นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 280
(http://www.cheewajit.com/images/magazine/280/280special1.jpg)
แท้จริงแล้วอายุรเวทคือวิธีการดูสุขภาพแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งกายใจ สอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมและทุกช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่ลืมตาตื่นถึงเข้านอน จากกลางวันถึงกลางคืน จากฤดูกาลสู่ฤดูกาล จากวัยแรกเกิดถึงวัยชรา ผ่านการกินอาหาร ยาสมุนไพร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การชำระล้างร่างกายและจิตใจ
เมื่อทั้งภายในและภายนอกร่างกายมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ความงามย่อมปรากฏ ความเจ็บป่วยย่อมห่างไกล และเตรียมพร้อมสู่ความเปลี่ยนแปลงแห่งวัยอย่างแข็งแรงและสุขภาพดี
อายุรเวทคืออะไร
อายุรเวทเป็นศาสตร์การดูแลสุขภาพของอินเดียที่มีอายุหลายพันปี ใน “ตำราจรกะสัมหิตา” ซึ่งเป็นตำราอายุรเวทที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นเล่มแรก เพื่อให้ความรู้แก่หมอหลวงและถือเป็นตำราสำคัญจนถึงทุกวันนี้ซึ่งมีอายุถึงสามพันห้าร้อยปี
หลักการสำคัญของอายุรเวทคือมนุษย์เราเกิดมาโดยมีเงื่อนไขและปัจจัยเป็นตัวกำหนดไว้แล้ว เรียกว่า “ประกฤติ” ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “พันธุกรรม” ที่เราคุ้นเคย นั่นคือนอกจากจะกำหนดสภาพทางกายแล้วยังครอบคลุมถึงความคิดและจิตใจอีกด้วย
อายุรเวทแบ่งคนออกเป็น 3 ประเภทโดยดูจากความโดดเด่นของโทษ 3 ประการ หรือเรียกว่า ตรีโทษะ ซึ่งถูกนำมาเรียกขานแบบไทยๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น (แม้จะไม่ตรงความหมายดั้งเดิมนัก) ว่า “ตรีธาตุ” นั่นคือ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุดินหรือน้ำ
จากหลักการข้างต้นนำมาสู่การดูแลร่างกายและจิตใจให้เหมาะสมกับ “โทษ” หรือ “ธาตุ” ดังนั้นผู้ต้องการดูแลสุขภาพกายและใจตามหลักอายุรเวทจึงต้องรู้ว่าตัวเองเป็นคนธาตุใด เพื่อจะได้ดูแลตัวเองด้วยการกินอาหาร การออกกำลังกาย การผักผ่อน และการชำระล้างร่างกายและจิตใจให้เหมาะสมตามธาตุนั้นๆ
เมื่อรู้ความหมายของหลักอายุรเวทกันแล้ว เรามาดูการวิธีการดูแลตัวเองตามหลักอายุรเวท โดยเริ่มจาก การกิน
กินอยู่แบบอายุรเวท เมื่อสามพันห้าร้อยปีที่แล้ว ตำราจรกะสัมหิตากล่าวถึง หลักการกินไว้อย่างน่าสนใจและร่วมสมัย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดังนี้
• กินอาหารร้อนเพื่อกระตุ้นการย่อย
• กินอาหารมื้อต่อไปหลังจากร่างกายย่อยอาหารมื้อก่อนหน้าหมดแล้ว
• กินในสถานที่ที่เงียบสงบและรื่นรมย์พร้อมของตกแต่งที่จำเป็น เช่น ดอกไม้หรือผ้าปูโต๊ะที่สะอาด เพื่อไม่ให้จิตใจหดหู่
• ไม่ควรกินอย่างเร่งรีบหรือเฉื่อยช้าเกินไป เพื่อให้อาหารเข้าสู่ทางเดินอาหารอย่างเหมาะสม
• ไม่ควรหัวเราะหรือพูดขณะกิน กินอย่างใส่ใจและพิจารณาสิ่งที่กินว่าสิ่งใดดี-ไม่ดี
• ไม่กินเมื่อไม่หิว หรือมีอารมณ์โกรธ เศร้า หรือความเครียด
• ไม่ทำอาหารเพื่อกินคนเดียว แต่ต้องทำเพื่อการแบ่งปันด้วย ในอินเดียโบราณจะแบ่งอาหาร (นอกจากกินเอง) ออกเป็น 5 ส่วนคือ เพื่อบูชาไฟในบ้าน วัว กา สุนัข และคนแปลกหน้า
• เดินร้อยก้าวหลังอาหาร เพื่อช่วยระบบย่อย แต่ไม่ควรออกกำลังกาย มีเพศสัมพันธ์ เรียน หรือนอนหลับภายใน 1 ชั่วโมงหลังอาหาร
• ไม่กินอาหาร ภายใน 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
กินตามธาตุ
อาหารแต่ละชนิดมีความหนัก-เบา ร้อน-เย็น แตกต่างกัน อาหารจึงเป็นส่วนสำคัญหรือตัวหลักในการเสริมหรือลดคุณสมบัติเด่น-ด้อยของธาตุต่างๆ ส่วนควรจะกินอาหารอะไรนั้น เรามีคำอธิบายดังนี้
คนธาตุลม
เน้นอาหารรสหวาน เปรี้ยว เค็ม เช่น แป้ง โปรตีน เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ควรกินผักสุกหรือผักผัดน้ำมันมากกว่าการกินผักสด ลดอาหารรสขม ฝาด เผ็ดร้อน และไม่ควรรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดลม เช่น ถั่ว ขนมกรุบกรอบ และน้ำเย็น
ควรดูแลร่างกายในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงลมแรงซึ่งจะเสริมธาตุลมในตัวให้รุนแรงขึ้น
คนธาตุดิน
เน้นอาหารรสเผ็ดร้อน ขม ฝาดเพื่อลดความชื้นในร่างกาย ควรกินทั้งผักสดและผักสุกให้มาก ลดอาหารรสหวาน เปรี้ยว เค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่เสริมความชื้นในร่างกาย และควรลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันลงด้วย
ควรดูแลร่างกายในช่วงต้นฤดูร้อนเป็นพิเศษ
คนธาตุไฟ
เน้นอาหารรสหวาน ขม ฝาด เพื่อลดความร้อนในร่างกายควรกินอาหารประเภทนึ่งมากกว่าทอด ลดอาหารรสเผ็ดร้อน เปรี้ยว เค็มซึ่งเป็นอาหารเพิ่มธาตุไฟ ควรระวังร่างกายในฤดูร้อนและฤดูหลังฝนเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้ธาตุไฟกำเริบ
จากการกินตามธาตุมาต่อกันที่ การออกกำลังกายตามธาตุ
ออกกำลังกายตามธาตุ
คนแต่ธาตุมีร่างกายทนทานแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ คนบางคนจึงรู้สึกมีพลังหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก แต่บางคนกลับอ่อนล้าหมดแรงเอาเสียเฉยๆ
คนธาตุลม มีร่างกายผอมแห้งและอารมณ์วูบไหว มีความทนทานน้อยจึงไม่ควรออกกำลังกายแบบรุนแรงเพราะทำให้ธาตุลมกำเริบ ดังนั้นควรออกกำลังกายแบบสงบ นิ่ง สม่ำเสมอ
คนธาตุไฟ ควรออกกำลังกายแบบพอเหมาะ การออกกำลังกายมากและแรงเกินไปทำให้ธาตุไฟกำเริบ ดังนั้นควรออกกำลังกายแบบเพิ่มความเย็น ผ่อนคลาย นิ่มนวล
คนธาตุน้ำ เป็นคนเฉื่อยชาและน้ำหนักตัวมาก จึงต้องออกกำลังกายแบบหนัก-แรงเพื่อขับไล่ความเฉื่อยเหล่านั้นไปเสีย ดังนั้นควรออกกำลังกายแบบกระตุ้น เคลื่อนไหว ให้มีความร้อนและพลังในหนังสือ Yoga & Ayurveda แนะนำท่าโยคะที่เหมาะกับคนแต่ละธาตุไว้ดังนี้
ธาตุลม ท่านั่งดอกบัว ท่านั่งเพชร ท่าสิงโต ท่าไหว้พระอาทิตย์แบบช้า ท่านักรบ ท่ายืดหลัง ท่างู ท่าตั๊กแตน ท่าบิดกระดูกสันหลังแบบนอน และปิดท้ายด้วยท่าศพ
คนธาตุไฟ ท่านั่งสมาธิทุกท่ายกเว้นท่าสิงโตซึ่งเป็นท่าเพิ่มความร้อน ท่าไหว้พระจันทร์ ท่าเปิดสะโพก เช่น ท่าสามเหลี่ยม ท่าเรือ ท่าปลา ท่าธนู ท่าเด็ก ท่าบิดหลังแบบนั่ง ท่าโยคะมุทรา ปิดท้ายด้วยท่าศพ
คนธาตุดิน ท่าสิงโต ท่าไหว้พระอาทิตย์แบบต่อเนื่องหรือกระโดด ท่าสุนัขคว่ำหน้า ท่ายืนด้วยศีรษะและยืนด้วยไหล่ ท่าคันไถ และท่าแอ่นกระดูกสันหลัง เช่น ท่าธนู ท่าอูฐ และปิดท้ายด้วยท่าศพแบบสั้นๆ
หมายเหตุ: โปรดเรียนรู้ท่าโยคะข้างต้นจากครูโยคะของคุณ
ได้วิธีการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจตามหลักอายุเวทอย่างครบถ้วนอย่างนี้แล้ว อย่าลืมลงมือปฏิบัตินะคะ
เรื่องสุขภาพ “ใครทำใครได้”
Credit : cheewajit.com