Credit : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 287
คู่มือฉลาดเลือกกินผัก
“เมื่อปัจจัยหนึ่งที่ชี้วัดถึงความเจริญของประเทศ คือความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะการกินการอยู่ ฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรหากในปัจจุบันมีพืชผักให้เลือกกินมากมาย แต่สุขภาพผู้คนกลับแย่ลง เพราะร่างกายได้รับสารพิษจากพืชผักเหล่านั้น”
ความข้องใจจาก คุณชวน ชูจันทร์ เกษตรกรเดินดินคนหนึ่ง ผู้มีบทบาทในการผลิตพืชผักอินทรีย์ออกสู่ท้องตลาดมากว่า 10 ปี ชวนให้เราต้องย้อนถามตัวเองว่า ผักที่เรากินทุกวันนี้ ปลอดภัยแล้วหรือ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผักอีกมากมาย ที่ผู้บริโภคควรรู้ เพื่อประโยชน์ในการเลือกซื้อผักให้ครบคุณค่า และห่างไกลจากสารพิษตกค้าง
สำรวจผักในท้องตลาด
ผักในท้องตลาดบ้านเรามีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป คุณอรสา ดิสถาพร ผู้อำนวยการส่วนการส่งเสริมการผลิตผัก ไม้ดอก และพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อธิบายประเภทของผักต่างๆ ตามความปลอดภัยไว้ดังนี้
ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิก แม้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีค่อนข้างสูง ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถสังเกตผักอินทรีย์ได้จากตราสัญลักษณ์รับรองที่ปรากฎบนบรรจุภัณฑ์
ผักประเภทนี้ใช้วิธีการปลูกแบบองค์รวมที่ใส่ใจทุกรายละเอียด เริ่มตั้งแต่ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) โดยปลูกในสิ่งแวดล้อมที่ดี พื้นที่นั้นเลิกใช้สารเคมีตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
ในการบำรุงพืชและกำจัดศัตรูพืชจะใช้สารที่สกัดจากธรรมชาติได้ เช่น น้ำหมักชีวภาพ น้ำยาสะเดาแทนสารเคมีสังเคราะห์และปุ๋ยเคมีทุกประเภท เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในดิน ทั้งเชิงกายภาพ เคมี และชีวภาพ รวมทั้งเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม
ผักไร้สารพิษ การปลูกผักชนิดนี้คล้ายคลึงกับผักอินทรีย์ คือ ปลูกในพื้นที่ที่เลิกใช้สารเคมีไม่ต่ำกว่า 3 ปี ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์และปุ๋ยเคมี แต่จะใช้สารสกัดจากธรรมชาติแทน อย่างไรก็ตามการปลูกผักประเภทนี้ยังไม่มีการจำกัดเมล็ดพันธุ์ที่นำมาใช้
ผักปลอดสารพิษ ผักชนิดนี้ใช้สารเคมีสังเคราะห์และปุ๋ยเคมีในการปลูก แต่มีฤทธิ์ตกค้างไม่นานและไม่ใช่สารต้องห้าม สามารถใช้ฮอร์โมนเร่งผลผลิตได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นสารเคมีอันตราย
จากนั้นเมื่อใกล้เวลาเก็บเกี่ยว จะงดใช้สารเคมีต่างๆ และเว้นระยะเวลาให้สารที่ใช้สลายตัว จึงจะเก็บเกี่ยวผักนั้นได้ ผักชนิดนี้อาจมีปริมาณสารเคมีตกค้างบ้าง แต่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย
ผักทั่วไป ได้แก่ ผักที่ปลูกโดยใช้ทั้งสารเคมีสังเคราะห์ และปุ๋ยเคมีโดยไม่มีการควบคุม หรือเว้นระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว จึงทำให้มีสารพิษตกค้างในผักปริมาณสูงเกินกำหนด และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
เส้นทางการปนเปื้อนของผัก
เพราะผักอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ คนกินผักจึงมีสุขภาพแข็งแรง แต่หากผักนั้นมีสารพิษเป็นของแถม ย่อมเป็นผลเสียต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
ด้วยแนวโน้มของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคผักที่ปลอดสารพิษมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันจะพบเห็นผักที่ตีตราว่าเป็นผักปลอดสารพิษ หรือผักออแกนิกส์วางจำหน่ายตามตลาดสด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตกันมากขึ้น
แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากการเลือกซื้อผักที่ระบุว่าปลอดสารพิษแล้ว ยังมีเทคนิคง่ายๆที่หากคุณทำได้ จะช่วยปกป้องคุณจากสารเคมีตกค้างในผักได้อีกโขเลยค่ะ
คุณวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ นักวิชาการชำนาญพิเศษ กรมวิชาการเกษตร ได้ให้หลักการเบื้องต้นในการเลือกซื้อผักไว้ดังนี้
• สด ไม่เหี่ยวเฉา ไม่มีรอยช้ำ หรือมีสีผิดธรรมชาติ
• สะอาด ไม่มีเศษดินและสิ่งสกปรกเกาะเป็นคราบ และไม่มีคราบสีขาวซึ่งเป็นสารฆ่าแมลงตกค้างอยู่ที่ผัก
• ไม่มีกลิ่นฉุน เมื่อดมผักดูแล้วต้องไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก
นอกจากนั้นคุณวิลาวัณย์ยังฝากเคล็ด(ไม่)ลับ แบบฉบับคนฉลาดเลือกกินผักเพิ่มเติมมาด้วย ดังนี้ค่ะ
กินผักอายุสั้นดีที่สุด เลือกกินผักที่มีอายุสั้น เช่นผักบุ้ง ซึ่งตั้งแต่เริ่มปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยว มีช่วงเวลาเพียง 45 วันเท่านั้น โอกาสในการเกิดโรค และแมลงจนต้องฉีดยาฆ่าแมลงจึงน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายรุ่น
กินผักตามฤดูกาล ทราบหรือไม่ ผักบางชนิดมีฤดูกาลการเติบโตของมัน เช่น ผักคะน้า ซึ่งฤดูกาลที่เติบโตได้ดีคือช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ทำให้ผักคะน้าในช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงมากเหมือนการปลูกผักคะน้านอกฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ที่มีทั้งโรคผัก และแมลงศัตรูพืชมาก
กินผักใบดีกว่าผักหัว เพราะผักหัวจะสะสมสารพิษไว้มากกว่า
กินผักให้หลากหลาย ไม่ควรกินผักเพียงชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะมีโอกาสสูงที่สารเคมีตัวเดิมๆ ในผักจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้
กินผักพื้นบ้านดีที่สุด ลองหันมากินผักพื้นบ้านให้มากขึ้น เพราะผักพื้นบ้านส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติและมีคนไปเก็บมาจำหน่าย ทำให้แน่ใจได้ว่าปลอดสารเคมีตกค้างอย่างแน่นอน
(http://www.cheewajit.com/images/magazine/287/287special1.jpg)
ในฐานะผู้บริโภค เราก็มีบทบาทช่วยเหลือคนกินผักด้วยกันได้ค่ะ
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดโครงการสายสืบผักสดปลอดภัย ส่งเสริมคนไทยสุขภาพดี หรือสายสืบผักสดขึ้น เพื่อป้องปรามและส่งเสริมให้มีการขายผักปลอดสารพิษตกค้างเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค
โครงการนี้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมสมัครเป็นสายสืบผักสดอาสา เพื่อเป็นเครือข่ายแจ้งข้อมูลตลาดที่ขายผักสดไม่ปลอดภัยไปยังเจ้าหน้าที่ โดยสายสืบจะได้รับการอบรมความรู้เรื่องผักจากอย. ทั้งการเลือกซื้อผักสดที่ไม่มีสารตกค้างและยาฆ่าแมลง รวมถึงสาธิตการล้างผักและการตรวจสอบยาฆ่าแมลงด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงานจะนำรถ Mobile Unit ออกให้ความรู้ และสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดในตลาดเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาตรวจสอบ ร้านที่ขายผักปลอดภัยจะได้รับป้ายรับรองคุณภาพผักสด แต่หากผักไม่ปลอดภัยจะสั่งให้ดำเนินการแก้ไข และหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการทางกฎหมายทันที
สนใจร่วมเป็นสายสืบผักสดอาสา ติดต่อที่สายด่วน 1135 ค่ะ