่ จึงกลัวตาย พึงรู้ว่ามีสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตาย เมื่อคิดได้ดังนี้ จึงมีผู้สละชีพเพื่อชาติ สละชีพเพื่อคนนับหมื่นแสน หรือเพื่อดำรงความยุติธรรม หากความมุ่งมาดของคน ไม่มีที่ยิ่งกว่าชีวิต แต่วิธีการต่ำทรามเพื่อรักษาชีวิตไว้ เหตุใดเขาจึงไม่ทำ หากความหวั่งเกรงของคน ไม่มีที่น่ากลัวกว่าความตาย แต่วิธีการสกปรกเพื่อหลีกเลี่ยงความตายได้ เหตุใดเขาจึงไม่ทำ ถ้าทำก็จะพ้นภัย แต่เขาไม่ยอมทำ จึงกล่าวได้ว่า ความมุ่งมาดของคน มีสิ่งอันเหนือกว่าชีวิต ความหวั่นเกรงของคน มีสิ่งอันเหนือกว่าความตาย ความเป็นเช่นนี้ ไม่เฉพาะจริยมโนธรรมความละอายต่อบาปในคุณธรรมสำนึกของเมธีเท่านั้นที่เห็นได้ แท้จริงแล้ว ภาวะนี้ทุกคนต่างมี เพียงแต่คนทั่วไป จะหลงอยู่กับลาภสักการะจนลืมตัว คงเหลือแต่ผู้มีคุณธรรมสำนึกเท่านั้นที่มิได้สูญเสียไป
เปรีบยเช่นข้าวหนึ่งกระบอก น้ำแกงผักหนึ่งถ้วย ได้กินจะประทังชีวิต ไม่ได้กินก็จะอดตาย หากผู้สงเคราะห์ใช้วาจาหยาบคาย ก่อนที่จะให้ แม้ผู้บำเพ็ญขันติธรรม ก็จะไไม่รับเอา หรือหากเขาใช้เท้าเขี่ย สบประมาทก่อนให้ แม้ขอทานก็เมินหน้าไม่ปรารถนาอาหารนั้น แต่หากเปลี่ยนจากอาหารเป็นเงินรางวัลจำนวนมาก (หมื่นจง) คนก็จะรีบรับไว้โดยไม่คำนึงถึงจริยมโนธรรม แท้จริงแล้วเงินหมื่นจงนี้ จะเพิ่มพูนคุณประโยชน์แก่เราได้สักเท่าไร คำโบราณว่า "คฤหาสน์ห้องหับนับพัน ที่หลับนอนนั้นไม่เกินแปดฟุต" "หมื่นจงเงินบำเหน็จรางวัล อาหารต่อวันไม่เกินสองเซิง (ประมาณหนึ่งลิตร)
( ต้าเซี่ยเซียนเจียน เยี่ยเหมียนปู๋กั้วปาฉื่อ
เฟิ่งลู่วั่นจง ยื่อสือปู๋กั้วเหลี่ยงเซิง )
หรือเพื่อได้อยู่บ้านหลังงาม มีภรรยาน้อยใหญ่ไว้ปรนนิบัติ คนยากจนทั้งหมดที่รู้จัก ล้วนได้รับการสงเคราะห์จากฉันด้วยหรือไร
ที่ผ่านมา ยอมอดตาย แต่จะไม่ให้ใครดูหมิ่น บัดนี้ เพื่อจะได้บ้านหลังงาม จึงยอม
ที่ผ่านมา ยอมอดตายไม่ยอมให้ใครหยามหน้า บัดนี้ เพื่อจะได้ภรรยาน้อยใหญ่ไว้ปรนนิบัติ จึงยอม
ที่ผ่านมา ยอมอดตาย ไม่ยอมให้เขาดูหมิ่น บัดนี้ เพื่อคนยากจนที่ตนรู้จักจะได้รับการสงเคราะห์โดยตน ก็ยอมทำ
อย่างนี้ถือเป็นเหตุจำเป็นหรือ อย่างนี้เรียกว่า หมดสิ้นความละอาย หมดสิ้นใจสะอาดแต่เดิมที
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กรุณาก็คือ ภาวะจิตเดิมของคน หลักมโนธรรมคือ ทางตรงของคน ละทิ้งทางใหญ่ไม่เดิน ละทิ้งจิตเดิมตนที่ดีงาม ไม่รู้จักหาคืนมา ศึกษาหลักธรรมความรู้ ไม่มีจุดหมายอื่นใดก็คือ ค้นหาจิตเดิมตนที่ดีงามกลับคืนมาเท่านั้นเอง"
เมิ่งจื่อเอวีย เหยิน เหยินซินเอี่ย อี้ เหยินลู่เอี่ย
เซ่อฉีลู่เอ๋อฝูอิ๋ว ฟั่งฉีซินเอ๋อปู้จือฉิว ไอไจ
เหยินโหย่วจีเฉวี่ยนฟั่ง เจ๋อจือฉิวจือ โหย่วฟั่งซินเอ๋อปู้จือฉิว
เสวียเอวิ้นจือเต้าอู๋ทา ฉิวฉีฟั่งซินเอ๋ออี่อี่
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ขณะนี้ใครคนหนึ่ง นิ้วนางงอแล้วไม่ยืดได้ มิใช่ด้วยการเจ็บป่วยเสียหาย แต่หากมีใครทำให้มัยยืดตรงได้ ต่อให้อยู่ไกลถึงเมืองฉินเมืองฉู่ ก็เพื่อนิ้วที่ต่างกับเขาเท่านั้น นิ้วต่างกับเขารู้จักชัง ใจไม่เที่ยงธรรมอย่างเขาไม่รู้จักชัง อย่างนี้เรียกว่า เป็นคนไม่รู้จักแยกแยะความสำคัญกว่ากัน
เมิ่งจื่อเอวีย จินโหย่วอู๋หมิงจือจื่อ ชวีเอ๋อปู๋ซิ่น เฟยจี๋ท่งไฮ่ซื่อเอี่ย
หยูโหย่วเหนิงซิ่นจือเจ่อ เจ๋อปู้เอวี๋ยนฉิน ฉู่จือลู่ เอว๋ยจื่อจือปู๋ยั่วเหยินเอี่ย
จื่อปู๋ยั่วเหยิน เจ๋อจืออู้จือ ซินปู๋ยั่วเหยิน เจ๋อปู้จืออู้ ฉื่อจือเอว้ยปู้จือเล่ยเอี่ย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ต้นถงใหญ่เท่าโอบ ต้นจื่อเล็กเท่ากำมือ หากคนต้องการให้มันเติบโต ยังรู้จักบำรุงเลี้ยง แต่ต่อใจกายของตนเอง กลับไม่รู้จักจะบำรุงเลี้ยงอย่างไร การบำรุงรักษากายใจ มิสู้การบำรุงรักษา ต้นถง - จื่อ กระนั้นหรือ ช่างไม่รู้จักพิจารณาเสียเลย" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ทุกคน ต่อร่างกายของตน พึงถนอมรักทุกส่วน เมื่อถนอมรักทุกส่วน ก็จะต้องใส่ใจบำรุงเลี้ยงทุกหมด ไม่มีส่วนหนึ่งของร่างกายที่จะละเลยไม่ใส่ใจ จะตรวจสอบว่ารักษาไว้ได้ดีเพียงไร มีแต่ตนเท่านั้น จะพิจารณาตน เรียกร้องได้จากตน" อวัยวะของร่างกาย มีส่วนสูงส่งกับต่ำต้อย มีสำคัญน้อยสำคัญมาก อย่าเอาแต่บำรุงรักษาส่วนสำคัญน้อยจนเสียหายแก่ส่วนสำคัญใหญ่ อย่าบำรุงรักษาส่วนต่ำต้อยจนเสียหายแก่ส่วนสูงส่ง เช่น คนที่เอาแต่บำรุงเนื้อกายให้อ้วนพี เป็นคนระดับต่ำ บำรุงเลี้ยงจิตมุ่งมั่นดั่งอริยเมธี แปรโลกโลกีย์ให้ดีงาม เป็นคนระดับสูง สมมุติว่า ผู้ดูแลป่าไม้ตัดโค่นต้นถง ต้นเจี่ย ซึ่งจะเป็นไม้ใหญ่ ให้คุณค่าประหนึ่งไม้สักเสียสิ้น ใส่ใจบำรุงเลี้ยงแต่ต้นไม้เนื้ออ่อนหญ้าอันไร้ค่า อย่างนี้เรียกว่า ผู้ดูแลป่าระดับต่ำ หรือเช่น เพื่อรักษาหนึ่งนิ้วมือ แต่กลับทำให้หลังไหล่เสีย หายขัดยอกไม่รู้ตัว อย่างนี้เรียกว่า ไม่รู้การอันควร แต่หากคนที่ใส่ใจบำรุงเลี้ยงร่างกาย โดยมิได้ละเลยจิตมุ่งมั่นเป็นสำคัญ ชีวิตสังขาร ชีวิตขวัญวิญญาณดีด้วยกันไป ก็จะเรียกได้ว่า ใส่ใจบำรุงเลี้ยงทั้งหมดโดยทั่วถึง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนต้น
ศิษย์กงตู่เรียนถามครูปราชญ์ว่า "คนด้วยกัน บ้างระดับต่ำ บ้างระดับสูง แตกต่างกันอย่างไร" ครูปราชญ์ว่า "ทำการใด ๆ ด้วยจิตวิสัยดีงาม นับเป็นคนระดับสูง ทำตามอายตนะอารมณ์พอใจ ได้แก่คนระดับต่ำ" ศิษย์กงตู่จื่อว่า "คนด้วยกัน บ้างทำตามจิตวิสัยดีงาม บ้างทำตามอารมณ์พอใจ เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้" ครูปราชญ์ว่า "เหตุด้วยอายตนะหูตาฯ เป็นเพียงเครื่องรับรู้ มิอาจใคร่ครวญพิจารณา จึงถูกหลอกล่อ หูตาฯ เป็นเพียงอวัยวะ ถูกรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส หลอกล่อ จึงคล้อยตาม จิตวิสัยเป็นภาวะวิเศษ ใคร่ครวญพิจารณาได้ จึงเข้าใจต่อหลักธรรมความถูกต้อง ใคร่ครวญพิจารณาไม่ได้ ก็จะเข้าไม่ถึงหลักธรรมความถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ฟ้าเบื้องบนให้มีในชีวิต หากก่อเกิดความสำคัญสิ่งใหญ่ในชีวิตเป็นเบื้องต้น หูตาฯ อายตนะ ก็อาจจะไม่ล่วงล้ำจิตวิสัยยิ่งใหญ่สำคัญได้ คนระดับสูงที่เป็นได้ ก้ด้วยก่อเกิดความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตเป็นเบื้องต้นได้ เท่านั้นเอง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"เกียรติศักดิ์ของคนมีสองอย่าง คือ เกียรติศักดิ์ฟ้า และ เกียรติศักดิ์คน
มีกรุณามโนธรรม รักษาความจงรักสัตย์จริง ยินดีสงเคราะห์ให้ไม่หน่าย ได้รับทิพยฐานะจากเบื้องบน เรียกว่า เกียรติศักดิ์ฟ้า
เป็นขุนนางเป็นผู้ใหญ่ทางโลก เรียกว่า เกียรติศักดิ์คน
คนแต่ก่อน เพื่อการบำเพ็ญเกียรติศักดิ์ฟ้า เอาคุณธรรมนำชีวิต จนถึงที่สุด ยังได้เกียรติศักดิ์คนด้วย คนสมัยนี้ แสดงความเป็นผู้มีคุณธรรม เพื่อนำให้ผู้คนสนใจยกย่อง เมื่อได้เกียรติศักดิ์คนแล้ว ก็ละทิ้งการบำเพ็ญเกียรติศักดิ์ฟ้าเสียสิ้น เหลวไหลยิ่งนัก ทำตนดังนี้ จะไม่ได้ไม่มีทั้งเกียรติศักดิ์ฟ้าและเกียรติศักดิ์คน
เหยินอี้จงซิ่น เล่อซั่นปู๋เจวี้ยน ฉื่อเทียนเจวี๋ยเอี๋ย กงชิงต้าฟู
ฉื่อเหยินเเจวี๋ยเอี่ย กู่จือเหยิน ซิวฉีเทียนเจวี๋ย เอ๋อเหยินเจวี๋ยฉงจือ
จินจือเหยินซิวฉีเทียนเจวี๋ย อี่เอี้ยวเหยินเจวี๋ย จี้เต๋อเหยินเจวี๋ย
เอ๋อชี่ฉีเทียนเจวี๋ย เจ๋อฮว่อจือเซิ่นเจ่อเอี่ย จงอี๋ปี้อ๋วงเอ๋ออี่อี่
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ความสูงศักดิ์ ทุกคนต่างมุ่งหวัง" แท้จริงทุกคนล้วนสร้างความสูงส่งแก่ตนเองได้ เพียงแต่ขาดการพิจารณาขวนขวาย ความสูงส่งที่รับการแต่งตั้ง หาได้ยั่งยืนจริงแท้ไม่ เช่น "เจ้าเมิ่งแห่งเมืองจิ้น" มนตรีผู้มีอำนาจ เขาแต่งตั้งยศศักดิ์สูงส่ง อีกทั้งถอดถอยยศศักดิ์สูงส่งจากใครผู้นั้นให้สิ้นเนื้อประดาตัวได้ทันที ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "คิดใคร่เมามายใช้สุรา ปรารถนาภาคภูมิใช้คุณธรรม" (จี้จุ้ยอี๋จิ่ว จี้เป่าอี่เต๋อ) เต็มภาคภูมิ คือ เต็มด้วยกรุณามโนธรรม เพื่อความเต็มภาคภูมิด้วยกรุณามโนธรรม ก็จะไม่โลภอยากอาหารเลิศหรูของชาวโลก อยากเลื่องชื่อลือเกียรติไว้ในโลก ก็จะไม่ยินดีต่อแพรพรรณบรรณาการ
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กรุณาธรรม เอาชนความขาดกรุณาธรรมได้ เหมือนน้ำชนะไฟ (เหยินจือเซิ่งปู้เหยิน อิ๋วสุ่ยเซิ่งหั่ว) แต่กรุณาธรรมของคนสมัยนี้ เหมือนเอาน้ำถ้วยเดียวไปดับไฟฟืนกองใหญ่ แล้วกล่าวว่า "น้ำไม่อาจเอาชนะไฟ" เช่นนี้ จะยิ่งเสียกว่าคนที่ขาดกรุณาธรรม การกระทำดังนี้ มีแต่จะหายนะ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ธัญพืชทั้งห้า เป็นยอดแห่งพืชผล แต่หากไม่อาจตกรวง ก็สู้ข้าวฟ่างอย่างเลวที่เกิดในแถบกันดารไม่ได้ ดำเนินกรุณาธรรมก้อยู่ที่ตกรวงตกผลเป็นสำคัญ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "โฮ่วอี้ ผู้ฉมังธนูครั้งโบราณ สอนใครให้ยิงธนู จะต้องตั้งใจแน่วแน่ ง้างคันธนูสุดเหนี่ยว ผู้เรียนรู้ก็จะต้องตั้งใจแน่วแน่ ง้างคันธนูให้สุดเหนี่ยวเต็มกำลังเช่นเดียวกัน ช่างไม้สอนผู้เรียนรู้ให้เคร่งครัดต่อวงเวียน เครื่องวัดฉากมุม ผู้เรียนรู้ก็จะต้องเคร่งครัดต่อการใช้เครื่องมือวัดสัดส่วนนั้น ๆ "
~ จบบทเก้าจื่อ ตอนต้น ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
คนเมืองเยิ่น ถามอูหลูจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"จริยปฏิบัติกับบริโภคดื่มกิน อย่างใดสำคัญกว่ากัน" อูหลูจื่อว่า "จริยปฏิบัติสำคัญกว่า" คนเมืองเยิ่นถามอีกว่า "อิสตรีกับจริยปฏิบัติ อย่างใดสำคัญกว่ากัน" ตอบอีกว่า "จริยปฏิบัติสำคัญกว่า" ถามอีกว่า "สมมุติไปดื่มกินด้วยจริยปฏิบัติ จะไม่ได้กิน จะไม่อดตาย แต่ถ้าไปดื่มกินอย่างไม่มีจริยปฏิบัติ ก็จะได้กินอย่างนี้ ยังจะต้องทำตามจริยะอีกหรือ" สมมุติว่า ถ้าไปพาตัวเจ้าสาวเอง ก็จะไม่ได้ภรรยา (ตามประเพณีเดิม) ไม่ไปพาเอง ก้จะได้ภรรยา อย่างนี้จะต้องไปพาด้วยตัวเองหรือไม่" ศิษย์อูหลุ่ืจื่อตอบไม่ได้ วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางไปเมืองโจว เรียนถามต่อครูปราชญ์
ครูปราชญ์ตอบว่า
ตอบคำถามเหล่านี้ มีอะไรยากหรือ ถ้าไม่จับต้น ชนแต่ปลาย ก็จะเหมือนไม้สั้น ๆ ท่อนหนึ่งวางอยู่เหนือหอบนยอดเขา ท่อนไม้สั้นกลับดูว่าอยู่เหนือหอ "ทองหหนักกว่าขนนก" คำพังเพยนี้ จะบอกได้หรือว่า ต่างหูห่วงทองน้อยนิด จะเทียบกับขนนกทั้งคันรถ ถ้าจะเอาคนที่เห็นแก่กินมาเทียบจริยปฏิบัติจะไม่เพียงเรื่องกินเท่านั้นสำคัญกว่า ถ้าจะเอาคนฝักใฝ่ในอิสตรี ไม่แยแสจริยปฏิบัติมาเปรียบเทียบกัน จะไม่เพียงเรื่องอิสตรีเท่านั้นที่เขาเห็นสำคัญ...ท่านจงไปตอบแก่เขา "สมมุติบิดแขนพี่ชายของเขาสองข้างจับไพล่หลัง แย่งอาหารมาก็จะได้กิน ไม่ทำเช่นนี้ก็จะไม่ได้กิน เขาจะบิดแขนพี่ชายไพล่หลังหรือไม่"
เฉาเจียว เรียนถาม (ประโยคที่ปราชญ์เมิ่งจื่อเคยกล่าวไว้) ว่า "มีหรือที่คนล้วนเป็นออริยกษัตริย์เหยา - ซุ่นได้ทั้งนั้น" (เหยินเจียเข่อเอว๋ยเหยาซุ่น) ครูปราชญ์ตอบ "มี" "ได้ยินว่าอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง องค์สูงสิบฟุต กษัตริย์ซังทังสูงเก้าฟุต ขณะนี้ ข้าพเจ้าเฉาเจียวสูงเก้าฟุตสี่นิ้ว รู้จักแต่กินอยู่ไป ทำอย่างไรจุงจะเหมือนเหยา - ซุ่นได้" ครูปราชญ์ตอบว่า "หาใช่อยู่ที่ร่างกาย ปฏิบัติเยี่ยงพระองค์ก็จะเหมือนพระองค์" สมมุติใครคนหนึ่งอยู่ตรงนี้ แรงจะอุ้มลูกไก่ตัวหนึ่งก็ยังไม่มี อย่างนี้นับว่าอ่อนกำลังจริง ๆ อีกคนหนึ่ง ยกน้ำหนักได้สามพันชั่ง อย่างนี้นับว่ามีกำลังมาก คนที่ยกน้ำหนักได้เท่ากับอูฮั่ว ชายผู้ทรงพลังสมัยก่อน เช่นคนที่ยกได้สามพันชั่ง ตรงนี้นับได้ว่า เป็นผู้ทรงพลังเหมือนอูฮั่วเท่านั้น ส่วนหลักธรรมความเป็นคน จะเอาความแพ้ชนะเหล่านี้เป็นเกณฑ์ให้เศร้าหมองได้อย่างไร มันอยู่ที่ว่า ยินดีปฏิบัติตามหรือไม่ต่างหาก
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
สมมุติว่า เดินช้าเพื่อมิให้ล้ำหน้าผู้ใหญ่เป็นสัมมาคารวะ เดินก้าวใหญ่ไปข้างหน้าผู้ใหญ่ ไม่เป็นสัมมาคารวะ การเดินช้าสักหน่อย เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้หรือไม่ทำกันเล่า หลักธรรมที่เหยา - ซุ่นท่านปฏิบัติ เป็นความกตัญญูต่อบิดา มารดา เคารพผู้ใหญ่ก็เท่านั้นเอง ผู้ใด หากได้สวมเสื้อผ้าอริยกษัตริย์เหยา ใช้วาจาเยี่ยงพระองค์ ทำการด้วยคุณธรรมเช่นเดียวกับพระองค์ ผู้นั้นก็จะเป็นบุคคลิกภาพเช่นพระองค์ ผู้ใด หากสวมเสื้อผ้าของทรราชเซี่ยเจี๋ย ใช้วาจาเยี่ยงเซี่ยเจี๋ย ทำความชั่วร้ายเช่นเดียวกับเซี่ยเจี๋ย บุคลิกภาพของผู้นั้น ก็จะเป็นเช่นเซี่ยเจีย
เฉาเจียวว่า "ข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าเจ้าเมืองโจว ทูลขอยืมบ้านพักสักหลังหนึ่ง เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์อยู่ใกล้ชิดครูปราชญ์ท่าน" ครูปราชญ์ว่า "หลักธรรมที่กล่าวมาเหมือนหนทางใหญ่ ยากนักหรือที่จะเข้าใจ เกรงแต่จะไม่พิจารณาเท่านั้น ท่านจงกลับบ้านไปไตร่ตรอง ให้ดีเสียก่อน ทุกแห่งหนล้วนมีครูที่จะบูชาได้"
กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์ว่า "เกาจื่อ ชาวเมืองฉี กล่าวว่า กวีบทเสียวเปี้ยน ในคัมภีร์ซือจิง เป็นผลงานของคนใจแคบ" ครูปราชญ์ว่า "ไยจึงกล่าวเช่นนี้" กงซุนโฉ่วว่า "ก็เพราะความหมายในบทกวี มีความแค้นเคืองอยู่" ครูปราชญ์ว่า "ยึดหมายตึงเกินไป ท่านเก้าจื่ออธิบายความหมายในบทกวี เช่น ขณะนี้ มีใครคนหนึ่งอยู่ที่นี่ ชาวเมืองเอวี้ยง้างคันธนูจะยิงเขา ท่านเกาจื่อคงเตือนผู้ยิงอย่างมีอารมณ์ดี ให้หลักธรรมว่า ไม่ควรคร่าชีวิตเขา ที่ไม่ห้ามปรามจริงจังก็เพราะท่านเกาจื่อไม่ได้เป็นญาติมิตรกับผู้ยิง แต่ถ้าหากผู้ยิงคือพี่ชายของท่านเกาจื่อเอง ท่านเกาจื่อจะฟูมฟายเดือดร้อนใจ ขอให้พี่ชายอย่าฆ่าคน เหตุผลก็คือ พี่ชายเป็นสายเลือดเดียวกัน ท่านเกาจื่อไม่อาจทนเห็นพี่ชายได้รับอาญาจากการฆ่าคนตายได้
กวีบทเสียวเปี้ยนนี้ ที่แฝงความแค้นเคืองอยู่ ก็ด้วยแสดงความรู้สึกขัดข้องใจ อยากใกล้ชิดบิดา อยากใกล้ชิดบิดาเป็นจิตกรุณาธรรม ท่านเกาช่างอธิบายความหมายเถรตรงเสียจริง กงซุนโฉ่วว่า "ถ้าเช่นนั้น กวีบทไข่เฟิง ในคัมภีร์ซือจิง ไยไม่แฝงความแตค้นเคืองเล่า" ครูปราชญ์ว่า "บทไข่เฟิง กล่าวถึงความผิดของมารดา ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในบทเสี่ยวเปี้ยน กล่าวถึงความผิดของบิดา ซึ่งใหญ่หลวงนัก หากไม่ถอดถอนเสียดาย จะทำให้สายใยสัมพันธ์พ่อลูกยิ่งห่างเหิน ความผิดของมารดาเล็กน้อยจึงตัดพ้อ จะให้เหมือนสายน้ำกระแทกโขดหินไม่ได้ กระแทกแรงก็จะบันดาลโทสะ สายใจยิ่งห่างไกลบิดา จะกลายเป็นอกตัญญู แรงน้ำกระแทกหิน ไม่อดทนต่อความผิดเล็กน้อยของมารดา ก็อกตัญญู ท่านบรมครูเคยกล่าวว่า "อริยกษัตริย์ซุ่นเป็นยอดกตัญญู อายุห้าสิบปีแล้ว ยังทอดถอนใจว่า ไม่อาจได้ใกล้ชิดบิดามารดา"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
ซ่งเคิง ชาวเมืองซ่ง จะไปเมืองฉู่ ได้พบกับปราชญ์เมิ่งจื่อที่ชายแดนซึซิว ปราชญ์เมิ่งจื่อถามเขาว่า จะเดินทางไปไหน ซ่งเคิง ตอบ "ได้ยินว่า ฉิน กับ ฉู่ สองเมืองกำลังเตรียมจะทำสงครามกัน ข้าพเจ้าอยากจะไปพบฉู่อ๋วง เกลี้ยกล่อมให้ยุติการรบ อ๋องทั้งสองนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า จะต้องมีสักฝ่ายหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้าพเจ้า
ปราชญ์เมิ่งเจื่งว่า "ข้าพเจ้าเมิ่งเค่อ ไม่จำเป็นจะถามไถ่รายละเอียด แต่อยากจะฟังดูหลักการที่ท่านจะยับยั้งนั้นอย่างไร"
ซ่งเคิงว่า "ข้าพเจ้าจะบอกกล่าวแก่สองบ้านเมืองว่า การรบนี้ มันไม่ได้ประโยชน์แท้จริงอย่างไรเลย"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ความตั้งใจของท่านยิ่งใหญ่แล้ว แต่ท่านจะเรียกร้องด้วยเหตุผลของ "ประโยชน์" ไม่ได้ ท่านเอาแง่ของประโยชน์ไปห้ามศึก ฉิน-ฉู่อ๋วง ถ้า ฉิน - ฉู่อ๋วง ต่างยินดีต่อผลประโยชน์ จึงหยุดยั้งสามกองศึกไว้ เช่นนี้ แม่ทัพนายกองของสามกองศึกก็หยุดรบ ด้วยยินดีต่อประโยชน์ที่จะได้รับเช่นกัน" เมื่อข้้าราชฯ ขุนนาง รับใช้องค์ประมุขด้วยใจใฝ่ประโยชน์ ลูกรับใช้พ่อแม่ด้วยใจใฝ่ประโยชน์ น้องรับใช้พี่ด้วยใจใฝ่ประโยชน์ ทั้งสามคุณธรรมนี้ ต่างละทิ้งกรุณามโนธรรมใฝ่แต่ประโยชน์ส่วนตนไปรับหน้ากัน บ้านเมืองอย่างนี้ไม่ล่มสลายไม่เคยมี
หากท่านจะใช้หลักกรุณามโนธรรมไปยับยั้งอ๋องทั้งสอง อ๋องทั้งสองยินดีต่อกรุณามโนธรรมแล้วหยุดกากรรบ แม่ทัพนายกองก็ยินดีหยุดรบด้วยกรุณามโนธรรม หากข้าราชฯ ขุนนางรับใช้องค์ประมุขด้วยกรุณามโนธรรม ลูกรับใช้พ่อแม่ด้วยกรุณามโนธรรม น้องรับใช้พี่ด้วยกรุณามโนธรรม ทั้งสามคุณสัมพันธ์ของบ้านเมือง ต่างละทิ้งทัศนคติคิดเห็นแก่ตัว รับหน้ากันด้วยกรุณามโนธรรม เช่นนี้ องค์ประมุขจะไม่เป็นใหญ่เห็นจะไม่มี ไฉนจะต้องเอาประโยชน์เป็นเป้าหมาย"
ขณะปราชญ์เมิ่งจื่อพำนักที่เมืองโจว จี้เยิ่น น้องชายเจ้าเมืองเยิ่น ผู้บริหารราชการแทน ให้คนนำข้าวของเงินทองมากำนัล ปราชญ์เมิ่งจื่อรับไว้แต่มิได้ไปขอบคุณ ขณะที่พำนักอยู่ที่เมืองผิงลู่ เมืองฉี ฉู่จื่อ ดำรงตำแหน่งมุขมนตรี ส่งคนนำข้าวของเงินทองมากำนัล ปราชญ์เมิ่งจื่อรับไว้ แต่ก็มิได้กลับไปขอบคุณเช่นกัน หลายวันผ่านไป ปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางจากเมืองโจวไปพบจี้เยิ่นที่เมืองเยิ่น แต่จากผิงลู่เดินทางเข้าเมืองฉี กลับไม่ไปพบมุขมนตรีฉู่จื่อ
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
อูหลูจื่อเห็นเช่นนี้ ดีใจว่า เราได้พบข้อบกพร่องของครูปราชญ์แล้ว (ซึ่งไม่เคยมี) จึงไปเรียนถามว่า "ครูท่านไปเมืองเยิ่น พบกับจี้เยิ่น ไปเมืองฉีกลับไม่ไปพบฉู่จื่อ ใช่หรือไม่ว่า ฉู่จื่อเป็นแค่มุขมนตรี ไม่เทียบเท่าจี้เยิ่นที่สูงส่งด้วยฐานะผู้สำเร็จราชการฯ"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "หาใช่ไม่ ในคัมภีร์ซูจิง จารึกว่า "ของกำนัลมากกว่าจริยะงาม จริยะงามไม่เท่าของกำนัล" เรียกว่า ไม่ใช่จริยะพึงมีต่องเบื้องสูง พิจารณาเห็นว่า มิได้กำนัลโดยจริยะ จึงไม่นับว่ากำนัล" อูหลูจื่อ ปลื้อใจที่ได้ฟัง เมื่อมีผู้ใคร่รู้สาเหตุ เขาจะตอบว่า "จี้เยิ่นมิได้ส่งของกำนัลด้วยตนเองไปเมืองโจว เนื่องด้วยติดภาระใหญ่สำเร็จราชการฯ แต่ฉู่จื่อเป็นมุขมนตรี โดยสถานภาพควรนำของกำนัลไปมอบให้ครูปราชญ์ที่เมืองผิงลู่ด้วยตนเอง"
ฉุนอวี๋คุน ชาวเมืองฉี กล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"คนเลื่องชื่อมีผลงานจริง จึงจะนับว่าสร้างสุขสวัสดิ์แก่ชาวโลก เอาแต่พูดว่า จะสร้างสุขสวัสดิ์ให้ แต่ยังไม่ได้ทำจริง คือ ผู้ได้แต่คิดการข้างหน้าเฉพาะตน ขณะนี้ ปราชญ์ท่านมีฐานะอยู่ในสามอันดับขุนนางสูงสุด ใคร่สร้างสุขสวัสดิ์แก่ชาวโลก แต่ต่อเบื้องบน ท่านยังมิได้เติมเต็มแก่องค์ประมุข ต่อเบื้องล่าง ท่านยังไม่ได้ให้คุณแก่ประชาราษฏร์ ก็จะลาไป ผู้มีกรุณาธรรม จะเป็นเช่นนี้หรือ"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
ยินดีอยู่กับระดับล่างเป็นสามัญชน ไม่ยินดีเอาคุณสมบัติเมธีไปรับใช้องค์ประมุขที่ขาดปัญญาเมธาคุณ นี่คือวิสัยของท่านป๋ออี๋ รับตำแหน่งราชวงศ์ซังทังห้าครั้ง ราชวงศ์เซี่ยเจี๋ยอีกหห้าครั้ง ก็คืออีอิ่น ไม่รังเกียจองค์ประมุขต่ำช้าไร้สาระ อีกทั้งรังเกียจขุนนางต่ำต้อย ก็คือท่านหลิ่วเซี่ยฮุ่ย ทั้งสามคนนี้แม้การกระทำต่างกัน แต่เป้าหมายอย่างเดียวกัน เป้าหมายอย่างเดียวกันคืออะไร คือกรุณาธรรม กัลยาณชนทำการใด ขอเพียงให้ถูกต้องตรงต่อกรุณาธรรมเท่านั้น การกระทำจะต้องเป็นเช่นเดียวกันหรือ"
ฉุนอวี๋คุนว่า "สมัยพระเจ้าหลู่โหมวกง กงอี๋จื่อ เป็นผู้สำเร็จราชการฯ เมธีจื่อหลิ่ว กับ เมธีจื่อซือ ศิษย์ท่านบรมครู เป็นขุนนางสำคัญ ทั้งสามท่านล้วนปราชญ์เมธี ซึ่งบ้านเมืองควรจะรุ่งเรือง แต่กลับถูกริดรอนแผ่นดินไปเป็นอันมาก เท่ากับเหล่าเมธีนี้ ไม่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือไร"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เมื่องอวี๋ ไม่ใช้เสนาธิการป๋อหลี่ซี เมืองอวี๋จึงล่มสลาย ส่วนพระเจ้าฉินมู่กง เรียกใช้ป๋อหลี่ซี บ้านเมืองกลับเรืองรุ่ง เป็นใหญ่ในบรรดาเหล่าเจ้าเมือง เห็นได้ว่า ไม่ใช้คนดี บ้านเมืองจะล่มสลาย ซึ่งยังจะรักษาบ้านเมืองให้อยู่ได้หรือ หากถูกริดรอนแผ่นดินเช่นนี้"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
ฉุนอวี่คุนว่า
"แต่ก่อนหวังเป้า ชาวเมืองเอว้ย อาศัยอยู่ที่ชายน้ำฉีสุ่ย สอนคนแถบนั้นร้องเพลงแห่กล่อมจนนิยมไปทั่ว
เหมียนจวี ชาวเมืองฉี อาศัยอยู่ที่ราบสูงเกาถัง ชอบสอนชาวเมืองฉีแถบขวา ร้องเพลงทำนองสูงลากเสียงยาวจนนิยมไปทั่ว
ฮว่าโจว กับ ฉี่เหลี่ยง ขุนนางเมืองฉี ภรรยาของทั้งสอง มักจะร้องไห้เสียงดังคร่ำครวญถึงสามีผู้วายชนม์
ภายหลัง ทำให้เป็นแบบอย่างชาวบ้านเปลี่ยนไปทั้งเมือง ทุกคนพากันร้องไห้เสียงดัง คร่ำครวญรำพันถึงสามี เมื่อภายหลังมีสิ่งรู้เป็น (ร้องเพลง ร้องไห้) ย่อมแสดงออกให้เห็นที่ภายนอก ความสามารถรู้เป็น แสดงออกแล้วไม่มีผล ข้าฯยังไม่เคยเห็น ดังนั้น ข้าฯจึงเห็นว่า บัดนี้ไม่มีเมธีชนแล้ว ถ้ามี ข้าฯจะต้องรู้เห็นในผู้นั้นแน่นอน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"สมัยนั้น ท่านบรมครูเป็นขุนนาง ดูแลรักษาเสถียรภาพเมืองหลู่ ผลปรากฏว่าองค์ประมุขไม่รู้จักคุณค่า บรมครูจึงตั้งใจจะไปจาก แต่ยังหาเหตุมิได้ครั้งหนึ่่ง ร่วมพิธีเซ่นไหว้กับองค์ประมุข บรมครูมิได้รับส่วนแบ่งเนื้อที่เซ่นไหว้ให้ ท่านจึงถือเอาสาเหตุนี้ มิทันถอดหมวกพิธีผลุนผลันออกมา เหตุการณ์ครั้งนั้น คนที่ไม่เข้าใจจะคิดว่า บรมครูจากไปเพราะไม่ได้รับเนื้อส่วนแบ่ง ส่วนคนที่รู้บ้าง ก็จะคิดแต่เพียงว่า องค์ประมุขไร้มารยาทต่อบรมครูเท่านั้น ไม่รู้สาเหตุแท้จริงว่า องค์ประมุขเพิกเฉยต่อบรมครู อีกทั้งรับเอานางรำที่เมืองฉีส่งมาไว้บำเรอความสำราญ เหตุด้วยเมืองหลู่เป็นมาตุภูมิ บรมครูจะไม่ประจานองค์ประมุขเด็ดขาด จึงค่อยหาเหตุเล็กน้อยเพื่อจากไป อีกทั้งไม่อยากจากไปโดยไม่แสดงเหตุ สิ่งที่กัลยาณชนแสดงการ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้นัก" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ห้าผู้พิชิตเหล่าเจ้าเมืองคือ ฉีหวนกง จิ้นเหวินกง ฉินมู่กง ซ่งเซียงกง กับ โจวเหวินอ๋วง บัดนี้ เหล่าเจ้าเมือง กลับเป็นตัวร้ายของห้าผู้พิชิต เหล่าขุนนางมนตรี กลับเป็นตัวร้ายของเหล่าเจ้าเมือง ตามกฏระเบียบ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ จะต้องประพาสตรวจตราหัวเมืองทุกสิบสองปีทุกหกปี เหล่าเจ้าเมืองต้องเข้าเฝ้าถวายรายงาน ฤดูใบไม้ร่วง กษัตริย์จะออกสำรวจพืชผลเก็บเกี่ยว ส่งเสริมเติมเต็มแก่ผู้ยากไร้ เมื่อเข้าเขตการปกครองเจ้าเมืองใด เห็นแผ่นดินได้บุกเบิกทำกิน ผู้สูงวัยได้อิ่มเอม เห็นเมธีได้รับการยกย่อง ได้ร่วมบริหารบ้านเมือง เจ้าเมืองนั้น ก็จะได้รับรางวัลด้วยการขยายอาณาเขตปกครองให้
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
หากเข้าเขตปกครองของเจ้าเมืองใด ผืนดินรกร้าง ผู้สูงวัยถูกทอดทิ้ง จะถูกตำหนิโทษ เจ้าเมืองขาดการเฝ้าถวายรายงานหนึ่งครั้ง จะถูกลดตำแหน่ง สองครั้ง จะถูกตัดพื้นที่การปกครอง สามครั้ง จะถูกยกทัพเจ็ดหมื่นห้าพันคนเข้าขับไล่ แต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นแทน เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ จึงเพียงแต่โปรดบัญชาการ มิพึงนำทัพ ส่วนฐานะเจ้าเมือง ได้แต่รับพระบัญชา ยาตราทัพไปจัดการ จะตัดสินโทษผู้กระทำผิดเองมิได้ ที่ว่าบัดนี้ เหล่าเจ้าเมืองเป็นตัวร้ายของห้าผู้พิชิต ก็คือ เหล่าเจ้าเมืองรวมหัวกันโจมตีเจ้าเมืองกันเองโดยพลการ เอาเยี่ยงอย่างห้าผู้พิชิตสมัยนั้น จึงกล่าวว่า เหล่าเจ้าเมืองเป็นตัวร้ายของเหล่าปิยราช
สมัยก่อน ฉีหวนกง แรงที่สุดในห้าผู้พิชิต เมื่อครั้งเรียกชุมนุมเหล่าเจ้าเมืองที่เขตขุยชิว ยังเพียงแต่ผูกสัตว์ไว้ วางหนังสือสนธิสัญญา ไม่ฆ่าสังเวยเอาเลือดสัตว์ทาปาก อ่านประกาศตามพิธีโบราณ
สนธิสัญญาข้อที่หนึ่ง "ฆ่าลูกอกตัญญู มิให้เพิกถอนรัชทายาทที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว มิให้ยกย่องอนุภรรยาให้เป็นเอก"
ข้อสอง คือ "ยกย่องเทิดทูนปราชญ์เมธี ปลุกฝังคนดีมีความรู้ เพื่อเชิดชูคนดีมีคุณธรรม"
ข้อที่สาม คือ "เคารพผู้สูงวัย ใส่ใจอุ้มชูผู้เยาว์ อย่าหน่ายคร้าน ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง"
ข้อที่สี่ คือ "ขุนนางผู้มีคุณ สืบต่อบำเหน็จบำนาญแก่ลูกหลานได้ แต่มิให้สืบต่อตำแหน่งยศศักดิ์ งานหลวงให้แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ชัดเจน หนึ่งคนควบหลายตำแหน่งหน้าที่มิได้ เรียกใช้บุคลากรจะต้องสรรหาผู้มีคุณธรรม จะตัดสินประหารขุนนางตามใจตนไม่ได้"
ข้อที่ห้า คือ "จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำคดเคี้ยว ทำให้กระแสน้ำชนตลิ่งชายฝั่งบ้านเมืองอื่นพังมิได้ จะห้ามคนต่างเมืองเข้ามาซื้อข้าวเปลือกมิได้ จะทำให้คนเมืองนั้นอดอยาก เจ้าเมืองจะปิดล้อมที่ดินของใครโดยไม่ถวายรายงานเบื้องสูงก่อนมิได้"
ผู้ร่วมสนธิสัญญา ในเมื่อเห็นพ้องต้องกัน จะต้องสมัครสมานต่อกัน แต่เจ้าเมืองทุกวันนี้ ล้วนผิดต่อสนธิสัญญาทั้งห้าประการ จึงกล่าวว่า "เจ้าเมืองสมัยนี้ เป็นตัวร้ายในห้าผู้พิชิต" คนเป็นขุนนาง ปล่อยให้ประมุขทำผิดไม่เตือนสติ โทษนั้นยังพอว่า แต่หากเออออร่วมผิดกับประมุข โทษนั้นหนักหนา ขุนนางสมัยนี้ เอาใจประมุขปล่อยให้ทำผิด จึงกล่าวว่า ขุนนางสมัยนี้ เป็นตัวร้ายของเจ้าเมือง"
เจ้าเมืองหลู่จะยกย่องเซิ่นจื่อ เป็นแม่ทัพไปโจมตีเมืองฉี ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ยังมิได้ฝึกการทหารแก่ชาวบ้าน ก็ส่งเขาไปรบ เท่ากับทำลายชีวิตเขา ทำลายชีวิตชาวประชาเช่นนี้ ในสมัยอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น จะไม่ยอมให้ทำ แม้จะรบเพียงสนามเดียวก็ชนะศึก ยึดถิ่นหนันหยาง ของเมืองฉีได้ แต่ในแง่ของมโนธรรม ก็ยังทำอย่างนี้ไม่ได้ แม่ทัพเซิ่นจื่อไม่พอใจเมื่อได้ฟัง กล่าวว่า "คำพูดนี้ ข้าฯ เซิ่นจื่อ (ฮว๋าหลี) ไม่อาจเข้าใจได้"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เราจะอธิบายให้ชัดเจน"
แผ่นดินของกษัตริย์ จะต้องกว้างใหญ่หนึ่งพันลี้ มิฉะนั้น จะไม่พอรองรับเหล่าเจ้าเมือง ที่ดินของเจ้าเมือง จะต้องหนึ่งร้อยลี้โดยรอบ มิฉะนั้นไม่พอที่จะรักษาพงศาวดารแบบแผนของศาลบรรพชน เพื่อดำเนินการเซ่นไหว้ได้ ในครั้งที่พระเจ้าปู้โจวกง ได้รับสถาปนา ณ เมืองหลู่ กินเมืองหนึ่งร้อยลี้ พระเจ้าปู่เจียงไท่กง ได้รับสถาปนา ณ เมืองฉีหนึ่งร้อยลี้ก็มิใช่ถูกกำจัดด้วยมีเนื้อที่ไม่พอ บัดนี้ หนึ่งร้อยลี้ที่เคยเป็นของเมืองหลู่ เพิ่มเป็นห้าเท่าจากเดิม ท่านคิดว่า ถ้ามีอริยกษัตริย์เกิดขึ้น แผ่นดินทั้งหมดที่มีอยู่ของเมืองหลู่ จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แม้จะได้แผ่นดินมาเป็นของเมืองหลู่ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ผู้มีกรุณาธรรม (อริยกษัตริย์) ก็จะไม่ยอมรับไว้ นับประสาอะไรกับที่จะต้องเข่นฆ่าชิงมา กัลยาณชนรับใช้องค์ประมุข จะต้องนำทางสู่หลักธรรม ให้องค์ประมุขสำนึกในกรุณาธรรมทุกขณะจึงจะถูกต้อง
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ยุคนี้ คนที่รับใช้องค์ประมุขได้แต่กล่าวว่า "เราจะช่วยแผ่อาณาเขตให้คลังหลวงมั่งคั่ง" ขุนนางดียุคนี้ แท้จริงแต่ก่อนเรียกว่า โจรปล้นทำร้ายประชาชน องค์ประมุขไม่ดำเนินคุณธรรม ไม่มุ่งมั่นบริหารบ้านเมืองด้วยกรุณาธรรม ยังจะช่วยล้อมทรัพย์ประชาชนเข้าคลังหลวง อย่างนี้ไม่ต่างกับช่วยทรราชรังแกประชาชน บ้างกล่าวว่า ข้าฯสามารถช่วยองค์ประมุขตกลงเป็นพันธมิตรกับบ้านเมืองใกล้เคียง เมื่อโจมตีอีกบ้านเมืองหนึ่ง ย่อมได้ชัยชนะแน่นอน บัดนี้ ที่เรียกว่าขุนนางดีนั้น แท้จริงแต่ก่อนเรียกว่าโจรปล้นทำร้ายประชาชน องค์ประมุขไม่ดำเนินคุณธรรม ไม่มุ่งมั่นบริหารบ้านเมืองด้วยกรุณาธรรม ยังจะช่วยให้ฮึกเฮิมรุกราน อย่างนี้ ไม่ต่างกับช่วยทรราชเจี๋ยอ๋วง ทำการไร้ธรรม วิธีปกครองบ้านเมือง บัดนี้ หากไม่เปลี่ยนจากความเลวทราม ขืนให้คนเยี่ยงนี้ปกครอง จะมั่นคงสุขสบายไม่ได้สักวันเลย"
ไป๋กุย ชาวเมืองโจว กล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ข้าพเจ้าอยากจะแก้ไขระบบภาษี จากผลผลิตยี่สิบส่วน เก็นหนึ่งส่วนเป็นค่าภาษี เป็นอย่างไร"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "วิธีเหมือนกับชาวเมืองเฮ๋า (อี๋ตี๋ ชนเผ่าน้อยทางเหนือ) สมมุติว่า มีบ้านเมืองหนึ่งหมื่นหลังคาเรือน มีเพียงคนเดียวที่ทำกระเบื้องดินเผา อย่างนี้ได้หรือไม่" ไป๋กุยตอบว่า "ไม่ได้ อย่างนี้เครื่องกระเบื้องดินเผาจะไม่พอใช้กัน" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ชาวเมืองเฮ๋านั้น ที่ดินไม่อาเพาะปลูกธัญพืช มีแต่ข้าวโพดเล็กน้อย ไม่มีกำแพงเมืองชั้นนอกชั้นใน ไม่มีปราสาทราชวัง ไม่มีพิธีเซ่นไหว้ศาลบรรพชน ไม่มีเจ้าเมืองไปมาส่งบรรณาการ ไม่มีงานเลี้ยงใหญ่เลี้ยงย่อย ไม่มีการต้อนรับขับสู้ ไม่มีสินจ้างขุนนางผู้ดูแล อย่างนี้ เรียกเก็บภาษีหนึ่งส่วนของยี่สิบก็เพียงพอแล้ว
บัดนี้ บ้านเมืองตั้งอยู่ในใจกลางแผ่นดินจีน หากเอาอย่างเมืองเฮ๋า ชนเผ่าน้อยนั้น ละทิ้งคุณสัมพันธ์อันพึงมี ระหว่างคน ละเว้นจริยประเพณี ไม่ใช้คนบริหารการปกครอง จะได้อย่างไร คนทำกระเบื้องดินเผามีน้อย อีกทั้งไม่อาจรวมตัวเป็นบ้านเมือง ไม่มีองค์ประมุขดูแลจัดการ จะได้อย่างไร ฉะนั้น หากคิดจะลดน้อยภาษี ตามที่อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น กำหนดไว้แต่เดิม คือ ภาษีหนึ่งส่วนจากผลผลิตสิบส่วนละก็ แม้จะไม่เหมือนเมืองเฮ๋ามาก แต่ก็เหมือนระบอบการปกครองเมืองเฮ๋าบ้าง แต่หากตรงกันข้ามคือ การเพิ่มเก็บภาษีให้มากกว่าที่อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น กำหนดไว้แต่เดิมละก็ แม้จะไม่เหมือนทรราชที่ขูดรีด ประชาชนมากนัก แต่ก็จะเหมือนทรราชที่ขูดรีดประชาชนบ้าง"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
ไป๋กุ่ย กล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ข้าพเจ้าตัน (นามรองของไป๋กุย) จัดการระบบชลประทานได้ดีกว่ากษัตริย์อวี่ครั้งโบราณ" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านผิดเสียแล้ว ครั้งนั้น กษัตริย์อวี่ จัดการชลประทานด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ฝืนกระแสให้น้ำที่ท่วมแผ่นดินไหลลงไปรวมที่จุดบรรจบของสี่ทะเลใหญ่ (มหาสมุทร) แต่นี่ท่านกลับเอาบ้านเมืองอื่นเป็นจุดรวมน้ำหลาก ถ้าน้ำไหลย้อนกลับ จะท่วมท้นไปทั่วแผ่นดิน เป็นภัยใหญ่หลวงต่อบ้านเมืองอื่นยิ่งนัก น่าชังอย่างยิ่ง สำหรับผู้มีกรุณาธรรม ที่ท่านกล่าวอวดตัวมานั้นผิดถนัด"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"กัลยาณชนผู้บริหารบ้านเมือง หากไม่สว่างใส จะปกครองได้อย่างไร" (จวินจื่อปู๋เลี่ยง อู้ฮูจื๋อ) องค์ประมุขเมืองหลู่ มอบหมายให้เอวี้ยเจิ้งจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์ บริหารการปกครองแผ่นดิน
ครูปราชญ์ว่า "ได้ยินข่าวนี้ ยินดีจนนอนไม่หลับ"
ศิษย์กงซุนโฉ่วว่า "เอวี้ยเจิ้งจื่อ มีความสามารถด้านการปกครองนักหรือ"
ครูปราชญ์ตอบว่า "มิได้" ถามว่า "ถ้าเช่นนั้น มีปัญญาเห็นการณ์ไกลหรือ" ตอบ "มิได้" เรียนถามอีกว่า "รู้เห็นกว้างไกลหรือ"
ครูปราชญ์ตอบว่า "ก็ไม่ใช่อีก" ถามว่า "ถ้าเช่นนั้น เหตุใดครูปราชญ์ท่านจึงยินดีจนนอนไม่หลับเล่า"
ครูปราชญ์ว่า "เพราะเขาเป็นคนชอบทำแต่ความดี"ถามว่า "ชอบทำความดีเท่านั้น ก็เพียงพอแล้วสำหรับการบริหารบ้านเมืองกระนั้นหรือ"
ครูปราชญ์ว่า "ชอบทำความดี มีกรุณาธรรมปกครองทั่วหล้ายังเหลือเฟือ นับอะไรกับเมืองหลู่เท่านี้"
นักปกครองหากชอบทำความดี เมธีทั่วหล้าแม้อยู่ห่างพันลี้ ก็ยินดีเดินทางมาเสนอนโยบายดี ๆ ให้ นักบริหารการเมือง หากมิชอบทำความดี เมธีทั่วหล้าจะพูดว่า "เขาเป็นคนอวดดี ไม่ยอมฟังปิยวาจาของใคร" ซึ่งแม้บอกกล่าวให้ เขาก็จะตอบว่า "เรื่องนี้ข้าฯ รู้มาก่อนแล้ว" เขาจะใช้วาจาอาการยโสกระหยิ่ม ปฏิเสธเมธีคนดี จนต้องห่างไกลไปพันลี้ เมื่อเมธีคนดีถูกปฏิเสธห่างไกลไปพันลี้ พวกประจบสอพลอก็จะกรูกันเข้ามา เมื่อพวกประจบสอพลอกับพวกไร้สาระรวมหัวกัน จะบริหารบ้านเมืองให้ดี คงจะเป็นไปไม่ได้
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๖
บทเก้าจื่อ ตอนท้าย
เฉินจื่อ ศิษย์ครูปราชญ์เรียนถามบ้างว่า "ทำอย่างไรจะให้กัลยาณชนคนก่อนเก่า (ไว้ตัวรักศักดิ์ศรี ไม่ยินดีในลาภยศ) เข้ารับราชการได้" ครูปราชญ์ว่า "จะให้เข้ารับราชการได้มีสามประการ จะละจากไปก็มีสามประการคือ
1. ทางการรับรองจริงใจ
2. กิริยาอาการให้เกียรติ มีมารยาท
3. กล่าวรับรองว่า ยินดีรับฟังความคิดเห็น
เช่นนี้ กัลยาณชนก็จะยินดีเข้ารับราชการ มารยาทดี แต่ไม่ยอมพิจารณาความคิดเห็น ก็จะต้องละจากไป อีกขั้นหนึ่งคือ แม้ไม่อาจใช้ข้อเสนอแนะนั้นของกัลยาณชน แต่การรับรองดูแลกิริยามารยาทยังดีอยู่ ก็รับหน้าที่ต่อไปได้ ถ้าไม่ดี จะละจาก ... ขั้นต่ำลงมาอีกคือ ไม่ได้รับการดูแลอาหารเช้าเย็น สำนักกรมวังก็มิได้จัดสรรให้ ปล่อยให้หิวอยู่กับห้องพักจนหมดแรง องค์ประมุขรู้เข้าจึงกล่าวว่า "ในเมื่อไม่อาจใช้ข้อเสนอแนะของเขาได้ ไม่อาจฟังความคิดเห็นของเขาได้ ปล่อยให้อดอยากอยู่ในวังอย่างนี้ เราก็น่าละอายใจ" กรณีนี้ ถ้าองค์ประมุขยังอาทรห่วงใย เอื้อคุณให้ ก็พออยู่ต่อไปได้ แต่ก็เพียงเพื่อประทังชีวิตไว้เท่านั้น"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อริยกษัตริย์ซุ่น สูงส่งมาจากไร่นา มุขมนตรีฟู่เอวี้ย เป็นช่างก่อกำแพง ขลุกอยู่กับปูนทรายมาก่อนได้รับการแต่งตั้ง มนตรี เมธาชน คนสำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนต้องทนต่อสภาพชีวิตเคี่ยวกรำ เพื่อเตรียมรับงานใหญ่มาก่อนทั้งนั้น อาทิ
เจียวเก๋อ ถูกค้นพบเชิดชูเมื่อขายปลาขายเกลืออยู่ในตลาด
ก่วนอี๋อู๋ ก็ถูกค้นพบเชิดชูจากลหุโทษ
ซุนสูเอ๋า นั้นแฝงสันโดษอยู่ชายทะเล
ป๋อหลี่ซี ขณะค้าขายอยู่ในตลาด
ฉะนั้น หากฟ้าเบื้องบนจะมอบภาระแก่ผู้ใด จะต้องเคี่ยวกรำ พลังใจใฝ่ดีของเขา เหนื่อยยากเคี่ยวเข็ญเอ็นกระดูกของเขา หิวกระหายแก่ร่างกายของเขา ซูบผอมแก่เนื้อหนังนั้น ฐานะทางบ้านให้ยากจน อลวนกับการงานไม่ราบรื่น..... เหล่านี้คือ เจตนาของฟ้าจะกระตุ้นผลักดันจิตใจ เคี่ยวกรำความอดทน เพิ่มพูนประสบการณ์ที่เขายังรับไม่ได้ คน ยากจะหลีกพ้นความผิดพลาด จากนั้นจะปรับตัวแก้ไข ใจเคยผจญทุกข์ อุปสรรคบั่นทอน จากนั้น จึงแกร่งกล้าแข็งขันมุ่งมั่น
เทียนเจี่ยงเจี้ยงต้าเยิ่นอวี๋ซื่อเหยินเอี่ย ปี้เซียนขู่ฉีซินจื้อ
เหลาฉีจินกู่ เอ้อฉีถี่ฟู คงฝาฉีเซิน
สิงฝูล่วนฉีสั่วเอว๋ย สัวอี่ต้งซินเหยิ่นซิ่ง
เฉิงอี้ฉีสั่วปู้เหนิง เหยินเหิงกั้ว
หยันโฮ่วเหนิงไก่ คุ่นอวี๋ซิน เหิงอวี๋ลวี่ เอ๋อโฮ่วจั้ว
ด้วยมหิทธานุภาพยิ่งใหญ่จากฟ้าพระผู้สร้าง ให้ความเป็นปัญญาชน คนโง่เขลา เที่ยงธรรมหรือทรามจริต มีริ้วรอยสีหน้าปรากฏ น้ำเสียงก็ให้แยกแยะได้ ฉะนั้น เมื่อถูกอุปสรรคทดสอบ จึงรู้จิตใจร้ายดีของคน หากในบ้านเมือง ขาดผูรู้ดีต่อกฏระเบียบ อีกทั้งไม่มีเมธีร่วมอุ้มชู นอกบ้านเมืองไม่มีภัยให้ระแวดระวัง อย่างนี้เรียกว่า อยู่ปลื้มลืมตัว พอเผชิญศึกก็พ่ายแพ้ ฉะนั้น คน จะต้องผ่านการเคี่ยวกรำ จึงจะรู้ว่าชีวิตได้มาจากการพากเพียร สุขสบายไร้กังวลคือ หนทางแห่งความหายนะ" (จือเซิงอวี๋อิวฮ่วน เอ้อสืออวี๋อันเล่อ)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"อบรมสั่งสอนคน มีหลายวิธี เช่น จงใจดูถูก ไม่อยากสอนเพื่อให้เขารู้สึกกระทบเจ็บ จะได้สำนึกตัว นี่เป็นการสอนอย่างหนึ่ง"
~ จบบทเก้าจื่อ ตอนท้าย ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้ทำดีถึงที่สุดด้วยน้ำใจ จะรู้จิตวิสัยที่ฟ้าเบื้องบนโปรดประทานไว้ให้ในตน เมื่อรู้จิตวิสัยตน (จิตญาณ) อันได้มาจากฟ้าเบื้องบนก็จะรู้ภาวะฟ้าอนุตตรธรรม" (จิ้นฉีซินเจ่อ จือฉีซิ่งเอี่ย จือฉีซิ่ง เจ๋อจื่อเทียนอี่) ดำรงรักษาใจใสสว่างดีงามไว้ได้ ปลูกฝังจิตญาณที่ฟ้าโปรดประทานไว้ เรียกว่า เทิดทูนทำตามฟ้า ชีวิตคนเรา ยาว - สั้น ไม่พ้นที่จะกังวลห่วงใย ทุกคนพึงสำรวมใจ ประคองรักษาจิตญาณจากฟ้าไว้ให้คงที่ อย่าต้องตกต่ำเสียหาย รอเวลาไป เมื่อไรก็เมื่อนั้น อย่างนี้เรียกว่า "กำหนดชีวิต ปฏิการะฟ้า ถึงที่สุดแห่งความสมบูรณ์ภาระศักดิ์ศิทธิ์
ฉุนฉีซิน หย่างฉีซิ่ง สัวอี่ซื่อเทียนอี่
เอี่ยวโซ่วปู๋เอ้อ ซิวเซินอี่ซื่อจือ สัวอี่ลี่มิ่งเอี่ย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เคราะห์ภัยวาสนา คงเป็นชะตาชีวิต จะต้องยอมรับความเที่ยงธรรมนั้น" (ม่อเฟยมิ่งเอี่ย ซุ่นโซ่วฉีเจิ้ง) ดังนั้น ผู้รู้ชะตาชีวิต (พิจารณาความถูกต้อง) จะไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่ข้างกำแพงล่อแหลม คนที่ต้องตายจากการเดินให้ถูกต้องต่อทางธรรมแล้ว จึงจะนับว่าเป็นชะตาชีวิตลิขิตจากฟ้า แต่หากปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ต้องตายภายใต้ขื่อคาโซ่ตรวน ก็จะไม่ใช่ชะตาชีวิตที่ฟ้ากำหนดมา
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ขวนขวายจะได้มา ละทิ้งจะสิ้นไป" ขวยขวายให้ได้มาจะเป็นคุณาประโยชน์ เพราะการขวยขวายหาความดีงามถูกต้อง จิตวิสัยของตนเป็นผู้เรียกร้อง การขวยขวายนั้นเป็นไปโดยทำนองคลองธรรม สิ่งที่ได้มาจึงเป็นวาสนาชะตาชีวิตที่ฟ้ากำหนดให้ แต่หากทำตรงกันข้าม ได้ผลตรงกันข้าม นั่นเป็นเพราะขวยขวายโดยออกหากจากจิตวิสัยดีงาม
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนพรักพร้อมอยู่แล้วสำหรับเรา หากน้อมตนพิจารณาด้วยศรัทธาจริงใจ ความสุขจะยิ่งใหญ่ไม่ประมาณ ยิ่งกว่านั้น ซื่อสัตย์ อภัย ใจกว้างอย่างยิ่งเรื่อยไป การใฝ่หากรุณาธรรมจะไม่มีที่ใกล้กว่านี้อีกแล้ว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ทำการใดไม่เข้าใจว่าถูกต้องสมควรตามหลักธรรมหรือไม่ เมื่อกลายเป็นความเคยชินแล้ว ก็จะไม่รู้จักย้อนคิดพิจารณาตน จะเป็นอย่างนี้ตลอดชีวิต คน ไม่รู้ความหมายของความเป็นคนนั้น ช่างมากมายเหลือเกิน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คน จะปราศจากความละอายไม่ได้ เรื่องไม่น่าละอาย สำรวมระวังว่ามันน่าละอาย ดังนี้ ชั่วชีวิตจะไม่มีที่น่าละอาย ให้ต้องละอาย" (เหยินปู้เข่ออู๋ฉื่อ อู๋ฉื่อจือฉื่อ อู๋ฉื่ิออี่)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ความละอายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคน คนที่ใช้เล่ห์เพทุบายเปลี่ยนไปมา เขาไม่ได้ใช้ความน่าละอายเลย ไม่รู้ละอายไม่เสมอด้วยคน จะเสมอด้วยคนได้อย่างไร"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "องค์ประมุขเมธีก่อนกาล ชื่อชอบคุณความดีจนลืมสถานภาพอำนาจตน เมธีชนก่อนกาลก้เช่นเดียวกัน เมธีสุขอยู่กับภาวะธรรม จนลืมสถานภาพอำนาจขององค์ประมุขเสียด้วย ดังนั้น หากประมุขไม่ให้เกียรติเมธี ไม่ใช้จริยะที่ประมุขพึงมีต่อขุนนางอย่างเต็มที่ ประมุขก็จะไม่อาจไปพบเมธีได้ทุกครั้ง หรือพบ ก็ไม่อาจหลายครั้ง ดังนี้ มีหรือที่จะใช้วิริยะของข้าราชฯทั่วไปมาใช้กับเมธีได้"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อกล่าวแก่ซ่งจวี้เจี้ยนว่า
"ท่านชอบที่จะไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองต่าง ๆ ไหม ข้าพเจ้าจะบอกวิธีเกลื้อกล่อมให้... สมมุติทุกคนเข้าใจความหมายที่ท่านพูด ท่านอย่าแสดงอาการกระหยิ่มยินดี หรือหากทุกคนไม่เข้าใจที่ท่านพูด ท่านก็อย่าแสดงอาการทุกข์ร้อน จงวางเฉย เป็นตัวของตัวเอง"
ซ่งจวี้เจี้ยนถามว่า "อย่างไรจึงจะไม่กระหยิ่มยินดี ไม่ทุกข์ร้อนและวางเฉย เป็นตัวของตัวเอง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เพียงแต่เคารพต่อคุณธรรมของตน มีสุขต่อหน้าที่บนฐานของมโนธรรม ก็จะวางเฉยเป็นตัวของตัวเองได้
ฉะนั้น คนที่มีคุณธรรม เมื่อลำบากยากจน จะไม่สูญเสียมโนธรรมของชีวิตไป เมื่อรุ่งเรือง ก็จะไม่สูญเสียมโนธรรมสำนึกของชีวิตไป ดังนี้ จึงอาจรัก
ษาศักดิ์ศรีของตนไว้ได้ ไม่ผิดต่อทางธรรม ประชาชนก็ไม่ผิดหวังในตัวเรา คนโบราณ หากถึงคราวรุ่ง ก็จะให้คุณแก่ประชาชน หรือแม้ไม่รุ่ง ก็รู้จักบำเพ็ญตน ให้คุณธรรมปรากฏไว้ในโลก ดังนั้ ถ้ายากจน ก็จงบำเพ็ญกุศลกรรม ทำดีเฉพาะตนเฟื่องฟู จึงให้คุณความดีแก่ชาวโลกไปด้วย" (ฉยงเจ๋อตู๋ซั่นฉีเซิน ต๋าเจ๋อเจียนซั่นเที่ยนเซี่ย)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จะรอคอยการอบรมกล่อมเกลาเสียก่อน จึงจะเป็นเช่นอริยกษัตริย์เหวินอ๋วง ฟื้นฟูคุณความดีได้ นั่นคือวิสัยปุถุชน ส่วนปรีชาชนจะเหมือนเหวินอ๋วงได้เอง
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนธรรมดา เกิดร่ำรวยทันที เสมอด้วยสกุลหันกับเอว้ย (รวยมาก) แต่เขาดูเฉยเมย มิได้เปรมปลื้ม แสดงว่าเขา เหนือคน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ปกครองประชาราษฏร์ให้อยู่ดีมีสุข เมื่อใช้งาน แม้เหนี่อยยากยิ่งนัก เขาก็ไม่รู้สึกคับแค้น เพื่อการป้องเมืองคุ้มราษฏร์ แม้ต้องพลีชีพ เขาก็ไม่อาฆาตแค้น"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ประชาราษฏร์ใต้อำนาจอ๋องผู้พิชิต เมื่อได้รับความกรุณาจะดีใจ ส่วนประชาราษฏร์ที่อยู่กับองค์ประมุขผู้กรุณา จะชินชากับพระคุณ หากเพื่อป้องเมืองคุ้มราษฏร์ จำต้องคาดโทษให้เขาก็จะไม่โกรธแค้น ทรงพระกรุณาฯ ยิ่งกว่าเดิม เขาก็มิได้รู้สึกเป็นพิเศษ แม้เขาจะมีจิตใจใฝ่ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป เขาก็ไม่รู้เหตุอันเป็นมา องค์ประมุขผู้กรุณา นำพาคุณธรรมมาให้โดยเขามิได้หมายรู้ จะรู้แต่พึงบูชาองค์ประมุขเสมอด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระองค์ประหนึ่งดินฟ้า ซึ่งต่างกับองค์ประมุขผู้ใช้อำนาจ ที่ให้สินน้ำใจเล็กน้อย ชดเชยการปกครองอันไม่เป็นธรรม"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คำพูดที่แสดงความเมตตากรุณาต่อเขา มิสู้การกระทำที่เข้าถึงจิตใจเขาได้ การปกครองดี มิสู้การอบรมที่ทำให้ประชาราษฏร์เต็มใจเชื่อฟังทำตาม ระบอบการปกครองดี ประชาราษฏร์จะยำเกรง การอบรมดี ทำให้ประชาราษฏร์เคารพรัก ระบอบการปกครองดี จะเรียกเก็บภาษีเงินทองของประชาราษฏร์ได้ง่าย การอบรมดี จะได้จิตใจสวามิภักดิ์จากชาวประชา"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สิ่งซึ่งคนทำเองโดยมิเดยเรียนรู้ เรียกว่า "จิตภาพ" สิ่งซึ่งคนมิคิดพิจารณา ก้เข้าใจในหลักการนั้นได้ เรียกว่า "จิตภาวะ" ทารกน้อยไม่มีที่ไม่รักพ่อแม่ เติบใหญ่ก็ไม่มีที่ไม่รู้เคารพพี่ชาย รักสนิทพ่อแม่ ก็คือกรุณาธรรม เคารพพี่ชาย ก็คือมโนธรรม ความรักสนิทและเคารพมิใช่อื่นไกล ธาตุธรรมในจิตเดิมแท้ (จิตญาณ) ของชาวโลกนั่นเอง
เหยินจือสั่วปู้เสวียเอ๋อเหนิงเจ่อ ฉีเหลียงเหนิงเอี่ย
สั่วปู๋ลวี่เอ๋อจือเจ่อ ฉีเหลียงจือเอี่ย
ชินชิน เหยินเอี่ย จิ้งจั่ง อี้เอี่ย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ครั้งกระนั้น อริยกษัตริยฺซุ่น อยู่กับป่าเขาลำเนาไพร เป็นเพื่อนกับกวางป่า หมูป่า แต่น้อยนักที่มีส่วนเหมือนชาวป่า เมื่อได้ยินกุศลวาจา หรือได้เห็นกุศลกรรมอันให้คุณแก่ชาวโลกได้ ความใส่ใจที่จะดำเนินการนั้น จะเหมือนเขื่อนทะลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้เลย"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อย่าฝืนใจทำผิดต่อมโนธรรมสำนึก อย่าโลภอยากกับสิ่งอันไม่ควรได้ เท่านี้ ก็เป็นหลักธรรมในการเป็นคนได้แล้ว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้มีคุณธรรม อีกทั้งกอปรด้วยปัญญา ศิลปะ ความปรีชาสามารถนั้น มักจะมาจากชีวิตที่ต้องระวังภัย ขุนนางที่ไม่ได้รับโปรดฯ สามัญชนที่ถูกดูแคลน จะหวั่นเกรงภัยจากผู้คน จึงรอบคอบระวังตัว เขาเหล่านั้นจึงมักเป็นผู้กอปรด้วยคุณสมบัติดังกล่าว
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนที่คิดแต่จะยกยอปอปั้นองค์ประมุข จะมุ่งเน้นอาการยิ้มแย้มเออออ ส่วนขุนนางศรีที่คิดถึงความมั่นคงของบ้านเมือง จะเบิกบานอยู่กับความสงบสุขของบ้านเมือง อีกพวกหนึ่งคือเมธีชนที่ไม่มียศศักดิ์ คิดแต่หลักธรรม จะพิจารณาเที่ยงแท้เสียก่อนว่า ถ้าเข้ารับตำแหน่งสำคัญ เขาจะดำเนินธรรมนำประชาได้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น จึงไปกล่อมเกลาชาวโลกให้เที่ยงธรรมร่วมกัน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กัลยาณชนมีสามสุข ซึ่งแม้ได้รับมอบครอบครองแผ่นดิน ก็จะไม่ยึดหมายมั่นไว้
สามสุข นั้นคือ
1. พ่อแม่ชราวัย พี่น้องสามัคคีไม่มีโพยภัย
2. แหงนหน้ามิต้องได้อายต่อฟ้า ก้มหน้าพิจารณาตน มิต้องได้อายต่อใคร ๆ
3. ได้ปรีชาชนคนดีมารับการอบรมอุ้มชู
สามประการนี้มีพร้อมไซร์ แม้ได้รับมอบให้ครอบครองแผ่นดิน กัลยาณชนก็หายึดหมายในลาภยศนั้นไม่"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กัลยาณชนก็ปรารถนาแผ่นดินกว้างใหญ่ ประชาราษฏร์มากมายเช่นกัน แต่ก็ยังมิใช่สุขจริง ก่อตั้งใจกลางบ้านเมืองใต้หล้า ประชาร่มเย็นยั่งยืนได้ แม้จะทำให้กัลยาณชนเกิดปิติสุข แต่ภายในจิตวิสัยของกัลยาณชน ก็มิใช่อิ่มตัวอยู่กับจุดนี้ ปิติสุขนั้น แม้จะเกิดจากการได้ปรกแผ่คุณธรรมไปทั่วหล้า จิตวิสัยจากฟ้าก้หาได้อิ่มตัวจากการนี้ไม่ อีกทั้งก็มิใช่จะลดน้อยลงเมื่ออยู่กับภาวะคับแค้น ด้วยจิตวิสัยของกัลยาณชนนั้น เป็นภาวะปิติสุขของกรุณามโนธรรม จริยะ ปัญญา ประจุเต็มเป็นพื้นฐานเดิมที ดังจะเห็นได้จากสีหน้าราศีที่สดใสอิ่มเอิบ บุคลิกภาพ อากัปกิริยาที่แม้มองดูจากด้านหลัง ก็ยังสุขุมงามสง่า มิพึงต้องฟังวาจา ก็รู้ได้ว่า จิตวิสัยนั้นสูงส่งงดงามยิ่งนัก"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ปาชญ์เมิ่งจื่อว่า
"ครั้งกระนั้น ราชบุตรป๋ออี๋ หลีกลี้ทรราชโจ้วอ๋วง ไปแฝงองค์อยู่ที่ชายทะเลเหนือเป่ยไห่ พอได้ยินข่าวว่า เหวินอ๋วงฟื้นฟูปารกปครองโดยธรรม ซาบซึ้งว่า
" ไฉนเราจึงไม่ไปสวามิภักดิ์ต่อท่าน ได้ยินว่าท่านนั้นอุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดียิ่ง"
สำหรับปู่เจ้าเจียงไท่กง หลีกลี้ทรราชาโจ้วอ๋วงไปแฝงองค์อยู่ที่ชายทะเลตะวันออกตงไห่ พอได้ยินว่า เหวินอ๋วงฟื้นฟูการปกครองโดยธรรม ก็ซาบซึ้งว่า "ไฉนเราจึงไม่ไปสวามิภักดิ์ต่อท่าน ได้ยินว่า ท่านนั้นอุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดียิ่ง" จะเห็นได้ว่าในโลกนี้ ขอเพียงให้มีองค์ประมุขอุ้มชูเคารพผู้สูงวัยเท่านั้น กัลยาณชนผู้มีธรรมก็จะเห็นองค์ประมุขเป็นผู้ที่ตนพึงเข้าสวามิภักดิ์รับใช้"
การอุ้มชูเคารพผูสูงวัยคือ ให้ที่อยู่อาศัยในเนื้อที่ "ห้าหมู่" ให้ได้ปลูกต้นหม่อนรายรอบรั้วบ้าน ให้ผู้หญิงเลี้ยงตัวไหม ผู้สูงวัยจะได้สวมใส่ไหมต่วน
ทุกบ้านเลี้ยงแม่ไก้ไว้ห้าตัว แม่หมูสองตัว ให้มันเจริญพันธุ์ ผู้สูงวัยก็จะไม่ขาดอาหาร อีกทั้งได้รับไร่นาทำกินอีกหนึ่งร้อยหมู่ สำหรับชายฉกรรจ์แต่ละคน ครอบครัวที่มีสมาชิกแปดคนอยู่ร่วมกัน ก็จะมีกินอุดมสมบูรณ์
ที่กล่าวว่า เหวินอ๋วง (ซีป๋อ) อุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดีนัก นั้นก็คือ จัดระบบที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สอนให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ขุนสัตว์บ้านเป็นงานประกอบ สอนลูกเมียให้รู้กตัญญู อุ้มชูเคารพผู้สูงวัย เพราะหากวัยห้าสิบปีขึ้นไป มิได้สวมใส่ไหมต่วนจะไม่อบอุ่น วัยเจ็ดสิบปีขึ้นไป มิได้กินอาหารไม่เพียงพอ กายไม่อุ่นท้องไม่อิ่ม เรียกว่า หนาวจัดหิวหนัก เหวินอ๋วงปกครอง ไม่มีผู้สูงวัยที่ต้องหนาวจัด หิวหนัก ทุกคนจึงต่างชื่นชมพระองค์ว่า อริยราชฯผู้อุ้มชูเคารพผู้สูงวัยได้ดียิ่ง อีกทั้งปกครองโดยธรรม
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สอนประชาขยันทำนา ลดภาษี ช่วยให้พอกินพอใช้ สอนให้กินเป็นมื้อเป็นคราว ใช้จ่ายตามสมควร เงินทองจะมีใช้ไม่หมด ชีวิตความเป็นอยู่ ไม่อาจขาดน้ำขาดไฟ แต่หากค่ำมืดจะต้องไปเคาะประตูเพื่อนบ้านขอน้ำขอไฟ ซึ่งไม่มีที่จะไม่ให้ เพราะเหตุใด เพราะเขามีพร้อมอยู่ หากอริยบุคคลปกครองแผ่นดิน ก็จะทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารมีพร้อม เช่น น้ำ - ไฟ เมื่อมีพร้อมไว้ ผู้คนจะไม่มีกรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันหรือ"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านบรมครูขึ้นสู่ยอดเขาตงซัน นอกเมืองหลู่ มองดูปริมณฑลของเมืองหลู่ช่างเล็กนัก เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาไท่ซัน (ยิ่งสูงกว่า) มองดูรอบด้านรู้สึกว่า ใต้หล้าฟ้านี้ก็เล็กนิดเดียว ฉะนั้น คนที่คุ้นกับมหาสมุทรใหญ่ ยากจะพูดคุยกับเขาถึงคลื่นในแม่น้ำ ผู้ศึกษาอยู่กับอริยะ ก็ยากจะพูดคุยกับเขาด้วยเรื่องอักษรศาสตร์ มองหาจาน้ำ ให้ดูระลอกเกลียวจุดบรรจบ ดูแสงตะวันเดือน รู้เห็นได้จากที่สาดส่องลงบนวัตถุรับแสงได้ สายน้ำ หากยังมิได้เติมเต็มแอ่งคูตามทางผ่าน ก็จะไม่ไหลต่อไป กัลยาณชน จะมุ่งมั่นศึกษาธรรม หากไม่ค้นคว้าคำสอนของอริยะมากมาย จะเข้าไม่ถึงอริยภาวะ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนที่ตื่นเมือไก่ขัน ขยันทำความดี นับเป็นเช่นอริยะกษัตริย์ซุ่น ไก่ขันก่อนรุ่ง ผู้มุ่งหาผลประโยชน์จะเหมือนเต้าจื๋อ ชาวเมืองฉู่ ใคร่รู้ว่าซุ่ฯ กับ เต้าจื๋อ ต่างกันอย่างไร พิจารณาที่ผู้หนึ่งสรรสร้างความดี ผู้หนึ่งใฝ่หาประโยชน์ตน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "หยางจื่อทำทุกอย่างล้วนเพื่อประโยชน์ตน จะไม่ยอมถอนขนแม้เส้นเดียวเพื่อใคร ปราชญ์ม่อจื่อ ยึดถือความเสมอภาค รักทั่วไป ไม่แบ่งเขาเรา หากเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้ แม้ศรีษะจะถูกถูไถจนล้านโกร๋น ส้นเท้าจะเดินจนแตก ก็ยินดีที่จะทำ ส่วนจื่อม่อเมธีเมืองหลู่ ยึดหมายครึ่งทางระหว่างหยางจื่อ กับ ม่อจื่อ ซึ่งดูอย่างกับทางสายกลาง แต่มิใช่ เพราะเป็นครึ่งทางสายตัวที่มิใช่หลักธรรมทางสายกลาง เท่ากับยึดหมายทิฐิตน เท่ากับเป็นโจรผู้ร้ายในทางสายกลาง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนอดอยาก อาหารอะไรก็อร่อยได้ คนคอแห้งกระหายดื่มอะไรก็ชุ่มคอ (จีเจ่อกันสือ เข่อเจ่อกันอิ่น) นี่ มิใช่ได้รสชาติ แต่เนื่องจากหิวกระหาย การถูกคุมคามจากความหิวกระหาย มิใช่เพียงเกิดแก่กาย ยังเกิดแก่ใจ คน หากไม่คุกคามใจตนให้หิวกระหาย แม้สภาพฐานะจะต่ำต้อยกว่าใคร ก็หาได้ทุกข์ร้อนไม่"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เมธีหลิ่วเซี่ยฮุ่ย รักษาศรีสง่า แม้ใครจะเอาตำแหน่งสามมหามนตรี (ไท่ซือ ไท่ฟู่ ไท่เป่า) สวมใส่ให้ ก็ไม่เปลี่ยนใจต่อสุจริตธรรม" (ปู็อี่ซันกงอี้ฉีเจี้ย)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้สร้างสรรค์ เปรียบดุ่งขุดบ่อ ขุดลึกเก้าวายังไม่ถึงตาน้ำ เกิดใจล้าเลิกละ จะเหมือนทิ้งบ่อไปไม่ขุดต่อ"
ปราชญืเมิ่งจื่อว่า "อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ปกครองแผ่นดินโดยธรรม เกิดจากจิตวิสัยธาตูแท้แต่เดิมทีที่มีมาจากฟ้า อริยกษัตริย์ซังทัง กับ อู๋อ๋วง ฝึกฝนบำเพ็ญตนเพื่อปกครองแผ่นดินโดยธรรม ส่วนเจ้าเมืองห้ามหาอำนาจ สวมหน้ากากปกครองโดยธรรม (ฉีหวนกง ซ่งเซียงกง จิ้นเหวินกง ฉินมู่กงฉู่จวงอ๋วง) แต่หากสวมหน้ากากได้ยาวนาน ไม่กลับหันหลังเป็นผู้ร้าย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจอมปลอม"
ศิษย์กงซุนโฉ่ว เรียนถามครูปราชญ์ว่า
"ท่านอิอิ่น เคยกล่าวไว้ "เราทนดูไม่ได้กับคนที่ทำผิดหลักธรรม" ดังนี้ ท่านจึงย้ายกษัตริย์ไท่เจี่ย ที่เพิ่งได้รับการสถาปนาไปอยู่เสียที่เมืองถงอี้ ครั้งนั้น ประชาราษฏร์ต่างดีใจยิ่งนัก (ที่ย้ายไปเสียได้) ภายหลัง ไท่เจี่ยได้เก็บตัวศึกษาหลักธรรมแห่งอริยปราชญ์ กลับกลายเป็นเมธีมีคุณธรรม อิอิ่นกลับไปเชิญไท่เจี่ยมาครองบัลลังก์อย่างเดิม ประชาราษฏร์ต่างก็ดีใจยิ่งนักอีก ดังนี้ ทำได้หรือไม่ ถ้าขุนนางศรีจะจัดการส่งองค์ประมุขที่ขาดคุณสมบัติไปอยู่เสียที่อื่นบ้าง" (ไปขัดเกลา)
ครูปราชญ์ว่า "ถ้าขุนนางศรีผู้นั้น มีจิตใจเที่ยงธรรมดุจเดียวกันกับอีอิ่น ก็เท่ากับโค่นบัลลังก์"
ศิษย์กงซุนโฉ่วเรียนถามอีกว่า "ในคัมภีร์ซือจิงจารึกว่า "กัลยาณชน แม้จะอยู่สุขสบายมิได้คราดปลูก แต่ "มิได้กินเปล่าหนอ" ประโยคนี้หมายถึงอย่างไร"
ครูปราชญ์ว่า "สมมุติกัลยาณชนอยู่กับบ้านเมืองนี้ องค์ประมุขมอบหมายเรียกใช้งาน ผู้นั้นก็จะมั่นคงอุดมสมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี ลุกหลานได้รับการอบรมดี ทุกคนมีความกตัญญู รู้รักสามัคคี จงรักภักดี มีสัตยธรรม นี่คือคุณ ที่กัลยาณชนผู้นั้นให้แก่บ้านเมือง (สร้างอนุชนให้ปราดเปรื่องเฟื่องธรรม) จึงว่า "มิได้กินเปล่าหนอ" คุณความดีนี้ ยังจะมีอะไรยิ่งใหญ่กว่าอีกหรือ"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ราชบุตรของเจ้าเมืองฉี เรียนถามครูปราชญ์ว่า "สุภาพชนควรประพฤติตนอย่างไร"
ครูปราชญ์ว่า "หลักสำคัญ จะต้องมีความมุ่งมั่นสูงส่งในตน" "ประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร" ตอบว่า
"ใจมีกรุณาธรรม ความคิดมีจิตสำนึกเท่านั้น
หากย่ามใจฆ่าคนบริสุทธิ์ไป นี่คือผิดกรุณาธรรม
หยิบฉวยสิ่งอันมิใช่ของตน นี่คือผิดจิตสำนึก
ปกติจะต้องมีใจอย่างไรหรือ ก็คือมีใจเมตตากรุณา
จะประพฤติอย่างไรหรือ ก็คือถูกต้องต่อทำนองคลองธรรม ดังนี้ สิ่งอันพึงประพฤติปฏิบัติของผู้มีคุณธรรมก็ครบถ้วนแล้ว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้คนชื่นชมเฉินจ้งจื่อ ว่า ถ้าไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว แม้จะยกเมืองฉีทั้งหมดให้ เขาก็ไม่ยอมรับ ทุกคนเชื่อว่าเป็นความจริง แต่เมื่อได้พิจารณาพฤติกรรมแล้วได้พบว่า ความดีที่เห็นนั้น เล็กน้อยกับการเสียสละน้ำแกงผักกับข้าวหนึ่งกระบอก ความผิดของคน ไม่มีอะไรยิ่งกว่าไม่รู้ที่ต่ำสูง ไม่รู้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ประมุขกับข้าราชฯ ได้เห็นความดีเพียงเล็กน้อยของเขา จะรวมเหมาว่า เลิศเลอทั้งหมดได้อย่างไร"
ศิษย์เถาอิง เรียนถามครูปราชญ์ว่า
"ซุ่นเป็นกษัตริย์ ส่วนเกาเอี๋ยวเป็นผู้พิพากษา สมมุติว่า กู่โส่ว บิดาของซุ่นฆ่าคน จะตัดสินอย่างไร"
ครูปราชญ์ว่า "จับกุมตามกฏหมายก้เท่านั้น"
เถาอิงถามว่า "ซุ่นจะไม่ยับยั้งหรือ"
ครูปราชญ์ว่า "ซุ่นจะยับยั้งได้อย่างไร เกาเอี๋ยวรับอำนาจหน้าที่อยู่"
ศิษย์เถาอิงว่า "ซุ่นจะทำอย่างไร"
ครูปราชญ์ว่า "ถ้ามีเหตุดังนี้ ซุ่นจะละทิ้งลาภยศสรรเสริญเหมือนสลัดรองเท้าฟางทิ้งไป แบกกู่โส่วหลบหนี แฝงกายใช้ชีวิตแถบชายทะเล ดูแลรับใช้บิดา มีความสุขกันตามประสาพ่อลูก โดยลืมลาภยศสรรเสริญเสียสิ้น"
ปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางจากอำเภอฟั่นไปยังเมืองฉี มองเห็นราชบุตรเจ้าเมืองฉีแต่ไกล ถอนใจว่า "สถานภาพ เปลี่ยนแปลงสีหน้าท่าทีของคนได้ วัตถุเพื่อเสพสุข เปลี่ยนบุคลิกภาพของคนได้ มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็น "คน" ของคนนั้นสำคัญทีเดียว" ราชบุตร เดิมทีมิใช่เป็นเช่นลูกของคนทั่วไปดอกหรือ บ้านอยู่อาศัย รถม้าพาหนะ เสื้อผ้าสวมใส่ ไม่ต่างจากผู้คนทั่วไป แต่บัดนี้สีหน้าท่าทีมีอำนาจน่าเกรงขาม ก็คือสถานภาพนั่นเองที่เปลี่ยนแปลงเขาจากคนทั่วไป อีกทั้งที่อยู่ของเขา ยังตั้งอยู่บนเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลของผู้มีสถานภาพสูงยิ่งกว่าใครในโลก ครั้งหนึ่ง เจ้าเมืองหลู่จะเสด็จเมืองซ่ง เมื่อมาถึงประตุเมืองเตี๋ยเจ๋อ ก็บัญชาเสียงดังให้เปิดประตู ผู้รักษาการได้ยินกล่าวว่า "นี่มิใช่องค์ประมุขของเรา แต่ทำไมเสียงร้องเรียกจึงเหมือนกัน" เหตุนี้มิใช่อื่นไกล ก็ด้วยสถานภาพของท่านเป็นใหญ่เช่นเดียวกัน
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
ปราชญืเมิ่งจื่อว่า "เจ้าเมืองปฏิบัติตอเมธี หากเอื้อเฟื้อแต่อาหาร ไม่ถนอมรัก จะเหมือนเลี้ยงหมู แต่หากได้แต่ถนอมรัก ไม่ให้เกียรติ ก็จะเหมือนนกเลี้ยงหรือสัตว์สวยงาม จิตใจที่ให้เกียรติ จะต้องมีอยู่ตั้งแต่ก่อนมอบสิ่งกำนัล แแต่หากให้เกียรติเฉพาะหน้า ไม่มีจริงใจ เมธากัลยาณชนนั้น จะไม่รออยู่จนถึงเวลาเสแสร้งให้เกียรติหรอก"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนที่ปรากฏบุคลิกภาพของคุณธรรมอยู่เสมอนั้น คือผู้ที่ฟ้าประทานจิตวิสัยจากฟ้ามาแต่เดิมที แต่ทว่า จะมีแต่อริยชนเท่านั้น ที่
ปฏิบัติตามจิตวิสัยจากฟ้าได้อย่างแท้จริง"
สิงเซ่อ เทียนซิ่งเอี่ย เอว๋ยเซิ่งเหยิน หยันโฮ่วเขออี่เจี้ยนสิง
พระเจ้าฉีเซวียนอ๋วง ใคร่จะเปลี่ยนแบบแผน ให้ลดเวลาการไว้ทุกข์ลง ขุนนางกงซุนโฉ่ว ศิษย์ครูปราชญ์มาเรียนถามว่า "ลอเวลาการไว้ทุกข์ให้เหลือหนึ่งปี น่าจะดีกว่าเลิกไว้ทุกข์เป็นแน่"
ครูปราชญ์ว่า "ท่านว่าไว้ทุกข์สามปี ลดลงเหลือหนึ่งปี ก็จะเหมือนจับแขนผู้สูงวัยบิดไปข้างหลังอย่างนั้น ให้ผู้สูงวัยสิ้นโอกาสที่จะกราบทูลทัดทาน(หมดสถานภาพความภาคภูมิใจ) ท่านจงไปทัดทานอ๋อง อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ให้ค่อย ๆ หารือกัน ซึ่งการนี้ ก็ยังจะต้องใช้หลักคุณธรรม - กตัญญู และสมานสามัคคีพีน้องเป็นข้อคิดพิจารณา"
ช่วงนั้น บังเอิญมารดาของราชบุตรองค์หนึ่งถึงแก่กรรม เนื่องจากมีฐานะเป็นแค่นางใน ราชบุตรไม่อาจไว้ทุกข์ได้อย่างเต็มที่ได้ จึงส่งพระอาจารย์ไปทูลขอพระบิดา ให้ได้ไว้ทุกข์สักสามเดือนถึงห้าเดือน กงซุนโฉ่ว กลับมาเรียนถามครุปราชญ์อีกว่า "ให้ไว้ทุกข์ได้สามสี่เดือนนี้ จะพิจารณาในแง่ใด"
ครูปราชญ์ว่า "ราชบุตรอยากไว้ทุกข์เต็มสามปี แต่ประเพณีไม่อนุญาต สถานการดังนี้ ไว้ทุกข์หนึ่งวันยังดีกว่าไม่ไว้ทุกข์เสียเลย ครั้งก่อนที่ครูว่าก็คือ น่าจะมีใครไปทัดทาน อย่าให้องค์ประมุขลดเวลาการไว้ทุกข์ลง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เป้าหมายบุคคลที่กัลยาณชนใคร่จะอบรมสั่งสอนนั้น มีห้าประเภทคือ
- ประเภทปัญญาชนคนรอบรู้ หวังความสำเร็จได้ประหนึ่งฝนชโลมให้ แม้น้ำเพียงหยดเดียว ก็สมบูรณ์งามได้
- ประเภทจิตใจซื่อตรง พอได้รับการส่งเสริม เขาจะค่อย ๆ เพิ่มพูนคุณธรรม
- ประเภทเชาวน์ปัญญาปราดเปรื่อง รอบรู้เรื่องทางโลก
- ประเภทอ่อนน้อมถ่อมใจใฝ่ถาม จึงให้การชี้นำ
- ประเภทคนดีที่ขวนขวายเก็บตกความรู้เอง
คนห้าประเภทนี้ กัลยาณชนยินดีจะอบรมสั่งสอน
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนต้น
กงซุนโฉ่วเรียนถามครูปราชญ์ว่า "วิถีธรรมที่กัลยาณชนดำเนินนั้น สูงส่งงดงามยิ่งนัก แต่การจะเรียนรู้นั้น ยากเสียยิ่งกว่าปืนบันไดฟ้า จะรู้สึกว่าไปไม่ถึงสักที ไฉนไม่ลดระดับลงบ้าง ให้ผู้ศึกษาธรรมตามทันได้ง่าย ก้จะหมั่นเพียรเจาะลึกศึกษาได้ทุกวัน"
ครูปราชญ์ว่า "ครูผู้สอนช่าง จะไม่เป็นเพราะผู้ฝึกงานที่โง่เขลาแล้วเปลียนแนวตีเส้นหมึกเสียใหม่" โฮ่วอี้สอนศิษย์ จะไม่เป็นเพราะศิษย์โง่เขลาแล้ว ลดระดับแรงง้างคันธนู กัลยาณชนสอนธรรม ก็เหมือนการสอนยิงธนู ง้างคันธนู ง้างสุดแรงจนเหมือนคันธนูจะดีดผึงออกไป กัลยาณชนสองคน จึงกำหนดความพอดีไม่ยากไม่ง่าย คนที่เรียนได้ก็เรียนกับท่านแล้วกัน
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"เมื่อโลกมีธรรม (วาระประกาศธรรม) จะพลีชีพเพื่อธรรม (ประกาศแพร่ธรรมเต็มที่)
เมื่อโลกปราศจากธรรม (กลียุคหยุดแพร่ธรรม) พลีชีพเพื่อธรรม (รักษ์ธรรมจนตาย)
มิเคยได้ยินว่า ผิดต่อธรรมโดยตามใจคนหนอ (ละธรรมคล้อยตามโลกียชน)
เทียนเซี่ยโหย่วเต้า อี่เต้าซวิ่นเซิน
เทียนเซี่ยนอู๋เเต้า อี่เซินซวิ่นเต้า
เอว้ยเอวิ๋นอี่เต้าซวิ่นฮูเหยินเจ่อเอี่ย
ศิษย์กงตูจื่อ เรียนถามครูปราชญ์ว่า "เถิงเกิง อนุชาเจ้าเมืองเถิง เป็นศิษย์ท่านบรมครู บางครั้งเรียนถามอะไร ท่านบรมครูไม่ตอบ เป็นเพราะเหตุใดหรือ"
ครูปราชญ์ว่า
"ถือดีมีศักดิ์ศรี ถือดีมีความรู้ ถือดีในความเป็นใหญ่ ถือดีในเกียรติภูมิที่มีต่อบ้านเมือง หรือถือดีในความสัมพันธ์พิเศษ ทั้งห้าประการนี้ เมื่อถาม ท่านบรมครูมักจะไม่ตอบ เถิงเกิง มีความถือดีแล้วสองประการในห้าประการนี้"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ต่อเรื่องที่หยุดยั้งกลางคันมิได้ เขากลับหยุดยั้ง ดังนี้ ก็จะไม่มีเรื่องใดที่เขาจะไม่หยุดยั้งกลางคัน ต่อคนที่พึงหนุนนำค้ำชูเต็มที่เขากลับเฉยเมยเลยละเช่นนี้ ก็จะไม่มีใครที่ไม่ถูกเขาเฉยเมยเลยละ แต่คนที่ตะลุยเกินไป ทำการใดก็จะถดถอยไว"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ต่อมวลสัตว์ สรรพชีวิต กัลยาณชนจะถนอมรัก แต่ยังขาดกรุณาสงสารต่อมวลประชา แม้ใจจะกรุณาสงสาร แต่ยังขาดใส่ใจใกล้ชิดดั่งญาตฺสนิท ควรจะต้องใส่ใจต่อมวลประชาดุจเดียวกับญาติสนิท จากความกรุณาใส่ใจในมวลประชา จากนั้นไปสู่สรรพชีวิต"
ซินซินเอ๋อเหยินหมิน เหยินหมินเอ๋อไอ้อู้
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"คนฉลาดหลักแหลม ไม่มีอะไรที่ไม่รู้ แต่มักจะเร่งรัดเอาเรื่องเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ
ผู้รู้รักใคร ๆ ไม่มีอะไรที่ไม่ถนอมรัก แต่มักจะเร่งรัดชิดใกล้เมธีคนดีเป็นสำคัญ
อริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ใจรักกว้างใหญ่แต่ยังไม่อาจปรกรักไปทั่วหล้า ก็เห็นด้วยเมธีคนดีเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ
ไม่อาจไว้ทุกข์สามปี ก็คือเร่งรัดเวลาเฉพาะหน้านี้เป็นสำคัญ
หยิบอาหารผลีผลามใส่ปาก เร่งรัดจนมูมมาม กลับถามผู้อื่นว่า เนื้อแห้งเคี้ยวขาดไหม
เหล่านี้คือ ไม่รู้ความสำคัญอันควรพิจารณาเร่งรัดหรือไม่"
~ จบบทจิ้นซิน ตอนต้น ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ขาดกรุณาธรรมหนอ พระเจ้าเหลียงฮุ่ยอ๋วง" ผู้มีกรุณาธรรมจะเอาความรักที่มีต่อผู้เป็นที่รักของเขาปรกแผ่ไปสู่ผู้ที่เขาไม่รัก แต่คนที่ขาดกรุณาธรรม กลับจะเอาใจที่ไม่รักไปสู่ผู้ที่ตนรัก"
ศิษย์กงซุนโฉ่วจึงเรียนถามว่า "นั่นอย่างไร"
ครูปราชญ์ว่า " เพื่อการแย่งชิงแผ่นดิน เหลียงฮุ่ยอ๋วงยอมทำลายเลือดเนื้อประชาชน ส่งไปสู้รบยับเยินแล้ว ยังจะสู้ต่อไป แต่เกรงว่าจะถูกถล่มทำลายอีก จึงเกณฑ์ลูกหลานของตนไปสู้ตาย อย่างนี้เรียกว่า เอาใจที่ไม่รักไปสู่ผู้เป็นที่รัก"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ในบันทึกของหนังสือชุนชิว ไม่มีการศึกใดที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม มีบางกรณีเท่านั้นที่ดีกว่า" (ชุนชิวอู๋อี้จั้น) อักษรเจิง ความหมายที่ถูกต้องคือ "เจ้าแผ่นดินยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองภายใต้การปกครอง ส่วนเจ้าเมืองน้อยใหญ่ที่บาดหมางค้างใจ จะปราบปรามกันเองมิได้"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า
"เชื่อการบันทึกทั้งหมดในหนังสือ สู้ไม่มีหนังสือจะดีกว่า"
(จิ้นซิ่นซู ปู็หยูอู๋ซู)
ในหนังสือโจวซู บทอู่เฉิง เพียงสองสามหน้าครูก็เห็นชัดในข้อขัดแย้งของเหตุผลที่แสดงไว้
ผู้มีกรุณาธรรม ย่อมปราศจากศัตรูคู่อริในโลก
(เหยินเหยินอู๋ตี๋อวี๋เทียนเซี่ย)
กษัตริย์ทรงธรรมอย่างอู่อ๋วง ไปปราบปรามทรราชโจ้วอ๋วงจะเป็นไปได้หรือที่เลือดนองแผ่นดินจนท่วมสากกระเดื่องตำข้าว... (ข้อความบันทึก)
...เช่นมีคนกล่าวว่า "ข้าเชี่ยวชาญยุทธศาสตร์เชี่ยวชาญประจัญบาน" นี่คือคนบาปหนา หาใช่ความภาคภูมิไม่ ขอเพียงองค์ประมุขชอบปกครองโดยธรรม โลกนี้ก็จะไม่มีอริราชศัตรูต่อกัน ครั้งนั้น กษัตริย์ซังทัง เคลื่อนทัพไปปราบปรามทางใต้ ชาวตี๋ทางเหนือต่างโอดครวญเรียกร้อง พอไปปราบทางตะวันออก ชาวอี๋ทางตะวันตกก็โอดร้อง ทุกคนต่างว่า "ทำไมทิ้งเราไว้ทีหลัง" ครั้งที่โจวอู่อ๋วงปราบทรราชอินโจ้วอ๋วง มีรถศึกหุ้มหนังสัตว์เพียงสามร้อยคัน มีทหารกล้าเพียงสามพันคน กษัตริย์อู่อ๋วงกล่าวแก่ประชาชนว่า "พวกท่านไม่ต้องกลัว เราอู่อ๋วงมาเพื่อสร้างความสงบสุข ไม่ใช่มาบีฑาประชาชน"เมื่อได้ฟังดังนั้น ทุกคนคุกเข่าฮวบลงเหมือนกำแพงทรุดโขกศรีษะกับพื้น อักษรเจิง จึงหมายถึงอุ้มชูให้ "ตรง" ด้วย เนื่องจากทุกคนถูกประมุขโหดรังแกมามากแล้ว ต่างรอกษัตริย์เที่ยงธรรมเข้ามาอุ้มชูบ้านเมืองให้เที่ยง "ตรง" ฉะนั้น ยังจะต้องสู้รบจนนองเลือดด้วยหรือ
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ช่างไม้กับช่างสร้างรถ ได้แต่ถ่ายทอดวิธีคำนวณวัดฉากมุม แต่ไม่อาจถ่ายทอดฝีมือแยบยลให้ได้"
จื่อเจี้ยงหลุนอวี๋ เหนิงอวี้เหยินกุยจวี่ ปู้เหนิงสื่อเหยินเฉี่ยว
เมื่อครั้งอริยกษัตริย์ซุ่น ยังเป็นสามัญชนต้องประทังชีวิตด้วยธัญพืชและผักหญ้าหยาบ ๆ ดูอย่างกับทั้งชีวิตจะต้องคับแค้นแสนเข็ญ แต่พอเมื่อได้รับ
สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็แต่งองค์ทรงเครื่องงดงาม ได้ดีดขิมห้าสาย ยังได้พระธิดาทั้งสองของกษัตริย์เหยาเป็นชายามารับใช้ ซึ่งดูอย่างกับทั้งชีวิต
ชะตากำหนดไว้ให้ได้เสวยสุข
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จากวันนั้นจนตลอดไป ข้าพเจ้ารู้ว่า สังหารสายเลือดเขานั้นความแค้นหนักหนา ฆ่าพ่อเขา เขาก็จะฆ่าพ่อเรา ฆ่าพี่ชายเขา เขาก็จะฆ่าพี่ชายเรา อาฆาตเข่นฆ่ากันอย่างนี้ แม้มิได้ลงมือฆ่าพ่อ ฆ่าพี่ของตนเสียเอง แต่เมื่อเราฆ่าเขา เขาจึงมาฆ่าเรา เท่ากับแลกเปลี่ยนกันฆ่า"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ที่โบราณสร้างด่านนั้น ก็เพื่อป้องกันคนโฉดชั่ว แต่สมัยนี้สร้างด่าน ก็เพื่อเรียกเก็บภาษีผ่านด่าน คือการขูดรีดประชาชน
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ตนเองไม่อาจทำตัวให้เที่ยงธรรม ไม่อาจใช้ความเที่ยงธรรมต่อภรรยาได้ การเรียกใช้ใคร ๆ หากไม่เที่ยงธรรม ก็ไม่อาจเรียกใช้ภรรยาให้ทำตามได้"
เซินปู้สิงเต้า ปู้สิงอวี๋ชีจื่อ
สื่อเหยินปู้อี่เต้า ปู้เหนิงสิงอวี๋ชีจื่อ
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คนที่รอบคอบต่อข้าวของเงินทองมาก ปีอดอยาก เขาจะไม่อดตาย คนที่สั่งสมคุณธรรมรอบราย กลียุคชั่วร้าย ไม่ระคายศักดิ์ศรีความดีของเขา"
โจวอวี๋ลี่เจ่อ ซยงเหนียนปู้เหนิงชา
โจวอวี๋เต๋อเจ่อ เสียซื่อปู้เหนิงล่วน
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้ใฝ่เกียรติคุณ จะยกบ้านเมืองที่มีหนึ่งพันรถม้าศึกแก่ผู้อื่นได้ ผู้ไม่อาจมองข้ามผลประโยชน์เงินทอง แม้สละข้าวชามแกงถ้วยหน้าก็เปลี่ยนสี
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "หากองค์ประมุขไม่เชื่อถือวางใจเมธีผู้มีกรุณาธรรม ในบ้านเมืองจะเหมือนปราศจากบุคลากร หากขาดจริยธรรม ระเบียบวินัยระหว่างกันจะยุ่งเหยิง หากขาดการปกครองบ้านเมือง ไม่มีภาษีได้ใช้จ่าย บ้านเมืองจะขัดสน"
ปู๋ซิ่นเหยินเสียน เจ๋อกว๋อคงซวี
อู๋หลี่อี้ เจ๋อซั่งเซี่ยล่วน
อู๋เจิ้งซื่อ เจ๋อไฉย่งปู้จู๋
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้ขาดกรุณาธรรมได้ครองแผ่นดินนั้น มีได้ แต่ขาดกรุณาธรรม จะได้หัวใจยินดีจากคนในแผ่นดินนั้น ยังไม่เคยมี"
ปู้เหยินเอ๋อเต๋อกั๋วเจ่อ โหย่วจืออี่
ปู้เหยินเอ๋อเต๋อเทียนเซียเจ่อ เอว้ยจือโหย่วเอีย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ประชาล้ำค่าด้วยเป็นฐานของบ้านเมือง บ้านเมืองรองลงมา ประมุขรองอีกกว่า จำต้องได้หัวใจชาวประชา จึงจะครองหล้าครองแผ่นดินได้ ได้รับความชื่นชมจากเจ้าแผ่นดิน จึงจะได้เป็นเจ้าเมือง ได้รับความชื่นชมจากเจ้าเมือง จึงจะได้เป็นขุนนาง แต่หากเจ้าเมืองไร้ธรรม ผิดต่อเจ้าที่ ผิดต่อเจ้าธรณีประจำเมือง ก็จะต้องเพิกถอน แแต่งตั้งเจ้าเมืองคนดีเสียใหม่ ถ้าสัตว์เลี้ยงอ้วนพี ธัญญาหารหมดจดสมบูรณ์ ก็จะทำพิธีเซ่นไหว้ได้ตามกำหนด แต่หากยังเกิดอุทกภัย อัคคีภัย ก็จะต้องปรับเปลี่ยนศาลบูชาเจ้าที่ เจ้าธรณีประจำเมืองต่อไป
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อริยะ ก็คือครูบาอาจารย์ผู้ชี้แนะ ผู้นำทางชาวโลกได้ยาวนานนับร้อยปี (ชั่วชีวิต) อย่างท่านป๋ออี๋ กับหลิ่วเซี่ยฮุ่ย เมื่อได้ฟังคำสอนจากท่านป๋ออี๋ คนซึ่งเดิมทีดื้อด้าน โลภหยาบ เริงอารมณ์ กลับกลายเป็สุจริตชน คนที่เดิมทีอ่อนแอ ขาดความมุ่งมั่นกำลังใจ ก็กลายเป็นเข้มแข็งมุ่งใจใฝ่ดีส่วนคนที่ได้ฟังคำสอนจากท่านหลิ่วเซี่ยฮุ่ย เคยใจแคบขูดรีดเอาเปรียบ กลับกลายเป็นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนเห็นแก่ได้ ตระหนี่ถี่เหนียว ก็กลายเป็นใจกว้างปล่อยวาง คุณธรรมความดีของทั้งสองท่าน ระบือนานนับร้อยปีในสมัยนั้น ร้อยปีให้หลัง ใครที่ได้ยินคำสอนสืบมา ก็ไม่มีที่จะไม่ซาบซึ้ง ทะยานใจใฝ่ดี ดังนั้น ไม่ใช่อริยะ หรือจะเป็นชนใด ผู้ได้รับการอบรมกล่อมเกลาใกล้ชิดท่านในครั้งนั้นเล่าจะยิ่งกว่าเพียงไหน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "กรุณา คือหลักธรรมที่จิตวิสัยของคนพึงรักษาไว้ จิตวิสัย กับ กรุณาธรรม ร่วมอยู่ด้วยกันเรียกว่า "ธรรมะ" (จิตวิสัยมีกรุณาธรรมเป็นธาตุแท้เดิมที)
เหยินเี๋อี๋ยเจ่อ เหยินเอี่ย เหอเอ๋อเอี๋ยนจือ เต้าเอี่ย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เมื่อบรมครูเดินทางกลับเมืองหลู่ ท่านกล่าวว่า "เราจะเดินทางช้า ๆ "เพราะคืนสู่มาตุภูมิ เมื่อไปเมืองฉี ท่านเร่งฝ่าฝนเดินทาง กล่าวว่า "เพราะไปยังบ้านเมืองอื่นเขา"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "บรมครูต้องประสบวิบากกรรม ถูกกักบริเวณอยู่ระหว่างเมืองเฉิน กับ เมืองไช่ เนื่องจากไม่มีสัมพันธภาพกับสองเมืองนี้ และกับเหล่าขุนนางเมืองนี้มาก่อน จึงไม่เคยไปมาหาสู่กัน"
ม่อจี คนเมืองเหนือ กล่าวแก่ครูปราชญ์ว่า "ข้าพเจ้าม่อจี เป็นขี้ปากชาวบ้านนัก"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ไม่เห็นเป็นไร ผู้เจริญมักไม่เป็นที่เข้าใจของใคร ๆ อยู่แล้ว ในคัมภีร์ซือจิง จารึกว่า "ครุ่นคิดทุกข์กังวลอึดอัดไม่คลาย กลัดกลุ้มสุมใจจากคนไร้สาระ" ท่านบรมครูเคยประสบเหตุเช่นนี้ ในคัมภีร์ซือจิง จารึกอีกว่า "แม้ไม่อาจกำจัดความอึดอัดขัดเคืองได้ แต่จะไม่ทำลายความงามสง่าแห่งตน ให้ตกต่ำไปตามคำกล่าวของเขาเหล่านั้น" อริยกษัตริย์เหวินอ๋วง ก้เคยประสบเหตุเช่นนี้เหมือนกัน
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ครั้งก่อนเก่า เมธีชนใช้หลักเหตุผลที่ท่านเข้าใจเองแล้วไปทำให้ใครๆ เข้าใจตามไปอีกด้วย คนยุคนี้ ตนเองยังมืดต่อหลักธรรม แต่จะให้ใคร ๆ เข้าใจหลักธรรม" กล่าวแก่ศิษย์เกาจื่อว่า "ทางเล็ก ๆ บนภูเขา ป่าราบริมลำธาร เหยียบย่ำเดินผ่านนานวัน ก็จะเป็นทางเดิน แต่หากทิ้งระยะ ไม่มีผู้เหยียบย่ำเดินผ่าน หญ้าจะงอกงามไม่เป็นเส้นทางอีก บัดนี้ จิตใจที่ไม่หมั่นศึกษาของท่าน หญ้าใกล้จะรกปกคลุมเสียแล้ว"
ศิษย์เกาจื่อว่า "เสียงดนตรีของกษัตริย์อวี่ ดีกว่าเสียงดนตรีของกษัตริญ์เหวินอ๋วง"
ครูปราชญ์ถามว่า "อะไรทำให้คิดอย่างนั้น" (โบราณกาลไกล)
เกาจื่อว่า "เห็นเส้นสายเครื่องดนตรีของอวี่ อย่างกับถูกแมลงทำลายใกล้จะขาด แสดงว่าเครื่องดนตรีดี จึงได้ใช้กันมาก"
ครูปราชญ์ว่า "สันนิษฐานเช่นนี้ได้อย่างไร หน้าประตูเมืองม่อเฉิง รอยล้อรถลึกมาก จะเป็นด้วยรถหนึ่งคัน แรงม้าสองตัวบดทับผ่านไป หรือรอยล้อรถลึกเพราะรถผ่านไปมามาก เครื่องดนตรีของกษัตริย์อวี่สึกหรอมาก อาจเป็นเพราะผ่านกาลเวลานานกว่า... อย่าสันนิษฐานผิด
เมืองฉีเกิดภัยแล้งอดอยากอีก เฉินเจินกล่าวแก่ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ใคร่ขอให้ท่านไปขอข้าวจากอ๋อง ไปแบ่งจากเมืองถังมาสงเคราะห์ แต่คิดว่า ท่านคงทำไม่ได้อีกแล้วใช่ไหม"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า " การนี้ เหมือนขอให้ข้าพเจ้าไปรับบทแม่นางเฝิงฟู่ ซึ่งเมื่อก่อน นางเป็นยอดฝีมือใช้กำปั้นทุบหัวเสือ ภายหลังเกิดจิตสำนึกตัดใจจะไม่ฆ่าเสียอีก วันหนึ่งนางลงชนบท มีคนกลุ่มใหญ่ไล่กวดเสือ เสือไปนอนพิงเชิงเขาตั้งท่าอยู่ พวกตามล่าไม่กล้าเข้าไปใกล้อีก เมื่อได้เห็นนางเฝิงฟู่มาแต่ไกล จึงพร้อมใจวิ่งมาต้อนรับ พร้อมกับให้นางจัดการกับเสือตัวนั้น นางเฝิงฟู่พับแขนเสื้อทั้งสองข้าง กระโดดลงจากรถทันที ทุกคนดีใจมาก แต่ คนที่มีการศึกษาในที่นั้นแอบยิ้มอยู่ในที ที่เห็นนางวางมือแล้ว ลงมืออีก" (เต้นไปตามแรงกระตุ้น)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ปากลิ้มรส นัยน์ตาชอบดู หูชอบฟัง จมูกชอบดมสิ่งอันพึงใจ มือเท้าปล่อยสบายไม่ต้องลำบาก เป็นสัญชาตญาณของคน แต่จะเสพสุขที่ตนพึงใจได้หรือไม่ แล้วแต่ชะตากรรม กัลยาณชน จึงเอาแต่ครองสภาพชีวิตไว้ ไม่กล้าเรียกร้อง แต่สำหรับความรักความกรุณาระหว่างพ่อ - ลูก คุณธรรมระหว่างขุนนาง - ประมุข จริยระหว่างผู้ให้ - ผู้รับ การใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกในเมธาชน การดำเนินธรรมเพื่อปรกนำชาวโลกของอริยะ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับชะตาชีวิตของแต่ละคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจใคร่ทำกับไม่ใคร่ทำของบุคคลด้วย ฉะนั้น ต่อกรุณาธรรม มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม กัลยาณชนจึงไม่กล้ายกไปที่ชะตาชีวิต แต่จะรับผิดชอบต่อการใคร่ทำกับไม่ใคร่ทำของบุคคล"
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนท้าย
เฮ่าเซิงปู๋ไฮ่ ชาวเมืองฉี เรียนถามปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เอวี้ยเจิ้งจื่อ เป็นคนเช่นไร"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "เป็นคนดีงาม อีกทั้งสัตย์จิง"
เฮ่าเซิงปู๋ไฮ่ ถามอีกว่า "อย่างไรเรียกว่าดีงาม อย่างไรเรียกว่าสัตย์จริง"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ใคร ๆ ต่างพอใจต่อพฤติกรรมของเขา เรียกว่า ดีงาม
ความดีงามของพฤติกรรมล้วนเกิดจากจิตใจ ไม่เสแสร้งเรียกว่า สัตย์จริง
พฤติกรรมดีงามสัตย์จริงเต็มเปี่ยม เรียกว่า งามพร้อม
เปล่งรัศมีงามพร้อม หน้าตามีราศี และยิ่งเพิ่มพูนต่อไปคือภาวะ ยิ่งใหญ่ จากภาวะยิ่งใหญ่ไปสู่ภาวะ อริยะ ไม่อาจประมาณความลุ่มลึกของความยิ่งใหญ่ได้ เรียกว่า ภาวะวิเศษ นิสัยความประพฤติของเอวี้ยเจิ้งจื่อ อยู่ในระหว่างกลางของดีงามกับสัตย์จริง อยู่ใต้ระดับ งามพร้อม ยิ่งใหญ่ อริยะ กับ วิเศษ"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ผู้ปฏิเสธทฤษฏีของม่อตี๋ (ม่อจื่อ) ก็จะหันไปหาทฤษฏีของหยางจู (หยางจื่อ) ปฏิเสธทฤษฏี "เพื่อตน" ของหยางจู ก็จะหันมาหาทฤษฏีของปราชญ์ (ขงจื่อ) ในเมื่อน้อมใจมาเรียนรู้ ประตูปราชญ์ก็เปิดรับ บัดนี้ คนที่ถกเถียงทฤษฏีของหยางจื่อ ม่อจื่อ ว่าใดคดใดตรง เหมือนคนไล่ตามหมู ซึ่งก็ต้อนหมูกลับเข้าเล้าได้แล้ว ยังเกรงแต่ว่ามันจะหนีออกไปอีก จึงผูกตีนของมันไว้
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สมัยโบราณเรียกเก็บภาษี คือ เก็บด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ อีกอย่างหนึ่งคือ เก็บด้วยแรงงาน องค์ประมุขผู้ทรงธรรม จะเรียกเก็บอย่างใดอย่างหนึ่งต่อครั้ง อีกสองอย่างนั้นผ่อนผัน หากเรียกเก็บสองอย่างในครั้งเดียวกัน ประชาชนจะอดตาย เรียกเก็บสามอย่างในครั้งเดียวกัน พ่อลูกก็จะต้องพลัดพรากจากกัน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "สิ่งล้ำค่าของเจ้าเมืองมีสามประการคือ ที่ดิน ประชาชน การปกครอง แต่หากมัวหลงใหลในแก้วแหวนเงินทองหยกมณี ภัยพิบัติจะถึงตัว"
เผินเฉิงกวา เป็นขุนนางเมืองฉี ปราชญืเมิ่งจื่อคาดการณ์ว่าเขาจะต้องตาย ไม่นาน เขาถูกฆ่าตายจริง ๆ ศิษย์ทั้งหลายเรียนถามว่า "ครูปราชญ์ท่านทราบได้อย่างไรว่า เขาจะถูกฆ่า" ตอบว่า "การวางตัวของเขา ชอบสู่รู้อวดฉลาด แต่ไม่ได้เรียนรู้หลักธรรมความเป็นกัลยาณชนมาก่อนในอันที่จะต้องอุ้มชูผู้อื่น จากจุดนี้ก็มากพอแล้วที่จะทำร้ายตนเอง (แหลมคมนัก ขาดหักง่าย)
เมื่อปราชญ์เมิ่งจื่อเดินทางไปเมืองเถิง เจ้าเมืองเถิงเชิญท่านพักอยู่ที่วังรับรอง เจ้าพนักงานที่ดูแลวัง มีรองเท้าคู่หนึ่งที่ทำใกล้จะเสร็จวางอยู่บนขอบหน้าต่าง แต่เขาหาไม่พบอยู่เป็นนาน มีคนเรียนถามปราชญืเมิ่งจื่อว่า "อาจเป็นด้วยผู้ติดตามของท่าน เอาไปซ่อนหรือไม่" ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "ท่านเห็นว่าผู้ติดตามของเรา มาที่นี่เพื่อขโมยรองเท้าอย่างนั้นหรือ" คนผู้นั้นตอบว่า "คิดว่ามิใช่เช่นนั้น... ...แต่ ระเบียบการที่ครูปราชญ์ท่านรับศิษย์ ไม่รื้อฟื้นความผิดเก่า ไม่ปฏิเสธใคร เมื่อตั้งใจมาก็รับไว้ศึกษา" (จึงอาจมีศิษย์นิสัยเสียที่ยังไม่ปรับเปลี่ยน)
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คน ล้วนมีสิ่งต้องอดกลั้น ถึงที่สุดของความอดกลั้นได้ ก็คือใช้กรุณาธรรม
คน ล้วนมีความหน่ายไม่อยากทำ ถึงที่สุดของความหน่าย (ภาษาสมัยคือ "เซ็ง") ก็คือใช้มโนธรรมเช่น ยอมทนเพื่อคนอื่น
คน แม้เติมเต็มแก่ตนด้วยใจที่ไม่มุ่งร้ายใคร ๆ ใจกรุณาจะเอื้อคุณไม่สิ้น
คน แม้เติมเต็มจิตสำนึกไม่แอบแฝง ไม่จาบจ้วงลักขโมย มโนธรรมก็จะเอื้นคุณไม่สิ้น
คน แม้เติมเต็มกรุณา - มโนธรรมแก่ตนไม่ขาด ไปถึงไหนก็จะไม่ทำผิดต่อมโนธรรม
ผู้รู้ หากพูดเมื่อไม่สมควรพูด คือผู้แอบแฝง จาบจ้วง ลักขโมญด้วยคำพูด ถึงเวลาควรพูดแต่ไม่พูด ก็คือผู้แอบแฝง จาบจ้วง ลักขโมยด้วยคำพูดเช่นกัน"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "คำพูดเรียบง่าย ความนัยลุ่มลึก เป็นการพูดที่ดีที่สุด มัธยัสถ์เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกว้างไกล เป็นการดูแลรักษาทางธรรมที่ดีที่สุด การพูดของกัลยาณชน ไม่ก้มสายตาหลบต่ำจนเห็นสายคาดเอวตน อุ้มชูรักษาบ้านเมือง เริ่มจากสำรามอุ้มชูกายใจตน คนทั่วไปชอบที่จะละทิ้งที่ดินของตน ไม่เพาะปลูก แต่กลับไปกำจัดหญ้าในนาของเขาอื่น ไม่สำรวจความผิดตน กลับนินทาชี้ว่าใคร ๆ เรียกร้องจากผู้อื่นหนัก เรียกร้องความรับผิดชอบจากตนเองเบา"
ปราชญืเมิ่งจื่อว่า "คุณธรรมของอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น เป็นด้วยจิตวิสัยจากฟ้า ส่วนกษัตริย์ซังทัง กับ โจวอู่อ๋วง เป็นด้วยการสำรวมบำเพ็ญจนฟื้นฟูคุณธรรมจิตวิสัยจากฟ้า บุคลิกภาพ กิริยาอาการทุกอย่างมีจริยระเบียบ ก็เป็นผู้มีคุณธรรมบารมีแล้ว อาดูรร่ำไห้แก่ผู้ตายด้วยใจจริง ก็เป็นจริยะ มิใช่ร้องไห้ให้คนที่อยู่ดู รักษาคุณงามเรื่อยไป มิใช่เพื่อบำเหน็จรางวัล พูดจาสัตย์จริง ก็มิใช่เพื่อแสดงว่าประพฤติดี กัลยาณชน ทำทุกอย่างตามจริยระเบียบไม่แอบแฝง ถวายชีวิตตามแต่ฟ้าจะลิขิต"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จะกล่อมใจผู้ยิ่งใหญ่ ให้เตรียมใจรับปรามาสไว้ ไม่ขยาดความยิ่งใหญ่โอฬาร อัครสถานสูงล้ำของเขา (บอกตนเองว่า) วันใดเรามีอย่างนี้ได้ เราจะไม่หรูหราฟุ่มเฟือยเยี่ยงเขา เห็นเขาเรียงรายอาหารชั้นเลิศเต็มโต๊ะใหญ่ เลี้ยงนางสนมกำนัลนับร้อย (บอกตนเองว่า) วันใดเรามีได้ก็จะไม่สุรุ่ยสุร่ายเยี่ยงนี้ เห็นเขาควบม้าล่าสัตว์ทุกวัน รถม้าพันคันเป็นขบวนบริวาร ชีวิตเปล่าประโยชน์ วันใดเรามีอย่างนี้ได้ ก็จะไม่ทำ เรื่องที่เขาเสพสุขสนุกสนาน เราไม่ทำ ที่จะทำก็คือ จริยระเบียบของบรรพอริยะ เราเคารพต่อคุณธรรมวิสัยในตนเป็นที่ตั้ง จึงไม่ขยาดต่อความยิ่งใหญ่ใด ๆ
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
๗
บทจิ้นซิน ตอนท้าย
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "อุ้มชูใจ ไม่มีอะไรดีกว่าละกิเลส (หย่างซินม่อซั่นอวี๋กว่าอวี้) ละกิเลสได้ แม้บางครั้งจะพลาดเผลอไป กิเลสก้ไม่มาก หากไม่ฝึกละเสียเลย แม้จะระงับ กิเลสก็ยังมากมาย"
ครั้งที่ปราชญ์เจิงซี ยังมีชีวิต ชอบรับประทานลูกพรุน (หยังเจ่า) เจิงซี สิ้นไป ปราชญ์เจิงจื่อบุตรชาย ไม่อาจทำใจกินลูกพรุน (หยังเจ่า) ได้ ศิษย์กงซุนโฉ่วเรียนถามครูปราชญ์ว่า "หมูหยอง หมูแผ่น กับลูกพรุน รสชาติใดดีกว่า"
ครูปราชญ์ว่า "หมูหยองหมูแผ่นย่อมดีกว่า"
กงซุนโฉ่วว่า "ถ้าเช่นนั้น บิดาของเจิงจื่อก็ชอบกินด้วย เช่นนี้แล้ว ไฉนเจิงจื่อยังกินหมูหยองหมูแผ่นที่บิดาเคยชอบอยู่ได้ เฉพาะแต่ทำใจกินลูกพรุนไม่ได้"
ครูปราชญ์ว่า "เหตุด้วยหมูหยองหมูแผ่นเป็นอาหารทั่วไปที่ใคร ๆ ก็ชอบกิน แต่ ... ลูกพรุน (หยังเจ่า) เฉพาะบิดาของเจิงจื่อชอบกินพิเศษ อย่างเช่นคนทั่วไป หลีกเลี่ยงไม่เรียกชื่อพ่อแม่ของใครตรง ๆ แต่ไม่หลีกเลี่ยงเรียกแซ่ เพราะแซ่เป็นสกุลร่วมใช้ แต่ชื่อใช้เฉพาะตัว"
ศิษย์วั่นจังเรียนถามครุปราชญ์ว่า "ครั้งที่บรมครูหาคนดีไม่ได้ที่เมืองเฉิน สะท้อนใจว่า "ไยไม่กลับเมืองหลู่ของเรา ที่นั่นมีพวกทะยานกล้า เพียงแตเขามักจะละเลยเรื่องเล็กน้อย แม้เขาจะใฝ่ก้าวหน้า แต่ยังไม่ทิ้งนิสัยเดิมเท่านั้น" (คนประเภทนี้ยังพอใช้ได้) เรียนถามครูปราชญ์ "เหตุใดอยู่เมืองเฉิน บรมครูท่านจึงหวนคิดถึงคนกล้าเหล่านั้น"
ครูปราชญ์ว่า "เหตุที่บรมครูแสวงคนที่จิตใจสุขุมอยู่ในทางสายกลาง เช่นศิษย์เอี๋ยนเอวียน ซึ่งถ่ายทอดวิชาให้ได้ไม่มี เมื่อไม่มี จึงต้องหวนคิดถึงคนระดับรองลงไป คนทะยานกล้าจะบ้าบิ่น คนสำรวมมาก จะรักษาตัวรอด แต่ไม่ค่อยก้าวเดิน บรมครูมีหรือจะไม่แสวงหาคนสุขุม แต่ในเมื่อไม่อาจหาได้ก็จำใจพิจารณาคนระดับรองลงไปเช่นนี้"
ศิษย์วั่นจังเรียนถามว่า "อย่างไรเรียกว่าทะยานกล้าบ้าบิ่น"
ครูปราชญ์ว่า "อย่างจื่อจาง เจิงซี มู่ผี่ เป็นศิษย์ที่ท่านบรมครูจัดไว้ว่าทะยานกล้า"
ถามว่า "ไฉนจึงว่าบ้าบิ่น"
ครูปราชญ์ว่า "มุ่งมั่นทะยานใหญ่ คุยโว วิจารณ์คนโบราณอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อดูพฤติกรรมของพวกเขาเอง ก็ไม่อาจปิดบังสิ่งที่วิจารณ์ผู้อื่นได้ เมื่อผู้ที่ใฝ่ก้าวหน้ามากไป ไม่อาจรับวิถีอริยะได้ ก็จะต้องแสวงหาคนที่ไม่ยอมสกปรกตกต่ำ เพื่อถ่ายทอดวิถีอริยะให้ นั่นก็คือ คนที่สำรวมรักษาตัวรอด ซึ่งดีกว่าพวกใฝ่ก้าวหน้าเกินไประดับหนึ่ง"
ศิษย์วั่นจังเรียนถามอีกว่า "ท่านบรมครูเคยกล่าวว่า "ผ่านหน้าประตูเราไป ไม่เข้ามา (สถานศึกษาอริยปราชญ์) การที่เราไม่เสียดายค้างใจนั้น ก้ด้วยเขาเป็นคนลวง คนลวงคือ นักย่องเบาเอาความดีบังหน้า" (ไม่กล้าทุ่มตัวเจาะลึกศึกษา ชอบแต่แสดง ทั้งที่รู้ไม่จริง)
ศิษย์วั่นจังเรียนถามว่า "อย่างไรเรียกว่าคนลวง"
ครุปราชญ์ว่า "คนลวงดูดี ชอบที่จะยิ้มเยาะนักศึกษาที่ทะยานกล้าว่า "ใฝ่ก้าวหน้าอะไนนักหนา" พูด ไม่คำนึงการกระทำ ทำ ไม่คำนึงถึงเคยพูด คนลวงเอ่ยปาก มักวิจารณ์ครโบราณอย่างนั้นอย่างนี้ คนลวงชอบยิ้มเยาะพวกรักษาตัวรอดว่า พฤติกรรมแอบแฝงเย็นชา (ดีเกินไป) เกิดมาทั้งที น่าจะเข้ากับชาวโลก คล้อยตามหมู่มากจะดีกว่า แต่พวกคนลวงเอง กลับหลบหลีดปิดบังตน สีหน้าน่ายินดีที่แท้คือคนลวง"
ศิษย์วั่นจังว่า "ชาวตำบลยกย่องคนลวงว่า "คนจริง" เมื่อไปถึงไหนไม่มีที่จะไม่เป็นคนจริง แต่ท่านบรมครูว่า เขาเป็นคนลวง ย่องเบาเอาความดี ด้วยเหตุใด" ตอบว่า "จะว่าเขาไม่ดี ก็ไม่มีเหตุให้ว่าได้ จะโจมตีก็ไม่มีข้อกล่าวหา เขาเข้ากับโลกีชนได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น เห็นการพนันเป็นบันเทิงสำเริงเล่นเป็นสุขี ดูดีมีน้ำใจ สัตย์ซื่อ สุจริต เป็นที่ชื่นชอบของใคร ๆ ตัวเขาเองก็พอใจในตน แต่เขาไม่อาจเจริญธรรมตามอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น ได้ ไม่อาจศึกษาวิถีปราชญ์ จึงกล่าวว่า เป็นคนลวงย่องเบา เอาความดีบังหน้า"
บรมครูเคยกล่าวว่า "เราชิงชังนักคือคนที่ดูอย่างกับสัตย์ซื่อมีน้ำใจ
ชิงชังความเป็นหญ้าหางหมา ด้วยเกรงว่า จะทำให้ข้าวกล้ากลายพันธุ์
ชิงชังนัก กับคนที่พูดดี แต่ไม่มีความจริงใจ เกรงจะวุ่นวายต่อหลักมโนธรรม
ชิงชังนัก กับคนพูดพล่อยคล่องปาก ด้วยเกรงว่าจะสับสนต่อสัตยธรรม
ชิงชังนัก กับดนตรีเย้ายวน ด้วยเกรงว่าจะก่อกวนดนตรีสุนทรีย์
ชิงชังสีผสมซ้ำเลือดซ้ำหนองที่ผิดต่อสีแดงโดยแท้
ชิงชังคนจำพวกเสแสร้งเป็นคนดี อารีอารอบ จะทำให้คุณธรรมความดีแท้ยุ่งเหยิง ดังนั้น กัลยาณชนจงทำตามธรรมะ อันเป็นปกติที่ยั่งยืนเรื่อยไป เป็นใช้ได้ เมื่อเราเที่ยงตรง คนทั่วไปจะซาบซึ้งฟื้นฟูวิถีธรรมเที่ยงตรง ต่อไปก็จะไม่ชั่วร้ายแอบแฝงอีก"
ปราชญ์เมิ่งจื่อว่า "จากอริยกษัตริย์เหยา - ซุ่น จนถึงกษัตริย์ซังทัง รวมเวลากว่าหกร้อยปี กษัตริย์อวี่ กับเกาเอี่ยว เคยเห็นการดำเนินธรรมของท่านมากับตา จึงรู้เห็นชัดเจนในอริยบารมี ถ้าเป็นกษัตริย์ซังทัง ซึ่งต่อมาในภายหลัง ก็จะได้แต่สดับรับฟังอริยบารมี จึงรู้ความตามที่สรรเสริญ จากสมัยซังทัง ถึงอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง ห่างกันอีกห้าร้อยกว่าปี คือ อีอิ่น กับ ไหลจู ได้รู้ชัดเห็นจริงต่อบารมีธรรมของพระเจ้าซังทัง แต่อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงได้แต่สดับรับฟังบารมีที่สรรเสริญ
จากอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง จนถึงบรมครูขงจื่อ ก็ล่วงเลยมาอีกห้าร้อยกว่าปี พระเจ้าปู่ หรือปู่เจ้าเจียงไท่กง (ไท่กงอ้วง) กับ ซั่นอี๋เซิง ได้รู้เห็นชัดจริงในคุธรรมบารมีของอริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วงด้วยตนเอง ตั้งแต่บรมครูขงจื่อ จนถึงบัดนี้ (สมัยปราชญ์เมิ่งจื่อ) ห่างกันเพียงหนึ่งร้อยกว่าปี ถือว่าไม่ห่างไกลกันมากนัก อีกทั้งไม่ห่างถิ่นฐานบ้านท่านสักเท่าไร แต่ดูเหมือนน้อยคนจะรู้ชัดเห็นจริงต่อคุณธรรมบารมีของท่านบรมครู เช่นนี้ ภายหน้านานไปเกรงว่าคนยุคใหม่ ยากที่จะสดับหลักธรรมคำสอนของท่านบรมครูเสียแล้ว"
(ท่านปราชญ์เมิ่งจื่อเกรงว่า กรุณามโนธรรมจะห่างหายไปจากจิตสำนึกของคน จึงสรุปปรัชญาของท่านลงด้วยความสะท้อนใจต่ออนาคตทางธรรม อีกทั้งแฝงความมุ่งมั่นสืบต่อภาระศักดิ์สิทธิ์ของท่านบรมครูดังนี้)
~ จบบทจิ้นซิน ตอนท้าย ~
-
ปรัชญาเมิ่งจื่อ : ปราชญ์เมิ่งจื่อ
ดรรชนี
(ผู้น้อยต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ที่ไม่สามารถนำลงรูปลักษณ์ของทุกพระองค์มาให้ทุกท่านดู ขอบพระคุณค่ะ)
อริยกษัตริย์ฝูซี อริยกษัตริย์เสินหนง เซวียนเอวี๋ยนหวงตี้ เจียงไท่กง (ไท่กงอ้วง)
อริยกษัตริย์เหยา อริยกษัตริย์ซุ่น อริยกษัตริย์อวี่ อริยกษัตริย์ทัง
อริยกษัตริย์โจวเหวินอ๋วง อริยกษัตริย์โจวอู่อ๋วง ปู่เจ้าโจวกง อีอิ่น
จื่อเซี่ย ป๋อหนิว เจิงจื่อ จ้งกง
เอี๋ยนจื่อ ไจ่หว่อ จูซี เมิ่งจื่อ
จื่อเซียน จื่อก้ง จื่ออิ๋ว จื่อจาง
จื่อลู่ จื่อซือ หยั่นโหย่ว จื่ออวี๋
ท้ายเล่ม ...
หากท่านปราชญ์เมิ่งจื่อคือเมธาชนคนยุคนี้
ปรัชญาจากเมธีจะเป็นที่ชื่นชอบไหม
จะฟันฝ่าหิงสาชนคนต่ำทรามได้อย่างไร
โลกมนุษย์สุดฟ้าไกลยังมีใครเป็นสุชน
~ จบเล่ม ~